กทม.ร่วมผลักดันกรุงเทพมหานครสู่เป้าหมายเมืองอากาศสะอาดอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการ Breathe Cities
วันนี้ (10 ก.ย. 67) เวลา 09.00 น. นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาครัฐสำหรับโครงการ Breathe Cities ในกรุงเทพมหานคร ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า
การประชุมเชิงปฏิบัติการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาครัฐสำหรับโครงการ Breathe Cities ในกรุงเทพมหานคร เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง กรุงเทพมหานคร และ องค์กร C40 จัดขึ้นเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาครัฐได้รับทราบถึงการดำเนินงานของโครงการ Breathe Cities ผ่าน 4 เสาหลักของการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1. การสนับสนุนเพื่อให้มีความพร้อมด้านแหล่งกำเนิดมลพิษและผลกระทบต่อสุขภาพที่เข้าถึงได้และเปิดเผย 2. การสร้างความตระหนักรู้ในสาธารณะ ประสานงานกับพันธมิตรในพื้นที่ และรับรองการมีส่วนร่วมของ ประชาชนในระดับรากหญ้าในการพัฒนานโยบาย 3. ให้การสนับสนุนและความเชี่ยวชาญแก่เมืองต่าง ๆ ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ รวมถึงการประสานงานระหว่างหน่วยงานและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนการแบ่งปันองค์ความรู้ 4. การจัดประชุมแลกเปลี่ยนระหว่างเจ้าหน้าที่ของเมืองเพื่อแบ่งปันความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการดำเนินการในวงกว้างขึ้น นอกจากนี้ ได้ระดมความคิดเห็นเบื้องต้นจากผู้เข้าร่วมประชุมฯ ซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมการขนส่งทางบก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมควบคุมโรค สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับกิจกรรม/มาตรการเบื้องต้นในยุทธศาสตร์สำหรับเมืองเพื่อกำหนดแผนการดำเนินภายใต้เสาหลักของโครงการ Breathe Cities ในกรุงเทพมหานครต่อไป
ทั้งนี้ Breathe Cities เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนและความร่วมมือจากมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ (Bloomberg Philanthropies) กองทุน Clean Air Fund และองค์การ C40 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อตอบสนองต่อการแก้ปัญหามลพิษในอากาศอย่างครอบคลุม ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดเวทีหารือเพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยกรุงเทพมหานคร ได้เข้าร่วมโครงการเป็นเมืองที่ 12 ทำให้ปัจจุบันมีเมืองที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 12 เมือง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (ไทย) ไนโรบี (เคนยา) วอร์ซอ (โปแลนด์) จาการ์ตา (อินโดนิเซีย) Rio de janeiro (บราซิล) โจฮันเนสเบิร์ก (แอฟริกาใต้) อักกรา (กานา) โซเฟีย (บัลแกเรีย) ลอนดอน (สหราชอาณาจักร) มิลาน (อิตาลี) ปารีส (ฝรั่งเศส) และบรัสเซลส์ (เบลเยี่ยม) โดยมีกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ประกอบด้วยประเด็นหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1. การสนับสนุนด้านงานวิจัยและข้อมูล (Data and Research) 2. การสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนและผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder and Community Engagement) 3. การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในการกำหนตนโยบาย (Technical Policy Assistance) และ 5. การแบ่งปันความรู้ (Lesson Sharing) โดยแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ระหว่างเมืองที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อถอดบทเรียนจากแนวทางปฏิบัติอันเป็นเลิศในการแก้ปัญหามสพิษทางอากาศ
การประชุมฯ ในวันนี้มี คุณ Priya Shankar ผู้อำนวยการอินเดีย โครงการด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุณ lyad Kheirbek ผู้อำนวยการด้านคุณภาพอากาศ จากองค์กร C40 นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร และองค์กร C40 ร่วมประชุม