กทม. ร่วมเปิดศูนย์ประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร สืบสานต่อยอดงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น

วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567
image

วันนี้ (23 เม.ย. 67) เวลา 09.00 น. นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้นางสาววรนุช  สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนกรุงเทพมหานครร่วมพิธีเปิดศูนย์ประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร (อพ.สธ.มรภ.พระนคร) โดยมีนายพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เป็นประธานเปิดศูนย์ประสานงานฯ ณ ห้องประชุมสมันตเนตร ชั้น 8 อาคารเรียนและอำนวยการ (อาคาร 4) มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เขตบางเขน

สำหรับศูนย์ประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร (อพ.สธ.มรภ.พระนคร) เป็นศูนย์ประชาสัมพันธ์เผยแพร่การดำเนินงานในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี(อพ.สธ.) โดยมุ่งเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นในการพัฒนาเครือข่าย การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ทรัพยากรธรรมชาติ และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม อีกทั้งประสานความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในการจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญหา เพื่อที่จะอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่นของสำนักงานเขตและโรงเรียน ต่อยอดการสร้างอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ หลังจากพิธีเปิด ผู้เข้าร่วมงานได้เยี่ยมชมห้องจัดแสดงผลงานและนิทรรศการ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร (อพ.สธ.มรภ.พระนคร) บริเวณภายในห้องจัดแสดงผลงานและนิทรรศการ ตามกรอบการดำเนินงาน 3 กรอบ 8 กิจกรรม ในทรัพยากรทั้ง  3 ฐานทรัพยากร ประกอบด้วย 1. ผลงานการบูรณาการเรียนการสอนกับงาน อพ.สธ. ได้แก่ วิชาสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน  วิชาการพัฒนาเกมสามนิติ  และวิชา ชีววิทยาทั่วไป  2. ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากงาน อพ.สธ. ได้แก่ การศึกษาฤทธิ์การยับยั้งกิจกรรมเนโซม์แอลฟา-อะไมเลสและไลเปสในหลอดทดลองของชาสมุนไพรที่พัฒนาวิธีการทำมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น  Exploitation of an ontology in a semantic web: A case study transferring Thai lichen data into domain ontologies การศึกษาชนิดสมุนไพรที่มีผลต่อสมบัติของชา และการพัฒนาเรื่องเล่าเชิงสร้างสรรค์เพื่อยกระดับมูลค่าผลติภัณฑ์ชุมชนข้าวตอกตั้งมอญ คลองสามวา และ 3. ผลงานการบริการวิชาการ สร้างคุณค่าให้กับท้องถิ่น และผลงานสืบสาน ต่อยอด ทางศิลปวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนายาสีฟันโบราณชนิดผลสูตรสมุนไพรใบแจง และการพัฒนาผลิตภัณฑ์บาล์มสมุนไพรจากต้นแจง

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพัชร์ เพ็ชรอาภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน (อพ.สธ.มรภ.พระนคร)  ดร.ปิยรัษฎ์  ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ  ดร. ถนอม  อินทรกำเนิด ผู้แทนมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ผู้แทนสำนักงานเขตจตุจักร บางซื่อ ลาดพร้าว หลักสี่ ดอนเมือง สายไหม และบางเขน