วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
พระบรมราโชวาท คุณธรรม 4 ประการ พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย คราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี (10 พ.ค.59)
พระบรมราโชวาท คุณธรรม 4 ประการ
พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย คราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย คราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
ประการแรก... คือ การรักษาความสัจ ความจริงใจ ต่อตนเองที่จะประพฤติปฏิบัติ แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
ประการที่สอง... คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสัจความดีนั้น
ประการที่สาม... คือ การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด
ประการที่สี่... คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักเสียสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง
คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝัง และบำรุงให้เจริญงอกงามโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุขความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนา ให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์... คุณธรรมสี่ดังกล่าว ก็คือ ข้อปฏิบัติธรรมโดยตรงของคฤหัสถ์ทั้งหลาย ของผู้ครองเรือนทั้งหลาย ที่เรียกว่า "ฆราวาสธรรม 4 ประการ"
"ฆราวาสธรรม 4" เป็นหลักธรรมคำสอน ของพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปกครองแผ่นดินไทย ด้วยธรรมะ ด้วยการแสดงพระองค์เป็นตัวอย่างโดยตลอด มีพระบรมราโชวาท อันเป็นไปด้วยพระธรรมมาโดยตลอด ต่อเนื่อง สม่ำเสมอและ "ฆราวาสธรรม 4" ไม่เคยเก่าเลย เป็นอกาลิโก ไม่ขึ้นกับกาลสมัย ไม่เสื่อมสิ้นอายุไปตามยุคเวลา เพราะเวลาที่ผ่านมา หรือในบัดนี้ หรืออนาคตต่อๆ ไป ก็จะยังมีฆราวาส ที่จำเป็นต้องน้อมนำ ฆราวาสธรรม 4 ประการ ดังกล่าว มาประดับแก่ตน ประพฤติปฏิบัติให้ตัวเอง ก้าวไปสู่ความเป็นอริยบุคคลในภายหน้า
ฆราวาสใด หมั่นน้อมนำ "ฆราวาสธรรม 4" มาฝึกฝน อบรม พัฒนาตน นั่นย่อมจะเปรียบได้ว่า ได้เป็นฆราวาสผู้มั่นคงจงรักภักดี ในพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง...
หลักฆราวาสธรรม 4 สำหรับผู้ครองเรือน
"ฆราวาสธรรม" คือ หลักธรรมสำหรับผู้ครองเรือน ที่จำเป็นต้องมีอยู่ประจำ เพื่อเสริมให้มีความสุขยิ่งขึ้น พระพุทธองค์ได้ตรัสกะยักษ์ ชื่ออาฬวกะ ปรากฎอยู่ในอาฬวกสูตร (๑๕/๒๙) มี ๔ ประการ คือ
๑. สัจจะ
คือ ความจริง ดำรงมั่นอยู่ในสัจจะ ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง เป็นเหตุนำมาซึ่งความเชื่อถือ หรือไว้วางใจได้
๒. ทมะ
คือ ฝึกตน ปรับปรุงตน บังคับควบคุมตนเองได้รู้จักปรับตัว และแก้ไขปรับปรุงตน ให้เจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ รวมทั้งการยอมรับและแก้ไขสิ่งบกพร่องของตนด้วย
๓. ขันติ
คือ อดทน อดทนต่อความหนาว ร้อน หิว กระหาย ทนตรากตรำ ทนต่อความเจ็บใจ ทนข่มอารมณ์ของตนได้ ทนต่อความยั่วยวนต่าง ๆ อดทนต่ออำนาจฝ่ายต่ำ อดทนต่อการทำการงาน
๔. จาคะ
คือ เสียสละ เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล ช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์ สละความโกรธ ความเห็นแก่ตัว มีใจกว้างร่วมงานกับคนอื่นได้ สละอารมณ์ขุ่นมัวภายในจิตใจได้