ประวัติความเป็นมา


                         
วัดโพธิ์ หรือ
 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตั้งอยู่ที่ถนนสนามไชย ข้างพระบรมมหา-ราชวังเป็นวัดเก่าแก่ ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 สร้างขึ้นเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม เดิมเป็นวัดโบราณ ชื่อว่า โพธาราม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ราวรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา และเป็นที่ประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้มาจากลังกา และเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อว่า วัดโพธิ์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อทรงย้ายพระนครมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงโปรดเกล้าให้บูรณะวัดโพธิ์ให้งดงามบริบูรณ์ขึ้น พร้อมกับพระราชทานนามว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ
                   ต่อมาในรัชการที่ 4 ได้โปรดให้เปลี่ยนชื่อ เป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” แต่คนทั่วไปเรียกขานกันเรื่อยมาว่า วัดโพธิ์ หากนับความเก่าแก่ของวัดตั้งแต่ก่อนได้รับการสถาปนาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบันนี้ก็มีอายุมากกว่า 300 ปีแล้ว
                   ในสมัยรัชกาลที่ 3 สยามเศรษฐกิจดีมีเงินกำไรเป็นอันมากจากการค้าสำเภา การติดต่อกับชาวจีน เห็นงานศิลปะสวยงามจีน จึงทรงบูรณะวัดครั้งใหญ่นำศิลปะจีนมาใช้อย่างผสมผสาน และมีการเริ่มแผ่อิทธิพลชองชาวตะวันตกเข้ามา มีการนำวิทยาการใหม่ๆเข้ามาเผยแพร่ จึงให้รวบรวมความรู้ของไทยไว้ มิให้สูญหายไปกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย จึงประสงค์ให้จารึกสรรพตำราต่างๆของผู้มีความรู้ เช่น ศาสนา ภาษา วรรณกรรม วัฒนธรรมประเพณีจิตรกรรม ประติมากรรม และการแพทย์ ตำรายา โดยจารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้สลักลงบนหิน เพื่อให้เป็นของสาธารณะ ใครจะมาศึกษาก็ได้ เป็นการบันทึกความรู้โบราณให้คงอยู่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นการทำจารึกวัดโพธิ์  มรดกทรงคุณค่าของชาติ เป็นคลังความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม วัดโพธิ์จึงเปรียบเสมือน “มหาวิทยาลัยแห่งแรกของคนไทย”
                   วัดโพธิ์ หรือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม นั้น ถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์ เป็นศูนย์รวม ของความรู้ด้านการแพทย์โบราณ อีกทั้ง ยังมากด้วยตำรา, สถาปัตยกรรม, ประติมากรรม วรรณคดี ,ตำรายา ที่ถือได้ว่ามีประโยชน์มากมายสำหรับชนรุ่นหลัง และที่ลืมไม่ได้ว่า วัดโพธิ์ คือสถานที่ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ วรรณคดีไทย เรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมสมเด็จ พระปรมานุชิตชิโนรส เมื่อครั้งทรงผนวช อยู่ที่วัดนี้เปิดให้เข้าชม

 

หากเอ่ยชื่อ “วัดโพธิ์” สิ่งหนึ่งที่หลายคนนึกถึง คือ


 
 
        1. “ยักษ์วัดโพธิ์” หรือยักษ์ที่ยืนเผ้าประตูวัดและคงจินตนาการว่า
เป็นยักษ์จีนตัวใหญ่ที่ใส่ชุดนักรบถืออาวุธ แต่ความเป็นจริงแล้ว “ยักษ์วัดโพธิ์ คือ ยักษ์ไทย” และมีขนาดใหญ่แค่ตัวคนเท่านั้น ตั้งอยู่ที่ซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป โดยมีสีกายเป็นสีแดงและสีเขียว ลักษณะคล้ายยักษ์ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ สูงประมาณ 175 ซม. จำนวน 8 ตน ตั้งไว้ที่หอไตร ตรงซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 1 คู่ เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์รักษาหอไตรปิฎกด้วย ภายหลังสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งสร้างพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาล ได้โปรดเกล้าฯให้รื้อซุ้มประตูออกไป 2 ซุ้ม ปัจจุบันยักษ์วัดโพธิ์จึงเหลืออยู่เพียง 2 คู่เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีตำนานเกี่ยวกับยักษ์วัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำให้เกิดท่าเตียนในปัจจุบัน นั่นคือ ยักษ์วัดโพธิ์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดแจ้งนั้น ทั้ง 2 ตนเป็นเพื่อนรักกัน วันหนึ่งยักษ์วัดแจ้งไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดโพธิ์ เมื่อถึงกำหนดส่งเงินคืนยักษ์วัดโพธิ์กลับไม่ยอมจ่าย ดังนั้น ยักษ์ทั้ง 2 ตนจึงเกิดทะเลาะกัน แต่เพราะรูปร่างที่ใหญ่โตและพละกำลังที่มหาศาลของยักษ์ทั้ง 2 ตน เมื่อเกิดต่อสู้กันจึงทำให้บริเวณนั้นราบเรียบโล่งเตียนไปหมด เมื่อพระอิศวรทราบเรื่องนี้ จึงได้ลงโทษให้ยักษ์วัดโพธิ์ยืนเฝ้าพระอุโบสถวัดโพธิ์ และยักษ์วัดแจ้งยืนเฝ้าวิหารวัดแจ้งตั้งแต่นั้นมา

 

2. พระพุทธไสยาส หรือที่เรียกกันว่า พระนอนวัดโพธิ์ ประดิษฐานในพระวิหารพระพุทธไสยาสภายในเขตพุทธาวาสเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามโดยเฉพาะศิลปะการประดับมุกที่ฝ่าพระบาทได้รับการยกย่องว่าเป็นพระนอนองค์ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร และใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ โดยมีลักษณะพิเศษ คือ มีประดับมุกภาพมงคล 108 ประการที่พระบาท ซึ่งเป็นคติความเชื่อที่ปรากฏในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาของลังกา โดยระบุว่าเป็นมงคลที่พราหมณ์ได้เห็นจากฝ่าพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อประสูติได้ ๕ วัน เป็นที่เคารพสักการะเลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยมีความเชื่อว่ามากราบไหว้จะได้ “ร่มเย็นเป็นสุข” ด้านในมีจิตกรรมฝาผนัง แสดงภาพวิถีชีวิตของชาวไทยในสมัยก่อน




3. มหาเจดีย์สี่รัชกาล เป็นมหาเจดีย์ขนาดใหญ่ 4 องค์ องค์พระเจดีนั้นเป็นแบบเจดีย์ย่อไม้สิบสอง ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ อันประกอบด้วย พระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1 – 4 สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ตามแบบพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย กรุงศรีอยุธยา เพื่อเป็นพุทธบูชาชาวต่างชาติต่างก็ทึ่งในความละเอียดของการติดกระเบื้องเคลือบแต่ละชิ้นให้เป็นลวดลายรอบพระเจดีย์

 




4. ศาลาการเปรียญ เดิมเป็นพระอุโบสถของวัดโพธารามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ภายหลังการสถาปนาพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดพระเชตุพนแล้ว จึงได้ลดฐานะเป็นศาลาการเปรียญ โดยภายในมี “พระพุทธศาสดา” ประดิษฐานเป็นพระประธาน



5. พระอุโบสถ ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงอัญเชิญมาจากวัดศาลาสี่หน้า ด้วยประสงค์ตั้งมั่นแน่วแน่ว่า นี่จะเป็นพระนครอย่างถาวร (ปางสมาธิ สื่อถึงการตั้งจิตมั่นแน่วแน่) ที่ฐานชุกชีก่อไว้ 3 ชั้น ชั้นที่ 1 บรรจุพระบรมอัฐิและพระราชสรีรังคารรัชกาลที่ 1 ไว้ ชั้นที่ 2 ประดิษฐานรูปพระอัครสาวกทั้งสององค์ฐานชุกชี ชั้นล่างสุดประดิษฐาน พระมหาสาวก 8 องค์ (พระอรหันต์ 8 ทิศ)



6. พระวิหารทิศ ส่วนพระวิหารทิศทั้ง 4 นั้นได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากหัวเมืองต่าง ๆ มาประดิษฐานไว้ โดยแบ่งออกเป็นมุขหน้าและมุขหลัง โดยมุขหน้า คือ มุขที่หันสู่ทิศต่าง ๆ ส่วนมุขหลังนั้น คือ มุขที่หันหน้าเข้าสู่พระอุโบสถ โดยพระวิหารทิศแบ่งออกเป็น 4 ทิศ ได้แก่
  • พระพุทธมารวิชัยอภัยปรปักษ์ ประดิษฐานที่พระวิหารทิศตะวันออก (มุขหน้า)
  • พระพุทธโลกนาถ ประดิษฐานที่พระวิหารทิศตะวันออก (มุขหลัง)
  • พระพุทธชินศรีมุนีนาถ ประดิษฐานที่พระวิหารทิศตะวันตก
  • พระพุทธปาลิไลย ประดิษฐานที่พระวิหารทิศเหนือ
  • พระพุทธชินราชวโรวาทธรรมจักร ประดิษฐานที่พระวิหารทิศใต้
  •  

 
7. จารึกวัดโพธิ์ หรือ มรดกโลกวัดโพธิ์ ซึ่งรัชกาลที่ 3 ทรงให้นำองค์ความรู้จากปราชญ์ของไทยเช่น ตำราการแพทย์ โบราณคดี
วรรณกรรม โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนฯลฯ จารึกลงบนแผ่นหินอ่อนประดับไว้ตามบริเวณผนังภายในวัดซึ่งความรู้ที่จารึกไว้บนแผ่นศิลาในปัจจุบันรวมเรียกว่า ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน โดยองค์การยูเนสโกมีมติรับรองขึ้นทะเบียนศิลาจารึกพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก



8. รูปปั้นฤๅษีดัดตนต้นตำหรับการนวดแผนไทย รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้รวบรวมการแพทย์แผนโบราณและศิลปะวิทยาการครั้งกรุงศรีอยุธยาไว้ ทรงพระราชดำรินำเอาท่าดัดตนอันเป็นการพักผ่อนอิริยาบถแก้เมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และประยุกต์กับคติไทยที่ยกย่องฤษีเป็นครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิทยาการต่างๆ รวมทั้ง ได้ปั้นรูปฤๅษีดัดตนในท่าต่าง ๆ ไว้ด้วย ต่อมาในรัชกาลที่ 3 ได้หล่อรูปปั้นฤๅษีดัดตนในท่าต่างๆรวม 80 ท่า โดยใช้สังกะสีและดีบุก
แทนการใช้ดินที่เสื่อมสภาพได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการแต่งโคลงสี่สุภาพเพื่อบรรยายสรรพคุณท่าต่างของฤๅษีดัดตนทั้ง 80 บทด้วย เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายรูปปั้น รวมทั้งมีการลักลอบเอารูปปั้นไปขายบางส่วน ดังนั้น รูปปั้นที่อยู่ภายในวัดโพธิ์จึงมีเหลือเพียง 24 ท่าเท่านั้น

 


9. ลั่นถัน...ตุ๊กตาจีนอีกหนึ่งเสน่ห์ของวัดโพธิ์ สมัยรัชกาลที่ ๓ ที่การค้าสำเภารุ่งเรืองมาก และทรงมีพระราชนิยมในศิลปกรรมจีน จึงทรงสั่งตุ๊กตาศิลาจีนและรูปจำหลักหินแบบต่างๆ จำนวนมากเพื่อนำมาประดับตกแต่งตามวัดที่ทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ซึ่งมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่รับอิทธิพลของศิลปะจีน จึงเรียกกันว่า "ศิลปะแบบพระราชนิยม" ส่วนเรือสำเภาของพ่อค้าชาวจีนที่ใช้ตุ๊กตาศิลาบรรทุกเป็น "อับเฉา" ใต้ท้องเรือ เมื่อมาถึงเมืองไทยนำขึ้นทูลเกล้าถวายเป็นเครื่องบรรณาการ รัชกาลที่ ๓ ก็โปรดถือเป็นความดีความชอบ ชาวจีนเองก็พอใจที่ได้เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของตน จึงกลายเป็นเครื่องส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทำให้เครื่องศิลาและตุ๊กตาศิลาจีนเข้ามาเผยแพร่มากมาย จึงนำไปถวายตามวัดต่าง ๆ ที่รัชกาลที่ ๓ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ เพื่อประดับตกแต่งตามอุโบสถ วิหาร ศาลา



 10.  เขามอ หรือสวนหย่อม เป็นสวนหินปลูกไม้ประดับที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้รื้อขนก้อนศิลาใหญ่ และเล็กซึ่งก่อเป็นภูเขาในสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง แต่ครั้งรัชกาลที่ 2 มาก่อนเป็นภูเขาเป็นสวนประดับรอบวัด ปลูกต้นไม้ไว้ตามเชิงเขาและบนเขา มีทั้งสถูปและเสาโคมแบบจีน รูปตุ๊กตาจีนและรูปสัตว์          จัตุบาท (สัตว์สี่เท้า) ต่างๆ เรียงรายอยู่ทั่วไปทั้งบนเขา และเชิงเขา เขามอมีทั้งหมด 24 ลูก เช่น เขาประดู่ เขาสะเดา เขาอโศก เขาสมอ เขาฤาษดัดตน เขาศิวลึงค์ เป็นต้น พรรณไม้ที่ปลูกประดับส่วนใหญ่ตายลงทางวัดได้ปรับปรุงเป็นสวนหิน ประดับด้วยไม้ดอกไม้ใบนับเป็นมุมนั่งพักผ่อนที่เพลิดเพลินตาเย็นกายสบายใจ


 
สถานที่สำคัญ..ใกล้ๆวัดโพธิ์

1. ท่าเตียน


          ประวัติความเป็นมา ท่าเตียน ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ชั้นในของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพื้นที่ที่มีองค์ประกอบของแม่น้ำเจ้าพระยา, วัด, วัง และเมือง ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยามั่งคั่งจากการค้าทางทะเลกับบ้านเมืองที่ห่างไกล และใช้แม่น้ำเป็นเส้นทางคมนาคมสายหลัก ผลจากการขุดซ่อมคลองสายต่างๆ เพื่อรองรับการเดินเรือขนาดใหญ่ โดยมีการขุดคลองลัดบางกอกจากปากคลองบางกอกน้อยไปทะเล ผ่านปากคลองบางกอกใหญ่ ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช ทำให้เกิดการเปลี่ยนเส้นทางของลำน้ำ “คลองลัด” ได้ขยายตัวเป็นแม่น้ำ ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมกลับตื้นเขินแคบลงจนกลายเป็นคลอง ชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจึงขยับขยายไปตั้งอยู่ปลายคลองลัด ซึ่งภายหลังถูกเรียกขานว่า “บางกอก” ความสำคัญของเมืองบางกอกมีมากขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อบางกอกกลายเป็นเมืองด่านสำคัญ และเป็นจุดพักเรือของนานาประเทศเป็นเวลากว่า 300 ปี โดยเรือสำเภาทุกลำต้องหยุดเพื่อแจ้งรายละเอียดการเดินทาง, สินค้า และผู้โดยสาร รวมถึงจ่ายภาษีทั้งขาขึ้นขาล่อง บางกอกในเวลานั้นมีศูนย์กลางคือ พระบรมมหาราชวัง และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจให้สองราชธานีคือ ธนบุรี และรัตนโกสินทร์
 


“ท่าเตียน” ถือเป็นชุมทางการค้าสำคัญที่สุดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะเป็นแหล่งรวมสินค้าทุกชนิดจากทุกหัวเมือง รวมทั้งสินค้าที่บรรทุกมาจากสำเภาเมืองจีน ก็ต้องแวะมาขนถ่ายกันที่นี่
อย่างไรก็ดี ด้วยรูปแบบการพัฒนาเมืองกรุงที่เปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวบางกอก จากชุมชนชาวน้ำมาเป็นชีวิตแบบคนบกเต็มตัว อันเป็นผลมาจากสยามประเทศหันมาค้าขายกับชาวต่างชาติมากขึ้น หลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ทำให้บทบาทของ “ท่าเตียน” เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีวันเหมือนเดิมนับแต่นั้น คงเหลือไว้เพียงตำนานเก่าแก่ที่เล่ากันมาว่า ยักษ์วัดโพธิ์ขอยืมเงินยักษ์วัดแจ้ง แล้วชักดาบไม่จ่ายคืน ทำให้ยักษ์วัดแจ้งต้องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาทวงเงินคืน แต่ไม่สำเร็จ จึงลงมือสู้รบกันอุตลุด ทำให้บ้านเรือนละแวกนั้นราบเตียน อันเป็นที่มาของชื่อ “ท่าเตียน”
ปัจจุบัน “ท่าเตียน” เป็นสถานที่ให้เดินชมซื้อของฝาก ประเภทอาหารทะเลตากแห้ง เช่น
กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้งแห้ง เป็นต้น




2. ร้านจำหน่ายของฝากของที่ระลึก
ร้านสยามเอ็กซ์โซทีค ร้านขายของที่ระลึก มีสินค้าหลากหลายโดยจะเน้นที่ดูแปลกตา สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าทำมือ มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่สามารถเลือกซื้อกลับไปเป็นของขวัญของฝากได้ ร้านตั้งอยู่บริเวณปากซอยท่าเตียนทางเข้าโรงแรมศาลารัตนโกสินทร์





3. ร้านอาหาร
Kin&Koff Cafe'
ร้านตั้งอยู่ตรงข้ามวัดโพธิ์ หัวมุมถนนมหาราช ภายในร้านมีอาหารหลากหลาย มีครัวซองต์ และเบเกอร์รี่โฮมเมดด้วย อาหารแนะนำ..ผัดไทย ที่ชั้น 2 ของร้าน สามารถนั่งชมวิววัดโพธิ์ และวัดพระแก้วได้




การเดินทางมาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
รถเมล์ :
• รถประจำทาง สาย ๑, ๓, ๖, ๙, ๑๒, ๒๕, ๓๒, ๔๔, ๔๗, ๔๘, ๕๓, ๘๒
• รถประจำทางปรับอากาศ สาย ปอ.๑, ปอ.พ. ๔, ปอ.๕๐๗, ปอ.๕๐๘, ปอ.๑๒, ปอ.๔๔, ปอ.๔๘
รถส่วนตัว
• จอดรถได้ที่ ถนนเชตุพน โดยเสียค่าบริการชั่วโมงละ ๒๐ บาท
รถไฟฟ้าใต้ดิน
• สถานีสนามไชย ทางออกหมายเลข 1
เรือด่วน
• การเดินทางโดยเรือด่วนเจ้าพระยา ขึ้นที่ท่าเรือ ท่าช้าง, ท่าวัดอรุณแล้วนั่งเรือข้ามฝากมาขึ้นท่าเตียน, ท่าราชินี





แบบสอบถามความพึงพอใจของการใช้งานเว็บไซต์ Insight Pranakorn