กทม. ชวนคนกรุงร่วมพลังปิดไฟ 1 ชั่วโมง 2 ทุ่มครึ่ง ถึง 3 ทุ่มครึ่ง เสาร์ที่ 23 มี.ค. 67

วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2567
image

วันนี้ (19 มี.ค. 67) เวลา 09.00 น. นายสมบูรณ์  หอมนาน รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมรณรงค์ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ปี 2567 (60+ Earth Hour 2024) ณ ห้องประชุม 1 สำนักสิ่งแวดล้อม โดยมีหน่วยงานภาคี เครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมออนไลน์

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยได้จัดโครงการและกิจกรรมเพื่อกระตุ้น รณรงค์และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยตั้งแต่ปี 2551 กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับองค์การ WWF ประเทศไทย และภาคีเครือข่าย รณรงค์เชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60 Earth Hour) พร้อมกับ 190 ประเทศ 7,000 เมืองทั่วโลก ด้วยการปิดไฟที่ไม่จำเป็น เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 20.30 - 21.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยเมื่อปี 2566 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยการคำนวณของการไฟฟ้านครหลวงพบว่าสามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 36 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ในวันเสาร์ก่อนหน้าวันจัดกิจกรรมในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งสามารถลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 5.2 ตัน หรือเทียบได้กับเที่ยวบินกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ จำนวน 43 เที่ยวบิน หรือเทียบกับการใช้รถยนต์ดีเซลเท่ากับ 31,200 กิโลเมตร หรือเทียบกับการปิดไฟครัวเรือน 23,400 ครัวเรือน

สำหรับปี 2567 กรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคีเครือข่ายยังคงเดินหน้ารณรงค์กิจกรรมปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2567 ด้วยการขอความร่วมมือผู้ประกอบการ  ร้านค้า และประชาชนลดการใช้พลังงานและปิดไฟที่ไม่จำเป็น เช่น ไฟประดับ ไฟอาคาร ป้ายโฆษณา การถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งานลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ในอาคารบ้านเรือน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 20.30 – 21.30 น. โดยเชิญชวนร่วมแชร์การมีส่วนร่วมกิจกรรม ด้วยการติดแฮชแท็ก คำว่า #EarthHour หรือ #BiggestHourForEarth หรือ #MyHourForEarth

นอกจากนั้น กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างความร่วมมือให้เป็นไปอย่างยั่งยืน พร้อมได้มีการรวบรวมผลการดำเนินงานของทุกหน่วยงาน นำข้อมูลมาวิเคราะห์ สรุปและแสดงผลการดำเนินงานเผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อแบ่งปันข้อมูลผลการดำเนินงานให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและเป็นตัวอย่างในการดำเนินกิจกรรมต่อไปในอนาคต ผลการดำเนินงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของ 25 หน่วยงานในปี 2564 เท่ากับ 23,828.7 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) และในปี 2565 มีภาคีเครือข่ายเพิ่มขึ้นเป็น 30 หน่วยงาน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 26,975.9 ประกอบด้วยการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ 1. ด้านการขนส่งมวลชน 2. ด้านพลังงาน 3. ด้านพื้นที่สีเขียว และ 4. ด้านการจัดการขยะมูลฝอย

อีกทั้ง ความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ทั้งองค์กรภาครัฐ  เอกชน ประชาชนทั่วพื้นที่ รวมทั้งสื่อมวลชน ยังร่วมปิดไฟอาคาร ตึกสูง และบ้านเรือน นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ในปีนี้ ประกอบด้วย  5 สถานที่หลัก ได้แก่ 1.วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร 2. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เขตบางกอกใหญ่ 3. เสาชิงช้า เขตพระนคร 4. สะพานพระราม 8 เขตบางพลัด และ 5. ภูเขาทอง (วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร) เขตป้อมปราบฯ ตลอดจน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต ภาคีเครือข่าย ผู้ประกอบการเจ้าของอาคาร/สถานที่ ร่วมปิดไฟเชิงสัญลักษณ์ และเจ้าของอาคารบ้านเรือนในถนน จะพร้อมใจกันร่วมปิดไฟลดใช้พลังงานในวันดังกล่าวด้วย

กรุงเทพมหานคร ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนปิดไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นพร้อมกัน ในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2567 ระหว่างเวลา 20.30 – 21.30 น. พร้อมกับ 7,000 เมือง 190 เมืองทั่วโลก ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟภายในบ้านแล้ว ยังเป็นการช่วยชาติประหยัดพลังงาน ประหยัดงบประมาณ และช่วยรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน และถ้าเราทุกคนร่วมมือกันทำต่อเนื่องในทุกที่ทุกเวลา จนเป็นกิจวัตร จะช่วยผลักดันให้การลดใช้พลังงานไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการลดภาวะโลกร้อน