ผู้ตรวจสำนักนายกฯ ตรวจการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำของกรุงเทพมหานคร

วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2567
image

วันนี้ (6 มี.ค. 67) เวลา 09.30 น. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการตรวจราชการแบบบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประเด็นการตรวจติดตามประกอบด้วย นโยบายเร่งด่วนและสำคัญ: มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล  นโยบายสำคัญของรัฐบาล: การส่งเสริมและพัฒนาด้านการท่องเที่ยว และนโยบายสำคัญของรัฐบาล: การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ในส่วนของสำนักสิ่งแวดล้อม นำเสนอผลงานการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำของกรุงเทพมหานคร โดยได้เริ่มงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยการลดปัญหาภาวะโลกร้อน พ.ศ. 2550–2555 ซึ่งต่อมาได้รับการสนับสนุนจาก JICA และเมืองโยโกฮามาในการจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556-2566 และนำไปสู่แผนแม่บทฯ ฉบับใหม่ พ.ศ. 2564 - 2573 เพื่อให้มีความสอดคล้องกับความตกลงปารีส และสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (NDC) และที่สำคัญกรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี โดยได้เพิ่มยุทธศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโครงการต่างๆ ภายใต้แผนแม่บทฯ ในแผนพัฒนากรุงเทพมหานครด้วย รวมถึงการตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2573 ด้วยการดำเนินการ 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการขนส่งที่ยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (2) ด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้พลังงานทางเลือก 3) ด้านการจัดการขยะและการบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ 4) ด้านการวางผังเมืองสีเขียว และ 5) ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) นอกจากนั้น กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียว อาทิ สวนเบญจกิติ ที่มีพืชบำบัดน้ำเสีย สวนป่าชุ่มน้ำบางกอก และสวนป่านิเวศอ่อนนุช เลือกพรรณไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีลักษณะน้ำขัง เช่น ไทร ไกร เกรา กร่าง รวมถึงการใช้ยุทธศาสตร์การปลูกต้นไม้สำหรับเป็นแนวทางให้สำนักงานเขต 50 เขต การปลูกต้นไม้ล้านต้น และสวน 15 นาที

ในส่วนของประเด็นการตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กรณีพบปัญหาหมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ของกรุงเทพฯ กรุงเทพมหานครเน้นมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ คือ การจราจรและการขนส่ง โดยมีการจัดทำแผนลดฝุ่น 365 วัน การจัดตั้งจุดตรวจควันดำ และการตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์ การแก้ไขปัญหาการจราจร การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุก ตรงจุดและต่อเนื่องแก่ประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการของภาครัฐ และการปฏิบัติตน เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 รวมถึงมีแผนบริหารจัดการฝุ่นระยะวิกฤต ในช่วงที่มีค่าฝุ่นตั้งแต่ 37.6 มคก./ลบ.ม. รวมถึงตรวจแหล่งกำเนิดมลพิษ อาทิ สถานประกอบการ/โรงงาน แพลนท์ปูน สถานที่ก่อสร้าง ถมดิน/ท่าทราย ควันดำในสถานที่ต้นทาง และสถานที่ก่อสร้าง แห่งละ 2 ครั้งต่อเดือน  รวมถึงการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ในการลดการเผาชีวมวลในพื้นที่ทำการเกษตรในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น ใช้รถอัดฟาง จุลินทรีย์ย่อยสลาย พร้อมลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชน 

จากนั้นในช่วงบ่ายคณะผู้ตรวจราชการลงพื้นที่ตรวจโครงการในประเด็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล (Issue) การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) จำนวน 4 จุด ได้แก่ 1. โครงการ BMA Feeder รถบัสพลังงานไฟฟ้า 2. โครงการ มือวิเศษ กรุงเทพ บริเวณหน้าอาคารไอราวัตพัฒนา 3. แหล่งการเรียนรู้คัดแยกขยะรีไซเคิล บริเวณชั้น 5 อาคาร 2 (สำนักการระบายน้ำ) และ 4. เครื่องหมักทำปุ๋ยจากขยะเศษอาหาร บริเวณชั้น 5 อาคาร 2 (สำนักการระบายน้ำ)

สำหรับการประชุมในวันนี้มี นายสมบูรณ์ หอมนาน รองปลัดกรุงเทพมหานคร นางป่านฤดี  มโนมัยพิบูลย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร นายอาฤทธิ์  ศรีทอง และนางสาววรนุช  สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมด้วยผู้แทนกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกระทรวงคมนาคม  ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร ผู้แทนหน่วยงานกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 สำนักสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง