ติดตามการดำเนินงานการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการบริหารจัดการขยะหนุนนโยบายสิ่งแวดล้อมดี

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
image

วันนี้ (23 พ.ย. 66) เวลา 13.30 น. นายชาตรี  วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร  เป็นประธานการประชุมผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อมและหัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะสำนักงานเขต ครั้งที่ 2/2566 ติดตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมดีของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงาน ทั้งด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง และการลดและคัดแยกขยะตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุมโยธา 1 ชั้น 6  ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) โดยในที่ประชุมฯ ได้รายงานความก้าวหน้าและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมดีของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย นโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวน 15 นาที ประจำกลุ่มเขต โครงการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อพัฒนาสวน 15 นาที อย่างมีส่วนร่วม 

การดำเนินงานตามนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ซึ่งได้มีการติดตามผลการปลูกอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้ติดตามผลการปลูกต้นไม้และการเติบโตของต้นไม้ที่ปลูก จาก 50 สำนักงานเขต ที่สำนักงานเขตได้รายงานผลการดำเนินการในระบบ DP (BMA Digital Plan) ภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป รวมถึงต้นไม้ที่ภาคเอกชนร่วมปลูกอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนต่อไป ข้อมูลจากเว็บไซต์ tree.bangkok.go.th ณ วันที่ 21 พ.ย. 66 มีความคืบหน้าการปลูกแล้ว 708,647 ต้น ประกอบด้วย ไม้ยืนต้น 204,636 ต้น ไม้พุ่ม 364,556 ต้น และไม้เลื้อย/ไม้เถา 139,455 ต้น ในภาพรวมสามารถปลูกได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ตามจำนวนการปลูกไม้ยืนต้นยังต่ำกว่าเป้าหมาย  ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้แบ่งกลุ่มเขตยุทธศาสตร์การปลูกต้นไม้ ออกเป็น 4 กลุ่ม ตามขนาดและลักษณะกายภาพของพื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่ขนาดใหญ่ สวนสาธารณะน้อย จำนวน 18 เขต ประกอบด้วย เขตสวนหลวง ดอนเมือง บางเขน สายไหม คลองสามวา สะพานสูง คันนายาว บางกะปิ หนองจอก ตลิ่งชัน จอมทอง ทุ่งครุ บางบอน บางแค บางขุนเทียน หนองแขม มีนบุรี ลาดกระบัง 2.พื้นที่ขนาดใหญ่ สวนสาธารณะมาก จำนวน 4 เขต ประกอบด้วย เขตจตุจักร บึงกุ่ม ประเวศ ทวีวัฒนา 3.พื้นที่ขนาดเล็ก สวนสาธารณะน้อย จำนวน 21 เขต ประกอบด้วย เขตสัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย พญาไท ห้วยขวาง ราชเทวี วังทองหลาง พระโขนง บางรัก ยานนาวา สาทร บางคอแหลม วัฒนา บางนา บางซื่อ ลาดพร้าว หลักสี่ ธนบุรี บางกอกใหญ่ บางพลัด ภาษีเจริญ ราษฎร์บูรณะ และ 4.พื้นที่ขนาดเล็ก สวนสาธารณะมาก จำนวน 7 เขต ประกอบด้วย เขตพระนคร ดุสิต ดินแดง ปทุมวัน คลองเตย คลองสาน บางกอกน้อย 

*เดินหน้าพัฒนาสวน 15 นาที ทั่วกรุง เน้นเข้าถึงง่ายใกล้บ้าน เปิดให้บริการแล้ว 59 แห่ง

ในส่วนของการดำเนินงานตามนโยบายสวน 15 นาที ทั่วกรุง ซึ่งจากนิยามของสวน 15 นาที คือ พื้นที่สีเขียวทุกขนาด ทั้งของภาครัฐและเอกชนที่อยู่ในระยะเดิน 15 นาที หรือระยะ 800 - 1,000 เมตร จากบ้านหรือชุมชนและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ สำนักสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกับสำนักงานเขตรวบรวมข้อมูลจากพื้นที่เขต เพื่อพิจารณาจัดหาพื้นที่ดำเนินการ สวน 15 นาที ให้เป็นไปตามเป้าหมาย 500 แห่ง ภายในปี 2568 ปัจจุบันพื้นที่เป้าหมายมีจำนวน 220 แห่ง ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 59 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวน 15 นาที ประจำกลุ่มเขต เพื่อติดตามขับเคลื่อนนโยบายสวน 15 นาที ให้มีประสิทธิภาพ โดยมีผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งมหาวิทยาลัย องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียว ภาคีเครือข่าย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขต ร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อพัฒนาสวน 15 นาที อย่างมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่เขตให้มีความรู้ ความเข้าใจ และเพิ่มทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาสวน 15 นาที ให้มีคุณภาพ เพื่อการสร้างและพัฒนาภาคีเครือข่าย (Network community) 

* ติดตั้งกรงตาข่าย รองรับขยะแล้วกว่า 162 จุด 229 กรง ใน 21 เขต

นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการติดตั้งกรงตาข่ายครอบถุงขยะ ซึ่งปัจจุบันติดตั้งแล้ว จำนวน 162 จุด 229 กรง ในพื้นที่ 21 เขต ได้แก่ เขตบางนา พระโขนง วัฒนา คลองเตย ปทุมวัน บางรัก บางกะปิ  ราชเทวี สายไหม  ดอนเมือง พญาไท จตุจักร บางเขน บางคอแหลม วังทองหลาง  พระนคร ดินแดง ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย ลาดพร้าว และสัมพันธวงศ์ หลังจากการทดลองใช้งานมาระยะหนึ่ง สำนักสิ่งแวดล้อมจึงได้พิจารณาปรับปรุงรูปแบบกรงตาข่ายใหม่ เพื่อรองรับการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปรับรูปแบบให้คงทน พับเก็บง่าย น้ำหนักเบา ผลิตตามรูปแบบใหม่ จำนวน 150 กรง และจะส่งมอบให้สำนักงานเขตเพื่อเป็นตัวอย่างเขต ๆ ละ 3 กรง เพื่อพิจารณาดำเนินการใช้ในพื้นที่เขตต่อไป

**รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำให้สำนักงานเขตตัดแต่งต้นไม้ในพื้นที่ตามหลักรุกขกรรมและเป็นไปตามแนวทางที่สำนักสิ่งแวดล้อมได้เวียนแจ้ง อีกทั้งให้ล้างทำความสะอาด ถนน ทางเท้า ตามแผนการดำเนินการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเพื่อลดฝุ่น PM2.5

ในการประชุมวันนี้มี นายพรพรหม ณ.ส. วิกิติเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการเขต ผู้บริหารสำนักงานเขต และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม