ตำนานแม่นากพระโขนง
ชื่อรายการ : ตำนานแม่นากพระโขนง
สาขา : วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา
 
ข้อมูลโดยสังเขป :
 
          ตำนานแม่นากพระโขนงเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีตายทั้งกลมที่เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องหนึ่งของไทยเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีตัวตนอยู่จริงปัจจุบันมีศาลแม่นากตั้งอยู่ที่วัดมหา-  บุศย์ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร  เรื่องราวของแม่นากได้ถูกนำมาประพันธ์เป็นบทนิยาย บทละคร และถูกสร้างเป็นภาพยนตร์จำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการนำเรื่องเล่ามุขปาฐะมาพัฒนาต่อยอด ดัดแปลง จนเกิดเป็นคุณค่าทางวรรณกรรม ที่มีเนื้อหาสะท้อนถึงสภาพสังคมในยุคสมัยนั้นๆ ตลอดจนแสดงออกให้เห็นถึงค่านิยมและบทบาทสำคัญของสถาบันต่างๆ ในสังคม เช่น บทบาทของพลเมืองชาย บทบาทของพระสงฆ์ บทบาทของสตรี สังคมการเกษตร เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการสืบทอดแนวคิด และความเชื่อหลายๆ ด้าน สืบทอดจนถึงปัจจุบัน เช่น ความเชื่อในเรื่องวิญญาณ ไสยศาสตร์ ความมั่นคงและซื่อสัตย์ต่อคนรัก เป็นต้น ซึ่งตำนานแม่นากพระโขนง นอกจากจะสะท้อนเรื่องภาพรวมบริบททางสังคมไทยในอดีต และพัฒนาการด้านวรรณกรรมแล้ว ในปัจจุบันยังนำไปสู่การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ศาสนสถาน และการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนด้วย

              ตำนานเรื่องแม่นากพระโขนงนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับผีผู้หญิงที่หวงสามี เป็นเรื่องที่คนไทยนิยมมานานกว่า ๑๐๐ ปี เรื่องราวของนางนากนี้คงจะมีเค้ามาจากเรื่องจริง จึงทำให้มีการเล่ากันมาปากต่อปากเป็นมุขปาฐะ สถานที่ที่เกิดเรื่องคือที่ตำบลพระโขนง ซึ่งสมัยก่อนนับว่าเป็นชานเมืองของกรุงเทพมหานคร วรรณกรรมเรื่องนี้จึงนับว่าเป็นนิทานประจำถิ่นของภาคกลาง ต่อมาจึงได้มีผู้นำไปเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและได้มีการแต่งเติมเสริมเรื่องราวให้น่าสนใจตลอดจนนำมาปรับรูปแบบของการเล่าให้สามารถนำไปแสดงเป็นเรื่องราวให้รู้จักกันได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

             เอนก นาวิกมูล ผู้ศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ไทยได้ค้นคว้าเอกสารร่วมสมัยเกี่ยวกับเรื่องแม่นากพระโขนงนี้ พบว่า จากหนังสือพิมพ์สยามประเภทฉบับวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ น่าจะมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ ของ อำแดงนาก ลูกสาวกำนันตำบลพระโขนงชื่อ ขุนศรี ที่ตายลงขณะยังตั้งท้อง และทางฝ่ายลูกๆ ของอำแดงนากก็เกรงว่าบิดาของตน (สามีแม่นาก) จะไปแต่งงานมีภรรยาใหม่ และต้องถูกแบ่งทรัพย์สิน จึงรวมตัวกันแสร้งทำเป็นผีหลอกผู้คนที่ผ่านไปมาด้วยการขว้างหินใส่เรือผู้ที่สัญจรไปมาในเวลากลางคืนบ้าง หรือทำวิธีต่างๆ นานา เพื่อให้คนเชื่อว่าผีของมารดาตนเองเฮี้ยน และพบว่าสามีของอำแดงนาก ไม่ใช่ชื่อ มาก แต่มีชื่อว่า นายชุ่ม ทศกัณฐ์ (เพราะเป็นนักแสดงในบท ทศกัณฐ์) และพบว่า คำว่า แม่นาก เขียนด้วยตัวสะกด ก ไก่ (ไม่ใช่ ค ควาย) แต่การที่สามีแม่นากได้ชื่อเป็น มาก เกิดขึ้นครั้งแรกจากบทประพันธ์เรื่อง “อีนากพระโขนง” ซึ่งเป็นบทละครร้อง ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

            หลักฐานเกี่ยวกับตำนานแม่นากพระโขนงที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับแรกที่พบในขณะนี้ คือบทละครร้องเรื่องอีนากพระโขนง พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๕ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดแสดงที่โรงละครปรีดาลัยซึ่งเป็นโรงละครของพระองค์ ละครเรื่องนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงจนต้องแสดงซ้ำถึง ๒๔ คืน โดยมีผู้จำกลอนในใบปลิวโฆษณาได้ตอนหนึ่งว่า

                               เรื่องอีนาคพระโขนงออกโรงสู้        จนคนดูดูไม่ได้มาหลายหน
                           ต้องเล่นใหม่เพื่อให้ทันใจคน              ทั้งห้าหนสิบหนยังล้นโรง

 
               ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๗๑) ได้มีผู้นำเรื่องนางนากพระโขนงไปเขียนลงในหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองเป็นตอนๆ โดยไม่ได้ลงชื่อผู้เขียน แต่ได้ระบุว่าผู้เขียนได้ฟังมาจากขุนชาญคดี ดังนั้น เรื่องที่เขียนในหนังสือพิมพ์นี้จึงให้ชื่อว่า ขุนชาญคดีเล่าเรื่องอีนากพระโขนง เรื่องดังกล่าวได้ลงพิมพ์ตั้งแต่ฉบับวันศุกร์ที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๑ จนถึงฉบับวันเสาร์ที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ นับว่าเป็นเรื่องบันเทิงคดีที่ลงพิมพ์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานถึง ๕ เดือน นอกจากนี้ความนิยมในการอ่านการฟังเรื่องนางนากพระโขนงก็ยังทำให้มีการนำไปเผยแพร่ในลักษณะที่เป็นรูปแบบของการแสดงพื้นบ้านด้วย กล่าวคือ มีการนำไปแสดงลำตัดซึ่งปรากฏหลักฐานเป็นโฆษณาหนังสือลำตัดเรื่อง อีนากพระโขนง ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ซึ่งผู้แต่งใช้นามแฝงว่า “พญาลอ” ต่อมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกันยังปรากฏโฆษณาหนังสือลำตัดเรื่อง อีนากพระโขนง อีกครั้งหนึ่งแต่ผู้เขียนใช้ชื่อว่า “หะหยีเขียด” อย่างไรก็ตามต้นฉบับของหนังสือทั้ง ๒ เล่มนี้ไม่สามารถหาได้ และเนื่องจากมีผู้นิยมเรื่องนางนาคพระโขนงเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการนำไปถ่ายทอดทางวิทยุหลังจากเริ่มมีสถานีวิทยุกระจายเสียงในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ โดยแต่งเป็นบทกลอนเพื่อนำไปขับเป็นเสภา แต่ออกอากาศได้ไม่นานนักทางการก็ให้งดออกอากาศ เพราะละครวิทยุดังกล่าวมีการใช้เสียงสุนัขหอนประกอบเป็นเสียงที่น่าสะพรึงกลัวในยามค่ำคืนจึงเห็นว่าเป็นการทำลายขวัญของเยาวชน และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ก็ยังมีการนำเรื่องนางนากพระโขนงมาแต่งเป็นกลอนแปด โดยผู้แต่งใช้นามแฝงว่า “ประภาศรี”

               ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนางนากพระโขนงฉบับลายลักษณ์ในปัจจุบัน ได้แก่ พ.ศ. ๒๕๒๓ “เทพ สายสิญจน์” ได้นำมาแต่งเป็นนิยายเรื่อง แม่นาคพระโขนง ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ได้รวบรวมนิทานเรื่อง นางนาคพระโขนง พิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ บริษัทไทเอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ได้นำมาแต่งเป็นบทภาพยนตร์ให้ชื่อเรื่องว่า นางนาก ในปีเดียวกันนั้น บริษัท ดาราวิดีโอ จำกัด ได้นำมาแต่งตัวบทละครโทรทัศน์เรื่อง แม่นาคพระโขนง และบริษัทสเต็ป ออนเวิร์ด จำกัด ได้นำมาแต่งเป็นบทละครโทรทัศน์เช่นกันใช้ชื่อว่า แม่นากพระโขนง นอกจากนี้ในหนังสือคติชาวบ้าน ของกุหลาบ มัลลิกะมาสซึ่งไม่ปรากฏปีพิมพ์ ได้นำเอานิทานเรื่อง นางนาคพระโขนง ซึ่งเล่าโดยมยุรี ตัณฑวุฑโฒ มาเป็นตัวอย่างของนิทานประเภทนิทานประจำถิ่น

             ตำนานนางนากพระโขนง หรือแม่นากพระโขนง ได้รับความนิยมมากดังที่ อเนก นาวิกมูล ได้กล่าวไว้ในหนังสือเปิดตำนานแม่นากพระโขนงตอนหนึ่งว่า

         "สิ่งที่สามารถยืนยันคำกล่าวนี้ได้ คือ หนังสือชีวิตและงานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพพระนิพนธ์ ม.จ.หญิง พูนพิสมัย ดิศกุล ซึ่ง สำนักพิมพ์คลังวิทยา รวมพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ในตอนท้ายสุดทรงกล่าวว่า เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาฯ ยังเป็นนายทหารรักษาวังหลวงประมาณ พ.ศ ๒๔๒๐ สมเด็จฯ กับเจ้าพี่เจ้าน้องลองทำสถิติถามคนเข้าออกประตูวังว่า ในบรรดา ๔ ชื่อนี้ รู้จักใครบ้าง คือ ๑. ท่านขรัวโต (สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดระฆัง) ๒. พระพุทธยอดฟ้าฯ รัชกาลที่ ๑ ๓. จำไม่ได้ว่าใคร ๔. อีนากพระโขนง ปรากฏว่าคนรู้จักอีนากพระโขนงมากที่สุด"

          จะเห็นได้ว่าเรื่องตำนานแม่นากพระโขนง เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมและได้รับความสนใจจากคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามนางนากพระโขนงสำนวนต่างๆ นั้นคงมีความคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันตามจินตนาการของผู้แต่งแต่ละคน
 
 
หนังสือ สยามประเภท – พ.ศ.๒๔๔๒ โดย ก.ศ.ร.กุหลาบ
 
 
นากพระโขนงที่สอง – พ.ศ.๒๔๖๗ โดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าจ้าอยู่หัว (หนึ่งในตอนของนิทานทองอิน)
 
 
ศาลแม่นาค ณ วัดมหาบุศย์  เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร
ละครชาตรีบางกอกถิ่นสนามควาย
ชื่อรายการ : ละครชาตรีบางกอกถิ่นสนามควาย
สาขา : ศิลปะการแสดง
 
พื้นที่ : ละครชาตรี ในปัจจุบันกระจายตัวแสดงอยู่ในจังหวัดต่างๆ ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกของประเทศไทย อาทิเช่น อยุธยา อ่างทอง ราชบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี กรุงเทพมหานคร เป็นต้น ส่วนจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด จะเรียกว่าละครเท่งตุ๊ก โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น ละครชาตรีที่เป็นต้นแบบ คือละครชาตรีที่อยู่ในตรอกละครบางกอกถิ่นสนามควาย หรือบริเวณถนนหลานหลวง และถนนดำรงค์รักษ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งในปัจจุบันมีเหลืออยู่ไม่กี่คณะ ได้แก่ คณะจงกล โปร่งน้ำใจ คณะนายพูน เรืองนนท์ ที่เป็นคณะหลักๆ นอกจากนี้ยังมีคณะไทยศิริ คณะดาหวัน คณะวันดี และคณะนงเยาว์ ที่แสดงอยู่ที่ศาลหลักเมืองเขตพระนคร ส่วนละครชาตรีที่กระจายรับการแสดงในย่านปริมณฑลของกรุงเทพมหานครนั้น ส่วนใหญ่จะมาจากต่างจังหวัดแทบทั้งสิ้น
 
ข้อมูลโดยสังเขป : ละครชาตรี โดยนิยามของราชบัณฑิตกล่าวว่า มีลักษณะเป็นปฐมแบบการแสดงละครรำแบบแผนดั้งเดิมของไทย แสดงเป็นเรื่องราวต่างๆ เล่นกันเป็นแบบพื้นบ้านทั่วไป  ตัวละครเดิมเป็นชายล้วนแค่  ๓ คน คือ ทำบทเป็นผู้ชายคือนายโรง หรือยืนเครื่อง ๑ ตัว ทำบทเป็นผู้หญิงหรือตัวนาง ๑ ตัว และตัวตลก หรือตัวทำเบ็ดเตล็ด ๑ ตัว รำ ร้องและเจรจาเองตามบทหรือใช้วิธีด้นกลอนสด ส่วนเครื่องดนตรีที่เล่นเรียกว่า “ดนตรีเครื่องห้าชาตรี” ประกอบด้วย  ปี่ ๑ เลา  กลองตุ๊ก ๑ คู่  โทนชาตรี ๑ คู่  ฆ้องคู่  ฉิ่ง กรับไม้ไผ่
 
            “ละครชาตรี” มีรูปแบบการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองทั้งในด้านสถานที่ที่ใช้ในการแสดง ตำนานการแสดง ลำดับขั้นตอนของการแสดง การใช้บทของตัวแสดง การเดินเรื่อง การแต่งกาย การรำ การร้องและความเชื่อในทางไสยศาสตร์
 
            การแสดงละครชาตรีเชื่อกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา นิยมใช้แสดงแก้บนมาแต่โบราณ ด้วยความเชื่อที่ว่าผู้แสดงละครชาตรีมีคาถาอาคมและสามารถติดต่อกับเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ ใครจะหาละครแก้บน ต้องหาละครชาตรีเพื่อให้เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดลบันดาลให้ได้สิ่งที่ต้องการ มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับคำว่า “ชาตรี” หลายข้อ เช่น ละครชาตรีเดิมเป็นอย่างละครเร่ เหมือนกับละครอินเดียที่เรียกว่า “ยาตรา” หรือ “ยาตรี” มีความหมายว่าเดินหรือเคลื่อนย้าย ละครชาตรีอาจมีการปรับปรุงมาตามแบบละครยาตราของอินเดียก็ได้ เนื่องจากวัฒนธรรมของอินเดียได้แพร่หลายมายังประเทศต่างๆ ในแหลมอินโดจีน เช่น พม่า มาเลเซีย เขมร ลาวและไทย จึงทำให้การแสดงของประเทศเหล่านี้มีบางสิ่งบางอย่างที่คล้ายกันอยู่มาก (ข้อสันนิษฐานความเห็นของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗)
 
            “โนรา-ชาตรี” นอกจากเล่นเรื่องแล้วก็มักแสดงวิชาด้วย เช่น การลุยไฟ คำว่า “ชาตรี” อาจจะมาจากคำว่า “สาสตรี” ซึ่งหมายถึงผู้รู้ศาสตราการป้องกันภยันตรายจากศาสตราวุธทั้งปวงนั่นเอง (ผะอบ โปษะกฤษณะ และสุวรรณี อุดมผล, วรรณกรรมประกอบการเล่นละครชาตรี, กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ เอกลักษณ์ของไทย กระทรวงศึกษาธิการ,๒๕๒๓)

               ในสมัยโบราณ โนรา-ชาตรี เป็นที่นิยมแพร่หลายทางภาคใต้ของไทย เรื่องที่แสดงนิยมแสดงเรื่อง พระสุธน-มโนห์รา จึงเรียกการแสดงประเภทนี้ว่า “โนรา” หรือ “ละครโนรา” เพราะชาวภาคใต้จะชอบพูดตัดพยางค์หน้า ต่อมาละครโนราได้เข้ามาแสดงในเมืองหลวงในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๒ ครั้งเสด็จไปปราบเจ้านครศรีธรรมราชและได้กวาดต้อนผู้คนมาเมืองหลวงพร้อมด้วยพวกละคร และภายหลังต่อมาก็ให้เจ้านครกลับไปเมืองนครศรีธรรมราชตามเดิม

               ในปี พ.ศ.๒๓๒๓ คณะละครเจ้านครฯ ได้เข้ามาร่วมการแสดงในงานฉลองพระแก้วมรกตและได้ประชันกับละครผู้หญิงของหลวงด้วย เข้าใจว่าการที่คณะละครเข้ามาทั้งสองครั้งนี้ยังมิได้ทำให้ละครโนราเข้ามาแพร่หลายมากนัก

             เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ละครโนราเข้ามาแพร่หลายคือในปี พ.ศ. ๒๓๗๕  สมัยรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระเจ้าบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมัยที่ยังเป็นเจ้าพระยาพระคลังได้ลงไปปราบและระงับเหตุการณ์ร้ายทางหัวเมืองภาคใต้ เวลานั้นกำลังเกิดทุพภิกขภัย การแห้งแล้งและอดอยาก ในแขวงเมืองพัทลุงและเมืองนครศรีธรรมราช มีพวกราษฎรที่อดอยากพากันไปยอมเป็นบ่าว ขอข้าวนายทัพนายกองกิน แล้วเลยติดตามเข้ามากรุงเทพฯ เป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พวกชาวบ้านพัทลุงและเมืองนครศรีธรรมราชที่เข้ามากรุงเทพฯ ครั้งนั้น ให้รวมเป็นไพร่หลวง ๑ หัดทำการก่ออิฐถือปูนสำหรับสร้างพระอาราม เรียกว่า “กรมเกณฑ์บุญ” ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ตำบล “สนามควาย” ในพวกชาวเมืองพัทลุงและชาวเมืองนครฯ ที่เข้ามาครั้งนั้น มีคนมีความสามารถในการแสดงโนราด้วย จึงได้รวบรวมกันตั้งคณะรับเหมาแสดงงานต่างๆ จนแพร่หลายและฝึกหัดกันเป็นอาชีพสืบต่อมากันมาเกือบสองร้อยปี โดยเรียกชื่อการแสดงเป็น “ละครชาตรี” แทน “โนรา-ชาตรี” หรือ “ละครโนรา”

             บ้านละครชาตรีในย่านสนามควายยุคต้นตามที่มีผู้บันทึกไว้ (ราว พ.ศ.๒๔๒๗) มีอยู่หลายบ้าน เช่น บ้านอำแดงปาน อำแดงอิน นายพ่วง เป็นต้น ต่อมาก็เป็นบ้านนายขำ นายจัน นายธูป และนายนนท์ นายพูน ไพร่หลวงเกณฑ์บุญจากนครศรีธรรมราช อพยพมาอยู่พร้อมด้วยละครชาตรีสายพัทลุง ตระกูล “อากาศโปร่ง” ก็อพยพตามกันมาอีกสายหนึ่ง ปัจจุบันย่านสนามกระบือหรือสนามควายนั้นคือ ถนนหลานหลวง เรียกขานกันว่าเป็น “ถนนสายวัฒนธรรม” ที่รวมแหล่งคนละครและศิลปินพื้นบ้าน ทั้งโขนเชลยศักดิ์ (บ้านนราศิลป์ บ้านดำรงค์นาฏศิลป์ บ้านสายใจศิลปิน) และตรอกละครชาตรีปัจจุบัน (ตรอกป้ายบ้านนายพูน เรืองนนท์) ที่มีคณะละครชาตรีที่แยกตามตระกูลได้สองคณะ คือ คณะนายพูน เรืองนนท์ และคณะจงกล โปร่งน้ำใจ ส่วนถนนดำรงรักษ์ก็มี คณะจูวงษ์ อีกหนึ่งคณะ

           การแสดงละครชาตรีย่านสนามควายยุคต้นๆ นั้นจะเป็นการแสดงรูปแบบอย่างโบราณที่เรียกว่า “ละครชาตรีโบราณ” คือ การแสดงที่ประกอบด้วยวงปี่พาทย์ชาตรี คือ ปี่ โทนชาตรี กลองตุ๊ก ฆ้องคู่ ฉิ่ง และกรับ ในการเดินทำนองร้องรับการแสดงเท่านั้น ต่อมาในราชสมัยรัชกาลที่ ๖ (ช่วง พ.ศ. ๒๓๔๒ – ๒๔๖๘) ได้มีผู้คิดนำเอาละครชาตรีกับละครนอกมาผสมกันเรียกว่า “ละครชาตรีเข้าเครื่อง” หรือ “ละครชาตรีเครื่องใหญ่” การแสดงแบบนี้บางทีก็มีฉากแบบละครนอก แต่บางครั้งก็ไม่มีฉากอย่างละครชาตรี ใช้เครื่องดนตรีของละครชาตรีผสมวงปี่พาทย์ห้าของละครนอก นักแสดงยังคงเป็นผู้ร้องและเจรจาเอง เริ่มการแสดงเหมือนละครชาตรีโบราณ แต่อาจเพิ่มการรำเบิกโรงแล้วลงโรงจับเรื่องด้วย “เพลงวา” แบบละครนอก ส่วนเพลงและวิธีการแสดงก็ใช้ทั้งละครชาตรีและละครนอกปนกัน การแสดงแบบนี้ยังเป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน และนิยมมาแสดงเป็นละครแก้บนตามสถานที่ต่างๆ


ครูพูน เรืองนนท์ พ.ศ. ๒๕๑๘                                   
ที่มา : โครงการเสวนาสาธารณะ ของคนย่านเก่าเมืองกรุงเทพฯ
ณ ป้อมมหากาฬ “ชีพจรยังสั่นไหว ตรอกละครวัดแคนางเลิ้ง”
มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ๙  สิงหาคม พ.ศ ๒๕๕๘



นางสมบุญ ภู่เกษร 
ที่มา : ละครคณะไทยศิริ การแสดงสาธิตละครชาตรีเรื่องไชยเชษฐ์
ณ หอประชุมคุรุสภา กรุงเทพฯ  ปี ๒๕๑๓
นางกฤชพร ผลัดศรี (ทายาท) เอื้อเฟื้อภาพ



นางจงกล  โปร่งน้ำใจ
ที่มา : ละครชาตรีโบราณคณะไทยศิริ เรื่อง วงษ์สวรรค์-จันทวาส
ตอนรบแขกบรรลัยกาล ในงานฉลองศาลพระหลักเมือง ณ ศาลพระหลักเมือง
ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒
คณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ (เอื้อเฟื้อภาพ)



คณะทองหล่อ จูวงษ์
ที่มา: โครงการเสวนาสาธารณะ  ของคนย่านเก่าเมืองกรุงเทพฯ
ป้อมมหากาฬ “ชีพจรยังสั่นไหว ตรอกละครวัดแคนางเลิ้ง”
มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘



รำซัดไหว้ครูละครชาตรี (ซัดหน้าเตียง)
ภาพการแสดงละครชาตรีเรื่องแก้วหน้าม้า ตอนติดอ่าวยักษ์ ในรายการดนตรีเพื่อประชาชน
ณ เวทีสังคีตศาลา พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ ท้องสนามหลวง
ที่มา : คณะละครจงกล โปร่งน้ำใจ  ๒๐  มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๘



ทางเข้าตรอกละคร ริมถนนหลานหลวง 
ถัดจากซอยหลานหลวง ๑ วัดสุนทรธรรมทาน (แค นางเลิ้ง)

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพโดยคณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ

 
ขนมฝรั่งกุฎีจีน
ชื่อรายการ : ขนมฝรั่งกุฎีจีน
สาขา : ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
พื้นที่ปฏิบัติ :  ชุมชนกุฎีจีน ย่านกะดีจีน แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร

ข้อมูลโดยสังเขป :
           
ขนมฝรั่งกุฎีจีน เป็นขนมดั้งเดิมของชาวชุมชนกุฎีจีน เชื้อสายโปรตุเกส แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี มีลักษณะเหมือนขนมไข่ รูปร่างคล้ายถ้วยปากกว้าง ทำจากแป้งสาลี ผสมน้ำตาลและไข่เป็ด ทำให้สุกด้วยการอบ มีลักษณะกรอบนอกนุ่มใน หน้าขนมโรยด้วยน้ำตาลและแต่งหน้าด้วยลูกเกด ลูกพลับแห้ง และฟักเชื่อม (สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง เล่ม ๘. มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. ๒๕๔๒) ตัวขนมไม่ใช้ผงฟู ไม่มีวัตถุกันเสีย แต่เก็บไว้ได้นาน โดยวิธีการทำเริ่มต้นด้วยการนำไข่เป็ดและน้ำตาลทรายตีจนฟู นำแป้งสาลีที่ร่อนแล้วผสมสมลงไปให้พอเหมาะคนให้เข้ากัน เทลงแม่พิมพ์ วางบนเตาอบที่มีความร้อนสูงมาก จนขนมสุกได้ที่แล้วจึงเคาะขนมออกจากพิมพ์ ขนมฝรั่งกุฎีจีน เป็นขนมตำรับโบราณสืบทอดในกลุ่มชาวคริสต์เชื้อสายโปรตุเกสซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนกุฎีจีน ฝั่งธนบุรีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี จนมีคำกล่าวคุ้นหูคนกรุงเทพฯ ว่า “ข้าวหลามตัดวัดระฆัง ขนมฝรั่งกุฎีจีน” ปัจจุบันคงเหลือบ้านที่ทำอยู่เพียง ๓ ตระกูล ได้แก่ บ้านธนูสิงห์ บ้านหลานแม่เป้า และบ้านป้าเล็ก ซึ่งยังคงสูตรต้นตำรับดั้งเดิมที่ยังคงเหลืออยู่
           ความเป็นมาของชุมชนกุฎีจีน
           ชุมชนกุฎีจีน เป็นชื่อชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทางฝั่งธนบุรีใต้วัดกัลยาณมิตรลงมา มีคลองกุฎีคั่นอยู่ ชุมชนกุฎีจีนเป็นชุมชนแรกของชาวคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ตั้งแต่เริ่มตั้งกรุงธนบุรี จนสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
           ที่มาของชื่อชุมชนนี้ จากการศึกษาพบว่าคำว่า “กุฎี” สันนิษฐานว่าเป็นคำที่แผลงมาจากคำว่า “กุฏิ” ในภาษาบาลี แปลว่าที่อาศัยของนักบวช นอกจากนี้อาจมาจากคำว่า “กะเต” ที่แปลว่าที่ประทับของเจ้าเซ็นในภาษาเปอร์เซีย กุฎีในบริเวณคลองบางกอกใหญ่มีหลายแห่ง เช่น กุฎีใหญ่ (มัสยิดต้นสน) กุฎีขาว (มัสยิดบางหลวง) กุฎีเจริญพาศน์ กุฎีหลวง เป็นต้น
            ส่วนคำว่า “กุฎีจีน” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยไว้ในสาส์นสมเด็จว่า น่าจะหมายถึงศาลเจ้าจีนขนาดใหญ่ อยู่ตรงคลองกุฎีจีนห่างแม่น้ำไปประมาณ ๒ เส้น สันนิษฐานว่าชาวจีนสร้างขึ้นมาตั้งแต่ก่อนสมัยพระไชยราชาโปรดให้ขุดคลองลัด ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเดิมไหลไปทางบางกอกใหญ่เปลี่ยนเส้นทางเดิน คุ้งน้ำซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าก็ตื้นเขินจนเกิดเป็นคลองมาตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา 
             เมื่อแรกตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้พวกจีนชาวพระนครศรีอยุธยามาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางเหนือคลองกุฎีจีนตรงที่เป็นวัดกัลยาณมิตรในปัจจุบัน ส่วนพวกโปรตุเกสซึ่งเดิมอยู่ในค่ายรักษาป้อมเมืองบางกอก และพวกเข้ารีตขาวคริสต์ที่หนีรอดพม่ามาได้ประมาณ ๑๐๐ กว่าคน ก็โปรดให้รวมตัวกันตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใต้กุฎีจีนต่อลงไป
             ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๒ บาทหลวงกอร์ ยาคอเบ (Gorre) ได้นำชาวไทยคริสต์ประมาณ ๓๐๐ กว่าคน กลับมาจากเขมร สมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงพระราชทานที่ดินที่อยู่เหนือหมู่บ้านพวกเข้ารีตที่กุฎีจีน กุฎีจีนจึงกลายเป็นชุมชนใหญ่ของชาวคริสต์ ซึ่งเป็นคนไทย คนจีน และโปรตุเกส
             ชุมชนชาวคริสต์ในชุมชนกุฎีจีน มีวัดที่เป็นศูนย์รวมชุมชน คือ “วัดซางตาครูส” แปลว่า ไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นวัดแห่งแรกของชาวคริสต์ในชุมชนกุฎีจีน สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๓๑๒
             ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะมิชชันนารีกลับเข้ามาได้ โดยคณะบาทหลวงโปรตุเกสกลับเข้ามาก่อนบาทหลวงฝรั่งเศส จึงเกิดกรณีพิพาทแย่งเป็นเจ้าของวัดซางตาครูส ท้ายสุดบาทหลวงกูเด อดีตเจ้าอาวาสชาวฝรั่งเศสกลับมาเป็นเจ้าอาวาสอีกครั้งหนึ่ง
             ในปี พ.ศ. ๒๓๓๙ บาทหลวงการ์โนลต์ได้ตั้งโรงพิมพ์เล็กๆ ขึ้นที่วัดซางตาครูส ได้พิมพ์หนังสือคำสอนศาสนาด้วยอักษรโรมัน ชื่อว่า “คำสอนคริสตัง”
             ในสมัยรัชกาลที่ ๓ - ๔ ย่านกุฎีจีนเป็นย่านการค้าสำคัญของกรุงเทพฯ ปรากฏหลักฐานพ่อค้าชาวอังกฤษ คือ โรเบอต์ ฮันเตอร์ หรือที่คนไทยเรียกว่า นายหันแตร ได้เข้าหุ้นกับเพื่อนตั้งห้างขายของในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ชื่อว่า “ห้างมอร์แกนและห้างฮันเตอร์” อยู่ที่กุฎีจีน ขายสินค้าหลายชนิด
             ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ บาทหลวงคูเรียลโม กิ๊น ดาครูส เจ้าอาวาสวัดซางตาครูส ได้รื้อและสร้างวัดใหม่เนื่องจากของเดิมมีความทรุดโทรม แล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ เป็นวัดที่ปรากฏมาจนถึงปัจจุบัน
             ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินให้แก่ชาวไทยที่นับถือศาสนาคริสต์ที่ชุมชนกุฎีจีนด้วย ดังความว่า “...ผู้ที่อยู่ในที่นั้นๆ ต้องเป็นคนที่นับถือศาสนาโรมันคาทอลิกและห้ามไม่ให้ขายโอนที่ดินภายในเขตที่ ๕ แห่งนี้แก่ผู้อื่น นอกจากผู้ที่อยู่ในกฎหมายฝ่ายสยามและนับถือศาสนาฝ่ายโรมันคาทอลิก...”
              ชุมชนกุฎีจีนในอดีตเป็นชุมชนของชาวคริสต์หลายเชื้อชาติ นอกจากคนไทยแล้วยังมีโปรตุเกส จีน และญวณที่มาจากจันทบุรี มีความเป็นอยู่แบบเครือญาติกันโดยมีบาทหลวงเป็นผู้นำชุมชน ชาวกุฎีจีนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย ในย่านนี้แต่เดิมมีทั้งโรงงานกระเบื้อง โรงฟืนหวา และการทำขนม
              ความเป็นมาของขนมฝรั่งกุฎีจีน
              จากการศึกษาพบว่า น่าจะมาจากการทำขนมไข่ของชาวโปรตุเกส ซึ่งจากการที่สถานฑูตโปรตุเกสได้จัดสัมมนาเรื่อง “ประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกส” ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๘ ณ ห้องประชุมหอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี ได้พูดถึงขนมฝรั่งกุฎีจีนน่าจะมาจากขนมไข่โปรตุเกสที่เรียกว่า “Que Que (กือ กือ)” ซึ่งมีขนาดและการอบคล้ายกัน แต่ของโปรตุเกสจะไม่โรยหน้าด้วยผลไม้อบแห้ง โดยการทำขนมฝรั่งกุฎีจีนในพื้นที่นี้เริ่มจากย่าแช่มเป็นคนทำคนแรกโดยเรียนจากหญิงชาวโปรตุเกสและได้สอนต่อแก่ป้าอ่วม จากนั้นป้าอ่วมสอนต่อให้แม่สำรวมกับแม่สนิท โดยแม่สำรวมมีสามีคือนาวาโทหลวงรามโกมุท ธนูสิงห์
              แม่สำรวมสอนต่อให้กับคุณระวี ธนูสิงห์ ซึ่งเป็นตาของคุณทีปกร สุจจิตรจูล เจ้าของร้าน “ธนูสิงห์” ในปัจจุบัน ในฝั่งของแม่สนิท ได้แต่งงานกับคุณ “ซัน” ซึ่งมีเชื้อสายโปรตุเกส มีลูกถึง ๑๒ คน ลูกคนที่ ๕ ชื่อยายเป้า เป็นต้นตระกูลบ้านคุณผจงลักษณ์ และบ้านคุณสมบูรณ์ ซึ่งสามารถสรุปลำดับทายาทสืบทอดการทำขนมฝรั่งกุฎีจีนได้ ดังนี้
               ๑. คนรุ่นแรกหลังการตั้งกรุงธนบุรี มิสซิส เบนนาดิก ชาวโปรตุเกส พร้อมสามีย้ายเข้ามาอยู่ในย่านกุฎีจีน นำวัฒนธรรมการทำขนมฝรั่งเข้ามาทำอยู่แพริมน้ำย่านกุฎีจีน 
               ๒. ทายาทรุ่นที่สอง แบ่งเป็น ๒ ครอบครัว ดังนี้
                   ๒.๑ นางสำรวม ธนูสิงห์ เพื่อนสนิทของนางสนิท ประสาทพร ทำขนมอยู่บ้านติดกันคือปากคลองกุฎีจีน
                   ๒.๒ นายสั้น ประสาทพร (คุณซัน) บุตรชายของมิสซิสเบนนาดิก และภรรยา นางสนิท  ประสาทพร (ทรรทรานนท์) ทำขนมอยู่บ้านริมคลองกุฎีจีนใกล้ปากคลอง
               ๓. ทายาทรุ่นที่สาม
                   ๓.๑ ลุงแป๊ะ ลุงวี และป้าสม ธนูสิงห์ บุตรของนางสำรวม ธนูสิงห์ สืบทอดการทำขนมต่อเนื่องมาที่บ้านปากคลองกุฎีจีน
                   ๓.๒ แม่เป้า มณีประสิทธิ์ (ประสาทพร) ลูกสาวนางสนิท ประสาทพร (ทรรทรานนท์) มีครอบครัวย้ายออกมาทำอยู่ที่บ้านหลังโบสถ์วัดซางตาครู้ส 
              ๔. ทายาทรุ่นที่สี่
                   ๔.๑ นางสุดารัตน์ สุจจิตรจูล (ธนูสิงห์) บุตรสาวของลุงวี – ป้าสม ธนูสิงห์ สมรสกับนายบุญญา สุจจิตรจูล และย้ายมาทำขนมที่บ้านสกุลทอง ริมคลองกุฎีจีนภายในชุมชน  
                   ๔.๒ แม่เป้า มณีประสิทธิ์ ก็ได้สืบทอดต่อบุตรชายและสะใภ้ทั้งสอง คือนายศุภร – วรรณา และนายอุดม – สมศรี มณีประสิทธิ์  
              ๕. ทายาทรุ่นที่ห้า ในปัจจุบันคงเหลือเพียง ๓ บ้านที่ทำขนมฝรั่งกุฎีจีน  
                   ๕.๑ บ้านธนูสิงห์ มีนายทีปกร สุจจิตรจูล และภรรยา บุตรชายของนางสุดารัตน์ – นายบุญญา สุจจิตรจูล สืบทอดการทำขนมต่อที่บ้านเดิม ปัจจุบันคือบ้านธนูสิงห์ อยู่ริมคลองกุฎีจีน      
                   ๕.๒ บ้านหลานแม่เป้า มีนางสาววิสินี (แหม่ม) และนางสาวผจงลักษณ์ (เจ๊ก) มณีประสิทธิ์ บุตรของนายศุภร – วรรณา มณีประสิทธิ์ สืบทอดการทำขนมอยู่ที่เดิมหลังวัดซางตาครู้ส    
                   ๕.๓ บ้านป้าเล็ก มีนางอุไรวรรณ มณีประสิทธิ์ ลูกสะใภ้ของของนายอุดม – สมศรี มณีประสิทธิ์ สืบทอดการทำขนมอยู่ด้านในชุมชน
              ขนมฝรั่งกุฎีจีนในสมัยก่อนมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างประมาณ ๑๐ - ๑๒ นิ้ว ชาวคริสต์นิยมทำรับประทานเฉพาะในเทศกาลคริสต์มาส ปัจจุบันมีขายไม่จำกัดเทศกาล และมีขนาดเล็กลง ส่วนผสมของสูตรขนมฝรั่งดั้งเดิม มีส่วนผสมหลัก ๓ อย่าง คือ แป้งสาลี ไข่เป็ด และน้ำตาลทราย บางสูตรใส่น้ำเล็กน้อย บางสูตรไม่ใส่ แล้วจึงนำไปตีจนฟู ต้องใช้นิ้วแตะดูว่าใช้ได้หรือยัง ไม่มีส่วนผสมที่ตายตัวจะใช้น้ำมันพืชหรือเนยขาวทาพิมพ์ก่อนหยอด แล้วจึงนำไปอบเตาถ่านใช้ไม้โกงกางเป็นฟืนซึ่งนำมาจากดงพญาไฟ โดยจะวางถ่านสุกอบอยู่ด้านบนเตา จะทำให้หน้าขนมสวยกรอบหอม อบประมาณ ๒ - ๓ ชั่วโมง ในอดีตเตาอบเป็นดินเหนียวปนแกลบ ต่อมาก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นเตาแก้ส ซึ่งการใช้เตาแก้สอบขนมจะทำให้ขนมแห้งอย่างทั่วถึง โดยพื้นล่างชองเตาอบจะวางกรวดกระจายความร้อนไว้ซึ่งทำให้กลิ่นแก๊สไม่ติดขนม การพัฒนาเตาในแบบปัจจุบันทำให้ผลิตขนมได้มากและเร็วขึ้นขนมก็จะแห้งกรอบนอกนุ่มใน เก็บได้นาน ๒ - ๓ สัปดาห์ ขนมฝรั่งกุฎีจีนแบบดั้งเดิมไม่มีการแต่งหน้า แต่ปัจจุบันได้ประยุกต์ตกแต่งหน้าด้วยการใส่ผลไม้แห้ง เช่น ลูกเกด ชิ้นฟักเชื่อม ลูกพลับแห้งหั่นเป็นชิ้นบางๆ และโรยน้ำตาลทราย ทำให้ดูน่ารับประทานขึ้น


ภาพขั้นตอนการตีไข่ กับน้ำตาลจนขึ้นฟู ในอดีต


ภาพขั้นการหยอดแป้งลงแบบถาดขนม


การขั้นตอนการแต่งหน้าขนม

๓ ภาพด้านบน ภาพเก่าสมัยทายาทรุ่นที่ ๓ เมื่อครั้งยังใช้วิธีทำแบบโบราณ









ประเพณีอัฏฐมีบูชา วัดด่าน เขตยานนาวา
เผยแพร่ข้อมูล : วันอังคารที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๑
ชื่อรายการ : ประเพณีอัฏฐมีบูชา วัดด่าน เขตยานนาวา
ชื่อเรียกในท้องถิ่น : พิธีถวายเพลิงพระพุทธเจ้า
สาขา : แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และงานเทศกาล
พื้นที่ปฏิบัติ : วัดด่าน ถนนพระราม ๓ แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร 
ข้อมูลจากแบบจัดทำรายการเบื้องต้นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (มภ.๒) กันยายน ๒๕๖๐

ข้อมูลโดยสังเขป : 
     วันอัฏฐมีบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นับจากวันวิสาขบูชาไปเพียง 8 วัน หรือกล่าวคือ วันอัฏฐมีบูชาตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ทั้งนี้หากปีใดมีอธิกมาส หรือมี ๓๖๖ วัน วันอัฏฐมีบูชา ก็จะถูกเลื่อนไปตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ แทนพิธีอัฐมีบูชาจัดขึ้นเพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พิธีอัฏฐมีบูชา เป็นพิธีกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยที่วัดด่าน ถนนพระราม ๓ แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ได้จัดให้มีการฟื้นฟูต่อยอดจากบรรพบุรุษชาวยานนาวา ในลักษณะรุ่นต่อรุ่นเพื่อดำรงไว้ซึ่งมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สั่งสมมาเป็นเวลาช้านานกว่า ๑๐๐ ปี และได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องโดยปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับสังคมในปัจจุบัน เพื่อให้เด็ก และเยาวชนคนรุ่นใหม่ เข้าใจและเห็นคุณค่าของการจัดพิธีอัฐมีบูชา
     ในพิธีอัฏฐมีบูชา จะสอดแทรกคำสอนของพระองค์ให้คนที่มาร่วมในพิธีได้รับรู้และนำไปปฏิบัติ เช่น หลักไตรลักษณ์ หลักมรณสติ เป็นต้น
     การจัดพิธีอัฏฐมีบูชาที่วัดด่าน พระราม ๓ จะเริ่มพิธีตั้งแต่หลังวันวิสาขบูชา ๑ วัน โดยจัดให้มีพิธีการสวดบูชาคุณพระพุทธเจ้า จำนวน ๗ คืน โดยในวันที่ ๗ จะจัดให้มีขบวนแห่พระปางดับทุกข์ไปรอบพื้นที่เขตยานนาวา เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มีส่วนร่วมในการบูชาดอกไม้หอมไปตลอดเส้นทาง โดยมีความเชื่อว่าจะเป็นสิริมงคล ช่วยขจัดปัดเป่าทุกข์ให้กับผู้ที่ได้บูชา และเมื่อถึงวันที่ ๘ ซึ่งตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ก็จะเริ่มประกอบพิธีอัฏฐมีบูชา ซึ่งวัดกับชุมชนจะร่วมกันจัดพื้นที่ในวัดด่านจำลองตามพุทธประวัติให้เป็นเมืองกุสินารา และเชิญผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่สวมบทบาทตามพุทธประวัติ แต่งกายแบบชาวอินเดีย
     สาระสำคัญของพิธีอัฏฐมีบูชา นอกจากการจัดพิธีกรรมที่มีวัตถุประสงค์หลักในการสืบทอดพระพุทธศาสนา โดยการนำหลักธรรมคำสอนซึ่งเป็นแก่นแท้ทางพระพุทธศาสนา มาถ่ายทอดให้แก่พุทธศาสนิกชนได้พึงระลึกถึง และนำไปปฏิบัติแล้ว ยังให้ความสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของคนจากทุกภาคส่วนในชุมชน ผ่านพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งในหนึ่งปีจะจัดให้มีขึ้นเพียงครั้งเดียว
     งานอัฏฐมีบูชาวัดด่าน มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “พิธีถวายเพลิงพระพุทธเจ้า” แต่ชาวบ้านแถวนี้จะเรียกว่า “งานเผาศพพระพุทธเจ้า” ในอดีตจัดงานสองวัน คือ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๖ ตั้งโรงพิธีโดยใช้เมรุลอยโบราณตั้งขึ้นแล้วทำพิธีกรรม มีเทศน์แจงแบบชาวบ้านทำ โดยพิธีเทศน์แจงจะทำกันในวันสุดท้าย คือ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อถึงเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. จึงประกอบพิธี มีการบรรยายภาพเหตุการณ์ตอนถวายพระเพลิง แล้วจึงทำพิธีโปรยถั่วต้มซึ่งสมมติขึ้นเป็นพระบรมสารีริกธาตุเป็นอันจบพิธีต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นประเพณีสำคัญนี้จึงยุติเนื่องจากไม่ได้รับความนิยมและพุทธศาสนิกชน ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอื่น เช่น วันมาฆบูชา วิวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา เป็นต้น  
     ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ พระครูสถิตบุญวัฒน์ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะกรุงเทพมหานครให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดด่าน ท่านได้ให้ความสนใจและพยายามศึกษาเรื่องราวจากผู้รู้และศึกษาเพิ่มเติมจากมหาปรินิพพานสูตร ซึ่งได้กล่าวถึงพิธีการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระพระพุทธเจ้าไว้อย่างละเอียด จึงได้ชักชวนชาววัดด่านและตำบลใกล้เคียงฟื้นฟูงานอัฏฐมีบูชาขึ้นมาใหม่ ซึ่งต่อมาได้รับความอุปถัมภ์จากสำนักงานเขตยานนาวาเข้ามาร่วมดำเนินการ ทำให้เริ่มมีผู้สนใจร่วมพิธีและศึกษาเพื่อพัฒนาจนเป็นพิธีมหาบูชาอย่างสมบูรณ์ดังในปัจจุบัน

     อัตลักษณ์ของพิธีอัฏฐมีบูชา วัดด่าน พระราม ๓ เขตยานนาวา คือ
     ๑. การจัดพิธีสวดบูชาคุณพระพุทธเจ้า จำนวน ๗ คืน ระหว่างเวลา ๑๘.๓๐ น. - ๒๐.๐๐ น. โดยได้ให้ประชาชน ชุมชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพพิธีหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันในแต่ละวัน
     ๒. พิธีแห่พระปางดับทุกข์ ในวันที่ ๗ ของการดับขันธปรินิพพาน โดยในเวลา ๑๔.๐๐ น. - ๑๘.๐๐ น. ทางวัดจะจัดให้มีการเคลื่อนขบวนรถแห่พระพุทธรูปปางดับทุกข์ไปรอบพื้นที่เขตยานนาวาเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มีส่วนร่วมในการถวายดอกไม้ในขบวนนี้ตลอดเส้นทาง โดยในพิธีจะมีพระภิกษุสงฆ์ร่วมทำการสวดมนต์สูตรสำคัญเพื่อความดับทุกข์รับสุขตลอดเส้นทาง เป็นการเสริมสร้างสิริมงคลแก่ประชาชนที่ผ่านมายังทางสัญจรนั้นๆ นอกจากนี้ ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ทราบว่าวันอัฏฐมีบูชาจะเริ่มขึ้นแล้วในวันต่อไป
     ๓. การจำลองสถานการณ์ในพิธีที่เสมือนในพุทธประวัติ ในพิธีอัฏฐมีบูชา วัดด่านได้ทำการจำลองเหตุการณ์ให้วัดด่าน เขตยานนาวา กลายเป็นเมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ประเทศอินเดีย การจำลองส่วนต่างๆ
ที่สำคัญ ได้แก่
          ๓.๑ มกุฎพันธนเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมศพขององค์พระศาสดา ซึ่งสร้างขึ้นด้วยความศรัทธาของเหล่าพระสงฆ์
          ๓.๒ การแสดงประกอบเรื่องราวในอดีตกาล โดยมีตัวแทนสมมุติบทบาทตามเนื้อเรื่องในพุทธประวัติเช่น พระเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินารา ซึ่งรับบทโดยบุคคลในท้องถิ่นที่ได้รับการพิจารณาจากมติในที่ประชุมการเตรียมการจัดงาน ซึ่งในแต่ละปีจะไม่ซ้ำกัน เหล่ามัลละปาโมกข์ โทณพราหมณ์ พราหมณี เหล่าชาวภารตะ มหารานี และพระสงฆ์ที่รับบทบาทเป็นพระมหากัสสปะ เป็นต้น ผู้แสดงจำนวนมากนั้นได้รับความร่วมมือจากประชาชนในชุมชน ครู อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา นักศึกษาจากการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) รวมถึงเด็กนักเรียนในพื้นที่ของเขตยานนาวา จำนวนกว่า ๑๐๐ คน นอกจากนี้ยังมีนักเรียนที่มาทำการรำถวายพระพุทธเจ้า สวมบทบาททวยเทพนางฟ้าเทวดาที่มาร่วมกันถวายความกตัญญูกตเวทิตาคุณแด่องค์พระศาสดา ซึ่งทำให้งานพิธีอัฏฐมีบูชาที่วัดด่าน พระราม ๓ มีอัตลักษณ์ในเรื่องการจำลองเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลที่เสมือนจริงที่สุดในประเทศไทย
     ๔. หลักธรรมคำสอนที่สอดแทรกในพิธี พิธีอัฏฐมีบูชา วัดด่าน พระราม ๓ มีการนำเนื้อหาในมหาปรินิพพานสูตร มาเป็นบทบรรยายประกอบในพิธี ซึ่งมีหลักธรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นำมาให้ผู้ร่วมพิธีได้รับฟัง และสามารถนำไปประพฤติ ปฏิบัติในการดำรงชีวิต ได้แก่
          ๔.๑ หลักไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง - ความไม่เที่ยง ไม่คงที่ ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป ทุกขัง - ความเป็นทุกข์ ภาวะบีบคั้นที่ถูกบังคับด้วยการเกิดขึ้นแล้วสลายไปเพราะปัจจัยปรุงแต่ง อนัตตา – สภาวะความไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้แน่นอนหลักไตรลักษณ์เป็นหลักประสานประโยชน์ของความจริงในชีวิตที่เราพึงเห็นได้ตามหลักความจริงด้วยปัญญา ดังปรากฏพุทธพจน์ในพระสุตตันตปิฎกว่า
                 “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลาย ย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตน และประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท ให้ถึงพร้อมเถิด ความปรินิพพานแห่งตถาคต จักมีในไม่ช้า โดยล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน ฯ” (ทีฆนิกาย มหาวรรค. ๑๐/๑๐๐/๑๐๘)
          ๔.๒ ความตายเป็นสภาวทุกข์ที่สรรพสัตว์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ พระพุทธเจ้าแม้จะทรงมีพุทธานุภาพที่ยิ่งใหญ่เพียงใด ก็ยังไม่สามารถพ้นจากความตายได้ พระพุทธเจ้าทรงเป็นตัวอย่างของมนุษย์ที่แม้ละโลกนี้ไปแล้ว ก็ยังฝากคำสอนและพุทธขริยาอันทรงคุณค่าไว้ให้แก่โลก คำสอนและเรื่องราวของพระองค์ที่มนุษย์ยุคปัจจุบันต่างพากันแสวงหาล้วนยืนยันคุณค่าของพระองค์ (ผศ.ร้อยโท ดร.บรรจบ บรรณรุจิ และคณะ, ๒๕๔๗, หน้า ๓)
          ๔.๓ รูปกายไม่คงที่ แต่ความดีคงทน พระพุทธเจ้าคือผู้ประเสริฐ เป็นผู้เปี่ยมไปด้วยพระปัญญาคุณ พุทธศาสนิกชน ยังคงรำลึกถึงและบูชาคุณพระพุทธเจ้า ด้วยการปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์
          ๔.๔ ความไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตมนุษย์ทุกคนต้องตายอย่างแน่นอน ทุกคนต้องรีบขวนขวายในการประกอบคุณงามความดีและไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต
          ๔.๕ การพิจารณาถึงความจริงของชีวิต (อภิณหปัจจเวกขณ์) เป็นหลักธรรมเพื่อพิจารณาเตือนสติมิให้ประมาทที่พุทธศาสนิกชนควรพิจารณาอยู่เนื่องๆ ดังนี้
                 - ชราธัมมตา ความแก่เป็นเรื่องธรรมดา
                 - พยาธิธัมมตา เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
                 - มรณธัมมตา เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
                 - ปิยวินาภาวตา เราจักต้องมีความพลัดพลากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
                 - กัมมัสสกตา เรามีกรรมเป็นของของตน เราทำกรรมใดไว้ ดีก็ตามชั่วก็ตามจักต้องได้รับผลของกรรมนั้น
           ๔.๖ การปฏิบัติธรรมบูชาพระพุทธเจ้าเป็นการบูชาที่สูงสุด ในพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
ได้มีการบูชาพระบรมศพของพระพุทธเจ้าด้วยสิ่งต่างๆ เช่น ดอกไม้ ของหอม ดนตรี แต่ก็มิได้ถือว่าเป็นการบูชาที่แท้จริง เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่สามารถดำรงคำสอนของพระองค์ได้ แต่ผู้ใดไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติธรรมตามอยู่ ผู้นั้นชื่อว่า สักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมด้วยการบูชาอย่างยอดเยี่ยม (ผศ.ร้อยโท ดร.บรรจบ บรรณรุจิ และคณะ,๒๕๔๗, หน้า ๕, ๖, ๗)
     ๕. หีบพระบรมศพจำลองที่บรรจุพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หีบสีทองที่ทางวัดด่านได้นำมาใช้ประกอบในพิธีอัฏฐมีบูชานั้น เป็นหีบแบบโบราณที่ใช้สืบทอดกันมา มีลักษณะเป็นทรงสูง ซึ่งได้รับมาจากวัดจักรวรรดิราชาวาส สันนิษฐานว่ามีอายุกว่าร้อยปี ซึ่งวัดด่านยังเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีและพยายามปรับปรุงซ่อมแซมให้ใหม่อยู่เสมอ หีบใบนี้มีพระบาทจำลองของพระพุทธเจ้าบรรจุอยู่คู่หนึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาววัดด่านซึ่งประดิษฐ์กลไกขึ้นให้พระบาทสามารถยื่นออกมาจากปลายหีบด้านหนึ่ง และหดกลับเข้าไปได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตามพุทธประวัติ
     ๖. การแจกพระบรมสารีริกธาตุจำลอง พิธีอัฏฐมีบูชาที่วัดด่าน พระราม ๓ ได้มีการจำลองพระบรมสารีริกธาตุ โดยได้ผ่านกระบวนการคิดที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ คือ การเลือกนำถั่วลิสงมาใช้แทนพระบรมสารีริกธาตุจำลองนั้นเพราะว่าถั่วลิสงนี้มีลักษณะคล้ายกับกระดูก นอกจากนี้ยังสื่อความหมายถึงความเจริญงอกงาม เพิ่มพูน หรือหากว่าทำการค้าใดๆ ก็ให้เจริญรุ่งเรืองด้วยดี เพราะถั่วคือพืชที่เจริญเติบโตง่าย โดยวิธีการทำพระบรมสารีริกธาตุจำลองนั้นจะเริ่มจากการนำถั่วลิสงไปต้มจนสุก และนำไปตากแห้ง บางเมล็ดทาสีทองเพื่อความสวยงาม ก่อนนำเข้าสู่พิธีการสวดบูชาคุณพระพุทธเจ้า เป็นเวลา ๗ คืน เมื่อถึงช่วงเสร็จพิธีอัฏฐมีบูชาลงแล้ว จะทำการโปรยพระบรมสารีริกธาตุจำลองนี้ เพื่อให้ประชาชนที่มาร่วมพิธีได้นำไปบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล


พระครูสถิตบุญวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดด่าน 

 

การจำลองสถานการณ์ในพิธีที่เสมือนในพุทธประวัติ ตอนที่พระมหากัสสปะเดินทางมาร่วมพิธี เมื่อได้ถวายความเคารพพระบรมศพแล้ว พระพุทธบาทในโลงได้โผล่ยื่นออกมา เมื่อพระพุทธบาทกลับเข้าไปในลงแล้ว กลุ่มควันได้พวยพุ่งขึ้นโดยอำนาจของเทวดา


ในแต่ละปีทางวัดจะเรียนเชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในพื้นที่มาร่วมในพิธีโดยสวมบทบาทสมมติตามพุทธประวัติ ในภาพคือนายชาติชาย กุละนำพล ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตยานนาวา รับบทบาทสมมติเป็นพระเจ้ามัลละกษัตริย์ 


พระครูสถิตยบุญวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดด่าน ทำการโปรยพระบรมสารีริกธาตุจำลองซึ่งทำจากถั่วลิสงต้มตากแห้งทั้งฟักที่ผ่านพิธีการสวดบูชาคุณพระพุทธเจ้า เป็นเวลา ๗ คืน หลังเสร็จพิธีอัฏฐมีบูชา เพื่อให้ประชาชนที่มาร่วมงานได้นำนำไปบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล

แหล่งที่มาของข้อมูล :
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรจบ บรรณรุจิ, ร้อยโท และคณะ. วันอัฏฐมีบูชาแนวทางการปฏิบัติสำหรับ
    พุทธศาสนิกชน. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์, ๒๕๔๗.
เสถียรพงษ์ วรรณปก. วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์ (บันทึกอย่างละเอียด ในมหาปรินิพพานสูตร).
    บ.พีเอ ลีฟวิ่ง จำกัด, ๒๕๓๘.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร :
    โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

บุคคลอ้างอิง :
๑. พระครูสถิตบุญวัฒน์ ดร.เจ้าอาวาสวัดด่าน เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร
๒. นางสาว จารุภัทร จุลสำลี รองประธานสภาวัฒนธรรม เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร
๓. นาย ประจิตร พลับเจริญสุข คณะกรรมการสภาวัฒนธรรม เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร
๔. ประชาชน ชุมชน สถานศึกษา วัดและหน่วยงานราชการ


 
ขันลงหินบ้านบุ
เผยแพร่ข้อมูล : วันศุกร์ที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑ 
ชื่อรายการ : ขันลงหินบ้านบุ 
สาขา : งานช่างฝีมือดั้งเดิม
พื้นที่ปฏิบัติ :  ชุมชนวัดสุวรรณาราม (บ้านบุ) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ ตั้งแต่หลังสถานีรถไฟธนบุรี ยาวถึงวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร มีเนื้อที่ประมาณ ๒๕ ไร่

ข้อมูลโดยสังเขป : 
            
ขันลงหินบ้านบุ คือภาชนะที่ใช้กันแพร่หลายในสังคมไทยสมัยก่อน บางบ้านใช้เป็นขันใส่น้ำดื่ม หรือขันน้ำพานรอง เพราะขันลงหินจะช่วยให้น้ำเย็นกว่าปกติ หรือบางบ้านใช้เป็นขันใส่ข้าวสำหรับตักบาตร เพราะจะทำให้ข้าวมีกลิ่นหอม สำหรับขันลงหิน จากชุมชนบ้านบุ มีชื่อเสียงในเรื่องของความทนทานและความสวยงาม เมื่อลองเคาะดู จะมีเสียงดังกังวาน
           ขันลงหินบ้านบุ มีกระบวนการทำโดยการนำโลหะมาตีแผ่ให้บางแล้วขึ้นรูปเป็นภาชนะ จากนั้นนำมาตกแต่งให้สวยงามโดยนำเบ้าหลอมโลหะที่แกร่งเหมือนหินมาทุบ ห่อผ้าแล้วนำไปขัดผิวโลหะให้เรียบเรียกว่า “ลงหิน” จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก “ขันลงหิน”
           ขันลงหิน เป็นงานฝีมือของช่างโลหะสำริดไทยที่ผลิตขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน  ทั้งนี้ สำริดโดยทั่วไปนั้นหมายถึงโลหะผสมที่มีทองแดงเป็นองค์ประกอบหลักและมีดีบุกเป็นองค์ประกอบรองที่ช่างโลหะจงใจผสมเข้าไปกับทองแดงประมาณร้อยละ ๑๐ - ๒๐ ของส่วนผสมทั้งหมด ส่วนเนื้อโลหะสำริดที่เรียกว่า “ทอง” ที่ใช้ทำขันลงหิน ก็คืองานหัตถกรรมที่ทำจากโลหะสำริดชนิดที่มีดีบุกผสมในปริมาณสูงกว่าร้อยละ ๒๐ ของส่วนผสมทั้งหมด ปัจจุบันนี้แหล่งผลิตขันลงหินเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร คือ ชุมชนบ้านบุ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร งานหัตถกรรมนี้เป็นเอกลักษณ์ประการหนึ่งของชุมชนแห่งนี้
            ชุมชนบ้านบุ
            บ้านบุเป็นชุมชนเล็กๆ ชุมชนหนึ่งในเขตบางกอกน้อย ในอดีตเรียกว่าอำเภออมรินทร์ซึ่งอยู่ในจังหวัดธนบุรี เป็นเขตที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และนับเป็นหนึ่งในเขตอนุรักษ์เมืองเก่าของกรุงเทพมหานคร เป็นแหล่งรวมศิลปะ วัฒนธรรม โบราณสถาน ตลอดจนผลงานทางด้านงานหัตถกรรม งานสถาปัตยกรรม งานจิตรกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นมากมาย ดังคำขวัญของเขตบางกอกน้อยที่ว่า
                                      สมเด็จโตวัดระฆัง          วังหลังตั้งอยู่
                                  อู่เรือพระราชพิธี              สถานีรถไฟ
                                  คลองใหญ่มีชื่อ                เลื่องลือเครื่องลงหิน
                                  นามระบิลช่างหล่อ            งามลออวัดวา
                                                                                      (สำนักงานเขตบางกอกน้อย, ๒๕๕๒, น.๑๘)     
         ชุมชนบ้านบุตั้งอยู่บริเวณริมคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ ตั้งแต่บริเวณหลังสถานีรถไฟธนบุรี ยาวถึงบริเวณวัดสุวรรณารามราชวรวิหารหรือวัดทอง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยมีเนื้อที่ทั้งหมด ๒๕ ไร่ และมีความยาวขนานไปกับลำคลองประมาณ ๘๐๐ เมตร ในปัจจุบันสามารถเข้าถึงชุมชนได้ทั้งทางบกและทางน้ำ ทางบกเข้าได้ที่ ซอยจรัญสนิทวงศ์ ๓๒ หรือซอยวัดสุวรรณารามฯ ตรงข้ามบางขุนนนท์ ส่วนทาง น้ำ สามารถล่องเรือเข้ามาทางปากคลองบางกอกน้อยและขึ้นที่ท่าวัดสุวรรณารามฯ หรือหน้าสำนักงานเขตบางกอกน้อย ชุมชนบ้านบุในอดีตอยู่ที่ย่านวังไชย กรุงศรีอยุธยา ราชธานีเก่าของไทย ดังคำกล่าวที่ว่า “ย่านวังไชย มีช่างทำขันทองเหลืองใหญ่น้อย และมีร้านขายของสดเช้า - เย็น” (สัมผัสย้อนเวลา….เที่ยว “ตลาดย่านการค้า” ครั้งกรุงเก่า, ๒๕๕๒) ปัจจุบันคาดว่าย่านวังไชยตั้งอยู่ที่ ถนนอู่ทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
          บรรพบุรุษของชาวบ้านบุในปัจจุบัน เป็นชาวกรุงศรีอยุธยาที่อพยพมาตั้งหมู่บ้านในราชธานีใหม่ ภายหลังจากเสียกรุงเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๐ ชุมชนบ้านบุจึงสืบเชื้อสายต่อเนื่องจากอยุธยา มาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยชาวบ้านได้พยายามรวมกลุ่มประกอบอาชีพเดิมที่เคยทำในสมัยอยุธยา เช่น ชุมชนบ้านดอกไฟ รวมกลุ่มกันทำดอกไม้ไฟ ชุมชนบ้านช่างหล่อ รวมกลุ่มกันหล่อพระพุทธรูป ชุมชนบ้านขมิ้น รวมกลุ่มกันทำผงขมิ้น ชุมชนตรอกข้าวเม่า รวมกลุ่มกันทำข้าวเม่า เป็นต้น ในปัจจุบันเหลือเพียงบางชุมชนที่ยังยึดอาชีพเดิม หนึ่งในนั้นได้แก่ ชุมชนบ้านบุ ซึ่งประกอบอาชีพทำ “ขันลงหิน” ชาวชุมชนบ้านบุได้เลือกสถานที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณนอกคูเมืองราชธานีหรือบริเวณปากคลองบางกอกน้อยในปัจจุบันโดยมีวัดสุวรรณาราม วรวิหารหรือวัดทองและวัดอมรินทรารามวรวิหารหรือวัดบางหว้าเป็นศูนย์กลางของชุมชน โดย ชาวบ้านบุจะใช้แพในการอพยพเคลื่อนย้าย ในระยะแรกๆ ชาวบ้านนิยมอาศัยอยู่บนแพและสร้างเป็นที่พักอาศัยถาวรในเวลาต่อมา

๑. ลักษณะของขันลงหินบ้านบุ
         ในการศึกษาลักษณะของขันลงหินบ้านบุจำเป็นต้องทราบความหมายของคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับขันลงหินบ้านบุก่อน จึงจะสามารถเข้าใจลักษณะของขันลงหินบ้านบุได้อย่างลึกซึ้งและเข้าใจ
พจนานุกรมฉบับมติชน (๒๕๔๗) ได้ให้คำนิยามต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับขันลงหินบ้านบุไว้ ดังนี้
         ๑.๑ ขัน หมายถึง “ภาชนะสำหรับตักหรือใส่น้ำ โดยมากทำด้วยโลหะหรือพลาสติก” (น.๑๒๗)
         ๑.๒ ลงหิน หมายถึง “ซึ่งเนื่องมาจากการขัดด้วยหิน เช่น ขันลงหิน พานรองลงหิน เป็นต้น
ซึ่งภาชนะที่ผ่านการขัดเช่นนี้ ถือว่าเป็นภาชนะชั้นดี” (น.๗๖๑)        
         ๑.๓ ขันลงหิน หมายถึง “ขันทำจากโลหะและขัดด้วยหิน” (น.๑๒๗)
         ๑.๔ บุ หมายถึง “ตี ให้เข้าแบบ เช่น บุขัน” (น.๕๐๓)
         ดังนั้น ขันลงหินบ้านบุ จึงหมายถึง ภาชนะสำหรับตักหรือใส่น้ำชั้นดีที่คิดค้นโดยชาวชุมชนบ้านบุ ซึ่งทำจากโลหะและผ่านกระบวนการขัดด้วยหิน ตีให้เข้าแบบ และมีลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณะของชุมชนบ้านบุเอง

๒. ลักษณะของเนื้อขันลงหินบ้านบุ
         ขันลงหินบ้านบุใช้โลหะทองสำริด คือ โลหะผสมระหว่างทองแดงและดีบุก เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตขันลงหินบางครั้งจึงเรียกว่า เครื่องทองสำริด ในหนังสืองานศิลป์ถิ่นเมืองกรุง (กาธรเทพ กระต่ายทอง ๒๔๕๓, น. ๑๒๗) ได้กล่าวไว้ว่า “การนำทองสำริดมาตีแผ่ขึ้นรูปเป็นภาชนะคือ การที่ช่างเรียกว่าการบุ จึงเรียกภาชนะนั้นว่าเครื่องบุ” อีกทั้งในบางขั้นตอนของการผลิตขันลงหินบ้านบุมีการใช้หินขัดให้มีความมันวาวและมีความเงาเป็นสีทอง จึงทำให้บางครั้งเรียกภาชนะนี้ว่า เครื่องทองลงหิน ลักษณะของตัวเนื้อขันลงหินบ้านบุ มีความแข็ง เหนียว และทนทานมาก เมื่อเคาะจะมีเสียงดังกังวาน เมื่อใช้ใส่ข้าวสุกจะทำให้ไม่บูดง่าย เมื่อใส่น้ำเย็นจะทำให้เก็บความเย็นไว้ได้นานเนื่องจากมีการคิดค้นสัดส่วนของส่วนผสมวัตถุดิบที่เหมาะสม ซึ่งเนื้อของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมีลักษณะ ดังนี้
         ๑. ทองแดง “มีคุณสมบัติ อ่อนเหนียว ขยายตัวแยกตัวได้ดี เป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดี ทนต่อการกัดกร่อน” (คุณสมบัติของโลหะชนิดต่างๆ, ๒๕๕๖)
         ๒. ดีบุก “มีลักษณะเด่นคือมีความอ่อนตัวสูง มีความต้านทานต่อการกัดกร่อนสูงและมีคุณสมบัติด้านหล่อลื่นดี” (ดีบุก, ๒๕๕๙)
         ๓. สัมฤทธิ์ หรือ สำริด “เป็นโลหะผสมทองแดงชนิดหนึ่ง ที่มีคุณลักษณะแปรผันหลากหลาย...เป็นโลหะที่แข็งแรงและเหนียว” (สัมฤทธิ์, ๒๕๕๙)

๓. การผลิตขันลงหินบ้านบุ
          ในการผลิตขันลงหินบ้านบุต้องใช้วัตถุดิบและอุปกรณ์ ช่างฝีมือทางด้านโลหะสำริดที่มีความชำนาญ ความแม่นยำ และความประณีตอย่างสูง เนื่องจากในการผลิตขันลงหินจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญและความคุ้นเคย ในแต่ละขั้นตอนการผลิตที่บรรพบุรุษได้ถ่ายถอดสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน อีกทั้งต้องใช้ วัตถุดิบและอุปกรณ์ ที่มีคุณภาพในการผลิตด้วย
            ๓.๑ วัตถุดิบ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตขันลงหินบ้านบุ
                  การผลิตขันลงหินบ้านบุ จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบและอุปกรณ์ในการผลิตมากมาย หากขาดวัตถุดิบและอุปกรณ์ส่วนใดส่วนหนึ่ง จะทำให้ไม่สามารถได้ขันลงหินบ้านบุที่มีคุณภาพ และมีรูปร่างที่สวยงามได้ หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของนางวิมลศรี (เจียม) แสงสัจจา เจ้าของโรงงานขันลงหิน เจียม แสงสัจจา ได้รวบรวมวัตถุดิบ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตขันลงหินบ้านบุไว้ ดังนี้
               ๑.  ทองแดง                                          ๑๑.  เหล็กขัด                ๒๑.  กลาง
               ๒.  ดีบุก                                               ๑๒.  น้ำมันโซล่า            ๒๒.  ดินหม้อ
               ๓.  เศษสำริด                                         ๑๓.  พัด
               ๔.  เบ้าหลอม ทำจากดินและแกลบเผาไฟ     ๑๔.  ค้อนเช็ด                    
               ๕.  ถ่านไม้ซาก                                       ๑๕.  ค้อนเหล็ก
               ๖.  เตาเผา                                             ๑๖.  ค้อนนายช่าง
               ๗.  มอเตอร์ไฟฟ้าเป่าลม                           ๑๗.  ค้อนปอนด์
               ๘.  เหล็กเขี่ย                                         ๑๘.  ทั่งเหล็ก
               ๙.  ดินงัน                                              ๑๙.  อ่างน้ำ
               ๑๐.  คีม                                                ๒๐.  เครื่องเจียไฟฟ้า
         ๓.๒ ช่างที่ใช้ในการผลิตขันลงหินบ้านบุ
               การได้มาซึ่งขันลงหินของชาวชุมชนบ้านบุที่สมบูรณ์ ๑ ใบ ต้องใช้อุปกรณ์ในการผลิตมากมาย  และไม่สามารถผลิตได้ด้วยช่างเพียง ๑ - ๒ คน แต่จำเป็นต้องใช้ช่างฝีมือแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันในแต่ละขั้นตอน หนังสือภูมิปัญญาไทยในงานศิลป์ถิ่นเมืองกรุง (กาธรเทพ กระต่ายทอง ,๒๕๔๓,  น.๑๒๖) ได้จำแนกช่างขันลงหินบ้านบุ ตามขั้นตอนในการผลิตเป็น ๖ ประเภท ดังนี้
               ๑) ช่างตี                                  ๕) ช่างเจีย
               ๒) ช่างลาย                               ๖) ช่างขัด
               ๓) ช่างกลึง                               ๗) ช่างแกะลาย (เพิ่มขึ้นมาใหม่ อยู่ที่แปดริ้ว ฉะเชิงเทรา)
               ๔) ช่างกรอ                                                          
         ๓.๓ ขั้นตอนในการผลิตขันลงหินบ้านบุ
                การผลิตขันลงหินบ้านบุ มีขั้นตอน เฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านบุ ที่บรรพบุรุษของชาวชุมชนบ้านบุ ได้ถ่ายถอดสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน เว็บไซด์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (ขันลงหินบ้านบุ, ๒๕๕๙) ได้บอกถึงส่วนผสมที่ใช้ในการผลิตขันลงหินบ้านบุ ให้มีคุณภาพดี และสวยงามว่าจะต้องมีส่วนผสมของโลหะที่มีสัดส่วนเฉพาะ คือ ทองแดง ๗ ส่วน ดีบุก ๓ ส่วน เศษสำริด ๑ ส่วน และได้อธิบายขั้นตอนในการผลิตขันลงหินบ้านบุคร่าวๆ ดังนี้
                ๑) การตี หลอมส่วนผสมโลหะทั้งหมดในเบ้าหลอม เมื่อน้ำทองได้ที่ นำมาเทบนดินงันที่มีน้ำมันโซล่าหล่อไว้ ใช้พัด พัดให้น้ำทองแผ่กระจ่ายเต็มบล็อกดินงัน ทิ้งไว้สักครู่จนโลหะจับตัวแข็ง จะเรียกว่า ทองก้อน งัดออกมาตีให้เนื้อโลหะแผ่ขยายกว้างออก เมื่อโลหะเย็นลงจะมีสีดำ จะต้องนำไปเผาไฟให้สุกแดงแล้วนำมาตีแผ่ใหม่ไปเรื่อยๆ สลับกันไปจนกว่าจะได้ขนาดตามปริมาณเนื้อโลหะ แล้วตีขึ้นรูปเป็นภาชนะตามที่ต้องการ สุดท้ายนำไปเผาไฟให้สุกแดงอีกทีแล้วโยนลงน้ำให้เย็นลงแบบรวดเร็ว จะได้เนื้อโลหะที่แข็งแกร่งขึ้น (อนุชา : ประธานสภาวัฒนธรรมเขตบางกอกน้อย)
               ๒) การลาย เป็นการตีลายขันบนกระล่อน (แท่งเหล็ก) ตีให้ผิวเนื้อโลหะมีความตึงแน่น และเป็นการแต่งให้งดงาม
               ๓) การกลึง ทาชันติดขันเข้ากับหน้าภมร (แกนหมุน) ใช้เหล็กกลึงจนเห็นสีผิวทองสุกปลั่ง
               ๔) การกรอ แต่งขอบปากขันให้กลมด้วยเครื่องกรอไฟฟ้า (ประยุกต์เครื่องมือขึ้นใหม่)
               ๕) การเจียร ใช้เครื่องเจียรไฟฟ้าตกแต่งรอยบนผิวขัน (สมัยก่อนไม่มี)
               ๖) การขัด ขัดขันด้วยน้ำยาขัดเงาและมอเตอร์ลูกผ้าปั่นจนเงางดงาม (สมัยก่อนใช้หินละเอียดผสมน้ำห่อผ้าคลึงขัดลบรอยต่างๆ ขั้นตอนนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า “ลงหิน”)
                จะเห็นได้ว่าการผลิตขันลงหินบ้านบุ ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากจะต้องผ่านกระบวนการผลิต ที่ซับซ้อน และยากลำบาก หากช่างที่ผลิตไม่ใช่ช่างฝีมือที่ชำนาญการเฉพาะด้าน ไม่มีประสบการณ์ ในการผลิตขันลงหิน จะทำให้ขันลงหินที่ผลิตออกมาขาดความสวยงาม และไม่มีคุณภาพ

ขันลงหินบ้านบุ เป็นผลิตภัณฑ์ที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งสามารถสรุปเป็นคุณค่าในด้านต่างๆ ดังนี้
         ๑. คุณค่าในชิ้นงาน ในการผลิตขันลงหินบ้านบุแสดงให้เห็นคุณค่าเชิงช่างหลายประการ เช่น สติปัญญา และความคิดเชิงสร้างสรรค์ของช่างผู้ผลิต การคิดค้นส่วนผสมของวัตถุดิบหลักระหว่างทองแดงกับดีบุกที่มีสัดส่วนที่เหมาะสม ตัวเนื้อขันลงหินบ้านบุ จึงมีความแข็ง เหนียว และทนทานมาก เมื่อเคาะจะมีเสียงดังกังวาน เป็นต้น
         ๒. คุณค่าในภูมิปัญญาการผลิต การผลิตขันลงหินบ้านบุ ต้องอาศัยฝีมือช่างที่มีประสบการณ์ และมีใจรักในงานด้านนี้ เนื่องจากทุกขั้นตอนส่วนใหญ่ยังคงต้องใช้การทำมือ จึงจะทำให้ชิ้นงานมีคุณภาพ
          ๓. คุณค่าในการสืบทอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาการผลิตขันลงหินบ้านบุ เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่เป็นประดิษฐ์กรรมทางวัฒนธรรมที่คนในชุมชนสร้างสรรค์ สืบทอดด้วยการเรียนรู้จากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งเพื่อเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิต ปฏิสัมพันธ์ทางด้านสังคมซึ่งเป็นการแสดงถึงความเป็นกลุ่มสังคมเดียวกัน เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ขันลงหินบ้านบุจึงเป็นวัตถุทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านบุ ด้วยภูมิปัญญาที่ผ่านการสืบทอดมายาวนาน ผ่านกระบวนการถ่ายทอด และเรียนรู้ทางวัฒนธรรม โดยการสังเกต และลงมือทำ


ขันลงหินบ้านบุ


ส่วนผสมของขันลงหิน ได้แก่ ทองแดง ๗ ส่วน ดีบุก ๒ ส่วน  + เศษขันเก่า


เบ้าหลอมทอง ทำจากดินเหนียวผสมขี้เถ้าแกลบ ที่นายช่างต้องปั้นเอง


เตาเผาทองจะมีท่อลมฝังไว้ด้านล่างเพื่อเร่งไฟ สมัยก่อนจะใช้ลูกสูบ ปัจจุบันใช้เครื่องเป่าลม


ถ่านที่ใช้เผาทอง ต้องใช้ถ่านที่เผาจากไม้ซากจะให้ความร้อนที่แรง และไม่มีขี้เถ้าฟุ้งกระจาย


ดินงัน เอาไว้เทน้ำทองที่หลอมแล้วลงไป โดยต้องเทน้ำมันโซล่าลงไปหล่อเลี้ยง
เพื่อให้น้ำทองเต็มบล็อกและมีเนื้อเงางามเมื่อกลึงผิวไฟออกแล้ว


คีม สำหรับคีบจับ มีหลายขนาดตามวัตถุประสงค์ที่ใช้


ตัวอย่างค้อนที่ใช้สำหรับตีโลหะให้บาง โดยค้อนหน้ายาวเป็นของนายช่างใช้จับด้วยมือเดียว เพราะอีกมือต้องใช้คีมจับโลหะขันลงหิน ส่วนค้อนปอนด์จะเป็นของลูกมือ (ลูกสูบ) มีหลายขนาดขึ้นอยู่กับขนาดของขันที่จะตี


เหล็กวัดขนาดความกว้างของรัศมีโลหะที่ตีแผ่ก่อนที่จะขึ้นรูป



 
ภาพขั้นตอนการตีขันลงหิน




กระล่อน (แท่งเหล็ก) อุปกรณ์ที่ใช้ในการลายขัน คือ การตีให้ผิวเนื้อโลหะมีความตึงแน่น และเป็นการแต่งให้งดงาม


ชันผสมไขมันเนื้อ เคี่ยวให้เหนียวสำหรับติดตรึงที่ขันโลหะกับแกนภมร


ภมร อุปกรณ์การกลึง


ขั้นตอนการกลึง


การกรอ


ขันที่ผ่านการกรอแล้วจะมีผิวที่เงางาม

แหล่งที่มาของข้อมูล :
กาธรเทพ กระต่ายทอง. (๒๕๔๓). ภูมิปัญญาไทยในงานศิลป์ ถิ่นเมืองกรุง. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง.
จริยา แสงสัจจา. (๒๕๔๒). ขันลงหิน. กรุงเทพฯ ม.ป.พ. (จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพของ
    นางวิมลศรี (เจียม) แสงสัจจา
Http://www.waida-steel.com/articles/๑๑๙๘๑๒/คุณสมบัติของโลหะชนิดต่าง ๆ .htm
ศุภศรุต พงศาชลากร. (๙ สิงหาคม ๒๕๕๒) สัมผัสย้อนเวลา....เที่ยว ตลาด-ย่านการค้าครั้งกรุงเก่า
สานักงานเขตบางกอกน้อย. (๒๕๕๒). หนังสือแนะนาเขตบางกอกน้อย โฟกัสบางกอกน้อย”.
    กรุงเทพฯ: ม.ป.พ.
สำนักพจนานุกรมมติชน. (๒๕๔๗). พจนานุกรมฉบับมติชน/.กรุงเทพฯ : มติชน
จิติมา เสือทอง และคณะ. (๒๕๕๔). รายงานการวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และตรา
    สัญลักษณ์สู่ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ขันลงหินชุมชนบ้านบุ เขตบางกอกน้อย
    กรุงเทพมหานคร. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
แพรวพรรณ ฉ่ำรัศมี. (๒๕๕๕). การศึกษากระบวนการผลิตเครื่องทองลงหินและการถ่ายทอดภูมิปัญญาการ
    ทำเครื่องทองลงหิน ชุมชนบ้านบุ กรุงเทพมหานคร.
ปริญญานิพนธ์ของคุณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ศุภธัช คุ้มครอง. (๒๕๕๘). ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำขันลงหินบ้านบุ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
กระทรวงวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๙,
    จาก http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/traditional-craftsmanship/246 metal/386--m-s
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์. (๒๕๓๘). ขันลงหิน.ใน ๘๐ ปี เขตบางกอกน้อย. (น.๕๒-๕๓). กรุงเทพฯ: ดี แอล เอส

บุคคลอ้างอิง :
๑. นายอนุชา  เกื้อจรูญ ประธานสภาวัฒนธรรมเขตบางกอกน้อย
๒. นางเมตตา  เสลานนท์ ผู้สืบทอดกิจการ "บ้านเจียม แสงสัจจา"
๓. นายโตมร  เสลานนท์ ผู้สืบทอดกิจการ "บ้านเจียม แสงสัจจา"
 
กระโดดเชือก
เผยแพร่ข้อมูล : วันศุกร์ที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑
ชื่อรายการ : กระโดดเชือก
สาขา : การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว
พื้นที่ปฏิบัติ : มีการปฏิบัติ มีการเล่นกระโดดเชือก กระจายทั่วประเทศ ทุกภูมิภาค ทุกจังหวัด มีการเล่นสืบเนื่องมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลโดยสังเขป : 
          
กระโดดเชือก เป็นกีฬาพื้นบ้านไทยที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน พบว่าอย่างน้อยในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้มีการเล่นแข่งขันกระโดดเชือกในงานกรีฑานักเรียนประจำปีของจังหวัดต่างๆ กระโดดเชือกเป็นกีฬาพื้นบ้านไทยที่ใช้ภูมิปัญญาจากการดัดแปลงวัสดุที่หาได้ในครัวเรือนมาเล่นผ่อนคลายความเครียดจากงานประจำ 
         ลักษณะสำคัญของกระโดดเชือกคือ เป็นการเล่นที่แกว่งเชือกไปพร้อมกับกระโดดให้ข้ามเชือกที่แกว่ง
มีการเล่นทั้งแบบคนเดียว แบบคู่ และแบบหมู่ เป็นการเล่นที่ฝึกการเคลื่อนไหวของแขนขาและประสาทสัมผัส (game of motor - sensory skills) นอกจากความสนุกสนานในการเล่นแล้ว ยังมีคุณค่าในการเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายทั้งระบบกระดูก กล้ามเนื้อ หัวใจ และปอด เพราะกระโดดเชือกถือเป็นการออกกำลังกายที่ใช้ทุกส่วนของร่างกายในการเคลื่อนไหวคล้ายกับการวิ่ง แต่ใช้พื้นที่น้อยกว่า กระโดดเชือกสามารถเล่นได้
ทุกเวลา ทุกโอกาส เช่น เล่นในยามว่าง ในงานรื่นเริง ในงานเทศกาลต่างๆ สามารถเล่นได้ทุกเพศ ทุกวัย และเล่นได้ทุกฤดูกาล
          ที่สำคัญเหนืออื่นใดก็คือกระโดดเชือก เป็นกีฬาพื้นบ้านที่นิยมเล่นกันทุกระดับชนชั้น พบหลักฐานว่าพระราชวงศ์ในพระมหากษัตริย์ไทยก็ทรงโปรดการเล่นกระโดดเชือกด้วย ดังเช่น ในหลวงรัชกาลที่ ๘
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยยังทรงพระเยาว์เรียนอยู่ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย (ราวปี พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๔) ทรงโปรดเล่นเกมวิ่งเปี้ยวและกระโดดเชือกเป็นที่สุด
(ซิสเตอร์บุญประจักร ทรรทานนท์, ๒๕๕๐:คำนิยม) และยังปรากฏหลักฐานเป็นรูปถ่ายของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ในสมัยยังทรงพระเยาว์ก็ทรงโปรดออกกำลังกายด้วยการกระโดดเชือกด้วย
          
กระโดดเชือกเป็นกีฬาพื้นเมืองที่เล่นสืบเนื่องมาแต่โบราณ เป็นกีฬาที่เล่นกันโดยทั่วไปแทบทุกจังหวัดในภาคกลางสมัยก่อน  เช่น  กรุงเทพฯ  ธนบุรี  นครปฐม  นนทบุรี  และยังเป็นที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายในภาคต่าง ๆ ด้วย เพราะมีพืชที่ใช้ทำเชือกป่าน เชือกปออยู่มากมาย หรือวัสดุจากธรรมชาติจำพวกเถาวัลย์ หรือเถาตำลึง ประกอบกับมีกิจกรรมที่ต้องใช้เชือกในชีวิตประจำวันมากมายหลากหลายชนิด เช่น ใช้เชือกมัดสิ่งของ ลากจูงสิ่งของ ผูกล่ามเรือ ผูกล่ามสัตว์เลี้ยง คล้องม้า คล้องช้าง เป็นต้น และในชีวิตประจำวันต้องมีการกระโดดข้ามเชือกที่ผูกโยงเรือ ผูกสัตว์เลี้ยง เพื่อหลบหลีกไม่ให้สะดุดเชือกหกล้ม ในสมัยก่อนชาวบ้านในกรุงเทพฯ นิยมเล่นกระโดดเชือกแข่งขันกันในงานนักขัตฤกษ์และงานรื่นเริงต่าง ๆ ใช้กระโดดเชือกในการฝึกความแข็งแกร่งทางร่างกายของมวยไทย นอกจากนี้ยังนิยมเล่นเป็นการออกกำลังกายในเวลาว่างอีกด้วย ต่อมาได้มีการพัฒนาดัดแปลงอุปกรณ์และท่าทางในการเล่นให้มีความทันสมัยและหลากหลายเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน เช่น ท่านั่งกบ เป็นต้น ทั้งนี้ สาเหตุที่การละเล่นพื้นบ้านในหลายๆ ประเทศมีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกันนั้น ไม่ได้เกิดจากการลอกเลียนแบบ แต่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นหรือพัฒนาขึ้นเพื่อสนองความต้องการของช่วงวัยนั้นๆ
         ในสมัยโบราณกีฬากระโดดเชือกมีการเล่นอยู่ ๒ วิธี คือ กระโดดเชือกเดี่ยว และกระโดดเชือกหมู่ (ขุนวิทยวุฒิ,  ๒๔๖๗ :  ๑) จากหลักฐานพบว่ามีการแข่งขันวิ่งกระโดดเชือกเดี่ยวเป็นระยะทาง ๔๐๐ เมตร  ในการแข่งขันกีฬาของกระทรวงธรรมการ ใน พ.ศ. ๒๔๗๒ (ประกาศของกรรมการจัดการกีฬาของกระทรวงธรรมการ ประจำปี ๒๔๗๒, ๒๔๗๒) และมีการแข่งขันวิ่งกระโดดเชือกหมู่ (หมู่ละ ๕ คน ให้เป็นคนถือเชือก ๒ คน กระโดด ๓ คน โดยใช้เชือกยาว ๖ เมตร นับครั้งกระโดดเป็นเกณฑ์) ในการแข่งขันกีฬานักเรียนของมณฑลนครศรีธรรมราช พ.ศ. ๒๔๗๕ (กำหนดการแข่งขันกรีฑานักเรียนมณฑลนครศรีธรรมราช พ.ศ. ๒๔๗๕,  ๒๔๗๕) ต่อมามีการเล่นกระโดดเชือกเป็นคู่เพิ่มขึ้น และกระโดดเชือกพลิกแพลงท่าต่าง ๆ และวิธีกระโดดหลากหลายแบบมากขึ้น
          ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ รองศาสตราจารย์ ชัชชัย โกมารทัต ผู้ค้นคว้าวิจัย ได้ผลักดันให้มีการส่งเสริมฟื้นฟูการกระโดดเชือกอย่างไทยขึ้นมาใหม่ ได้จัดให้มีการแข่งขันกระโดดเชือกหมู่ ในกีฬาภายในของบุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีทั้งทีมหญิงและชายจากคณะต่างๆ ส่งเข้าร่วมแข่งขันรวมกันมากถึง ๓๐ - ๔๐ ทีมเป็นประจำ มีจำนวนผู้เล่นรวมกันถึง ๓๐๐ - ๔๐๐ คนมากกว่ากีฬาชนิดอื่น ๆ เป็นต้น
          พ.ศ. ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน โครงการกระโดดเชือกทางเลือกเยาวชนพ้นโรคหัวใจ (Jump Rope for Heart of Thailand) มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นผู้นำในการรณรงค์ส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนหันมาออกกำลังกายด้วยการเล่นกีฬากระโดดเชือก เนื่องจากเป็นกีฬาที่เล่นง่าย ใช้พื้นที่น้อย อุปกรณ์น้อย และเกิดประโยชน์ในการสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย สร้างความแข็งแรงให้หัวใจซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญยิ่งของร่างกาย และยังเป็นการป้องกันโรคหัวใจได้ดีอีกด้วย โดยได้จัดให้มีการอบรมฝึกสอนการเล่นกระโดดเชือกอย่างถูกวิธี พัฒนารูปแบบวิธีการเล่นกระโดดเชือกแบบไทยให้มีความหลากหลายมากขึ้น จัดให้มีการแข่งขันกีฬากระโดดเชือกตลอดทั้งปี กระจายไปในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีชมรมสมาชิกกระโดดเชือกกระจายในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และยังจัดให้มีการแข่งขันกีฬากระโดดเชือกชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมราชินีนารถเป็นประจำทุกปีอีกด้วย กีฬากระโดดเชือกจึงยังเป็นที่นิยมเล่นกันอยู่ทั่วไปทั้งผู้ใหญ่และเด็ก  ผู้ใหญ่มักเล่นกระโดดเชือกเพื่อเป็นการออกกำลังกาย  ส่วนเด็กเล่นเป็นการสนุกสนาน

        การกระโดดเชือกถือเป็นวัฒนธรรมร่วมของหลายๆ ประเทศ เพียงแต่มีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน โดยในประเทศไทยจากการศึกษาและสืบค้นพบว่ามีรูปแบบการเล่นสำหรับการแข่งขันที่เป็นเอกลักษณ์และไม่ปรากฏการเล่นลักษณะนี้ในประเทศอื่น คือการแข่งขันวิ่งกระโดดเชือก ระยะทาง ๔ x ๑๐๐ เมตร และการแข่งขันกระโดดเชือกประเภททีม ที่มีลักษณะการเล่นโดยการเข้ากระโดดทีละคนหมุนเวียนเป็นเลขแปดอารบิก ซึ่งสามารถสรุปอัตลักษณ์ของกระโดดเชือกได้ ดังนี้   
         ๑. อัตลักษณ์ของกระโดดเชือก
             ๑.๑ เป็นการใช้วัสดุตามธรรมชาติและวัสดุที่ใช้ในชีวิตประจำวันในท้องถิ่นไทย ผสมผสานกับทักษะการกระโดดเพื่อความปลอดภัยในชีวิตประจำวันมาดัดแปลงเล่นเป็นกีฬา ประเทศไทยในอดีตเป็นประเทศเกษตรกรรม มีพืชที่ใช้ทำเชือกป่าน เชือกปออยู่มากมาย และมีกิจกรรมที่ต้องใช้เชือกในชีวิตประจำวันมากมายหลากหลายชนิด และในชีวิตประจำวันต้องมีการกระโดดข้ามเชือกที่ผูกโยงเรือ ผูกสัตว์เลี้ยง เพื่อหลบหลีกไม่ให้สะดุดเชือกหกล้ม คนไทยเรียนรู้การนำเชือกป่าน ปอ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ที่มีขนาดพอเหมาะและใช้ทักษะการกระโดดข้ามเชือกในชีวิตประจำวัน เอาตัวรอดให้เกิดความปลอดภัย มาใช้ในการเล่นสนุกสนาน ออกกำลังกายพัฒนาเป็นกีฬาพื้นบ้าน จึงเป็นการแสดงลักษณะเฉพาะตามวิถีชีวิตแบบไทย นอกจากนี้ ยังใช้วัสดุจำพวกเถาวัลย์ หรือเถาตำลึง มาเป็นวัตถุดิบในการทำเชือกสำหรับกระโดดอีกด้วย
             ๑.๒ เป็นวัฒนธรรมการฝึกซ้อมมวยไทยที่โดดเด่น วิธีการฝึกกระโดดเชือกเพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งทางร่างกาย ที่ใช้ในการฝึกซ้อมมวยไทย มีประวัติยาวนานคู่กับความเป็นไทย กระโดดเชือกจึงเป็นวัฒนธรรมการฝึกซ้อมมวยไทยที่โดดเด่นของไทยรูปแบบหนึ่ง
             ๑.๓ รูปแบบการเล่นกระโดดเชือกหมู่ มีลักษณะเฉพาะเป็นอัตลักษณ์เฉพาะแบบไทย รูปแบบการเล่นกระโดดเชือกหมู่ที่วิ่งเข้ากระโดดเชือกทีละคนจนครบทีมแล้ววิ่งวนเข้ากระโดดใหม่เป็นเลขแปด ไม่ค่อยเห็นวิธีการเล่นแบบนี้ในประเทศอื่น จึงจัดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะแบบไทย
         ๒. ประเภท
              ๒.๑ การเล่นกระโดดเชือกเดี่ยว  
                             ๑) ผู้เล่นแต่ละคนผลัดกันกระโดดเชือก โดยผู้เล่นถือปลายเชือกด้วยมือไว้ข้างละมือ งอศอกเล็กน้อย ให้กลางเชือกห้อยอยู่ข้างหลัง แล้วแกว่งเชือกให้ข้ามศีรษะจากหลังมาหน้า เมื่อกลางเชือกตกกระทบพื้นให้กระโดดขึ้นเพื่อให้เชือกลอดใต้เท้าไปทางด้านหลัง และเหวี่ยงข้ามศีรษะตามแรงเหวี่ยงของเชือกมาด้านหน้าใหม่
ทำเช่นนี้ต่อเนื่องเรื่อยไป
                             ๒) ผู้เล่นคนใดกระโดดได้จำนวนครั้งมากที่สุดโดยเชือกไม่ติดจะเป็นผู้ชนะ หรืออาจตกลงกันว่าภายในเวลาที่กำหนดผู้เล่นคนใดกระโดดได้จำนวนครั้งมากที่สุด เป็นผู้ชนะก็ได้ การกระโดดเชือกโดยไม่ติดนั้นหมายความว่าในการกระโดดเชือกจะต้องแกว่งข้ามศีรษะลงมาเท้าต่อเนื่องโดยตลอด ถ้าเชือกสะดุดหรือติดเท้า หรืออวัยวะร่างกายส่วนต่างๆ จนต้องเริ่มแกว่งเชือกเพื่อกระโดดใหม่ จะถือว่าเป็นการกระโดดติด ส่วนจำนวนครั้งหมายความถึงการแกว่งเชือกข้ามศีรษะ และกระโดดข้ามเชือกได้ครั้งหนึ่งจะนับเป็นหนึ่งครั้ง
               ๒.๒ การเล่นกระโดดเชือกคู่
                     ๑) ให้ผู้เล่นคนหนึ่งกระโดดเชือกตามวิธีการเล่นกระโดดเชือกเดี่ยว แต่มีผู้เล่นอีกหนึ่งคนอยู่นอกเชือก แล้วคอยหาจังหวะเข้าไปกระโดดร่วมกับผู้เล่นที่กระโดดเชือกอยู่ก่อน ภายใต้เชือกเส้นเดียวกัน ซึ่งจะมีวิธีเล่นพลิกแพลงตามความสามารถของผู้เล่น เช่น กระโดดคู่กันอยู่ข้างหน้า กระโดดคู่กันด้านข้าง กระโดดซ้อนกันอยู่ข้างหลัง กระโดดวนรอบกันเป็นวง เป็นต้น
                     ๒) หากมีการกระโดดติดจะถือว่าตาย ต้องผลัดให้คนอื่นเข้ามาร่วมเล่นเป็นคู่บ้าง หรือผลัดคู่กันเล่น เป็นต้น คู่ใดกระโดดได้พร้อมเพียง ทำท่ากระโดดได้สวยงาม ทำได้หลายท่า กระโดดได้นาน จนเพื่อนยอมรับ จะถือว่าเป็นฝ่ายชนะ ปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นการให้คะแนนการกระโดด คู่ใดได้คะแนนมากกว่าจะเป็นผู้ชนะ
               ๒.๓  การเล่นกระโดดเชือกหมู่
                      ๑) ผู้เล่นทั้งหมดตกลงกันให้ผู้เล่น ๒ คน เป็นคนแกว่งเชือกก่อน โดยผู้เล่นแต่ละคนจะจับปลายเชือกคนละด้าน ยืนห่างกันพอให้กลางเชือกตกเรี่ยดิน ผู้เล่นคนอื่น ๆ ที่เหลือยืนอยู่นอกแนวแกว่งเชือกด้านหนึ่ง
                      ๒) เริ่มเล่นโดยให้ผู้ถือเชือกทั้งสองแกว่งเชือกขึ้นลงกลางเชือกจะแกว่งขึ้นด้านหนึ่ง และลงเฉียดพื้นอีกด้านหนึ่งเป็นรูปวงกลมเรื่อยไป ผู้เล่นคนอื่นๆ จะยืนอยู่ทางด้านที่เชือกแกว่งลงพื้น พอเห็นเชือกแกว่งดีแล้ว ผู้เล่นแต่ละคนจะหาโอกาสวิ่งเข้าไปในแนวที่เชือกแกว่งเป็นวงกลมตรงบริเวณที่กลางเชือกกระทบหรือเฉียดพื้นแล้วกระโดดข้ามเชือกเมื่อเชือกลงสู่พื้น กระโดดเรื่อยไปจากนั้นคนอื่นๆ ก็วิ่งเข้ามากระโดดต่อกันเป็นแถวยาวผู้ใดกระโดดได้ครบ ๑๐ ครั้งแล้ว หรือตามแต่จะตกลงกันว่ากระโดดกี่ครั้ง เมื่อครบแล้วก็วิ่งออกจากแนวที่เชือกแกว่งโดยวิ่งออกทางด้านที่เชือกขึ้นจากพื้น สลับกันเช่นนี้เรื่อยไป
                      ๓) ผู้เล่นคนใดกระโดดติดจะถือว่าแพ้ ต้องเปลี่ยนไปเป็นคนแกว่งเชือก และให้คนแกว่งเชือกมากระโดดข้ามเชือกบ้าง ผู้เล่นคนใดกระโดดติดมากครั้งกว่าคนอื่นจะถือว่าแพ้ในการเล่นครั้งนั้น ส่วนผู้เล่นที่ไม่เคยกระโดดติดเลย หรือกระโดดติดน้อยที่สุด จะถือว่าเป็นผู้ชนะ
                      ๔) การแข่งขันอาจเปลี่ยนวิธีการเล่นให้ยากขึ้นได้ตามแต่จะตกลงกัน เช่น การเล่นแบบให้ผู้เล่นวิ่งเข้ากระโดดพร้อมๆ กันทั้งทีม แล้วกระโดดพร้อมๆ กันทั้งทีมจนกว่าจะมีใครกระโดดติด ก็จะถือว่าตายทั้งทีม ทีมใดกระโดดได้จำนวนครั้งมากกว่าจะเป็นทีมชนะ หรือการเล่นแบบให้ผู้เล่นวิ่งเข้ากระโดดเชือกทีละคนต่อเนื่องกันไปแล้ววิ่งอ้อมวนกลับมากระโดดใหม่เป็นเลขแปดอารบิค เรียกว่าการกระโดดเชือกทีมวนเลขแปด ภายในเวลาที่กะลาเจาะรูลอยน้ำจมลงหรือในเวลาที่กำหนด ทีมใดกระโดดได้มากครั้งกว่าจะเป็นผู้ชนะเป็นต้น

คุณค่า
             ๑. ทางร่างกาย การกระโดดเชือกถือว่าเป็นการออกกำลังกายที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะทุกส่วนของร่างกายได้เคลื่อนไหวคล้ายกับการวิ่ง โดยเฉพาะขาและเท้าได้ออกกำลังมากในการสปริงตัวกระโดดขึ้นแต่ละครั้ง ส่วนแขนก็ได้เคลื่อนไหวในการแกว่งเชือกจะเป็นการกระโดดพร้อมกัน ๒ เท้า หรือทีละเท้าก็ตาม จึงเป็นการเสริมสร้างให้เกิดกำลัง ความแข็งแรง และความเร็ว การกระโดดติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อย ส่งเสริมให้เกิดความทนทานของกล้ามเนื้อและเพิ่มปริมาณการทำงานของระบบการหายใจและการไหลเวียนโลหิตให้ทำงานมากขึ้น เป็นการสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อหัวใจที่ดีวิธีหนึ่ง การกระโดดเชือกเป็นหมู่ ผู้เล่นที่มีหน้าที่แกว่งเชือกก็ได้ออกกำลังแขนด้วย
             ๒. ทางจิตใจ การกระโดดเชือกทั้งสองแบบผู้เล่นจะต้องมีความกล้าในการกระโดดข้ามเชือกที่เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา กล้าในการตัดสินใจ กล้าแสดงออกซึ่งความสามารถของตนเอง และช่วยฝึกจิตใจให้รู้จักอดทนต่อความเหน็ดเหนื่อย นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้เล่นมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้นด้วย การได้ออกกำลังกระโดดเชือก จะทำให้จิตใจสดชื่น แจ่มใส สร้างกำลังใจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
              ๓. ทางอารมณ์ การกระโดดเป็นการเล่นสนุกสนานทั่วไปยิ่งมีการแข่งขันกัน  ทั้งในการแข่งขันเดี่ยวและเป็นหมู่ ผู้เล่นยิ่งมีความสนุกสนาน ตื่นเต้นมากขึ้น ช่วยส่งเสริมให้อารมณ์แจ่มใส เพลิดเพลิน หากเล่นไม่ดี เช่น ผู้เล่นกระโดดได้ไม่คล่องตัว ติดขัดบ่อย ๆ ทั้งตัวเองหรือเพื่อนร่วมทีม ต้องรู้จักการควบคุมอารมณ์เพื่อควบคุมให้การเล่นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
             ๔. ทางสติปัญญา การกระโดดเชือกแต่ละครั้งผู้เล่นจะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับจังหวะ เวลา ว่าจะกระโดดตอนไหน เป็นการคิดคาดคะเนให้พอเหมาะ การควบคุมจังหวะแกว่งเชือกให้ได้คงที่สม่ำเสมอ ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการกระโดดและการลงสู่พื้นอย่างปลอดภัย ไม่เกิดแรงกระแทกที่เท้ามากเกินไป รู้วิธีผ่อนกำลังเพื่อใช้กำลังแต่น้อยในการกระโดดแต่ละครั้ง
             ๕. ทางสังคม การกระโดดเชือกเป็นหมู่หรือเป็นคู่ เป็นลักษณะของการทำงานร่วมกัน ซึ่งผู้เล่นจะต้องสามัคคี ทำให้เกิดความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกัน ส่งเสริมความรับผิดชอบในตัวเอง ส่งเสริมคุณลักษณะของผู้นำผู้ตามที่ดี และยอมรับในความสามารถ ความผิดพลาดของผู้อื่น








แหล่งที่มาของข้อมูล :

กรมพลศึกษา. (๒๔๘๐). กระทรวงธรรมการ. กีฬาพื้นเมือง. พระนคร : โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช.
กำหนดการแข่งขันกรีฑานักเรียนมณฑลนครศรีธรรมราช พ.ศ. ๒๔๗๕, ยื่นเสนอต่อกระทรวงธรรมการ วันที่ ๑๔ พ.ย. ๒๔๗๕, (ศธ. ๑๖/๔๙ กรีฑานักเรียน) กจช.
การนักขัตฤกษ์ตะรุษะสงกรานต์กรุงเก่า สำหรับวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๔๕๗, คัดจากสยามออบเซอร์เวอร์
    วันจันทร์ที่ ๖ เมษายน ๒๔๕๗. (ร. ๖ น. ๒๐.๙๘/๒๕ หนังสือพิมพ์:  เบ็ดเตล็ด). กจช.
ขุนวิทยวุฒิ. (๒๔๖๗). การเล่นของเด็กเล็ก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ.
ชัชชัย โกมารทัต และคณะ. (๒๕๒๗). กีฬาพื้นเมืองไทย :  ศึกษาและวิเคราะห์คุณค่าทางด้านพลศึกษา.  งานวิจัยทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ประกาศของกรรมการจัดการกีฬาของกระทรวงธรรมการ ประจำปี ๒๔๗๒ เรื่องกำหนดรุ่นมวยฝรั่ง และ
          ประเภทการแข่งขันกรีฑา. (ศธ. ๑๖/๓๕ กรีฑานักเรียน), กจช.

บุคคลอ้างอิง :
๑. มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
๒. รองศาสตราจารย์ชัชชัย โกมารทัต
 
ตำราดูลักษณะแมวของของสมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธสรมหาเถระ (นวม พุทฺธสโร) วัดอนงคาราม
 
เผยแพร่ข้อมูล : วันจันทร์ที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๑
 
ชื่อรายการ    ตำราดูลักษณะแมวของของสมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธสรมหาเถระ (นวม พุทฺธสโร) วัดอนงคาราม  
สาขา : วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา
พื้นที่ปฏิบัติ : วัดอนงคารามวรวิหาร เขตคลองสาน

สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยสังเขป
         ตำราดูลักษณะแมว ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธสรมหาเถระ (นวม พุทฺธสโร) วัดอนงคาราม เป็นตำราที่บันทึกลักษณะของแมวไทยพันธุ์โบราณที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) ท่านให้ความสนใจ และสั่งให้รวบรวมไว้ โดยคัดลอกไว้ในสมุดข่อยแบบโบราณ บางแห่งมีลายมือของท่านตรวจแก้ไว้ด้วย พร้อมทั้งให้จำลองภาพแมวชนิดต่าง ๆ ประกอบกับลักษณะที่บอกไว้ในตำรา
          ตำราดูลักษณะวิฬาร์ หรือที่เรียกว่า ตำราดูลักษณะแมว ที่ท่านศึกษาค้นคว้านั้น ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งและไม่ระบุปีที่แต่ง หรือปีที่คัดลอกบันทึกเรื่องราวไว้ แต่เมื่อพิจารณาจากรูปอักษร อักขรวิธี คำและสำนวนภาษาที่ใช้นั้น พบว่ามีอายุไม่เก่าเกินกว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
          ในตำราได้บันทึกถึงแมวไทยโบราณ ๒๓ ชนิด แต่งด้วยคำประพันธ์ชนิดโคลงสี่สุภาพ และกาพย์ฉบัง ๑๖ แบ่งเป็นแมวมงคล ๑๗ ชนิด และแมวให้โทษ ๖ ชนิด โดยบรรยายลักษณะรูปร่าง สีสันของแมวชนิดต่าง ๆ ในสองประเภทใหญ่ ลักษณะคุณของแมวดี และโทษของแมวร้าย อันจะเกิดแก่ผู้เลี้ยงหรือเจ้าของไว้ด้วย
          ปัจจุบันแมวสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ระบุในตำรากำลังสูญหายเป็นจำนวนมาก คงเหลือไว้ ๔ ชนิด ได้แก่ แมววิเชียรมาศ, แมวมาเลศ หรือสีดอกเลา ปัจจุบันเรียกว่า แมวไทยพันธุ์โคราช, แมวศุภลักษณ์ หรือทองแดง และแมวโกญจา
          ตำราดูลักษณะแมวของสมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธสรมหาเถระ (นวม พุทฺธสโร) วัดอนงคาราม จึงถือได้ว่าเป็นวรรณกรรมที่บันทึกคติความเชื่อ และความช่างสังเกตที่มีต่อสัตว์เลี้ยงของคนไทย เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ

ประวัติความเป็นมา : 
         คนไทยนิยมเลี้ยงแมวมาแต่โบราณ ทั้งยังมีความเชื่อว่าแมวที่มีลักษณะดีจะให้คุณแก่ผู้เลี้ยง  เป็นต้นว่า จะทำให้ผู้เลี้ยงมีโชคลาภ มีฐานะร่ำรวย ค้าขายได้กำไร เจริญยศศักดิ์สูงขึ้น เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป หรือได้รับสิ่งอันเป็นสิริมงคลนานัปการ ส่วนแมวที่มีลักษณะไม่ดีจะให้โทษแก่ผู้เลี้ยง คือ จะนำความทุกข์ ความเศร้าหมองมาให้ และมักเกิดสิ่งอัปมงคลต่าง ๆ ได้
         ความเชื่อเกี่ยวกับแมวนี้บรรพบุรุษของไทยได้จดบันทึกเรื่องราวไว้เป็นตำราเพื่อถ่ายทอดความรู้ ความเชื่อถือให้แพร่หลาย และสืบเนื่องต่อมาถึงอนุชนรุ่นหลัง ตำราแมวของไทยซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบันเท่าที่สำรวจพบ
ในเขตภาคกลาง เป็นการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับแมวเขียนลงใน “สมุดไทย” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “สมุดข่อย” ตำราเหล่านี้มีทั้งหนังสือสมุดไทยดำ และหนังสือสมุดไทยขาว ส่วนใหญ่มักเขียนภาพแมวแต่ละชนิดประกอบคำบรรยายไว้ด้วย ตำราแมวซึ่งเหลือเป็นหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้านั้น เกือบทั้งหมดไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งและไม่ระบุปีที่แต่ง หรือปีที่คัดลอกบันทึกเรื่องราวไว้ แต่เมื่อพิจารณาจากรูปอักษร อักขรวิธี คำและสำนวนภาษาที่ใช้ในหนังสือสมุดไทยเหล่านั้น พบว่ามีอายุไม่เก่าเกินกว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
         หนังสือสมุดไทยเรื่องตำราแมวที่หอสมุดแห่งชาติเก็บรักษาไว้ มีจำนวน ๑๖ เล่ม จัดอยู่ในเอกสารโบราณ หมวดสัตวศาสตร์ ๑๕ เล่ม และมีที่เขียนแทรกไว้ในเอกสารหมวดโหราศาสตร์ ๑ เล่ม เขียนบรรยายเนื้อความแบบสำนวนร้อยแก้ว จำนวน ๖ เล่ม และที่เขียนเป็นคำประพันธ์ร้อยกรองมี ๑๐ เล่ม โดยมี ๓ เล่ม ที่แต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ ซึ่งมีสำนวนตรงกับฉบับที่พิมพ์เผยแพร่ในชื่อ “ตำราดูลักษณะแมววัดอนงคาราม”
         นายปรีชา วัฒนา ผู้อนุรักษ์แมวไทยโบราณ ตั้งข้อสังเกตว่า ตำราแมวโบราณน่าจะมีการบันทึกมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยตำราดูลักษณะแมวฯ วัดอนงคาราม เคยเป็นสมบัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธสรมหาเถระ (นวม พุทฺธสโร) เจ้าอาวาสวัดอนงคาราม เมื่อสมเด็จฯ มรณภาพก็ได้มอบสมบัติชิ้นนี้ให้แก่หอสมุดแห่งชาติ นอกจากนี้ในสมัยรัตนโกสินทร์ยังได้มีวัดต่าง ๆ เขียนตำราดูลักษณะแมวขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น วัดท่าพูด วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดโพธิ์ ซึ่งทุกตำรามีเนื้อการอธิบายลักษณะแมวไทยโบราณที่ตรงกันทั้งหมด
ตำราดูลักษณะแมวของของสมเด็จพระพุฒาจารย์ฯ เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในตำราดูลักษณะแมว กวนข้าวทิพย์ - พิธีพิรุณศาสตร์ ของวัดอนงคาราม ซึ่งพิมพ์แจกจ่ายในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธสรมหาเถระ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส ในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๐๐
         เนื้อหาที่บันทึกไว้ในตำราแมว กล่าวถึงแมว ๒ ประเภทใหญ่ รวม ๒๓ ชนิด แบ่งเป็น แมวดี ๑๗ ชนิด และแมวร้าย ๖ ชนิด โดยบรรยายลักษณะรูปร่าง สีสันของแมวชนิดต่าง ๆ ในสองประเภทใหญ่นี้ พร้อมทั้งบอกคุณของแมวดี และโทษของแมวร้าย อันจะเกิดแก่ผู้เลี้ยงหรือเจ้าของไว้ด้วย
         แม้ว่าแมวไทยบางชนิดจะสูญพันธุ์ไป บางชนิดหาได้ยากในปัจจุบัน และบางชนิดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ก็กลายพันธุ์หรือมีลูกผสมใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายสายพันธุ์ แต่ความรู้และความเชื่อถือเกี่ยวกับแมวไทยโบราณ ก็ยังคงมีหลักฐานบันทึกอยู่ในตำราดูลักษณะแมวสืบทอดให้คนไทยรุ่นหลังได้รับรู้ และศึกษาค้นคว้าต่อไป

คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ : 
         ตำราดูลักษณะแมวของสมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธสรมหาเถระ (นวม พุทฺธสโร) วัดอนงคาราม เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านประเภทตำราดูลักษณะสัตว์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้
         ๑. คุณค่าด้านเนื้อหาสาระ ตำราเรื่องนี้ได้บันทึกความรู้ในด้านการดู และการกำหนดลักษณะ แมวไทยสายพันธ์โบราณชนิดต่าง ๆ ที่สะท้อนค่านิยมของสังคมไทยที่มีต่อสัตว์เลี้ยง นอกจากนิยมเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินแล้ว ยังมีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับยศถาบรรดาศักดิ์ ทรัพย์สินเงินทอง โชคลาภ ที่อาศัยลักษณะรูปพรรณสัณฐานของแมว เป็นตัวกำหนดความเป็นมงคล และไม่มงคลต่อผู้เลี้ยงด้วย
          ๒. คุณค่าทางเศรษฐกิจ แมวไทยเป็นสัตว์เลี้ยงที่ชาวต่างชาตินิยมซื้อขายไปเลี้ยง ตำราเรื่องนี้จึงมีคุณค่าในการสืบทอดองค์ความรู้เรื่องสายพันธุ์แมวไทยแท้ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศ แม้ในปัจจุบันจะเหลือแมวสายพันธุ์ไทยแท้เพียง ๔ ชนิด แต่ปัจจุบันกลุ่มอนุรักษ์แมวไทยสายพันธุ์โบราณยังคงมีความพยายามในการผสมพันธุ์แมว เพื่อให้ได้แมวที่มีลักษณะตรงตามที่บันทึกในตำรา เป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ


ตำราดูลักษณะแมว กวนข้าวทิพย์ - พิธีพิรุณศาสตร์ ของวัดอนงคาราม


สมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธสรมหาเถระ (นวม พุทฺธสโร) วัดอนงคาราม



























เอกสารอ้างอิง
จตุพร ศิริสัมพันธ์. (๒๕๔๒). แมว, ตำรา. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง (เล่มที่ ๑๑, น. ๕๒๘๖ -
        ๕๒๙๕). กรุงเทพ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
ตำราดูลักษณะแมว กวนข้าวทิพย์ - พิธีพิรุณศาสตร์ ของวัดอนงคาราม. (๒๕๐๐). กรุงเทพฯ. (คณะกรรมการ
        จัดงานพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธสรมหาเถระ (นวม พุทฺธสโร)
        ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส ๒๑ เมษายน ๒๕๐๐)
พงษ์พิสุทธิ์ ศรีสด. (๒๕๕๙). การออกแบบสื่ออัตลักษณ์แมวไทยเพื่อการเผยแพร่. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปะ
        มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, สาขาวิชาศิลปะการออกแบบ.
พระเทพรัตนโมลี. (๒๕๕๗). ชาตกาล ๑๕๐ ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสรมหาเถร). นนทบุรี: นิติธรรม
        การพิมพ์.
กรุงเทพธุรกิจ. (๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙). ชมรมอนุรักษ์แมวโคราช ยัน 'แมวโคราช' เป็นของไทย. สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๕
         สิงหาคม ๒๕๖๑, จาก http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/722142 กรุงเทพธุรกิจ
นวพรรณ ภัทรมูล. (๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘). อ่านตำราแมวไทย ฉบับ หมอเห ณ วัดท่าพูด ตอนที่ ๘ :
         แมวนิลจักร. สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๑, จาก http://www.sac.or.th/databases/
         inscriptions/blog_inside.php?id=16348
สมาคมแมวไทยโบราณนานาชาติ (TIMBA). ขั้นตอนการลงทะเบียนแมวไทยกับสมาคมทิมบา. สืบค้นเมื่อวันที่
         ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๑, จาก http://www.timba.org/registration-thai.html
อมรินทร์ทีวี. (๕ สิงหาคม ๒๕๖๑). รายการ แกะกล้า "ปรีชา วัฒนา" ผู้อนุรักษ์แมวไทยโบราณ. สืบค้นเมื่อวันที่
          ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๑, จาก https://www.youtube.com/watch?v=cEvxau3-0lQ
ทะแยมอญ
เผยแพร่ข้อมูล : วันจันทร์ที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๑
 
ชื่อรายการ    ตำราดูลักษณะแมวของของสมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธสรมหาเถระ (นวม พุทฺธสโร) วัดอนงคาราม  
สาขา : ศิลปะการแสดง
พื้นที่ปฏิบัติ : 
ชุมชนมอญบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร

สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยสังเขป : 
         
ทะแยมอญ เป็นชื่อที่คนไทยเรียกการแสดงอย่างหนึ่งของคนมอญ ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจากภาษามอญว่า “แตะเหยห์” หมายถึง การขับร้อง  
         ทะแยมอญเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านของชาวมอญที่มีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากย์ คือการร้องโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง คล้ายกับการเล่นเพลงลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ฯลฯ นักร้องฝ่ายชาย (แหม็ะแขวกนิฮ์เตราะฮ์) และนักร้องฝ่ายหญิง (แหม็ะแขวกนิฮ์แปรา) ร้องโต้ตอบกันเป็นคู่ ๆ พร้อมกับการร่ายรำประกอบเนื้อร้องเกี่ยวกับพุทธประวัติ นิทานชาดก และประวัติศาสตร์ นำมาผูกเป็นเรื่องราวขับร้องแทนการเล่า มีรูปแบบการแสดง ๓ ขั้นตอน คือ พิธีบูชาครู บทไหว้ครู และขับร้องโต้ตอบกันระหว่างชาย - หญิง ด้วยคำร้องนั้นซึ่งเดิมเป็นภาษามอญล้วน ๆ แต่ปัจจุบันได้มีการประยุกต์คำร้อง จึงมีทั้งที่เป็นภาษามอญ และที่เป็นภาษามอญปนไทย ซึ่งมักใช้กับทำนองเพลงสมัยใหม่ ปัจจุบันมีคณะแสดงอยู่คณะเดียวคือ “คณะหงส์ฟ้ารามัญ” มีนายกัลยา ปุงบางกระดี่ เป็นหัวหน้าวง
         วงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงเรียกว่า “วงโกรจยาม” ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ๕ ชิ้น คือ ซอ (โกร) จะเข้มอญ (จยาม) ขลุ่ย (อะโลด) เปิงมาง (ปุงตัง) และฉิ่ง (หะเดหรือคะเด) และเนื่องจากมีการประยุกต์ทำนองเพลงสมัยใหม่มาใช้ร้องจึงต้องเพิ่มซอด้วงทำทำนองอีก ๑ ชิ้น โดยปรับเสียงให้เข้ากับซอมอญ และยังเพิ่ม ฉาบเล็ก กรับ และกลองรำวง เป็นเครื่องประกอบจังหวะ
ทะแยมอญสามารถแสดงได้ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล เนื้อหาของคำร้องจึงแล้วแต่งานที่แสดง ซึ่งแฝงไว้ด้วยคำสอนทางพระพุทธศาสนา และการสอนแนวทางประพฤติ ปฏิบัติตามขนบจารีตของสังคม ตลอดจนเพื่อสร้างความรื่นเริงบันเทิงใจ

ประวัติความเป็นมา : 
        ๑. ประวัติความเป็นมาของชุมชน

            การตั้งถิ่นฐานของชาวมอญ บ้านบางกระดี่ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครนั้น ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนอย่างการอพยพของชาวมอญในชุมชนอื่น ๆ แต่สันนิษฐานได้ว่า ชาวมอญที่บ้านบางกระดี่ส่วนใหญ่ แพร่กระจายมาจากชุมชนมอญในจังหวัดสมุทรสาคร เพราะมีหลักฐานการตั้งชุมชนมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างป้อมและขุดคลองสุนัขหอน และโปรดฯ ให้ยกครัวมอญ ในเจ้าพระยามหาโยธา ไปทำมาหากินที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ ซึ่งพื้นที่ของชุมชนมอญที่มหาชัยและคลองสุนัขหอนเป็นเขตแดนต่อเนื่องกัน สามารถไปมาหาสู่กันได้โดยง่าย โดยอาศัยคลองสนามไชย (คลองบางกระดี่) เป็นเส้นทางสัญจรหลัก ประกอบกับชุมชนมอญดังกล่าวเป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่ ต่อมาเมื่อเกิดความแออัดขาดแคลนที่ทำมาหากิน จึงมีการขยับขยายเพื่อจับจองที่ทำกินยังแหล่งใหม่ ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์กว่า บางส่วนจึงอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บริเวณบ้านบางกระดี่ในปัจจุบัน
            หลักฐานที่สามารถอธิบายความเป็นมา และความเก่าแก่ของชุมชนมอญบางกระดี่ได้คือ สถาปัตยกรรม และสิ่งก่อสร้างภายในวัดบางกระดี่ ได้แก่ เจดีย์ พระพุทธรูป โดยจากการตรวจเทียบรูปแบบศิลปะ และยุคสมัย พบว่าได้รับอิทธิพลศิลปะจีนแบบราชนิยมสมัยรัชกาลที่ ๓ ถึงช่วงต้นรัชกาลที่ ๔ ทำให้สันนิษฐานว่ามีอายุในการตั้งชุมชนราว ๑๓๐ ปี นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อมโยงทางด้านสังคม และวัฒนธรรมที่มีความเหมือนกับชาวมอญที่จังหวัดสมุทรสาครหลายประการ เช่น ภาษา เครื่องแต่งกาย ผ้าสไบที่มีลวดลายและรูปแบบเฉพาะตัว เสื่อกกสาน เป็นต้น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวมอญทางจังหวัดสมุทรสาคร
         ๒. ประวัติความเป็นมาของทะแยมอญ
             “ทะแย” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความหมายว่า “ชื่อเพลงไทยโบราณทำนองหนึ่งใช้บรรเลงด้วยปี่ ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรากลองโยนก็เรียก” นอกจากนี้ ยังปรากฏในหนังสือประวัติและบทร้องเพลงไทยบางบท ซึ่งจัดพิมพ์โดยกรมศิลปากรด้วย
             คำว่า “ทะแยมอญ” สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากภาษามอญว่า “แตเหยห์โมน” โดยคำว่า “แตะเหยห์” แปลว่า “ร้อง” และคำว่า “ทเยห์” มีความหมายว่า “หม่นหรือโมน” แต่ในหมู่คนมอญจะมีคำเรียกศิลปะการแสดงนี้ว่า “แหมะแขวก ปัวแขวก ฮะมายแขวก หรือแขวกมอญ” ซึ่งหมายถึงมหรสพที่มีการขับร้องและดนตรี
             ในหมายรับสั่งงานฉลองพระแก้วมรกต (จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวง นรินทรเทวี และพระวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ๒๕๒๖: ๑๕๕) ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของดนตรีมอญกับสังคมสยาม ซึ่งมีข้อความเกี่ยวข้องกับเครื่องดนตรีมอญ ๒ ประเภท ได้แก่ พิณพาทย์รามัญ และมโหรีมอญ โดยพิณพาทย์รามัญ คือ วงปี่พาทย์มอญ ซึ่งมีเครื่องดนตรี ประกอบด้วย เนหรือเป (ปี่มอญ) ปาดหรือป๊าด (ฆ้องวง) เปิงมัง (เปิงมาง) แตะเปิ่น แถะเปิ่น หรือฮะเปิ่น (ตะโพนมอญ) ซึ่งทั้งหมดเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี ภายหลังมีการนำระนาดเอก (มอญเรียกว่าปาดเช่นกัน) เหมือนของไทยเข้าไปประสมด้วย วงดนตรีชนิดนี้มอญเรียกว่า “วงปาดหรือวงป๊าด” นั่นเอง ส่วนเครื่องมโหรีมอญ ไม่มีการบันทึกว่ามีเครื่องดนตรีอะไรบ้าง
         สำหรับการแสดง “ทะแยมอญ” ชาวบ้านบางกระดี่ เรียกวงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงว่า “โกรจยาม” ซึ่งหมายถึง เครื่องสาย คือ มีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายเป็นหลัก ได้แก่ โกร (ซอมอญ) และจยาม (จะเข้มอญ)อะโลด (ขลุ่ยมอญ) ปุงตัง (เปิงมาง) และหะเดหรือคะเด (ฉิ่ง) เสียงของดนตรีที่เล่นจะมีลักษณะทุ้มต่ำ เพลงมีลักษณะเป็นทำนองสั้น ๆ มีการซ้ำทำนองในขณะที่เนื้อร้องเปลี่ยนไป
          การแสดงทะแยมอญที่ชุมชนบางกระดี่ มี ๒ รูปแบบ คือ รูปแบบโบราณจะมีบทร้องที่เป็นภาษามอญโบราณ และคำบาลี นิยมเล่นทั้งในงานมงคลและอวมงคล และรูปแบบใหม่มีการประยุกต์เพลงสมัยใหม่ เข้าไปใช้ร้อง มีทั้งเนื้อร้องที่เป็นภาษามอญและภาษาไทย
        ปัจจุบันศิลปะการแสดง “ทะแยมอญ” นั้น เหลือเพียงคณะเดียว คือ “คณะหงส์ฟ้ารามัญ” ซึ่งเป็นคณะเดียวในประเทศไทย (ชุมชนมอญมีอยู่ใน ๓๗ จังหวัด) ที่ยังคงทำการแสดง ทั้งในชุมชน และรับแสดงในพื้นที่ชุมชนมอญอื่น ๆ ทั่วประเทศ

ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม :
         ๑. ลักษณะในการแสดง

             ทะแยมอญเป็นมหรสพที่แสดงได้ทั้งงานมงคลและอวมงคล เนื้อหาของคำร้องจะมีลักษณะเฉพาะของงานแต่ละประเภท เช่น งานศพ ก็จะร้องพรรณนาประวัติและความดีของผู้ตาย งานแต่งงานก็จะร้องพรรณนาประวัติของเจ้าบ่าวเจ้าสาว อบรมสั่งสอนการใช้ชีวิตคู่ และสิ่งที่ควรปฏิบัติต่อกัน จบด้วยการอวยพรให้คู่บ่าวสาวมีความสุข ส่วนงานที่เกี่ยวกับเทศกาลพุทธศาสนาก็จะร้องพรรณนาถึงอานิสงส์ของการทำบุญ และพรรณนาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาในงานเทศกาลประจำปี เช่น วันสงกรานต์ วันลอยกระทง นอกจากนั้นยังเป็นการร้องเกี้ยวพาราสีกันของผู้แสดงฝ่ายชายและหญิง  
         ๒. รูปแบบการร้อง บทร้อง
             เดิมบทร้องนั้นจะร้องโต้ตอบกันด้วยปฏิภาณไหวพริบ มีทั้งที่เล่าเป็นเรื่องราว และการเกี้ยวพาราสีกัน ปัจจุบันผู้แสดงจะร้องด้วยการจำเนื้อร้องต่อ ๆ กันมา และใช้ร้องซ้ำ ๆ ต่างจากสมัยก่อนเมื่อทราบว่าจะต้องเล่นทะแยมอญในงานใด ผู้แสดงจะต้องถามเรื่องราวของงานนั้น กับเจ้าของเพื่อที่จะได้แต่งคำร้องพรรณนาความ
ได้ถูกต้อง ถูกลักษณะงาน
             การร้องรับโต้ตอบกันเป็นคู่ระหว่างชายหญิง ถ้านักร้องคู่ใดร้องจบตอน หรือต้องการลงจบเพื่อให้คู่อื่นได้ประคารมกันบ้างก็จะแทรกบทร้องสั้น ๆ ที่มีจังหวะกระชับเร้าใจเรียกว่า “สร้อยหรือดอก” เพื่อเป็นการบอกให้นักดนตรีทราบว่าจะจบลง หรือเปลี่ยนทำนอง และเป็นการบอกให้คนร้องคู่ต่อไปได้เตรียมตัว บทร้องที่เรียกว่าสร้อยหรือดอกนี้มีทั้งทำนองและเนื้อร้องที่เป็นภาษาไทยและภาษามอญ นอกจากบทร้องที่เรียกว่าสร้อยหรือดอกแล้ว ยังมีการนำเพลงลูกทุ่งที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายหรือที่กำลังติดตลาดผู้ฟังมาประยุกต์ด้วยการแต่งคำร้องเป็นภาษามอญ หรือภาษามอญปนไทยด้วย
             การร้องทะแยมอญเป็นลักษณะการร้องไปพร้อม ๆ กับดนตรี โดยมีทำนองดนตรีจากเครื่องโกรจยามเป็นพื้น ส่วนการร้องจะถูกสอดแทรกเป็นระยะ ในขณะที่ทำนองดำเนินไปเรื่อย ๆ โดยเสียงร้องกับดนตรีอยู่ในบันไดเสียงเดียวกัน และเสียงตกเดียวกัน ลักษณะการบรรเลงขับร้องแบบนี้เป็นลักษณะเช่นเดียวกับการขับซอทางภาคเหนือ การร้องในมโหรีเขมร และมโหรีโบราณของไทย
         ๓. เนื้อหาสาระของการแสดง คำร้องที่แต่งขึ้นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณี ศาสนา การดำรงชีวิต เช่น การกล่าวถึงอานิสงส์ของงานบุญต่าง ๆ ในประเพณี ๑๒ เดือน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเคร่งครัดในการนับถือศาสนา วิถีชีวิตของชาวมอญในแง่ของการยึดมั่นในศาสนา นอกจากนี้ทะแยมอญยังมีลักษณะเฉพาะของเพลงพื้นบ้านโดยทั่วไป
         ๔. เครื่องดนตรี เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการเล่นทะแยมอญ ดั้งเดิมนั้นมีเพียง ๕ ชิ้น ที่เรียกว่า “โกรจยาม” ได้แก่
             ๔.๑ จยาม (จะเข้มอญ)
             ๔.๒ โกร (ซอมอญ)
             ๔.๓ อะโลด (ขลุ่ยมอญ)
             ๔.๔ ปุงตัง (กลองลักษณะคล้ายเปิงมาง)
             ๔.๕ หะเดหรือคะเด (ฉิ่ง)
             ปัจจุบันมีการนำซอด้วง ฉาบเล็ก กลองรำวง และกรับ เข้าไปร่วมผสมด้วย เนื่องจากมีการนำเพลงสมัยใหม่ประยุกต์เข้าไปใช้ร้อง จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องดนตรีดังกล่าวเข้าไปช่วยเสริม ให้ทำนองและจังหวะเร้าใจยิ่งขึ้น จนกลายเป็นที่ยอมรับในหมู่คนฟังทั่วไป
         ๕. รูปแบบการแสดง แบ่งเป็น ๒ รูปแบบ ดังนี้
             ๕.๑  การแสดงแบบโบราณ ในสมัยโบราณการแสดงทะแยมอญจะดำเนินไปตามขั้นตอน มีการกำหนดเล่นเพลงไว้ตามลำดับ ทั้งผู้ชมและนักดนตรีเมื่อได้ยินทำนองเพลงต่างก็รู้ได้ทันทีว่าการร้องเพลงทะแยมอญได้ดำเนินไปถึงช่วงเวลาใด
                   ทำนองดนตรีที่ใช้ในการเล่นทะแยมอญแบ่งเป็น ๒ ลักษณะ ลักษณะแรกเป็นทำนองมอญดั้งเดิมที่มีชื่อเรียกเป็นภาษามอญ ซึ่งใช้บรรเลงเพลงมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ได้แก่ เจกมัว โปดเซ หะแกงัว ชากกราย เดิมเจิน ปล่อยจาว อะหล่นเซีย ลักษณะที่สองเป็นเพลงที่มีทำนองและชื่อเรียกตรงกับเพลงไทย แต่ทำนองบางตอนแตกต่างออกไปจากของไทย เช่น แขกมอญ สีนวน จีนแส เป็นต้น ซึ่งใช้สำหรับบรรเลงเริ่มแรกก่อนการแสดงทะแยมอญ
                   ทำนองเพลงมอญแท้ ๆ ที่เล่นกันแต่ดั้งเดิมแต่ละเพลงมีชื่อเรียกต่างกัน และใช้เล่นในแต่ละช่วงเวลา ดังนี้ เจกมัว และโปดเซ เป็นเพลงที่ชายหญิงร้องโต้ตอบกัน เพลงนี้จะร้องตอนหัวค่ำ ครั้นพอดึกก็จะเปลี่ยนเป็นร้องเพลงชากกราย (กวางเดิน) ซึ่งลักษณะของจังหวะจะกระชับสนุกสนาน สมควรแก่เวลาแล้วก็จะเปลี่ยนเพลง อะหล่นเซีย (ถึงคราวต้องกระซิบ) และเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนก็จะร้องเพลงหะแกงัว (เที่ยงคืน) จากนั้นจะเป็นเพลงเดิมเจิน (ช้างก้าว) อันเป็นเพลงทำนองเชื่องช้าและต่อด้วยเพลงปอยจาว (หนุ่มจากหรือหนุ่มกลับ) ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายก่อนจะเลิกราจากกัน
             ๕.๒  การแสดงแบบใหม่ หลังจากที่คณะมอญมาถึงสถานที่แสดงนักดนตรีก็จะวางเครื่องดนตรีทุกชิ้นอย่างเป็นระเบียบ โดยมิได้กำหนดตำแหน่งที่แน่นอนของการวางเครื่องดนตรี แต่จากการสังเกต พบว่า โกร จยาม อะโลด นั้นจะวางอยู่ด้านหน้า ส่วนปุงตัง หะเด และเครื่องประกอบจังหวะอื่น ๆ จะอยู่ด้านหลัง นอกจากเครื่องดนตรีของวงโกรจยาม ๕ ชิ้นแล้ว ยังมีซอด้วง กลองรำวง ฉาบเล็ก และกรับเพิ่มเข้าไปอีก ซึ่งจะใช้บรรเลงเฉพาะช่วงที่เป็นทำนองเพลง
                     ต่อจากนั้นผู้อาวุโสในคณะก็จะทำพิธีบูชาครู หลังจากเสร็จสิ้นพิธีบูชาครูแล้ว นักดนตรีก็จะบรรเลงเพลงประมาณ ๒ - ๓ เพลง เพื่อเป็นการเรียกผู้ชม และเป็นการสำรวจเสียงของเครื่องดนตรีภาษามอญ เรียกว่า “หญัดกู่นอะจา” (ไหว้ครู) ซึ่งคล้ายกับการโหมโรงดนตรีไทย สำหรับเพลงที่ใช้บรรเลงเบื้องต้นก่อน การแสดงนี้ได้แก่ เพลงแขกมอญ จีนแส ลมพัดชายเขา และสีนวน (เพลงเหล่านี้ไม่มีชื่อเรียกเป็นภาษามอญ) ส่วนการบรรเลงจะสั้นหรือยาวเพียงใดอยู่กับความเหมาะสมของเวลา พอเข้าการแสดงก็บรรเลงอยู่ทำนองเดียว แต่จะมีการทอดลงแล้วขึ้นใหม่ในช่วงที่ผู้หญิงจะร้องแก้ ทำแบบนี้ ๔ ครั้ง เรียกว่าเป็น ๑ เพลง
                     เมื่อดนตรีบรรเลงจบประกอบกับมีผู้ชมมากพอสมควร แล้วก็จะเริ่มบรรเลง โดยแหมะแขวกนิเตราะห์ และแหมะแขวกนิเปรา (นักร้องฝ่ายชายและฝ่ายหญิง) จะร้องเพลงทักทายผู้ชมด้วยเพลงประจำคณะว่า “กะลาง กะลาง กะลาง” และ “เกลิงละเหวย เกลิงละวา” จบแล้ว แขวกนิเตราะห์ จึงร้องบทไหว้ครูด้วยภาษามอญ ซึ่งยึดถือเป็นธรรมเนียมก่อนเริ่มแสดงจากนั้นจึงเป็นการร้องโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง โดยเนื้อหาบรรยายเกี่ยวกับงานแสดงหรือร้องเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอานิสงฆ์ของการทำบุญต่าง ๆ เรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ นิทานธรรมสอนใจ ซึ่งจะจับตอนที่มีผู้แสดงเพียงพอกับตัวละครที่จะร้องตะโกนโต้ตอบกันได้ และท้ายสุดเป็นการร้องเกี้ยวพาราสีกันของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตามแบบฉบับของทะแยมอญ และเมื่อการเล่นหรือการแสดงทะแยมอญนั้นได้เวลาพอสมควรแล้วหรือประมาณ ๓ - ๔ ชั่วโมงก็จะร้องเพลงลา ที่มีทั้งภาษามอญและภาษามอญปนไทย แล้วจบการเล่นหรือการแสดงนั้นด้วยเพลงสรรเสริญพระบารมี
         ๖. บทร้อง บทร้องทะแยมอญมีลักษณะของสัมผัสวรรคตอนคล้ายกลอนไทย มีตั้งแต่ ๒ คำ จนถึง ๑๐ คำ สิ่งที่เคร่งครัดคือ สัมผัสนอกและสัมผัสใน ลักษณะของบทร้องทะแยมอญจะใช้คำประพันธ์ที่เรียกว่า “เวียะเกิณ” หรือกลอน ๔ โดยปกติจะมี ๔ บรรทัดซึ่งรวมเรียกว่า ๑ คำกลอน ในการร้องพรรณนาความ นักร้องฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงจะร้องไปเรื่อย ๆ โดยใช้ทำนองเจิกมัว และโปดเซ ส่วนบทที่เป็นกระทู้อีกฝ่ายหนึ่งจะร้องโต้ตอบหรือแก้กระทู้เรียกว่า “ฮะอาว” สัมผัสในเชิงฉันทลักษณ์ของคำกลอนในบทร้องทะแยมอญ มีความจำเป็นที่จะต้องร้องให้ได้จังหวะและได้ความหมายตามที่ต้องการ จึงต้องมีการรวบคำบ้าง เพิ่มคำบ้าง
ในบางครั้งจึงต้องมีการเลี่ยงสัมผัส หรือมีการเว้นสัมผัสบางบท ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของบทกลอนที่เกิดจากปฏิภาณกวี
         ๗. การแต่งกายของนักแสดง
              ๗.๑ ผู้แสดงฝ่ายชาย ผู้แสดงฝ่ายชายจะสวมเสื้อลายดอกไม้ คอพวงมาลัยแขนสั้น มีผ้าคล้องไหล่ ที่เรียกว่า “หะเหริ่มโต๊ะ” วิธีคล้องผ้านั้นจะต้องให้ชายผ้าทั้งสองข้างไพล่ไปด้านหลัง ซึ่งมักจะใช้สีที่ฉูดฉาด เพื่อให้ดูเด่นตัดกับสีของเสื้อ และนุ่งโสร่งที่เป็นผ้าพื้นหลากหลาย มีวิธีการนุ่งที่เรียกว่า “ลอยชาย” เป็นลักษณะการนุ่งผ้าแบบจีบหน้านางของไทย การนุ่งโสร่งนี้จะต้องนุ่งทับเสื้อมีเข็มขัดคาด ส่วนการแต่งหน้านิยมใช้แป้งแต่งแต้มเป็นลวดลายพองาม ส่วนหูทัดด้วยดอกไม้ปลอมที่ทำจากพลาสติกมีพู่ห้อยตุ้งติ้ง เรียกว่า “กาวแหมะแกว” ซึ่งจะทัดไว้ด้านซ้ายหรือขวาก็ได้ตามแต่สะดวก
              ๗.๒ ผู้แสดงฝ่ายหญิง เครื่องแต่งกายของฝ่ายหญิงจะประกอบด้วยผ้านุ่ง เสื้อ ผ้าพาดไหล่ หรือคล้องคอ ทรงผม แต่เดิมนั้นจะเกล้ามวย และประดับด้วยเครื่องประดับที่เรียกว่า “แหมะแกวปาวซก” อันเป็นเอกลักษณ์ของหญิงชาวมอญ แต่ปัจจุบันผู้แสดงรุ่นใหม่นิยมทำทรงผมพร้อมทั้งเครื่องประดับตามสมัยนิยม
                    เสื้อ เป็นลักษณะเข้ารูปรัดเอว ปล่อยชายเสื้อไว้ด้านนอก ส่วนรายละเอียดของแบบเสื้อนั้นนิยมแต่งตามสมัยนิยม ที่สำคัญคือจะต้องมีผ้าพาดไหล่ “หะเหริ่มโต๊ะ” การใช้ผ้าหะเหริ่มโต๊ะนี้มี ๓ แบบ คือ แบบที่ ๑ ใช้คล้องคอห้อยชายผ้าไว้ด้านหน้าทั้งสองด้าน แบบที่ ๒ ชะพายเฉียงรอบตัว แบบสไบเฉียง และแบบที่ ๓ ใช้พาดไหล่ด้านเดียว ส่วนสีของผ้านั้นใช้ไก้หลากหลายสี นิยมใช้สีฉูดฉาดสวยงาม
                     ผ้านุ่ง จะยาวถึงข้อเท้า เป็นผ้าพื้นมีลายก็ได้ วิธีการนุ่งนั้นจะนุ่งแบบป้ายด้านข้างส่วนจะป้ายทับด้านไหนก็สุดแต่ผู้แสดง

คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ :
         ๑. คุณค่าด้านเนื้อหาของการแสดง
เนื้อหาสาระของการแสดงทะแยมอญแฝงไว้ด้วยคำสอนทางพระพุทธศาสนา และการสอนแนวทางประพฤติปฏิบัติตามขนบจารีตของสังคม ตลอดจนรับใช้สังคมในด้านการสร้างความรื่นเริงบันเทิงใจ จึงถือว่ามีบทบาทต่อชุมชนในการทำหน้าที่ให้ความบันเทิงและขัดเกลาทางสังคม เป็นสื่อสำคัญในการรณรงค์ปลูกฝัง สร้างความรู้ เจตคติ ตลอดจนค่านิยมที่พึงประสงค์ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นตลอดมา
         ๒. คุณค่าด้านศิลปะการแสดง ทะแยมอญ เป็นศิลปะการแสดงที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาหลาย ๆ ด้านของคนสมัยก่อน เช่น การประพันธ์บทร้องที่ต้องใช้ภาษาที่สละสลวย คล้องจอง สื่อความหมายที่เกิดประโยชน์ และความบันเทิงไปในเวลาเดียวกัน รวมไปถึงการใช้ปฏิภาณไหวพริบในการร้องสด การเลือกใช้ และการเล่นดนตรีประกอบ เป็นต้น
         ๓. คุณค่าด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาวมอญ ทะแยมอญมีส่วนสำคัญในการสืบทอดและอนุรักษ์ วัฒนธรรมอันโดดเด่นของชาวมอญ เนื่องจากได้สะท้อนบริบททางสังคมของกลุ่มชาติพันธ์มอญ ทั้งในเรื่องภาษา การแต่งกาย คติ ความเชื่อ และค่านิยม ที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ที่ชัดเจน และสร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันของกลุ่มชาติพันธุ์









เอกสารอ้างอิง :
ชโลมใจ กลั่นรอด. (๒๕๔๑). ทะแยมอญ : วัฒนธรรมการดนตรีของชาวมอญชุมชนวัดบางกระดี่. วิทยานิพนธ์
       ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยมหิดล, สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา.
ดุสิตธร งามยิ่ง. (พฤษภาคม - สิงหาคม ๒๕๕๙). รำมอญ: ประเพณีทรงคุณค่าจังหวัดปทุมธานี. วารสารวไลยอลงกรณ์
       ปริทัศน์ (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์). ๖. ๕๕-๖๖.
เมธี พันธุ์วราทร. ทะแยมอญ อำเภอบางกระดี่. สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๑, จาก http://ich.culture.go.th
       /index.php/th/ich/performing-arts/236-performance/344-----m-s
สาวิตรี ตลับแป้น. มรดกวัฒนธรรมของชุมชนมอญ บางกระดี่. สืบค้นเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๑,
       จาก http://www.sac.or.th/databases/museumdatabase/review_inside_
       ByMember_Detail.php?id=&CID=29240
องค์ บรรจุน. ชุมชนมอญในประเทศไทย - มอญบางกระดี่ กรุงเทพฯ. สืบค้นเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๑,
       จาก http://www.openbase.in.th/node/9806
สภาวัฒนธรรมเขตบางขุนเทียน. (๒๕๖๑). แบบจัดทำรายการเบื้องต้นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ.
 
ประเพณีชักพระวัดนางชี
เผยแพร่ข้อมูล : วันจันทร์ที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๑
 
ชื่อรายการ    ประเพณีชักพระวัดนางชี   
ชื่อเรียกในท้องถิ่น   งานชักพระวัดนางชี, งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ
สาขา : แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และงานเทศกาล
พื้นที่ปฏิบัติ : พื้นที่โดยรอบเส้นทางแห่พระบรมสารีริกธาตุ โดยมีจุดเริ่มต้นและปลายทางการแห่พระบรม-สารีริกธาตุที่วัดนางชีโชติการาม แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ ซึ่งผ่านคลองสำคัญ ได้แก่ คลองด่าน คลองบางกอกใหญ่ คลองชักพระ คลองบางกอกน้อย และแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งครอบคลุมในพื้นที่เขตต่าง ๆ ได้แก่ เขตตลิ่งชัน เขตธนบุรี เขตบางกอกน้อย และเขตบางกอกใหญ่

สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยสังเขป : 
         ประเพณีชักพระวัดนางชี เป็นประเพณีสำคัญที่ทำสืบเนื่องกันมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นงานบุญประจำปีที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านาน และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง  แสดงออกถึงงานประเพณีทางศาสนา ที่ชุมชนชาวน้ำทำกิจกรรมร่วมกัน ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ”
         การจัดงานประเพณีชักพระวัดนางชี ถือเป็นงานชักพระแห่งเดียวที่จัดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ที่เป็นการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุสาวกขึ้นประดิษฐานบนบุษบก ซึ่งแตกต่างไปจากงานชักพระในพื้นที่อื่น ที่อัญเชิญพระพุทธรูป ซึ่งจัดทำกันในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ อันเป็นวันออกพรรษา แต่การจัดงานประเพณีชักพระวัดนางชีจะจัดในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ มีจุดประสงค์เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำ และสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุสาวกเพื่อความเป็นสิริมงคล รวมไปถึงความเชื่อว่าถ้าปีใดไม่มีการจัดประเพณีชักพระขึ้นจะเกิดอาเพศขึ้นในชุมชนชาวบ้านจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บหรือภัยพิบัติต่าง ๆ
          ประเพณีชักพระวัดนางชีถือเป็นงานเทศกาลประจำปีของชาวฝั่งธนบุรี ในอดีตจะมีขบวนเรือชาวบ้านมาร่วมพิธีจำนวนมาก มีทั้งเรือศิลปะการแสดง เรือการละเล่นพื้นบ้าน และเรือชาวบ้านที่มารอสรงน้ำพระ คำว่า “ชักพระ” นั้น มาจากการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้บนเรือพิธี ที่เรียกว่า “เรือองค์พระ” หรือ “เรือพระ” และแห่ไปทางน้ำ ในอดีตจะมีชาวบ้านและผู้เลื่อมใสศรัทธา จะร่วมแรงร่วมใจกันนำเรือมาฉุดชักเรือพระแห่ไปตามลำคลอง โดยมีเส้นทางแห่เริ่มจากคลองด่าน คลองบางกอกใหญ่ คลองชักพระ คลองบางกอกน้อย เข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา วกกลับเข้าคลองบางกอกใหญ่บริเวณประตูระบายน้ำคลองบางกอกใหญ่ (วัดกัลยาณมิตร) และเลี้ยวซ้ายกลับเข้าคลองด่าน เพื่อกลับไปยังวัดนางชี ลักษณะการแห่ดังกล่าวเป็นการวนขวา (ทักษิณาวรรต)ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “แห่อ้อมเกาะ”
          ในอดีตประเพณีชักพระวัดนางชี จะกำหนดจัดในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี หลังจากวันลอยกระทงและเทศน์มหาชาติ เนื่องจากเป็นช่วงที่น้ำมากที่สุด และชาวบ้านจะเตรียมข้าวของ อาหารคาวหวาน และผลไม้ ส่วนหนึ่งเพื่อมาร่วมพิธีเทศน์มหาชาติ และส่วนหนึ่งเตรียมนำไปร่วมในขบวนเรือสำหรับถวายพระสงฆ์ และรับประทานกันในเรือ ประกอบกับเป็นที่รู้กันของชาวบ้านว่าพอเสร็จงานลอยกระทง ก็จะเป็นงานชักพระต่อเนื่องกัน จึงยึดถือเป็นประเพณีสืบเนื่องกันมา ต่อมาได้กำหนดจัดงาน ๓ วัน เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ทางวัดจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุสาวกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำ จากนั้นในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ จะแห่ไปตามลำคลอง และในวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๒ วันสุดท้ายเปิดให้ประชาชนได้สรงน้ำ และมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา มาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติความเป็นมา :
       ๑. ประวัติความเป็นมาของวัดนางชี

          วัดนางชีโชติการาม ซึ่งเป็นวัดโบราณ ตามประวัติวัดระบุว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา (พ.ศ. ๒๓๐๖) สาเหตุของการสร้างก็เนื่องมาจากลูกสาวพระชัยมนตรีชื่อ อิ่ม ได้ป่วยไม่สามารถทำการรักษาให้หายได้ จนชีปะขาวมาเข้านิมิตในฝันว่า ให้ลูกสาวบวชชีจึงจะหายเป็นปกติได้ จึงได้ทำการสร้างวัดนางชี และให้ลูกสาวทำการบวชชี ส่วนสาเหตุที่วัดนี้ชื่อ “วัดนางชี” หรือ “วัดชี” นั้น สันนิษฐานว่า ได้ชื่อมาจากสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์ มหานาคนารี พระชนนีของสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี ในรัชกาลที่ ๑ โดยทรงบวชเป็นชี และทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อวัดนางชีหรือวัดชีนับแต่นั้น ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ทั่วประเทศ วัดนางชีเป็นหนึ่งในจำนวน ๒๕ วัด ที่พระมหากษัตริย์และขุนนางบูรณะปฏิสังขรณ์ ซึ่งการบูรณะปฏิสังขรณ์ในครั้งนั้นไม่ปรากฏหลักฐานการบูรณะ ทราบแต่ว่าศิลปวัตถุภายในวัด ได้สร้างตามสถาปัตยกรรมแบบจีน ที่เรียกว่า “นอกอย่าง” ซึ่งเป็นศิลปะนิยมในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (จ๋อง) ก็ได้ร่วมบูรณปฏิสังขรณ์ด้วย
       ๒. ประวัติพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุสาวก
          ปูชนียวัตถุที่สำคัญในวัดนางชี คือ พระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุสาวก ซึ่งในอดีตมีพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ๗ องค์ และพระธาตุสาวก ๒๐ องค์ ปัจจุบันมีจำนวนไม่แน่นอน อาจจะเพิ่มหรือลดลงแตกต่างกันไปในแต่ละปี โดยก่อนที่จะนำพระบรมสารีริกธาตุมาให้ประชาชนสรงน้ำ จะมีคณะกรรมการตรวจนับจำนวนพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกทุกครั้ง เมื่อแห่พระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้วก็จะตรวจอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะนำไปประดิษฐานเก็บไว้ พระบรมสารีริกธาตุที่วัดนางชีนั้น ตามตำนานเล่าว่า มีพราหมณ์ ๓ คน และชาวจีน ๙ คน ได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาจากชมพูทวีป ๒ ผอบ ผอบหนึ่งตั้งใจที่จะให้ประดิษฐานไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช และอีกผอบหนึ่งตั้งใจไว้ว่าจะนำไปประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองนครศรีธรรมราชแล้ว คณะผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ก็เดินทางโดยเรือสำเภาขึ้นทางเหนือ เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณปากน้ำคลองด่านในปัจจุบัน เรือได้เกิดอุบัติเหตุล่มลง พระบรมสารีริกธาตุจึงได้ถูกฝังจมดิน ต่อมาพระบรมสารีริกธาตุได้แสดงปาฏิหารย์เสด็จฯ ขึ้นมาปรากฏให้แม่ชีอิ่มเห็น หลังจากที่สร้างวัดเสร็จได้ไม่นาน แม่ชีอิ่มจึงได้ทูลเชิญประดิษฐานไว้ ณ วัดนางชีตั้งแต่นั้นมา
       ๓. ความเป็นมาและวิวัฒนาการของงานประเพณีชักพระวัดนางชี
           งานประเพณีชักพระนั้น เริ่มในสมัยที่สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์ มหานาคนารี พระชนนีของสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี ในรัชกาลที่ ๑ เสด็จออกมาบวชเป็นชีที่วัดนางชี พระองค์ได้พบว่ามีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ จึงได้จัดให้มีการสมโภชขึ้น โดยจัดให้มีพิธีถวายน้ำสรง และพิธีแห่พระบรมสารีริกธาตุไปตามคลองด่าน คลองบางกอกใหญ่ คลองชักพระ คลองบางกอกน้อย แม่น้ำเจ้าพระยา วกกลับเข้าคลองบางกอกใหญ่ และเลี้ยวซ้ายเข้าคลองด่าน กลับวัดนางชี จนเกิดเป็นประเพณีแห่และสมโภชพระบรมสารีริกธาตุตั้งแต่นั้น
เป็นต้นมา 
           ส่วนคำว่า “ชักพระ” นั้นมาจากการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากไปประดิษฐานไว้บนเรือพิธี ที่เรียกว่า “เรือองค์พระ” หรือ “เรือพระ” สมัยก่อนนั้นใช้เรือกระแชง ชาวบ้านเรียกว่าเรือเป็ด ด้านหน้าเป็นที่นั่งของพระสงฆ์ ด้านหลังเป็นวงบรรเลงปี่พาทย์ พระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานตรงกลางลำเรือ โดยเรือจะได้รับการตกแต่งอย่างพิถีพิถันให้สวยงามอลังการเป็นพิเศษ และแห่ไปทางน้ำ ในอดีตจะมีชาวบ้านและผู้เลื่อมใสศรัทธา ร่วมแรงร่วมใจกันนำเรือมาฉุดชักเรือพระแห่ไปตามลำคลอง ในสมัยพระบริหารบรมธาตุ (ประเสริฐ) เป็นเจ้าอาวาสวัดนางชี ได้เปลี่ยนการลากจูงมาใช้เป็นเรือยนต์ชื่อสระแก้วบ้างน่ำเอ็ง และโอเอ็ง ของโรงสีหน้าวัดอินทาราม และในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ สมัยพระครูประสาทสมาธิคุณเป็นเจ้าอาวาสวัดนางชี ได้กำหนดจัดงานเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี จึงได้ขอความอุปถัมภ์จากกองทัพเรือเพื่อขอเรือพระราชพิธี คือ เรือดั้ง เรือแซง จำนวน ๕ ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ฝีพาย และผู้เห่เรือ มาร่วมขบวนแห่ และใช้เป็นเรือประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจนถึงปัจจุบัน
         การกำหนดวันในการจัดงานนั้น เริ่มแรกจัดในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี หลังจากวันลอยกระทงและเทศน์มหาชาติ เนื่องจากเป็นช่วงที่น้ำมากที่สุด และชาวบ้านจะเตรียมข้าวของ อาหารคาวหวาน และผลไม้ ส่วนหนึ่งเพื่อมาร่วมพิธีเทศน์มหาชาติ และส่วนหนึ่งเตรียมนำไปร่วมในขบวนเรือสำหรับถวายพระสงฆ์
และรับประทานกันในเรือ ประกอบกับเป็นที่รู้กันของชาวบ้านว่าพอเสร็จงานลอยกระทง ก็จะเป็นงานชักพระต่อเนื่องกัน
         ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนวันในการจัดงาน โดยจากที่สมัยก่อนขบวนเรือจะพักรับประทานอาหารกลางวัน ที่วัดไก่เตี้ย ชาวบ้านที่มากับขบวนจากวัดนางชีได้เตรียมข้าวขัน แกงโถใส่ไปในเรือด้วย พอขบวนเรือถึงที่บริเวณวัดไก่เตี้ย จะเป็นเวลาเพลพอดี จึงได้จัดให้มีการถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสามเณร ฉันกันบนเรือ นอกจากนี้ก็ยังมีชาวบ้านในละแวกนั้นได้พายเรือนำอาหาร เช่น ข้าวเม่าทอด ขนมจีนน้ำยา กล้วยแขก เป็นต้น มาถวายแด่พระภิกษุ สามเณรด้วย ส่วนญาติโยมผู้เข้าร่วมขบวนแห่ก็จะหยุดพักรับประทานอาหารบนเรือเช่นกัน ต่อมาวัดไก่เตี้ยได้นิมนต์พระภิกษุสามเณรขึ้นฉันภัตตาหารเพลบนวัด สำหรับพระบรมสาริกธาตุนั้น ยังประดิษฐานอยู่บนเรือตามเดิม พอได้เวลาบ่ายโมงตรงก็จะอัญเชิญเสด็จพระบรมสารีริกธาตุกลับขึ้นเรือ และแห่ไปตามคลอง
          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ วัดไก่เตี้ยได้จัดพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. เป็นฤกษ์ยกช่อฟ้า โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเป็นประธาน จึงได้ขออัญเชิญเสด็จพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้หน้าที่บูชามณฑลพิธีด้วย การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุในปีนั้นจึงช้ากว่าทุกปี ประชาชนมีเวลาไม่พอที่จะสรงน้ำ จึงได้เปลี่ยนการสรงน้ำจากเช้าวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ มาเป็นตอนเย็นของวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ และได้อัญเชิญเสด็จลงเรือองค์พระแห่ไปตามคลอง ในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ เวลา ๐๗.๐๐ น. นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงได้กำหนดให้มีการสรงน้ำในตอนเย็นของวันแรม ๑ ค่ำ อัญเชิญเสด็จทางเรือในวันแรม ๒ ค่ำ และจัดให้มีการสมโภชในวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี
         ปัจจุบัน ประเพณีชักพระวัดนางชี กำหนดจัดงาน ๓ วัน เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๒ ในวันแรกจะจัดพิธีบวงสรวงบูชาเทพในช่วงเช้า และอัญเชิญเสด็จพระบรมสารีริกธาตุขึ้นสู่พระมณฑปในตอนบ่าย จากนั้นพระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ และเปิดให้ประชาชนสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุจนถึงประมาณสี่ทุ่ม วัดถัดมาเปิดโอกาสให้ประชาชนสรงน้ำตั้งแต่หกโมงเช้าถึงแปดโมง จากนั้นอัญเชิญขึ้นขบวนเรือแห่ออกจากวัดนางชี เขตภาษีเจริญ ไปขึ้นที่สำนักงานเขตตลิ่งชันแทนที่วัดไก่เตี้ย เนื่องจากพื้นที่มีความสะดวกสำหรับการจัดงานมากกว่า จากนั้นแห่ไปตามคลองบางกอกน้อย ออกแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าคลองบางหลวง และกลับวัดนางชี โดยระหว่างทางจะแวะตามวัด และสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชา สำหรับการจัดงานในวันสุดท้ายจะเปิดให้ประชาชนสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุตั้งแต่หกโมงเช้า มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เช่น แข่งขันการสวดมนต์หมู่ฯ แข่งขันปาฐกถามธรรม การประกวดศาสนพิธี ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เป็นต้น โดยเวลา ๑๐.๓๐ น. พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๙ รูป จะเจริญพระพุทธมนต์ และมีการถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ ๙๙ รูป เพื่อสมโภชและฉลองพระบรมสารีริกธาตุ จากนั้นเวลาหกโมงเย็น พระสงฆ์ ๑๐๘ รูป เจริญพระพุทธมนต์ เจริญสมาธิภาวนา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ก่อนจะอัญเชิญเสด็จพระบรมสารีริกธาตุ สู่ที่ประดิษฐานเดิมในเวลาหนึ่งทุ่มตรง เป็นอันเสร็จพิธีในงานทั้ง ๓ วัน

ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม :
       ๑. เป็นงานชักพระแห่งเดียวที่จัดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ซึ่งแตกต่างไปจากงานชักพระในพื้นที่อื่น
ที่เป็นประเพณีอันสืบเนื่องมาจากพระพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ และจัดกันในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ อันเป็นวันออกพรรษา โดยอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นไปประดิษฐานบนบุษบกที่อยู่บนรถหรือบนเรือแล้วให้เรือชาวบ้าน หรือคนช่วยกันจับปลายเชือกลากพระไป แต่งานชักพระวัดนางชี จะจัดในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นการเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุสาวกขึ้นประดิษฐานบนบุษบก แล้วชักแห่ไปทางเรือ
       ๒. ประเพณีชักพระวัดนางชีแสดงออกถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และความสามัคคีของชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากได้จัดเป็นพิธีต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางการจัดร่วมกับชุมชน ในปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในพื้นที่มาร่วมสนับสนุนกันอย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงวันงานชาวบ้านจะนำเรือมาชุมนุมกันที่ท่าวัด เมื่อพร้อมแล้วก็แห่เป็นขบวนตามพระบรมสารีริกธาตุออกไป มีเรือชาวบ้านมาร่วมขบวนจำนวนมาก ตามรายทางบ้านเรือนของประชาชน วัด โรงเรียน และสถานที่ราชการต่าง ๆ ที่อยู่ริมสองฝั่งคลอง จะประดับตกแต่งธงทิวอย่างสวยงาม มีการตั้งโต๊ะหมู่บูชา เมื่อขบวนเรือพระบรมสารีริกธาตุผ่านมา ประชาชนจะจุดธูปเทียนเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ มีระนาดบรรเลงหลายคณะ และการแสดงของนักเรียน ตลอดเส้นทางสองฝั่งคลอง บางบ้านได้ตั้งจิตอธิษฐานใช้ขันเพื่อตักน้ำในลำคลองเป็นน้ำพระพุทธมนต์ขณะที่พระบรมสารีริกธาตุเสด็จผ่าน ปัจจุบันทางวัดได้นำน้ำมนต์ที่ทำการสรงพระบรมสาริกธาตุตั้งแต่ตอนเย็นของวันแรกไปประพรมให้กับประชาชนที่รอรับเสด็จสองฝั่งคลองด้วย
       ๓. ประเพณีชักพระวัดนางชี เป็นงานเทศกาลประจำปีทางน้ำที่สนุกสนาน มีเรือมาชุมนุมรวมตัวกันมากที่สุด ในสมัยก่อนจะเป็นขบวนเรือพาย มีจำนวนหลายร้อยลำ มาจากตำบลทั้งใกล้และไกล เรือที่มาร่วมขบวนแห่มีหลายแบบ กาญจนาคพันธุ์ (ขุนวิจิตรมาตรา) เขียนไว้ในหนังสือ เมื่อวานนี้ ตอน เด็กคลองบางหลวง เล่ม ๒ ว่า “กระบวนแห่ชักพระนั้นเป็นเรือยาวอย่างที่เรียกกันว่า เรือแล่น ลงน้ำมันสวยสดงดงาม นั่งได้อย่างน้อยก็ ๕ - ๖ คน พายก็ใช้พายที่เรียกว่า พายคิ้ว คือมีลวดลายตลอดกลางใบพาย ทุกลำมีแพรแดงผูกที่หัวเรือ เรือที่มีคนพายแต่งชุดต่าง ๆ แปลก ๆ เหล่านี้มีตั้ง ๒๐๐ ลำ อีกพวกหนึ่งเป็นเรือยาวพวกเรือชะล่า เรือมาด เรือพวกนี้คนนั่งอย่างน้อยราว ๒๐ คน รวมทั้งหมดเห็นจะราวสัก ๕๐ ลำ เรือพวกนี้เข้าใจว่าจะมาจากที่ไกล ๆ นอกจากนี้ก็เป็นเรือแล่นที่แสดงการเล่นละคร ลิเก ฯลฯ ในเรือด้วยมีราวสัก ๑๐ ลำ (แต่ไม่ใช่แสดงทั้งโรง ลำหนึ่ง ๆ ก็มีเพียง ๒ - ๓ ตัว) ส่วนเรือพระนั้นเป็นเรือใหญ่ตั้งบุษบกตกแต่งอย่างสวยงามทั้งลำ มีเรือจูงอีกพวกหนึ่งราวสัก ๒๐ ลำ ในขณะที่ขบวนแห่เคลื่อนไปนั้น เมื่อถึงสะพานใดจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นจากเรือ ให้คนถือเดินข้ามสะพานไปลงเรือทางอีกด้านหนึ่งตลอดทางเมื่อถึงวัดไก่เตี้ยจะเปิดโอกาสให้คนบริเวณนั้นลงมาสรงน้ำพระบรมธาตุในเรือ ขณะที่หยุดพักจะมีการละเล่น การแข่งเรือกันอย่างสนุกสนาน”  
       ๔. พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกที่ประกอบในพิธี เป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญในวัด มีจำนวนไม่แน่นอน อาจจะเพิ่มหรือลดลงแตกต่างกันไปในแต่ละปี โดยก่อนที่จะนำพระบรมสารีริกธาตุมาให้ประชาชนสรงน้ำ จะมีการตรวจนับจำนวนพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกทุกครั้ง เมื่อแห่พระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้วก็จะตรวจอีกครั้งหนึ่งก่อนจะนำไปประดิษฐานเก็บไว้บนกุฎิเจ้าอาวาส พระบรมธาตุนั้นมีขนาดเล็กมาก คือ มีขนาดเท่ากับครึ่งหนึ่งของเมล็ดข้าวสารหัก เวลาตรวจนับจะต้องใช้แว่นขยายช่วยจึงจะมองเห็นชัด กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาได้เขียนเล่าเกี่ยวกับจำนวนพระธาตุที่เพิ่มขึ้น และลดลงไว้ในหนังสือตำราพระธาตุว่า "พระบรมธาตุและพระธาตุนี้ก็เป็นของแปลก ถ้าเป็นพระบรมธาตุก็ว่าเสด็จมาเองบ้าง เสด็จไปเองบ้าง ครั้งหนึ่งประมาณ ๒๐ ปีล่วงแล้ว เขาพูดว่าพระบรมธาตุที่วัดนางชี อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี บางปีก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นบางปีก็มีจำนวนลดลง ที่ว่าไปพิสูจน์นั้น ได้เป็นจริงดังที่เขาว่ากัน ปีแรกที่ไปดูมีจำนวนมาก ครั้งที่สองน้อยลง ครั้งที่สามจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ถึงจำนวนที่ไปดูครั้งแรก สงสัยว่าทางวัดจะเอาออกหรือเพิ่มขึ้นเพื่อลวงว่ามีอภินิหาร ถามเจ้าอาวาสท่านบอกว่าไม่เคยเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ท่านเป็นเจ้าอาวาสมาหลายปีแล้วไม่เคยเอาออกมาดูเลย เอาออกมาสรงน้ำปีละครั้งคือวันแห่ และตรวจต่อหน้ากรรมการด้วย” การเพิ่มขึ้นลดลงของพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุสาวกนั้น วัดนางชีได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๐๑ จนถึงปัจจุบัน
       ๕. การอัญเชิญเสด็จพระบรมสาริกธาตุไปตามลำคลองที่ขบวนแห่ผ่าน มีธรรมเนียมปฏิบัติที่สำคัญ คือ การอัญเชิญเสด็จข้ามสะพาน เนื่องจากความเชื่อที่ว่าจะไม่อัญเชิญเสด็จลอดใต้สะพาน หรือทางเดินไปโดยเด็ดขาด เมื่อหลายสิบปีก่อนจะมีสะพานข้ามเพียงไม่กี่จุด แต่ปัจจุบันมีถนนและสะพานเกิดขึ้นใหม่มากยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ มีการบันทึกว่าต้องอัญเชิญเสด็จข้ามสะพานถึง ๑๕ จุดด้วยกัน
       ๖. การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทางเรือ ที่เรียกกันว่า “แห่อ้อมเกาะ” นั้น เป็นการแห่วนไปทางขวามือ (ทักษิณาวรรต) ได้ผ่านคลอง และแม่น้ำต่าง ๆ ตั้งแต่คลองด่าน คลองบางกอกน้อย แม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางหลวง และวกกลับเข้าคลองด่านกลับวัดนางชี ซึ่งเส้นทางขบวนแห่นี้ ได้ผ่านบริเวณบ้านเรือนประชาชน วัด โรงเรียน และสถานที่ราชการเป็นจำนวนมาก เช่นผ่านวัดต่าง ๆ เป็นจำนวนมากถึง ๓๒ วัด ในพื้นที่ ๕ เขต ได้แก่ เขตภาษีเจริญ เขตธนบุรี เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ และเขตตลิ่งชัน ผ่านโรงเรียน ๙ โรงเรียน ผ่านสถานที่ราชการ ๖ แห่ง เช่น สำนักงานเขตในพื้นที่ กองทัพเรือ เป็นต้น
       ๗. ในขณะที่เรือแห่ไปตามคลอง จะมีศิลปะการแสดงต่าง ๆ ร่วมอยู่ในขบวนเรือด้วย เช่น ลิเก กายกรรม การละเล่นหัวล้านชนกัน การร้องรำทำเพลง และลำตัด เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทยที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง
       ๘. ปัจจุบันชื่อประเพณีชักพระวัดนางชียังคงปรากฏเป็นชื่อสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในพื้นที่ ได้แก่ คลองชักพระ ตำบลคลองชักพระ สะพานคลองชักพระ ถนนชักพระ แยกชักพระ ชื่อร้านค้า “ชักพระค้าไม้” เป็นต้น

คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ :
       ประเพณีชักพระวัดนางชี เขตภาษีเจริญ เป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่บรรพบุรุษได้สั่งสม และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีคุณค่า ดังนี้
       ๑. คุณค่าในด้านการสะท้อนความเชื่อ และความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ของชาวบ้านย่านฝั่งธนบุรี
ซึ่งแสดงออกในเรื่องความเชื่อที่ว่าถ้าปีใดไม่มีการจัดประเพณีชักพระขึ้น จะเกิดอาเพศขึ้นในชุมชน ชาวบ้านจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บหรือภัยพิบัติต่าง ๆ พระบรมสารีริกธาตุจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจ ก่อให้เกิดความสามัคคี และความรู้สึกเป็นส่วนเดียวกันของคนในชุมชน
       ๒. คุณค่าทางวิชาการ ได้แก่ ความรู้ในด้านประวัติศาสตร์ชุมชน วิถีชีวิตท้องถิ่น การใช้เรือประเภทต่าง ๆ  ศิลปะการแสดง พิธีกรรม และการจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เป็นต้น
       ๓. คุณค่าด้านความงามหรือสุนทรียะ ได้แก่ ความงดงามของเรือพระ และเรือประเภทต่าง ๆ ศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่มาร่วมแสดง ความงดงามของประเพณีอันดีงามที่ช่วยสร้างความสามัคคีในชุมชน ซึ่งสร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็น ดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
       ๔. คุณค่าทางเศรษฐศาสตร์ ด้วยเส้นทางในการแห่ขบวนพระบรมสารีริกธาตุ เป็นเส้นทางคลองที่เชื่อมโยงชุมชนเก่า และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ได้แก่ วัด ตลาดน้ำ ชุมชน ศาสนสถานต่างๆ ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การจัดเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของชุมชนริมน้ำได้
       ๕. คุณค่าต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประเพณีชักพระวัดนางชีมีการใช้เส้นทางน้ำในการแห่ขบวนเรือพระไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งในอดีตเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมของคนไทย ก่อนจะมีการตัดถนน เพราะฉะนั้นการตระหนักและให้ความสำคัญต่อแม่น้ำลำคลองในปัจจุบันจึงลดลง ดังนั้น การส่งเสริมให้จัดกิจกรรมดังกล่าวจึงเป็นการช่วยอนุรักษ์แม่น้ำลำคลองให้ชาวบ้านที่อยู่ริมน้ำ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักรู้ และให้ความสำคัญในการรักษาสภาพแวดล้อมของแม่น้ำลำคลองให้คงอยู่ต่อไป







    











เอกสารอ้างอิง :
กาญจนาคพันธุ์ (ขุนวิจิตรมาตรา). (๒๕๒๐). เมื่อวานนี้ ตอนเด็กคลองบางหลวง เล่ม ๒. กรุงเทพฯ: เรืองศิลป์.
กิตติธัช ศรีฟ้า. (๒๕๕๕). วิเคราะห์การออกแบบจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดนางชี กรุงเทพฯ.  
        ค้นคว้าอิสระปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ.
ดำเนิร เลขะกุล. (๒๕๐๐). วัดนางชี. สตรีสาร, ปีที่ ๙ (ฉบับที่ ๒๐๗).
ตำนานพระอารามหลวง พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงสำเร็จวรรณกิจ (บุญ เสขะนันท์)
        ณ เมรุวัดธาตุทอง. (๒๕๑๕) นครหลวงกรุงเทพธนบุรี : อรุณการพิมพ์.
ประสานอักษรพรรณ. (๒๔๗๓) ประวัติวัดนางชี (โดยรับสั่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า). แถลงการณ์คณะสงฆ์, เล่ม ๑๘ ภาค ๓.
พระราชปัญญาภรณ์. (๒๕๕๐). พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: อาทรการพิมพ์.
อ่อนตา ยวนเกิด. (๒๕๕๗). พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงการทำเรือพระบกในอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี.
       วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม.
งานแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี. สืบค้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2561, จาก http://www.prapayneethai.com

 
ยาหอมตำรับบ้านหมอหวาน
เผยแพร่ข้อมูล : วันจันทร์ที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๑
 
ชื่อรายการ    ยาหอมตำรับบ้านหมอหวาน   
ชื่อเรียกในท้องถิ่น   ยาหอมบ้านหมอหวาน
สาขา : ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล
พื้นที่ปฏิบัติ : บำรุงชาติสาสนายาไทย (บ้านหมอหวาน) เลขที่ ๙ ซอยเทศา ถนนบำรุงเมือง เขตพระนคร 

สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยสังเขป : 
       ยาหอมตำรับบ้านหมอหวาน คือ ยาแผนไทยโบราณที่นายหวาน รอดม่วง แพทย์แผนโบราณ ได้ปรุงขึ้น เพื่อจำหน่ายที่ “บำรุงชาติสาสนายาไทย” หรือ “บ้านหมอหวาน” ย่านเสาชิงช้า ซึ่งเป็นสถานที่ปรุงยาแผนไทยโบราณ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ โดยยาหอมที่ได้รับความนิยมมี ๔ ตำรับ ได้แก่ ยาหอมสุรามฤทธิ์ ยาหอมอินทรโอสถ ยาหอมประจักร์ และยาหอมสว่างภพ
       “ยาหอม” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในด้านการรักษาพยาบาลอยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน มีสรรพคุณในการบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย แก้อ่อนเพลีย แก้จุกเสียด คลื่นไส้อาเจียนอาการวิงเวียนหน้ามืด ปวดศีรษะ เป็นต้น ปรุงจากสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละตำรับ
       ปัจจุบันยาหอมโบราณทั้ง ๔ ตำรับของหมอหวาน ที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากในอดีต ยังคงได้รับการถ่ายทอดทั้งสูตร กรรมวิธี และกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม มาถึงทายาทรุ่นที่ ๔ ที่ได้นำคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ และบริบททางวัฒนธรรม มาผสมผสานให้ไม่เป็นเพียงแค่เรื่องของตัวยาเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงถึงตัวอาคาร วัตถุต่าง ๆ ที่อยู่ในบ้าน จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่ควบคู่ไปกับการปรุงยาขายด้วย

ประวัติความเป็นมา : 
       หมอหวาน รอดม่วง เป็นแพทย์แผนโบราณที่มีชีวิตอยู่ในสมัย รัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๘ (พ.ศ. ๒๔๑๓ - พ.ศ. ๒๔๘๘) เคยได้รับเกียรติให้เป็น แพทย์ผู้ถวายการรักษาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ อัครมหาเสนาบดี สมัยรัชกาลที่ ๖ หมอหวานเป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้ง “บำรุงชาติสาสนายาไทย” หรือบ้านหมอหวาน ใกล้สี่แยกเสาชิงช้า ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ หรือเพียง ๑ ปี ภายหลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. ๒๔๖๖ ท่ามกลางกระแสความนิยม และอิทธิพลของการแพทย์แผนตะวันตกที่กำลังเพิ่มขึ้น สวนทางกับแพทย์ของไทยที่กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในยุคนั้น
       แม้จะเป็นหมอแผนโบราณ แต่หมอหวานก็มิได้ปฏิเสธวิธีการรักษาและยาฝรั่ง เห็นได้จากภายในตัวอาคาร ที่นอกจากจะเต็มไปด้วยยาไทยจำนวนนับร้อยตำรับและเครื่องมือปรุงยาของไทยแล้ว ยังปรากฏอุปกรณ์การแพทย์ตะวันตก และอุปกรณ์ทดลองต่าง ๆ รวมถึงขวดยาที่ปิดฉลากชื่อยาทั้งชื่อไทย และชื่อยาฝรั่ง ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น ยาของหมอหวานได้รับการปรับตัวให้แข่งขันกับยาฝรั่งได้โดยปรับรูปแบบให้เป็นยาที่รับประทานได้ทันที พกพาสะดวก มีทั้งยาเม็ดและยาน้ำ
       ประวัติของยาตำรับบ้านหมอหวาน สามารถสรุปเป็นยุคต่าง ๆ ตามการสืบทอดกิจการ จำนวน ๔ ยุค ดังนี้
       ยุคที่ ๑ รุ่นก่อตั้ง : หมอหวาน รอดม่วง (พ.ศ. ๒๔๖๗ - ๒๔๘๘) หมอหวานได้สร้างอาคารบำรุงชาติ-สาสนายาไทยขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เพื่อเป็นร้านขายยา เป็นสถานที่ปรุงยา และเป็นคลินิก โดยได้นำเอาอุปกรณ์อย่างหมอฝรั่งมาใช้ประกอบการตรวจรักษา เช่น หูฟัง ปรอทวัดไข้ เป็นต้น และยังได้มีการปรับรูปแบบของยาไทยจากเดิมซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยาผง ยาต้ม ยาหม้อ เปลี่ยนไปให้อยู่ในรูปแบบของยาเม็ด หรือ ยาน้ำ เพื่อให้มีความทันสมัยและกินได้ง่าย ยาที่หมอหวานปรุงมีนับร้อยตำรับ ทั้งยาถ่าย ยาเด็ก ยาสตรี ยากวาดคอ ยาแก้ไข้ ยาหอม ฯลฯ ตำรับยาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ “ยาหอม”
       ยุคที่ ๒ รุ่นลูก : นางเฉี่อย วรโภค (พ.ศ. ๒๔๘๘ - ๒๕๒๖) ภายหลังจากหมอหวานได้สิ้นชีวิตลงในปีพ.ศ. ๒๔๘๘ นางเฉื่อย วรโภค เภสัชกรแผนไทย บุตรสาวคนโตผู้เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว รับช่วงในการดำเนินกิจการต่อมา แม้จะมีการลดทอนความเป็นคลินิกออกไป เหลือเพียงร้านขายยา และสถานที่ปรุงยาเท่านั้น แต่ยังมีตำรับยาที่ปรุงจำหน่ายอยู่หลายสิบตำรับ อาทิ ยากวาดแสงหมึก ยากล่อมนางนอน ยาเทวประสิทธิ์ รวมถึงยาหอมตำรับต่าง ๆ ในยุคนี้ นางสาวออระ วรโภค ได้นำเงินเก็บที่เป็นรายได้จากการทำงานประจำมามอบให้นางเฉื่อย วรโภค เพื่อซื้อเครื่องบดยาไฟฟ้า และนำมาใช้ทดแทนเครื่องบดยารุ่นเก่าอีกด้วย
       ยุคที่ ๓ รุ่นหลาน : นางสาวออระ วรโภค (พ.ศ. ๒๕๒๖ - ๒๕๕๑) หลังจากที่นางเฉื่อย วรโภค ได้สิ้นชีวิตลงในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ นางสาวออระ วรโภค ผู้เป็นบุตรสาวได้สืบทอดกิจการ และทำงานประจำอยู่คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล (ปัจจุบัน คือคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล) โดยใช้เวลาหลังจากเลิกงานในการฝึกปรุงยา แต่ความนิยมยาไทยในตอนนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง ตำรับยาที่ปรุงขายจึงได้ลดจำนวนลงเหลือเพียงยาหอมสี่ตำรับ ได้แก่ ยาหอมสุรามฤทธิ์ ยาหอมอินทรโอสถ ยาหอมประจักร์ และยาหอมสว่างภพ อย่างไรก็ตามกิจการปรุงยาของบ้านหมอหวานยังดำเนินอยู่ต่อไป เพื่อดูแลลูกค้าเก่าแก่เฉพาะกลุ่ม ซึ่งเหลืออยู่ไม่ถึง ๒๐ ราย
       ยุคที่ ๔ รุ่นเหลน : นางสาวภาสินี ญาโณทัย (พ.ศ.๒๕๕๑ - ปัจจุบัน) ในวัยเด็กภาสินีได้เติบโตขึ้นมาเห็นการปรุงยาของคุณยาย คุณป้า และสมาชิกในครอบครัว เมื่อจบการศึกษาและเข้าสู่วัยทำงาน ได้ตระหนักถึงคุณค่าของกิจการปรุงยาอันเป็นมรดกตกทอดของครอบครัว จึงศึกษาเพิ่มเติมในวิชาแพทย์แผนไทยจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อปูพื้นความรู้ทางทฤษฏี รวมทั้งฝึกหัดภาคปฏิบัติด้านการปรุงยากับนางสาวออระ ผู้เป็นป้า จนได้รับใบประกอบโรคศิลปะสาขาเภสัชกรรมไทย  
       ต่อมาภาสินีได้ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อกลับมาสืบทอดกิจการอย่างเต็มตัว เริ่มจากการรื้อฟื้นเรื่องราวของหมอหวานขึ้นมา และสร้างให้เกิดเป็นแบรนด์ “หมอหวาน” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารและเผยแพร่ไปยังผู้คนในสังคมยุคปัจจุบันให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีทัศนคติที่ดีต่อยาไทย พร้อมกับได้นำยาหอมทั้ง ๔ ตำรับ ซึ่งยังคงปรุงขายอยู่โดยยึดตามตำรับและกระบวนการปรุงดั้งเดิม มานำเสนอใหม่ในฐานะผลผลิตทางวัฒนธรรม โดยได้ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ของยาไทยให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนได้นำยาหอมอินทจักร์ ซึ่งเป็นยาในตำรับยาที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มาพัฒนาเป็น “ลูกอมชื่นจิตต์” ที่มีรูปแบบและรสชาดที่สามารถรับประทานได้ง่ายขึ้น จึงช่วยให้การใช้ยาหอมในสังคมไทยขยายวงกว้างขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการปรับปรุงอาคารบำรุงชาติสาสนายาไทย หรือ บ้านหมอหวาน ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ร้านขายยา เพื่อบอกเล่าถึงเจตนารมณ์ของหมอหวานที่ต้องการทำให้ยาไทยยังดำรงอยู่คู่สังคมไทยสืบไป         
       ปัจจุบัน ตำรับยาหอมบ้านหมอหวานยังคงได้รับการดูแลรักษาไว้อย่างดีมาจนถึงทายาทรุ่นที่ ๔ โดยมีการอนุรักษ์วิธีการปรุงยาด้วยเครื่องยาตรงตามตำรับ และกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจตนารมณ์ของหมอหวานในการบำรุงรักษาภูมิปัญญาของชาติให้คงอยู่คู่สังคมไทย ก็ยังคงได้รับการสืบทอดผ่านการเผยแพร่ยาไทยต่อไปในนามของ “หมอหวาน”

ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม :
       ตำรับยาบ้านหมอหวานที่ได้รับความนิยม คือยาหอมโบราณ ๔ ตำรับ ได้แก่ ยาหอมสุรามฤทธิ์ ยาหอมอินทรโอสถ ยาหอมประจักร์ และยาหอมสว่างภพ ซึ่งมีสรรพคุณ ขนาดรับประทาน และตัวยาที่สำคัญ ดังนี้
       ๑. ยาหอมสุรามฤทธิ์
           สรรพคุณ :   - บำรุงหัวใจ แก้ใจสั่น เป็นลมเฉียบพลัน
                             - แก้เสมหะเหนียวข้น เรื้อรังในผู้สูงอายุ
                             - มีฤทธิ์ในการขับเสลดหางวัวที่พันคอ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต
                               ในคนไข้ใกล้สิ้นใจได้
          ขนาดรับประทาน : รับประทานเมื่อมีอาการครั้งละ ๑ เม็ด
          ตัวยาสำคัญ : โสมเกาหลี, พิมเสนเกล็ด, อำพันทอง, หญ้าฝรั่น, ชะมดเช็ด, คุลิก่า
      ๒. ยาหอมอินทรโอสถ
           สรรพคุณ : แก้อ่อนเพลีย แก้เสมหะ บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง
          ขนาดรับประทาน : รับประทานเมื่อมีอาการครั้งละ ๓ - ๕ เม็ด
           ตัวยาสำคัญ : รากแฝกหอม, อบเชยญวน, เห็ดนมเสือ, หญ้าฝรั่น, ชะมดเช็ด, โคโรค
      ๓. ยาหอมประจักร
           สรรพคุณ : - แก้จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืดเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน
                           - ขับลมในเส้น แก้อาการปวดเนื้อตัว ของสตรีในวัยทอง และอารมณ์แปรปรวน
                             ในวัยทองของชายหญิง
          ขนาดรับประทาน : รับประทานเมื่อมีอาการครั้งละ ๕ - ๗ - ๙ เม็ด
           ตัวยาสำคัญ : โสมเกาหลี, พิมเสนเกล็ด, ชะมดเช็ด, หญ้าฝรั่น, เหง้าขิงแห้ง
      ๔. ยาหอมสว่างภพ
           สรรพคุณ : - แก้อาการวิงเวียนหน้ามืด ปวดศีรษะ
                           - แก้เหนื่อย อ่อนเพลีย ใจสั่น เพราะทำงานหนัก อดนอน และใช้สมองมาก
                           - บำรุงสมอง ป้องกันโรคความจำเสื่อม
                           - ช่วยการมองเห็นในผู้สูงอายุให้ดีขึ้น
          ขนาดรับประทาน : รับประทานเมื่อมีอาการครั้งละ ๕ - ๗ เม็ด
           ตัวยาสำคัญ : ใบพิมเสน, พิมเสนเกล็ด, หญ้าฝรั่น, โสมเกาหลี, ชะมดเช็ด

การรับประทานยาหอมของบ้านหมอหวาน สามารถรับประทานได้หลายวิธี ได้แก่
       ๑. แช่น้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว ๑ ช้อนโต๊ะ บดให้ละเอียด จิบรับประทาน
       ๒. เคี้ยวหยาบ ๆ พอแหลก อมไว้ในปาก
       ๓. รับประทานทั้งเม็ด พร้อมดื่มน้ำตาม
       “ยาหอม” ถือเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยมายาวนาน มีสรรพคุณในการบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย แก้อ่อนเพลีย แก้จุกเสียด คลื่นไส้อาเจียนอาการวิงเวียนหน้ามืด ปวดศีรษะ เป็นต้น ปรุงจากสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม เช่น เกสรดอกไม้ ๕ อย่าง คือ เกสรมะลิ พิกุล บุนนาค สารภี และบัวหลวง หรือหญ้าฝรั่น (Saffron) เป็นต้น ซึ่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละตำรับคนสมัยก่อนนอกจากจะใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านแล้ว เวลาไปมาหาสู่กัน หากเจอตำรับยาหอมที่ดี ก็จะซื้อมาฝากกัน ถือเป็นวัฒนธรรมการให้ยาหอมที่เคยมีในอดีตของสังคมไทย
       การทำยาหอมเริ่มจากนำสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบมาผสมกัน โดยเลือกชนิดของส่วนผสมจากความต้องการสรรพคุณของยาในการบรรเทาอาการเจ็บป่วยที่แตกต่างกัน ปั้นให้เป็นเม็ดทรงกลม บางชนิดนำมาห่อด้วยแผ่นทองคำเปลว เช่น ยาหอมสุรามฤทธิ์ เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนโบราณในการเลือกสมุนไพรหลากหลายชนิดมาผสมกันในสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อรักษาโรค
นอกจากยาหอมโบราณ ๔ ตำรับโบราณแล้ว ยังมียาประเภทอื่น ๆ ที่นางสาวภาสสินี ทายาทรุ่นที่ ๔ ได้นำมาต่อยอดจนได้รับความนิยมอีกหลายชนิด ได้แก่
       ๑. ลูกอมชื่นจิตต์
           สรรพคุณ : เป็นลูกอมช่วยย่อย แก้ท้องอืดเฟ้อ ให้ความสดชื่น และขับลมในเส้น หากอมก่อนนวดจะช่วยให้ตัวเบาสบาย 
          ขนาดและวิธีรับประทาน : อมครั้งละ ๑ เม็ด หลังอาหาร หรือเมื่อต้องการ ไม่ควรเกินวันละ ๕ เม็ด
          ตัวยาสำคัญ : โกศเชียง อบเชย ชะเอมเทศ เหง้าขิง เกล็ดสะระแหน่ น้ำตาล  
          “ลูกอมชื่นจิตต์” มีบรรจุภัณฑ์มี ๓ รูปแบบ คือ ชนิดกล่อง ชนิดซอง และชนิดของขวัญ
      ๒. น้ำมันทาเส้น
          สรรพคุณ : แก้ปวดเมื่อย ปวดบวม ขัดยอก เส้นเอ็นเคล็ดแคลง ยืดตึง ประสานกระตุก แก้แผลสด สมานแผล กลิ่นหอม
                          สดชื่น ช่วยให้หลับสบาย สามารถใช้ทาเพื่อป้องกันยุงกัดได้ 
          วิธีใช้ : ใช้ทาให้ซึมเข้าไปในผิวบริเวณที่มีอาการโดยไม่จำเป็นต้องนวด เป็นอีกทางเลือกหนึ่งแทนการนวดเมื่อปวดเมื่อย
          ตัวยาสำคัญ : ไพล ว่านเอ็นเหลือง เพชรสังฆาต  
      ๓. ขี้ผึ้งทาเส้น ขี้ผึ้งทาเส้นอีกรูปแบบหนึ่งของน้ำมันทาเส้น สำหรับผู้ที่ต้องการการนวดมากขึ้นและให้ตัวยาอยู่บนผิวนานขึ้น
มีส่วนผสมของขี้ผึ้งแท้จากธรรมชาติ ให้ความรู้สึกเย็นสบาย ไม่แสบผิว ไม่มีกลิ่นหืน แม้เก็บไว้นาน
           สรรพคุณ : แก้ปวดเมื่อย ปวดบวม ขัดยอก เส้นเอ็นเคล็ดแคลง ยึดตึง บรรเทาอาการปวดกระดูก ปวดข้อ กระดูกแตก กระดูกร้าว กลิ่นหอมสดชื่น ช่วยให้หลับสบาย
          วิธีใช้ : ใช้ทาและคลึงให้ซึมเข้าผิวบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อย เคล็ดยอก ปวดกระดูก ปวดข้อ 
          ตัวยาสำคัญ : ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ว่านเอ็นหลือง เพขรสังฆาต และอื่น ๆ
      ๔. ลูกแปลกแม่ ยาอายุวัฒนะซึ่งเป็นที่รู้จักดี ในวงการแพทย์แผนไทย ปรุงจากตำนานมะตูมนิ่ม พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ตามตำนานกล่าวถึงลูกชายที่ปรุงยาขนานหนึ่งเก็บไว้ แล้วเดินทางจากบ้านไป เมื่อแม่มาพบยานี้เข้าจึงกินเข้าไป อีกหลายปีต่อมาลูกชายกลับมาบ้าน ปรากฏว่าเขาจำแม่ของเขาไม่ได้ เพราะแม่ดูดีขึ้นผิดตา
          สรรพคุณ : เป็นยาบำรุงร่างกาย มีรสร้อน ช่วยการไหลเวียนโลหิต และช่วยให้นอนหลักได้สนิทขึ้น
          วิธีรับประทาน : ครั้งละ ๑ – ๒ เม็ด ก่อนนอน
          ตัวยาสำคัญ : มะตูมนิ่ม กล้วยน้ำไทย พริกไทยดำ น้ำผึ้ง
      ๕. ยาทาแก้พิศม์ เป็นยาทาแก้พิษร้อน ผดผื่นคัน ตุ่มเม็ดคัน แดง อักเสบ พิษจากการแพ้ และแมลงสัตว์ กัดต่อย
      ๖. ยาดมกลิ่นน้ำปรุง มีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน หน้ามืด บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น  
      ๗. ยาดมกลิ่นยาหอม ยาดมปรุงจากยาหอมอินทรโอสถ แก้ลมวิงเวียน บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น

คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ :
       ๑. “ยาหอมตำรับบ้านหมอหวาน” เป็นตัวอย่างที่ดีในการส่งเสริม สนับสนุน ให้คนไทยตระหนักรู้ถึงความสำคัญของภูมิปัญญาคนไทยที่รู้จักนำเอาประโยชน์จากธรรมชาติมาผลิตเป็นยาประเภทต่าง ๆ เพื่อใช้ในการดูแลรักษาร่างกาย และด้วยส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีเจือปน และทำงานเข้ากับกลไกร่างกายได้ดีโดยไม่ทิ้งสารเคมีอันตรายตกค้าง จึงเป็นที่ได้รับความนิยมของคนในยุคปัจจุบันมากขึ้น
       ๒. การนำแนวคิด “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” มาปรับใช้ในการขับเคลื่อนกิจการปรุงยาแผนโบราณ อันเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ กล่าวคือ ได้มีการนำภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทย การใช้ความคิดสร้างสรรค์ มาเชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสืบทอดและต่อยอดให้เป็นกิจการที่สร้าง “มูลค่าทางเศรษฐกิจ” และ “คุณค่าทางสังคม” สมดังเจตนารมย์ที่ปรากฎชัดตามชื่ออาคาร “บำรุงชาติสาสนายาไทย”
       ๓. บ้านหมอหวาน เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม ซึ่งมีพันธกิจในการขับเคลื่อนสังคมให้หันกลับมาเห็นความสำคัญ และทำความเข้าใจกับรากฐานทางวัฒนธรรมของสังคมไทย เพื่อช่วยกันรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบต่อไป โดยบ้านหมอหวาน เป็นร้านขายยาแผนโบราณและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นย่านเสาชิงช้า ที่มีบทบาทในเผยแพร่ภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทย เพื่อให้คนไทยมีความเข้าใจที่ถูกต้องและมีความเชื่อมันศรัทธาในยาไทยมากยิ่งขึ้น


          หมอหวาน รอดม่วง 


ยาหอมโบราณ ๔ ตำรับ


ยาหอมสุรามฤทธิ์ ยาหอมปิดทอง 1 ใน 4 ตำรับเก่าแก่ของบ้านหมอหวาน


กระเป๋ายาของหมอหวาน ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการเล่าเรื่อง
และสนับสนุนการขายยาของหมอหวาน

เอกสารอ้างอิง
นางสาวภาสินี ญาโณทัย. ทายาทรุ่นที่ ๔ ให้สัมภาษณ์. วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๑.
ยาหอมหมอหวาน ยาแผนโบราณ บ้านหมอหวาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :
https://mowaan.com/
วริสรา แสงอัมพรไชย. ๒๕๖๐. บำรุงชาติสาสนายาไทย. วันที่สืบค้น ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๑.
          ที่มา :  http://www.sac.or.th/databases/museumdatabase/review_inside_ByMember_Detail.php?id=2080&CID=104585
หมอหวาน-หน้าหลัก Facebook. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://th-
       th.facebook.com/mowaan.bumrungchat.sassana.yathai/
หมอหวาน. บำรุงชาติสาสนายาไทย พระพุทธศักราช 2467. กรุงเทพฯ
บาตรบ้านบาตร
เผยแพร่ข้อมูล : วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๑
 
ชื่อรายการ    บาตรบ้านบาตร   
ชื่อเรียกในท้องถิ่น   บาตรเหล็ก, บาตรเหล็กทำมือ, บาตรตะเข็บ, บาตรเหล็กรมดำ, บาตรบุ
สาขา : งานช่างฝีมือดั้งเดิม
พื้นที่ปฏิบัติ : ชุมชนบ้านบาตร ถนนบำรุงเมือง และถนนบริพัตร แขวงสำราญราษฎร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยสังเขป : 
       
บาตรหรือบาตรพระ คือ ภาชนะรองรับอาหารของพระภิกษุและสามเณรมาตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล จัดเป็นเครื่องอัฐบริขารทั้ง ๘ อย่างของพระสงฆ์ แรกเริ่มนั้นนิยมใช้บาตรดิน ในสมัยต่อมานิยมใช้บาตรที่ทำจากโลหะ เช่น เหล็ก ทองเหลือง สังกะสี หรือทำด้วยไม้ เป็นการคลาดเคลื่อนจากพุทธบัญญัติ แต่อนุโลมได้ตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย 
       ชุมชนบ้านบาตรเป็นชุมชนแห่งแรกและแห่งเดียวในกรุงเทพมหานครที่ยังคงยึดอาชีพการทำบาตรพระโดยมีกระบวนการทำบาตรด้วยวิธีดั้งเดิม คือการต่อเหล็กและตีขึ้นเป็นรูปบาตรด้วยมือในทุกขั้นตอน คุณสมบัติของบาตรที่นี่จะมีความคงทน ไม่ทำปฏิกิริยากับอาหาร และเมื่อถือขณะบิณฑบาตจะไม่ร้อนเท่ากับบาตรปั้มจากโรงงาน ลักษณะของบาตรจะมี ๕ ทรง ได้แก่ ทรงไทยเดิม ทรงตะโก ทรงมะนาว ทรงลูกจัน และทรงหัวเสือ ซึ่งถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา
       ปัจจุบันการทำบาตรแบบโบราณมีอยู่เพียง ๒ แห่งเท่านั้น คือ ชุมชนบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร และวัดเวฬุวัน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
       การทำบาตรของชุมชนบ้านบาตรนั้นเกิดจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาแต่โบราณทำให้บาตรบ้านบาตรประกอบไปด้วยคุณค่าทางฝีมือแรงงาน และคุณค่าทางจิตใจจึงถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดต่อไป

ประวัติความเป็นมา :
       
ชุมชนบ้านบาตรมีเนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่ ๓๗ งาน เป็นที่ดินเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีซอยเล็ก ๆ ชื่อว่า “ซอยบ้านบาตร” ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของช่างทำบาตรที่รวมกันอยู่เป็นกลุ่มก้อนสืบมาแต่โบราณ เป็นชุมชนโบราณหลังวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง) ซึ่งบ้านบาตรตั้งขึ้นเมื่อสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่คาดการณ์ว่าชุมชนแห่งนี้มีอายุยาวนานกว่า ๒๐๐ ปี มีคำเล่าขานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชุมชนนี้ต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นชุมชนของชาวกรุงศรีอยุธยาที่อพยพเข้ามาหลังจากเสียกรุงครั้งที่ ๒ และเข้ามาตั้งบ้านเรือนที่นี่ หลังจากการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีพร้อมทั้งขุดคลองรอบกรุงในปี พ.ศ. ๒๓๒๖ และด้วยสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่มีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยายพื้นที่ออกไปได้อีก จึงทำให้ชาวบ้านต้องอยู่ในกลุ่มของตน บรรพบุรุษของชาวบ้านบาตรจึงมักจะถ่ายทอดวิชาความรู้ในการทำบาตรให้กับลูกหลาน คนในครอบครัว หรือในหมู่เครือญาติ คุณสุเทพ สุทดิศ ช่างทำบาตรฝีมือเยี่ยมและเป็นที่ยอมรับของพระสงฆ์ที่ใช้บาตรจากบ้านบาตรอย่างมาก (ปัจจุบันช่างสุเทพเสียชีวิตแล้ว) ได้เล่าว่า “บรรพบุรุษทำบาตรมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ชื่อปู่สุด สิงหเสนี เป็นปู่ทวด จากปู่ทวดก็ถ่ายทอดวิชาความรู้มาจนกระทั่งถึงช่างสุเทพ” การถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งให้ได้วิชาความรู้นั้นไปประกอบอาชีพต่อ ๆ ไป ถือเป็นขนบธรรมเนียมไทยอย่างหนึ่งที่มีมาช้านาน
       ในสมัยก่อนการทำบาตรที่บ้านบาตรถือว่าเป็นการทำบาตรด้วยมือแห่งเดียวในประเทศไทย ชาวบ้านเกือบทั้งหมู่บ้านยึดอาชีพทำบาตรเป็นหลัก โดยจะนำบาตรที่ผลิตได้ไปขายส่งที่ย่านสำเพ็งและย่านเสาชิงช้า ขายได้ใบหนึ่งไม่ถึงบาท ส่วนมากจะขายกันเป็นราคาส่ง เช่น ๑๐ ใบ ๘ บาท หรือ ๑๐ ใบ ๑๒ บาท การทำบาตรของชาวบ้านที่มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ จนกระทั่งสามารถส่งไปขายยังจังหวัดต่าง ๆ และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เขมร อินเดีย และศรีลังกา (พรเพ็ญ รัตนโพธิ์แสงศรี, ๒๕๕๐)
       ราวปี พ.ศ. ๒๕๑๓ หลังกรมศาสนาอนุญาตให้ภิกษุใช้บาตรที่ผลิตด้วยเครื่องจักรได้ จึงมีการตั้งโรงงานผลิตบาตรพระแบบอุตสาหกรรมขึ้น บาตรปั๊มเข้ามาตีตลาดแทนที่บาตรบุทำมือ เพราะการผลิตรวดเร็ว ปริมาณการผลิตต่อครั้งสูงกว่า และราคาต้นทุนถูกกว่ามาก การผลิตบาตรบุของบ้านบาตรจึงต้องชะงักลง ช่างฝีมือหลายคนต้องเลิกอาชีพการทำบาตรมือไปประกอบอาชีพอื่นแทน มีเพียงคนไม่กี่กลุ่มที่ยังคงสืบทอดการทำบาตรอยู่ในขณะนั้น เพราะอยากที่จะอนุรักษ์การทำบาตรแบบโบราณที่อยู่คู่กับพระพุทธศาสนาเอาไว้
       ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ชาวบ้านบาตรได้ตั้ง “สมาคมผู้ค้าบาตรไทย” โดยคำแนะนำของกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์เพื่อรวมกำลังชาวบ้านบาตรต่อสู้และต่อต้านการผลิตบาตรปั๊ม หลังจากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกหนังสือเป็นนโยบายห้ามการผลิตบาตรโดยเครื่องจักรอย่างเด็ดขาด แต่ก็ยังมีโรงงานบางแห่งแอบผลิตบาตรปั๊มออกจำหน่ายอยู่
       ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ได้เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมฟื้นฟูชุมชนบ้านบาตร และเกิดการก่อตั้งกลุ่มทำบาตรพระที่ถูกต้องตามพระวินัยขึ้น คือบาตรเหล็กที่ทำด้วยมือโดยไม่มีเครื่องจักรกลใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง และมีการพัฒนาวัตถุดิบที่ใช้ทำบาตรจากเดิมที่ใช้เหล็กจากถังยางมะตอยได้พัฒนาเป็นแผ่นเหล็กหนาที่แข็งแรงกว่าเดิม และให้เสียงดังกังวาน
       นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้กลุ่มนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมและดูขั้นตอนการทำบาตร ทำให้บ้านบาตรเป็นที่รู้จักมากขึ้นจนพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว กลุ่มคนที่เคยทำบาตรจึงได้กลับมาทำบาตรกันเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีช่างทำบาตรมากกว่า ๓๐ คน มีรายการซื้อจากทั่วประเทศ และมีการพัฒนาบาตรให้เป็นของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย
       ชุมชนบ้านบาตรถือเป็นชุมชนหัตถกรรมชาวบ้านหรือบ้านช่างที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร เป็นชุมชนที่รู้จักปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ทำให้ภูมิปัญญาการทำบาตรไม่สูญหายไป โดยเป็นชุมชนแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาที่สำคัญจนได้รับการรวบรวมหนังสือ 18 ชุมชนหัตถกรรมภูมิปัญญาโบราณกรุงเทพมหานคร
ปัจจุบันกลุ่มผู้สืบทอดภูมิปัญญาการทำบาตร เหลือเพียง ๓ กลุ่ม ๆ ดังนี้
       ๑. กลุ่มนายหิรัญ เสือศรีเสริม
       ๒. กลุ่มนางอารีย์ สายรัดทอง
       ๓. กลุ่มนายกฤษณา แสงไชย
       โดยทั้ง ๓ กลุ่มนี้ ได้มีส่วนช่วยในการเป็นแหล่งผลิตบาตร แหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญให้แก่นักท่องเที่ยว นักเรียน และนักศึกษาที่เข้ามาเยี่ยมชม และเรียนรู้ภายในชุมชน

ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม :
      ๑. ลักษณะเฉพาะของบาตรบ้านบาตร

          การทำบาตรบ้านบาตรนั้น เป็นงานช่างบุของไทยแขนงหนึ่ง มีเอกลักษณ์เฉพาะ คือ มีเสียงที่ไพเราะและกังวานเหมือนระฆัง มีความทนทาน การต่อเหล็กและตีขึ้นรูปด้วยมือ ซึ่งทำจากส่วนประกอบของเหล็ก ๘ ชิ้น โดยมีความเชื่อมาจาก มรรคมีองค์ ๘ และความสัมพันธ์กับพุทธประวัติที่ว่า บาตรใบแรกของพระพุทธเจ้าคือบาตรที่ฆฏิการพรหมนำมาถวายและเกิดหายไป ท้าวจตุมหาราช เทพผู้อภิบาลรักษาโลกประจำอยู่ในทิศทั้ง ๔ จึงนำบาตรศิลามีพรรณรังสีเขียวมาถวายองค์ละ ๑ ใบ พระองค์ทรงรับบาตรทั้งสี่อธิษฐานเข้าเป็นใบเดียวกัน
         จึงเป็นที่มาของธรรมเนียมการสร้างบาตรให้เป็นรอยประสานต่อกันเป็นตะเข็บเปรียบประหนึ่งการประสานบาตรของพระพุทธเจ้าในครั้งนั้น นอกจากนี้บาตรจากบ้านบาตรจะมีการรมดำซึ่งจะทำให้ไม่ทำปฏิกิริยากับอาหาร และเมื่อถือขณะไปบิณฑบาตจะไม่ร้อนเท่ากับบาตรสแตนเลสหรือบาตรปั้มจากโรงงาน และถูกตามต้องพระวินัยตามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า “บาตรพระต้องทำจากดินเผาหรือเหล็ก มีขนาดระหว่าง ๗ - ๑๑ นิ้ว” ด้วยคุณสมบัติของบาตรที่ทำด้วยมือของชาวบ้านบาตร เมื่อเทียบกับราคาแล้วถือว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับบาตรปั๊มที่ทำจากเครื่องจักรกล
       ๒. รูปทรงของบาตร
           บาตรบ้านบาตรนั้นจะต้องใช้ความละเอียดประณีตในการทำพร้อมทั้งต้องใช้ฝีมือของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งถ่ายทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น บาตรพระนั้นมีอยู่ ๕ ทรงด้วยกัน คือ
           ๒.๑ ทรงไทยเดิม มีฐานป้าน ก้นบาตรแหลม และกระพุ้งข้างจะใหญ่ จึงไม่สามารถวางบนพื้นได้ต้องวางบนฐานรองบาตร
           ๒.๒ ทรงตะโก ฐานมีลักษณะคล้ายทรงไทยเดิม แต่ก้นมนย้อย สามารถวางบนพื้นได้ เป็นบาตรทรงสูง ก้นมน ลึก และมีกระพุ้งข้างที่แคบ
           ๒.๓ ทรงมะนาว รูปร่างมน ๆ คล้ายกับผลมะนาวแป้น เวลาจับจะถนัดมือ บรรจุอาหารได้เยอะกว่าทรงอื่น 
           ๒.๔ ทรงลูกจัน เป็นบาตรทรงเตี้ย แป้น ๆ ลักษณะคล้ายทรงมะนาวแต่จะเตี้ยกว่า การบรรจุอาหารจะได้น้อยกว่า
           ๒.๕ ทรงหัวเสือ รูปทรงคล้ายทรงไทยเดิม แต่ก้นบาตรจะไม่แหลม สามารถวางบนพื้นได้
           สำหรับทรงไทยเดิมนั้น จัดว่าเป็นทรงโบราณ ที่มีมานับร้อยปี ขณะที่ทรงมะนาวและทรงลูกจัน มีอายุประมาณ ๘๐ - ๙๐ ปี ส่วนทรงหัวเสือจะเป็นทรงรุ่นหลังสุด เริ่มมีการผลิตมาได้ประมาณ ๓๐ ปี เป็นทรงที่พระภิกษุนิกายธรรมยุตนั้นนิยมใช้ ส่วนบาตรที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบันคือ “ทรงตะโก”
       ๓. วัสดุและอุปกรณ์การทำบาตร
           ๓.๑ วัสดุ การทำบาตรบ้านบาตรเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม โดยอยู่ในประเภทเครื่องโลหะเนื่องจากวัตถุดิบที่สำคัญที่ใช้ในการทำบาตร คือ เหล็ก แต่เดิมจะใช้กระป๋องสี ถังยางมะตอย ฝาถังน้ำมันก๊าด ถังแก๊ส หรือฝากระโปรงรถ โดยนำถังเหล็กเหล่านั้นมาทำความสะอาดโดยการเผา ซึ่งในอดีตถังเหล็กยางมะตอยได้มาจากเทศบาลกรุงเทพมหานครที่ใช้ใส่ยางมะตอยเพื่อราดถนน เมื่อถึงเวลาจะมีคนนำถังยางมะตอยที่ใช้แล้วมาส่งให้ที่ชุมชน ราคาประมาณ ๑๐ กว่าบาทต่อถัง ๑ ใบ โดยถังยางมะตอยทำจากเหล็กมีเนื้อบางทำให้สามารถตีบาตรได้ง่าย สะดวก และราคาไม่แพง ปัจจุบันการแข่งขันที่สูงขึ้นจึงทำบาตรจากเหล็กแผ่นและเหล็กเส้น โดยเหล็กแผ่นจะนำมาทำตัวบาตร ส่วนเหล็กเส้นทำขอบบาตร ซึ่งซื้อแถววัดดวงแข ย่านหัวลำโพง ถนนรองเมือง บางประกอก และบางปะแก้ว ส่วนเหล็กแผ่น ซื้อจากร้านจำหน่ายเหล็ก ขนาดเบอร์ ๒๓-๑๘ เบอร์ ๑๘ เป็นอย่างหนาที่สุดที่ใช้ในการทำบาตร    
            ๓.๒ อุปกรณ์
                  ๑) ทั่งลาย ทำจากไม้มะขาม ใช้สำหรับเป็นที่รองรับส่วนโค้งของขอบบาตรเพื่อทำลายบาตร
                  ๒) ทั่งเหล็ก ใช้สำหรับรองในการทุบเหล็กและตีเหล็ก
                  ๓) ลูกกะล่อนและหัวลูกกะล่อนขนาดต่าง ๆ มีทั้งแบบที่ยึดติดกับพื้นละแบบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ใช้สำหรับรองรับบาตรในการตีบาตร ลูกกะล่อนที่ใช้มีหลายขนาดขึ้นอยู่กับขั้นตอนว่าต้องการความละเอียดมากน้อยเพียงไร เช่น การตีบาตร ก็ต้องใช้ลูกกะล่อนที่เรียบละเอียดมากที่สุด
                  ๔) ค้อนขนาดต่าง ๆ ใช้สำหรับตีเหล็ก และตีบาตรให้เรียบ
                  ๕) ค้อนลาย ลักษณะโค้งงอ หัวค้อนแหลม ใช้ในขั้นตอนการทำลายบาตร
                  ๖) คีม ใช้สำหรับหักเหล็ก (หักฟันปลา)
                  ๗) แท่งเหล็ก ใช้สำหรับขีดกะเหล็ก
                  ๘) กรรไกรญวน ใช้สำหรับตัดแผ่นเหล็ก
                  ๙) กรรไกรมอญ ใช้สำหรับจักเหล็ก
                 ๑๐) ม้าตะไบ ใช้ในขั้นตอนการตะไบบาตร มีหู ๒ หู
                 ๑๑) เตา ใช้สำหรับเป่าแล่น
       ๔. ขั้นตอนการทำบาตร
           การทำบาตรเริ่มต้นจากการไหว้ครู เพราะมีความเชื่อว่าวิชาการทำบาตรมีครูที่เป็นผู้ประสาทวิชาการทำบาตร จึงต้องมีการไหว้ครู พ่อปู่ครูบาตร และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ เช่น เตาแล่นบาตร เพื่อเป็นการฝากเนื้อฝากตัว และคุ้มครองให้การทำบาตรสำเร็จด้วยดี โดยจะจัดให้มีพิธีไหว้ครูในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี 
           การทำบาตรนั้นแบ่งเป็น ๒๑ ขั้นตอนด้วยกัน ดังนี้
            ๔.๑ การทำปากบาตร โดยการใช้เหล็กเส้นตรง แล้วนำมาโค้งทำ ขนาดของเหล็กที่ใช้ในการทำปากบาตร หนา ๑ หุน กว้าง ๖ หุน ความยาวขึ้นอยู่กับขนาดของบาตร เริ่มจากนำเหล็กเส้นตรงที่ผ่านการวัดและกำหนดขนาดมาแล้ว ตีไล่ไปเรื่อย ๆ บนทั่งที่รองรับส่วนโค้งของเหล็ก ตีไปเรื่อย ๆ จนโค้งเป็นครึ่งวงกลมตามขนาดของบาตร
ที่ต้องการ แล้วตีต่อไปจนกระทั่งเป็นวงกลมของขอบบาตร เพื่อนำไปใช้ในการขึ้นตัวบาตรต่อไป
            ๔.๒ การกะเหล็ก การกะเหล็กนั้นเป็นการขีดวัดขนาดของเหล็กที่จะนำมาต่อเป็นกง ความยาวประมาณจะเท่ากับปากบาตร แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรูปทรงของบาตรด้วย ในสมัยก่อนใช้ดินสอหินที่ใช้เขียนกระดานชนวน แต่ในปัจจุบันช่างทำบาตรนิยมใช้เหล็กขีดเพราะมีความแน่นอนกว่า
           ๔.๓ การตัดเหล็ก ตัดแผ่นเหล็กด้วยกรรไกรญวนให้เป็นรูปกากบาทตามที่วัดไว้ โดยเริ่มจากการนำแผ่นเหล็กมาวัดและตัดตามขนาดที่ต้องการ ทั้งหมด ๓ แผ่น แผ่นแรกจะมีขนาดยาวเป็นพิเศษ เรียกว่า เอ็น ซึ่งจะทำหน้าที่แบ่งครึ่งของบาตร ส่วนอีกสองแผ่นที่เหลือจะสั้นกว่า เรียกว่า ฝาข้าง จะใช้ในการกำหนดด้านข้างของบาตรแต่เมื่อได้มาแล้วเหล็กทุกแผ่นจะเข้าสู่การจักเหล็ก ซึ่งเป็นเกร็ดเคล็ดลับแห่งภูมิปัญญาที่เก่าแก่ของช่างตีบาตรที่บ้านบาตร
            ๔.๔ การเว้าเหล็ก เป็นการตัดส่วนปลายของแผ่นรูปกากบาทให้เว้าลงไปทั้ง ๔ ด้าน เพื่อให้เข้ากับปากบาตรได้พอดี ก่อนเว้าต้องงอเหล็กตรงปลายแต่ละด้านขึ้นเล็กน้อย เพื่อจะได้ไม่สะดุดกับกรรไกรในขณะที่ตัด เมื่อเว้าเสร็จจึงทุบให้เรียบร้อยเหมือนเดิม (ปัจจุบันขั้นตอนนี้ไม่มีการทำแล้ว)
            ๔.๕ การจักขอบเหล็ก ใช้กรรไกรจักตรงส่วนเว้าของแผ่นเหล็กรูปกากบาททั้ง ๔ ด้าน แล้วทุบให้เรียบ เพื่อเวลานำแต่ละชิ้นส่วนมาต่อกัน เหล็กจะประสานกันแนบสนิทและทำให้บาตรมีความคงทนกว่าการเชื่อมต่อธรรมดา
            ๔.๖ การงอเหล็ก เป็นการดัดเหล็กที่จักแล้วให้โค้งได้ลักษณะของบาตร
            ๔.๗ การหักเหล็ก หักเหล็กที่จักไว้ให้เป็นแบบสลับฟันปลาด้วยคีมคีบเหล็กหรือเหล็กแหนบเพื่อจะนำไปประกอบเข้ากับปากบาตร
            ๔.๘ การติดกงหรือการประกอบกง การติดกงหรือการประกอบกงเป็นการรวมประสานเข้าด้วยกันของปากบาตร เอ็นบาตร และฝาข้างทั้ง ๒ โดยไม่ต้องพึ่งกาวหรือน็อต สกรูใด ๆ เลย อาศัยเพียงแค่ซี่เหล็กที่ผ่านการจักมาก่อนหน้านี้ ในการประสานยึดเหล็กทั้ง ๔ เข้าด้วยกัน
            ๔.๙ การกะหน้าวัว หน้าวัว คือ แผ่นเหล็กที่ใช้สำหรับติดช่องว่างที่เหลือทั้ง ๔ ด้าน ในการกะหน้าวัว จะนำแผ่นเหล็กมาวัดกะขนาดเพื่อประกอบกับกง
            ๔.๑๐ การตัดหน้าวัว การตัดแผ่นเหล็กที่วัดไว้และต้องตัดเผื่อไว้สำหรับจักฟันประมาณ ๒ มิลลิเมตร โดยหน้าวัวแต่ละด้านเมื่อผ่านการตัดมาแล้วจะมีลักษณะคล้ายแผ่นเตารีด
            ๔.๑๑ การจักหน้าวัว นำหน้าวัวที่ตัดแล้ว มาจักด้วยกรรไกรโดยรอบ ตัดให้เป็นซี่เล็ก ๆ เพื่อใช้สำหรับการยึดประสานติดกับกงของบาตรที่รออยู่ก่อนหน้านี้ เสร็จแล้วทุบด้วยค้อนให้เรียบ
            ๔.๑๒ การโค้งหน้าวัว ดัดหน้าวัวให้โค้งเพื่อจะนำไปประกอบกงให้ได้รูปทรงของบาตร
            ๔.๑๓ การหักหน้าวัว ง้างเหล็กที่จักให้ได้ลักษณะสลับฟันปลา
            ๔.๑๔ การเข้าหน้าวัว นำเหล็กหน้าวัวประกอบเข้ากับกงให้ครบทั้ง ๔ ด้าน จนเป็นรูปบาตร แล้วใช้ค้อนทุบบนลูกกะล่อน
            ๔.๑๕ การหยอดบาตร (การโรยผงประสานทอง) ผงประสานทอง เป็นของผสมระหว่างผงบอแรกซ์กับผงทองแดง การโรยผงประสานทองจะโรยลงตามตะเข็บด้านในของบาตร ก่อนการหยอดบาตร ต้องนำบาตรไปแช่น้ำก่อน พอสะเด็ดน้ำจึงโรยผงประสานทองลงไป ถ้าบาตรแห้งเสียก่อนก็ต้องสลัดน้ำใส่อีก มือที่จับผงประสานทองต้องแห้ง การโรยต้องโรยให้สม่ำเสมอ เป็นเส้นเล็กและนูน และต้องระวังไม่ให้ผงประสานทองเลอะเทอะส่วนอื่น เพราะเวลาเป่าแล่นผงประสานทองจะลามติดผิวบาตรทำให้บาตรไม่เรียบได้ แต่ก่อนจะเอาไปเป่าแล่นต้องเผาให้น้ำประสานทองละลายเพื่อให้ยึดตะเข็บไว้ ถ้าไม่เผามันจะหลุด แล้วจะแล่นไม่ติด
            ๔.๑๖  การเป่าแล่น (แล่นบาตร) การเป่าแล่นบาตรต้องใช้ไฟแรงสูง ใช้ไม้สักเป็นเชื้อเพลิงเพราะให้ไฟแรง ก่อนเป่าแล่นต้องใช้ไฟอ่อน ๆ เผาด้านในของบาตรก่อนเพื่อให้ผงประสานทองละลายลงไปเกาะในตะเข็บ โดยใช้ขี้กบหรือกระดาษเป็นเชื้อเพลิง จากนั้นคว่ำบาตรลงกลางเตา (ส่วนที่ให้ไฟร้อนสูงสุด) เผาจนเหล็กแดง แล้วใช้ไม้เขาควายเขี่ยให้บาตรหงายขึ้น กลับให้ทุกด้านของบาตรได้รับความร้อนอย่างทั่วถึง เพื่อให้ผงทองแดงและน้ำประสานทองละลายเชื่อมเนื้อเหล็กให้เป็นเนื้อเดียวกัน
                     ปัจจุบันการแล่นบาตรไม่ได้ทำแล้ว แต่ใช้วิธีการเชื่อมบาตรหรืออ๊อกแทน โดยมีการเชื่อมด้วยเหล็กหรือทองแดงแล้วแต่ความต้องการของลูกค้า
            ๔.๑๗ การยุบมุมบาตร เมื่อบาตรที่เป่าแล่นหรือเชื่อมเสร็จและเย็นลงแล้ว นำมายุบมุมโดยใช้ค้อนตีตามตะเข็บ และจะเป็นการตรวจสอบด้วยว่าทุกตะเข็บเชื่อมติดกันดีหรือยัง ถ้ายังก็ต้องนำไปเป่าแล่นซ่อมส่วนที่ยังไม่เชื่อมกันอีกที
            ๔.๑๘ การลายบาตร ใช้ค้อนลายทุบบาตรโดยตีผิวบาตรให้ได้รูปทรง โดยจะตีบน “ทั่งลาย” ทั่งลายจะมีลักษณะเป็นล่องเว้าลงไปเพื่อรองรับส่วนโค้งของบาตร แต่ถ้ายังไม่เรียบต้องนำไปแช่น้ำกรดให้กรดกัดขี้เหล็กออกให้หมด น้ำกรดที่ใช้จะผสมน้ำ ๑ ถัง ต่อน้ำกรดประมาณ ๑/๒ ขวด
            ๔.๑๙ การตีบาตร ช่างจะใช้ค้อนเหล็กตีที่ด้านนอกของบาตรให้รอบ เพื่อให้ส่วนที่นูนออกมาจากการลายเรียบเสมอกัน โดยใช้ค้อนปอนด์ตีบาตรที่คว่ำบนลูกกะล่อน การตีนี้เรียกว่า “ตีเรียงเม็ด” จากนั้นนำไปตีลายบนทั่งไม้ เพื่อให้ได้รูปทรงตามต้องการ
            ๔.๒๐ การตะไบบาตร นำบาตรที่ตีแล้วมาเจียรและตะไบให้เรียบ การตะไบบาตรจะทำบนม้าตะไบ เท้าของช่างด้านหนึ่งจะสอดเข้าในบาตร อีกข้างหนึ่งจะยันบาตรไว้ให้ติดกับหูม้าตะไบ เพื่อความมั่นคงของบาตรซึ่งจะช่วยให้ตะไบได้ดี บาตรที่ตะไบเสร็จเรียบร้อยแล้วเรียกว่า “บาตรขาว” ในการตะไบจะใช้ตะไบ ๒ หน้า
            ๔.๒๑ การระบมบาตร โดยปกติบาตรที่ตะไบเสร็จจะเงาสวย ดูแล้วไม่มีที่บรรจบเรียกบาตรนี้ได้ว่า “บาตรขาว” บาตรนี้ธรรมดาจะนำไปรมควันต่อ เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดสนิม และเพิ่มความคงทนแข็งแรง โดยที่บ้านบาตรนั้นจะใช้วิธีการ “รมดำ” ซึ่งใช้เวลาไม่นาน แบ่งเป็น ๔ ขั้นตอน ดังนี้
                    ขั้นที่ ๑ นำบาตรมาเช็ดให้สะอาด
                    ขั้นที่ ๒ ทาน้ำมันแอลกอฮอล์ หรือเชลแล็ก
                    ขั้นที่ ๓ นำบาตรที่ทาด้วยน้ำมันแอลกอฮอล์หรือเชลแล็ก
                    ขั้นที่ ๔ เมื่อรมดำทั่วแล้วก็ยกออกจากไฟ ปล่อยไว้ให้บาตรเย็นแล้วนำไปเคลือบด้วยวานิช บาตรที่ได้จะดำเป็นเงา
                    หลังจากการรมดำแล้ว การทำบาตรโดยทั่วไปจะต้องมีการ “ระบมบาตรหรือบ่มบาตร” ต่อ เพื่อให้บาตรแกร่งทนยิ่งขึ้น สามารถใช้ได้ทนโดยไม่เกิดสนิม วิธีการบ่มบาตรจะใช้ความร้อนสูงมาก ถ่านที่ใช้ส่วนใหญ่จึงเป็นถ่านไม้สัก หลักสำคัญจะต้องใช้ความร้อนและบาตรต้องไม่โดนเปลวไฟ โดยใช้ถังมาครอบบาตรให้มิด แล้วใช้ไฟเผาข้างนอก ประมาณ ๘ - ๙ ชั่วโมง เสร็จแล้วปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นเอง จึงจะเปิดถังที่ครอบออก ถ้าเปิดออกทันทีบาตรจะกะเทาะหรือแตกง่าย บาตรที่บ่มแล้วจะมีสีค่อนข้างดำและด้าน ซึ่งถ้าเป็นพระสายธรรมยุต ส่วนใหญ่จะนำบาตรไปบ่มเอง โดยจะใช้เวลาทั้งวันทั้งคืน เมื่อบ่มเสร็จแล้วจะเกิดไฮ (Hi Carbon Steel หรือ Hi Tempered Carbon) เป็นประกายเพชรขึ้นมาเคลือบบาตร ซึ่งเกิดจากการทำปฏิกิริยาของเหล็กกับความร้อน ทำให้บาตรมีความทนทาน ไม่เกิดสนิม และไม่ทำปฏิกิริยากับอาหาร
             ในปัจจุบันมีการเพิ่มขั้นตอนการวาดลวดลายลงบนบาตรเป็นการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาและพัฒนารูปแบบหลากหลาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึกสำหรับบุคคลทั่วไป เป็นของสะสมมากกว่าการใช้งาน ตัวอย่างลายที่วาดลงบนบาตร เช่น ลายพญานาคทรงเศียร ลายเพดานโบสถ์ ลายเสาโบสถ์ ลายไทยจากหนังสือรวบรวมลายไทย ลายไทยประยุกต์ เป็นต้น

คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ :
          บาตรที่ชุมชนบ้านบาตร เป็นผลิตภัณฑ์ที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งสามารถสรุปเป็นคุณค่าในด้านต่าง ๆ ดังนี้
          ๑. คุณค่าด้านการใช้สอย บาตรนั้นเป็นสิ่งที่ผลิตขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการในการดำรงชีวิตของพระภิกษุและสามเณร ในการปฏิบัติกิจของสงฆ์ เป็นภาชนะใส่อาหาร สำหรับพระภิกษุสามเณร เป็นของใช้ที่มีความสำคัญสำหรับพระสงฆ์ และเป็นหนึ่งในอัฐบริขาร ชิ้นส่วนแผ่นเหล็ก ๘ ชิ้น ยังแฝงความหมายถึงหลักธรรมมรรคมีองค์ ๘ หรืออริยมรรค คือ หนทางแห่งการดับทุกข์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอริยสัจสี่ประการ
          ๒. คุณค่าด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี บาตรเป็นสิ่งที่มนุษย์ผลิตขึ้นอย่างมีจุดประสงค์ จึงมีที่มาของการประดิษฐ์ขึ้นให้ศึกษาประวัติความเป็นมาและการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของชุมชน
          ๓. คุณค่าด้านการเป็นเอกลักษณ์ของสังคมและวัฒนธรรม เป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิมที่เกิดขึ้นและถ่ายทอดแก่คนรุ่นหลังภายใต้ความเชื่อและศาสนา ที่สร้างให้สัมพันธ์กับบาตรของพระพุทธเจ้าในอดีต
           ๔. คุณค่าทางศิลปะ บาตรของบาตรนั้นมีความสวยงามที่แสดงผ่านรูปทรง ลวดลาย สี ที่ใช้ฝีมือช่างที่มีความประณีตและวิจิตรบรรจงในการทำทั้งยังต้องอาศัยความสามารถของช่างหลายแขนงในการทำงานรวมกัน
          ๕. คุณค่าด้านเศรษฐกิจ บ้านบาตรนอกจะผลิตบาตรพระแบบปกติทั่วไปแล้ว ยังมีการผลิตบาตรขนาดเล็กเพื่อเป็นของที่ระลึกจากการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่ง










เอกสารอ้างอิง :
ปริศนา มัชฌิมา, ณัฏฐา ผิวมา, ศิริลักษณ์ หล่อพันธ์มณี, และ นางกฤษณา แสงไชย (2558). การทำบาตรของ
       
ชุมชนบ้านบาตร. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.
สุนีย์ ภัทรเจียรพันธุ์. (2556). การจัดแหล่งการเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำบาตร กรณีศึกษาร้านหัตถกรรมไทยโบราณ.
       
การค้นคว้าแบบอิสระมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม.

 
ตำนานท่าเตียน ยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์วัดแจ้ง
เผยแพร่ข้อมูล : วันอังคารที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

ชื่อรายการ              ตำนานท่าเตียน ยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์วัดแจ้ง          
ชื่อเรียกในท้องถิ่น   ท่าเตียน ยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์วัดแจ้ง                  
สาขา                      วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา 

พื้นที่ปฏิบัติ

          ๑. วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร) แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร
          ๒. วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร) แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่
          ๓. ท่าเตียน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร



สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยสังเขป
          ตำนานท่าเตียน ยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์วัดแจ้ง เป็นหนึ่งในนิทานตำนานคู่บ้านคู่เมืองที่มีความเป็นมายาวนานนับร้อยปี เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นและเล่าขานเกี่ยวกับยักษ์วัดโพธิ์กับยักษ์วัดแจ้ง ยักษ์จากวัดที่ตั้งอยู่คนละฟากฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดพื้นที่โล่งเตียนเนื่องจากยักษ์ทั้งสองตีกัน เชื่อมโยงเป็นชื่อสถานที่ภูมินามบ้านเมืองที่เรียกว่าท่าเตียน ท่าเตียนเป็นท่าเรือและตลาดที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกของวัดโพธิ์ ตำนานดังกล่าวได้อธิบายความสัมพันธ์ของชุมชนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อแรกตั้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน และสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคม เศรษฐกิจ วิถีชุมชน รวมถึงภาพรวมบริบททางสังคมไทยในอดีตในพื้นที่ท่าเตียน

ประวัติความเป็นมา
           ท่าเตียน เป็นสถานที่ที่มีความเป็นมายาวนานกล่าวขานกันนับแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจวบจนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์และสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในอดีตท่าเตียนเป็นชุมชนการค้าที่ยิ่งใหญ่มาตั้งแต่ก่อนการสร้างพระบรมหาราชวัง ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยการคมนาคมผ่านทางน้ำทำให้ท่าเตียนเป็นจุดพักของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ทำการค้าขายทางน้ำ รวมถึงเป็นท่าเรือของผู้คนที่สัญจรไปมาเชื่อมต่อการคมนาคมกับหัวเมืองต่าง ๆ ของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงเครือข่ายแม่น้ำลำคลองฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ในสมัยรัตนโกสินทร์ บริเวณท่าเตียนเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนของบรรดาขุนนาง ข้าราชบริพาร เนื่องจากอยู่ใกล้พระบรมหาราชวัง ซึ่งก่อให้เกิดเป็นย่านการค้าเรียกว่าตลาดท้ายสนม หรือตลาดท้ายวัง และภายหลังถูกรวมเข้ากับตลาดท่าเตียน ทำให้มีเรือสินค้าจากหัวเมืองหมุนเวียนเข้ามาเทียบท่าทำการค้าขายไม่ขาดสาย ท่าเตียนจึงกลายเป็นศูนย์กลางตลาดขนส่งสินค้าทางการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพในเวลานั้น ต่อมาเมื่อความเจริญเข้ามาถึงชุมชนก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย การขยายเมืองทำให้บทบาทของท่าเตียนเปลี่ยนไป ในปัจจุบันท่าเตียนเป็นทั้งตลาดและสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยม มีร้านอาหารและร้านกาแฟเป็นจำนวนมาก คนในชุมชนจึงทำการค้าขายโดยมุ่งเน้นการค้าขายกับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทั้งนี้ ท่าเตียนยังคงฐานะเป็นท่าเรือสำหรับการสัญจรทางน้ำอยู่ถึงแม้ว่าจะมีวิถีการคมนาคมรูปแบบใหม่ก็ตาม
 
          ศุภารมย์ ประสาทแก้ว บอกเล่าในการประชุมวิชาการสถาบันไทยคดีศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๗  ภายใต้หัวข้อ “ท้องถิ่นนิยม: ท้องถิ่นในประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น” ว่าที่มาของคำว่า ท่าเตียน มีเรื่องเล่าแผกต่างกัน ๔ กระแส
            กระแสแรก ปรากฏคำ ท่าเตียน เป็นชื่อวัง กล่าวคือ ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๖ ระบุว่า รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังท่าเตียนพระราชทานสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์
             กระแสที่สอง สมัยรัชกาลที่ ๔ เกิดไฟไหม้ใหญ่ ลุกลามตั้งแต่เขตพระบรมมหาราชวัง ถูกเพลิงเผาผลาญจนโล่งเตียน ผู้คนจึงเรียกตามสภาพที่เห็นว่า ท่าเตียน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ระบุที่มาของชื่อท่าเตียน ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๔ ระบุว่าเกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่โรงของพระองค์เจ้ามหาหงส์ในกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าฉัตร ต้นราชสกุลฉัตรกุล) ลงไปจนถึงเขตวัดโพธิ์ อันมีท่าเรือข้ามฟากไปยังวัดแจ้ง หลังจากไฟไหม้ใหญ่ครั้งนั้นปรากฏว่าทั้งวังของเจ้านาย บ้านเรือนราษฎร รวมถึงบริเวณนั้นก็เตียนโล่งไปตลอด ผู้คนจึงเรียกตามสภาพที่เห็นว่า ท่าเตียน
           กระแสที่สาม เล่ากันว่า ชุมชนท่าเตียนถือกำเนิดในสมัยกรุงธนบุรี  เนื่องจากพญาราชาเศรษฐีญวน เจ้าเมืองพุทไธมาศ (หรือเมืองฮาเตียน ในภาษาเวียดนาม) กับองเชียงชุนหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงรับไว้แล้วพระราชทานบ้านเรือนให้อาศัยอยู่บริเวณตะวันออกของพระนครซึ่งปัจจุบัน คือ บริเวณท่าเตียน ชาวญวนอพยพเห็นว่าภูมิทัศน์มีความคล้ายคลึงกับเมืองฮาเตียนเดิมจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ฮาเตียน” ต่อมาคนไทยก็เรียกชื่อเพี้ยนไปเป็น “ท่าเตียน” จนถึงปัจจุบัน
              กระแสที่สี่ เป็นนิทานที่คุ้นเคยกันดี นั่นคือ เรื่องราวการวิวาทของยักษ์วัดแจ้งกับยักษ์วัดโพธิ์ การต่อสู้ของยักษ์ร่างใหญ่ทำให้บริเวณนั้นพังราบเตียนโล่ง ผู้คนจึงเรียกถิ่นท่านี้ว่า ท่าเตียน
 
           เรื่องเล่าที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในเรื่องที่มาของชื่อท่าเตียน คือ ตำนานยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์วัดแจ้ง   ตำนานนี้เป็นเรื่องเล่ากันมามีโครงเรื่องคล้ายกัน คือ เป็นเรื่องยักษ์สองวัดทะเลาะกัน แต่เล่ากันหลายแบบ แบบเรื่องที่หนึ่ง มีที่มาจากสำนวนเดิมของชาวกรุงเทพฯ ที่ว่า“เจ้าชู้วัดโพธิ์ นักเลงโตวัดระฆัง อีแร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์” ที่ว่า เจ้าชู้วัดโพธิ์ สืบเนื่องมาจากยักษ์วัดโพธิ์เป็นประติมากรรมที่หล่อจากโลหะ มิได้ปั้นจากปูน คำว่า “รูปหล่อ” นั้น พ้องเสียงกับความหมาย “รูปหล่อ” ที่หมายความว่า หน้าตาดี อนึ่ง รูปหล่อยักษ์วัดโพธิ์ประดิษฐานอยู่ใกล้ประตูดินที่สาวชาววังชอบออกมาจ่ายของ เล่าว่า ยักษ์วัดโพธิ์ชอบไปเกี้ยวพาราสี จึงไม่ถูกกับยักษ์วัดแจ้ง ซึ่งถือตัวว่าเป็นรุ่นพี่เพราะสร้างสมัยรัชกาลที่ ๒ (ยักษ์วัดโพธิ์สร้างสมัยรัชกาลที่ ๓) เพราะแย่งผู้หญิง จึงนัดมาอวดศักดาตีกันจนต้นไม้แถบนั้นราบเตียนไปหมด เรียกว่า “ท่าเตียน” เหตุนี้ต่อมาจึงทำให้เด็กวัด ทั้ง ๒ วัด พลอยไม่ถูกกันไปด้วย เพราะแย่งกันเรื่องบิณฑบาต สำนวนนี้ถ้าฝ่ายไหนเล่าก็จะว่าของตนถูก
           อีกแบบหนึ่งเล่าว่า มียักษ์คู่หนึ่งคือยักษ์วัดโพธิ์ กับยักษ์วัดแจ้ง ต่อสู้กันจนเกิดพื้นที่ที่เรียกว่า “ท่าเตียน” เรื่องมีอยู่ว่า ยักษ์วัดโพธิ์กับยักษ์วัดแจ้งเป็นเพื่อนรักกัน แต่วันหนึ่งยักษ์วัดโพธิ์ไม่มีเงินจึงเหาะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังวัดแจ้งเพื่อขอยืมเงินจากยักษ์วัดแจ้ง แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่ยอมคืนเงินแก่ยักษ์วัดแจ้ง และเมื่อถูกทวงจากยักษ์วัดแจ้งก็ยังไม่ยอมคืน ทำให้เกิดการต่อสู้ครั้งใหญ่ ส่งผลให้พื้นที่และสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณนั้นได้รับความเสียหายต้นไม้น้อยใหญ่หักโค่นล้มตายจนกลายเป็นที่โล่ง ความทราบถึงพระอิศวร ยักษ์ทั้งสองตนจึงถูกลงโทษโดยการถูกสาปเป็นหินให้ยืนยามเฝ้าประตูพระมณฑปและเฝ้าประตูที่วัดของตน ยักษ์วัดโพธิ์ให้ยืนเฝ้าประตูพระมณฑปและยักษ์วัดแจ้งก็ให้ยืนเฝ้าพระวิหาร พื้นที่บริเวณดังกล่าวที่ยักษ์ทั้งสองวิวาทกันนั้นจึงได้รับการเรียกขานว่าท่าเตียนตราบจนทุกวันนี้

                 กลอนตำนานท่าเตียน
                                    ยักษ์วัดโพธิ์อวดโตยืนจังก้า           ทำยักท่านักเลงให้เกรงขาม  
                         ขู่ตะคอกบอกว่าอย่าลวนลาม                     ใครยุ่มย่ามเป็นไม่ไว้ชีวา
                         ข้านั้นหรือคือมือเก่าเฝ้าวัดนี้                      มาหลายปีดีดักนานนักหนา
                         อันทรัพย์สินไม่เคยหายในเวลา                  พระท่านมาอยู่ด้วยช่วยระวัง
                         เป็นเรื่องจริงใช้คุยคุ้ยเอาเรื่อง                    เคยขุ่นเคืองมาก่อนกลับย้อนหลัง
                         ยักษ์วัดแจ้งคอยระแวงแกล้งชิงชัง              เหาะข้ามฝั่งมาราวีถึงที่เรา          
                         เราก็ชายชาติยักษ์รักถิ่นฐาน                     ใครรุกรานต้องขย้ำซ้ำให้เน่า
                         สงครามขั้นพันตูดูไม่เบา                          พองต่อพองจ้องเข้าประหัตถ์กัน             
                         สู้กันได้หลายตั้งยังไม่แพ้                         บ้านเรือนแพริมฝั่งพังสะบั้น
                         กระแสชลวนแหวกกระแทกกัน                  ดังสนั่นลั่นรัวทั่วพารา
                         แสนสงสารชาวท่าหน้าตลาด                    ต้องอนาถอกหักเพราะยักษา
                         บ้างบนบานศาลกล่าวเจ้าโลกา                  เชิญท่านมาอยู่ด้วยช่วยกันภัย
                         ครั้นเมื่อยักษ์เลิกรบสงบศึก                      ใจระทึกหม่นหมองนั่งร้องไห้
                         จะยลหน้าไปมองแห่งหนใด                     ดูไม่ได้มีแต่เหี้ยนเตียนราบลง
                         ตั้งแต่นั้นจึงพากันขนาน                           นามเรียกขานกันใหม่ไม่ใหลหลง
                         ว่า “ท่าเตียน” เปลี่ยนให้ด้วยใจจง              ชื่อยังคงมีอยู่มิรู้ลืม
                                                                    ที่มา 
http://www.watpho.com/th/architecture/detail/265


ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
อัตลักษณ์ หรือความเป็นตัวตนที่แสดงออกของตำนานยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์วัดแจ้ง สามารถสรุปได้ ดังนี้

         ๑. “ยักษ์” เป็นอมนุษย์ชนิดหนึ่ง มีกล่าวถึงทั้งในทางศาสนาและวรรณคดี เป็นความเชื่อของไทยที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ โดยเชื่อว่ายักษ์มีหลายระดับขึ้นอยู่กับบุญบารมี ยักษ์ชั้นสูงจะมีวิมานเป็นทอง มีรูปร่างสวยงาม ปกติไม่เห็นเขี้ยว เวลาโกรธจึงจะมีเขี้ยวงอกออกมา ยักษ์ชั้นกลาง ส่วนใหญ่จะเป็นบริวารของยักษ์ชั้นสูง ส่วนยักษ์ชั้นต่ำที่บุญน้อยก็จะมีรูปร่างน่ากลัว ผมหยิกตัวดำผิวหยาบ นิสัยดุร้าย จะเห็นได้ว่าในวัดวาอารามต่าง ๆ มักจะมียักษ์มาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของวัด หรือโบราณสถาน ไม่ว่าจะซึ่งตามตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้เทศน์สั่งสอนยักษ์ให้ลดทิฐิมานะ ยักษ์ที่ได้ฟังและเข้าใจในพระธรรม จึงได้กลายมาเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา หรืออีกนัยหนึ่งก็หมายถึง ผู้แบกสรวงสวรรค์ และทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองสถูปสถาน และอาคารศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้มั่งคงและเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา คนโบราณเชื่อว่ายักษ์ที่เฝ้าซุ้มประตูมีอิทธิฤทธิ์ในการขับไล่ภูติ ผี ปีศาจ จึงมีหน้าที่ ปกปักษ์รักษาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีค่าที่อยู่ด้านใน
         นอกจากจะปรากฏในวรรณคดี ความเชื่อ  หรือตำนานของไทยแล้ว  ยักษ์ยังมีบทบาทในฐานะ“ทวารบาล”  คือผู้เฝ้าประตูของศาสนาสถานทางพระพุทธศาสนาโดยปรากฏเป็นภาพจิตรกรรมหรืองานแกะสลักประดับที่บานประตูและบานหน้าต่างของพระอุโบสถ  วิหาร ฯลฯ  ตลอดจนเป็นรูปปูนปั้นยืนอยู่หน้าประตูทางเข้าวัดหรืออาคารต่างๆโดยมีหน้าที่ยืนยามเพื่อปกป้องภูตผีตลอดจนสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ที่จะเข้ามาในศาสนสถานนั้นๆ สอดคล้องกับตำนานในสมัยพุทธกาลที่ว่า สาตาเศียร กับ เหมวัติสิง ยักษ์สองตนซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำคงคาได้นำบริวารมาเข้าเฝ้าและสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้าจนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงได้ปวารณาตนเป็นข้ารับใช้ เกิดเป็นคติการสร้างรูปยักษ์เฝ้าวัดมาถึงปัจจุบัน ซึ่งยักษ์ทวารบาลที่มีชื่อเสียงและปรากฏเป็นตำนานสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของไทยคือเรื่องยักษ์วัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้ง ที่เป็นเหตุให้เกิดชื่อย่าน “ท่าเตียน”  ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งในตำนานเล่าเรื่องเกี่ยวกับยักษ์วัดแจ้งยักษ์วัดโพธิ์สู้กันจนทำให้เกิดท่าเตียน

                 ยักษ์วัดโพธิ์ 
               การสร้างรูปยักษ์รักษาประตูที่วัดโพธิ์มีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นลั่นถันแทนที่ (รูปตุ๊กตาศิลาจีน) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) โดยทรงให้รื้อยักษ์ประจำประตูทั้ง ๔ ด้าน แล้วโปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปยักษ์ขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ ๑๗๕ เซนติเมตร ตั้งไว้บริเวณที่ทางเข้าพระมณฑปตรงซุ้มประตูด้านละ ๑ คู่ รวมจำนวน ๘ ตน
ให้ทำหน้าที่เฝ้าพิทักษ์รักษาหอพระไตรปิฎกทั้งสี่ทิศ ดังนี้

                ๑) ทศกัณฑ์   กับ   สหัสสเดชะ   เฝ้าประตูทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
                ๒) อินทรชิต   กับ   สุริยาภพ      เฝ้าประตูทิศตะวันออกเฉียงใต้
                ๓) พญาขร     กับ   สัทธาสูร      เฝ้าประตูทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
                ๔) ไมยราพ    กับ   แสงอาทิตย์  เฝ้าประตูทิศตะวันตกเฉียงใต้



               ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์ประจำรัชกาลของพระองค์ จึงมีการรือซุ้มประตูออกไป ๒ ซุ้ม ทำให้ต้องย้ายยักษ์ ๔ ตน ออก คือ สหัสสเดชะทศกัณฐ์ อินทรชิต และสุริยาภพ และถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทำให้ปัจจุบันปรากฏรูปยักษ์อยู่เพียง ๒ คู่ คือ ยักษ์ที่เฝ้าประตูทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ชื่อ พญาขรกับสัทธาสูร และยักษ์ที่เฝ้าประตูทิศตะวันตกเฉียงใต้ ชื่อ ไมยราพกับแสงอาทิตย์
 
รายละเอียดของยักษ์แต่ละตนในวัดโพธิ์ คือ
         ๑) ทศกัณฐ์ ลักษณะกายสีเขียว เป็นยักษ์รูปงาม มีสิบหน้า ยี่สิบกร ทรงมงกุฏชัย ลักษณะปากแสยะ     ตาโพลง มีนิสัยเจ้าชู้ ตอนที่เกี้ยวพาราสีนางมณโฑได้เนรมิตร่างตนเองให้เป็นสีทอง
        ๒) สหัสสเดชะ ลักษณะกายสีเขียว ปากแสยะโพลง สวมมงกุฎยอดชัย ใบหน้ามีสีขาว และเรียงหน้าเป็น ๔-๕ ชั้น ชั้นแรกเป็นหน้าปกติ ๑ หน้า และหน้าเล็กๆ เรียงกัน ตรงท้ายทอยด้านหลัง ๓ หน้า ส่วนชั้นที่ ๒ ๓ และ ๔ ทำเป็นหน้าเล็ก ๆ เรียงลดหลั่นกันไป ชั้นสุดท้ายมี ๒ ลักษณะคือ ถ้าไม่เป็นหน้ายักษ์ ก็เป็นหน้าพรหม
        ๓) อินทรชิต ลักษณะกายสีเขียว ปากขบ ตาโพลง เขี้ยวคุดหรือเขี้ยวมะลิ สวมชฎามนุษย์ยอดเดินหน  จอนหูแบบตัวพระ มี ๑ พักตร์ ๒ กร เป็นโอรสท้าวทศกัณฐ์กับนางมณโฑ มเหสีชื่อสุวรรณกันยุมา บุตรชื่อยามมลิวันและกันยุเวก
        ๔) สุริยาภพ ลักษณะกายสีแดงชาด ปากขบ ตาโพลง เขี้ยวงอกงอลง รูปหน้าเหมือนอินทรชิต สวมชฎามนุษย์ยอดเดินหน จอนหูมีทั้งแบบจอนมนุษย์ (พระ) และจอนยักษ์ มี ๑ พักตร์ ๒ กร เป็นโอรสองค์แรกของท้าวจักรวรรดิผู้ครองกรุง  มลิวันกับนางวัชนีสูร มีหอกเมฆพัทเป็นอาวุธวิเศษ
        ๕) พญาขร ลักษณะกายสีเขียว  ปากขบ  ตาจระเข้  สวมมงกุฎจีบ  มี ๑ พักตร์ ๒ กร  เป็นอนุชาทศกัณฐ์ ครองเมืองโรมคัล มเหสีชื่อรัชฎาสูร บุตรชื่อมังกรกัณฐ์และแสงอาทิตย์
        ๖) สัทธาสูร ลักษณะกายสีหงเสน ปากขบ ตาโพลง บางตำราว่าตาจระเข้ สวมมงกุฎจีบ มี ๑ พักตร์ ๒ กร เป็นเจ้าเมืองอัสดงค์ มีอิทธิฤทธิ์สามารถเรียกอาวุธจากเทวดาได้
        ๗) ไมยราพ ลักษณะกายสีม่วงอ่อน ปากขบ ตาจระเข้ สวมมงกุฎกระหนก มี ๑ พักตร์ ๒ กร เป็นโอรสท้าวมหายมยักษ์กับนางจันทรประภา มีพี่สาวชื่อพิรากวน ครองกรุงบาดาล มีเวทย์มนต์สามารถสะกดทัพและเครื่องสรรพยาเป่ากล้อง
        ๘) แสงอาทิตย์ ลักษณะกายหน้าสีแดงชาด ปากขบ ตาจระเข้ สวมมงกุฎกระหนก มีอาวุธคือ แว่นวิเศษที่ฉายส่องไปทางใดก็บังเกิดไฟไหม้ มี ๑ พักตร์ ๒ กร เป็นโอรสองค์ที่ ๒ ของพญาขรและนางรัชฎาสูร เป็นอนุชามังกรกัณฐ์

          ยักษ์วัดแจ้ง 
         ยักษ์วัดแจ้ง  เป็นปูนปั้นประดับกระเบื้องรูปยักษ์ยืนอยู่หน้าประตูซุ้มยอดมงกุฎอยู่ ๒ ตน  มือทั้งสองกุมกระบองยืนย่อเหลี่ยมอยู่บนแท่นสูงประมาณ ๓ วา ( ๖ เมตร) ดังนี้



            ๑) ยักษ์ที่ยืนด้านทิศเหนือ (กายสีขาว) คือ สหัสเดชะ ตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นยักษ์เจ้าเมือง  ปางตาล มี ๑,๐๐๐ หน้า ๒,๐๐๐ มือ ร่างกายสูงใหญ่ดั่งเขาอัศกรรม มีกระบองวิเศษที่พระพรหมประทาน เรียกว่า กระบองต้นชี้ตายปลายชี้เป็น มีฤทธิ์คือหากต้นกระบองชี้ไปหาผู้ใดคนนั้นจะเสียชีวิตทันที แต่หากชี้ทางปลายกระบองไปหาจะฟื้นคืนชีพ นอกจากนี้ ท้าวเธอยังได้รับพรจากพระพรหมว่าหากข้าศึกศัตรูเห็นจะหนีหายไปด้วยความกลัวสหัสเดชะ เป็นพี่ชายของมูลพลัม ซึ่งเป็นเพื่อนของทศกัณฐ์

          ๒) ยักษ์ที่ยืนด้านทิศใต้ คือ ทศกัณฐ์ ยักษ์กายสีเขียว ปากแสยะ ตาโพลง สวมมงกุฎยอดชัย มี ๑๐ หน้า ๒๐ มือ หน้าทศกัณฐ์ทำเป็นชั้นซ้อนสามชั้น  ชั้นแรกเป็นหน้าปกติหนึ่งหน้า และมีหน้าเล็ก ๆ ๓ หน้า ซ้อนตรงท้ายทอย ชั้นที่สองเป็นหน้าเล็ก ๆ ๔ หน้า และชั้นที่สามเป็นหน้าพรหมด้านหน้า และหน้ายักษ์เล็กๆ ด้านหลัง รวมทั้งสิ้น ๑๐ หน้า ทศกัณฐ์เป็นโอรสองค์แรกของท้าวลัสเตียนกับนางรัชฎาท้าวเธอ เป็นเจ้าเมืองลงกาลำดับที่ ๓ มีมเหสีเอกชื่อว่านางมณโฑ
 
          ทั้งทศกัณฐ์และสหัสเดชะถือว่าเป็นยักษ์เจ้ากรุงซึ่งมีศักดิ์สูง  เรียกว่า “ยักษ์ใหญ่”  มีเดชานุภาพมาก  ถือเป็นยักษ์กษัตริย์ในเรื่องรามเกียรติ์  รูปยักษ์คู่นี้เชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๓  โดยฝีมือของหลวงเทพ (กัน)  ดังที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายถวายสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในสาสน์สมเด็จว่า “ยักษ์วัดแจ้งนั้นเขาพูดถึงของเดิมว่าเป็นฝีมือหลวงเทพกัน คำที่ว่าหลวงเทพฯ นั้น จะเป็นหลวงเทพรจนาหรือหลวงเทพยนตร์อะไรก็ไม่ทราบ แต่คำว่า กัน นั้น เป็นชื่อตัวแน่ เพราะฝีมือแกดีจึงโปรดให้ปั้นไว้” แต่ต่อมายักษ์ทั้งสองตนซึ่งเป็นฝีมือของหลวงเทพ (กัน) อาจเกิดการชำรุด  จึงมีการสร้างใหม่ข้นโดยฝีมือช่างในสมัยหลัง  ดังที่ทรงเล่าว่า “รูปเก่านั้นพังไปเสียแล้ว ที่ยืนอยู่บัดนี้เป็นของใหม่ แต่ใหม่ก่อนท่านเจ้านาค (พระพิมลธรรม “นาค”พ.ศ. ๒๔๖๘ -๒๔๘๘) ไปอยู่เป็นแน่ เข้าใจว่ายักษ์วัดแจ้งนั้นแหละพาให้เกิดยักษ์ในวัดพระแก้วขึ้น ในที่สุดยักษ์ก็ต้องมี ที่ต้องมีนั้นจ้างเจ๊กทำก็ได้ เพราะราคาค่อยถูกหน่อย นี่ว่าถึงวัดพระแก้ว แต่ยักษ์คู่ใหม่ที่วัดแจ้งนั้นไม่ทราบ เกล้ากระหม่อมเห็นว่าถ้าหาช่างฝีมือดีปั้นไม่ได้ ไม่ต้องมียักษ์ก็ได้”

          ๒. เป็นเรื่องเล่าที่สะท้อนถึงที่มาของภูมินามบ้านเมือง ที่ได้มีการนำไปต่อยอดในหลาย ๆ ด้าน เช่นการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น

คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ 
            ถึงแม้ยังไม่มีบทสรุปแห่งชื่อที่มาของ ท่าเตียน แต่ตำนานยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์วัดแจ้ง ทำให้เกิดความเข้าใจทำให้เห็นถึงรากเหง้าของเรื่องราวที่บรรพชนสร้างไว้ผ่านงานศิลปะ วรรณกรรม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม นาฏกรรม ลำนำเพลง รวมถึงความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของคนไทย ตำนานที่บอกเล่ากันปากต่อปากนี้ จึงสะท้อนให้เห็นความเป็นไปของสังคม ภาพวิถีชีวิต การทำมาค้าขาย การคมนาคมของคนในอดีต การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งดำเนินสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คุณค่าของวรรณกรรมพื้นบ้าน ตำนานยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์วัดแจ้ง ท่าเตียน เป็นวรรณกรรมที่ถ่ายทอดเรื่องราว สภาพสังคมและเศรษฐกิจของกรุงเทพได้อย่างชัดเจน ซึ่งสามารถสรุปเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

              ๑. คุณค่าต่อคนรุ่นหลัง
               ๑.๑ คุณค่าในการเชื่อมโยงเรื่องราวไปสู่การพัฒนาสถานที่ที่เกี่ยวข้องตามตำนาน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชิงประวัติศาสตร์ และเชิงอนุรักษ์ได้
              ๑.๒  คุณค่าของวรรณกรรมที่สามารถนำไปสู่การสร้างรายได้ในทุกยุคทุกสมัย การส่งต่อและตีความความเชื่อในยุคสมัยใหม่ต่อบทบาทยักษ์วัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้ง
              ๑.๓   คุณค่าในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก และเยาวชน ได้แก่ การส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การส่งเสริมการเรียนรู้ในศาสนสถาน และการปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม
              ๑.๔ คุณค่าในการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น

                ๒. คุณค่าในการศึกษาวิจัย
               ๒.๑ งานวรรณกรรม สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางภาษาและวรรณกรรมจากตำนานมุขปาฐะ
สู่บทประพันธ์และการบอกเล่าประเภทต่าง ๆ
               ๒.๒ สภาพสังคม ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ด้านความเชื่อ และด้านสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ได้แก่ การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและการประกอบอาชีพ รวมไปถึงการพัฒนางานด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมในสถานที่นั้น ๆ  เป็นต้น
สำนักดนตรีไทยพาทยโกศล
ชื่อรายการ             สำนักดนตรีไทยพาทยโกศล                            
ชื่อเรียกในท้องถิ่น   สำนักดนตรีไทยพาทยโกศล  วงปี่พาทย์พาทยโกศล  วงดนตรีไทย-
                            บ้านพาทยโกศล  
สาขา                      ศิลปะการแสดง

พื้นที่ปฏิบัติ             บ้านพาทยโกศล 78 ถนนอรุณอมรินทร์ตัดใหม่ แขวงวัดกัลยาณ์
                            เขตธนบุรีกรุงเทพมหานคร 10600


สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยสังเขป
                “ปี่พาทย์” หรือ “พิณพาทย์” เป็นคำเรียกขานวงดนตรีที่ประกอบไปด้วยเครื่องเป่าคือปี่ขลุ่ยและเครื่องตีจำพวกระนาดฆ้องกลองฉิ่งฉาบกรับโหม่ง วัฒนธรรมปี่พาทย์เป็นวัฒนธรรมดนตรีที่ดำรงคงอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นอุษาคเนย์มานานนับร้อยนับพันปี เป็นสมบัติอันล้ำค่าและเป็นวิญญาณอันลึกซึ้งที่บรรพชนชาวไทยในดินแดนสยามประเทศตลอดจนชุมชนใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นลาว เขมร มอญ พม่า ได้ร่วมกันพัฒนาและสืบทอดกันมาจนกลายเป็นแบบแผนทางดนตรีที่มีความงามสมบูรณ์พร้อม เสียงปี่พาทย์เป็นเสียงที่หลอมความเชื่อพฤติกรรม เป็นเสียงแห่งความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม เป็นเสียงที่มีบทบาทสอดแทรกอยู่ในพิธีกรรม อยู่ในศิลปะการละเล่นโขนละครฟ้อนรำ เป็นเสียงที่เชื่อมโยงการดำเนินชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นนี้ตั้งแต่เกิดจนตาย และเป็นเสียงที่ส่งพัฒนาการไปสู่ระบบการสร้างสรรค์เอกลักษณ์ของชุมชนและท้องถิ่นในรูปแบบที่แตกต่างกัน
                เรื่องของดนตรีปี่พาทย์ในเขตพื้นที่ประเทศไทยและเพื่อนบ้านอุษาคเนย์นั้น ปรากฏมีมาเนิ่นนานช้า ทั้งการคิดสร้างเครื่องดนตรี การสรรหาวัตถุดิบและการดัดแปลงวัสดุที่ค่อยๆพบความลงตัวของรูปทรงในวิถีทางช่างสร้างเครื่องดนตรี การเรียกขานชื่อเสียงเรียงนามของเครื่องดนตรี การทดลองคิดค้นประสมเครื่องดนตรีต่างมิติสีสันของเสียงให้เป็นวงดนตรีปี่พาทย์ขึ้นมา โดยมีพัฒนาการอย่างมากในสมัยกรุงศรีอยุธยา และมีความสมบูรณ์หลากหลายมากที่สุดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รูปแบบการประสมวงปี่พาทย์มีพัฒนาการต่อเนื่องมาทั้งวงปี่กลอง วงปี่พาทย์เครื่องห้าขนาดเล็ก วงปี่พาทย์เครื่องคู่ วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ที่ใช้ในพิธีกรรม วงปี่พาทย์เสภา วงปี่พาทย์นางหงส์ วงปี่พาทย์มอญ วงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ วงปี่พาทย์พื้นเมืองพายัพ วงปี่พาทย์กระเหรี่ยง วงปี่พาทย์ไทใหญ่ วงปี่พาทย์อีสาน วงปี่พาทย์ลิเก วงปี่พาทย์ละครชาตรี ตลอดจนถึงปี่พาทย์ผสมดนตรีฝรั่งและเครื่องไฟฟ้าในปัจจุบัน
         ในช่วงเวลาสองร้อยกว่าปีที่ล่วงมานี้ วัฒนธรรมปี่พาทย์ได้ก่อร่างสร้างตัวอย่างเข้มแข็งมากในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย โดยเฉพาะในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำใกล้เคียง มีชุมชนคนปี่พาทย์กระจายอยู่ทั่วไป ความหลากหลายของสุ้มเสียงสำเนียงดนตรีและสีสันในการเล่นปี่พาทย์ของภาคกลาง เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวปะทะสังสันทน์ของกลุ่มปี่พาทย์ที่พัฒนาวิชาความรู้และกิจกรรมการงานทั้งฝ่ายปี่พาทย์ที่อยู่ภายในและภายนอกจังหวัดกรุงเทพมหานครเป็นหลัก ซึ่งในที่สุดแล้ว ความหลากหลายเหล่านี้ก็ได้ถูกรวมไปเป็นหนึ่งโดยถูกรวมศูนย์อำนาจไว้ที่         ราชสำนักในอดีตและหน่วยงานฝ่ายบริหารจัดการวัฒนธรรมต่างๆของรัฐในปัจจุบัน ทั้งนี้ หากจะเปรียบเทียบสังคมวัฒนธรรมปี่พาทย์ของจังหวัดต่างๆด้วยกันแล้ว การเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมปี่พาทย์ของกรุงเทพมหานครกลายเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด แข็งแกร่งที่สุด และมีพลังมากที่สุดในการกำหนดมิติและเอกลักษณ์ของความเป็นดนตรีไทย
                   วัฒนธรรมปี่พาทย์พื้นบ้านของภาคกลาง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากราชสำนัก จากผู้มีอำนาจในทางเศรษฐกิจการเมืองหรือการศึกษา ช่วยกันขัดเกลา สืบทอดต่อกันมา จนกลายเป็นวัฒนธรรมดนตรีประจำชาติหรือเป็นวัฒนธรรมปี่พาทย์ที่มีระเบียบแบบแผน มีสกุล มีขนบธรรมเนียมไปในที่สุด เรียกว่าเป็น “ดนตรีแบบฉบับ” ปี่พาทย์ หมายถึง วงดนตรีไทยประเภทหนึ่งที่มีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีเป็นหลัก ได้แก่ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก มีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า เช่น ปี่ ขลุ่ย และเครื่องกำกับจังหวะ เช่น ตะโพน กลองทัด เป็นต้น
              ปี่พาทย์ครอบคลุมวัฒนธรรมด้านเครื่องดนตรี ความเชื่อ ค่านิยมขนบธรรมเนียม ประเพณี และระเบียบปฏิบัติ บทบาทหน้าที่โดยรวมของปี่พาทย์ที่ปรากฏในสังคมไทยคือ
                     1) เป็นดนตรีและเสียงที่ใช้ในการดำเนินพิธีกรรม มีทั้งศาสนพิธี พิธีไหว้ครู และพิธีกรรมในวิถีชีวิตของชาวบ้าน
                     2) เป็นดนตรีและเสียงที่ใช้ในการประกอบสร้างศิลปการแสดง เช่น โขน ละคร ลิเก ศิลปการป้องกันตัว เป็นต้น
                 3) เป็นสื่อดนตรีที่ช่วยสร้างความบันเทิง สร้างความเพลิดเพลินสุนทรีย์ทั้งการฟัง การชมการแสดงอย่างจริงจัง หรือความสนุกสนานชั่วครั้งชั่วคราวในชุมชน ในครอบครัว ในหมู่มิตรสหาย ความบันเทิงที่เกิดจากการเปรียบเทียบประชันขันแข่ง และเพื่อกล่อมบรรยากาศในการประกอบกิจกรรมต่างๆ
               สำนักดนตรีไทยพาทยโกศลหรือวงปี่พาทย์พาทยโกศลเป็นตระกูลนักดนตรีไทยที่มีความสามารถและเก่าแก่สืบเนื่องกันลงมาตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ โดยมีการย้ายถิ่นฐานมาจากกรุงศรีอยุธยามาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ ๒ ถึงรัชกาลที่ ๓ จึงมาตั้งบ้านเรือนถาวรบริเวณชุมชนหลังวัดกัลยาณมิตรเป็นสํานักดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงเป็นทียอมรับโดยทั่วไปมีผู้การสืบทอดดนตรีมารุ่นคือแรก หลวงกัลยาณมิตาวาส (ทับ พาทยโกศล) เจ้าสำนักคนแรก ครูทองดี ชูสัตย์, ครูจางวางทั่วพาทยโกศล ครูเทวาประสิทธิ และคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ทายาทของครูจางวางทั่วได้เป็นผู้เผยแพร่ออกสู่สถานศึกษาต่างๆ มีโอกาสรับใช้พระราชสำนัก ตั้งแต่วังบ้านหม้อ วังนางเลิ้ง วังบางขุนพรหม วังสวนผักกาด วังปลายเนิน นอกจากนั้นยังมีโอกาสในการช่วยเหลือสังคม ในการงานบริการสังคมและงานศาสนพิธี เช่น วัดประยูรวงศาวาส วัดอรุณราชวราราม วัดกัลยาณมิตร วัดโสมนัสและวัดอื่นๆรอบฝั่งธนบุรี สำนักพาทยโกศลเป็นแหล่งรวมเครื่องดนตรีชิ้นสำคัญที่มีความงดงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ ซอทวนนาค, ปี่ท่านพระ มรดกตกทอดจากพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางค์กูร) ครูดนตรีคนสำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว, กลองเจ๋อเจอะเป็นกลองที่ใช้ในการเสี่ยงทาย, ถ่วงน้ำเป็นเครื่องดนตรีที่ต้องใส่น้ำเพื่อเทียบเสียง
                กระบวนการถ่ายทอดวิชาดนตรีของสำนักพาทยโกศลมีส่วนประกอบ ๓ ส่วนคือ การต่อเพลง การเรียนรู้ของศิษย์ และความสัมพันธ์ครูกับศิษย์การเรียนรู้ของศิษย์เกิดมาจากการฝึกฝนและประสบการณ์จนทำให้เกิดความชำนาญ ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์จะเป็นไปในรูปแบบการสอนตัวต่อตัวทำให้ครูกับศิษย์มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด
 
ประวัติความเป็นมา

            ประวัติความเป็นมาของสายสกุลสำนักดนตรีไทยพาทยโกศล
                 บ้านพาทยโกศล มีประวัติอันยาวนานที่มีคุณค่าต่อบริบททางสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง เป็นต้นตระกูลของนักดนตรีไทยที่มีความสามารถและมีชื่อเสียงสืบแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ต้นสกุลชั้นสูงสุดที่สืบได้ คือ หลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ พาทยโกศล) คาดว่าเกิดในราวปลายสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นผู้ชำนาญทางปี่พาทย์ มีความสามารถถึงกับได้รับยกย่องให้เป็นครูประจำวงของเจ้าคุณประภากรวงศ์ ส่วนนางแสง ชูสัตย์ ภรรยาของท่านก็เป็นผู้ดีจะเข้ฝีมือดีจนได้รับยกย่องให้เป็นครูดนตรีเจ้านายฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยเช่นกันทายาทของหลวงกัลยาณมิตาวาสที่มีความสามารถโดดเด่นเป็นประจักษ์ต่อมา ได้แก่จางวางทั่ว พาทยโกศล
                จางวางทั่ว พาทยโกศล เกิดเมื่อ วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2424 ที่บ้านหลังวัดกัลยาณมิตร เป็นบุตรคนที่ 12 ของหลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ พาทยโกศล) กับนางแสงได้ฝึกฝนถ่ายทอดวิชาดนตรีจากบิดามารดา และครูทองดี ชูสัตย์ ผู้เป็นน้า มาตั้งแต่เยาว์วัย
                  ในสมัยรัชกาลที่ 5 ครูจางวางทั่ว รับหน้าที่ควบคุมวงปี่พาทย์ของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และต่อมาคุมวงปี่พาทย์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ณ วังบางขุนพรหมพัฒนาให้วงวังบางขุนพรหมเป็นวงที่มีชื่อเสียงดีเด่นมาในระยะนั้น ท่านได้รับตำแหน่งจางวาง ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ พระพี่นางของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต     ลูกศิษย์จึงมักออกชื่อท่านว่าครูจางวางทั่ว หรือครูจางวาง
            ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือทูนกระหม่อมบริพัตรทรงเป็นผู้บัญชาการกองทัพเรือและเป็นเสนาธิการกองทัพบก พระองค์จึงโปรดให้ครูจางวางทั่วไปสอนเพลงในกองแตรวงทหารเรือ และกองแตรวงมหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ นอกจากงานราชการ ครูจางวางยังได้ถ่ายทอดวิชาดนตรีทุกชนิด ตลอดจนการขับร้องให้แก่ศิษย์ทั้งจากในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
               ปลายรัชกาลที่ 6 ครูจางวางได้นำวงพิณพาทย์วังบางขุนพรหม อัดแผ่นเสียงเพลงไทยมากมายหลายสิบแผ่น นับเป็นการฝากฝีมือและผลงานไว้ให้รุ่นหลานได้ชื่นชม นอกเหนือจากความสามารถในการบรรเลงเครื่องดนตรีทุกชนิด ทั้งปี่พาทย์และเครื่องสายตลอดจนการขับร้องแล้ว ครูจางวางทั่วยังมีความสามารถในการแต่งเพลงได้ดีเยี่ยมทั้งทางร้องและทางเครื่อง จนถึงทางเดี่ยวสำหรับเครื่องดนตรีบางอย่างอีกด้วย
            ทายาทของจางวางทั่วคือ ครูเทวาประสิทธิ์ และคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ได้ดูแลวงดนตรีพาทยโกศลต่อมา ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ศิษย์ ต่อมาเมื่อทั้งสองท่านสิ้นอายุขัย จึงได้ส่งต่อหน้าที่ให้ร้อยเอกอุทัย พาทยโกศล ทายาทของครูเทวาประสิทธิ์ ดูแลต่อ จนกระทั่งร้อยเอกอุทัยถึงแก่กรรม ปัจจุบัน นางราตรี พาทยโกศล เป็นผู้ดูแลกิจการของสำนัก โดยมี นายสมศักดิ์ ไตรย์วาสน์ เป็นผู้ควบคุมวงดนตรีและเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งในด้านเพลงและประวัติของบ้านพาทยโกศล
   
ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
  1. สำนักดนตรีไทยพาทยโกศลสืบทอดวัฒนธรรมดนตรีของตนโดยพยายามรักษาไว้ให้คงรูปแบบเดิมไม่ว่าจะเป็นรูปแบบขององค์กรการบรรเลงเพลงที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมโดยไม่พยายามที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามเงื่อนไขของบริบททางสังคม
  2. สำนักดนตรีไทยพาทยโกศลมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยพร้อมเพรียงตามหน้าที่ของผู้บรรเลงแต่ละเครื่องและทางเพลงเป็นทางที่ไพเราะแปลกกว่าวงอื่น ๆ
  3. ทางร้องของสำนักดนตรีไทยพาทยโกศลมีเอกลักษณ์แบบทำนองร้องความหมายของคำมีความสำคัญเป็นอย่างมากเมื่อร้องแล้วความหมายของคำร้องไม่เปลี่ยนไปเสียงคำร้องและเสียงเอื้อนมีความชัดเจน ไม่ซับซ้อน เสียงเอื้อนและทำนองเพื่อดำเนินทำนองอย่างตรงไปตรงมา ทางขับร้องของสำนักดนตรีไทยพาทยโกศลมีเนื้อหาและอารมณ์เพลงครบถ้วน ทั้งนี้การให้ความสำคัญกับคำร้องภาษาและความชัดเจนในการถ่ายทอดทำนองร้องเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทำนองทางร้องสำนักดนตรีไทยพาทยโกศลมีเอกลักษณ์เฉพาะพิเศษ จากการศึกษาทางขับร้องสำนักดนตรีไทยพาทยโกศลพบว่า ชื่อเพลง คำร้อง ทำนองเอื้อนมีความสัมพันธ์กัน ยังขับร้องโดยออกเสียงคำร้องให้ชัดเจนถูกต้องตามอักขระสื่อความหมายออกมาอย่างตรงตัวเลื่อนให้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของสำนักดนตรีไทยพาทยโกศล ถือว่ามีความครบถ้วนในสุนทรียรสแห่งการขับร้องเพลงไทย
คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
. คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ
                    สำนักดนตรีไทยพาทยโกศลซึ่งมีต้นกำเนิดที่บ้านพาทยโกศล คือบ้านของต้นตระกูล "พาทยโกศล" ซึ่งบรรพบุรุษคือ หลวงกัลยาณมิตาวาส จางวางทั่ว พาทยโกศลครูดนตรีไทยผู้มีชื่อเสียงในทางปี่พาทย์ โดยนามสกุล "พาทยโกศล" สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงประทานให้เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๐
                นอกจากฝีมือการเล่นดนตรีอันเป็นเอกของจางวางทั่วแล้ว ท่านยังได้ชื่อว่าเป็นนักแต่งเพลงที่มีความสามารถมากอีกท่านหนึ่ง โดยได้แต่งเพลงไว้เป็นจำนวนมาก เพลงเถาเพลงแรก ที่ท่านแต่งคือคือ เพลงหกบท, เขมรปากท่อ เถา, เขมรเขียว เถา, แขกสาหร่าย เถา, ดอกไม้ร่วง เถา, โอ้ลาว เถา, เขมรเหลือง เถา, เขมรครวญ เถา, เขมรน้อย เถา, พม่าห้าท่อน เถา,บังใบ เถา, พม่า เถา, สี่บท เถา, แปดบท เถา, กลยาแย้มบท เถา, เขมรเอวบาง เถา, เขมรพวง เถา,เขมรชมจันทร์   เถา, แขกมอญบางช้างเถา และเสภานอก เถา เป็นต้น
                     ส่วนประเภทเพลงตับ ได้แก่ ตับลาวเจริญศรี,ตับชุดแขกไทร, ตับนกสีชมพู เป็นต้น
                   นอกจากนี้ ท่านยังมีผลงานในการประพันธ์เพลงประเภทเพลงเดี่ยว ได้แก่ เพลงกราวใน เพลงอาเฮีย (ทางเดี่ยวแต่ละเครื่องมือสำหรับปี่พาทย์ทั้งวง ใช้แสดงในงานฉลองพระชันษาครบสี่รอบของสมเด็จพระเจ้า-บรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์) เพลงหกบท เถา ทางเดี่ยว (สำหรับทุกเครื่องมือ) พญาโศก สามชั้น ทางเดี่ยว (ระนาดและฆ้องใหญ่) เพลงทะแยเถา ทางเดี่ยว (ทุกเครื่องมือ) เพลงลาวแพน (ทางระนาดเอก ฆ้องใหญ่ จะเข้) เป็นต้น
                 จางวางทั่วเป็นผู้มีอุปนิสัยโอบอ้อมอารี จึงมีศิษย์มาฝากตัวศึกษาวิชาดนตรีไทยจำนวนมาก ศิษย์เอกที่มีฝีมือสูงและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไป ได้แก่ นายทรัพย์ เซ็นพานิช (ระนาดเอก), นายเตือน พาทยกุล,นายฉัตร สุนทรวาทิน (ระนาดทุ้ม), นายช่อ สุนทรวาทิน (ฆ้องใหญ่), นายฉ่ำ เกิดใจตรง, นายเจียน มาลัยมาลย์, นายสาลี่ มาลัยมาลย์ (ฆ้องเล็ก, ปี่ใน), นายปูน คงศรีวิไล (ปี่), นายพันตรี หลวงประสานดุริยศัพท์ ผู้บังคับแตรวงทหารบก, นายละม้าย พาทยโกศล (เครื่องหนัง) นายยรรยงค์ โปร่งน้ำใจ (เครื่องหนัง) นายอาจ สุนทร (โยธวาทิต) นายพังพอน แตงสืบพันธุ์ (ปี่) นายโป๊ะ เหมรำไพ (ขับร้อง) ครูเทวาประสิทธิ์ และคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ เป็นต้น ต่อมาในยุคครูเทวาประสิทธิ์และคุณหญิงไพฑูรย์ มีศิษย์ที่มีฝีมือและความรู้ เช่น นายภาวาส บุนนาค นายสำราญ เกิดผล นายบุญยงค์ เกตุคง นายฉ่ำ เกิดใจตรง นางแช่มช้อย เกิดใจตรง นายสละ จอนแจ้งจันทน์ นายบุญรอด ทองวิวัฒน์ นายทองใบ คล่องฝีมือ นายสมหมาย สุวรรณวัฒน์ นายสมศักดิ์ ไตรย์วาสน์ นายพัฒน์ บัวทั่ง เป็นต้น
                   สำนักดนตรีไทยพาทยโกศลเป็นสำนักดนตรีไทยที่ยังคงใช้วิชาชีพดนตรีไทยเลี้ยงตนเองและครอบครัวรับงานบรรเลงอยู่อย่างสม่ำเสมอจนถึงปัจจุบัน ดนตรีไทยเป็นศิลปะที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมที่มีค่าและภาคภูมิใจของชาติ ปัจจุบันเอกลักษณ์ของไทยแขนงนี้ได้ถูกทอดทิ้งจากสังคมส่วนใหญ่โดยปล่อยให้คนเพียงกลุ่มเดียวในสังคมรับผิดชอบดูแล ทั้งสืบสานอนุรักษ์และถ่ายทอดจากครูสู่ลูกหลาน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะดนตรีไทยเป็นศิลปะที่มีความละเอียดอ่อน การถ่ายทอดจากครูสู่ลูกศิษย์ต้องใช้เวลานานกว่าจะเรียนรู้และเข้าใจ การสืบสานต้องใช้วิธีบอกเพลงกันตัวต่อตัวไม่มีสื่อช่วยในการเรียนการสอน ต้องจดจำและฝึกซ้อมจึงจะเกิดความชำนาญ
 
. บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
                    การอนุรักษ์และฟื้นฟู ดนตรีไทยเป็นศิลปะที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมที่มีค่าและภาคภูมิใจของชาติ ปัจจุบันเอกลักษณ์ของไทยแขนงนี้ได้ถูกทอดทิ้งจากสังคมส่วนใหญ่โดยปล่อยให้คนเพียงกลุ่มเดียวในสังคมรับผิดชอบดูแล ทั้งสืบสานอนุรักษ์ และถ่ายทอดจากครูสู่ลูกหลาน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะดนตรีไทยเป็นศิลปะที่มีความละเอียดอ่อน การถ่ายทอดจากครูสู่ลูกศิษย์ต้องใช้เวลานานกว่าจะเรียนรู้และเข้าใจ การสืบสานต้องใช้วิธีบอกเพลงกันตัวต่อตัวไม่มีสื่อช่วยในการเรียนการสอน ต้องจดจำและฝึกซ้อมจึงจะเกิดความชำนาญ
              ประการสำคัญความนิยมของคนในสังคมปัจจุบันชอบที่จะประกอบอาชีพอย่างอื่นและ เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทกับคนไทยมากขึ้น วัฒนธรรมทางดนตรี แขนงนี้อาจสูญหายไปเนื่องจากขาดคนสืบทอด ชุมชน สังคม โดยเฉพาะสถานศึกษาจะต้องช่วยกันอนุรักษ์ให้มากยิ่งขึ้น ก่อนที่ “แนวทางดนตรีแบบสำนักดนตรีไทยพาทยโกศล” ที่สืบทอดมาตั้งแต่ตันกรุงรัตนโกสินทร์และยังคงรักษาเอกลักษณ์ในการบรรเลงดนตรีไทยไว้จนถึงปัจจุบัน จะสูญหายไป
                  ด้านการสนับสนุนเผยแพร่ กำหนดให้มีการเรียนการสอนเผยแพร่แนวทางดนตรีแบบพาทยโกศลในหลักสูตรโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา ส่งเสริมการวิจัยในระดับอุดมศึกษาให้มากขึ้น


 
การทำขวัญข้าว เขตลาดกระบัง
ชื่อรายการ การทำขวัญข้าว เขตลาดกระบัง                   
ชื่อเรียกในท้องถิ่น   การทำขวัญข้าว การสู่ขวัญข้าว การรับขวัญข้าว การทำขวัญแม่โพสพ การสู่ขวัญแม่โพสพ
สาขา แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และงานเทศกาล
พื้นที่ปฏิบัติ 
แขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร, แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร.

       
            ในสังคมกสิกรรมนั้นจะมีพิธีต่างๆ เพื่อบวงสรวง บูชา อ้อนวอนเทพเจ้าที่เกี่ยวกับพืชพรรณธัญญาหารและเทพเจ้าที่เกี่ยวกับดิน น้ำ ลม ไฟ ตลอดถึงธรรมชาติอื่นๆ อันเป็นหลักปฏิบัติที่เชื่อว่าจะก่อให้เกิดอาหารอุดมสมบูรณ์ เกิดสวัสดิมงคลและความปลอดภัย มั่นคง แก่ชีวิตทรัพย์สินและสิ่งที่เกี่ยวข้องโดยประเพณีหรือพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับข้าวและการทำนา เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย มีวัตถุประสงค์และแนวทางเพื่อให้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ ซึ่งพบได้ในเกือบทุกขั้นตอนของการทำนา ตั้งแต่ก่อนการเพาะปลูกจนกระทั่งถึงการเก็บเกี่ยว

       
         ประเภทและรูปแบบพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวและการทำนา สามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้
         ๑. พิธีกรรมเพื่อบวงสรวง อ้อนวอน เสี่ยงทาย หมายถึง พิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในการบูชา บวงสรวงเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือบรรพบุรุษให้คุ้มครองป้องกันภัยอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินให้มีความอุดมสมบูรณ์ในทุกๆ ด้าน และขอพรในการดำรงชีพในรอบปีนั้นๆ พิธีกรรมประเภทนี้ส่วนใหญ่จัดขึ้นก่อนการเพาะปลูกหรือช่วงการเพาะปลูก เช่น พิธีสืบชะตาเมือง พิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ พิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ พิธีฟ้อนผีมดผีเม็ง พิธีเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ พิธีขอฝนหรือพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ พิธีแห่นางแมว เทศน์พญาคันคาก สวดคาถาปลาช่อน พิธีปั้นเมฆ พิธีบูชาแถน พิธีบุญบั้งไฟ พิธีบุญชำฮะ วิธีเซ่นบูชาหลักบ้านหลักเมือง เป็นต้น
          ๒. พิธีกรรมเพื่อการเพาะปลูก หมายถึง พิธีกรรมที่มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์เพื่อการเพาะปลูกข้าวโดยเฉพาะ ซึ่งกระทำในช่วงการเพาะปลูก เป็นการขอโอกาส ขออนุญาต บวงสรวง บนบาน บอกกล่าวฝากฝังสิ่งที่เกี่ยวข้องกับข้าวและการเพาะปลูกแก่เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอให้การเพาะปลูกข้าวในปีนั้นๆ ดำเนินไปด้วยดี ทั้งคน ข้าว สัตว์ ปราศจากอันตรายต่างๆ และเพื่อแสดงความอ่อนน้อมต่อข้าวและสิ่งที่เกี่ยวข้อง เช่น พิธีแรกไถนา วิธีเลี้ยงตาแฮก พิธีบูชาภูมินา พิธีแรกไถ ตกกล้า พิธีปักข้าวตาแฮก พิธีปักกกแฮก พิธีแรกหว่านข้าว พิธีเชิญแม่โพสพใส่ข้าวปลูก พิธีเชิญแม่โพสพลงนา พิธีบูชาแม่ธรณี พิธีบ๋าแม่ธรณี พิธีเอาฝุ่นใส่นา เป็นต้น
           ๓. พิธีกรรมเพื่อการบำรุงรักษา หมายถึง พิธีกรรมที่มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์เพื่อการบำรุงรักษาข้าวกล้าให้เจริญงอกงาม ปลอดภัยจากสัตว์ต่างๆ พิธีกรรมประเภทนี้จัดขึ้นช่วงระหว่างการเพาะปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว เช่น พิธีไล่น้ำ พิธีปักตาเหลว พิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ พิธีสวดสังคหะ วิธีไหว้เจ้าที่ พิธีรับขวัญแม่โพสพ พิธีส่งข้าวบิณฑ์ พิธีคดข้าว พิธีไล่หนู ไล่นก ไล่เพลี้ย ไล่แมลง ไล่ปู ไล่หนอน และอื่นๆ โดยใช้น้ำมนต์ ผ้ายันต์ การภาวนา การหว่านทราย หรือใช้เครื่องราง เป็นต้น
           ๔. พิธีกรรมเพื่อการเก็บเกี่ยว หมายถึง พิธีกรรมที่มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์เพื่อการเก็บเกี่ยวและนวดข้าว ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผลผลิตมาก เพื่อให้คน สัตว์ ปลอดภัยในการเก็บเกี่ยว และเพื่อแสดงความอ่อนน้อมต่อข้าว ตลอดถึงสิ่งที่เกี่ยวข้อง พิธีกรรมประเภทนี้จัดขึ้นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวมีพิธีกรรมชนิดต่างๆ เช่น พิธีรวบข้าว พิธีแรกเกี่ยวข้าว พิธีเชิญข้าวขวัญ (เก็บข้าวขวัญ) พิธีวางข้าวต๋างน้ำ พิธีทำลาน พิธีปลงข้าว พิธีขนข้าวขึ้นยุ้ง พิธีตั้งลอมข้าว พิธีปิดยุ้ง พิธีเปิดยุ้ง เป็นต้น
           ๕. พิธีกรรมเพื่อการเฉลิมฉลอง หมายถึง พิธีกรรมที่มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์เพื่อการเฉลิมฉลองผลผลิตที่ได้ ถือโอกาสเลี้ยงอาหารเพื่อนบ้านและแก้บนหรือเซ่นสังเวยเทพอารักษ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ได้ให้การคุ้มครองปกปักรักษาคน สัตว์ พืชพรรณธัญญาหารให้ได้ผลดีอยู่เย็นเป็นสุขตลอดฤดูกาลที่ผ่านมา เมื่อได้เก็บเกี่ยวแล้วจึงต้องตอบแทนความเมตตากรุณาเหล่านั้นและหากมีการกระทำล่วงเกินในสิ่งเหล่านี้ ทั้งกาย วาจาใจ จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตามก็ขออโหสิกรรม เช่น พิธีทำบุญคูนลาน พิธีสู่ขวัญข้าว พิธีเผาข้าว พิธีขอพร พิธีบุญกุ้มข้าวใหญ่ พิธีบุญข้าวจี่ พิธีกวนข้าวทิพย์ พิธีกวนข้าวยาคู พิธีสู่ขวัญข้าวขึ้นเล้า พิธีสู่ขวัญเกวียน พิธีบุญพระเวศ (แห่ข้าวพันก้อน) พิธีลาซัง พิธีกองข้าว พิธีขึ้นปีใหม่ พิธีสู่ขวัญวัวควาย (ซึ่งจัดขึ้นหลังฤดูกาลเพาะปลูก) เป็นต้น
         การทำขวัญข้าวเป็นพิธีกรรมดั้งเดิมในภูมิภาคที่มีการปลูกข้าวของประเทศไทย เรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น การทำขวัญข้าว การสู่ขวัญข้าว การรับขวัญข้าว การทำขวัญแม่โพสพ การสู่ขวัญแม่โพสพ พิธีกรรมอาจคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันไปตามพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่เป็นแสดงถึงการผสมผสานของความเชื่อเรื่องผีและขวัญ โดยในแต่ละภาคจะมีการทำขวัญข้าวไม่พร้อมกัน แต่ที่พบมีลักษณะคล้ายกันคือ การทำขวัญข้าวตอนข้าวตั้งท้อง และการทำขวัญข้าวตอนขนข้าวขึ้นยุ้งแล้วองค์ประกอบสำคัญของพิธีทำขวัญข้าวคือ แม่โพสพ และบทร้องทำ ขวัญข้าว โดยจะทำ พิธีบูชาแม่โพสพ ด้วยอาหารหรือเครื่องเซ่น ได้แก่ ข้าวปากหม้อ กล้วย อ้อย เป็นต้น
         ในพิธีทำขวัญข้าวจะมีการร้องหรือสวดบททำขวัญข้าวซึ่งในแต่ละท้องถิ่นเรียกแตกต่างกันไป ภาคเหนือ เรียกว่า คำสู่ขวัญข้าว ภาคกลางและภาคใต้เรียกว่าบททำขวัญข้าว ถือเป็นบันทึกความรู้ หรือภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างหนึ่ง ที่บันทึกความรู้ชื่อพันธุ์ข้าวในแต่ละถิ่น บันทึกความรู้ด้านการประกอบพิธีทำขวัญข้าว ความเชื่อของชาวนา และแสดงขั้นตอนต่าง ๆ ของการทำนา บททำขวัญข้าวของแต่ละท้องถิ่น มีทั้งลักษณะที่คล้ายกันและแตกต่างกัน ส่วนที่คล้ายคลึงกันก็คือ ส่วนที่กล่าวเชิญขวัญหรือเรียกขวัญ ส่วนนี้จะเป็น
        ส่วนที่เรียกขวัญแม่โพสพ และอีกส่วนหนึ่งคือ ส่วนที่เป็นการขอพรหรือการขอร้องแม่โพสพ ส่วนนี้เป็นส่วนที่แสดงถึงความปรารถนาของชาวนาที่ต้องการให้ขวัญข้าวหรือแม่โพสพ ดลบันดาลในสิ่งที่เขาต้องการ ส่วนเนื้อหาที่แตกต่างกันไปบ้างในแต่ละท้องถิ่น น่าจะเป็นสิ่งที่มีเฉพาะในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ชื่อพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่มีประจำถิ่น หรือตำนานเกี่ยวกับข้าวหรือแม่โพสพที่เป็นเรื่องเล่าที่รับรู้กันในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นต้น



ประวัติความเป็นมา
           การทำขวัญข้าว มาจากความเชื่อว่าสิ่งต่างๆ มีชีวิต ไม่ว่าคน สัตว์ หรือต้นไม้ ย่อมมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าขวัญสิงอยู่ ถ้าขวัญไม่อยู่ประจำสิ่งมีชีวิตก็ตาย ข้าวนั้นก็ถือว่ามีชีวิตและมีขวัญ จึงต้องบำรุงขวัญข้าวไว้ให้อยู่ประจำ อย่าให้ขวัญหายไปเพราะจะทำให้ข้าวไม่งอกงามและตายได้ และยังมีความเชื่อว่า แม่โพสพเป็นเทพธิดาประจำต้นข้าว และเป็นผู้คุ้มครองดูแลต้นข้าวให้เจริญงอกงาม ได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ ชาวนาจึงได้ทำตามความเชื่อและความศรัทธาที่มีต่อพระแม่โพสพ เพื่อขอบคุณพระแม่โพสพที่ดูแลให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนนา เชื่อกันว่าเมื่อทำพิธีนี้แล้วพระแม่โพสพจะช่วยคุ้มครองข้าวในนาให้มีผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการทำนาครั้งต่อไป สร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวนาว่าข้าวในนาจะปราศจากภัยธรรมชาติ และจะไม่มีแมลงศัตรูพืชต่างๆ เข้ามาทำร้ายต้นกล้าในนาข้าว และด้วยความเชื่อที่ว่า “แม่โพสพเป็นผู้หญิง ตกใจและเสียขวัญง่าย จึงมักจะมีการทำพิธีรับขวัญแม่โพสพในทุกๆ ครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับต้นข้าว” โดยทั่วไปนิยมทำขวัญข้าวเมื่อข้าวตั้งท้องและเมื่อขนข้าวขึ้นยุ้งฉาง ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านในชีวิตของข้าว จึงจัดพิธีทำขวัญข้าวขึ้น



ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
        ในอดีตชาวบ้านจะทำนาปี (นาที่ทำปีละหนึ่งครั้ง เนื่องจากต้องอาศัยน้ำฝน ซึ่งเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศเป็นสำคัญ ระบบการชลประทานยังไม่เกิดขึ้นเหมือนกับในปัจจุบัน) นาที่ลุ่มน้ำท่วมถึงจะปลูกข้าวหนัก นาที่ดอนจะปลูกข้าวเบาซึ่งมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวภายใน ๓ เดือน แต่ปัจจุบันนิยมการทำนาปรัง เนื่องจากมีระบบชลประทานที่ดี และพื้นที่ทำการปลูกข้าวส่วนใหญ่ไม่ได้มีเกษตรกรเป็นเจ้าของ เกษตรกรจำนวนมากต้องเช่าพื้นที่ปลูกข้าว จึงจำเป็นต้องเลือกพันธ์ข้าวที่ใช้เวลาปลูกไม่นานมีผลผลิตมาก เนื่องจากต้องการนำเงินที่ได้จากการขายข้าวไปจ่ายค่าปุ๋ยยา ค่ารถเกี่ยวและค่าเช่านา



     
              ประเพณีการทำขวัญข้าว ของชุมชนแขวงขุมทองและแขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวนา เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการทำนาปลูกข้าวของตนจะไม่สูญเปล่า เพราะมีพระแม่โพสพเป็นผู้ดูแลรักษาพืชพรรณธัญญาหาร โดยการทำขวัญข้าวมักประกอบพิธีในวันศุกร์ ดังคำกล่าวที่ว่า “วันศุกร์ขวัญข้าว วันเสาร์ขวัญควาย” ด้วยคำว่าศุกร์ พ้องเสียง กับคำว่า สุข ซึ่งหมายถึงความอุดมสมบูรณ์พูนสุข วันทำขวัญข้าวที่นิยมกระทำอีกวันคือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ หลังจากวันขึ้น ๑๕ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษาหนึ่งวัน


         
          อุปกรณ์เครื่องบูชาในการทำขวัญข้าว
          ๑. ฉัตร ธง ติดกระดาษสี ยอดติดธงและดอกไม้ ลำดับต่อมาติดเฉลว และลำดับล่างสุดติดชะลอม
          ๒. เครื่องแต่งกาย ประกอบด้วย ผ้านุ่งสภาพดี ผ้าสไบ เข็มขัด หวี กระจก แป้ง น้ำหอม เส้นฝ้าย
          ๓. ขนม ถั่วตัด งาตัด ห้ามใช้ขนมหรืออาหารที่มีส่วนผสมของข้าวหรือแป้งข้าวในการทำขวัญ
          ๔. ผลไม้ ใช้ผลไม้ตามแต่ที่หาได้ แต่จะต้องมี กล้วย อ้อย มะพร้าว น้ำสะอาด และผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวแบบที่คนท้องชอบรับประทาน



          ขั้นตอนการทำขวัญข้าว
          ผู้ประกอบพิธีทำขวัญข้าว ต้องเป็นเพศหญิงเท่านั้น ในระหว่างประกอบพิธีห้ามผู้ชายเข้าไปเกี่ยวข้อง ในอดีต แม่จะพาลูกสาวพายเรือไปทำขวัญข้าว ในระหว่างพายเรือผู้เป็นแม่จะบอกเล่าเรื่องราวการทำขวัญข้าวเพื่อถ่ายทอดให้ลูกสาวไปในตัว พิธีทำขวัญเป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น
          เมื่อถึงบริเวณที่ทำขวัญ ผู้ประกอบพิธีใช้สไบพาดบ่า ยกสำรับผลไม้ และสำรับเครื่องแต่งตัววางไว้บนผืนดิน จากนั้นใช้ฝ้ายผูกต้นข้าวใช้ติดกับฉัตร ใช้ผ้านุ่งผูกทับ ตามด้วยเข็มขัด และผูกผ้าสไบทับอีกชั้น ในอดีตมักใช้สร้อยคอทองคำคล้องต้นข้าวด้วย ลำดับต่อมาผู้ประกอบพิธีใช้แป้งโรยต้นข้าว ใช้กระจกส่องต้นข้าว ฉีดน้ำหอม น้ำอบ ใช้หวีหวียอดข้าวไปมา
          ผู้ประกอบพิธีจุดธูป ๓ ดอก กล่าวตั้งนะโมสามจบเพื่อบูชาพระรัตนตรัย จากนั้น กล่าวคำบูชาขวัญข้าวดังนี้ รับมิ่งรับขวัญแม่สู่ราชวัตรฉัตรธง แม่อยู่ในห้วย ในหนอง ในคลอง ในบึง ในหุบเหว ในป่าหิมพานต์ ขอเชิญแม่มารวมอยู่ในผืนนานี้ ขอเชิญพ่อโพศรี แม่โพสพ แม่นพดารา แม่จันทร์เทวี แม่ศรีสุชาดา เชิญขวัญแม่โบยบินมาในผืนนานี้ขอให้ได้รวงละหม้อ กอละเกวียน ได้มรรคได้ผลสมบูรณ์ จากนั้นปักธูปติดกับคันฉัตร
          ผู้ประกอบพิธีจุดธูป ๕ ดอก เพื่อไหว้เจ้าทุ่ง (เจ้าที่ซึ่งปกปักรักษาผืนนา) โดยกล่าวคำไหว้เจ้าทุ่ง ดังนี้ ขอให้เจ้าทุ่งคุ้มครองรักษา อย่าให้มีโรค มีภัย อย่าให้มีศัตรู หนอนเพลี้ย นก หนู ปู ปลา อย่ามารบกวน ให้ปัดเป่าไป ให้แม่โพสพแข็งแรง สุขภาพสมบูรณ์ จากนั้นปักธูป ๕ ดอกไว้บนผืนดิน เมื่อได้เวลาจึงลาเครื่องบูชาทั้งหมด ส่วนหนึ่งแบ่งไว้ในชะลอมที่ผูกกับคันฉัตร
          ตัวคันฉัตรและชะลอมที่ใช้ทำขวัญข้าว จะปักทิ้งไว้จนเกี่ยวข้าวเสร็จ เมื่อเกี่ยวข้าวแล้วจะนำเมล็ดข้าวใส่ในชะลอม นำดอกไม้บูชาและจุดธูปเพื่อเชิญขวัญข้าวเข้ายุ้ง
          การทำขวัญข้าวรับช่วงต่อมาจากแม่ ได้ประกอบพิธีทำขวัญข้าวไม่เคยขาด โดยทำขวัญข้าวนาปรังด้วย เหตุที่ยังทำขวัญข้าว ก็เพื่อระลึกถึงพระคุณข้าว



คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

 
๑. คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ (คุณค่าของการทำขวัญข้าว)
              ประเพณีการทำขวัญข้าว ของชุมชนแขวงขุมทองและแขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เป็นสิ่งที่มีคุณค่าในด้านแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี ซึ่งสามารถสรุปเป็นคุณค่าในด้านต่าง ๆ ดังนี้
          ๑. คุณค่าด้านการสืบสานวัฒนธรรมประเพณี การทำขวัญข้าว ถือเป็นแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี ที่เกิดขึ้นและถ่ายทอดแก่คนรุ่นหลัง ภายใต้ความเชื่อเรื่องที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต
          ๒. คุณค่าทางจิตใจ การทำขวัญข้าว ถือเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการช่วยลดหรือบรรเทาความเครียดให้กับชาวนา เนื่องมาจากการทำนาในแต่ละครั้ง ที่ต้องลงทุนลงแรงจำนวนมาก ชาวนาจึงเกิดความไม่มั่นใจและรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจว่า การทำนาในครั้งนั้นๆ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ จึงต้องอาศัยการทำขวัญข้าวเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับตนเอง
          ๓. คุณค่าด้านการเป็นเอกลักษณ์ของสังคมและวัฒนธรรม คติพื้นที่บ้านที่แฝงในการทำขวัญข้าว แสดงให้เห็นว่าคนไทยในอดีตไม่ได้มองข้าวอย่างฉาบฉวยว่าเป็นเพียงอาหารหรือวัตถุดิบ แต่มองข้าวที่สัมพันธ์กับคน ลงลึกถึงจิตวิญญาณ พิธีกรรมที่ประกอบในการทำนาในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การหว่านกล้า ปักดำ เกี่ยว ต้องทำด้วยความเคารพและสำนึกในบุญคุณแม่โพสพ และผู้ทำก็ได้ทั้งความอิ่มกายและอิ่มใจ


 
๒. บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

            ประเพณีการทำขวัญข้าว ของชุมชนแขวงขุมทองและแขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง ยังคงมีการสืบสานวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เพื่อการทำการเกษตร (นาข้าว) ซึ่งต้องมีการทำพิธีทำขวัญข้าว เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปลูกข้าว และเมื่อข้าวตั้งท้อง จะต้องทำพิธีทำขวัญข้าว เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวที่อุดมสมบูรณ์และได้ผลผลิตในปริมาณมาก และเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว จะมีการประกอบพิธีรับขวัญข้าวเข้ายุ้ง เพื่อระลึกถึงพระคุณข้าวและความเป็นสิริมงคล




 


 


 
ขอทานกระยาสารทและการกวนกระยาสารทคลองบ้านไทร
ชื่อรายการ             ขอทานกระยาสารทและการกวนกระยาสารท
                                คลองบ้านไทร  
                         
ชื่อเรียกในท้องถิ่น   ขอทานกระยาสารทคลองบ้านไทร,
                                กระยาสารทคลองบ้านไทร  
              
สาขา                     แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และงานเทศกาล,
                                ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล

พื้นที่ปฏิบัติ                  ชุมชนคลองบ้านไทร แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา
                                กรุงเทพมหานคร




สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยสังเขป
              
การกวนกระยาสารทของชุมชนย่านคลองบ้านไทร แขวงบางระมาด เขตทวีวัฒนา เป็นวิถีทางวัฒนธรรมการทำอาหารที่สืบทอดกันมา เขตทวีวัฒนาในอดีตเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญของกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก กระยาสารทจึงเป็นผลิตผลที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ทางเกษตรกรรมของพื้นที่เพราะส่วนประกอบของเครื่องกระยาสารทที่สำคัญคือข้าวเม่าและข้าวตอก นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมอื่น ๆ อีก คือ ถั่วลิสง งา และน้ำอ้อย การกวนกระยาสารทคลองบ้านไทรในปัจจุบันยังเหลือตระกูลสุขล้อมที่ยังสืบทอดสูตรดั้งเดิมในการกวนกระยาสารท นอกจากนี้ ชุมชนนี้ยังเคยมีประเพณีการร้องเพลงขอทานกระยาสารทอีกด้วย

ประวัติความเป็นมา


๑. ความเป็นมาของคลองบ้านไทร เขตทวีวัฒนา
              พื้นที่เขตทวีวัฒนาตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาหรือฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานคร  ทิศเหนือติดต่อกับอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ทิศตะวันออกติดเขตตลิ่งชัน ทิศใต้ติดเขตบางแคและเขตหนองแขม และทิศตะวันตกติดอำเภอสามพรานและอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
              ในอดีตพื้นที่เขตทวีวัฒนาเป็นชุมชนชาวนาและชาวสวน เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่ประกอบไปด้วยลำคลองหลายสายไหลผ่าน เหมาะแก่การทำนาข้าว และสวนผักผลไม้ วิถีชีวิตของชาวชุมชนจึงผูกพันกับสายน้ำ
              เขตทวีวัฒนาเดิมคือตำบลศาลาธรรมสพน์ ซึ่งเคยเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๐ กระทรวงมหาดไทยได้แยกหมู่ที่ ๗ ซึ่งอยู่ทางทิศไต้ของตำบลศาลาธรรมสพน์ออกมาจัดตั้งเป็นตำบลทวีวัฒนา ต่อมาเมื่อมีการรวมจังหวัดธนบุรีเข้ากับจังหวัดพระนครเป็นจังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และกลายเป็นกรุงเทพมหานครนั้น ตำบลศาลาธรรมสพน์และตำบลทวีวัฒนาก็ได้เปลี่ยนฐานะเป็นแขวงศาลาธรรมสพน์และแขวงทวีวัฒนา ขึ้นกับเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
             
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๔๓ เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงได้แยกแขวงศาลาธรรมสพน์และ          แขวงทวีวัฒนา ออกมาจัดตั้งเป็นเขตใหม่ขึ้น คือ เขตทวีวัฒนา โดยใช้ชื่อตามคลองทวีวัฒนาที่ไหลผ่านพื้นที่ของเขตในแนวตะวันตกเฉียงเหนือสู่ตะวันออกเฉียงใต้ 
             
ในอดีตพื้นที่เขตทวีวัฒนาและพื้นที่เขตตลิ่งชันเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกัน มีคลองล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน ได้แก่ คลองมหาสวัสดิ์ คลองบางเชือกหนัง คลองทวีวัฒนา คลองชักพระ และคลองบางกอกน้อย นอกจากคลองหลักต่าง ๆ แล้ว ภายในพื้นที่ยังมีคลองเล็ก ๆ อีกมากกว่า ๔๐ คลอง ทั้งที่เป็นคลองธรรมชาติและคลองที่ขุดขึ้นเพื่อการชลประทาน การเกษตร และการคมนาคม
             
ด้วยเหตุผลของพื้นที่ที่เต็มไปด้วยคูคลองต่าง ๆ จึงเหมาะแก่การทำนาทำสวน โดยพื้นที่สวนจะอยู่บริเวณริมคลอง ส่วนพื้นที่ทำนาจะอยู่ถัดริมคลองออกไป พื้นที่เขตทวีวัฒนาในอดีตจึงเป็นพื้นที่ทำนาขนาดใหญ่ การคมนาคมส่วนใหญ่ใช้เส้นทางน้ำเป็นหลัก
             
คลองบ้านไทร เป็นคลองที่แยกออกมาจากคลองชักพระ ใกล้กับวัดช่างเหล็ก เขตตลิ่งชัน ไปบรรจบกับคลองขุนศรี เขตทวีวัฒนา ใกล้กับโรงเรียนคลองต้นไทร (สุขล้อมอุทิศ) คลองบ้านไทรยาวขวางพาดผ่านพื้นที่เขตตลิ่งชันและเขตทวีวัฒนาในแนวตะวันออกสู่ตะวันตก ความยาวของคลองประมาณ ๗ กิโลเมตร สันนิษฐานว่าเป็นคลองธรรมชาติ ที่ชาวบ้านใช้ในการสัญจรทางน้ำและการเกษตรกรรม หลักฐานการมีอยู่ของคลองบ้านไทร คือแผนที่ที่จัดทำขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีพุทธศักราช ๒๔๒๑ ซึ่งเป็นแผนที่แสดงเส้นลำน้ำที่สำคัญของพื้นที่ฝั่งธนบุรี อันแสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของคลองบ้านไทรที่มีมานานกว่า ๑๐๐ ปี
             
คลองบ้านไทรไหลผ่านวัดสำคัญต่าง ๆ คือ วัดช่างเหล็ก วัดมณฑป วัดสมรโกฏิ วัดกระจัง        วัดจำปา และวัดมะกอก นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับคลองหลักอย่างคลองมหาสวัสดิ์ คลองบางระมาด คลองบางพรม อันเป็นเส้นทางการค้าทางน้ำที่สำคัญในอดีตของกรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันตก


๒. ความเป็นมาของการกวนกระยาสารทคลองบ้านไทร


กระยาสารท : ประวัติและความเป็นมา
              
กระยาสารท เป็นขนมไทยที่ทำจากข้าวเม่า ข้าวตอก ถั่ว งา และน้ำตาล กระยาสารทเป็นขนมสำหรับงานบุญประเพณีสำคัญ คือ เป็นวันสารทไทย ซึ่งตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑
             
วันสารทไทยเป็นเทศกาลสำคัญซึ่งชาวบ้านจะได้หยุดพักจากงานในนาไร่มาจัดเตรียมอาหารคาวหวานเพื่อบริโภคกันภายในครอบครัวและแบ่งไปทำบุญทำทานเลี้ยงพระที่วัดแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากอยู่ในสัมปรายภพ ถือกันว่าถ้าไม่ได้ทำบุญ    ตักบาตรกระยาสารทแล้ว ผีปู่ย่าตายายที่ตายไปจะได้รับความเดือดร้อนอดอยากเท่ากับลูกหลานที่อยู่ข้างหลังขาดกตัญญูต่อบุพการี วันสารทไทยจึงเป็นวันสงเคราะห์ครั้งใหญ่ที่เรียกว่า “ปุพพเปตพลี” เพราะเป็นการทำบุญร่วมกับพวกเปรตทั้งที่มีและไม่มีญาติ



กระยาสารทคลองบ้านไทร
                
การกวนกระยาสารทของชุมชนคลองบ้านไทร เขตทวีวัฒนา มีชาวชุมชนตระกูลสุขล้อมยังคงสืบทอดกรรมวิธีการกวนกระยาสารทสูตรดั้งเดิมมาแต่ครั้งบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน นับแต่สมัยคุณชวดกิ่ง และคุณชวดบุญปลูก สุขล้อม ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองบ้านไทรใกล้เคียงกับวัดมะกอก เขตตลิ่งชัน 
               
ในการกวนกระยาสารทของตระกูลสุขล้อม ผู้คิดค้นสูตรคือคุณชวดบุญปลูก สุขล้อม อันเป็นหนึ่งในสูตรประจำบ้านที่มีอยู่หลากหลายสูตรตามบ้านต่าง ๆ ที่ตั้งถิ่นฐานริมคลองบ้านไทร ปัจจุบันสูตรกระยาสารทของชาวชุมชนคลองบ้านไทรคงเหลือเพียงตำรับของตระกูลสุขล้อมเพียงตระกูลเดียวที่ยังคงมีการกวน  กระยาสารทอยู่ในปัจจุบัน
               
การกวนกระยาสารท นั้น ในอดีตไม่ได้มีการจดสูตรไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เหล่าลูกหลานจะจดจำสูตรผ่านการช่วยงานโดยการเป็นลูกมือช่วยผู้ใหญ่จนเกิดความคุ้นเคยและส่งต่อผ่านรุ่นสู่รุ่น โดยสามารถสรุปนามผู้สืบทอดได้ดังนี้
        รุ่นที่ 1  คุณชวดกิ่ง และคุณชวดบุญปลูก สุขล้อม
        รุ่นที่ 2 คุณตาบุญช่วย สุขล้อม
                  คุณตาโกมล สุขล้อม
                  คุณตาโกมาศ สุขล้อม
        รุ่นที่ 3  คุณสุกัญญา ชวนชิต
                  คุณชวนชม สิทธิแสงอำไพ
                  คุณบานชื่น ศิลป์ประเสริฐ
        รุ่นที่ 4  คุณสิทธิรักษ์ ชวนชิต
                  คุณกัญญารัตน์ ชวนชิต
                  คุณปัณฑิตา สุขล้อม


 
               ในอดีตตระกูลสุขล้อมเป็นบ้านหลักที่ค้าขายเครื่องกระยาสารทอันประกอบด้วย น้ำอ้อย ข้าวเม่า ข้าวตอก ถั่วลิสง และงา ให้กับคนในชุมชนที่ต้องการกวนกระยาสารทในวันสารทไทย โดยเครื่องกระยาสารทบางชนิด เช่น น้ำอ้อย จะนำมาจากนอกพื้นที่ โดยจะต้องเดินทางทางเรือเพื่อ “ล่องน้ำอ้อย” หรือ  ขึ้นไปรับน้ำอ้อยที่สั่งไว้ ณ โรงหีบอ้อยในจังหวัดสิงห์บุรี โรงหีบอ้อยจะผลิตน้ำอ้อยไว้สำหรับช่วงสารทไทยตามที่สั่งไว้เท่านั้น ถั่วลิสงและงาขาวก็จะสั่งจากโรงถั่วโรงงาในจังหวัดสิงห์บุรี เช่นเดียวกัน
               นอกจากจะเป็นศูนย์กลางในการค้าเครื่องกระยาสารทของคลองบ้านไทรแล้ว “บ้านสุขล้อม” ยังเป็นศูนย์กลางของการกวนกระยาสารทของชุมชน โดยคุณชวดกิ่ง สุขล้อมได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับการกวนกระยาสารทที่สำคัญ อาทิ แบบพิมพ์กระยาสารทไม้สัก ลูกกลิ้งไม้สำหรับอัดกระยาสารท  ไม้วัดสำหรับตัดขนม กระด้งฝัดข้าว กระบุงสำหรับใส่ส่วนผสม อุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ลูกหลานของตระกูลสุขล้อมยังคงเก็บรักษาไว้และยังสามารถใช้ได้อยู่ในปัจจุบัน
               ปัจจุบันการกวนกระยาสารทคลองบ้านไทรจะทำเฉพาะช่วงเทศกาลสารทไทยเท่านั้น

การเล่นเพลงขอทานกระยาสารท
               อัตลักษณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของชุมชน คือ การเล่นเพลงขอทานกระยาสารท ในอดีตในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ก่อนวันสารทไทย ๑ วัน ชาวบ้านคลองบ้านไทรบางกลุ่มจะพายเรือออกไปร้องเพลงเพื่อขอทานกระยาสารทและสิ่งของต่าง ๆ เพื่อนำไปทำบุญที่วัดมะกอก
               ชาวบ้านมักจะปลอมตัวเป็นคนขอทาน แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเก่า ๆ ทาหน้าตาให้มอมแมม ใส่หมวกเก่า ๆ ปิดหน้าพรางหน้าไว้เพื่อไม่ให้เพื่อนบ้านหรือญาติ ๆ จำได้ จากนั้นพากันพายเรือไปตามบ้านที่อยู่ริมคลอง โดยจะลงเรือออกไปตอนค่ำตั้งแต่เวลาหนึ่งทุ่มจนถึงตีหนึ่ง พายเรือขอทานไปตามท่าน้ำบ้านต่าง ๆ จนกว่าจะได้กระยาสารทมาพอแก่การนำไปทำบุญก็จะกลับ
               เมื่อเรือขอทานพายมาจอดและร้องเพลงอยู่ท่าน้ำบ้านใด ถ้าเจ้าของบ้านไม่ออกมา ผู้เล่นขอทานก็จะร้องจนกว่าจะได้กระยาสารท บางครั้งเจ้าของบ้านจำไม่ได้ทั้ง ๆ ที่เป็นคนรู้จักหรือเป็นญาติกัน บางครั้งเจ้าของบ้านจะแกล้งหยอกโดยจับตัวไว้หรือล่ามผูกเรือไว้ไม่ให้ไป ถ้าผู้ร้องเพลงไม่ยอมเปิดหมวก
               ราว ๓๐ ปีที่ผ่านมา การละเล่นขอทานกระยาสารทได้เริ่มหายไป เพราะชาวคลองบ้านไทรได้เลิกทำนา และพื้นที่บริเวณโดยรอบกลายเป็นบ้านจัดสรร รวมทั้งลำคลองที่เคยใช้สัญจรในอดีตก็ถูกแทนที่ด้วยถนน การร้องเพลงขอทานกระยาสารทในคลองบ้านไทรจึงสูญหายไป


ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
          การกวนกระยาสารทคลองบ้านไทรในปัจจุบันเป็นสูตรของตระกูลสุขล้อม โดยมีรายละเอียดดังนี้
       
อุปกรณ์สำหรับการกวนกระยาสารท ได้แก่
        ๑. เตาถ่าน
        ๒. กระทะใบบัว
        ๓. ถ่านจากไม้หัวตะโหงกหรือไม้มะม่วง
        ๔. ตะหลิว
        ๕. ไม้พาย
        ๖. กระป๋องลิตรสำหรับตวงเครื่องกระยาสารท
        ๗. กระด้งสำหรับฝัดข้าวเม่า ถั่วลิสง
        ๘. กระบุงสำหรับใส่ส่วนผสมจำพวกข้าวต่าง ๆ งา และถั่วลิสง
        ๙. แบบไม้สำหรับเทกระยาสารทที่กวนเสร็จเข้าแบบรอตัด
        ๑๐. ไม้ตัดแบบ
        ๑๑. กระดาษรองตัดแบบเพื่อไม่ให้ตัวกระยาสารทติดแบบไม้
        ๑๒. ลูกกลิ้งสำหรับอัดกระยาสารทให้เรียบและแน่น

เครื่องกระยาสารทประกอบไปด้วย ได้แก่
        ๑. ข้าวตอก ๕ ลิตร
        ๒. ข้าวเม่า ๕ ลิตร
        ๓. ถั่วลิสง ๓ ลิตร
        ๔. งาขาว ๒ ลิตร
        ๕. น้ำอ้อย ๓ ลิตร
        ๖. แบะแซ ครึ่งกิโลกรัม
        ๗. นมข้นหวาน ๑ กระป๋องครึ่ง



การเตรียมเครื่องกระยาสารท

        ๑. เตรียมถั่วลิสงมารางไฟจนสุก แล้วนำถั่วลิสงนั้นมาบี้จนแตก จากนั้นจึงนำไปฝัดเพื่อให้เนื้อถั่วลิสงและเปลือกแยกออกจากกัน
        ๒. นำงามารางไฟด้วยไฟปานกลาง หากรางด้วยไฟแรงจะทำให้งาไหม้และมีรสขม
        ๓. นำข้าวตอกมาแยกกากและเศษข้าวที่ไม่จำเป็นออก
        ๔. นำข้าวเม่ามาคั่วด้วยไฟปานกลาง หากคั่วด้วยไฟแรงจะทำให้ข้าวเม่าไหม้และมีรสขม เมื่อคั่วสำเร็จแล้วจึงนำมาฝัดเพื่อนำเศษข้าวที่ไหม้ไฟออก

กรรมวิธีการกวนกระยาสารท
        ๑. ก่อไฟตั้งเตานำน้ำอ้อย แบะแซ และนมข้นหวานเคี่ยวในกระทะใบบัว
        ๒. เคี่ยวน้ำอ้อย แบะแซ และนมข้นหวานจนงวด ทดสอบกับขันน้ำแล้วเคาะฟังเสียง
        ๓. เมื่อเคี่ยวน้ำอ้อย แบะแซ และนมข้นหวานได้ที่แล้วจึงเริ่มใส่ข้าวตอก กวนจนข้าวตอกเริ่มยุบจึงนำข้าวเม่า ถั่วลิสง งาขาวเทใส่กระทะแล้วกวนให้เข้ากัน
        ๔. วิธีการกวนจะต้องสงเครื่องกระยาสารททุกอย่างรวมกันโดยใช้ไม้พายและตะหลิว เมื่อกวนจนรวมเป็นเนื้อเดียวกันแล้วต้องลดไฟโดยการชักฟืนออกจากเตา
        ๕. เมื่อเนื้อกระยาสารทได้ที่แล้วจึงยกกระทะออกจากเตา แล้ววางกระทะใบบัวบนยางรถยนต์เก่าเพื่อให้กระยาสารทเย็นตัวลง ระหว่างนี้ให้สงจนใยของน้ำอ้อยขาดจนกระทั่งหมดยาง จึงเทลงบนแบบที่ปูไว้ด้วยกระดาษรองแบบ เกลี่ยให้เรียบเท่าเสมอกันและอัดให้แน่นโดยใช้ลูกกลิ้งไม้
        ๖. เมื่อเกลี่ยแล้วจึงโรยถั่วโรยงาแต่งหน้าให้สวยงาม แล้วจึงใช้ไม้ตัดแบบมาวัดแล้วนำมีดตัดเป็นชิ้นบรรจุถุง

การกวนกระยาสารทของคลองบ้านไทรมีลักษณะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ดังนี้
        ๑. มีการเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำอ้อยที่นำมากวนจะต้องเลือกซื้อเป็นพิเศษ
        ๒. มีภูมิปัญญาในการทดสอบน้ำอ้อยว่าได้ที่หรือไม่ โดยทดสอบกับขันน้ำโลหะ ผู้ทดสอบจะนำไม้พายจุ่มน้ำอ้อยแล้วหยดลงไปในขันน้ำ ถ้าน้ำอ้อยได้ที่เวลาเคาะขันน้ำเสียงจะดังกังวาน ผู้ที่กวนกระยาสารทจนเกิดทักษะจะรู้ได้ว่าน้ำอ้อยที่เคี่ยวนั้นได้ที่แล้วสำหรับขั้นตอนการกวนเครื่องกระยาสารทที่เหลือต่อไป
        ๓. มีการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างคุ้มค่า เช่น ฟืนทำจากไม้หัวตะโหงก (ทางมะพร้าวที่ริดใบเหลือแต่ก้านหั่นเก็บไว้เป็นท่อน) หรือไม้มะม่วง แม้ในปัจจุบันจะใช้ความร้อนจากก๊าซหุงต้มมาช่วยแล้วก็ตาม
        ๔. อุปกรณ์ในการทำ เช่น แบบพิมพ์ขนม ลูกกลิ้งไม้ ไม้วัดสำหรับตัดกระยาสารท กระจาด กระบุง ต่าง ๆ เป็นของเก่าอายุเกือบ ๑๐๐ ปี แต่ยังสามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ เหลือเพียงแค่ชุดเดียวในชุมชน การเลือกใช้อุปกรณ์และเก็บรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ นับเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของชุมชนที่สำคัญ
        ๕. แสดงคุณธรรมเรื่องความกตัญญูต่อบรรพบุรุษในการสืบทอดภูมิปัญญาการกวนกระยาสารท โดยเฉพาะของตระกูลสุขล้อม เมื่อการกวนกระยาสารทกระทะแรกสำเร็จแล้ว ลูกหลานจะรีบนำกระยาสารทไปไหว้บูชาบรรพบุรุษเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตและบอกกล่าวถึงการได้สืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษต่อไปอีกหนึ่งปี
        ๖. มีความเชื่อว่าการถวายกระยาสารทแก่พระสงฆ์หลังจากออกพรรษา เป็นการช่วยบำรุงร่างกาย เพราะกระยาสารทประกอบไปด้วยสารอาหารที่ให้พลังงานจำนวนมาก เช่น มีโปรตีนจากถั่วลิสงและน้ำมันงาที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
 
 การเล่นเพลงขอทานกระยาสารทของคลองบ้านไทรมีลักษณะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ดังนี้
        ในอดีตผู้ร้องเพลงขอทานกระยาสารทคลองบ้านไทร คือ ชาวบ้านมีทั้งชายและหญิง แต่ส่วนใหญ่เป็นชาย ในเรือ ๑ ลำ อย่างน้อยจะมี ๓ คน คนพายหัวเรือ ๑ คน คนพายท้ายเรือ ๑ คน ทั้งสองคนนี้จะเป็นลูกคู่ช่วยร้องและตีฉิ่งตีกลอง ส่วนคนนั่งกลางจะเป็นผู้ร้องและตีกรับให้จังหวะไปด้วย

        เพลงขอทานมีรูปแบบ ดังนี้
        ๑. เนื้อร้อง เป็นกลอนประเภทกลอนหัวเดียวเหมือนกับเพลงฉ่อย เพลงเรือ คือเป็นกลอนสัมผัสท้ายไปเรื่อย ๆ แล้วไปลงสัมผัสกันระหว่างสามวรรคหลัง ก่อนจะร้องต้องมีบทเกริ่นเหมือนกับเป็นการโหมโรงก่อนจะเล่น ความยาวแล้วแต่เรื่องที่จะร้อง ถ้าเล่นหลายคน จะมีลูกคู่ร้องรับในสองวรรคสุดท้ายทุกตอน
        ๒. เครื่องดนตรี ใช้ตามที่แต่ละคนถนัด บางคนอาจเล่นคนเดียวได้มากกว่า ๑ ชิ้น ส่วนมากจะเป็นเครื่องดนตรีกำกับจังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง และโทน เป็นต้น แต่ถ้าเล่นเป็นคณะอาจมีหลายชิ้นตามแต่จะหาได้


   
     เนื้อร้องเพลงขอทานชาวคลองบ้านไทร มีดังนี้

 
(พูด) วันนี้ก็เป็นวันศีล วันทาน ท่านมีข้าวสุกกระยาสารท ข้าวสาร ขอเชิญมาทำทานเถิดเจ้าปะคุณ
        (ร้อง) ลูกพายเรือมา พอมาถึงหน้าท่าลูกก็ลาเรือหยุด มือหนึ่งก็ฉุดบันได
        แล้วก็ร้องเรียกหา คุณพ่อจ๊ะ คุณแม่จ๋า กรุณาลงมาทำทานให้ลูกหน่อย
        ลูกนี้ขัดสนจนยาก อด ๆ อยาก ๆ ทุกวันไป
        ท่านมีกระยาสารทสักถ้วยหรือกล้วยสักใบหรือตามแต่คุณพ่อคุณแม่จะให้ เอ่ยทาน
        (ลูกคู่รับ) มีกระยาสารทสักถ้วย กล้วยสักใบ
        มีกระยาสารทสักถ้วยหรือกล้วยสักใบตามแต่จะให้เอ่ยทาน เอย
 
        ในบางครั้งจะมีการนำเรื่องราวบางตอนในวรรณกรรมที่นิยมมาขับร้องเป็นเพลง ในแถบคลองบ้านไทรนิยมวรรณกรรมเรื่องลักษณวงศ์ จันทรโครพ และพระยากงพระยาพาน
        ชาวบ้านชอบฟังเรื่องราวจากวรรณกรรม บางครั้งจึงเอาโซ่ล่ามเรือไว้ให้ผู้เล่นขอทานร้องเป็นเรื่องราวจนจบตอน ซึ่งใช้เวลานานนับชั่วโมง ชาวบ้านฟังด้วยความเพลิดเพลิน สะเทือนอารมณ์ แต่ก็มีความสุขที่ได้ฟัง จบลงด้วยการให้ทานกระยาสารทและสิ่งของตอบแทนมากมาย
        เมื่อได้สิ่งของตามที่ต้องการแล้วก็จะมีการร้องเพลงขอบคุณ โดยมีเนื้อร้องดังนี้
 
        เมื่อคุณพ่อคุณแม่ให้ทานลูกแล้ว ลูกแก้วขอให้พร
        ขอให้คุณพ่อคุณแม่สุขโขสโมสร ขอเชิญมารับเอาพรของลูกไป
        (ลูกคู่รับ) ขอให้คุณพ่อคุณแม่สุขโขเอ่อ...สโมสร
        ขอให้คุณพ่อคุณแม่สุขโขสโมสร ขอเชิญมารับเอาพรของลูกไป เอ่อ...

 
คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
 
           ๑. คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ
                
การละเล่นขอทานกระยาสารทและกวนกระยาสารทคลองบ้านไทรแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ดังนี้
 
          ๑. การกวนกระยาสารทคลองบ้านไทร แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนสังคมเกษตรกรรม เนื่องจากขนมกระยาสารทเป็นขนมที่มีวัตถุดิบสำคัญที่มาจากพืชไร่ ในอดีตจะใช้ข้าวที่ปลูกในพื้นที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องกระยาสารท ถือเป็นภูมิปัญญาด้านอาหารเนื่องในเทศกาลที่สมควรอนุรักษ์ไว้

          ๒. การกวนกระยาสารทคลองบ้านไทรแสดงให้เห็นความสำคัญของความเป็นครอบครัวและชุมชน เนื่องจากในวันสารทไทย ลูกหลานญาติพี่น้องที่อยู่ต่างถิ่นจะกลับมาร่วมงานบุญเพื่อช่วยเป็นแรงงานของครอบครัวในการกวนกระยาสารทและจัดเตรียมของทำบุญที่จำเป็นต่าง ๆ

          ๓. กระยาสารทเป็นขนมที่ต้องใช้ระยะเวลาและแรงงานคนจำนวนมากจึงจะทำสำเร็จได้ จึงช่วยให้เกิดความสามัคคีระหว่างคนในครอบครัวและชุมชน เมื่อกวนกระยาสารทเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะนำกระยาสารทที่ได้ไปทำบุญและแจกจ่ายให้แก่เพื่อนบ้านได้ชิมรสฝีมือของแต่ละบ้าน จึงมีคุณค่าในการส่งเสริมความสามัคคีและเชื่อมไมตรีต่อกัน

๒.บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
            
การละเล่นขอทานกระยาสารทและการกวนกระยาสารทคลองบ้านไทรคือมรดกภูมิปัญญาที่มีความสำคัญต่อชุมชน ปัจจุบันสภาพแวดล้อมของพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงไป สังคมชาวไร่นาในอดีตถูกแทนที่ด้วยบ้านเรือนผู้คน ถนน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ  ผู้คนในท้องถิ่นเดิมส่วนใหญ่ได้อพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น ๆ แต่ชาวชุมชนส่วนหนึ่งยังคงเห็นความสำคัญของกระยาสารทคลองบ้านไทร เมื่อใกล้ถึงช่วงเทศกาลวันสารทไทย ชาวชุมชนจะติดต่อมายังบ้านสุขล้อมเพื่อสั่งกระยาสารทไปทำบุญที่วัด ชุมชนจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระยาสารทคลองบ้านไทรยังคงมีอยู่ นอกจากนี้สถานศึกษาในพื้นที่ยังเห็นความสำคัญของประเพณีนี้ ดังพบว่าโรงเรียนคลองต้นไทร (สุขล้อมอุทิศ) จะจัดงานวันสารทไทย โดยเชิญครอบครัวสุขล้อมไปสาธิตการกวนกระยาสารทให้กัแก่นักเรียนได้รับรู้ถึงภูมิปัญญาที่สำคัญของชุมชน อีกทั้งยังจัดชั่วโมงการเรียนการสอนเป็นหนึ่งวิชาในหลักสูตรให้นักเรียนได้เลือกเรียนอีกด้วย


 






 
กระดาษข่อย
ชื่อรายการ               กระดาษข่อย
ชื่อเรียกในท้องถิ่น   กระดาษข่อย สมุดไทย
ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม  งานช่างฝีมือดั้งเดิม
พื้นที่ปฏิบัติ  
              แต่เดิมมีการปฏิบัติอย่างแพร่หลายในพื้นที่เขตบางซื่อ ริมคลองบางซ่อน และคลองบางโพขวาง ปัจจุบันไม่มีการผลิตแล้ว แต่ยังมีผู้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมการทำกระดาษข่อยอยู่ในพื้นที่ และมีการเผยแพร่ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเขตบางซื่อ อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรมชั้น ๒ วัดสร้อยทอง พระอารามหลวง เขตบางซื่อ



สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยสังเขป
              สมุดข่อย หรือสมุดไทย หรือกระดาษข่อย เป็นวัสดุสำคัญที่อยู่เบื้องหลังผลงานศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรมของไทย ใช้เป็นสื่อกลางในการสื่อสาร ใช้ในงานจิตรกรรมงานประติมากรรม ใช้ในการปิดหัวโขน เป็นต้น เอกสารและงานวิจัยต่างๆที่เกี่ยวกับสมุดข่อยและกระดาษข่อยที่น่าสนใจ ได้แก่ วชิรญาณวิเศษ และปาฐกถาเรื่องการทำกระดาษข่อย ซึ่งนำเสนอวิธีการอย่างโบราณในการทำกระดาษข่อยและมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับคุณภาพและปัญหาของการใช้กระดาษข่อยให้กว้างขวางขึ้นจากหลักฐานที่ปรากฏในเอกสารของสมุดไทย ในสมัยต่าง ๆ สะท้อนความสำคัญของภูมิปัญญาอย่างหนึ่งของไทยที่มีขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาจวบจนถึง สมัยกรุงรัตนโกสินทร์แสดงให้เห็นถึงความเฟื่องฟูในอดีตจนกระทั่งค่อย ๆ ลดบทบาทลงด้วยปัจจัยต่าง ๆหลายประการ อาทิ สภาพแวดล้อมจากแหล่งน้ำที่ไม่เอื้ออำนวย แรงงานคนและการเข้ามาของกระดาษราคาถูกจากต่างประเทศ รวมทั้งเทคโนโลยีด้านการพิมพ์ ดังนั้นสมุดข่อย หรือสมุดไทยจึงมีคุณค่าคู่ควรที่จะทำการอนุรักษ์ ฟื้นฟู งานช่างฝีมือดั้งเดิมนี้ให้คงอยู่สืบไป


ประวัติความเป็นมา
๑. ประวัติความเป็นมาของชุมชน

              สมุดข่อย หรือกระดาษข่อย หรือสมุดไทยเป็นหนังสือที่ใช้เขียนบันทึกสรรพตำรา ข้อมูลความรู้ ตลอดจนความเชื่อต่าง ๆ ของสังคมไทยในสมัยที่การพิมพ์หนังสือยังไม่เป็นที่รู้จัก เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ด้านภูมิปัญญาและความสามารถของบรรพบุรุษไทย โดยการนำเอาวัสดุที่มีอยู่ในธรรมชาติคือเปลือกของต้นข่อยมาทำเป็นกระดาษตามกรรมวิธี แล้วนำเอาด้านกับด้านมาต่อกันด้วยกาว     เป็นผืนยาวแล้วทบกลับไปกลับมาเป็นเล่มสมุด กรรมวิธีในการทำสมุดข่อยต้องใช้น้ำมาก ผู้มีอาชีพทำสมุดข่อยจึงมักตั้งบ้านเรือนอยู่ติดทางน้ำ เช่น ชาวบ้านแถวบางซื่อในอดีตเคยมีอาชีพทำสมุดข่อย มีหมู่บ้านทำกระดาษข่อยอยู่ในบริเวณคลองบางซ่อน คลองบ้านกระดาษและคลองบางโพขวาง ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตการทำสมุดข่อย กระดาษข่อยในย่านนี้นายสมบัติ พลายน้อย (ส.พลายน้อย) เขียนถึงการทำสมุดข่อยที่คลองบางซ่อนในหนังสือ “ชื่อเสียงเรียงนามความรู้เรื่องแม่น้ำลำคลอง” หน้า ๑๐๒ - ๑๐๓ ว่า

             “...คลองบางซ่อน อยู่ในเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เป็นคลองโบราณ แต่จะนานแค่ไหนไม่ทราบเท่าที่พบหลักฐานปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสตรัสถึงการทำสมุดไทยที่คลองบางซ่อน “สมุดไทย” หรือที่คนโบราณเรียกว่า “สมุดข่อย” เพราะทำจากเปลือกต้นข่อย ยาแก้ริดสีดวงจมูกสมัยก่อนต้องม้วนด้วยกระดาษข่อยดูดควันให้ระบายออกทางจมูกชีวิตของคนบางซ่อนจะตื่นขึ้นตอนเช้ามืด เพราะมีเสียงตุบตับดังไปตลอดทั้งคลอง เป็นเสียงที่เกิดจากการทุบเปลือกข่อยของชาวบ้าน ซึ่งเป็นวิธีการเริ่มต้น การทุบจะไปยุติลงตอนสว่างก็นำข่อยไปหล่อทำแผ่นได้จะขอเล่าย่อ ๆ พอให้ทราบขั้นตอนของการทำกระดาษข่อยว่าเขาทำกันอย่างไรขั้นแรกก็คือรวบรวมต้นข่อยให้มากพอแก่ความต้องการ แล้วนำมารมไฟพอให้เปลือกสุกเพื่อจะได้ลอกเปลือกออกได้ง่าย ต่อจากนั้นก็นำเปลือกไปผึ่งแดดให้แห้ง แล้วมาทุบแช่น้ำก่อนจะนำไปหล่อเป็นแผ่นแบบพิมพ์สำหรับใช้หล่อเรียกว่า “พะแนง” กรุด้วยผ้ามุ้งที่ทอเป็นพิเศษ มีตาคล้ายมุ้งลวด ผ้ามุ้งต้องย้อมด้วย    ยางมะพลับเพื่อไม่ให้เปื่อยง่ายอันที่จริงคลองที่ทำสมุดข่อยยังมีอีกสองคลองคือ “คลองบ้านกระดาษ” กับ “คลองบางโพขวาง” แต่ทั้งสองคลองนี้ไม่ค่อยมีคนเรียกนาน ๆ เข้าชื่อลับหายไปเมื่อไม่มีการทำกระดาษหรือสมุดข่อย เหตุต้องเลิกทำกระดาษข่อย เพราะคนใช้กระดาษข่อยน้อยลงกระดาษฝรั่งเล่มกะทัดรัดเรียบร้อยดี คนนิยมใช้กันมาก สมุดข่อยขนาดใหญ่ก็ใช้เฉพาะเขียนเรื่องพระมาลัย และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะมาจ้างทำสมุดไปจารึกรัฐธรรมนูญสัก ๒ เล่ม คนทำขายก็จะอดตายเสียก่อน จึงต้องเลิกไปทำมาหากินอย่างอื่น…”



2. ประวัติความเป็นมาของสมุดข่อย
              สมุดข่อย หรือกระดาษข่อย หรือสมุดไทย เป็นกระดาษประเภทหนึ่งที่มีความนิยมและใช้อย่างแพร่หลายมาตั้งแต่โบราณ หลักฐานที่แสดงถึงความสำคัญของกระดาษข่อยคือสมุดไทย ซึ่งบางฉบับมีอายุ  อยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา กระดาษข่อยจึงเป็นผลผลิตจากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยที่สั่งสม      มาเนิ่นนานและเป็นที่รู้จักในลักษณะของสมุดไทย ความรู้เกี่ยวกับการทำกระดาษข่อยของไทยปรากฏในหนังสือจดหมายเหตุลาลูแบร์ราชอาณาจักรสยามของมองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ผู้บันทึกชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาในราชอาณาจักรสยามในฐานะเอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส การเดินทางมาในสมัยนั้นตรงกับปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. ๒๒๓๐ ซึ่ง ลาลูแบร์ ได้บันทึกจดหมายเหตุเกี่ยวกับการทำกระดาษข่อยไว้ในบทที่เกี่ยวกับดังนี้


             “ชาวสยามทำกระดาษจากผ้าฝ้ายเก่า ๆ และยังทำจากเปลือกต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อต้น ข่อย (Ton Coe) อีกด้วย ซึ่งต้องนำมาบดย่อยให้ละเอียด เช่นอย่างย่อยผ้าขี้ริ้ว แต่กระดาษเหล่านี้มีความหนาบางไม่สม่ำเสมอ ทั้งเนื้อกระดาษและความขาวผ่องก็หย่อนกว่าเรา ฉะนั้น ชาวสยามจึงไม่ใช้หมึกจีน (สีดำ) เขียนบนกระดาษของพวกเขา ส่วนมากมักชุบหมึกให้ดำ ซึ่งทำให้เนื้อกระดาษแน่นขึ้น แล้วใช้เขียนด้วยดินสอชนิดหนึ่ง (สอ แปลว่า ขาว) ซึ่งเป็นดินเหนียวปั้นตากแดด หนังสือของพวกเขาไม่มีการเข้าเล่ม เย็บสัน หากทำเป็นแผ่นยาวเหยียดไม่ใช้วิธีม้วนเก็บเช่นบรรพบุรุษของเรา หากพับทบไปมาอย่างพับพัดด้ามจิ้ว และทางที่ตีเส้นบรรทัดเขียนตัวอักษรนั้น เป็นไปตามทางยาวของรอยพับ หาได้เขียนทางด้านขวางไม่”

             พระยากสิการบัญชาเล่าไว้ในหนังสือ “ปาฐกถาเรื่องการทำกระดาษข่อย” ว่า “...ในสมัยอยุธยาก็มีการทำกระดาษข่อยกันแล้ว และในสมัยรัตนโกสินทร์ มีหมู่บ้านทำกระดาษอยู่บริเวณคลองบางซ่อน คลองบ้านกระดาษ และคลองบางโพขวาง ในกรุงเทพฯ...”



ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
             สมุดข่อย หรือกระดาษข่อย หรือสมุดไทย เป็นเอกสารที่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานหลายร้อยปี มีความเหนียว ทนทานเหมาะที่จะทำเป็นสมุดบันทึกเรื่องราวต่างๆเป็นตัวอักษร เช่นสรรพตำราต่าง ๆ  ตำราไหว้ครู  ตำรายา พระไตรปิฎก สมุดพระมาลัย สมุดพระปาฏิโมกข์ นิทานชาดก ฯลฯ
            กลวิธีการผลิตสมุดข่อยหรือสมุดไทยเป็นการทำด้วยมือหลายขั้นตอนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม แบ่งได้เป็น ๑๐ ขั้นตอน ดังนี้

         ๑. การตัดข่อยและการลอกเปลือก
             ข่อยเป็นไม้ยืนต้นอยู่ในวงศ์เดียวกับมะเดื่อ มักขึ้นตามป่า และริมแม่น้ำลำคลอง เปลือกใช้ทำปอ และกระดาษ ใบมีลักษณะสากคาย ใช้แทนกระดาษทรายได้ ส่วนกิ่งและราก คนไทยสมัยโบราณนิยมนำมาใช้ขัดฟัน เพื่อให้ฟันขาวสะอาดและคงทน ข่อยที่ใช้ทำกระดาษ ส่วนใหญ่ได้มาจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลางของประเทศไทย เช่น สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ชาวบ้านนิยมตัดข่อย ภายหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว เมื่อตัดทอนจากลำต้นแล้วต้องลอกเอาเปลือกออก การลอกเปลือกข่อยนั้น ถ้าลอกขณะกิ่งข่อยยังสดจะลอกออกได้ง่าย แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ จนกิ่งแห้ง ต้องนำไปลนไฟจึงจะลอกได้ นำเปลือกข่อยที่ลอกออกจากกิ่งแล้ว ตากแดดให้แห้ง มัดรวมกันไว้เป็นมัดเล็ก ๆ มัดหนึ่งประมาณ ๕๐ ชิ้น แล้วมัดรวมกัน ๑๐ มัดเล็กเป็น ๑ มัดใหญ่ พ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อเปลือกข่อย จะล่องลงมาขาย ในกรุงเทพฯ ตามแหล่งหมู่บ้านที่ทำกระดาษ 

         ๒. การนำเปลือกข่อยมาแช่น้ำแล้วฉีกให้เป็นฝอย
          เมื่อได้เปลือกข่อยตามลักษณะที่ใช้ทำกระดาษ และมีจำนวนมาก ตามปริมาณที่ต้องการแล้ว       นำเปลือกข่อยทั้งมัด ลงแช่ในคลอง หรือท้องร่อง ที่มีทางน้ำไหลขึ้นลงได้ โดยแช่ไว้นาน ๓ - ๔ วัน เพื่อให้เปลือกเปื่อย แล้วล้างเมือกที่ติดอยู่กับเปลือกออกให้หมด นำขึ้นมาจากน้ำ บีบให้แห้งพอหมาด แล้วเสียด (ฉีก) ให้เป็นฝอย ในขณะเสียดนั้นจะแยกเปลือกที่ดี สีขาวสะอาดไว้พวกหนึ่ง เพื่อใช้ทำสมุดขาว ส่วนเปลือกที่ไม่สะอาดแยกไว้อีกพวกหนึ่ง เพื่อใช้ทำสมุดดำ เนื่องจากการทำกระดาษข่อยนี้ต้องใช้น้ำมาก ทั้งน้ำไหลขึ้นลง และน้ำนิ่ง ฉะนั้น ผู้มีอาชีพทำกระดาษข่อยหรือสมุดข่อย จึงนิยมปลูกเรือนริมน้ำ เพื่ออาศัยน้ำ จากท้องร่อง หรือคลองนั้นเวลาแช่หรือหมัก ประมาณ ๒๔ ชั่วโมง หรือนานกว่านั้น น้ำด่างจะกัดเปลือกข่อยให้เปื่อยยุ่ยจนสามารถบี้ให้ละเอียดได้โดยง่าย

         ๓. การนึ่งข่อย
          นำเปลือกข่อยที่พร้อมจะนึ่งใส่ลงในรอม ซึ่งเป็นภาชนะ ที่ทำด้วยไม้ไผ่ สานตาถี่ ๆ เป็นรูปทรงกระบอกสูงประมาณ ๑.๓๐ เมตร ให้เปิดปากรอมไว้ทั้งสองข้าง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๗๕ เซนติเมตร จากนั้นวางรอมลงในกระทะใบบัวขนาดใหญ่ ซึ่งปากกระทะกว้างกว่าปากรอมเล็กน้อย วางกระทะบนเตา ซึ่งก่อขึ้น ให้มีช่องไฟ ๒ ข้าง ใส่เปลือกข่อยลงในรอมจนเต็มค่อนข้างแน่น ใช้ผ้า หรือใบตอง คลุมปิดปากรอมข้างบนให้สนิท ใส่น้ำลงในกระทะให้เต็มพอดีกับปากกระทะ แล้วใส่ไฟในเตา ให้มีความร้อนสม่ำเสมอตลอดเวลา ประมาณ ๒๔ ชั่วโมง จากนั้น กลับเปลือกข่อยในรอม เพื่อช่วยให้สุกทั่วกัน ใส่ไฟต่อไปอีก ๒๔ ชั่วโมง

         ๔. การหมักข่อยด้วยน้ำปูนขาว
             เปลือกข่อยที่นึ่งจนสุกแล้วนี้ ยังเปื่อยไม่มากพอที่จะใช้การได้ จึงนำไปแช่น้ำด่างปูนขาวในโอ่ง หรือ ตุ่มสามโคก ใช้เวลาแช่หรือหมัก ประมาณ ๒๔ ชั่วโมง หรือนานกว่านั้น น้ำด่างจะกัดเปลือกข่อยให้เปื่อยยุ่ยจนสามารถบี้ให้ละเอียดได้โดยง่าย

         ๕. การสบข่อย
             เมื่อนำเปลือกข่อยขึ้นจากน้ำด่างแล้ว ต้องนำไปล้างในน้ำคลอง หรือในร่องน้ำ ที่มีน้ำไหล          อยู่ตลอดเวลา ล้างเปลือกข่อยให้สะอาดจนหมดด่าง แล้วบีบให้แห้ง โดยนำมาเข้าที่ทับน้ำ ซึ่งทำด้วยไม้กระดาน ๒ แผ่น กว้างประมาณ ๕๐ - ๖๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๕๐ เซนติเมตร หนาประมาณ ๙ - ๑๐ เซนติเมตร แผ่นหนึ่งวางเป็นพื้นสำหรับวางเปลือกข่อย อีกแผ่นหนึ่งมีช่องสำหรับใส่ไม้ เพื่อวางไว้ข้างบน ลักษณะคล้ายกับที่ทับกล้วยขนาดใหญ่ ผู้ทำจะนั่งทับบนไม้กระดานนั้น ทำให้น้ำไหลออกมา จนเปลือกข่อยแห้งสนิท เพื่อไม่ให้เปลือกเน่า แล้วนำมาเลือกแยกเปลือกอีกครั้งหนึ่ง


         ๖. การนำข่อยมาทุบ (ทุบหมาดและทุบแฉะ) ให้ละเอียด
           เปลือกข่อยที่เปื่อยยุ่ยแล้ว เมื่อจะทำให้เป็นเยื่อกระดาษ ต้องทุบให้ละเอียด โดยวางเปลือกข่อยที่จะทุบบนเขียง ซึ่งเป็นไม้ประดู่ หรือไม้มะขามขนาดใหญ่ กว้างประมาณ ๖๐ - ๗๐ เซนติเมตร และมีค้อนทุบข่อยที่ทำจากไม้ชิงชัน หรือไม้ประดู่ หัวค้อนเป็นรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐ เซนติเมตร หน้าค้อนเรียบ ตรงกลางเจาะเป็นที่ใส่ด้ามยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ใช้ค้อนไม้ ๒ อัน ถือทั้ง ๒ มือทุบสลับกัน การทุบต้องทุบตรงๆ เพื่อให้หน้าค้อนเรียบเสมอกัน และทุบค้อนให้ลงบนข่อยเป็นแถว โดยซ้ำค้อนกันเล็กน้อย วนไปมาประมาณ ๓ รอบ ถ้ามีเศษกระดาษเก่าที่ทำไว้ในคราวก่อน ก็นำไปชุบน้ำจนอ่อนยุ่ย แล้วนำมาใส่รวมในข่อยที่ทุบใหม่นั้นอีก นำน้ำมาพรมเยื่อข่อยที่ทุบไว้ในรอบแรกนี้ ให้เปียกพอสมควร แล้วทุบอีกครั้ง วนไปมาประมาณ ๖ - ๗ รอบ การทุบครั้งหลังนี้ เรียกว่า สบข่อย ถ้าทุบพร้อมกันสองคน โดยนั่งหันหน้าเข้ากัน และลงค้อนคนละที เรียกว่า สบรายคน เมื่อทุบจนละเอียดดีทั่วกันแล้ว เปลือกข่อยนั้นจะมีลักษณะเป็นเยื่อ พร้อมที่จะใช้ทำกระดาษได้ต่อไป

          ๗. การหล่อกระดาษ
             การหล่อกระดาษแต่ละแผ่นนั้น หากต้องการให้เนื้อกระดาษมีความหนาเท่าๆ กัน ทุกแผ่น ช่างทำกระดาษนิยมปั้นเยื่อข่อยให้เป็นก้อน มีขนาดเสมอกัน ประมาณเท่าผลมะตูม แต่ถ้าเป็นช่างผู้ชำนาญ จะกะขนาดได้เสมอกัน โดยไม่จำเป็นต้องปั้นเป็นก้อนไว้ก่อนก็ได้ จากนั้นนำเยื่อข่อยที่ปั้นเป็นก้อนแล้วนี้ ละลายน้ำในครุ ซึ่งเป็นภาชนะอย่างหนึ่ง ทำด้วยไม้ไผ่สานตาถี่ ลักษณะคล้ายกระบุง สูงประมาณ ๒๕ เซนติเมตร ปากครุมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๕ เซนติเมตร มีงวงที่ปากครุสำหรับถือ ตัวครุชันยาไว้โดยรอบ ใช้มือตีก้อนเยื่อข่อยจนแตกและละลายปนกับน้ำดีแล้ว วางพะแนงลงในน้ำนิ่ง ซึ่งอาจเป็นบ่อ หรือสระที่ชักน้ำจากลำคลอง หรือท้องร่อง เข้ามาเก็บกักไว้ พะแนง คือ แบบพิมพ์ที่จะใช้ทำแผ่นกระดาษ ลักษณะเป็นตะแกรง มีกรอบไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่กรุด้วยผ้ามุ้งหรือลวดมุ้ง ขึงให้ตึงกับขอบไม้นั้น ไม้ที่ใช้ทำกรอบพะแนงนิยมใช้ไม้สัก ที่มีความหนา ประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร กว้าง ๕ เซนติเมตร และใช้ไม้หวายขมผ่าซีกมาประกอบ ทบชายผ้ามุ้ง ตอกด้วยตะปูตรึงให้ติดกับพะแนง ผ้ามุ้งที่ทำพะแนง ต้องย้อมด้วยยางมะพลับจนแข็ง จึงจะใช้ได้ และไม่เปื่อยง่าย ส่วนขนาดของพะแนงนั้น โดยทั่วไป มีความกว้างยาวเท่ากับความกว้างยาวของหน้ากระดาษที่ต้องการ ซึ่งโดยปกตินิยมใช้ ๓ ขนาด คือ
                   ๑. ขนาดสมุดธรรมดา  กว้าง ๕๕ เซนติเมตร  ยาว ๒๒๐ เซนติเมตร 
                   ๒. ขนาดสมุดพระมาลัย  กว้าง ๙๘ เซนติเมตร  ยาว ๒๒๐ เซนติเมตร 
                   ๓. ขนาดกระดาษเพลา  กว้าง ๕๕ เซนติเมตร  ยาว ๑๗๕ เซนติเมตร
เมื่อวางพะแนงลงในสระหรือบ่อกักน้ำ ซึ่งมีน้ำที่นิ่งและใสแล้ว ส่วนที่เป็นตะแกรงจะจมอยู่ใต้น้ำ ขอบของพะแนงจะลอยบนผิวน้ำ ให้นำเยื่อข่อยที่ละลายแล้วในครุ เทลงในพะแนงให้ทั่ว เกลี่ยเยื่อข่อยในพะแนง ให้แผ่กระจายเสมอกัน แล้วจึงพรมน้ำให้ทั่วอีกครั้งหนึ่งก่อนยกขึ้นจากน้ำ

           ๘. การยกพะแนงขึ้น
              ใช้ไม้ซางยาวคลึงผิว รีดน้ำให้แห้งนำไปตากแดด ขณะที่ยกพะแนงขึ้นจากน้ำ ต้องยกให้อยู่ในระดับราบเสมอกันทั้งแผ่น เพื่อให้เยื่อข่อยที่เกาะติดอยู่ที่ผิวหน้าของตะแกรง มีความหนาบางเท่ากันตลอดทั้งแผ่น วางพะแนงพิงตามแนวนอนให้เอียงประมาณ ๘๐ องศา แล้วใช้ไม้ซางยาวๆ คลึงรีดเยื่อข่อยบนพะแนงนั้น ให้น้ำตกจากพะแนงจนแห้ง และหน้ากระดาษเรียบเสมอกัน ยกพะแนงขึ้นตั้งพิงราวพะแนง ซึ่งนิยมใช้ไม้ไผ่ทำเป็นราว วางพะแนงตั้งพิงให้เอียงประมาณ ๔๕ องศา ตากแดดไว้ จนแห้งสนิท โดยกลับเอาข้างล่างขึ้นข้างบน เยื่อข่อยที่แห้งติดอยู่กับพะแนงนั้น เมื่อลอกออกจากพะแนงจะเป็นกระดาษแผ่นบางๆ เรียกว่า กระดาษเพลา ส่วนกระดาษที่หล่อให้หนามากๆ นั้นเก็บไว้ทำเป็นเล่มสมุดต่อไป
             กระดาษเพลา (อ่านว่า เพฺลา) แม้จะเป็นกระดาษเนื้อบาง แต่ก็มีคุณสมบัติ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง นอกจากใช้ในการขีดเขียนได้แล้ว ยังนำไปใช้ในกิจการอย่างอื่นได้ด้วย เช่น ใช้ทำหมันยาเรือ ปั่นเป็นเส้นใช้แทนด้าย เย็บซ่อมสมุดไทย และใช้เป็นส่วนประกอบการทำดอกไม้ไฟ เช่น ใช้ทำรองดอกไม้เทียน นอกจากนั้นยังใช้ในงานช่างทองได้อีกด้วย โดยในกลุ่มช่างตีทอง นิยมเรียกกระดาษเพลาว่า กระดาษดาม ในจังหวัดภาคเหนือ เช่น จังหวัดลำปาง เรียกกระดาษเพลาว่า กระดาษน้ำโท้ง

           ๙. การกวดกระดาษหรือขัดผิวกระดาษให้ขึ้นมัน
              การนำกระดาษเพลาไปทำสมุดไทยหรือสำหรับเขียนภาพจะต้องมีกรรมวิธีเพิ่มขึ้นคือ ต้องนำไปขัดและกวดกระดาษให้เรียบเนียนถึงนำไปใช้ได้ การขัดผิวกระดาษให้ขึ้นมันจะทำด้วยหินแม่น้ำ ส่วนที่เป็นปกทำคิ้วหรือขอบหนากดด้วยเบี้ยอันเป็นวัสดุธรรมชาติ การกวดด้วยหินแม่น้ำหรือหอยเบี้ยเพื่อให้เรียบและแน่นแล้วเคลือบด้วยกาวแป้งเปียก ตากให้กาวแห้งนำมากวดอีกครั้ง จากนั้นนำกระดาษมาต่อกันทำเป็นสมุดส่งให้ช่างเขียนต่อไป การทำสมุดข่อยหรือสมุดไทยนั้นจะไม่มีการเย็บเล่มแต่จะพับเป็นทบ โดยใช้ไม้ตามขนาด ตามความกว้างความยาวของกระดาษ เมื่อทบได้ความหนาหรือบางตามต้องการแล้วก็นำมาทำปกหน้า ปกหลังและทำเส้นขอบให้สวยงาม ทากระดาษด้วยแป้งเปียกที่ทำจากทำปูนขาวผสมแป้งข้าวเจ้าทั้งสองหน้ากระดาษ ขั้นตอนนี้เรียกว่า สบสมุด  แล้วตากให้แห้งสนิท จะได้กระดาษที่สบเสร็จแล้วพร้อมที่จะทำสมุดไทยขาว ถ้าจะทำสมุดไทยดำให้ใช้เขม่าไฟหรือถ่านบดละเอียด หรือกาบมะพร้าวเผาไฟในแป้งเปียก เมื่อทา (ลบ) ก็จะได้กระดาษสีดำ

 
          ๑๐. การทำปกสมุด
               โดยตัดแถบกระดาษกว้างประมาณ ๑ - ๒ เซนติเมตร ทาแป้งเปียกติดริมขอบของปกสมุดทั้ง ๔ ด้าน ติดเรียงซ้อนกัน ๑ - ๕ ชั้น ให้ขนาดลดหลั่นกัน เรียกว่า ติดคิ้วสมุด ช่วยให้สมุดมีความแข็งแรงและสวยงามด้วย


คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

            ๑.  คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ

                - สมุดข่อย หรือกระดาษข่อย หรือสมุดไทย เป็นสื่อสำคัญที่ใช้สำหรับการถ่ายทอดสรรพวิชาความรู้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งทางด้านศิลปะ ด้านวรรณกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ตำรายาตำราโหราศาสตร์ ปูมโหร ตำรากฎหมาย พงศาวดาร รวมทั้งการจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งมีได้สรรค์สร้างไว้
                - การทำสมุดข่อย หรือกระดาษข่อย หรือสมุดไทย สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการพึ่งพาตนเองของคนไทยที่พัฒนามาสู่การจัดการองค์ความรู้ด้านอื่น รวมถึงทำให้เห็นถึงวิถีชุมชนที่ผลิต สมุดข่อยในสมัยก่อน และสภาพสังคมของชุมชนที่จะต้องมีแหล่งผลิตอยู่บริเวณแหล่งน้ำ รวมถึงแต่ละบ้านในชุมชนที่มีการผลิตส่วนประกอบต่าง ๆ เมื่อนำมารวมกันแล้วทำให้เกิดเป็นสมุดข่อยซึ่งในแต่ละขั้นตอนมีความละเอียดและซับซ้อนเป็นอย่างมาก บ่งบอกถึงความยากในการผลิตทำให้เป็นผลงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า

             ๒.  บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
                เขตบางซื่อ คือพื้นที่ดั้งเดิมที่มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในการผลิตสมุดข่อยเป็นที่ยอมรับปรากฏ ในเอกสารอ้างอิงต่าง ๆ ซึ่งคนในพื้นที่ยังมีบทบาทในการสืบทอดความเป็นรากเหง้าขององค์ความรู้ดั้งเดิม เพื่อเป็นการเชื่อมต่อองค์ความรู้ที่ได้รับการฟื้นฟูจากช่างฝีมือดั้งเดิมมิให้สูญหายไปถึงแม้ว่า ในปัจจุบันจะไม่ได้มีการผลิตสมุดข่อยเพื่อการค้าแล้วก็ตาม


มวยไทย
1. ชื่อรายการ       มวยไทย          
    ชื่อเรียกในท้องถิ่น         มวยไทย           

2. ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 

       การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว

3. พื้นที่ปฏิบัติ
       
กรุงเทพมหานคร

4. สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยสังเขป
       มวยไทย เป็นการต่อสู้ป้องกันตัวที่อยู่คู่ประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีหลักฐานปรากฏว่าในสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชายไทยตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชนทุกคนจะต้องฝึกหัดเรียนมวยไทยเพื่อเข้ารับราชการทหาร เพื่อแสดงความเป็นชายชาตรี เพื่อป้องกันตัว รวมทั้งเพื่อความสนุกสนานบันเทิงนอกจากนี้ การฝึกหัดเรียนมวยไทยในอดีตยังเป็นกระบวนการอบรมบ่มนิสัย เสริมสร้างคุณธรรม สร้างความรักชาติ และปลูกฝังหลักการดำเนินชีวิตในสังคม
       มวยไทย เป็นการต่อสู้ที่ใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแทนอาวุธ เรียกว่า “นวอาวุธ” คือ หมัด 2 หมัด เท้า 2 เท้า เข่า 2 เข่า ศอก 2 ศอก และ 1 ศีรษะ โดยคิดหากลวิธีในการใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ให้ผสมกลมกลืนกันจนมีประสิทธิภาพสูงสุดในการต่อสู้ป้องกันตัว และมีการตั้งชื่อท่าทางการต่อสู้ดังกล่าวให้ฟังแล้วไพเราะเข้าใจง่ายโดยเทียบเคียงลักษณะของท่าทางมวยกับชื่อหรือลีลาของตัวละคร เหตุการณ์ หรือสัตว์ในวรรณคดี เช่น เอราวัณเสยงา หนุมานถวายแหวน อิเหนาแทงกฤช เป็นต้น ท่าทางบางท่าก็เรียกชื่อตามสิ่งที่คุ้นเคยในวิถีชีวิตของคนไทยในยุคสมัยนั้น ๆ เช่น เถรกวาดลาน หนูไต่ราว คลื่นกระทบฝั่ง มอญยันหลัก เพราะเมื่อกล่าวถึงชื่อท่ามวยแล้วจะทำให้นึกถึงท่าทางของการต่อสู้ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ กระบวนการฝึก กระบวนการเล่น และแข่งขันมวยไทย มีขั้นตอน ขนบธรรมเนียม ระเบียบ ประเพณีตามแบบไทยที่มีลักษณะเฉพาะตัวแตกต่างจากวิชาต่อสู้ป้องกันตัวของชาติอื่น เช่น การขึ้นครู การไหว้ครู การรำมวย การย่างสามขุม การขอขมา และอื่น ๆ ซึ่งจะเน้นการฝึกฝนทั้งด้านร่างกายและจิตใจควบคู่ไปด้วยกัน เหตุนี้การเรียน การฝึก การเล่นมวยไทย ผู้เรียนผู้ฝึกต้องได้รับการถ่ายทอดศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี แนวคิด ค่านิยม และแนวปฏิบัติแบบไทยควบคู่กับกลยุทธ์กลวิธีการต่อสู้ป้องกันตัวแบบไทย เป็นการเรียนที่ได้ประโยชน์ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ  อารมณ์ สังคม สติปัญญา และวัฒนธรรมแบบไทยอย่างสมดุล และสมบูรณ์แบบซึ่งผู้เรียนจะไม่ได้รับประโยชน์และคุณค่าเช่นที่กล่าวมาในกีฬาสากลอื่น ๆ

5. ประวัติความเป็นมา
          มวยไทยเป็นทั้งยุทธวิธีและกีฬาที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมการต่อสู้ป้องกันตัวแบบไทยที่สืบทอดกันมาในสมัยใดไม่ปรากฏ และไม่มีหนังสือเล่มใดเขียนไว้ว่าเกิดขึ้นในสมัยใด แต่มวยไทยมีปรากฏเกิดขึ้นมานานแล้วและอาจเกิดขึ้นมาพร้อมกับชาติไทยด้วยซ้ำ เพราะมวยไทยเป็นศิลปะประจำชาติไทยยากที่ชาติอื่นมาเลียนแบบได้ มวยไทยในสมัยก่อนจะมีการฝึกฝนอยู่ในบรรดาหมู่ทหาร เพราะในสมัยก่อนไทยเรามีการรบพุ่งและสู้รบกับประเทศเพื่อนบ้านบ่อย ๆ การสู้รบในสมัยนั้นยังไม่มีปืนจะสู้กันมีแต่ดาบทั้งสองมือและมือเดียว เมื่อการรบพุ่งก็ต้องมีการประชิดตัวจึงนำเอาอวัยวะทุกส่วนของร่างกายมาใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวในสนามรบ ต่อมามีการฝึกหัดไว้ต่อสู้ป้องกันตัวและแสดงเวลามีงานเทศกาลต่าง ๆ นานเข้าชาวบ้านหรือคนไทยได้เห็นการถีบ - เตะ อย่างแพร่หลาย จึงทำให้มีการฝึกหัดมวยไทยกันมากจนถึงกับตั้งเป็นสำนักฝึกกันมากมาย แต่สำนักที่ฝึกมวยไทยก็ต้องเป็นสำนักดาบที่มีชื่อดีมาก่อนและมีอาจารย์ดีไว้ฝึกสอน ดังนั้นมวยไทยสมัยก่อนจึงฝึกเพื่อความหมาย 2 อย่าง คือ เพื่อไว้สำหรับสู้รบกับข้าศึก และเพื่อไว้สู้ป้องกันตัว

พัฒนาการและประวัติความเป็นมาของมวยไทยในยุคสมัยต่าง ๆ พอสรุปได้ ดังนี้

          1. มวยไทยสมัยอาณาจักรน่านเจ้า (พ.ศ. 1291)
                    มวยไทยสมัยน่านเจ้าสันนิษฐานว่าคนไทยมีมวยไทยไว้ต่อสู้กับผู้เข้ามารุกราน ดังที่ รังสฤษฏิ์ บุญชลอ กล่าวว่า “สมัยน่านเจ้า พ.ศ. 1291 พระเจ้าพีลอโก๊ะได้รวบรวมอาณาจักรไทยขึ้น เรียกว่า อาณาจักรน่านเจ้ารบกับจีนโดยใช้อาวุธ ใช้หอก ใช้งาว... การต่อสู้มือเปล่าก็มีอยู่บ้างแต่ส่วนมากจะใช้ระยะประชิดตัวและนิยมการเลียนแบบจีน...”

          2. มวยไทยสมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ. 1781 - 1921)
                    การใช้มวยไทยประกอบกับการใช้อาวุธอื่น ๆ ในการต่อสู้ระยะประชิดตัว ยังคงมีอยู่ในสายเลือดของคนไทย แม้ว่าจะไม่เรียกว่ามวยไทยโดยตรงแต่ก็เป็นยุทธวิธีประกอบการรบที่สมบูรณ์แบบ ในสมัยสุโขทัยนี้มีการต่อสู้กับข้าศึกแบบมือเปล่าด้วยวิชามวยไทยแต่ส่วนใหญ่ก็ยังใช้อาวุธชนิดต่าง ๆ เพื่อการกอบกู้ประเทศชาติ โดยสำนักเรียนวิชามวยไทยแบ่งออกเป็น 3 แหล่ง ดังนี้
                   1) วัด ศึกษาเล่าเรียนจากครูบาอาจารย์ที่บวชเป็นพระภิกษุและมีฝีมือในการต่อสู้
                   2) บ้าน ศึกษาเล่าเรียนจากผู้มีความรู้เป็นผู้ถ่ายทอดวิชามวยไทยให้กุลบุตรกุลธิดา
                   3) สำนักราชบัณฑิต ให้เรียนวิชาการต่อสู้ป้องกันตัว ฝึกใช้อาวุธบนหลังช้าง ม้า วัว ควาย
                    การรบแบบประจัญบานมีโอกาสที่จะใช้มวยไทยมาก ดังนั้นการฝึกการใช้อาวุธต้องฝึกมวยไทยเป็นพื้นฐานและชายชาตรีในยุคสุโขทัยจะฝึกฝนมวยไทยกันแทบทุกคน

          3. มวยไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893 - พ.ศ. 2310)
             มวยไทยสมัยกรุงศรีอยุธยามีความเด่นชัดว่ามีการฝึกกันโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์ ขุนนางชั้นสูง และชาวบ้าน ที่อาศัยใช้ชั้นเชิงมวยไทยเข้ารับราชการ เป้าประสงค์จากการฝึก คือ การเตรียมไพร่พลไว้สำหรับการศึกสงครามที่จะเกิดขึ้น โดยสำนักฝึกที่มีชื่อเสียง ได้แก่ สํานักดาบพุทไธสวรรย์ เมื่อชายไทยคนใดที่ได้รับการฝึกฝนจนมีความสามารถเป็นเลิศแล้ว ก็ต้องไปขึ้นทะเบียนสังกัดกรมทนายเพื่อเข้าประจำการในกองทัพ ซึ่งมีชื่อว่า “หมู่ทะลวงฟัน” การเป็นทหารจึงเป็นนักมวยไปด้วยในตัว

          4. มวยไทยสมัยกรุงธนบุรี
             พระเจ้ากรุงธนบุรีกอบกู้อิสรภาพด้วยการรบที่ต้องใช้ยุทธวิธีกำลังพลน้อยแต่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการฝึกมวยไทยและการใช้อาวุธต่าง ๆ จึงต้องมีตลอดเวลา ในสมัยของพระองค์ท่านเมื่อครั้งเป็นเจ้าเมืองตากได้มีทหารเอกคู่ใจที่มีความสามารถด้านมวยไทยมาก สามารถสู้กับเสือด้วยมีดสั้นเพียงเล่มเดียว ชกมวยอยู่ในชั้นแนวหน้าของทนายเลือก นั่นคือ นายทองดี ฟันขาว (จ้อย) ชาวเมืองพิชัย ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองพิชัย หรือพระยาไชยบูรณ์ หรือพระยาพิชัยดาบหัก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสนพระทัยศึกษาวิชามวยไทยเป็นพิเศษ ทรงมีความสามารถในศิลปะมวยไทยและกระบี่กระบองเป็นอย่างดี ในขณะอายุ 9 ขวบ ได้เข้าศึกษาที่วัดโกษาเวศท์ และทรงฝึกหัดมวยไทยจากทนายเลือกในพระราชวัง และสำนักงานอื่น ๆ อีกหลายสำนัก และได้เสด็จทอดพระเนตรการชกมวยอยู่เสมอ ทำให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และราษฎรสนใจในการฝึกมวยไทยกันอย่างกว้างขวาง
             สำนักฝึกมวยสมัยกรุงธนบุรีมีลักษณะคล้ายกับในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ มีสำนักมวยในพระราชวังสำหรับฝึกหัดมวยไทยให้ทหารและขุนนาง และมีสำนักมวยตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วไป การฝึกหัดก็นิยมฝึกหัดกันในบริเวณวัด เพราะบริเวณกว้างขวางเหมาะสมอย่างยิ่งในการฝึกหัดมวย และอีกอย่างหนึ่งคนเก่งไม่ว่าจะเป็นนักรบและนักมวยเมื่อแก่ชราลงมักจะใช้ชีวิตในบั้นปลายออกบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัด ลูกศิษย์เมื่อได้ข่าวว่ามีฝีมือดีก็จะติดตามไปขอมอบตัวเป็นลูกศิษย์เพื่อฝึกหัดมวยด้วย และในยามปลอดภัยจากสงครามจึงมีการชกมวยในงานฉลองต่าง ๆ ซึ่งลักษณะดังกล่าวถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมด้านพละกำลังของกองทัพไปในตัวขณะเดียวกันก็เป็นการทดสอบความเป็นชายชาตรีด้วย โดยลักษณะของการชกจะชกกันจนกว่าฝ่ายหนึ่งจะยอมแพ้ไปเอง

           5. มวยไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
             มวยไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ออกเป็น 3 ช่วงตามลำดับเหตุการณ์ ดังนี้

                 5.1  มวยไทยในช่วงสืบทอด (พ.ศ. 2325 - 2440)
                     ในช่วงตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2325) จนถึงช่วงกลางสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2440) บ้านเมืองมีสภาพคล้ายกับกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและสมัยกรุงธนบุรีที่ยังมีการสู้รบทำสงครามกับประเทศข้างเคียงอยู่เป็นครั้งคราว สลับกับช่วงปลอดสงครามเป็นระยะ จุดมุ่งหมายของการฝึกมวยไทย วิธีการฝึกหัดมวยไทย รูปแบบการต่อสู้มวยไทย โอกาสในการเล่นและการแข่งขัน โดยทั่วไปคล้ายกับสมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงธนบุรี แต่เนื่องจากช่วงปลอดสงครามเริ่มมีมากขึ้น บ้านเมืองเริ่มมีความสงบมากขึ้น จุดมุ่งหมายในการเล่นจึงมีน้ำหนักเพื่อการทหารน้อยลง แต่เป็นการเน้นเพื่อฝึกทบทวนทางการทหารมากกว่า นอกจากนี้ น้ำหนักทางด้านการฝึกเพื่อออกกำลังกายและการเล่นเพื่อความสนุกสนานในยามว่างเว้นจากการสงครามมีมากขึ้น
                    การฝึกหัดชกมวยไทยในช่วงนี้มวยไทยยังมีความสำคัญในฐานะเป็นศาสตร์ที่ขัตติยะราชกุมารหรือบุตรข้าราชการผู้สูงศักดิ์ต้องศึกษาเล่าเรียนซึ่งถือกันว่าเป็นของดีสมควรผู้มีตระกูลจะฝึกหัดไว้  ดังเช่นรัชกาลที่ 1 ทรงฝึกหัดมวยไทยตั้งแต่ทรงพระเยาว์และทรงสนพระทัยในการเสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันชกมวยอยู่เสมอ รัชกาลที่ 2 ทรงศึกษามวยไทยตามสำนักต่าง ๆ เช่น สำนักวัดบางทองใหญ่ และได้ฝึกฝนมวยไทยจากพวกทนายเลือก รัชกาลที่ 3 ทรงฝึกหัดมวยไทยจากทนายเลือกในรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอฝึกหัดกระบี่กระบองและมวยไทยจนชำนาญ และรัชการที่ 5 ทรงศึกษามวยไทย และกระบี่กระบองกับหลวงมลโยธานุโยค (รุ่ง) เมื่อมวยไทยเป็นที่นิยมของพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง ประชาชนจึงสนใจขวนขวายที่จะฝึกหัดมวยไทยกันมากขึ้นเพราะหากฝึกจนถึงขั้นมีฝีมือ นอกจากจะเป็นการป้องกันตัวเองได้แล้ว ยังเป็นประโยชน์ในการทำงานรับราชการ เช่น เป็นทนายเลือก และเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลด้วย ซึ่งการฝึกหัดมวยไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้ฝึกจะต้องมีความตั้งใจจริง แสดงออกถึงคุณธรรม ความอดทนให้ครูผู้ฝึกเห็น และแน่ใจเสียก่อนว่าจะไม่ใช้วิชามวยไทยไปในทางที่ผิด ไม่เป็นลูกศิษย์คิดล้างครูเมื่อแน่ใจแล้วจึงจะยอมถ่ายทอดฝึกฝนวิชามวยไทยให้ ต้องอยู่ปรนนิบัติรับใช้ครูบาอาจารย์อยู่นานจนกว่าครูอาจารย์จะเกิดความไว้วางใจมั่นใจในตัวผู้มาขอรับการฝึกเสียก่อนจึงจะเริ่มถ่ายทอดวิชาให้
                   นอกจากนี้ ต้องมีการทำพิธี “ขึ้นครู” คือ พิธีการที่ครูอาจารย์ยอมรับผู้นั้นว่าเป็นศิษย์ ผู้เป็นศิษย์ต้องคารวะและรับสัตย์เบื้องต้น และก่อนการชกนักมวยไทยต้องมีการ “ไหว้ครู” การไหว้ครูเป็นการรำลึกนึกถึงคุณครูบาอาจารย์ ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชามวยไทย เพื่อความเป็นสิริมงคลและมีการ “รำมวย” ตามลีลาเฉพาะแบบของครูมวยแต่ละสำนัก ซึ่งจะเป็นท่าทางที่อ่อนช้อยสวยงาม การรำมวยเป็นการประกาศให้รู้ว่านักมวยเป็นลูกศิษย์ครูมวยสำนักใด

                   5.2 มวยไทยช่วงพัฒนา (พ.ศ. 2441 - 2487)
                   ช่วง พ.ศ. 2441 (กลางสมัยรัชกาลที่ 5) ถึง พ.ศ. 2487 (กลางสมัยรัชการที่ 8) กีฬามวยไทย มีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และพัฒนาการไปเป็นอย่างมากอย่างเห็นได้เด่นชัดในทุกด้าน
                   สมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงเห็นความสำคัญและคุณค่าของมวยไทยมาก ทรงสนับสนุนมวยไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่เสมอ เช่น ทรงเสด็จทอดพระเนตรการชกมวยไทยหน้าพระที่นั่งเสมอ ทรงตั้ง “มวยหลวง” ขึ้น ทำหน้าที่คล้ายกับทนายเลือกและมีหน้าที่ฝึกสอนกีฬามวยไทยให้พระราชโอรส ขุนนาง ทหารข้าราชการในพระราชวังด้วย  มีการปูนบำเหน็จแก่นักมวยราษฎรที่ชกมวยไทยเก่งให้ได้รับยศบรรดาศักดิ์
                   สมัยรัชกาลที่ 6 ตอนต้นรัชกาลมวยไทยยิ่งเป็นที่นิยมกันมากขึ้น เพราะพระองค์ทรงโปรดมวยไทยและกระบี่กระบองมาก ทรงเสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันด้วยพระองค์เองอยู่เสมอ ในช่วงนี้ได้เริ่มมีการแข่งขันมวยไทยกึ่งอาชีพในสนามมวยอย่างเป็นระบบเป็นประจำแบบกึ่งถาวรขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีนายพลเสือป่าเจ้าพระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดการแข่งขันมวยไทยขึ้นเพื่อหาเงินซื้อปืนพระราม 6 ให้แก่กิจการเสือป่า และเพื่อปลูกเพาะความนิยมในเชิงนักรบ ซึ่งจัดให้มีการแข่งขันตั้งแต่วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2464 ณ สนามโรงเรียนสวนกุหลาบ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “สนามมวยสวนกุหลาบ” ในช่วงนี้จึงมีการฝึกหัดมวยอย่างจริงจังเพื่อชกเป็นอาชีพ สนามมวยสวนกุหลาบดำเนินงานมาจนถึง พ.ศ. 2466  ก็มีอันต้องล้มเลิกกิจการไป ท่านพระยานนทิเสนสุเรนภักดีได้ร่วมกับมิตรสหายจัดสร้างสนามมวยขึ้นใหม่ชื่อว่า “เวทีสวนมิกสกวัน” กีฬามวยไทยจึงเป็นที่นิยมของประชาชนยิ่งขึ้น
                   สมัยรัชกาลที่ 7 กีฬามวยไทยเป็นที่นิยมมากขึ้นทั้งนี้เพราะรูปแบบการชกมวยในลักษณะอาชีพมีความมั่นคงมากขึ้น มีสนามมวยต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ในปี พ.ศ. 2471 พระยาเทพหัสดินได้ริเริ่มการจัดแข่งขันมวยไทยชิงตำแหน่งยอดมวยเอกแห่งสยามขึ้น ณ สนามมวยหลังบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งเรียกกันว่า  “สนามมวยหลักเมือง” ซึ่งถือได้ว่าเป็นสนามมวยอาชีพยุคแรกอย่างแท้จริง เมื่อประชาชนสนใจการแข่งขันมวยไทยกันมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2472 เจ้าพระยาคทาธรบดีก็ได้จัดการแข่งขันมวยขึ้นอีกสนามหนึ่งที่บริเวณสวนลุมพินี  ซึ่งมีการจัดเป็นสวนสนุกด้วยจึงมีชื่อเรียกสนามมวยนี้ว่า “สนามมวยสวนสนุก” ต่อมาในปี พ.ศ. 2483
ทางราชการทหารก็ได้จัดการแข่งขันมวยไทยขึ้นอีกหนึ่งสนามในที่ดินของเจ้าเชตุเรียกสนามมวยนี้ว่า “สนามมวยสวนเจ้าเชตุ” หลังจากนั้นก็มีการตั้งสนามมวยขึ้นตามที่ต่าง ๆ ของประเทศอีกมากมายหลายแห่ง แสดงถึงความนิยมความเจริญก้าวหน้าของกีฬามวยไทยได้เป็นอย่างดีในช่วงสมัยนี้
                   รูปแบบและวิธีการชกมวยในช่วงนี้ยังคงต้องมีการไหว้ครู ร่ายรำ และสวมมงคลบนศีรษะอยู่  เริ่มมีการใช้นวมแทนการคาดเชือก ทักษะวิธีการชกมวยไทยเริ่มมีการเขียนตำรามวยไทยโดยครูกิมเส็ง ทวีสิทธิ์  ซึ่งมีการรวบรวมแม่ไม้มวยไทย 15 ท่า และลูกไม้มวยไทย 15 ท่า 

                   5.3  มวยไทยในช่วงปัจจุบัน (พ.ศ.2487 - ปัจจุบัน)
                   ในปี พ.ศ. 2488  สำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ดำเนินการก่อสร้างสนามมวยคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นที่ถนนราชดำเนินชื่อว่าสนามมวย “เวทีราชดำเนิน” และเปิดให้ใช้แข่งขันเมื่อ วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ต่อมาในปี พ.ศ. 2496 ได้มีการเปิดสนามมวย “เวทีลุมพินี” ใช้แข่งขันเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2496 นับแต่ปี พ.ศ. 2488 เป็นต้นมา กีฬามวยไทยนับเป็นอาชีพหนึ่งที่สามารถทำเงินให้แก่ผู้เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี ทั้งนักมวย หัวหน้าคณะ ผู้จัดการแข่งขัน เจ้าหน้าที่ผู้ตัดสิน และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ทั้งนี้ เพราะเริ่มมีการสร้างสนามมวยถาวรตามแบบสมัยใหม่ขึ้น มีการดำเนินการแข่งขันมวยไทยอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอทุกวันยกเว้นวันพระ สนามมวยมาตรฐาน ได้แก่ สนามมวยเวทีราชดำเนิน และสนามมวยลุมพินี เป็นต้น มีการดำเนินการกีฬามวยไทยไปในทางธุรกิจสมัยใหม่ มีการโฆษณาทำการตลาดดึงดูดผู้ชมให้มาสนใจมวยไทย มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันมวยไทยทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ มีการจัดรายการแข่งขันมวยไทยที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น มีสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนการเงินให้แก่การแข่งขันมวยไทยมากราย
                   นอกจากมวยไทยในระดับอาชีพแล้ว ในระดับสมัครเล่นได้มีการบรรจุกีฬามวยไทยเข้าเป็นกีฬาสาธิตเป็นครั้งแรกในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2541 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย  และมีความพยามจะบรรจุกีฬามวยไทยสมัครเล่นเข้าในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ และกีฬาโอลิมปิคเกมส์ต่อไป

6. ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
                   มวยไทยเป็นยุทธวิธีต่อสู้ป้องกันตัวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งถือได้ว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติไทยที่คิดสร้างสรรค์ขึ้นโดยคนไทยโดยแท้ มวยไทยมีระเบียบแบบแผนและประเพณีที่เป็นลักษณะเฉพาะมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ การมอบตัวเป็นศิษย์ การร่ายรำไหว้ครู การแต่งกาย ดนตรีบรรเลงประกอบ
การชกมวย และเครื่องรางของขลัง

                    1. การมอบตัวเป็นศิษย์ (การขึ้นครูหรือการยกครู)
                        การมอบตัวเป็นศิษย์ นักมวยทุกคนจะต้องกระทำพิธีมอบตัวเป็นศิษย์โดยจะต้องมีเครื่องบูชาครูตามวัฒนธรรมธรรมเนียมนิยมหรือตามประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมา ซึ่งวิธีดังกล่าวจะต้องใช้เครื่องบูชาที่ประกอบไปด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน และเงินจำนวน 9 บาท โดยที่ผู้เรียนจะนำเครื่องบูชาที่เตรียมมามอบให้กับครูผู้สอนพร้อมกับกล่าวคำปฏิญาณโดยกล่าวตามครูผู้สอน ซึ่งมีเนื้อใจความสำคัญพอสรุปได้ว่า ผู้เรียนจะเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสอน จะขยันหมั่นฝึกซ้อม จะให้ความเคารพและเชื่อครูผู้สอน จะไม่นำความรู้ที่ได้ไปใช้ในทางที่ไม่ดี หากไม่ปฏิบัติตามที่ได้ปฏิญาณตนไว้ขอให้ความวิบัติทั้งหลายเกิดขึ้นแก่ผู้เรียน นอกจากนั้น การมอบตัวเป็นศิษย์ ครูผู้สอนจะให้โอวาท แนะนำการปฏิบัติตนในการฝึกมวยไทย กำหนดกฎเกณฑ์ ระเบียบแบบแผน และตารางการฝึก จนผู้เรียนเข้าใจดี แล้วครูผู้สอนจะให้ผู้เรียนฟังเทศน์เพื่ออบรมจิตใจ การขึ้นครูดังกล่าวอาจทำคนเดียวหรือทำพร้อมกันหลายคนก็ได้ เมื่อผู้เรียนขึ้นครูหรือยกครูแล้ว ครูผู้สอนจะเริ่มสอนท่าไหว้ครูให้ ซึ่งท่าไหว้ครูเป็นท่านั่ง ท่ายืน และก้าวย่างด้วยลีลาอ่อนช้อยสวยงาม เมื่อฝึกหัดไหว้ครูได้ชำนาญดีแล้วครูผู้สอนก็จะเริ่มสอนวิธีการใช้อาวุธของมวยไทยชนิดต่าง ๆ การขึ้นครูผู้เรียนมักเลือกวันพฤหัสบดีอันถือว่าเป็นวันครูตามคติโบราณ
                       การขึ้นครูหรือการยกครู ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของคนไทยที่อยู่ในสายของศิลปะการต่อสู้มวยไทย แสดงถึงการเคารพ ให้ความนับถือครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา เป็นการตกลงกันระหว่างคนสองคน คือ ครูผู้สอนกับศิษย์ว่าจะเริ่มเป็นครูเป็นศิษย์กัน พิธีกรรมทางด้านนี้ถือได้ว่าเป็นประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานจะเห็นได้ว่าพิธีกรรมดังกล่าวนี้มีความเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยที่ผู้เยาว์ต้องให้ความเคารพนับถือ เชื่อฟังผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า
                      พิธีการขึ้นครูมวยไทย โดยทั่วไปจะมีพิธีปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน ดังนี้
                       1) กระทำในวันพฤหัสบดี อันถือว่าเป็นวันครูตามคติโบราณ
                       2) ลูกศิษย์ต้องจัดเตรียม ดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าขาว ขันน้ำ และเงินมาเข้าพิธี เงินนั้นแล้วแต่ครู
แต่ละท่านจะกำหนดว่ามากน้อยเพียงใด ส่วนครูบางท่านอาจไม่กำหนดเรื่องเงินก็มี
                       3) การทำพิธีจะกระทำต่อหน้าพระพุทธรูป ครูบางท่านอาจนำลูกศิษย์ไปที่วัด กระทำพิธีที่วัดก็มี
ที่บ้านครูก็มี
                       4) ลูกศิษย์จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วกล่าวคำปฏิญาณตนว่าจะเคารพนับถือ เชื่อฟังคำสั่งสอนของครูมวย จะประพฤติตนเป็นคนดีทั้งกาย วาจา และจิตใจ จะมานะอดทนฝึกศิลปะมวยไทยให้สำเร็จ จะนำศิลปะมวยไทยไปใช้ในทางที่ถูกที่ควร เป็นการรับสัตย์ตามที่ครูมวยกำหนด
                       5) ครูมวยให้โอวาท แนะนำการปฏิบัติตนในการฝึกหัดมวยไทย กำหนดระเบียบ แนวปฏิบัติตน
ในการฝึกหัดจนศิษย์เข้าใจดีแล้ว
                       6) ครูมวยเริ่มสอนท่าไหว้ครู การรำมวยให้ แล้วจึงดำเนินการฝึกวิธีการใช้อาวุธของมวยไทย เป็นลำดับจากง่ายไปหายากตามตารางการฝึกที่ครูกำหนดแต่ละวันไป ครูบางท่านอาจให้ศิษย์ฟังเทศน์จากพระสงฆ์เพื่อเป็นการอบรมจิตใจด้วยก็มี

                    2. การร่ายรำไหว้ครู
                        ก่อนเริ่มต้นทุกสิ่งทุกอย่างต้องเริ่มจากการไหว้ครู ท่าไหว้ครู การกราบการกอบพระแม่ธรณี หมายถึงความเป็นชาติ แผ่นดินเกิดแผ่นดินไทยด้วยดวงใจเทิดไว้แด่องค์พระมหาราชา ความหมายของการไหว้ครูนอกจากจะเป็นการอบอุ่นร่างกายอย่างงดงามและนุ่มนวลแล้ว ยังสื่อถึงการให้ความสำคัญของการระลึกถึงพระคุณของบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ส่วนการขยับ สืบ การสอดสร้อย การสร้างความสัมพันธ์ สิ่งนี้เป็นศิลปะเป็นภูมิปัญญาของไทย
                        การร่ายรำไหว้ครู แต่ละค่าย แต่ละสำนัก มีกระบวนการ รูปแบบ ที่แตกต่างกันไปบ้างแต่ก็ไม่มากนักหลังจากครูมวยสอนไหว้ครูแล้วก็จะให้ผู้เรียนได้ฝึกจนเกิดความชำนาญ โดยในระหว่างที่ฝึกครูมวยอาจคอยแนะนำเพิ่มเติมให้ในบางส่วนที่ขาดหาย นักมวยบางคนเคยเรียนมาบ้างแล้วหรือมีพื้นฐานมาก่อนก็จะไปได้เร็ว การร่ายรำไหว้ครูมีหลายรูปแบบ แบ่งเป็น 2 ตอน คือ ท่านั่ง และท่ายืน ซึ่งผู้ร่ายรำต้องมีรูปร่างเหมาะสมกับท่ารำ เช่น ท่าพระรามแผลงศร หนุมานถวายแหวน สาวน้อยประแป้ง แต่ที่พบกันมากที่สุด คือ การไหว้ครูแบบพรหมสี่หน้า บางสำนักอาจมีการไหว้ครูที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับการถ่ายทอดของแต่ละบุคคล บางสำนักอาจตัดออกหรือเพิ่มเติมการร่ายรำเข้าไปอีกแต่มักจะมีท่าเหล่านี้อยู่เสมอ เช่น ท่าเทพนิมิต ย่างสามขุม ดูดัสกร พยัคฆ์ด้อมกวาง เป็นต้น นอกจากนี้ การไหว้ครูและการร่ายรำมวยไทย ยังเป็นอุบายเตือนใจให้ยึดมั่นอยู่ในความสามัคคี รักหมู่คณะ หากฝ่ายหนึ่งไหว้ครูและร่ายรำมวยไทยแบบเดียวกันก็ย่อมแสดงว่าสืบเชื้อสายมาจากครูเดียวกัน ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้กันเอง ขณะเดียวกันความมั่นคงแน่นแฟ้นของการรักหมู่คณะย่อมนำไปสู่ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะเหตุนี้นักมวยจึงต้องหันหน้าไปทางทิศอันเป็นที่ประทับของพ่อเมืองหรือพระมหากษัตริย์เพื่อน้อมรำลึกถึงพระบารมี ตลอดจนคุณบิดามารดา ครูบาอาจารย์
                       การร่ายรำไหว้ครูนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะอันคงไว้ซึ่งเสน่ห์ที่แฝงไปด้วยความผิดแพลง ลุ่มลึกถ่ายทอดเรียนรู้กันได้ไม่รู้จบ อีกทั้งท่าทางการร่ายรำต่าง ๆ นั้น บางท่านสื่อความหมายถึงความแข็งแรง เล่ห์เหลี่ยม ความรัดกุม ความอ่อนช้อยสวยงาม การยั่วยุคู่ต่อสู้ฝ่ายตรงข้าม ตลอดจนไหวพริบปฏิภาณของผู้ร่ายรำ ที่มีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับครูอาจารย์ สำนักมวย หรือค่ายมวยที่ถ่ายทอดวิชา เช่น การไหว้ครูร่ายรำมวยไทยสายไชยานักมวยจะนั่งยอง ๆ ลงบริกรรมคาถาและก้มกราบพื้น 3 ครั้ง นักมวยจะยืนขึ้นสำรวมกายพร้อมกับยกนิ้วหัวแม่มือขึ้นอุดที่รูจมูกทีละข้าง สูดลมหายใจเข้าออกช้า ๆ จึงกระทืบเท้าตั้งท่าครูแล้วร่ายรำ ล่อหลอก คุมเชิง ดูคู่ต่อสู้ ที่จริงแล้วนี่คือวิชาตรวจลมหายใจหรือตรวจปราณที่สืบทอดมาแต่ครั้งโบราณ การไหว้ครูร่ายรำของมวยไทยสายไชยาจะไม่มีท่าสวยงามแบบนาฏศิลป์ยกเว้นหากท้าคู่ต่อสู้โดยเอาหน้าคุยดินอย่างไก่ ซึ่งมีลีลาคล้ายโนราห์ของชาวใต้ (รายละเอียดท่าไหว้ครูอยู่ในเอกสารแนบท้าย)
                       ปัจจุบันทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมไทยดังกล่าวจึงได้พยายามฟื้นฟู สนับสนุน และเผยแพร่ให้ประชาชนและคนในวงการมวยไทยได้เล็งเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณีของไทยแขนงนี้ การไหว้ครูและการร่ายรำมวยไทยจึงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหนึ่งและผู้คนให้ความสนใจ รวมทั้งเข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของการไหว้ครูและร่ายรำมวยไทยมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งชาวต่างประเทศที่ได้มีโอกาสศึกษาและฝึกฝนมวยไทยก็ให้ความสนใจในประเพณีการไหว้ครูและการร่ายรำมวยไทย ทั้งสามารถร่ายรำได้งดงามไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนไทย จึงเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจสำหรับคนไทยทุกคนซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมควรที่จะร่วมมือกันรักษาและสืบทอดให้คงอยู่ตลอดไป

                   3. การแต่งกาย
                       การแต่งกายของนักมวยไทยในสมัยโบราณกับนักมวยไทยในสมัยปัจจุบันมีความแตกต่างกัน แต่ในบางอย่างยังคงไว้ซึ่งรูปแบบเดิมเหมือนในอดีตและที่ขาดเสียไม่ได้ คือ เรื่องของไสยศาสตร์ เครื่องรางของขลังแต่ในการแต่งกายของมวยไทยถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอีกประการหนึ่ง เพราะเครื่องแต่งกายของนักมวยไทยแตกต่างจากกีฬาประเภทอื่นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากกีฬามวยไทยต้องการความสะดวกสบาย ความคล่องแคล่วว่องไวในการเคลื่อนที่ของส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จึงไม่นิยมสวมเสื้อผ้าหลายชิ้นจะมีแต่เฉพาะกางเกงขาสั้นและอุปกรณ์ป้องกันตามกติกาของการแข่งขัน เราสามารถแบ่งรูปแบบการแต่งกายของมวยไทยออกเป็น 2 แบบ คือ การแต่งกายมวยไทยในสมัยโบราณ และการแต่งกายมวยไทยในปัจจุบัน ซึ่งมีรูปแบบที่พัฒนาให้เห็นถึงความแตกต่างและที่ยังคงความคล้ายคลึงกันในบางส่วน ดังนี้
                        3.1  การแต่งกายมวยไทยในสมัยโบราณ
                           ในอดีตอาณาจักรไทยต้องทำศึกสงครามเพื่อป้องกันผืนแผ่นดินไทยจากการรุกรานของประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด การฝึกฝนการใช้อาวุธและการต่อสู้ด้วยมือเปล่าจึงเป็นสิ่งสำคัญของลูกผู้ชายไทยที่ต้องเตรียมตัวเป็นกำลังพลที่มีความสามารถรอบตัว เครื่องแต่งกายของนักมวยไทยแต่งครบเครื่องคล้ายออกศึกเพียงแต่ไม่ถืออาวุธและไม่ติดระดับชั้นยศ การแต่งกายของนักมวยกับนักรบจึงมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในรายละเอียด
ปลีกย่อยเท่านั้น เครื่องแต่งกายที่เป็นส่วนปกปิดร่างกาย ได้แก่ กางเกง ในสมัยก่อนนักมวยจะสวมกางเกงขาสั้น ยาวประมาณแค่แข้ง ซึ่งเป็นกางเกงที่ใช้กันโดยทั่วไปในชีวิตประจําวัน ตัวกางเกงจะใหญ่ ไม่มีขอบกางเกง ใช้ผ้าขาวม้าผูกคาดเอวไว้กันหลุด ผ้าขาวม้าเป็นผ้าที่ทอด้วยด้ายฝ้ายหรือผ้าไหมรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 1 เมตรครึ่ง เป็นลายตารางหมากรุกบ้างเป็นลายอื่นบ้าง ในการแข่งขันชกมวยไทยนักมวยจะใช้ผ้าขาวม้าพันให้หนาคาดทับระหว่างขาใช้แทนกระจับ และคาดเอวเพื่อให้กางเกงไม่หลุดลุ่ยเวลาขึ้นชกมวย
                            ผ้าพันมือ เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของนักมวยไทยอีกประการหนึ่ง คือ การคาดเชือกที่มือโดยใช้ด้ายดิบที่จับเป็นใจ (รวมเส้นด้าย) ขนาดโตเท่าดินสอดำต่อกันเป็นเชือกยาวประมาณ 20 - 25 เมตร ม้วนแยกไว้ 2 กลุ่ม ใช้พันสันหมัดและข้อมือ ความยาวต่างกันตามความต้องการของประเภทนักมวย การคาดเชือกจะช่วยให้กระดูกนิ้วมือไม่เคล็ดง่าย และทำให้หมัดแข็ง น้ำหนักหมัดมีความหนักแน่นกว่ามัดธรรมดา แต่ถ้าพันหนามากจะทำให้ชกอืดอาดได้ ก่อนการขึ้นชกมวยเกจิอาจารย์บางสำนักจะทำพิธีแต่งตัวให้นักมวย เรียกว่า “พิธีอตตมสูตร” และชุบตัว คือ อาบน้ำชำระร่างกาย เปลื้องทุกข์ และแต่งตัวให้ลูกศิษย์ด้วยคาถาอาคมที่มีอยู่อย่างครบถ้วน เพื่อเป็นฤกษ์เป็นชัยก่อนขึ้นต่อกรกับคู่ต่อสู้
                        3.2  การแต่งกายมวยไทยในสมัยปัจจุบัน
                            เครื่องแต่งกายนักมวยไทยสมัยปัจจุบัน ประกอบด้วย ผ้าพันมือ สนับศอก ปลอกรัดข้อเท้ากระจับ กางเกง นวม ฟันยาง และสนับแข้ง เครื่องแต่งกายมวยไทยอาชีพจะแตกต่างจากมวยไทยสมัครเล่น คือ นักมวยที่ขึ้นชกมวยไ
ขนมตึงตัง
ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

1. ชื่อรายการ            ขนมตึงตัง                                    
    ชื่อเรียกในท้องถิ่น             ขนมตึงตัง                         

2. ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
        ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล

3. พื้นที่ปฏิบัติ
        เลขที่ 1503 ชุมชนคลองบางนา ถนนลาซาล แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กทม. 10260
 
4. สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยสังเขป
         “ขนมตึงตัง” เป็นขนมโบราณของชาวไทยเชื้อสายมอญที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ มักทำในโอกาสที่ว่างเว้นจากการทำนาแล้ว หรือทำหลังเทศกาลออกพรรษา โดยชื่อขนม “ตึงตัง” นี้มีที่มาจากเสียงการตำข้าวเหนียวในครก              
          ขนมตึงตังเป็นขนมที่ทำจากข้าวเหนียวนึ่งสุกตำผสมกับหัวกะทิ เกลือ และน้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าว เครื่องปรุงเช่นเดียวกับขนมกะละแม แต่ต่างกันที่กรรมวิธีการผลิต ขนมกะละแมจะใช้วิธีการกวน วัตถุดิบทำจากข้าวเหนียว กะทิ และน้ำตาล กวนจนละเอียดไม่ติดกระทะ ส่วนขนมตึงตังเป็นการใช้วิธีการตำจนละเอียดไม่ติดก้นครก โดยมีน้ำกะทิหรือไขมันจากมะพร้าวเป็นเครื่องประกอบสำคัญ ชื่อ “ตึงตัง” จึงมีที่มาจากเสียงการตำข้าวเหนียวในครกนั่นเอง
          การทำขนมตึงตัง ถือได้ว่าเป็นขนมสามัคคีเช่นเดียวกับการทำกระยาสารท ข้าวเหนียวแดง กะละแม ขนมจีน มักทำในเทศกาลมาฆมาส หรือทำหลังเทศกาลออกพรรษา กระบวนการทำนั้นจะใช้แรงงานคนมาก ต้องมีการนัดหมายเตรียมงานก่อน เนื่องจากทำในปริมาณมาก ในสมัยก่อนการทำขนมตึงตังแต่ละครั้งถือเป็นโอกาสให้คนหนุ่มสาวต่างบ้านมาทำความรู้จักกัน และผู้ใหญ่ได้เห็นลูกหลานที่จะสานสัมพันธ์กันในอนาคตได้รู้จักอุปนิสัยใจคอ มีโอกาสสร้างครอบครัวที่ดีต่อไป
          ปัจจุบันคุณยายเล็ก มงคลพันธ์ อายุ 84 ปี (เกิดปี พ.ศ. 2479) พื้นเพเป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ เดิมอยู่พระประแดง แล้วล่องเรือตามคลองย้ายภูมิลำเนามาอยู่ชุมชนคลองบางนา ปัจจุบันท่านเป็นรองประธานชุมชนคลองบางนา และเป็นภูมิปัญญาผู้สูงอายุท้องถิ่นของเขตบางนา ท่านสืบทอดการทำอาหารมอญจากบรรพบุรุษ ซึ่งยังคงทำอาหารมอญต่าง ๆ ในวันสงกรานต์ และงานทำบุญกลางบ้าน (วันมาฆบูชา) เช่น แกงบอน (แกงผักหวาน) แกงขี้เหล็ก ขนมจีนน้ำพริก แกงมะตาด เป็นต้น และยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเขตบางนาในการฟื้นฟูองค์ความรู้ในการทำขนมตึงตัง โดยการนำไปสาธิตในงานและกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่เขต เพื่อเป็นการเผยแพร่ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่านี้ไม่ให้สูญหายไป


5. ประวัติความเป็นมา
         
 ชาวมอญได้อพยพมาพำนักอยู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในปัจจุบันยังมีชุมชนมอญและกลุ่มวัฒนธรรมมอญกระจายอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจากพระนครศรีอยุธยาลงมาจนถึงกรุงเทพมหานครหลายชุมชน ชาวมอญได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ทั่วไปตามที่ราบลุ่มริมน้ำภาคกลาง และบางส่วนตั้งภูมิลำเนาอยู่แถบภาคเหนือ ภาคอีสาน และมีบางส่วนอพยพลงใต้
          ชุมชนคลองบางนา ตั้งถิ่นฐานอยู่ริมสองฝั่งคลองบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ในสมัยก่อนพื้นที่ชุมชนเป็นที่ทำนา ประชาชนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ ซึ่งมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ชุมชนคลองบางนาเป็นชุมชนดั้งเดิม มีประชากร 85 หลังคาเรือน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนพื้นที่ที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน ในเวลาต่อมาเริ่มมีประชากรต่างถิ่นเข้ามาอาศัยเพิ่มมากขึ้น จึงเริ่มก่อตั้งเป็นชุมชนในปี พ.ศ. 2540 โดยมีนายสมคิด มงคลพันธ์ เป็นประธานชุมชนคนแรก 
          ประชาชนในชุมชนบางนาส่วนใหญ่ยึดถือวัฒนธรรมประเพณีของชาวมอญอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะด้านพุทธศาสนา เอกลักษณ์ของชุมชน คือมีการใช้ภาษามอญในการสื่อสาร การแต่งกายแบบมอญ การทำอาหารมอญ และมีประเพณีสำคัญประจำท้องถิ่นคลองบางนา คือ ประเพณีสงกรานต์แห่หางหงส์ ธงตะขาบ และประเพณีทำบุญวันมาฆบูชา หรือเรียกกันในชุมชนว่าทำบุญกลางบ้าน ซึ่งยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นร้อยปีจนถึงปัจจุบัน
         ในส่วนของอาหารของชาวไทยเชื้อสายมอญ ปัจจุบันอาหารหลายชนิดกำลังจะสูญหายไป เหลือบุคคลที่รู้วิธีและกระบวนการประกอบอาหารไม่มากนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรสืบทอดและอนุรักษ์ไว้ โดยเฉพาะอาหารคาวหวานของชาวไทยเชื้อสายมอญเขตบางนา ที่บางชนิดไม่เป็นที่รู้จักหรือรู้จักแต่หารับประทานยาก เช่น ขนมตึงตัง ขนมพม่ามัน ขนมจีนมัน แกงบอนยางคัน (แกงผักหวาน) แกงส้มฝักกระเจี๊ยบ แกงมะตาด เป็นต้น
          “ขนมตึงตัง” เป็นขนมโบราณโดยภูมิปัญญาของชาวมอญสมัยก่อน ถือเป็นขนมของชาวไทยเชื้อสายมอญแท้ๆ โดยไม่ปรากฏในตำราคาวหวานใด ๆ เลย ซึ่งในปัจจุบันหาทานได้ยากแล้ว นับว่าเป็นอาหารที่กำลังจะสูญหาย

 6. ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

           “ขนมตึงตัง” เป็นขนมโบราณโดยภูมิปัญญาของชาวมอญสมัยก่อน ถือเป็นขนมของชาวไทยเชื้อสายมอญแท้ ๆ ไม่ปรากฏในตำราคาวหวานใด ๆ เป็นขนมที่เกิดจากการนำของที่มีในบ้าน เช่น ข้าวเหนียว มะพร้าว มาดัดแปลงทำเป็นขนมขนมให้ลูกหลานทาน โดยคุณยายเล็ก มงคลพันธ์ ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งในปัจจุบันหาทานได้ยากแล้ว นับว่าเป็นอาหารที่กำลังจะสูญหาย

          วิธีการทำขนมตึงตัง มีดังนี้
          1. เตรียมเครื่องใช้วัสดุอุปกรณ์และเครื่องใช้ในการทำขนม
             อุปกรณ์ ประกอบด้วย ครกตำข้าว สากมือ กระต่ายขูดมะพร้าว ถาดใส่ขนม เตาไฟ ถ่านฟืน
             วัตถุดิบ ประกอบด้วย ข้าวเหนียวอย่างดี มะพร้าวแก่ เกลือทะเล น้ำตาลปี๊บ
             ภาชนะ ประกอบด้วย ถาด ทัพพี ชาม กะละมัง
         2. กระบวนการทำขนมตึงตัง
             2.1 นำข้าวเหนียว มาล้างฝุ่นผงให้สะอาด ใช้ผ้าขาวบางห่อข้าวเหนียวผูกปลายให้เรียบร้อย แช่น้ำสะอาดไว้ 2 - 3 ชั่วโมง ให้ข้าวพองขึ้น (ให้สังเกตลักษณะข้าว ไม่สามารถระบุเวลาได้) แล้วนำมานึ่งจนสุก (ข้าวเหนียวจะมีลักษณะเหมือนข้าวเหนียวมูล) พอสุกแล้วนำข้าวไปแผ่ใส่ภาชนะ และผึ่งไว้ให้ข้าวหมาด
พอหายร้อน
             2.2 เตรียมครกไม้ ประเภทครกตำข้าว สากมือถือ (ไม่ใช้สากตะลุมพุก) ทำความสะอาดครกและสากให้เรียบร้อย แล้วนำมาตั้งบนเสื่อลำแพน เตรียมคนหนุ่มไว้ตำ คนสาวให้ไปปอกมะพร้าวแก่ 2 - 3 ผล และขูดมะพร้าวใส่ถาดคั้นเป็นกะทิ แยกหัวแยกหางเตรียมไว้ (หัวกะทิใส่เกลือเล็กน้อย ชิมรสชาติให้เค็มพอดี)
             2.3 ลงกะทิที่ก้นครก เพื่อป้องกันข้าวเหนียวติดก้นครก แล้วนำข้าวเหนียวนึ่งสุกที่หายร้อนแล้ว ลงตำให้ละเอียด (ถ้าใช้ข้าวเหนียวที่ยังร้อนอยู่มาตำกับกะทิจะทำให้ข้าวแฉะและข้าวเหนียวจะไม่ดูดกะทิ) ขณะตำ ข้าวเหนียวจะติดสาก ให้นำหัวกะทิหยอดผสมในข้าวทีละน้อย ส่วนสากให้นำจุ่มหางกะทิที่แยกไว้
ตำจนข้าวแหลกละเอียด เมื่อข้าวเหนียวแหลกละเอียดโดยค่อย ๆ ผสมหัวกะทิจนหมด เมื่อข้าวเหนียวผสมกะทิแหลกเป็นเนื้อเดียวกันจนมองไม่เห็นเม็ดข้าว หรือเอานิ้วยีแล้วไม่มีเมล็ดข้าวเป็นไต ให้ลองชิมรสชาติดู ขนมจะมีรสมัน และเค็ม
             2.4 ตักข้าวเหนียวที่ตำได้ที่แล้วขึ้นมาเกลี่ยบาง ๆ บนถาดแบน แล้วโรยงาดำ งาขาว เก็บไว้ 1 คืน (สมัยก่อนไม่โรยงา) จากนั้นนำมาตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม รับประทานกับน้ำตาลปึก น้ำตาลโตนด หรือน้ำตาลปี๊บ หรือสามารถประยุกต์ด้วยการเคี่ยวน้ำตาลพอให้เป็นยาง (อย่าให้เป็นตังเม) ตักโรยหน้าแผ่นข้าวเหนียวเพื่อสะดวกแก่การเก็บรักษาและบริโภค


คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

             1. คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ 
                การทำขนมตึงตัง ถือได้ว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าทางสังคมขนม แสดงให้เห็นความสำคัญของความเป็นครอบครัว ชุมชน และความสามัคคี เช่นเดียวกับการทำกระยาสารท ข้าวเหนียวแดง กะละแม ขนมจีน กระบวนการทำนั้นจะใช้แรงงานคนมาก ต้องมีการนัดหมายเตรียมงานก่อน เนื่องจากทำในปริมาณมาก ในสมัยก่อนการทำขนมตึงตังแต่ละครั้งถือเป็นโอกาสให้คนหนุ่มสาวต่างบ้านมาทำความรู้จักกัน และผู้ใหญ่ได้เห็นลูกหลานที่จะสานสัมพันธ์กันในอนาคตได้รู้จักอุปนิสัยใจคอ มีโอกาสสร้างครอบครัวที่ดีต่อไป

     
         2. บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
                ประชาชนในชุมชนบางนาส่วนใหญ่ยึดถือวัฒนธรรมประเพณีของชาวมอญอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะด้านพุทธศาสนา เอกลักษณ์ของชุมชน คือมีการใช้ภาษามอญในการสื่อสาร การแต่งกายแบบมอญ การทำอาหารมอญ เช่น แกงบอน (แกงผักหวาน) แกงขี้เหล็ก ขนมจีนน้ำพริก แกงมะตาด เป็นต้น และมีประเพณีสำคัญประจำท้องถิ่นคลองบางนา คือ ประเพณีสงกรานต์แห่หางหงส์ ธงตะขาบ และประเพณีทำบุญวันมาฆบูชา หรือเรียกกันในชุมชนว่าทำบุญกลางบ้าน ซึ่งยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นร้อยปีจนถึงปัจจุบัน แต่ในส่วนของขนมตึงตังนั้น ไม่ได้ทำกันเป็นประจำและไม่มีผู้สืบทอดการทำแล้ว เนื่องจากกระบวนการทำต้องใช้เวลาและกำลังคนที่แข็งแรง



 
ศิลปะป้องกันตัว ค่ายพระยาตาก
ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

1. ชื่อรายการ   ศิลปะป้องกันตัว ค่ายพระยาตาก (นายกฤษณ์ ฤทธิ์เดชา)               
    ชื่อเรียกในท้องถิ่น  ศิลปะป้องกันตัว ค่ายพระยาตาก (นายกฤษณ์ ฤทธิ์เดชา)   

2. ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 

            การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว

3. พื้นที่ปฏิบัติ
           
ค่ายพระยาตาก เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร

4. สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยสังเขป
           
ค่ายพระยาตาก จัดตั้งโดยนายกฤษณ์ ฤทธิ์เดชา หรือที่เรียกกันว่า “ครูกฤษณ์”เพื่อสอนศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวไทย เช่น  กระบี่กระบอง มวยไทยคาดเชือก และการต่อสู้ด้วยมือเปล่า โดยครูกฤษณ์ ฤทธิ์เดชา ซึ่งได้รับการถ่ายทอดศิลปะต่อสู้ป้องกันตัวจากอาจารย์สมัย เมษะมาน แห่งสำนักดาบพุทไธสวรรย์ ศูนย์การเรียนรู้ศิลปศาสตร์การต่อสู้ประจำชาติไทย ค่ายพระยาตาก โดยมีที่ตั้งอยู่ที่วัดศรีนวลธรรมวิมล (หลวงพ่อเสือดำ) เปิดทำการสอนทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น.

5. ประวัติความเป็นมา
           ค่ายพระยาตาก ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่28 ธันวาคม 2546 โดยครูกฤษณ์ ฤทธิ์เดชา โดยได้รับความอนุเคราะห์จาหลวงพ่อทวีศักดิ์ วัดศรีนวลธรรมวิมล แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของวัดให้เป็นที่เรียนสำนักดาบค่ายพระยาตากมีการสอนศิลปะการป้องกันตัว มวยไทย กระบี่กระบอง เพื่อฝึกการป้องกันตัวมีทั้งการใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือนำสิ่งของใกล้ตัวมาใช้เป็นอาวุธ เช่น ปากกา ขวดน้ำ ผ้าเช็ดหน้า การฝึกเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ใช้สติปัญญาควบคุมอารมณ์ ไม่เน้นการใช้กำลังเพื่อแก้ไขปัญหา มีการสอนด้านศีลธรรมจริยธรรมควบคู่กันไป ผู้เรียนต้องฝึกใช้อาวุธต่างๆ เช่น กระบี่ กระบอง มีด กริช ณ. บริเวณวัดศรีนวลธรรมวิมล สำนักงานเขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร ริมหนองน้ำโบราณ ที่เรียกว่า “หนองเลือดแดง” เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ได้ทรงเสียสละเลือด เนื้อ ชีวิต ตลอดจนความสุขส่วนพระองค์ กอบกู้เอกราชให้ชาติไทย และรวบรวมคนไทยที่แตกกระสานซ่านเซ็นให้เป็นปึกแผ่น ปวงชนชาวไทยสำนึกในพระมหาการุณาธิคุณของพระองค์จึงอัญเชิญขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงมีประนามว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี แต่พสกนิกรชาวไทยจะเรียกพระองค์ว่า  “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหราราช”
 
          ก่อนจะเริ่มเรียนในแต่ละครั้งทุกคนจะต้องสวดมนต์ รำไหว้ครู และอบรมคุณธรรมจริยธรรมจากนั้นผู้เรียนจะได้ฝึกศิลปะการต่อสู้ตั้งแต่ทักษะการแก้ปัญหาเวลาเกิดเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ ด้วยอาวุธติดตัวทั้งหมัด เท้า เข่า ศอก และอาวุธที่เป็นไม้ เช่น กระบี่กระบอง รวมทั้งอาวุธที่มาจากวัสดุติดตัวที่หยิบจับได้ นอกจากทักษะการต่อสู้ป้องกันตัวและศักยภาพร่างกายที่พัฒนาขึ้นแล้ว สิ่งที่ผู้เรียนทุกคนได้รับก็คือ คุณธรรมจริยธรรมในจิตใจ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทำให้ครูกฤษณ์ตัดสินใจมาเป็นครูสอนศิลปะการต่อสู้ ขณะเดียวกันก็เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมการต่อสู้ประจำชาติไทย ให้ลูกหลานช่วยกันสืบทอดต่อไป
 
          ครูกฤษณ์ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ ด้านกระบี่กระบอง มวยไทย และมือเปล่า ศึกษาศิลปะการต่อสู้ประจำชาติของชาติต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบกับศิลปะการต่อสู้ของไทย แล้วนำมาปรับประยุกต์ แก้ไขข้อด้อยศิลปะการต่อสู้ของไทยให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

          การถ่ายทอดความรู้เนื่องจากในปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญศิลปะการต่อสู้ประจำชาติไทยเกือบไม่มีแล้ว ครูกฤษณ์จึงถ่ายทอดศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ ดังนี้
          - การศึกษาในระบบ สอนศิลปะการต่อสู้ประจำชาติให้แก่ผู้เรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาอุดมศึกษา โดยไม่รับค่าตอบแทน
          - การศึกษานอกระบบ สถาบัน EQ IQ , ชุมชนต่าง ๆ,หน่วยงานต่างๆ
          - การศึกษาตามอัธยาศัย ศูนย์การเรียนศิลปศาสตร์การต่อสู้ประจำชาติไทยค่ายพระยาตาก วัดศรีนวลธรรมวิมล

เนื้อหาสาระการถ่ายทอดความรู้ของครูกฤษณ์ มีดังนี้
         - ประวัติความเป็นมา และความสำคัญของศิลปะการต่อสู้ประจำชาติไทย
         - ศิลปะการต่อสู้ด้วยอาวุธไทย ๙ ชนิด ได้แก่ ดาบสองมือ ง้าว พลอง โล่ – ดั้ง เขน ไม้ศอก มีดสั้น
         - ศิลปะการต่อสู้ด้วยอาวุธพื้นบ้าน ได้แก่ มีด พร้า คทา ขวาน ตะพด ธนู หน้าไม้ และการขว้างมีด ฯลฯ
         - ศิลปะการต่อสู้ด้วยมวยไทยคาดเชือก
         - ศิลปะการป้องกันตนเองด้วยมือเปล่า และอุปกรณ์ในร่างกาย เช่น ปากกา เข็มขัด รองเท้า กิ๊บติดผม เป็นต้น
 
วิธีการถ่ายทอดองค์ความรู้
         - การบรรยาย
         - การสาธิต
         - ฝึกปฏิบัติ
         - การร่วมอภิปราย
         - การจัดนิทรรศการ
 
รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ
         - เหรียญพิทักษ์เสรีชน ประจำปี ๒๕๒๒
         - เหรียญราชกรชายแดน ประจำปี ๒๕๒๓
         - คนดีศรีสังคม ประจำปี ๒๕๒๖
สำนักงานเขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร
         - ได้รับประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น “ครูภูมิปัญญาไทย”
ด้านศิลปกรรม สาขา การสืบสานศิลปะศาสตร์การต่อสู้ประจำชาติไทย
จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
         - ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่ง
“ดิเรกคุณาภรณ์” ประจำปี ๒๕๔๙



 
ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือวัดสุทธาโภชน์

ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

1. ชื่อรายการ  ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือวัดสุทธาโภชน์

    ชื่อเรียกในท้องถิ่น   ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ

2. ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และงานเทศกาล

3. พื้นที่ปฏิบัติ คลองลำปลาทิว บริเวณหน้าวัดสุทธาโภชน์ เขตลาดกระบัง   

สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยสังเขป

     ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือวัดสุทธาโภชน์ เขตลาดกระบัง เป็นประเพณีเนื่องในเทศกาลวันออกพรรษาที่สืบทอดมาอย่างยาวนานคู่กับการก่อตั้งวัดสุทธาโภชน์ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2455 จนถึงปัจจุบัน กำหนดจัดขึ้นในวันอาทิตย์แรกหลังวันออกพรรษาของทุกปี บริเวณคลองลำปลาทิว หน้าวัดสุทธาโภชน์ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร คำว่า “พระร้อย” คือ การนิมนต์พระสงฆ์ จำนวน 100 กว่ารูป มารับบิณฑบาตจากประชาชนทางเรือ โดยชุมชนเลียบคลองมอญและชุมชนใกล้เคียงซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายรามัญหรือชาวมอญ แสดงให้เห็นถึงบริบททางสังคมในอดีตของคนที่อาศัยอยู่ริมน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครที่ใช้เรือเป็นยานพาหนะหลักในการสัญจรเพื่อทำการค้าขาย การติดต่อ รวมไปถึงการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา

     กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย ช่วงเช้าจะมีการนิมนต์พระสงฆ์ จำนวนมากกว่า 100 รูป ลงเรือมาดขุดด้วยไม้ตะเคียนทั้งต้นไม่มีรอยต่อ จำนวน 60 ลำ ล่องมาตามคลองลำปลาทิวหน้าวัดสุทธาโภชน์ เพื่อรับบิณฑบาตรจากพุทธศาสนิกชนที่รออยู่ริมตลิ่งทั้งสองฝั่ง เรือที่นำมาร่วมในพิธีนี้ส่วนใหญ่มีอายุเก่าแก่ ซึ่งทางวัดได้รับบริจาคและจัดซื้อเพื่อนำมาเก็บรักษา อนุรักษ์ และจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เรือโบราณภายในวัดให้ประชาชนได้ศึกษา โดยขบวนเรือทั้งหมดจะมีเรือมาด 4 แจว ของเจ้าจอมมารดากลิ่นหรือเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นเรือนำขบวน และมีเรือประเภทต่างๆ ที่มาร่วมงานรวมแล้วประมาณ 100 ลำ ช่วงเพลทางวัดจะเชิญชวนชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันถวายเพลพระสงฆ์ด้วยการจัดอาหารลงในสำรับคาวหวาน จำนวนกว่า 100 ชุด ซึ่งเป็นของดั้งเดิม เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษในพื้นที่แถบนี้สะท้อนถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่น บางชุดมีอายุกว่าร้อยปี มีหลากหลายรูปแบบสวยงามแตกต่างกันไป โดยเฉพาะสำรับคาวหวานของเจ้าจอมมารดากลิ่นที่มีความสวยงามและแตกต่างจากชุดอื่นๆ คือ สำรับคาวจะเป็นถ้วยลายคราม สำรับหวานจะเป็นถ้วยแก้ว ฝาถ้วยเป็นรูปลอยสตรีนั่งพับเพียบจัดอยู่ในถาดทองเหลือง ในช่วงบ่ายจะมีการแข่งขันเรือพายซึ่งเป็นเรือที่มีอยู่ในท้องถิ่นที่เรียกว่า เรือเพรียวและเรือมาด โดยจัดการแข่งขันเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีของคนในท้องถิ่น และสืบสานประเพณีวัฒนธรรมของวิถีชีวิตริมน้ำให้คงอยู่คู่ชุมชน

ประวัติความเป็นมา  

1. ประวัติความเป็นมาของวัดสุทธาโภชน์

     วัดสุทธาโภชน์ ตั้งอยู่เลขที่ 39 ซอยฉลองกรุง 8 ถนนฉลองกรุง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร มีชื่อเดิมว่า วัดสุทธาวาส ก่อสร้างโดยเจ้าจอมมารดากลิ่น พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จ-พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บนที่ดินของท่านบริเวณคลองมอญลึกเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร การเดินทางไปวัดแต่เดิมต้องใช้เรือเป็นพาหนะ แต่เนื่องจากในฤดูแล้งน้ำในคลองมอญแห้ง ทำให้การเดินทางไปทำบุญสร้างกุศลที่วัดสุทธาวาสของพี่น้องลูกหลานชาวมอญไม่สะดวก เจ้าจอมมารดากลิ่นพร้อมด้วยพระมหาอ่อน กลฺยาโณ เจ้าอาวาสวัดสุทธาวาส และมรรคนายกอ๊อด ไชยนุต จึงได้ทำการย้ายวัดมาตั้งอยู่บริเวณปากคลองมอญฝั่งเหนือ ริมคลองลำปลาทิวฝั่งตะวันออก ในปี พ.ศ. 2455 และเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสุทธาโภชน์” เจ้าจอมมารดากลิ่นได้ให้ความเมตตาอุปถัมภ์มาทำบุญทอดกฐินและเยี่ยมเยือนพี่น้องลูกหลานชาวมอญเป็นประจำทุกปีตลอดจนอายุขัยของท่าน

     วัดสุทธาโภชน์ นับว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่ก่อสร้างมามากกว่า 100 ปี เป็นวัดมอญของกลุ่มคนมอญที่ใหญ่ที่สุดในเขตลาดกระบัง เป็นศูนย์รวมศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชุมชนของชาวมอญที่ยังคงยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษที่เข้ามาบุกเบิกที่ทำกินแต่อดีต ซึ่งในปัจจุบันด้วยความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง ชุมชนมอญได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย แต่วัดสุทธาโภชน์ยังคงเป็นศูนย์กลางรักษาความเป็นเอกลักษณ์ สืบสาน อนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และความเป็นชุมชนมอญ โดยการจัดให้มีแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยววิถีถิ่น วิถีคลองของเขตลาดกระบัง ประกอบด้วย

          1. สักการะหลวงพ่อเชียงแสน

          2. สักการะเจ้าจอมมารดากลิ่น

          3. ศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีมอญลาดกระบัง ได้แก่

     - ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ

     - ประเพณีสงกรานต์

     - ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง

     - ประเพณีตักบาตรข้าวเม่า

         4. พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง

         5. ศูนย์รวมเรือท้องถิ่นในอดีตมากกว่า 100 ลำ

         6. สวนปลาธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในเขตลาดกระบัง

2. ประวัติเจ้าจอมมารดากลิ่น (ซ่อนกลิ่น คชเสนี)

     เจ้าจอมมารดากลิ่น มีนามเดิมว่า “ซ่อนกลิ่น” เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2378 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นธิดาของพระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) เป็นเหลนปูของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ซึ่งรับราชการปกครองเมืองนครเขื่อนขันธ์ (อำเภอพระประแดง) ได้ถวายตัวเป็นข้าบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า-เจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานเป็นเจ้าจอมมารดาด้วยมีพระราชโอรสทรงพระนามว่า พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหารต่อมาได้รับพระราชทานพระยศเป็น “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์” ต้นตระกูลกฤดากร เจ้าจอมมารดากลิ่นมีเชื้อสายมอญโดยกำเนิด เป็นผู้มีความเฉลียวฉลาด มีความสามารถหลายด้าน ได้แก่ ด้านการทำทอง ด้านอาหาร โดยฉพาะข้าวแช่ เจ้าจอมมารดากลิ่นได้มีโอกาสตั้งเครื่องข้าวแช่ถวายถึงสามแผ่นดิน สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระกระแสรับสั่งว่า “ถ้าจะกินข้าวแช่ ต้องข้าวแช่เจ้าจอมมารดากลิ่น” ท่านเป็นสตรีไทยคนแรกที่มีความสามารถแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยได้จากเรื่อง “กระท่อมน้อยของลุงทอม” เป็นศิษย์เอกของแหม่มแอนนา ท่านเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ให้การอุปถัมภ์วัดมอญหลายวัดด้วยกัน โดยเฉพาะวัดสุทธาโภชน์ท่านได้อุทิศที่ดินและสร้างวัดสุทธาโภชน์เพื่อให้พี่น้องชาวมอญสร้างบุญ สร้างกุศลสืบทอดพระพุทธศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ท่านได้เดินทางมาทำบุญทอดกฐินที่วัดสุทธาโภชน์เป็นประจำทุกปีตลอดอายุขัยของท่าน และด้วยในขณะนั้นการเดินทางยังไม่สะดวกสบาย ยังไม่มีถนนหนทางตัดผ่าน ท่านต้องเดินทางโดยรถไฟมาลงที่สถานีรถไฟหัวตะเข้ และมีพี่น้องชาวมอญแจวเรือมาด 4 แจว ไปรับท่านจากสถานีรถไฟมายังวัดสุทธาโภชน์ ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรม ณ วังพระอาทิตย์ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2468 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 สิริรวมอายุได้ 91 ปี

หลักฐานเกี่ยวกับเจ้าจอมมารดากลิ่นที่ยังคงปรากฏอยู่ภายในวัดสุทธาโภชน์ ได้แก่

          1. อนุสรณ์สถานเจ้าจอมมารดากลิ่นรูปแกะสลักด้วยหินอ่อนจากอิตาลีในชุดเครื่องประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

           2. เรือมาด 4 แจว ขุดด้วยไม้ตะเคียนทั้งต้น ไม่มีรอยต่อ และวัดได้นำมาใช้ในประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน

3. ความเป็นมาของประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือวัดสุทธาโภชน์

         ในสมัยพุทธกาลครั้งเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้เสด็จขึ้นไปทรงโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์พร้อมเหล่าเทพเทวดาทั้งหลายเป็นเวลา ๓ เดือน แล้วจึงเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ ในวันที่พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั่นเองได้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ที่ทั้ง 3 โลก ได้แก่ เทวโลก มนุษยโลก และพรหมโลก ได้มองเห็นพระพุทธองค์พร้อมกันจึงเรียกวันนี้ว่า “วันพระเจ้าเปิดโลก” จึงพากันมาเข้าเฝ้าถวายภัตตาหารแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้ถือปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจนเป็นประเพณีของพระพุทธศาสนาเรียกวันนี้ว่า “วันตักบาตรเทโวโรหณะ หรือ วันตักบาตรเทโว” ในการเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันตักบาตรเทโวนั้น มีผู้คนมาเข้าเฝ้าและนำสิ่งของมาตักบาตรกันเป็นจำนวนมาก การจัดเตรียมสิ่งของ ขนบธรรมเนียมประเพณีก็มีความแตกต่างกันไปตามความเชื่อ ความศรัทธาของแต่ละท้องถิ่น เช่น ประเพณีรับบัว ที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ประเพณีตักบาตรข้าวต้มลูกโยน ที่อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ประเพณีบั้งไฟพญานาคที่จังหวัดหนองคาย เป็นต้น

         ในอดีตท้องถิ่นลาดกระบังเป็นที่ราบลุ่มเต็มไปด้วยคูคลองที่ทางราชการทำการขุดขึ้นและคลองที่เกิดเองตามธรรมชาดิ เพื่อเป็นการระบายน้ำและเพื่อการสัญจร ในเขตลาดกระบังมีคลองประเวศบุรีรมย์เป็นคลองสายหลัก และมีคลองเล็กน้อยอีกจำนวนมากกว่า 60 คลอง สำหรับใช้ในการสัญจรไปมา การค้าขาย การทำมาหากิน การประกอบอาชีพ ชาวบ้านในละแวกนี้ส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม และใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง ทุกบ้านจะต้องมีเรือไม่น้อยกว่า 2 - 3 ลำขึ้นไปตามประเภทของการใช้งาน วัดมีเรือไว้สำหรับพระสงฆ์ออกรับบิณฑบาต ด้วยวิถีชีวิตของชาวบ้านละแวกนี้ที่มีความผูกพันกับสายน้ำ เมื่อถึงประเพณีตักบาตรเนื่องในวันออกพรรษา ซึ่งตามปกติในทุกวัดจะตักบาตรบนบก ที่เรียกว่า “ตักบาตรเทโวโรหณะ” ชาวบ้านท้องถิ่นลาดกระบังจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการตักบาตรพระทางเรือแทน พระสงฆ์ที่มารับบิณฑบาตก็จะลงเรือพายมาตามคลอง เหล่าสาธุชนในท้องถิ่นก็จะพายเรือออกจากบ้านมาตามคลองเพื่อมารอตักบาตรพระสงฆ์ แต่เนื่องด้วยความเจริญในยุคสมัยปัจจุบันที่มีการสร้างถนนเพื่อความสะดวกสบายในการสัญจรไปมา จึงทำให้ความจำเป็นในการใช้เรือสัญจรไปมาของชาวบ้านถูกลดความสำคัญลง ประกอบกับมีการสร้างทางเดินเท้าคอนกรีตริมตลิ่งของสองฝั่งคลองลำปลาทิว ชาวบ้านจึงเปลี่ยนมานั่งรอตักบาตรพระที่ริมสองฝั่งคลองลำปลาทิวแทนการพายเรือมา ส่วนพระสงฆ์ยังคงยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติกันมาโดยการลงเรือมารับบิณฑบาตเหมือนเมื่อครั้งสมัยโบราณและด้วยความเข้มแข็ง ความสามัคคี และความศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ของชาวบ้าน ชาวชุมชนเขตลาดกระบัง จึงทำให้ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือวัดสุทธาโภชน์ได้รับการปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเป็นเวลามากกว่า 100 ปี จวบจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 

       1. ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือวัดสุทธาโภชน์ เป็นประเพณีการตักบาตรพระทางเรือเนื่องในวันออกพรรษาที่จัดขึ้นแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร เนื่องด้วยวิถีชีวิตของชาวบ้านลาดกระบังมีความผูกพันกับสายน้ำมาแต่ครั้งอดีต

       2. ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือวัดสุทธาโภชน์แสดงออกถึงความเข้มแข็ง ความสามัคคี และความศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนาของชาวชุมชน เนื่องจากมีการจัดประเพณีนี้ต่อเนื่องยาวนานมาเป็นเวลากว่า 100 ปี สันนิษฐานว่าจัดขึ้นพร้อมกับการก่อสร้างวัดสุทธาโภชน์ โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางการจัดร่วมกับชุมชน ในปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในพื้นที่ให้การสนับสนุนกันอย่างต่อเนื่อง

       3. ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือวัดสุทธาโภชน์เป็นงานเทศกาลประจำปีทางน้ำที่สนุกสนาน มีการจัดการแข่งขันเรือพาย ซึ่งเป็นเรือที่มีอยู่ในท้องถิ่น ที่เรียกว่า เรือเพรียว และเรือมาด โดยจัดการแข่งขันเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีของคนในท้องถิ่น ความสนุกสนาน และสืบสานประเพณีวัฒนธรรมของวิถีชีวิตริมน้ำให้คงอยู่คู่ชุมชน

      4. เรือที่ใช้นำขบวนพระสงฆ์รับบิณฑบาต คือ เรือมาด ของเจ้าจอมมารดากลิ่น เป็นเรือเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ขุดจากซุงไม้ตะเคียน เนื่องจากไม้ตะเคียนมีความแข็งแรงทนทาน และสามารถหาไม้ตะเคียนลำต้นขนาดใหญ่ได้ง่าย เมื่อเจ้าจอมมารดากลิ่นแปรสถานมาพักตำหนักที่ท่านสร้างไว้ใกล้กับวัดสุทธาโภชน์ ต้องมาทางรถไฟมาลงที่สถานีรถไฟหัวตะเข้ แล้วลงเรือมาดลำใหญ่ ขนาด 4 แจว ปรุแผ่นทองเหลืองตลอดทั้งลำ
ล่องมาตามลำคลองประเวศแยกเข้าคลองลำปลาทิว  

         วิธีการทำเรือมาด เมื่อขุดภายในและโกลน (โกลน คือ เกลาไว้ ทำเป็นรูปเลาๆ) เป็นรูปมาด (ถ้าเพียงแต่ขุดไว้ แต่ยังไม่ได้เบิก เรียกว่า มาดเรือโกลน) จากนั้นใช้ไฟลนให้เนื้อไม้ร้อนแล้วหงายใช้ปากกา (เครื่องสำหรับหนีบของใช้ทำด้วยไม้หรือเหล็กก็มี) จับปากเรือผายออกให้ได้วงสวยงามเป็นเรือท้องกลม หัวท้ายรีรูปร่างคล้ายเรือพายม้า แต่หัวท้ายเรือแบนกว้างกว่า ไม่เสริมกราบแต่มีขอบทาบปากเรือภายนอก เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของปากเรือ กลางลำกว้างเสริมกงเป็นระยะ หัวท้ายเรือมีแอกสั้นๆ ไม่ยื่นมากไว้ผูกโยงเรือ และแอกเหยียบขึ้นลงเรือ เรือมาดมีหลายขนาด ขนาดเล็กใช้พาย ขนาดใหญ่นิยมแจวมากกว่าพาย ใช้บรรทุกของหนัก ถ้าเดินทางไกลก็มีประทุนปูพื้นกลางลำเรือจะเรียกว่าเรือมาดประทุน หากมีเก๋งกลางลำเรือจะเรียกเรือมาดเก๋ง สามารถทำประทุนและปูพื้นใช้อยู่อาศัยแทนบ้านเรือนได้

     5. สำรับคาวหวานเจ้าจอมมารดากลิ่น เป็นหนึ่งในสำรับคาวหวานกว่า 100 ชุด ที่นำมาถวายเพลพระในประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือวัดสุทธาโภชน์ สำรับคาวหวานของเจ้าจอมมารดากลิ่นมีความสวยงามและแตกต่างจากชุดอื่นๆ คือ สำรับคาวเป็นถ้วยลายครามจากจีน สำรับหวานเป็นถ้วยแก้วสีชมพู ฝาถ้วยเป็นรูปลอยสตรีนั่งพับเพียบ ซึ่งชาวมอญมีความเชื่อว่าในวันแต่งงานฝ่ายหญิงจะต้องนำชุดสำรับคาวหวานมามอบให้คู่บ่าวสาวเป็นเครื่องเรือน และจัดอาหารให้เจ้าบ่าวรับประทานในห้องหอ 7 วัน หลังจากนั้นจึงนำไปใช้จัดอาหารถวายพระในการทำบุญตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่น

         6. การแต่งกายของชาวมอญ ในประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือวัดสุทธาโภชน์ชาวมอญที่มาร่วมงานจะแต่งกายด้วยชุดมอญ โดยผู้ชายจะนุ่งผ้านุ่งที่เรียกว่า “สะล่ง” หรือที่ไทยเรียกว่า “โสร่ง” สวมเสื้อ คอกลมผ่าอกตลอด แขนกระบอก มีกระดุมผ้า หรือเชือกผูกเข้ากัน แต่เดิมนิยมโพกศีรษะ ต่อมาตัดสั้นแบบสมัยนิยม พาดผ้าขาวม้าให้ชายทั้งสองไปอยู่ด้านหลัง การแต่งกายของหญิงมอญ  ผู้หญิงจะสวม “หนิ่น” มีลักษณะคล้ายผ้านุ่งของผู้ชาย แต่ลายของผู้หญิงมีความละเอียด สวยงามกว่า และวิธีการนุ่งต่างกัน สวมเสื้อตัวในคอกลมแขนกุดตัวสั้นแค่เอว เล็กพอดีตัว สีสด สวมทับด้วยเสื้อแขนยาวทรงกระบอก เป็นผ้าลูกไม้เนื้อบาง สีอ่อน มองเห็นเสื้อตัวใน หากเป็นหญิงสาวอายุน้อยแขนเสื้อจะยาวถึงข้อมือ หากมีครอบครัวแล้วจะเป็นแขนสามส่วน หญิงมอญนิยมเกล้าผมมวยค่อนต่ำลงมาทางด้านหลัง มีเครื่องประดับ 2 ชิ้น บังคับไม่ให้ผมมวยหลุด คือ โลหะรูปตัวยูคว่ำ U แคบๆ และโลหะรูปปีกกา } ตามแนวนอน ภาษามอญเรียกว่า “อะน่ดโซ่ก” และ “ฮะเหลี่ยงโซ่ก” จากนั้นประดับด้วย “แหมะเกวี่ยปาวซ่ก” เป็นเครื่องประดับผมสีสันสวยงามรอบมวยผม หรือเสริมด้วยดอกไม้ คล้องผ้าสไบที่คอโดยให้ชายของผ้าทั้งสองห้อยมาด้านหน้า สำหรับผู้สูงอายุจะแต่งกายด้วยการห่มสไบ

ตำนานจระเข้ดาวคะนอง

ส่วนที่ 1 ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

    1. ชื่อรายการ          ตำนานจระเข้ดาวคะนอง                    

        ชื่อเรียกในท้องถิ่น   ตำนานท้าวพันตา พญาพันวัง                                                            

    2. ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม   วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา

    3. พื้นที่ปฏิบัติ  เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร

    4. สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยสังเขป 

        ในพื้นที่เขตธนบุรี ตำนานเรื่องจระเข้เหนือกับจระเข้ใต้ต่อสู้กัน ได้เล่าสืบต่อกันมาเป็นมุขปาฐะจากรุ่นสู่รุ่น เป็นเรื่องเล่าที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานที่บริเวณนั้น คือ วัดดาวคะนอง ตำนานจระเจ้ดาวคะนอง มีความเชื่อมโยงกับตำนานท้าวพันตา พญาพันวัง ซึ่งเป็นนิทานประจำถิ่นในเขตลุ่มแม่น้ำภาคกลาง กล่าวถึงการสู้รบระหว่างท้าวพันตาและพญาพันวัง จระเข้เจ้าถิ่นทางใต้อาศัยอยู่แม่น้ำเจ้าพระยา กับท้าวโคจรจระเข้จากทางเหนืออาศัยอยู่แม่น้ำน่านเมืองพิจิตร เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่มาของบริเวณนั้นที่ได้ชื่อว่าดาวคะนอง ตำนานจระเจ้ดาวคะนองสะท้อนภาพของคนไทยในอดีตที่มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวพันกับแม่น้ำ และความเชื่อเรื่องจระเข้ที่มีความสัมพันธ์กับสถานที่และเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของแม่น้ำลำคลองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

    5. ประวัติความเป็นมา

        ตํานานท้าวพันตา พญาพันวัง เป็นนิทานประจำถิ่นของคนลุ่มปลายแม่น้ำเจ้าพระยาที่แพร่หลายมาก เล่ากันว่าสมัยก่อนทางหัวเมืองเหนือ มีจระเข้ขนาดใหญ่ ตัวยาวถึงหนึ่งเส้นเศษ ชื่อว่าท้าวโคจรปกครองอยู่ ส่วนหัวเมืองทางใต้มีหัวหน้าจระเข้ที่ดุร้ายมากสองตัว ชื่อว่าท้าวพันตาและพญาพันวัง คราวใดที่จระเข้ทางหัวเมืองเหนือลงไปหากินในถิ่นของจระเข้หัวเมืองใต้ก็จะถูกจระเข้ทางหัวเมืองใต้รุมกัด จระเข้หัวเมืองเหนือจึงนำเรื่องไปรายงานท้าวโคจร ทำให้ท้าวโคจรโกรธมากและแปลงกายเป็นคนจะลงไปกำราบจระเข้ทางหัวเมืองใต้เผอิญพบกับสองตายายพายเรือผ่านมา ท้าวโคจรจึงขออาศัยไปด้วยโดยอาสาพายเรือให้พายเรือมาเป็นเวลา 10 วัน ก็ถึงเขตของจระเข้หัวเมืองใต้ ท้าวโคจรก็ขอลาตายายแล้วบอกว่าให้จอดเรืออยู่ข้างตลิ่ง ถ้าเห็นอะไรครึกโครมก็อย่าตกใจและถ้าเห็นจระเข้เข้ามาใกล้ก็ให้เอาขมิ้นผงโรยลงในน้ำจระเข้จะหนีไป

         หลังจากนั้นท้าวโคจรก็กระโดดลงน้ำ คืนร่างเป็นจระเข้ตัวใหญ่ฟาดหัวฟาดหางโครมคราม สถานที่ตรงนั้นจึงได้ชื่อว่า ดาวคะนอง ตั้งแต่นั้นมา เนื่องมาจากความคึกคะนองของท้าวโคจร 

         ท้าวโคจรได้เข้าต่อสู้กับจระเข้หัวเมืองใต้จนล้มตายไปมาก จระเข้เหล่านั้นจึงไปรายงานท้าวพันตา เมื่อท้าวพันตารู้เรื่องก็โกรธมาก เข้าต่อสู้กับท้าวโคจร จระเข้ทั้งสองสู้กันอยู่ถึง 7 วัน 7 คืน สุดท้ายท้าวพันตาเป็นฝ่ายเสียท่าถูกท้าวโคจรฆ่าตาย พวกจระเข้บริวารเมื่อเห็นหัวหน้าของตนตายจึงไปรายงานพญาพันวัง พญาพันวังจึงขึ้นมาแก้แค้น แต่ก็เกือบจะเสียทีท้าวโคจรเนื่องจากพญาพันวังมีกำลังน้อยกว่า

         กล่าวถึงเจ้าพ่อองครักษ์ซึ่งเป็นเจ้าน้ำบริเวณนั้น นึกสงสารพญาพันวังซึ่งเป็นจระเข้อยู่ในถิ่นของตน  เจ้าพ่อจึงลงประทับที่หัวของพญาพันวังทำให้พญาพันวังมีกำลังมากขึ้น และด้วยเหตุนี้คนทั่วไปจึงเรียกตำแหน่งนั้นว่า ที่นั่งองค์อมรินทร์พระอิศวร

         เมื่อท้าวโคจรเห็นว่าเจ้าพ่อองครักษ์ประทับอยู่บนหัวของพญาพันวังก็ตัดพ้อว่าเหตุใดจึงมาช่วยจระเข้พาลอย่างพญาพันวัง แต่พญาพันวังกลับอวดดีบอกว่าตนเก่งเอง ไม่ได้มีเทวดาที่ไหนมาช่วย เจ้าพ่อองครักษ์ได้ยินดังนั้นก็คิดว่าพญาพันวังไม่รู้คุณจึงออกจากหัวของจระเข้ ทำให้พญาพันวังถูกท้าวโคจรฆ่าตายในที่สุด หลังจากนั้น ท้าวโคจรก็ได้คาบหัวของพญาพันวังมาทำพิธีบวงสรวงถวายเทวดาอารักษ์ที่ช่วยปราบจระเข้พาลสำเร็จ ที่ศาลเจ้าพ่อพระประแดง แล้วกลับไปยังถิ่นในภาคเหนือ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดธรรมเนียมนำหัวจระเข้ไปไว้ที่ศาลเจ้าพ่อตามลำแม่น้ำ

         ตำนานจระเข้ดาวคะนองที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกวัดกลางดาวคะนองกับวัดดาวคะนองเล่านั้น มีความคล้ายคลึงกันคือเรื่องจระเข้เหนือกับจระเข้ใต้ต่อสู้กัน หากแต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อย เล่ากันว่าเดิมจระเข้ชื่อท้าวพันตาพญาพันวัง อาศัยอยู่ในถ้ำตรงใต้โบสถ์วัดดาวคะนอง (ในอดีตสันนิษฐานว่าชื่อวัดสะเดาทอง) เรียกกันว่า จระเข้ใต้ ต่อมามีจระเข้จากทางเหนือแปลงกายเป็นคนอาศัยเรือของตายายที่จะไปยังสมุทรสงคราม เมื่อมาถึงบริเวณหน้าวัดได้มอบขิงห่อหนึ่งให้แก่ตายายเพื่อเป็นสินน้ำใจที่ให้โดยสารเรือมาด้วย พร้อมกับกำชับว่าเมื่อตนกระโดดลงจากเรือแล้วขอให้รีบออกเรือไปทันที แล้วก็กระโดดลงน้ำกลายร่างเป็นจระเข้ ต่อสู้กับท้าวพันตาพญาพันวัง โดยต่อสู้กันนานถึง 7 วัน เกิดคลื่นระลอกใหญ่ปั่นป่วนจนทำให้เรือไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ และทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณดังกล่าวขยายตัวออกจนกว้างใหญ่ หลังจากตายายออกเรือจนห่างไปแล้วเห็นว่าขิงเกะกะเรือจึงทิ้งน้ำไปหมดเหลือแต่ขิงเหง้าหนึ่งติดอยู่ที่ประทุนเรือซึ่งกลายเป็นทองคำ

         กล่าวถึงคำว่า ดาวคะนอง ซึ่งกลายเป็นชื่อที่ใช้เรียกขานพื้นที่ในบริเวณนั้น จึงมีข้อสันนิษฐานตามตำนานที่เล่าสืบทอดต่อๆกันมา 4 ประการ ประการแรก มาจากเรื่องราวการต่อสู้ของจระเข้เหนือและจระเข้ใต้คือท้าวโคจรจระเข้ตัวใหญ่ ฟาดหัวฟาดหางโครมครามด้วยความคึกคะนอง สถานที่ตรงนั้นจึงได้ชื่อว่าดาวคะนองตั้งแต่นั้นมา ประการที่สอง วัดดาวคะนองในอดีต มีต้นสะเดาต้นใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งใช้เป็นที่หยุดพักของพ่อค้าชาวเรือ พ่อค้าชาวเรือจะนำเรือมาผูกไว้ใต้ต้นสะเดานี้แล้วพักผ่อนหลับนอนกันบริเวณนี้ พ่อค้าเหล่านั้นต่างสำนึกในบุญคุณของต้นสะเดาจึงได้นำทองมาปิดที่ต้นสะเดาจนเหลืองทองอร่าม ชาวบ้านที่ผ่านไปมาจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดสะเดาทอง ต่อมาจึงเพี้ยนไปเป็นคำว่า ดาวคะนอง ประการที่สาม วัดดาวคะนอง เป็นวัดเก่าแก่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดปากคลอง เล่ากันว่าเมื่อคราวสร้างพระอุโบสถ ในพิธียกช่อฟ้าเกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น มีดาวหลายดวงปรากฏบนท้องฟ้า เห็นได้ชัดเจนมากแม้จะเป็นเวลากลางวันก็ตาม จึงเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดดาวคะนอง สืบมาจนทุกวันนี้ ประการสุดท้าย พื้นที่ย่านพระประแดงลงไปทางใต้ของดาวคะนองเพียงเล็กน้อย เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนมอญขนาดใหญ่ มีหมู่บ้านหนึ่งชื่อ ทรงคะนอง เป็นชื่อที่กลายมาจากชื่อเดิมที่เป็นภาษามอญว่า ดงฮะนอง แปลว่า เมืองดาว คำว่า ฮะนอง ในภาษามอญ แปลว่า ดาว จึงอาจเป็นที่มาของวัดดาวคะนอง

     6. ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 

          อัตลักษณ์ หรือความเป็นตัวตนที่แสดงออกของตำนานจระเข้ดาวคะนอง สามารถสรุปได้ ดังนี้

         1. เป็นตำนานที่มีชื่อสถานที่รับรองเรื่องราวในตำนาน คือ วัดดาวคะนอง และพื้นที่แขวงดาวคะนอง เขตธนบุรี แสดงถึงประวัติความเป็นมาของสถานที่สำคัญในท้องถิ่น

         2. เป็นตำนานที่สะท้อนภาพสังคมริมฝั่งแม่น้ำภาคกลาง มีความสัมพันธ์กับสายน้ำ เช่น การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนริมน้ำ การสัญจรทางน้ำเชื่อมโยงกับแนวความคิดและวิถีชีวิตของกลุ่มคนริมแม่น้ำ

         3. เป็นตำนานที่สะท้อนแนวความคิดของกลุ่มคนริมน้ำ ได้แก่ การยกย่องจระเข้ซึ่งเป็นสัตว์ร้ายประจำท้องน้ำให้เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นบริวารของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันมีสาเหตุมาจากความหวาดกลัวภัยอันตายจากจระเข้ของกลุ่มคนริมน้ำ หรือการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ประจำท้องน้ำเป็นผู้มีอำนาจเหนือท้องน้ำ ให้คุณและโทษแก่ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณริมน้ำ ตลอดจนผู้สัญจรผ่านทางน้ำ ซึ่งสัมพันธ์กับพิธีกรรมการสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ระหว่างการเดินทางทางน้ำ โดยเชื่อว่าการสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์จำทำให้เดินทางปลอดภัยและประสบความสำเร็จ

 

 

 

 

 

 

 

 

ผ้าไหมบ้านครัว

ส่วนที่ 1 ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

    1. ชื่อรายการ ผ้าไหมบ้านครัว                                        

        ชื่อเรียกในท้องถิ่น ผ้าไหมบ้านครัว                                

    2. ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม งานช่างฝีมือดั้งเดิม

    3. พื้นที่ปฏิบัติ    ชาวชุมชนบ้านครัวทอผ้าไหมเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน  ณ ชุมชนบ้านครัวเหนือ ซอยพญานาค ถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร

    4. สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยสังเขป

      ผ้าไหมบ้านครัว ริมคลองแสนแสบ เป็นผ้าไหมที่ผลิตขึ้นโดยชาวชุมชนบ้านครัวเหนือซึ่งเป็นชาวมุสลิมแขกจาม ที่อพยพมาจากกัมปงจาม ประเทศกัมพูชาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยมีฝีมือการทอผ้าไหม ที่ได้รับการสืบทอดมาหลายชั่วอายุคนจึงทอผ้าไหมสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันและนำไปขาย อาทิ ผ้าไหมโสร่ง ผ้าขาวม้าทั้งยังมีโอกาสถวายงานรับใช้พระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงช่วงรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของผ้าไหมบ้านครัว คือ ผ้าไหมทอมือลายเกล็ดเต่า ลายหางกระรอก ลายลูกฟูก และใช้วิธีการทอเพียง 2 ตะกอ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาเฉพาะถิ่นที่ ของบ้านครัว ทำให้ได้ผ้าไหมที่มีความแน่น ไม่หนา สวมใส่สบาย ปัจจุบันผ้าไหมบ้านครัวเป็นแหล่งทอผ้าไหมเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพมหานครและคงเหลือผู้สืบทอดในสายอาชีพนี้ 2 ครัวเรือน ได้แก่ บ้านนายนิพนธ์ มนูทัศน์ ตระกูลแขกจามดั้งเดิมที่ยังคงผลิตและจำหน่ายผ้าไหมเป็นหลัก และบ้านนายมนัสนันท์ เบญจรงค์จินดา ผู้ย้อมเส้นไหมเป็นหลัก และทอผ้าไหมตามแต่มีผู้สั่งทอ

    5. ประวัติความเป็นมา

      1. ประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านครัว

          “บ้านครัว”เป็นชุมชนมุสลิมเก่าแก่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ในช่วงรัชกาลที่ 1 - 3 ซึ่งถูกต้อนครัวเป็นเชลยศึกอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมคลองแสนแสบใต้ ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตราชเทวี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าชุมชนบ้านครัวได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินในอาณาบริเวณชุมชนนี้ตั้งแต่วัดพระยายังจรดสะพานหัวช้าง ซึ่งมีทั้งชาวมุสลิมเขมรและชาวมลายูปัตตานี จัดตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้านหลังเสร็จศึกสงครามเก้าทัพเมื่อประมาณ พ.ศ.2330 เป็นการปูนบำเหน็จความชอบแก่กองอาสาจามที่ร่วมการสงคราม (เรืองศักดิ์ ำดำริห์เลิศ.2545) แบ่งพื้นที่เป็นชุมชนบ้านครัวเหนือ ชุมชนบ้านครัวตะวันตก และอีกส่วนในเขตปทุมวันเป็นชุมชนบ้านครัวใต้ บรรพบุรุษของชุมชนบ้านครัวจึงประกอบด้วยชาวมุสลิม “แขกจาม” และชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูจากหัวเมืองมลายู ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนนับถือศาสนาอิสลาม โดยเป็นชาวมุสลิมร้อยละ 80 มีแนวการดำเนินชีวิตหลักของชุมชน คือ มัสยิด สุสาน ชุมชน และถือเป็นชุมชนมุสลิมใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

     2. ประวัติความเป็นมาของผ้าไหมบ้านครัว

         ในอดีตชาวมุสลิมแขกจามที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บริเวณริมคลองแสนแสบ ประกอบอาชีพหลักด้วยการ ทำประมงน้ำจืดและการทอผ้าไหมสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ฝีมือการทอผ้าไหมของชาวบ้านครัวมีความโดดเด่นมากกว่า การทอผ้ายุคแรกเป็นการทอเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ ผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง ผ้าโจงกระเบน โดยทอขายในพื้นที่และภายนอกชุมชน ใช้สีธรรมชาติในการย้อมไหมและทอด้วยกี่กระทบ ฝีมือการทอผ้าไหมด้วยมือของแขกจามนั้นเป็นที่เลื่องลือมากทำให้แขกจามในชุมชนบ้านครัวเหนือมีโอกาสถวายงานให้แก่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ ลวดลายการทอที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชนบ้านครัว คือ ลายเกล็ดเต่า ลายหางกระรอก และลายลูกฟูก ทั้งนี้ในด้านทัศนคติความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการย้อมสีไหมหรือทอผ้าไหมนั้นมุสลิมแขกจามชุมชนบ้านครัวไม่ค่อยมีความเชื่ออื่นใดยกเว้นเรื่องการแต่งกายที่ถูกต้องตามจารีตศาสนากล่าวคือ ห้ามมุสลิมชายสวมใส่เสื้อผ้าที่ตัดมาจากผ้าไหม 

           ในปีพ.ศ. ปี 2489 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด นายเจมส์ แฮร์ริสัน วิลสัน ทอมป์สัน หรือ   นายจิม ทอมป์สัน สถาปนิกชาวอเมริกันซึ่งเป็นอาสาสมัครกองทัพอเมริกาประจำการในประเทศไทยในช่วงสงครามได้ลาออกจากราชการและย้ายมาอยู่ประเทศไทย เกิดความสนใจเกี่ยวกับผ้าไหมของไทยและประทับใจในอุตสาหกรรมการทอผ้าไหมจากแรงงานทอมือ ด้วยมีเอกลักษณ์และสวยงามแบบธรรมชาติมากกว่าการทอผ้าไหมจากระบบอุตสาหกรรมซึ่งเน้นผลิตได้ครั้งละจำนวนมาก โดยช่วงแรกได้ซื้อผ้าไหมจากชุมชนบ้านครัวนำกลับไปอเมริกาเพื่อเป็นของฝากและสร้างความคุ้นเคยกับช่างทอภายในชุมชนบ้านครัว ทั้งยังเรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการทอผ้าไปด้วย ต่อมาได้ทำการซื้อที่ดินประมาณ 1 ไร่ เพื่อปลูกบ้านเรือนไทยริมคลองแสนแสบ บริเวณซอยเกษมสันต์ 2 ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับชุมชนบ้านครัวเหนือ และเริ่มสั่งทอผ้าไหมโดยออกแบบทั้งลวดลายและสี ปรับเปลี่ยนลวดลายการทอแบบดั้งเดิมสู่การพัฒนาลวดลายที่ตรงกับความต้องการของตลาด หลังจากนั้นได้จัดตั้งบริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด ขึ้นในปี พ.ศ. 2494 นำไปสู่แนวทางการพัฒนาการทอเชิงอุตสาหกรรมและการส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ทำให้ผ้าไหมบ้านครัวเป็นที่รู้จัก มีชื่อเสียง ทำให้ต่างชาตินิยมผ้าไหมจากชุมชนบ้านครัวและเกิดเป็นรายได้หมุนเวียนเข้ามาภายในชุมชนมหาศาล สร้างแรงจูงใจให้คนต่างถิ่นโดยเฉพาะ ทางภาคอีสานเข้ามาเป็นแรงงานในกระบวนการต่างๆ ของการทอผ้าไหมในชุมชนบ้านครัว อย่างไรก็ดี  การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลต่อกระบวนผลิตผ้าไหมบ้านครัวแบบดั้งเดิมด้วย อาทิ การย้อมสีของเส้นไหมจากด้วยสีธรรมชาติไปสู่การใช้สีเคมี การใช้กี่กระตุกแทนการใช้กี่กระทบเพื่อลดเวลาการผลิตและเพิ่มชิ้นงานการทอผ้าไหมให้ได้จำนวนเพิ่มขึ้น การปรับปรุงลวดลายทอผ้าไหมโดยผลิตผ้าไหมทอมือตามลวดลายและสีที่กำหนดโดยนายจิม ทอมป์สัน โดยผลิตผ้าพื้น ผ้าตา ผ้าลายเส้นแทนการทอผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด และเลิกทอผ้าลายที่เป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิมของชุมชนบ้านครัวไป

         หลังปีพ.ศ. 2484 เป็นต้นมา จึงถือเป็นยุครุ่งเรืองของผ้าไหมบ้านครัวด้วยเป็นแหล่งผลิตผ้าไหม-ทอมือให้กับ บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด ของนายจิม ทอมป์สัน มีผู้ประกอบอาชีพการทอผ้าไหมจำนวน 8 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลมนูทัศน์, ตระกูลมานะเกษม, ตระกูลเกตุเลขา, ตระกูลเพชรทองคำ, ตระกูลยะมาลี, ตระกูลสุมาละนันท์, ตระกูลจิตยาสุวรรณ และตระกูลบินมะมู้ด โดยแต่ละตระกูลมีกี่กระทบจำนวนมากเพื่อรองรับการผลิตออกสู่ตลาด แรงงานคนทอผ้าได้จากภายในชุมชนและแรงงานภายนอก ปัจจุบันชุมชนบ้านครัวคงเหลือผู้ประกอบการเพียง 2 ราย ที่ยังคงรักษาและดำรงอาชีพนี้อยู่ ได้แก่

             1. นายนิพนธ์ มนูทัศน์ อายุ 71 ปี ชาวมุสลิมเชื้อสายจามคนเดียวจากตระกูลมนูทัศน์ ที่ยังสืบทอด งานทอผ้าไหมจากบรรพบุรุษ และเป็น 1 ใน 8 ตระกูลหลักที่ผลิตผ้าไหมให้กับ บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด ของนายจิม ทอมป์สัน มีลำดับทายาทสืบทอดการทอผ้าไหม สรุปดังนี้

                 รุ่นที่ 1 อำแดงเหลี่ยม (ยาย)

                 รุ่นที่ 2 นางสุรีย์ มนูทัศน์ (มารดาของนายนิพนธ์ มนูทัศน์)

                 รุ่นที่ 3 นายนิพนธ์ มนูทัศน์

                 รุ่นที่ 4 นางสาวภัทรามาศ มนูทัศน์ บุตรสาวของนายนิพนธ์ มนูทัศน์

             ครอบครัวประกอบอาชีพการทอผ้าไหมมาโดยตลอดเป็นการทอเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและผลิตเพื่อนำไปล่องขายทางเรือตั้งแต่ปากคลองตลาดไปสิ้นสุดที่หนองจอก ผ้าที่ทอเป็นผ้าโสร่งความยาวไม่เกิน 2 หลา ผ้าขาวม้าความยาวไม่เกิน 2 หลา ผ้าสไบความยาวไม่เกิน 2 หลา และผ้าโจงกระเบนความยาวไม่เกิน 4 หลา  ทำเช่นนี้ตั้งแต่ก่อนรุ่นอำแดงเหลี่ยมผู้เป็นยาย ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยชื่อเสียงแขกจามที่มีความสามารถในการทอผ้าไหม นางสุรีย์ มนูทัศน์ มารดาจึงมีโอกาสเข้าไปทอผ้าถวายสมเด็จพระพันวสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระประทุม  และต่อมาในช่วงสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. ๒๔๘๒ - ๒๔๘๘) ทุกครั้งที่เดินทางไปบ้านคุณยาย      ที่จังหวัดอยุธยา ทางบ้านจะรวบรวมผ้าไหมที่ทอได้จากหลายบ้านในชุมชนนั่งเรือไปขายที่ปากคลองตลาด และล่องเรือขายไปตลอดทางจนถึงจังหวัดอ่างทองอีกด้วย

             จากคำบอกเล่าของนายนิพนธ์ มนูทัศน์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ของชุมชนบ้านครัวเหนือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงว่า ในช่วงปีพ.ศ. 2489 เกิดความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจภายในบ้านครัวเหนืออย่างมากเนื่องจากที่นี่เป็นแหล่งผลิตผ้าไหมทอมือส่งบริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด ของนายจิม ทอมป์สัน และครอบครัวมนูทัศน์ เป็น 1 ใน 8 ตระกูล ที่ผลิตผ้าไหมส่งให้กับทางนายจิม ทอมป์สัน แต่ละตระกูลต่างมีรายได้ต่อเดือนในหลักแสนบาท รวมทั้งมีกี่ทอผ้าอยู่ในบ้านเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับการผลิตที่มีการสั่งเข้ามาโดยตลอด ทางบ้านเคยมีกี่กระตุกมากถึง 50 กี่ คนรับจ้างทอของที่บ้านมาจากภาคอีสาน แถวอำเภอปักธงชัย การทอผ้าแต่เดิมก่อนการเข้ามาของนายจิม ทอมป์สัน จะทอด้วยกี่กระทบทั้งหมดและเริ่มทอด้วยกี่กระตุกที่บ้านครัวเป็นที่แรก โดยมีมารดาของตนเป็นคนแรกที่ทอด้วยกี่กระตุกได้จึงสอนแขกจามในครอบครัวก่อนและช่วยสอนคนภายในชุมชน        ทั้งที่เป็นคนจีนและคนอีสานซึ่งเป็นแรงงานภายนอกชุมชนเพื่อให้สามารถทอผ้าได้อย่างรวดเร็วตามจำนวนที่มีการสั่งผลิต และถือเป็นจุดเปลี่ยนของการทอผ้าไหมชุมชนบ้านครัวในรูปแบบการทอขายโดยทั่วไปเป็นการ  ทอผ้าไหมเชิงพาณิชย์เพื่อผลิตให้ได้จำนวนมาก นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในแบบเดิมหลายอย่าง อาทิ อุปกรณ์การทอผ้าไหมด้วยกี่กระทบเปลี่ยนไปเป็นกี่กระตุกแทน ทำให้การทอแบบเดิมจะได้ผ้าไหมทอมือไม่เกินวันละ 1 หลา เมื่อเปลี่ยนมาใช้กี่กระทบจะได้มากถึงวันละ 10 หลา ต่อมาเมื่อมีคนอีสานเหล่านี้เข้ามาหัดทอและได้รับค่าตอบแทนมากจึงชักชวนครอบครัวเข้ามาทอ บ้างย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่อาศัย ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่เฟื่องฟูมากของชุมชนบ้านครัว “ตั้งแต่จำความได้ตอนเช้าของทุกวันนายจิม ทอมป์สัน จะเข้ามาในชุมชนบ้านครัวพร้อมล่ามและฝรั่งติดตาม 1 คน นั่งเรือเข้ามาสั่งและควบคุมการผลิตทั้งสีและลวดลายเองทั้งหมด ปริมาณความต้องการผ้าไหมขณะนั้นจึงมีมาตลอดไม่เคยหยุดทอ แม้ของเก่าที่สั่งยังไม่ได้ก็จะมีของใหม่สั่งผลิตเพิ่มทุกวัน ผลิตเสร็จทางนายจิม ทอมป์สัน ก็จะมารับไป” ทำให้ตั้งแต่พ.ศ. 2494 เป็นต้นมาชุมชนบ้านครัวกลายเป็นแหล่งทำมาหากินที่สำคัญในพื้นที่แถบนี้

             รูปแบบผ้าไหมในช่วงที่ผลิตส่ง บริษัท จิม ทอมป์สัน ผลิตเฉพาะผ้าลายผ้าตา ผ้าริ้ว ผ้าลายเส้น และผ้าสีพื้นตามที่กำหนดเท่านั้น เนื้อผ้าเป็นการทอเส้นเดียว คือ เป็นการทอแบบเส้นยืน 1 เส้น ใช้เส้นพุ่ง 1 เส้น ไม่มีการผลิตผ้าโจงกระเบน ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า หรือลวดลายโบราณดั้งเดิม” ภายหลังการหายตัวของ   นายจิม ทอมป์สัน ในปี พ.ศ. 2490 ทางชุมชนยังคงทอผ้าส่ง บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด จนถึงปี พ.ศ. 2520 เมื่อทางบริษัทฯ ได้ตั้งโรงงานทอผ้าไหมที่โคราช (จังหวัดนครราชสีมา) จึงไม่มีการสั่งผลิตผ้าไหมจากชุมชนบ้านครัวอีกต่อไป ถือเป็นการสิ้นสุดของยุคเฟื่องฟูอุตสาหกรรมผ้าไหมทอมือชุมชนบ้านครัว 

         ปัจจุบันครอบครัวมนูทัศน์ยังคงประกอบอาชีทอผ้าไหมและถ่ายทอดให้กับทายาทคือลูกสาวคนที่สอง ผลิตขายตามที่มีการสั่งทอ นำจำหน่ายออกร้าน OTOP การออกงานตามที่มีหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน     เข้ามาติดต่อประสานงาน และยังคงทอผ้าไหมทอมือด้วยด้วยกี่ทอผ้าภายในบ้านที่คงเหลือเพียง ๖ กี่ โดยมีแรงงานช่างทอผ้าไหมรับจ้าง 3 คน ซึ่งเป็นคนในชุมชนบ้านครัวและทอผ้าให้กับทางบ้านประจำ

             2. นายมนัสนันท์ เบญจรงค์จินดา อายุ 80 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ในชุมชนบ้านครัว เป็นผู้ประกอบอาชีพย้อมสีไหมเพียงรายเดียวที่เหลืออยู่ในชุมชนบ้านครัว และยังเคยทอผ้าไหมเพื่อจำหน่ายให้กับ บริษัท อุตสาหกรรม-ไหมไทย จำกัด ของนายจิม ทอมป์สัน แต่เดิมครอบครัวไม่ได้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการทอผ้า ประกอบอาชีพรับถ่านมาขาย แต่ด้วยอยู่ในสังคมที่ประกอบอาชีพการทอผ้าไหม พบเห็น คลุกคลี และเรียนรู้กระบวนการย้อมไหมในชุมชนตั้งแต่เด็ก จึงมีความสนใจใช้การครูพักลักจำโดยเริ่มอาชีพย้อมไหมนี้ตั้งแต่อายุ 13 ปี เป็นลูกมือช่วยงานคนที่ย้อมสีไหมจนเกิดความชำนาญและเริ่มย้อมได้เอง ทำให้เป็นอีกหนึ่งคนที่มีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการย้อมไหมและทอผ้าไหมด้วยมือมาก ปัจจุบันยังคงรับย้อมสีไหมเป็นหลักเท่านั้น ส่วนกระบวนการทอผ้าไหมจะผลิตตามการสั่งงานตามความต้องการของลูกค้า เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน  ทอฝีมือและมีทายาทสืบทอดการทอผ้าไหมบ้านครัว 1 คน คือ นายนพคุณ เบญจรงค์จินดา

 

สำนักดนตรีไทยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

    1. ชื่อรายการ        สำนักดนตรีไทยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)                                     

        ชื่อเรียกในท้องถิ่น    สำนักดนตรีไทยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)                             

    2. ลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ศิลปะการแสดง

    3. พื้นที่ปฏิบัติ  เรือนบรรเลง มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) 47 ถนนเศรษฐศิริ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400

    4. สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยสังเขป 

         สำนักดนตรีไทยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นตระกูลดนตรีและเป็นศิษย์ในสายความรู้ของหลวง-ประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) สืบทอดภารกิจการเผยแพร่ดนตรีไทยแก่สังคมมาตั้งแต่ พ.ศ.2524 จนถึงปัจจุบัน หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นนักสร้างสรรค์ทางดนตรีและเทคนิคต่างๆ ได้แก่ ผู้คิดเพลงกรอ และผู้เป็นต้นกำเนิดการตีระนาดต่อยอดจากโบราณาจารย์ผู้ริเริ่มใช้โน้ตระบบเลข 9 ตัว บันทึกทำนองเพลง ผู้ริเริ่มบรรเลงเดี่ยวระนาดเอก 2 ราง ผู้คิดคนแรกที่คิดการบรรเลงเพลงโดยมี “ลูกนำ” ขึ้นต้นและเพลงที่แสดงความหมายของธรรมชาติอย่างแท้จริงผู้นำเอาอังกะลุงเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยคนแรกและใช้เพลงชุดที่ท่านแต่งด้วยสำเนียงชวาผู้ริเริ่มแนวคิดใช้ปี่พาทย์มอญในการประโคมในงานศพ ผู้ริเริ่มแนวคิดในการรวมวงดนตรีหลายๆ วงเข้ามาบรรเลงพร้อมกันที่เรียกว่า “วงมหาดุริยางค์”

            หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ยังได้สร้างผลงานการประพันธ์เพลงไว้อย่างมากมาย เช่น เพลงเดี่ยว เพลงเถา เพลงละคร เพลงทางเปลี่ยน เป็นต้น ผู้ประพันธ์เพลงสองชั้น สามชั้น และสี่ชั้นขึ้นมาใหม่ มากกว่า 500 เพลง นอกจากนี้ท่านยังได้รับอิทธิพลกระแสดนตรีจากวัฒนธรรมต่างๆ เช่น เพลงจีน เพลงลาว เพลงมอญและปี่พาทย์มอญ เพลงเขมร เพลงพม่า เพลงแขก เพลงญี่ปุ่น เป็นต้น ด้านการขับร้องเพลงไทย ท่านได้ถ่ายทอดหลักการขับร้อง โดยมีอัตลักษณ์ของทางร้องเก่าที่สืบทอดมาจากพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) และหม่อมส้มจีน ราชานุประพันธ์ ทางร้องที่แต่งขึ้นใหม่ส่วนใหญ่เป็นผลงานของหลวงประดิษฐไพเราะฯ และมีผู้ร่วมประดิษฐ์ทางร้องในสำนักนี้ เช่น คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง นางมหาเทพกษัตรสมุห (อาจารยบรรเลง สาคริก) ครูโองการ กลีบชื่น ครูจันทนา พิจิตรคุรุการ เป็นต้น ส่วนบทเพลงที่สำคัญที่สุดของสำนัก คือ เพลงทยอยเดี่ยว เป็นเพลงเดี่ยวสำคัญประจำสำนัก และผลงานเพลงเด่นที่ยังคงได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน เช่น แสนคำนึงเถา นกเขาขะแมร์เถา พม่าเห่เถา ลาวเสี่ยงเทียนเถา ด้อมค่าย ยะวา โหมโรง- กระแตไต่ไม้ โหมโรงปฐมดุสิต แขกลพบุรีทางวังบางคอแหลม เป็นต้น

            หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ใช้ชีวิตบั้นปลายที่สำนักดนตรีบ้านบาตร ถนนบริพัตร เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ต่างๆ ที่เจริญรอยตามแบบแผนจนกระทั่งมีชื่อเสียงระดับประเทศ จากการสร้างสรรค์ผลงานของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) อย่างมากมาย แนวทางการบรรเลงดนตรี การประพันธ์เพลงและทางขับร้องของท่านได้ส่งอิทธิพลและแนวคิดให้กับลูกศิษย์รุ่นต่อๆ มา ทั้งลูกหลานของท่านที่เป็นทายาทโดยตรงและทายาทใน     สายตระกูลของหลวงประดิษฐไพเราะฯ เช่น คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง นางมหาเทพกษัตรสมุห (อาจารย์บรรเลง สาคริก) อาจารย์มาลินี สาคริก อาจารย์ชนก สาคริก อาจารย์อัษฎาวุธ สาคริก เป็นต้น และศิษย์โดยตรงของหลวงประดิษฐไพเราะฯ และศิษย์ในสายความรู้ของหลวงประดิษฐไพเราะฯ ที่เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานให้แก่ประเทศและเป็นครูบาอาจารย์    ผู้ถ่ายทอดความรู้ทางด้านดนตรีไทยในสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น  ศาสตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ครูมนตรี ตราโมท ครูประสิทธิ์ ถาวร ครูบุญยงค์ เกตุคง ครูบุญยัง เกตุคง ครูรวม พรหมบุรี ครูเผือด นักระนาด เป็นต้น รวมทั้งศิษย์ที่ต่อมาได้สืบทอดความรู้ทางดนตรีไทยสายหลวงประดิษฐไพเราะฯ ในจังหวัดต่างๆ เช่น ครูองุ่น บัวเอี่ยม จังหวัดนนทบุรี ตั้งคณะดนตรีไทยในนาม “ศิษย์ศรทอง” ครูแสวง สุขีลักษณ์ จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งคณะดนตรีไทยในนาม “ศรประดิษฐ์” ครูเยื่อ อุบลน้อย จังหวัดเพชรบุรี ตั้งคณะดนตรีไทยในนาม “บ้านดนตรีไทยเยื่อ อุบลน้อย ศิษย์หลวงประดิษฐไพเราะ” เป็นต้น

              ต่อมาด้วยความตั้งใจของทายาทและลูกศิษย์ต่างๆ ในการสืบสานงานดนตรีของท่านจึงได้ก่อตั้งมูลนิธิหลวง-ประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) หรือที่ตั้งของสำนักดนตรีไทยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) โดยคุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง บุตรีของหลวงประดิษฐไพเราะฯ เป็นประธานมูลนิธิคนแรก ซึ่งได้ใช้พื้นที่บริเวณเรือนบรรเลงและบ้านสาคริก เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนดนตรีไทยและดำเนินกิจกรรมต่างๆ สำนักดนตรีไทยหลวงประดิษฐไพเราะฯ      มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการสืบสานงานของหลวงประดิษฐไพเราะฯ นางมหาเทพกษัตรสมุห (อาจารย์บรรเลง สาคริก) บุตรีของหลวงประดิษฐไพเราะฯ ได้ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของการสืบทอดอุดมการณ์จาก “บ้านบาตร” สู่ “เรือนบรรเลง” จากอดีตจนถึงปัจจุบันและเชื่อมโยงไปสู่อนาคต นอกจากนี้สำนักดนตรีไทยหลวงประดิษฐไพเราะฯ ยังเป็นสถานที่ชุมนุมของนักคิด นักเขียน ศิลปิน นักดนตรี และคนหลากหลายอาชีพ และเป็นพื้นที่เปิดที่พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกองค์กรในการจัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของหลวงประดิษฐไพเราะฯ ให้ยั่งยืนสืบไป

           ปัจจุบันสำนักดนตรีไทยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์การสืบสานงานการถ่ายทอดศิลปะดนตรีไทย ปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้กับเยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตลักษณ์ทางด้านวิธีคิดคือ การตอบโจทย์ความเป็นอยู่ของคนปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการประพันธ์เพลงและการเล่นดนตรีให้มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเล่นดนตรีไทยให้ไพเราะ สนุกสนาน เร้าใจ แปลกใหม่ ใช้ระบบครอบครัวในการสอน จุดประสงค์หลักของการเรียนการสอนดนตรีไทยของสำนักดนตรีแห่งนี้ ต้องการใช้ดนตรีเพื่อให้ชีวิตมีพัฒนาการ ความรับผิดชอบ การเรียนรู้ภูมิปัญญา และมีทัศนคติที่ดีขึ้น ซึ่งอัตลักษณ์ของสำนักดนตรีแห่งนี้ ผู้เรียนต้องมีคุณสมบัติคือ เรียนด้วยความสมัครใจ ต้องผ่านพิธีไหว้ครู และต้องว่ากล่าวตักเตือนได้ 

            นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติมเป็นแนวดนตรีไทยร่วมสมัยที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางด้านวิธีคิดของสำนักดนตรีแห่งนี้ จนเกิดเป็นวงดนตรีไทยสมัยใหม่ที่ได้แนวคิดทางดนตรีของหลวงประดิษฐไพเราะฯ ในยุคต่อมา เช่น   วงฟองน้ำ วงกอไผ่ วงดนตรีบางกอกไซโลโฟน วงกำไล เป็นต้น นักดนตรีไทยร่วมสมัย บรูซ แกสตัน ผู้ก่อตั้งวงฟองน้ำได้รับการถ่ายทอดความรู้จากครูบุญยงค์ เกตุคง ซึ่งเป็นศิษย์หลวงประดิษฐไพเราะฯ และครูดนตรีไทยหลายท่าน วิชาความรู้เหล่านี้ได้ส่งต่อมาให้บรูซ แกสตัน นำไปพัฒนางานดนตรีสร้างสรรค์อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด

      5. ประวัติความเป็นมา

       ประวัติความเป็นมาของสายสกุลสำนักดนตรีไทย มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

          หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) นามเดิมว่า “ศร” เป็นบุตรคนสุดท้องของนายสินและนางยิ้ม เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2424 ที่บ้านตำบลคลองดาวดึงส์ จังหวัดสมุทรสงคราม การศึกษาเมื่อเยาว์วัย ท่านบิดาได้นำไปฝากท่านพระครูที่วัดใกล้บ้าน เพื่อศึกษาวิชาหนังสือไทย และเริ่มต้นเรียนวิชาดนตรีไทยกับบิดาซึ่งเป็นศิษย์ของ          พระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร หรือ ครูมีแขก) นายศรมีฝีมือเป็นที่ร่ำลือโดยเฉพาะระนาดเอก ได้รับพระมหา-กรุณาธิคุณจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ขอตัวจากบิดาท่านให้เข้ามาเป็นนักดนตรีอยู่ในวังบูรพาภิรมย์ เป็นจางวางมหาดเล็กในพระองค์ และได้ศึกษาดนตรีกับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) จนแตกฉาน สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ก็โปรดทรงชุบเลี้ยงด้วยพระกรุณาอย่างยิ่ง ทรงอุปถัมภ์ให้อุปสมบท ณ     วัดบวรนิเวศ 1 พรรษา พร้อมทั้งทรงพระกรุณาจัดการแต่งงานให้กับนางสาวโชติ หุราพันธ์ ธิดาพันโท พระประมวลประมาณพล (พันธุ์ หุราพันธุ์) 

         ในสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2455 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ประทานนามสกุลให้จางวางศรว่า  “ศิลปะบรรเลง” แปลว่า “ความรู้แห่งเสียงดนตรี” ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนตัวหนังสือไทยทำให้สระอาหายไป คงเหลือแต่   “ศิลปบรรเลง”เพราะทรงเห็นว่านายสิน บิดาของจางวางศรก็เป็นนักดนตรีฝีมือดีเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าสกุลนี้ล้วนเป็นนักดนตรีฝีมือดี จากนั้นใน พ.ศ. 2468 โปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปบรรเลงปี่พาทย์ร่วมกับการแสดงโขนบรรดาศักดิ์ ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็นหุ้มแพรและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงประดิษฐไพเราะ” เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2468

          ในสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 หลวงประดิษฐไพเราะฯ ต้องรับหน้าที่คุมวงวงดนตรี ณ วังลดาวัลย์ (วังบางคอแหลม) เพิ่มเติมอีกวงหนึ่งเรียกว่า “วงบางคอแหลม” และได้ประดิษฐ์ทางเพลงสำหรับวงบางคอแหลมขึ้นเป็นพิเศษ       วังบางคอแหลมมีความเกี่ยวข้องกับวังบูรพาเป็นพิเศษ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงเป็นราชบุตรเขยในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และมีความสนพระทัยในดนตรีไทย

          ในสมัยรัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2469 รับราชการในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง สังกัดสำนักพระราชวัง และ พ.ศ. 2473 ดำรงตำแหน่งปลัดกรมปี่พาทย์และโขนหลวง กระทรวงวัง มีส่วนในการถวายการสอนดนตรีให้แก่พระบาทสมเด็จ-พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และได้ลาออกจากราชการภายหลังที่โอนย้ายมาอยู่กรมศิลปากรใน พ.ศ. 2478 ตั้งแต่เมื่อสิ้นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ใน พ.ศ. 2471 ครอบครัวของหลวงประดิษฐไพเราะฯ ต้องย้ายจากบ้านพักหน้าวังบูรพาภิรมย์ไปอยู่ที่บ้านบาตร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมทบทุนซื้อที่ดิน 1 ไร่ จำนวน 1 หมื่นบาท พร้อมปลูกเรือนใหญ่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากมีพื้นที่ที่จะรองรับลูกศิษย์มาสอนที่บ้านบาตร

         หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงใหม่ๆ บรรดาคนในสกุลศิลปบรรเลงรุ่นทายาทของหลวงประดิษฐไพเราะฯ ได้ร่วมกันจัดตั้งคณะละครขึ้นคณะหนึ่ง ใช้ชื่อว่า “ผกาวลี” เปิดแสดงที่โรงเฉลิมไทยและโรงเฉลิมนคร เดือนละครั้ง ละครผกาวลีซึ่งต่อมาเป็นรากฐานการเผยแพร่ดนตรีไทยของมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะฯ ได้ล้มเลิกไปหลังจากภาพยนตร์เริ่มกลับเข้ามาฉาย

         หลังจากสิ้นหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2497 ทายาทของท่านได้ขายบ้านให้บริษัท สุกมลก่อสร้าง จำกัด เพื่อสร้างเป็นแฟลตในเวลาต่อมา เรือนใหญ่ได้ถูกรื้อถอนจากบ้านบาตรไปปลูกใหม่แถวย่านรัชดา – ลาดพร้าว ซึ่งปัจจุบันเป็นของบุตรคุณขวัญชัย ศิลปบรรเลง หลังจากขายที่ดินที่บ้านบาตรแล้ว บรรดาศิษย์ก็ได้ไปพำนักกันที่ “บ้านบางซื่อ” หรือ “เรือนบรรเลง” เรือนหอของนางมหาเทพกษัตรสมุห บุตรีคนรอง ริมถนนเศรษฐศิริ ปัจจุบันคือบ้านเลขที่ 47 ถนนเศรษฐศิริ เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร และเป็นที่ตั้งของมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

         ในวาระครบรอบ 100 ปี ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ทายาทของท่านได้ก่อตั้งมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 ผู้ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิฯ คนแรก คือ คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ต่อมาจึงส่งหน้าที่ต่อให้นางมหาเทพกษัตรสมุห (อาจารย์บรรเลง สาคริก) บุตรีของหลวงประดิษฐไพเราะฯ และส่งต่อให้นาวาเอกสมชาย ศิลปบรรเลง และนายสนั่น ศิลปบรรเลง บุตรชายของหลวงประดิษฐไพเราะฯ ในปัจจุบันอาจารย์มาลินี สาคริก หลานสาวของหลวงประดิษฐไพเราะฯ ซึ่งเป็นบุตรสาวของ   พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) และนางมหาเทพกษัตรสมุห ได้ดูแลสำนักดนตรีไทยต่อมาในฐานะประธานมูลนิธิฯ อาจารย์ชนก สาคริก ในฐานะรองเลขาธิการมูลนิธิฯ และอาจารย์อัษฎาวุธ สาคริก ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิฯ 

        มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นองค์กรเอกชนที่ก่อตั้งขึ้น โดยทายาทของหลวงประดิษฐไพเราะฯ   8 คน และลูกศิษย์ 2 คน โดยสบทบทุนก่อตั้งมูลนิธิคนละ 1 หมื่นบาท รวมเป็น 1 แสนบาท เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงผลงานและคุณความดีที่หลวงประดิษฐไพเราะฯ มีต่อวงการดนตรีไทยและประเทศชาติ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟู เผยแพร่ดนตรีไทยทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับดนตรีไทย ดำเนินกิจกรรมทางด้านดนตรีไทยในรูปแบบที่หลากหลาย ประกอบด้วยกิจกรรที่สร้างประโยชน์ให้กับวงการดนตรีไทยและศิลปวัฒนธรรม เช่น กิจกรรมที่จัดขึ้นในวาระต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับดนตรี พิธีไหว้ครูดนตรีไทย การประกวดดนตรีไทย การเผยแพร่ดนตรีในรูปแบบสื่อสาธารณะ การจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อบันทึกเสียงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับดนตรีไทย เป็นต้น

6. ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

          มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในเชิงบุคคล

                   1.1) หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

                   1.2) ทายาทโดยตรงและทายาทในสายตระกูลของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

                   1.3) ศิษย์โดยตรงของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

                   1.4) ศิษย์ในสายวิชาความรู้ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

  1. มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมในเชิงองค์กร
         2.1) สำนักดนตรีไทยบ้านบาตร

                   2.2) คณะผกาวลีและโรงเรียนผกาวลี

                   2.3) มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

                   2.4) ชมรมดนตรีไทย มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

         ในด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเชิงบุคคล หัวใจสำคัญที่สุดคือหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งมีความสำคัญทั้งในเชิงเป็นนักดนตรีไทยที่มีความสามารถในการบรรเลงดนตรีทุกเครื่องมือโดยเฉพาะระนาดเอก คิดค้นเทคนิคพิเศษในการจับไม้ระนาดเพื่อให้ได้เสียงที่หลากหลาย การตีกลอนเพลงระนาด การคิดเทคนิคชั้นสูงในเครื่องดนตรีต่างๆ มีความสามารถในการประพันธ์เพลงไทยที่มีความไพเราะติดหูและมีความซับซ้อนในเชิงระบบความคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นครูที่สามารถถ่ายทอดและปลูกฝังให้ศิษย์ได้ประสบความสำเร็จในวิชาการดนตรีในรูปแบบต่างๆ ทั้งศิษย์ที่เรียนเพลงที่ท่านประพันธ์ขึ้นทั้งเพลงหมู่เพลงเดี่ยวจำนวนรวมกันกว่า 500 เพลง หรือเรียนเทคนิคการปฏิบัติบรรเลงที่ท่านเป็นผู้นำมาถ่ายทอดให้โดยผ่านเครื่องดนตรีต่างๆหรือโน้ตเพลงแบบตัวเลข 9 ตัวที่ท่านคิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาดนตรีไทยในช่วงเวลาของท่าน ให้มีรูปแบบการประสมวงดนตรีที่พิเศษน่าสนใจ เช่น วงมหาดุริยางค์ วงอังกะลุง วงปี่พาทย์มอญ วงดนตรีไทยประสมสากล การเดี่ยวระนาดเอกสองราง เป็นต้น จนกลายเป็นรากฐานในการพัฒนาวงดนตรีในยุคต่อมา โดยใช้พื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางกระจายความเจริญทางดนตรีไทยไปทั่วประเทศ ตั้งแต่ยุคของพื้นที่วังจนถึงพื้นที่วัดและบ้าน

            สำหรับผู้สืบทอดความรู้ของหลวงประดิษฐไพเราะทั้งเมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่และถึงแก่กรรมไปแล้ว ถือว่ามีจำนวนมากที่สุดในบรรดาสายวิชาดนตรีไทยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทายาทในตระกูลของท่านที่สืบทอดมรดกดนตรีไทยอย่างจริงจัง อาทิ คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง อาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง ครูบรรเลง สาคริก ครูขวัญชัย ศิลปบรรเลง ครูภัลลิกา ศิลปบรรเลง ครูชัชวาลย์ จันทร์เรือง ครูสนั่น ศิลปบรรเลง อาจารย์มาลินี สาคริก ครูชนก สาคริก ครูนิคม สาคริก อาจารย์อัษฎาวุธ สาคริก ฯลฯ 

          ส่วนศิษย์สายตรงที่น่ากล่าวถึง มีหลากหลายสาขาความรู้ มีทั้งศิษย์ที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงในวิชาด้านปี่พาทย์ อาทิ ครูโองการ กลีบชื่น ครูเผือด นักระนาด ครูบาง หลวงสุนทร ครูประสิทธิ์ ถาวร ครูบุญยงค์ เกตุคง ครูบุญยัง เกตุคง ครูสมภพ ขำประเสิรฐ ครูอุทัย แก้วละเอียด ครูเสนาะ หลวงสุนทร ครูกิ่ง พลอยเพชร ครูประมวล อรรถชีพ ครูสุบิน จันทร์แก้ว ครูฉลาก โพธิสามต้น ครูน้ำว้า ร่มโพธิ์ทอง ครูหยด ผลเกิด ครูช่อ อากาศโปร่ง ครูสมบัติ สุทิม ครูรวม พรหมบุรี ครูสกล แก้วเพ็ญกาศ ครูสงัด ยมะคุปต์ ครูละม่อม พุ่มเสนาะ ครูวี พิณพาทย์เพราะ ครูประยงค์ รามวงศ์ ครูแสวง คล้ายทิม ครูวิเชียร สาระเดช ครูรอด อักษรทับ ครูสว่าง สอนเสนาะ ครูสวิต วงษ์บุญลือ ครูเชื้อ ดนตรีรส ครูศิริ นักดนตรี ครูชฎิล นักดนตรี ครูพินิจ ฉายสุวรรณ ครูสำรวย งามชุ่ม ครูสำรวย แก้วสว่าง ครูถุงเงิน ทองโต ครูปน ว่านม่วง ครูบุญธรรม คงทรัพย์ ครูจรัล กลั่นหอม ครูประเสริฐ สดแสงจันทร์ ครูบัว แสงจันทร์ ครูไพฑูรย์ จรรย์นาฎย์ ครูถวิล อรรถกฤษณ์ ครูโม ปลื้มปรีชา ครูสุรินทร์ อุดมสวัสดิ์ ครูปฐม นักปี่ ครูประยูร น่วมศิริ ครูสังเวียน พงษ์ดนตรี ครูสุพจน์ โตสง่า ครูสมพงษ์ พิจิตรคุรุการ ครูเผชิญ กองโชค ครูกิตติพงษ์ มีป้อม ครูประคอง วิสุทธิ์วงษ์ ครูเยื่อ อุบลน้อย ครูสวง ศรีผ่อง ฯลฯ 

          ศิษย์ที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงทางเครื่องสาย อาทิ ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ครูลิ้ม ชีวะสวัสดิ์ ครูพุฒ นันทพล ครูเหม เวชกร ครูจำนง ส่งศรีวัฒน์ ครูแสวง อภัยวงศ์ ครูไพฑูรย์ ณ มหาชัย ครูประกอบ สุกัณหะเกตุ ครูจันทร์ โตวิสุทธิ์ ครูวัน อ่อนจันทร์ ครูฟุ้ง บัวเอี่ยม ครูโสภณ ซื่อต่อชาติ ฯลฯ และในทางขับร้อง อาทิ คุณหญิงรามบัณฑิตสิทธิเศรณี (เยี่ยม สุวงศ์)    ครูทองดี ศุณะมาลัย  ครูจันทนา พิจิตรคุรุการ ครูจิ้มลิ้ม กุลตัณฑ์ ครูประชิต ขำประเสริฐ ครูศรีนาฏ เสริมศิริ ครูองุ่น บัวเอี่ยม ครูเชื้อ นักร้อง ครูท้วม ประสิทธิกุล ครูฟ้อย ทองอิ่ม ครูละม่อม บูรณพิมพ์ ครูสุคนธ์ พุ่มทอง ครูศิริกุล วรบุตร ฯลฯ

        ความรู้ของสำนักดนตรีไทยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ในยุคปัจจุบัน ได้ถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ ผู้ที่รับถ่ายทอดความรู้ต่อจากบรรดาครูบาอาจารย์ต้นแบบที่เคยผ่านการฝึกฝนความรู้จากหลวงประดิษฐไพเราะอีกชั้นหนึ่ง และผู้ที่ผ่านการศึกษาในระบบสถาบันการศึกษาในระดับขั้นต่างๆ ความรู้เหล่านี้ นอกจากจะเป็นความรู้แบบผลิตซ้ำความทรงจำแล้ว ยังได้มีการพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติมอีกใหม่อีกด้วย

        ตัวอย่างของวิชาดนตรีของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ที่ตกทอดมายังคนรุ่นใหม่ในสาขาต่างๆ ได้แก่
        ปี่พาทย์ : ครูสังเวียน ทองคำ ครูกมล ปลื้มปรีชา ครูยงยุทธ ปลื้มปรีชา ครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ครูณัฐพงศ์ โสวัตร  ครูบุญช่วย โสวัตร ครูลำยอง โสวัตร ครูสมาน น้อยนิตย์ ครูมนัส ขาวปลื้ม ครูสหวัฒน์ ปลื้มปรีชา ครูฐิระพล น้อยนิตย์ ครูทนง แจ่มวิมล ครูดุษฎี มีป้อม ครูบุญสร้าง เรืองนนท์ ครูสมาน แก้วละเอียด ครูสวิต ทับทิมศรี ครูแย่ง ทางมีศรี ครูชัยยะ ทางมีศรี ครูอ่วน หนูแก้ว ครูสุรเดช กิ่มเปี่ยม ครูละมูล เผือกทองคำ ครูชาตรี อบนวล ครูณรงค์ อรรถกฤษณ์ ครูวิฑูรย์ อรรถกฤษณ์ ครูสุวัฒน์ อรรถกฤษณ์ ครูสิงหล สังข์จุ้ย ครูสมนึก ศรประพันธ์ ครูวิบูลย์ธรรม เพียรพงษ์ ครูเพทาย ล้อมวงษ์ ครูถาวร สดแสงจันทร์ ครูประชา สามเสน ครูชัยชนะ เต๊ะอ้วน ครูชัยยุทธ โตสง่า ครูทวีศักดิ์ อัครวงษ์ ฯลฯ

        เครื่องสาย : ครูเฉลิม ม่วงแพรศรี ครูสุรพล จันทราปัตย์ ครูระวิวรรณ ทับทิมศรี ครูบุญส่ง ธรรมวณิชย์ ครูจักรี มงคล ครูสหรัฐ จันทร์เฉลิม ครูชัยภัค ภัทรจินดา ครูประสาร วงษ์วิโรจน์รักษ์ ครูขำคม พรประสิทธิ์ ฯลฯ

        ขับร้อง : ครูยุพา วัชรนาค ครูกัญญา โรหิตาจล ครูสมชาย ทับพร ครูมัณฑนา เพิ่มสิน ครูณรงค์ รวมบรรเลง ฯลฯ





 

Page 1 of 1