โรคใหม่ควรรู้ โรคไข้ซิกา ( Zika virus disease )

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2559
image




โรคไข้ซิกา (
Zika virus disease )
 
          ประเภทของเชื้อ : Flavivirus
          พาหะนำโรค : ยุงลาย (ปกติออกหากินในช่วงเวลาเช้า บ่ายแก่ๆ และช่วงเย็น)
 
อาการของโรค
          ระยะฟักตัวของโรคไข้ซิกา ใช้เวลาประมาณ 3 - 12 วัน อาการของโรคไข้ซิกา คล้ายกับโรคที่เกิดจาก อาร์โบไวรัส (Arbovirus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค เช่น โรคไข้สมองอักเสบ โรคไข้เหลือง และโรคไข้เลือดออก เป็นต้น
                โดยมีอาการไข้ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาการเหล่านี้ปกติแล้วจะเป็นเพียงเล็กน้อย และอาการจะเป็นอยู่ประมาณ 2 - 7 วัน ในช่วงที่เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง ในหมู่เกาะเฟรนช์โปลินีเซียและประเทศบราซิล ในปี พ.ศ. 2556 และ พ.ศ. 2558 เจ้าหน้าที่ได้รายงานภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการติดโรค ไข้ซิกาต่อระบบประสาท ในระบบภูมิคุ้มกัน และปัจจุบันในประเทศบราซิล เจ้าหน้าที่ได้พบว่ามีการติดเชื้อโรค ไข้ซิกาเพิ่มขึ้นในประชาชน ทั่วไป และในขณะเดียวกันพบว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศบราซิล มีการเพิ่มขึ้นของภาวะศีรษะเล็ก แต่กำเนิด (Microcephaly) ในเด็กแรกเกิด อย่างไรก็ตามยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ ภาวะศรีษะเล็กแต่กำเนิด (Microcephaly) กับการติดโรคไข้ซิกา และต้องมีการค้นคว้าหาสาเหตุอื่นๆ ที่อาจมีผล ให้เกิดภาวะดังกล่าวร่วมด้วย
 
วิธีการแพร่โรค
          เชื้อไวรัสซิกาสามารถแพร่เชื้อโดยยุงลายที่มีเชื้อ และไปกัดคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในตระกูล Aedes aegypti ซึ่งมีอยู่ในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนชื้น โดยยุงที่เป็นพาหะนำโรค ไข้ซิกา เป็นชนิดเดียวกันกับยุงที่เป็นพาหะของ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ( Chikungunya) และไข้เหลือง
 
 
การรักษาโรค
          ผู้ป่วยโรคไข้ซิกา ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง จึงสามารถรักษาตัวได้โดย
  • การพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ
  • รักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาลดไข้ หรือยาบรรเทาอาการปวด แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล ห้ามรับประทานยาแอสไพริน หรือยากลุ่มลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพราะมียาบางชนิดที่เป็นอันตราย
  • สำหรับการเป็นโรคนี้ อาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรปรึกษา และทำตามคำแนะนำของแพทย์
การป้องกัน
          สำหรับประชาชน  
          ยุงและการขยายพันธุ์ของยุงเป็นสาเหตุและเป็นปัจจัยเสี่ยงของการติดต่อของโรคไข้ซิกา การป้องกัน และการควบคุมโรค ขึ้นอยู่กับการลดจำนวนของยุงตามแหล่งต่างๆ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ รวมถึงการป้องกันตนเอง ไม่ให้โดนยุงกัด ซึ่งสิ่งนี้สามารถทำได้โดย
          – ใช้ยากำจัดแมลง หรือ ยาทาป้องกันยุง
          - การสวมใส่เสื้อผ้าเนื้อหนาสีอ่อนๆ ที่สามารถคลุมผิวหนังและร่างกายได้
          - อาศัย และนอนในห้องปรับอากาศ ใช้ฉากกั้น การปิดประตู ปิดหน้าต่าง การใช้มุ้ง
          - การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดย การทำความสะอาด การเทน้ำทิ้ง หรือครอบฝาภาชนะที่สามารถบรรจุน้ำ เช่น กระถางต้นไม้ เพื่อไม่ให้มีน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง  
          ถ้ามีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง หรือปวดข้อ อาจมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ให้ปรึกษาแพทย์
 
          สำหรับผู้เดินทางที่จะเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรคไข้ซิกา
          ขอให้ผู้เดินทางระมัดระวังป้องกัน ไม่ให้ยุงกัด โดยสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวให้มิดชิด และใช้ยาทาป้องกันยุงกัด หากเป็นหญิงตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีรายงานการระบาด แต่หากจำเป็นต้องเดินทาง ไปประเทศดังกล่าวควร ปรึกษาแพทย์ และระมัดระวังมิให้ถูกยุงกัด
 


ข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค ( http://beid.ddc.moph.go.th/beid_2014/sites/default/files/factsheet_zika020259.pdf)
                 http://health.kapook.com/view139846.html  (www.kapook.com)


ลงข้อมูลวันที่ 13 กันยายน 2559