ประวัติความเป็นมา

         เดิมเป็นบ้านพักท่านเจ้าเมืองมีนบุรี บนเนื้อที่ของสุขาภิบาลเมืองมีนบุรี จำนวนนื้อที่ 4 ไร่เศษ ต่อมาสุขาภิบาลเมืองมีนบุรีได้ยกให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเปิดเป็นสถานีอนามัยชั้น 1 สร้างบ้านพักแพทย์ 2 หลัง บ้านพักเจ้าหน้าที่ห้องแถวไม้ 10 ห้อง และปรับปรุงซ่อมแซมด้วยเงินสุขาภิบาลจังหวัด จำนวน 395,000 บาท ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2500 โดยมี พณ.ท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) เป็นผู้ทำการเปิดและยกฐานะเป็นสถานีอนามัยชั้น 1 และผดุงครรภ์ สังกัดสำนักปลัด กระทรวงสาธารณสุข
 

                          รูปภาพ : จอมพลป.  พิบูลสงคราม
                   เปิดศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี ปี พ.ศ. 2500



         ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์การแพทย์และอนามัยมีนบุรี ปี พ.ศ.2521 ได้โอนเข้าสังกัดกรุงเทพมหานคร เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี และกำหนดให้เป็นสถานีอนามัยชั้น 2 และสำนักงานผดุงครรภ์ ในสมัยนั้นเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา โดยให้ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรีเป็นผู้ดูแล ปี พ.ศ.2524 ได้งบประมาณสร้างอาคารศูนย์มาตรฐานเป็นที่ทำการ
 
         ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2538 โรงพยาบาลหนองจอกได้ย้ายสังกัดจากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ไปสังกัดสำนักแพทย์ กรุงเทพมหานคร ตามมติกก. ซึ่งเน้นงานด้านรักษาพยาบาลโดยตรงดังนั้นจึงได้โอนศูนย์บริการสาธารณสุขสาขาและพื้นที่รับผิดชอบในเขตหนองจอก เข้ามาอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี ยกเว้นหมู่ 2 แขวงกระทุ่มราย ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของโรงพยาบาลหนองจอก

         20 ธันวาคม พ.ศ. 2539 รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มาตรวจเยี่ยมศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี ได้มอบ นโยบายให้ปรับปรุงอาคารสถานที่ซึ่งสร้างมานาน 40 ปี ให้มีความเหมาะสมที่จะให้เปิดบริการเป็นโพลีคลินิก และซ่อมแซมอาคารเก่าให้มีสภาพดีขึ้น เนื่องจากเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีผู้มารับบริการมากและอยู่ไกล้สถานที่ราชการอื่นๆ การคมนาคมสะดวก ทั้งทางบกและทางน้ำ อีกทั้งมีเนื้อที่ว่างจะขยายบริการสาธารณสุขต่างๆ ได้ ในปีงบประมาณ 2541 ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างอาคาร 5 ชั้น และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครมีมติให้ระงับโครงการก่อสร้าง ต่อมาสำนักอนามัยได้รับอนุมัติงบประมาณจ่ายประจำปี 2541 โครงการก่อสร้างอาคารก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี จำนวนเงิน 12,000,000 บาท (สิบสองล้านบาทถ้วน) และผูกพันงบประมาณปีถัดไป จำนวนเงิน 28,227,000 บาท (ยี่สิบแปดล้านสองแสนสองหมื่นเจ็ดพันบาทถ้วน) เป็นค่าก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี
 
         พ.ศ. 2543 ได้รับงบประมาณจำนวน 29 ล้านบาท ถมดินภายในบริเวณ ก่อสร้างอาคาร ค.ส.ล. 5 ชั้น ดาดฟ้า 1 หลัง พร้อมที่จอดรถ ลิฟต์โดยสาร 1 ชุด ติดตั้งระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้า ประปา ระบบดับเพลิง สัญญาณเตือนภัย ระบบโทรศัพท์ และระบบบำบัดน้ำเสีย ก่อสร้างห้องเก็บของและห้องพักพนักงานขับรถยนต์ชั้นเดียว 1 หลัง และก่อสร้างโรงจอดรถยนต์ 1 หลัง
 
ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี ประกอบด้วยอาคารทำการ 3 แห่ง รับผิดชอบพื้นที่ แขวงมีนบุรี และแขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี ดูแลรับผิดชอบศูนย์บริการสาธารณสุขสาขาจำนวน 2 แห่ง อยู่ในแขวงแสนแสบ