คลินิกตรวจโรคทั่วไป เปิดรับบัตรกี่โมง

คลินิกตรวจโรคทั่วไป ให้บริการเปิดรับบัตรตั้งแต่เวลา 07.30 – 11.30 น. วันจันทร์ – วันศุกร์

สอบถามเรื่องการเช็คสิทธิบัตรทองว่าตนเองมีสิทธิบัตรทองอยู่ที่ไหน

สามารถตรวจสอบสิทธิตนเองได้จาก 1330 หรือ ไลน์แอด สปสช. กรณีไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเองได้ สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เพื่อตรวจสอบข้อมูลจากเวปไซต์ สปสช. ให้

ต้องการขอใบส่งตัว/ขอใบส่งตัวแทน ต้องทำอย่างไร

สามารถขอใบส่งตัวได้ในวันจันทร์ – วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 07.30 – 11.30 น.

    และคลินิกนอกเวลาวันเสาร์ - วันอาทิตย์ตั้งแต่เวลา 08.00 – 11.00 น.

     โดยเตรียมเอกสารดังนี้ 

  1. ประวัติการรักษา
  2. ใบนัด
  3. บัตรประจำตัวประชาชน กรณีไม่ได้มารับด้วยตนเองให้นำบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับแทนและของผู้ป่วยมาด้วย
สอบถามเรื่องการรับยาโรคเรื้อรังต่อเนื่องจากสถานพยาบาลอื่น ต้องทำอย่างไร

สามารถรับยาต่อเนื่องจากสถานพยาบาลอื่นได้ โดยให้นำประวัติการรักษาล่าสุดหรือตัวอย่างยาที่รับประทานประจำมาด้วย เพื่อการรักษาต่อเนื่อง ซึ่งจะมีการซักประวัติการใช้ยาล่าสุดจากเภสัชกรสำหรับผู้รับบริการรายใหม่ต่อเนื่องจากสถานพยาบาลอื่นทุกราย และบันทึกเก็บไว้ในเวชระเบียนผู้ป่วยนอก

สอบถามเรื่องการรับยาแทน ต้องทำอย่างไร

ต้องเป็นผู้ป่วยเก่าที่เคยมารับยาที่ศูนย์ฯต่อเนื่อง และผู้รับยาแทนต้องเป็นบุคคลในครอบครัวที่ดูแลผู้ป่วยประจำ พร้อมนำบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับแทนและของผู้ป่วยมาด้วย

สอบถามเรื่องการลงทะเบียนออนไลน์ สามารถลงทะเบียนได้ช่องทางไหน และสามารถจองคิวตรวจได้หรือไม่

สามารถลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นเวชระเบียนออนไลน์ โดยเข้าไปกรอข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ ศูนย์ฯ 11 สามารถระบุวันและเวลาที่จะเข้ามารับบริการแต่ไม่สามารถจองคิวในระบบได้ เวชระเบียนออนไลน์

สอบถามเรื่องบัตรทองนอกเขตสามารถมารับบริการได้ไหม

สามารถมารับบริการได้ แต่ไม่สามารถออกใบส่งต่อไปโรงพยาบาลได้ กรณีต้องการมารับยาโรคเรื้อรังประจำต่อที่ศูนย์ฯ11 แนะนำย้ายสิทธิการรักษาเพื่อความต่อเนื่องในการรักษา/มีเหตุจำเป็นต้องส่งต่อโรงพยาบาลตามสิทธิ์บัตรทอง

คลินิกทันตกรรมให้บริการวันไหนบ้าง

ให้บริการทุกวันจันทร์ – วันอาทิตย์ หยุดวันนักขัตฤกษ์

ในเวลาราชการ วันจันทร์ – ศุกร์ ให้บริการ 08.00 – 12.00 น.

ควรยื่นบัตรที่เคาน์เตอร์ทันตกรรม ก่อนเวลา 11.00 น.

นอกเวลาราชการ วันจันทร์ – ศุกร์ ให้บริการ 16.00 – 20.00 น. 

ควรยื่นบัตรที่เคาน์เตอร์ทันตกรรม ก่อนเวลา 18.30 น.

นอกเวลาราชการ วันเสาร์ – อาทิตย์ ให้บริการ 08.00 – 12.00 น.

ควรยื่นบัตรที่เคาน์เตอร์ทันตกรรม ก่อนเวลา 11.00 น.

จะมาทำฟันต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง

ผู้รับบริการ เด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ใช้สูติบัตร

     ผู้รับบริการ อายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป ใช้บัตรประจำตัวประชาชน

     ผู้รับบริการ ต่างด้าว ใช้ Pass port

คลินิกทันตกรรม ให้บริการอะไรบ้าง

งานทันตกรรมบำบัด ได้แก่ การตรวจสุขภาพช่องปาก, การถอนฟัน, การอุดฟัน, การขูดหินปูน

งานส่งเสริมป้องกันทางทันตกรรม ได้แก่ การเคลือบฟลูออไรด์วานิช, การเคลือบหลุมร่องฟัน

ไม่มีบริการใส่ฟันปลอม ฝังรากเทียม รักษารากฟัน ครอบฟัน

ในกรณีที่เกินศักยภาพของศูนย์ฯ จะดำเนินการส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาล ตามระบบหลักประกันสุขภาพ

สามารถนำยาเดิมที่ไม่ได้ใช้ / ยาหมดอายุแล้วมาบริจาคที่ศูนย์บริการสาธารณสุขได้หรือไม่

ประชาชนสามารถนำยาหมดอายุ ยาเสื่อมสภาพหรือยาที่ไม่ใช้แล้ว มาติดต่อที่งานเภสัชกรรมของศูนย์บริการสาธารณสุขได้โดยตรง เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้องและปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม

สามารถนำใบสั่งยาจากโรงพยาบาลอื่นมาซื้อยาที่ห้องยาได้หรือไม่ / มาซื้อยาได้เลยโดยไม่ต้องพบแพทย์ได้หรือไม่

ไม่สามารถซื้อได้ เนื่องจากการจ่ายยาจากห้องยาต้องจ่ายจากใบสั่งยาที่ออกโดยแพทย์ของศูนย์บริการสาธารณสุขเท่านั้น และต้องมีการบันทึกข้อมูลผู้ป่วย รวมทั้งประวัติการให้ยาในระบบด้วย

ถ้าต้องการให้มาใส่สายอุปกรณ์คนไข้ที่บ้าน ต้องทำอย่างไรบ้าง

ให้ญาติมาติดต่อที่ศูนย์บริการสาธารณสุข โดยนำบัตรประชาชนผู้ป่วยมาทำประวัติพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์เซ็นอนุญาตให้มาทำหัตถการที่บ้าน

ถ้าต้องการฉีดวัคซีนโควิด/ไข้หวัดใหญ่สำหรับผู้ป่วยติดเตียงต้องทำยังไง

แจ้งความประสงค์มาที่ศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อวางแผนดำเนินการออกฉีดวัคซีนให้กับผู้ป่วย

การตรวจสุขภาพเบื้องต้นในเด็กนักเรียน ตรวจอะไรบ้าง ทำไมต้องตรวจ พอดีผู้ปกครองอยากทราบรายละเอียดการตรวจหน่อยค่ะ

การตรวจสุขภาพเบื้องต้น คือ การตรวจร่างกาย 10 ท่า เช่นการตรวจมือ แขน ขา ตา หู เป็นต้น เพื่อตรวจดูความผิดปกติของร่างกาย และให้คำแนะนำ และในเด็กชั้นอนุบาลจะมีการตรวจประเมินพัฒนาการร่วมด้วย หากพบว่ามีความผิดปกติทางนักจิตวิทยาจะนัดกระตุ้นพัฒนาการซ้ำ หรือส่งต่อรักษาตามสิทธิ์ ส่วนชั้นประถมมีการตรวจคัดกรองระดับการมองเห็นเพื่อคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติ แจ้งผลผู้ปกครอง เพื่อตรวจรักษาต่อไป

สวัสดีค่ะ พอดีตอนนี้ทางโรงเรียน หรือศูนย์เด็กเล็กมีเด็กเป็นโรคมือ เท้า ปาก หลายคน ห้องเดียวกัน อยากได้คำแนะนำค่ะ

กรณีมีนักเรียนป่วยห้องเดียวกันตั้งแต่ 2 รายขึ้นไปภายใน 1 สัปดาห์ ให้ปิดห้องเรียนอย่างน้อย 1 วัน เพื่อทำความสะอาดนะคะ และเฝ้าระวังคัดกรองเผื่อพบเด็กป่วยในห้องเรียนที่มีการระบาดต่ออีก 1 สัปดาห์ค่ะ ในส่วนเด็กที่ป่วยขอให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้านอย่างน้อย 1 สัปดาห์หรือจนกว่าจะหายดี เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้เด็กคนอื่น ๆ ในโรงเรียนค่ะ ด้านอื่น ๆ ขอให้ทางรร.คัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียนทุกเช้า หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์และเครื่องใช้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และช่วงการระบาดกำชับเด็ก ๆ ให้ล้างมือเป็นประจำ ห้ามใช้ภาชนะร่วมกันกับเพื่อนค่ะ 

หนูไม่ได้ให้แม่เซ็นใบยินยอมฉีดวัคซีน.. หนูอยากฉีด หนูฉีดได้ไหมคะ/ขาดเรียน หรือลาป่วยวันนัดฉีดวัคซีน

นักเรียนต้องให้ผู้ปกครองเซ็นต์ใบยินยอมการฉีดวัคซีนก่อน ถึงจะได้รับการฉีดวัคซีนค่ะ กรณีขาดเรียนหรือลาป่วยในวันนัดฉีดวัคซีน เจ้าหน้าที่ทีมอนามัยโรงเรียนจะประสานคุณครูประจำชั้นเพื่อแจ้งนักเรียนและนัดมาฉีดวัคซีนที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 11 ประดิพัทธ์

มีไข้วันนัดฉีดวัคซีนที่โรงเรียน ฉีดได้ไหมคะ

รอให้หายจากอาการป่วยแล้วค่อยแจ้งคุณครูประจำชั้นนะคะ เดี๋ยวคุณครูประจำชั้นจะประสานครูอนามัยโรงเรียนแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อนัดวันมาฉีดที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 11 ประดิพัทธ์

ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดสามารถมารับบริการไม่ตรงกำหนดได้หรือไม่

สามารถฉีดวัคซีนได้ก่อนวันนัด แต่ไม่สามารถฉีดเลยวันนัด เนื่องจากเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์

ถ้ามาฉีดยาคุมกำเนิดเลยนัด สามารถมาฉีดได้อีกครั้งเมื่อไหร่

ระหว่างรอรอบเดือนมาให้คุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัย เมื่อรอบเดือนมาให้ฉีดยาคุมภายใน 5 วัน นับจากวันที่เริ่มมีประจำเดือน

การเตรียมตัวก่อนตรวจ มะเร็งปากมดลูก ควรเตรียมตัวอย่างไร

1. งดตรวจ มะเร็งปากมดลูก ในกรณีมีรอบเดือน

2. งดมีเพศสัมพันธ์ 48 ชั่วโมง

3. งดสวนล้างช่องคลอด ด้วยน้ำยาทำความสะอาดก่อนการตรวจ 48 ชม.

4. งดใช้ผ้าอนามัยแบบสอดหรือใช้ยาในช่องคลอดอย่างน้อย 48 ชม.

สามารถนำเด็กอายุ 0-5 ปี มาฉีด Vaccine ได้วันไหนบ้าง

ได้ทุกวันอังคาร สามารถยื่นสมุดบันทึกสุขภาพเด็กดีและสูติบัตร(กรณีรายใหม่มาครั้งแรก) ตั้งแต่ ๑๒.๓๐ – ๑๔.๓๐ น. ที่โต๊ะประชาสัมพันธ์ ชั้น ๑ เพื่อรอเรียกชื่อตามลำดับเลขคิวที่จะแนบกับสมุดบันทึกสุขภาพเด็กดี เวลา ๑๓.๐๐-๑๔.๔๕ น. ที่หน้าห้องเวชระเบียน

ถ้าลูกมีน้ำมูกเป็นหวัด ไม่สบายสามารถฉีด Vaccine ได้หรือไม่

แนะนำให้เลื่อนการฉีดออกไปเพราะ Vaccine บางตัวมีผลข้างเคียงทำให้เด็กมีไข้ ตัวร้อนได้

ถ้าเด็กเคยเป็นหัดเยอรมันแล้วเมื่อได้รับวัคซีนหัดคางทูม หัดเยอรมัน จะกลับมาเป็นโรคหัดเยอรมันได้อีกหรือไม่

สามารถกลับมาเป็นอีกได้ 

ศูนย์บริการสาธารณสุข 11 ประดิพัทธ์ ออกเอกสารรับรองความพิการด้านไหนได้บ้าง

ศูนย์บริการสาธารณสุข 11 ประดิพัทธ์ สามารถออกเอกสารรับรองความพิการด้านการเคลื่อนไหว และความพิการที่เห็นเชิงประจักษ์เท่านั้น อาทิ เช่น ผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดการอ่อนแรงอย่างเห็นได้ชัด ผู้ป่วยแขนหรือขาขาด เป็นต้น ไม่สามารถออกเอกสารรับรองความพิการด้านอื่นได้ เนื่องจากไม่มีแพทย์เฉพาะทาง และเครื่องมือในการประเมินผู้ป่วย

ศูนย์บริการสาธารณสุขสาธารณสุข 11 ประดิพัทธ์ สามารถทำบัตรผู้พิการให้ได้ไหม

ศูนย์บริการสาธารณสุข 11 ประดิพัทธ์ ไม่สามารถออกบัตรผู้พิการให้ผู้ป่วยได้ แต่เป็นหน่วยงานที่มีแพทย์ออกเอกสารรับรองความพิการเพื่อให้ผู้ป่วยนำไปยื่นทำบัตรผู้พิการ กับกรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้พิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ผู้ป่วยติดเตียง ญาติไม่สามารถนำมาพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ประเมินได้ จะทำอย่างไรได้บ้าง

ญาติผู้ป่วย สามารถติดต่อศูนย์บริการสาธารณสุข 11 ประดิพัทธ์ ติดต่อทางอาสาสมัครสาธารณสุขหรือช่องทาง Line chat bot เพื่อสอบถามหรือแจ้งข้อมูล ซึ่งงานสังคมสงเคราะห์จะคัดกรองประเมินเบื้องต้น ก่อนให้ทีมสหวิชาชีพติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินผู้ป่วยกรณีแพทย์ไม่สามารถออกประเมินได้ ให้Tele-Consultหรือถ่ายคลิปวิดีโอส่งแพทย์พิจารณา

กรณีคนไข้สิทธิการรักษาพยาบาลอยู่ศบส.11 ประดิพัทธ์ เขตพญาไท แต่อาศัยอยู่นอกพื้นที่เขตพญาไท สามารถมาขอรับที่ศูนย์บริการสาธารณสุข11 ประดิพัทธ์ ได้ไหม

การขอรับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับ และแผ่นเสริมซึมซับ สำหรับบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง หรือบุคคลที่มีปัญหาการกลั้นการขับถ่าย ต้องดูตามพื้นที่ที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่จริง เนื่องจากพยาบาลต้องมีการลงเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินผู้ป่วย เพื่อพิจารณาว่าผู้ป่วยเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด

ผู้ป่วยสูงอายุ ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ สามารถขอรับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ได้ไหม

กรณีการกลั้นการขับถ่ายไม่ได้ ผู้ป่วยต้องได้รับการยืนยันจากแพทย์ โดยใช้ใบรับรองแพทย์ที่แพทย์ระบุว่าผู้ป่วยมีปัญหากลั้นการขับถ่ายจริง

ผู้ป่วยที่ขอรับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับ และแผ่นเสริมซึมซับ เป็นสิทธิการรักษาอะไรบ้าง

ผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษา ที่มีสัญชาติไทย (มีบัตรประจำตัวประชาชน)สามารถขอรับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับ และแผ่นเสริมซึมซับได้

Page 1 of 1