ฝ่ายรายได้
ฝ่ายรายได้
มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการดำเนินการจัดเก็บรายได้ของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ การจัดเก็บภาษี 3 ประเภท ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ การดำเนินคดีแก่ผู้ค้างชำระภาษี และระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการยึด อายัด ขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษี ซึ่งภาษีทั้งหมด เป็นรายได้ของกรุงเทพมหานครโดยตรง ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของรัฐบาล เพื่อที่จะไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น อันเป็นประโยชน์สุข ของผู้เสียภาษีในกรุงเทพมหานคร และสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยส่วนรวมในการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
การยื่นแบบและการชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้ายและภาษีบำรุงท้องที่
ภาษีโรงเรือนและที่ดิน
ภาษีโรงเรือนและที่ดิน คือ ภาษีที่จัดเก็บจากโรงเรือนที่ให้เช่า ที่ใช้ประกอบกิจการค้าหรือให้ผู้อื่นอยู่อาศัยโดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีโรงเรือนและที่ดิน ดังนี้
1. ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี
ประเภททรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี ได้แก่ อาคาร โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง รวมถึงบริเวณที่ต่อเนื่องโดยเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกหาผลประโยชน์ตอบแทนหรือให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ เช่น ให้เช่า ใช้เป็นที่ค้าขาย ใช้ประกอบการอุตสาหกรรม รวมทั้งให้ญาติ หรือให้ผู้อื่นอยู่อาศัย หรือใช้ประกอบกิจการอื่น ๆ เพื่อหารายได้ ให้เจ้าของโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. ๒) ณ สำนักงานเขต ซึ่งโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ตั้งอยู่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี
2. อัตราค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน : อัตราร้อยละ 12.5 ของค่ารายปี
ค่ารายปี หมายถึง จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่ มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช้จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินการเอง หรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะทรัพย์สินขนาด พื้นที่ ทำเล ที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้น ได้รับประโยชน์
3. กำหนดการยื่นแบบภาษีโรงเรือนและที่ดิน
ให้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ตั้งแต่เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ของทุกปี ณ ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตที่ทรัพย์สินตั้งอยู่
4. หลักฐานที่ใช้ประกอบการยื่นแบบภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2)
1. บัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน
2. หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์โรงเรือนและที่ดิน เช่น โฉนดที่ดิน, ใบอนุญาตปลูกสร้าง, หนังสือสัญญาซื้อขายหรือให้โรงเรือนฯ
3. หลักฐานการประกอบกิจการ เช่น ใบทะเบียนการค้า, ทะเบียนพาณิชย์, ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือใบอนุญาตประกอบกิจการของฝ่ายสิ่งแวดล้อม, สัญญาเช่าอาคาร
4. หนังสือรับรองนิติบุคคล และงบแสดงฐานะการเงิน (กรณีนิติบุคคล)
5. ใบมอบอำนาจกรณีให้ผู้อื่นทำการแทน
6. อื่น ๆ สอบถามรายละเอียดได้ที่ฝ่ายรายได้ โทร. 0 2565 9412
หมายเหตุ ให้ผู้รับประเมิน หรือเจ้าของโรงเรือน ถ่ายสำเนาหลักฐาน เอกสารที่เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้นพร้อมลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องกำกับทุกฉบับ มาขอรับแบบยื่นภาษีโรงเรือนและที่ดินได้ที่สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร
ภาษีป้าย
ภาษีป้าย คือ ภาษีที่จัดเก็บจากป้ายโฆษณาสินค้าต่าง ๆ
1. ป้ายที่ต้องเสียภาษี
ได้แก่ ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่น เพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้าหรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่ว่าแสดง หรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใด ๆ ด้วยอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น
2. อัตราค่าภาษีป้าย : คำนวณตามพื้นที่ป้าย (กว้าง x ยาว) เป็นตารางเซนติเมตร ตามประเภทป้าย ดังนี้
ประเภทป้าย | อัตรา บาท / 500 ตารางเซนติเมตร | ||
1. ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน | 3 | ||
2. ป้ายที่มีอักษรไทยปนอักษรต่างประเทศ/ภาพ/เครื่องหมายอื่น | 20 | ||
3. ป้ายดังต่อไปนี้ (ก) ป้ายที่ไม่มีอักษรไทย (ข) ป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ | 40 | ||
4. ป้ายที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขพื้นที่ป้าย ข้อความภาพ หรือเครื่องหมายบางส่วนในป้ายได้เสียภาษีป้ายแล้ว อันเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้น ให้คิดอัตรา ตาม 1 , 2 หรือ 3 แล้วแต่กรณี และให้เสียเฉพาะเงินภาษีที่เพิ่มขึ้น | |||
5. ป้ายตาม 1, 2, 3 หรือ 4 เมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้ว ถ้ามีอัตราที่ต้อง เสียภาษีต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท ให้เสียภาษีป้ายละ 200 บาท | |||
3. ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบภาษีป้าย
เจ้าของป้ายซึ่งแสดงป้ายชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่น โดยมีเจตนาเพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้าหรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะได้แสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใด ๆ หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีใดๆ ก็ตามมีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้าย กรณีที่ไม่อาจหาตัวเจ้าของป้ายได้ ผู้ครอบครองป้าย เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือที่ดินที่เป็นที่ติดตั้งป้าย เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายตามลำดับ
4. กำหนดการยื่นแบบ ให้เจ้าของป้ายยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีป้าย (ภ.ป. 1) ณ ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตดอนเมือง ดังนี้
• กรณีป้ายโฆษณาที่ติดตั้งใหม่ ให้ยื่นแบบ (ภ.ป. 1) ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ติดตั้งป้าย
• กรณีป้ายที่ชำระค่าภาษีป้ายต่อเนื่องทุกปี ให้ยื่นแบบ (ภ.ป. 1) ได้ตั้งแต่ เดือนมกราคม ถึง เดือนมีนาคม ของทุกปี
• กรณีป้ายที่ชำระค่าภาษีป้ายประจำปีแล้วต้องการเปลี่ยนแปลงป้าย ให้มาแจ้ง ภายใน 15 วัน
• หากท่านปลดป้ายลงเนื่องจากเลิกกิจการ ให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายในเดือนธันวาคมของทุกปี
5. เอกสารประกอบการยื่นแบบ (ภ.ป. 1)พร้อมลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้อง
• ใบอนุญาตติดตั้งป้าย, ใบเสร็จรับเงินค่าทำป้าย
• รูปถ่ายป้าย, วัดขนาดความกว้าง x ยาว
• สำเนาทะเบียนบ้าน
• บัตรประจำตัวประชาชน/บัตรข้าราชการ/บัตรพนักงานรัฐวิสาหกิจ
• เลขประจำตัวผู้เสียภาษี/เลขที่ทะเบียนการค้า (กรณีนิติบุคคล)
• กรณีเจ้าของป้ายเป็นนิติบุคคลให้แนบหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท, ทะเบียนพาณิชย์ หรือหลักฐานของสรรพากร เช่น ภ.พ. 01, ภ.พ. 09, ภ.พ. 20
• หนังสือมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถยื่นแบบได้ด้วยตนเอง พร้อมติดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย) และ ใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีครั้งสุดท้าย (ถ้ามี)
กรณีภาษีป้าย (รายเก่า) ที่ยื่นชำระทุกปี
- ให้เจ้าของป้ายยื่นแบบภาษีป้าย (ภ.ป. 1) พร้อมใบเสร็จรับเงินการเสียภาษีครั้งสุดท้าย
- กรณีเจ้าของป้ายเป็นนิติบุคคล ให้แนบหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท พร้อมกับการยื่นแบบ ภ.ป. 1
หมายเหตุ มาขอรับแบบยื่นภาษีป้ายได้ที่สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร
ภาษีบำรุงท้องที่
1. ภาษีบำรุงท้องที่
คือ ภาษีที่จัดเก็บจากที่ดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัย ทำการเกษตรและที่ดินว่างเปล่า
2. กำหนดการยื่นแบบและชำระภาษี
ให้เจ้าของที่ดินชำระค่าภาษีในเดือนเมษายนของทุกปี ยกเว้นในปีที่มีการตีราคาปานกลางที่ดินใหม่ ให้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) ภายในเดือนมกราคม และชำระภาษีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน ผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินใหม่ หรือเจ้าของที่ดินเดิมเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือเปลี่ยนแปลงจำนวนเนื้อที่ดินต้องยื่นแบบฯ หรือแจ้งการเปลี่ยนแปลงต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 30 วัน
3. ฐานภาษี คือ
- ราคาปานกลางที่ดินที่คณะกรรมการซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งได้กำหนดขึ้น ปกติให้เสียภาษีตามบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ท้ายพระราชบัญญัติโดยจะกำหนดตามที่ตั้งที่ดิน เช่น ที่ดินติดถนน ตรอก ซอยและอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันราคาปานกลางที่ดินที่ใช้ประเมินภาษีบำรุงท้องที่เป็นราคาที่ใช้ประเมินตั้งแต่ปี 2521 – 2524 โดยราคาต่ำสุด คือ ราคาปานกลางไร่ละ 1,600 บาท อัตราภาษี ไร่ละ 8 บาท และสูงสุด คือราคาปานกลางไร่ละ 9,000,000 บาท อัตราภาษีไร่ละ 22,495 บาท
- ที่ดินที่ใช้ประกอบการกสิกรรมเฉพาะประเภทไม้ล้มลุกให้เสียกึ่งอัตรา แต่ถ้าเจ้าของที่ดินประกอบการกสิกรรมประเภทไม้ล้มลุกนั้นด้วยตนเองให้เสียอย่างสูงไม่เกินไร่ละ 5 บาท
- ที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพของที่ดิน ให้เสียเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่า
4. หลักฐานที่ใช้ประกอบการยื่นแบบภาษีบำรุงท้องที่
1. สำเนาโฉนดที่ดิน (ถ่ายเอกสารทุกหน้า)
2. หนังสือสัญญาซื้อขาย ในกรณีที่ขายที่ดินไปบางส่วนหรือทั้งหมด
3. สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของที่ดิน
4. สำนาบัตรประชาชนของเจ้าของที่ดิน
5. หนังสือมอบอำนาจ ในกรณีที่เจ้าของที่ดินไม่สามารถมายื่นแบบด้วยตนเอง
กรณีเป็นรายเก่าที่เคยยื่นเสียภาษีแล้ว ให้นำใบเสร็จชำระเงินครั้งสุดท้ายมาแสดงด้วย (ถ้ามี)
ช่องทางการชำระเงินค่าภาษี
เมื่อท่านได้รับใบแจ้งการประเมินภาษีจากเจ้าหน้าที่รายได้ของกรุงเทพมหานครแล้ว ท่านสามารถเลือกชำระเงินภาษีได้จากช่องทางต่อไปนี้
1. สำนักงานเขต หรือ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยยื่นขอชำระเงินได้ที่ฝ่ายการคลัง สำนักงานเขต หรือกองการเงินศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) สามารถชำระภาษีด้วยเงินสด ด้วยบัตรเดบิต บัตรเครดิต เช็คหรือธนาณัติ โดยถือวันที่จ่ายเช็คหรือวันที่โอนเงินทางธนาณัติเป็นวันชำระเงิน
2. การชำระภาษีผ่านธนาคารกรุงไทย นำใบแจ้งหนี้ค่าภาษีไปติดต่อชำระเงินที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ และรับใบเสร็จเก็บไว้เป็นหลักฐาน
3. การชำระภาษีผ่านตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย
สำหรับตู้ ATM ที่มีช่องอ่านบาร์โค๊ด | สำหรับตู้ ATM ธรรมดา |
1. เลือกช่องบริการอื่น ๆ 2. เลือกประเภทบริการชำระด้วยบาร์โค๊ด 3. สแกนใบนำชำระภาษี 4. ดำเนินการตามขั้นตอนที่ตู้ ATM ระบุ | 1. เลือกชำระค่าบริการ 2. ใส่รหัสของกรุงเทพมหานคร 9299 3. ดำเนินการตามขั้นตอนที่ตู้ ATM ระบุ |
4. การชำระภาษีผ่านทาง Internet
1. สมัคร KTB Online กรณีบุคคลธรรมดา และ KTB Corporate Online กรณีนิติบุคคล โดยสมัครที่www.ktb.co.th
2. ลงทะเบียนใช้บริการกรุงเทพมหานครที่http://epay.bangkok.go.th เพื่อขอ Username และPassword
3. เลือกชำระเงินผ่านธนาคารกรุงไทยออนไลน์ ใส่ Username และ Password ของธนาคารกรุงไทยที่ สมัครไว้ แล้วเลือกบัญชีที่ประสงค์จะให้หักเงิน
หมายเหตุ.- เฉพาะการชำระภาษีประจำปีภายในกำหนดเวลา/ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมการชำระภาษี รายการละ 10 บาท
สถิติการจัดเก็บภาษี 3 ประเภท ฝ่ายรายได้
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559
(ตุลาคม 2558 - มกราคม 2559)
ประเภทภาษี | ประมาณ การรายรับ | ยอดการประเมิน | คิดเป็น | ยอดจัดเก็บ | คิดเป็น | ||
จำนวนราย | จำนวนเงิน | % | จำนวนราย | จำนวนเงิน | % | ||
ภาษีโรงเรือนและที่ดิน | 178,000,000.00 | 342 | 5,993,349.56 | 3.37 | 330 | 3,941,599.43 | 2.21 |
ภาษีบำรุงท้องที่ | 2,790,000.00 | 734 | 289,799.99 | 10.39 | 734 | 289,799.79 | 10.39 |
ภาษีป้าย | 15,100,000.00 | 367 | 1,548,344.00 | 10.25 | 362 | 1,522,334.50 | 10.08 |
ยอดรวมทั้งสิ้น | 195,890,000.00 | 1,443 | 7,831,493.35 | 4.00 | 1,426 | 5,753,733.72 | 2.94 |