กรณีผู้ป่วยต้องได้รับการฉีดยาต่อเนื่องที่บ้านสามารถปฏิบัติได้ ดังนี้
ผู้ป่วยหรือญาตินำคำสั่งการรักษาอย่างชัดเจน ซึ่งระบุชื่อยา ขนาด วิธีการ เวลา และมีการลงรายชื่อแพทย์ผู้สั่งการรักษาและช่องทางติดต่อกรณีต้องการข้อมูลเพิ่มเติม นำมาพบแพทย์ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขเพื่อพิจารณาคำสั่งการรักษาต่อเนื่องที่บ้าน
กรณีคนไข้ติดเตียงต้องการให้ไปช่วยเจาะเลือดที่บ้าน
ศูนย์บริการสาธารณสุขมีบริการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านท่านสามารถมาติดต่อขอรับบริการที่ศูนย์ฯหรือโทร 02 464 3057 ต่อ 206 พยาบาลผู้รับผิดชอบจะไปเยี่ยมที่บ้านเพื่อประเมินการช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป
กรณีพบนกตาย 2-3 ตัวในชุมชน
เมื่อพบว่าสัตว์ปีก เช่น ไก่ เป็ด หรือนกที่เลี้ยงไว้ในบ้านป่วยตาย หรือมีนกตกลงมาตายในบริเวณบ้าน หรือใกล้บ้าน ให้ทำการทำลายซากสัตว์ปีกดังกล่าว ทำการเผาหรือฝัง โดยขุดหลุมลึกประมาณ 1 เมตร ใส่ซากสัตว์ปีกลงไป แล้วราดทับด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น น้ำคลอรีน หรือปูนขาว แล้วฝังกลบทับให้แน่น โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสซากไก่โดยตรง ให้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น สวมถุงพลาสติก/ถุงมือ สวมผ้าปิดจมูกในขณะที่เก็บ และล้างมือให้สะอาดทันทีหลังเก็บซากสัตว์แล้ว
     กรณีป่วยตายอย่างรวดเร็ว หรือผิดปกติมากกว่า 1 ตัวขึ้นไปให้แจ้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำชุมชน  หรือศูนย์บริการสาธารณสุข โทร 02 464 3057 ต่อ 206 หรือแจ้งฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตทุ่งครุ โทร 02 464 4393
กรณีต้องการให้ไปฉีดพ่นยุง
การพ่นเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัย เป็นวิธีควบคุมยุงที่ให้ผลดี แต่ให้ผลระยะสั้นประมาณ 3-5 วันเท่านั้น  ราคาแพง  ผู้ปฏิบัติต้องมีความรู้  เพราะเคมีภัณฑ์ อาจเป็นพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยง จึงควรใช้เฉพาะเมื่อจำเป็นคือเมื่อพบมีผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ การพ่นเคมีบ่อย ๆ โดยไม่จำเป็นจะทำให้ยุงดื้อต่อสารเคมีกำจัดแมลง ซึ่งจะเกิดผลเสียหายอย่างยิ่งในการควบคุมการระบาดของโรค จึงแนะนำให้กำจัดแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำควบคู่ไปด้วย ดังนี้
                 1.1 ทางกายภาพ  ได้แก่ การปิดภาชนะกักเก็บน้ำด้วยฝาปิดเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้าไปวางไข่  อาจจะใช้ผ้ามุ้ง ผ้ายางหรือพลาสติกปิดและมัดไว้ ภาชนะที่ยังไม่ใช้ประโยชน์ควรจะคว่ำ
มิให้รองรับน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้สะอาด สิ่งของเหลือใช้    เช่น  กะลา กระป๋องควรเผาหรือฝัง แจกันดอกไม้สดควรเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน วิธีการเหล่านี้ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอดทั้งปี
                 1.2 ทางชีวภาพ  คือ การปล่อยปลากินลูกน้ำลงในภาชนะเก็บกักน้ำ เช่น โอ่งตุ่ม 2-4 ตัว หมั่นดูแลอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง  วิธีนี้ง่ายประหยัดและปลอดภัย
                 1.3 ทางเคมี  โดยใส่ทรายทีมีฟอสในภาชนะเก็บน้ำใช้  ควรใช้เฉพาะภาชนะที่ไม่สามารถปิดหรือใส่ปลากินลูกน้ำได้
กรณีต้องการให้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในชุมชน
กรณีมีสุนัขในชุมชนจำนวนมาก ต้องการให้เจ้าหน้าที่ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า  สามารถรวบรวมจำนวนสัตว์เลี้ยงในชุมชน(ควรมากกว่า 20 ตัว)และแจ้งเพื่อนัดหมายวัน เวลาและสถานที่รับวัคซีดได้ที่เบอร์ 02 464 3057 ต่อ 206 และสัตว์เลี้ยงต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าต่อเนื่องทุกปี โดยสามารถมาขอรับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกวันศุกร์ เวลา 13.00-16.00 น.
กรณีกำหนดฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตรงวันหยุด
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัส มีจุดประสงค์เพื่อกันการติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามตารางเวลาที่กำหนด การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ได้ผล ควรฉีดให้ตรงวัน โดยเฉพาะ 3 เข็มแรก (วันที่ 0, 3, 7) เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ส่วนเข็มที่ 4 และ 5 ซึ่งจะฉีดในวันที่ 14 และ 28 เป็นการฉีดกระตุ้น 
          ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนักบ้าจึงจำเป็นต้องรับการฉีดวัคซีน 3 เข็มแรกตรงตามกำหนดสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ฟรีที่โรงพยาบาลรัฐผู้ที่ถือบัตรทอง (สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) และบัตรประกันสังคมสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ฟรีเลยค่ะ ตามเงื่อนไขดังนี้
 กรณีประกันสังคม
 - หากรักษาในโรงพยาบาลที่ตนเองมีประกันสังคม สามารถรักษาได้เลยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
 - หากไม่ได้รักษาในโรงพยาบาลที่ตนเองมีประกันสังคม สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยฉีดวัคซีนเข็มแรก ณ โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อน แล้วนำใบเสร็จรับเงินที่สำรองจ่ายไปก่อน พร้อมใบรับรองแพทย์มาเบิกคืนได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขต/พื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกแห่งที่สะดวก
 ทั้งนี้ หากเข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลของรัฐ ประเภทผู้ป่วยนอก จะเบิกค่าบริการได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่หากเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลเอกชน ประเภทผู้ป่วยนอก จะเบิกค่าบริการได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1,000 บาท และจ่ายเพิ่มตามรายการรักษาที่กำหนดตามหลักเกณฑ์ของประกาศคณะกรรมการการแพทย์
กรณีบัตรทอง
สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ฟรีที่โรงพยาบาลรัฐที่ลงทะเบียนสิทธิที่ระบุไว้ หรือหากถูกสุนัขกัดระหว่างเดินทาง หรือในพื้นที่ที่ไม่ได้ลงทะเบียนสิทธิตามบัตรทอง ก็สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลรัฐใกล้ที่เกิดเหตุที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าได้เลย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
การขอรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์และมีการสลับเปลี่ยนแปลงเชื้อไวรัสในแต่ละฤดูกาลของแต่ละปี ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า สามารถกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ เกิดขึ้นได้ ทุกเพศ ทุกช่วงอายุ แพร่เชื้อทางระบบทางเดินหายใจ โดยละออง เสมหะ จากผู้ป่วยไอ หรือจาม ไปยังผู้ที่อยู่ใกล้เคียง มักพบอัตราการติดเชื้อสูงสุดในกลุ่มเด็กเล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์และผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เมื่อป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว อาจเกิดอาการป่วยรุนแรงมากขึ้น มีโรคแทรกซ้อนจนต้องมาตรวจรักษาจากแพทย์หรือโรคมีความรุนแรงจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ อาจเสียชีวิตหากได้รับการรักษาไม่ถูกต้องหรือทันเวลา
ด้วยเหตุนี้ แพทย์จึงแนะนำให้ฉีดวัดซีนในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นหญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว อาทิ โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน รวมไปถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ดูแลกลุ่มเสี่ยง เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการ และผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยเหล่านี้ ทั้งนี้ ในประเทศไทย โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก่อนถึงฤดูกาลระบาด เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันพร้อมสำหรับต่อสู้กับโรคไข้หวัดใหญ่
     สำหรับศูนย์บริการสาธารณสุข 59 ทุ่งครุ ให้บริการฟรีในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุ 6 เดือน- 2 ปี บุคคลมากกว่า 65 ปีขึ้นไป  ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยโรมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน โดยท่านสามารถติดตามช่วงเวลาที่ให้บริการได้ทางช่องทางต่างๆ
    สำหรับผู้ที่สนใจแต่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถติต่อขอรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ที่สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนโดยมีค่าใช้จ่าย
สมุดวัคซีนหายต้องทำอย่างไร

สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก หรือ สมุดบันทึกสีชมพู เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญสำหรับคุณแม่ท้อง ทั้งนี้ก็เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพแม่และเด็กโดยมีมีการบันทึกผลการตรวจร่างกายของหญิงตั้งครรภ์และคำแนะนำต่างๆ รวมถึงบันทึกข้อมูลของลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิดต่อเนื่องจนถึงเด็กมีอายุได้ 5 ปีและรวมถึงประวัติการได้รับวัคซีนที่ผ่านมาทั้งหมด

กรณีสมุดวัคซีนหาย ต้องเริ่มต้นโรงพยาบาลที่เด็กเกิดและคุณพ่อคุณแม่ได้พาไปฉีดวัคซีน แพทย์ของเรามักจะแนะนำให้ลองติดต่อโรงพยาบาลนั้นๆดูก่อน เพราะในบางครั้งโรงพยาบาลอาจจะเก็บประวัติการฉีดวัคซีนอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการติดตามรักษาหรือไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลนั้นๆสม่ำเสมอ แต่เวชระเบียนของโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะถูกทำลายทิ้งไป ถ้าคนไข้ขาดการติดต่อเป็นเวลา 5 ปี อย่างไรก็ตาม การติดต่อโรงพยาบาลเดิม หรือคลินิกเดิมที่เคยฉีดวัคซีนก็เป็นสิ่งที่น่าจะลองทำดู บางครั้งจะได้ประวัติการฉีดวัคซีนกลับมา ถ้าไม่สามารถค้นหาประว้ติเก่าได้ก็สามารถมาขอรับบริการได้ในวันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลา 13.00 น. โดยแพทย์หรือพยาบาลจะเป็นผู้ซักประวัติและพิจารณาการให้วัคซีนต่อไป

 
กรณีสิทธิ์ว่างจะขอรับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 59 ทุ่งครุได้หรือไม่และเสียค่าใช้ค่าเท่าไหร่คะ
สามารถเข้ารับการรักษาได้และนำยาเดิมมาด้วยทุกครั้ง ไม่เสียค่าใช่จ่าย
กรณีสิทธิ์ว่างแล้วสิทธิ์การรักษาขึ้นจะสามารถรับการรักษาได้หรือไม่
ครั้งแรกสิทธิ์ขึ้นจะสามารถรับบริการได้ฟรีและหลังจากนั้น แนะนำรับการรักษาตามสิทธิ์ที่ขึ้นแล้วตามสิทธิ์ของตนเอง
กรณีเป็นสิทธิ์ว่าง แต่มีการนัดเจาะเลือดจากสถานสถานพยาบาลที่ถูกยกเลิกสิทธิ์ต้องทำยังไง
จะต้องพบแพทย์ก่อนเพื่อให้แพทย์พิจารณาอีกครั้ง
Page 1 of 1