ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมเป็นสักขีพยานความร่วมมือภาคีเครือข่ายสุขอโศก (SOOK ASOK) เนรมิตพื้นที่ย่านอโศก สู่ย่านน่าอยู่

วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2567
image

 

(3 เม.ย. 67) เวลา 09.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภาคีเครือข่ายสุขอโศก (SOOK ASOK) โดยความร่วมมือขององค์กรภาคการศึกษาและภาคธุรกิจย่านถนนอโศกมนตรี เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ย่านอโศกสู่การเป็นย่านน่าอยู่ และนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาคมชาวอโศก ผ่านการดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์ 4 สุข คือ สุขสัญจร สุขวิถี สุขสิ่งแวดล้อม และสุขกิจกรรม ผ่านการร่วมคิดและร่วมดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน และบูรณาการทรัพยากรในรูปแบบโครงการ/กิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ย่านโศกให้น่าอยู่และคนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ริเริ่มโดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในหน่วยงานในการสนับสนุนและร่วมขับเคลื่อนงานของภาคีเครือข่ายสุขอโศกมาอย่างต่อเนื่อง ณ หอดนตรีและการแสดงอโศกมนตรี 1 ชั้น 4 อาคารนวัตกรรม : ศาสตราจารย์ ดร. สาโรช บัวศรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้มาเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามโครงการสุขอโศก โครงการนี้มีความสำคัญกับกรุงเทพฯ แม้ว่า กทม. จะดำเนินการแต่หากขาดความร่วมมือร่วมใจการพัฒนาเมืองก็ไม่สามารถทำได้ ตามที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ศาสตราจารย์อมาตยา เซน ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังในการปาฐกถาหัวข้อ “What We Owe Each Other” ถึงความสำคัญของ Social Contract หรือพันธสัญญาของสังคม การอยู่ร่วมในสังคมได้ไม่ได้อยู่ได้ด้วยกฎหมายแต่อยู่ด้วยพันธสัญญาของคนในสังคม แต่ละคนมีบทบาทอย่างไร ถ้าพันธสัญญาเป็นไปด้วยดี เมืองจะเจริญยิ่งใหญ่ นั่นก็คือหัวใจของสุขอโศก คือ Social Contract ระหว่าง Community ของสังคมที่อยู่ด้วยกัน ซึ่ง กทม. เป็นแค่เพียงหนึ่งในนั้น โดยหลายพื้นที่ทำสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น การปรับปรุงทางเท้าให้มีความสวยงามโดยกลุ่มชมรมคนรักสีลม การจัดระเบียบผู้ค้าบริเวณสะพานเหล็ก-โบ๊เบ๊-คลองโอ่งอ่าง การจัดพื้นที่ให้ผู้ค้าบริเวณสวนสันติชัยปราการ การปรับปรุงย่านทรงวาดเป็น Cooler District ด้วยความร่วมมือของประชาคมย่านทรงวาด โดยมี กทม. ให้การสนับสนุน รวมถึงการนำสายไฟลงดินโดยการไฟฟ้านครหลวง การปรับปรุงทางเท้า การปรับปรุงทางเดินริมคลองแสนแสบ ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ในสวนสาธารณะ เช่น การทำสวนสุนัข สนามกีฬาที่ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์จากภาคเอกชนในสวนเบญจกิติ รวมถึงสวน 15 นาที ริมคลองแสนแสบ บริเวณชุมชนบ้านดอน การดูแลต้นไม้โดยกลุ่ม Big Tree เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ความสำเร็จจะต้องประกอบด้วย ภาคส่วนสำคัญของสังคม คือภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน ตลอดจนภาคประชาสังคม เหมือนเชือกที่ฟั่นเข้าด้วยกัน อย่างที่เรียกว่านวัตกรรมเชือกสี่เกลียว (Quadruple Helix Innovation) โดยถนนอโศก ที่มี มศว. เป็นสถาบันการศึกษาแกนหลักของชุมชนที่เข้มแข็ง และภาคีเครือข่ายที่ร่วมเปลี่ยนในเมืองนี้ โดย กทม. พร้อมจะร่วมดำเนินการไปด้วยกัน

กิจกรรมในวันนี้มี นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร (Chief Sustainability Officer) นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้แทนสำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานเขตวัฒนา  สำนักงานเขตห้วยขวาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน บริษัท เฮอริเทจ เอสเตทส์ จำกัด บริษัท ฟิโก้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และภาคีเครือข่าย ร่วมงาน -----------------  (ปชส.สสล....รายงาน)