โรคฉี่หนู ภัยร้ายหน้าฝน รู้ทันก่อน ป้องกันได้ !!
โรคฉี่หนู (Leptospirosis) เป็นโรคที่พบระบาดได้ในช่วงฤดูฝน น้ำฝนจะชะล้างเอาเชื้อโรคต่างๆ จากสภาพแวดล้อมไหลมารวมกันอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมขัง ซึ่งโรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อก่อโรคฉี่หนู (pathogenic Leptospires) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น หนู สุกร โค กระบือ สุนัข เป็นต้น โดยสัตว์ที่เป็นพาหะอาจไม่แสดงอาการแต่มีการติดเชื้อที่ท่อไตทำให้มีการปล่อยเชื้อออกมากับปัสสาวะ ซึ่งเชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมขังตามดิน โคลน แอ่งน้ำ ร่องน้ำ น้ำตก แม่น้ำ ลำคลอง และสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม
คนติดเชื้อและป่วยเป็นโรคฉี่หนูได้ 2 ทาง ได้แก่ สัมผัสเชื้อก่อโรคฉี่หนูจากการสัมผัสสัตว์ที่เป็นพาหะโดยตรง เช่น ปศุสัตว์ หรือสัตวแพทย์ และทางอ้อมโดยการย่ำน้ำ เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมที่สัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ดินและน้ำปนเปื้อนเชื้อก่อโรคฉี่หนูอยู่ เช่น ชาวนา ชาวสวน โดยเฉพาะรายที่ผิวหนังบริเวณที่แช่น้ำมีบาดแผล หรือว่ายน้ำแล้วมีการสำลักน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น แต่ไม่พบแต่ไม่พบการติดต่อจากคนถึงคนโดยตรง โดยระยะฟักตัวของโรคตั้งแต่ได้รับเชื้อจนป่วยจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่อาจนานได้ถึง 3 สัปดาห์
ผู้ที่ความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อก่อโรคฉี่หนู
1.ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยที่มีน้ำท่วมขัง มีการเดินย่ำน้ำ ลุยน้ำท่วม
2.ผู้ที่ทำงานในภาคเกษตร (ชาวนา ชาวไร่ เลี้ยงสัตว์ เช่น คนงานบ่อปลา ฯลฯ) หรือทำงานในโรงฆ่าสัตว์
3.คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ
4.ผู้ที่ชอบเดินป่า ท่องเที่ยวตามแม่น้ำ ทะเลสาบ น้ำตก หรือเล่นกีฬาทางน้ำตามธรรมชาติ
อาการแสดงภายหลังการติดเชื้อ
ผู้ที่สัมผัสและรับเชื้อนี้ส่วนใหญ่ไม่มีป่วย ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มดังนี้
1.กลุ่มที่อาการไม่รุนแรง จะมีอาการไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ สับสน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการดังกล่าวคล้ายโรคติดเชื้อหลายชนิดเช่น ไข้เลือดออก เป็นต้น อาการที่พบบ่อยและทำให้นึกถึงโรคฉี่หนูได้แก่ อาการปวดกล้ามเนื้อที่รุนแรง อาการตาแดง หรือ เลือดออกใต้ตาขาว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถ้าได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ของโรค และเป็นอยู่ได้นานถึง 1 สัปดาห์
2.กลุ่มที่อาการรุนแรง พบน้อยกว่ากลุ่มแรก ผู้ป่วยนอกจากจะมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อย เหมื่อนกลุ่มแรกแล้ว จะมีอาการแทรกซ้อนของโรคร่วมด้วย เช่น ตาเหลือง ตัวเหลือง คอแข็ง ความดันโลหิตต่ำ การทำงานของไตลดลง ปอดอักเสบ เลือดออกผิดปกติ รายที่รุนแรงมากอาจพบเลือดออกในปอดได้ กลุ่มนี้ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต
การป้องกันการติดเชื้อ
หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำหรือสิ่งแวดล้อมเพราะอาจปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ที่อาจมีเชื้อโรคฉี่หนู เช่น การเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือการแช่น้ำนาน ๆ โดยเฉพาะกรณีซึ่งมีบาดแผลตามร่างกาย หรือแค่รอยถลอก รอยขีดข่วน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรให้สวมรองเท้าบูทเพื่อป้องกันน้ำไม่ให้น้ำถูกแผล และระวังอย่าให้มีน้ำขังในรองเท้าบูทที่ใส่ กำจัดขยะไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนู กำจัดหนูตามแหล่งที่อยู่อาศัย หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่อาจมีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อนอยู่ ผู้ที่ทำงานเสี่ยงต่อโรคควรใช้ถุงมือยาง รองเท้าบูท หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำ ถ้าต้องลุยน้ำเป็นเวลานานหรือจำเป็นต้องทำงานในสภาวะดังกล่าวควรสวมใส่เครื่องป้องกัน หากไปแช่หรือย่ำน้ำที่อาจมีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อนอยู่ควรรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายโดยเร็วและเช็ดตัวให้แห้ง
หมายเหตุ : ลักษณะอาการของโรคฉี่หนู จะมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณน่อง หากมีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือการสัมผัสน้ำแก่แพทย์ผู้รักษาให้ทราบด้วย หากไม่รีบรักษาและปล่อยไว้นานจนอาการมากขึ้นอาจเสียชีวิตได้