แผนบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๕๒ - ๒๕๕๕
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้มีนโยบายกำหนดวิสัยทัศน์
การพัฒนากรุงเทพมหานคร ๑๒ ปี (กรุงเทพฯ ปี ๒๕๖๓) ให้กรุงเทพมหานครเป็น “มหานคร น่าอยู่อย่างยั่งยืน” หรือ “Sustainable Metropolis” ซึ่งหมายถึงความต้องการให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางภูมิภาค เจริญก้าวหน้าทัดเทียมเมืองชั้นนำ และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนา ตามแผนบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๕๒ - ๒๕๕๕ ไว้ ๕ ยุทธศาสตร์ด้วยกัน โดยยุทธศาสตร์ที่สำคัญและเป็นภารกิจหลักในการบริหารจัดการวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร คือ ยุทธศาสตร์ที่ ๔ พัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครแห่งคุณภาพชีวิตที่ดี และมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม (Providing Good Quality of Life in Cultural Mega-City) ภายใต้หลักการที่ว่า “การเสริมสร้างเสน่ห์กรุงเทพมหานครเพื่อเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม” ซึ่งประกอบด้วยกลยุทธ์หลัก ๔ ประการ ดังนี้
กลยุทธ์ที่ ๑ พัฒนาพื้นที่ลักษณะพิเศษต่างๆ เช่น พื้นที่อนุรักษ์ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม
๑) การอนุรักษ์ย่านประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์และกรุงธนบุรี
๒) การรับมอบภารกิจในการบำรุงรักษาโบราณสถาน และการดูแลรักษาโบราณสถาน
ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพหานครจากกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
๓) การบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า
กลยุทธ์ที่ ๒ การบูรณะฟื้นฟูเมืองและเสริมสร้างภูมิทัศน์เมือง
๑) การวางผังปรับปรุงฟื้นฟูเมือง และส่วนของเมือง กรณีการปรับปรุงด้านกายภาพและภูมิทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
๒) โครงการ Creative Studio โดยกรุงเทพมหานคร และศูนย์สร้างสรรค์งาน ออกแบบ (TCDC) ได้ร่วมกันดำเนินงาน “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์ นักศึกษา และผู้ประกอบการหน้าใหม่ในสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry) ที่ต้องการพื้นที่ ในการดำเนินธุรกิจ ได้มีช่องทางในการสร้างธุรกิจของตนเองอย่างครบวงจร
๓) การจัดตั้งหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการก่อสร้างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นพื้นที่สำหรับการเชื่อมโยงทุนเดิมจากมรดกทางวัฒนธรรมเข้ากับศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ให้เกิดองค์ความรู้หลากหลาก เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่าย และระดมทรัพยากรในการดำเนินงานด้านศิลปวัฒนธรรม และเป็นองค์กรส่งเสริม สร้างโอกาส ประสานการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างและพัฒนาระบบการบริหารจัดการหอศิลปฯ สู่ระดับมาตรฐานสากล เป็นเวทีในการนำเสนอและบริหารจัดการการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศ และเพื่อเป็นส่วนเสริมสร้างศักดิ์ศรีแก่กรุงเทพมหานคร สู่ความเป็นมหานครแห่งศิลปวัฒนธรรมระดับโลก
๔) พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานครจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ บนพื้นที่ ๗ ไร่ ของสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เขตจตุจักร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและประชาชนทั่วไป ด้วยกระบวนการเรียนรู้ตามอัธยาศัย Discovery Learning Center และการลงมือทำของเด็กๆ Learning by Doing เปิดบริการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ และจะดำเนินการปรับรูปโฉมการให้บริการแหล่งเรียนรู้เป็น Learning for Young Creative Mind ตามนโยบายพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครแห่งการเรียนรู้ ปัจจุบันได้ดำเนินการเปิดพิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร แห่งที่ ๒ ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ ทุ่งครุ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยสำหรับครอบครัว Bangkok family Center เพื่อให้เด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง รวมไปถึงปู่ ย่า ตา ยาย ได้ทำกิจกรรม และเป็นการเปิดโลกทัศน์ทางการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องการบริหารจัดการ และการสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์
กลยุทธ์ที่ ๓ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น
๑) การจัดตั้งลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ให้เป็นลานวัฒนธรรม
๒) พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร จำนวน ๒๖ แห่ง
๓) โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพหานคร
๔) การส่งเสริมสินค้าชุมชน ของดีเขต
๕) โครงการโรงเรียนหลักสูตรการดนตรีกรุงเทพมหานคร
๖) การสนับสนุนเครือข่ายศิลปิน
กลยุทธ์ที่ ๔ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรทางศาสนาในการสร้างเสน่ห์กรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งศาสนา
การจัดงานเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น เทศกาลวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา เทศกาลวันออกพรรษา กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี เทศน์มหาชาติ กิจกรรมตักบาตรเนื่องในวันสำคัญต่างๆ เป็นต้น