สำนักสิ่งแวดล้อม เร่งจัดเก็บผักตบชวาและขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงน้ำทะเลหนุน ไม่ให้กีดขวางการสัญจร และการระบายน้ำ

วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2567
image

(18 ม.ค.67) เวลา 09.30 น. นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานจัดเก็บผักตบชวาและขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงน้ำทะเลหนุน ไม่ให้กีดขวางการสัญจร และการระบายน้ำ พร้อมติดตามการทดลองติดตั้งทุ่นดักขยะ ทุ่นพลาสติก(ไข่ปลา) บริเวณท่าเรือกรมเจ้าท่า และทุ่นไม้ไผ่ บริเวณท่าเรือพรานนกและท่าเรือวังหลัง ป้องกันขยะลอยเข้าไปใต้ท่าเรือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะบริเวณท่าเรือให้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

สำหรับในช่วงนี้เป็นช่วงน้ำทะเลหนุนประกอบกับมีน้ำหลากมาจากทางด้านเหนือของกรุงเทพฯ จึงทำให้มีผักตบชวารวมถึงขยะไหลตามน้ำมาด้วย ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการจัดเก็บขยะและวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อไม่ให้กีดขวางการสัญจรและการไหลของน้ำ โดยจัดเจ้าหน้าที่ของสำนักสิ่งแวดล้อม จำนวน 158 คน พร้อมเรือขนาดต่าง ๆ จำนวน 46 ลำ ดำเนินการจัดเก็บตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสุดเขตบางนา ระยะทาง 33.25 กิโลเมตร และในคลองบางกอกน้อย ระยะทาง 4.20 กิโลเมตร ในช่วงเวลา 08.00 – 16.00 น. ของทุกวัน ปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ประมาณ 11 ตัน/วัน และในช่วงน้ำหลากหรือน้ำทะเลหนุน บางครั้งจัดเก็บขยะได้ถึง 15 ตันต่อวัน ส่วนมากเป็นผักตบชวา รวมถึงขยะพลาสติกและขอนไม้ที่ลอยมากับน้ำ

สำหรับการทดลองติดตั้งทุ่นพลาสติก(ไข่ปลา) บริเวณท่าเรือกรมเจ้าท่า และการทดลองติดตั้งทุ่นไม้ไผ่ บริเวณท่าเรือพรานนกและท่าเรือวังหลัง เพื่อป้องกันขยะไหลลอยเข้าไปใต้ท่าเรือ โดยพบว่าสามารถช่วยลดปริมาณขยะและผักตบชวาที่เข้าไปติดได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมีบางส่วนเข้าไปติดด้านในบ้างตามความแรงของคลื่นจากกระแสน้ำที่ผลักดันให้ขยะไหลเข้าไป ทั้งนี้ สำนักสิ่งแวดล้อมจะขยายผลการติดตั้งทุ่นดักขยะเพิ่มเติมไปยังท่าเรืออื่น ๆ และปากทางคลองสาขา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป