สำนักสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาสวนป่าชุ่มน้ำบางกอก เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ ควบคู่การรักษาระบบนิเวศเดิม

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2567
image

(7 ก.ย. 67) นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่สวนป่าชุ่มน้ำบางกอก เขตบึงกุ่ม ติดตามการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการให้บริการแก่ประชาชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย โดยปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เป็นไปตามลักษณะทางกายภาพของสวนป่าชุ่มน้ำ คัดเลือกพันธุ์ไม้ชนิดไม้ยืนต้นและไม้คลุมดินมาปลูก แต่ยังคงรักษาระบบนิเวศเดิมตามธรรมชาติไว้ ปัจจุบันได้ดำเนินการปูผิวทางแอสฟัลต์ ทำทางเดิน-วิ่งออกกำลังกาย ระยะทางรอบสวน 3.06 กิโลเมตร ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ รวมถึงการจัดทำแนวป้องกันการกัดเซาะของตลิ่ง การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง ตลอดเส้นทาง เดิน -วิ่ง จำนวน 84 ต้น ทั้งนี้ รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ให้ดำเนินการเพิ่มเติม ประกอบด้วย ปลูกหญ้าแฝกปลูกคลุมดินเพื่อป้องกันดินด้านหลังแนวป้องกันการกัดเซาะของตลิ่งพัง ให้ตัดแต่งกิ่งไม้ยืนต้นที่ยื่นล้ำตามแนวทางเดินวิ่ง พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย กั้นทางเข้า-ออก เพื่อไม่ให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้ามาภายในสวนบริเวณทางเดินวิ่ง เพื่อความปลอดภัยต่อผู้มาใช้บริการ

สำหรับ สวนป่าชุ่มน้ำบางกอก เป็นพื้นที่สวนหนึ่งภายในสวนเสรีไทย มีพื้นที่ 86 ไร่ ลักษณะโดยรวมเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ เดิมเรียกว่าคลองลำบึงกุ่ม เป็นโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กรุงเทพมหานครใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่สำหรับรองรับน้ำ ป้องกันน้ำท่วม ด้านฝั่งกรุงเทพตะวันออก มีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ปกคลุมด้วยพันธุ์ไม้พื้นถิ่น สิ่งมีชีวิตทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ ล้อมรอบด้วยชุมชนที่ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำเพื่อการดำรงชีวิต อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สวนเสรีไทย และสวนนวมินทร์ภิรมย์ ต่อมาได้รับการพัฒนาเป็นสวนสาธารณะสำหรับให้ประชาชนเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยศักยภาพของพื้นที่คลองลำบึงกุ่ม ประกอบกับทำเลที่ตั้งยังสามารถเชื่อมโยงกับสวนสาธารณะที่มีอยู่เดิมให้กลายเป็นสวนสาธารณะระดับย่าน (District Park) จึงได้กำหนดแนวคิดโครงการสวนป่าชุ่มน้ำบางกอก Bangkok Wetland Forest (BWF) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบนิเวศ รวมทั้งยังเกื้อหนุนการดำรงชีวิตของชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป