แผนวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๘ - ๒๕๖๒)
แผนวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๘ - ๒๕๖๒)
๑. ที่มา
กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของประเทศไทยมาเป็นเวลานานกว่า ๒๐๐ ปี มีความสำคัญในฐานะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง การปกครองของประเทศ และรวมถึงการเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรม
ที่มีความเก่าแก่และหลากหลาย อันเกิดจากอยู่ร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นเวลานาน หลอมรวมกันเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นกรุงเทพมหานครที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมกรุงเทพมหานครจึงเป็นแหล่งดึงดูดผู้คนจากภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว และศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และแหล่งท่องเที่ยวรูปแบบอื่นๆ
เพื่อให้การจัดการวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างมีทิศทาง อันจะเป็นการธำรงรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครให้คงอยู่สืบไป สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร จึงกำหนดให้มีการจัดทำแผนวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๘ - ๒๕๖๒) ขึ้น การดำเนินงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ
๑.๑ เพื่อให้กรุงเทพมหานครมีแผนวัฒนธรรมที่สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานครในด้านต่างๆ
๑.๒ เพื่อให้กรุงเทพมหานคร สามารถใช้แผนวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือและกลไกในการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่ รวมทั้งเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของคนกรุงเทพมหานคร
๑.๓ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการบูรณาการแผนวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร
๒. การดำเนินการเก็บข้อมูล
๒.๑ ศึกษาข้อมูลเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
๒.๒ สำรวจและค้นหาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ด้วยการจัดวงสนทนาผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานวัฒนธรรมในเขตต่างๆ จัดทั้งสิ้น ๕๐ ครั้ง
๒.๓ ศึกษาเชิงลึกการจัดการวัฒนธรรมในชุมชนที่ประสบความสำเร็จ จำนวน ๑๐ พื้นที่ โดยพยายามให้มีการกระจายให้ครอบคลุมวัฒนธรรมทุกประเภท ตามกฎเกณฑ์การแบ่งของยูเนสโกและกระทรวงวัฒนธรรม ดังนี้
๑) สาขามนุษยศาสตร์ ได้แก่ วัฒนธรรมที่ว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี คุณธรรม ศีลธรรมจริยธรรม ค่านิยม ศาสนา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี มารยาทในสังคม การปกครอง และกฎหมาย
๒) สาขาศิลปะ ได้ แก่ วัฒนธรรมในเรื่องภาษา วรรณคดี นิทานพื้นบ้าน ดนตรี ฟ้อนรำจิตรกรรม (ภาพเขียน) ประติมากรรม (การปั้น การแกะสลักไม้ หินอ่อน โลหะ) และสถาปัตยกรรม (งานก่อสร้างที่มีศิลปะสวยงาม)
๓) สาขาการช่างฝีมือ ได้แก่ วัฒนธรรมในเรื่องการเย็บปักถักร้อย การแกะสลัก การทอผ้า การจักสาน การทำเครื่องเขิน การหล่อโลหะ เครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องถม การจัดดอกไม้ การทำตุ๊กตา การทอเสื่อ การประดิษฐ์ และเครื่องปั้นดินเผา
๔) สาขาคหกรรมศิลป์ ได้แก่ วัฒนธรรมในเรื่องอาหาร เสื้อผ้า การแต่งงาน การดูแลเด็กครอบครัว และการรู้จักประกอบอาชีพช่วยเศรษฐกิจในครอบครัว
๕) สาขากีฬาและนันทนาการ ได้แก่ วัฒนธรรมในเรื่องการละเล่นต่างๆ มวยไทย ฟันดาบสองมือ กระบี่กระบอง และกีฬาพื้นบ้านอื่นๆ
๒.๔ วิเคราะห์สถานการณ์แวดล้อมในการดำเนินงานวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานครทั้งภายนอกและภายในองค์กรกรุงเทพมหานคร ด้วยการใช้ข้อมูลที่ได้มาจากการศึกษา เอกสาร งานวิจัย การจัดการเสวนา และการศึกษาวัฒนธรรมแบบเจาะลึก มาประมวลร่วมกับผลจากการสัมภาษณ์ผู้บริหาร และการสนทนากลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร
๓. การประเมินสถานการณ์การดำเนินงานวัฒนธรรมของการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร
๓.๑ สภาพแวดล้อมภายนอกที่เอื้อต่อการทำงานด้านวัฒนธรรม
๑) วิกฤตทางเศรษฐกิจของอเมริกาและยุโรปอยู่ในภาวะที่เริ่มฟื้นตัว โดยคาดว่าในช่วง ๕ ปี
ของแผนวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๒) สถานการณ์ดังกล่าว จะดีขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่อยู่ในสภาวะที่สงบ ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
๒) การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ข้อได้เปรียบในด้านต่างๆ ของประเทศไทย จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุน การคมนาคมทางอากาศ และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมที่หลากหลาย
๓) เทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม ทั้งในมิติของการอนุรักษ์ ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรม ด้วยศักยภาพของสื่อสังคมที่แพร่หลาย มีประสิทธิภาพสูง และเข้าถึงได้ง่าย จะเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่งานวัฒนธรรมให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายได้
๔) ความหลากหลายและร่ำรวยทางวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งความเอื้ออาทร และความมีอัธยาศัยของคนไทยเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาประเทศไทย
๓.๒ สภาพแวดล้อมภายนอกที่ไม่เอื้อต่อการทำงานด้านวัฒนธรรม
๑) ความอ่อนแอในการบริหารงานของภาครัฐ ความไม่ลงรอยกันระหว่างนักการเมืองระดับชาติ และระดับท้องถิ่นจะทำให้การบริหารงานด้านต่างๆ ของกรุงเทพมหานครเป็นไปด้วยความไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม
๒) การพัฒนากรุงเทพมหานครจะสามารถดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จ บรรลุตามภารกิจที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ได้นั้น จำเป็นต้องมีสถาบันการเมืองที่มีคุณภาพและมีคุณธรรม มีความโปร่งใส และคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ในขณะเดียวกัน ถ้าสถาบันทางการเมืองขาดความโปร่งใส และความเป็นธรรม มีบรรทัดฐานที่แตกต่างกัน จะส่งผลให้ความไว้วางใจของคนในสังคมลดลง นำมาซึ่งการแบ่งแยก กระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในสังคม เกิดการแบ่งแยกและแบ่งฝ่ายของคนในสังคม อย่างรุนแรงนำไปสู่ปัญหาในการทำงานในพื้นที่ชุมชนของกรุงเทพมหานคร ทั้งในการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ และระหว่างประชาชนซึ่งสังกัดคนละฝ่ายทางการเมือง
๓) ขาดการบังคับใช้กฎหมายฯ อย่างจริงจังและไม่มีการบูรณาการการทำงาน ระหว่างหน่วยงานในด้านการอนุรักษ์และพัฒนา
๓.๓ สภาพแวดล้อมภายในที่เอื้อต่อการทำงานด้านวัฒนธรรม
๑) กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญ ต่อศิลปวัฒนธรรม มองเห็นถึงความโดดเด่น เป็นที่ภาคภูมิใจ และสามารถใช้เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ของกรุงเทพฯ โดยพิจารณาจากคำขวัญของกรุงเทพมหานครที่ว่า
“กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการ ปกครอง วัด วัง งามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย”
๒) นโยบายข้อที่ ๖ การทำให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งอาเซียน ทำให้เป็นศูนย์กลางอาเซียนในเรื่องต่างๆ เช่น ศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอาเซียนและโลก ศูนย์กลางการบริการด้านการแพทย์ และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของอาเซียนและของโลก จัดตั้งศูนย์ส่งเสริม SMEs อาเซียน และจัดทำ BMA SMEs ASEAN ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมอาเซียน เป็นต้น
๓) มีการแบ่งหน่วยงานรองรับงานวัฒนธรรม โดยมีการกำหนดให้มีสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบงานในด้านต่างๆ รวมถึงงานวัฒนธรรม โดยกำหนดให้สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ดำเนินการอนุรักษ์ ส่งเสริมเผยแพร่ ฟื้นฟูบำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรม สร้างความรู้ความเข้าใจ และการตระหนักในคุณค่าและเอกลักษณ์ที่ดีของความเป็นไทย โดยสำนักนี้ได้กำหนดให้ กองวัฒนธรรม มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรม ค่านิยม เอกลักษณ์-ความเป็นไทย และภูมิปัญญาท้องถิ่น การแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม การจัดให้มีแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม
แก่ประชาชนในรูปแบบต่างๆ
๔) การกำหนดภาระงานวัฒนธรรมในหน่วยงานระดับสำนักงานเขต โดยการกำหนดให้ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม มีหน้าที่หนึ่งในการการอนุรักษ์ ส่งเสริมเผยแพร่ ฟื้นฟู บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น งานสภาวัฒนธรรมเขต งานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การสนับสนุนและประสานการดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายด้านวัฒนธรรม
๓.๔ สภาพแวดล้อมภายในที่ไม่เอื้อต่อการทำงานด้านวัฒนธรรม
๑) ความไม่ชัดเจนในการกำหนดภาระงานวัฒนธรรมในระดับสำนักงานเขต ตามที่กรุงเทพมหานครมีการจัดแบ่งส่วนงานในระดับเขต เพื่อให้มีหน่วยงานดูแล และรับผิดชอบประชาชนได้ อย่างใกล้ชิดโดยมี สำนักงานเขตประจำอยู่ในแต่ละเขตทำให้ การทำงานเป็นไปอย่างทั่วถึง สำนักงานเขตจึงถือเป็นกลไกสำคัญ เป็นหน่วยงานระดับหนึ่งของกรุงเทพมหานครที่มีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ที่ต้องบริการประชาชนภายใต้อำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร เขตจึงเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชน และทราบความต้องการของประชาชนมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่กว้างขวางเกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกด้าน ภาระงานจึงมีเป็นจำนวนมาก สำนักเขตได้แบ่งส่วนงานออกเป็นฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายโยธา ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายเทศกิจ เป็นต้น ทั้งนี้มี การกำหนดให้งานวัฒนธรรมเข้าไปอยู่ในการดูแลและรับผิดชอบของฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม มิได้แยกหน่วยงานดูแลวัฒนธรรมอย่างชัดเจน และด้วยอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบของฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ที่กว้างขวางครอบคลุมการพัฒนาชุมชนและผู้คน ทั้งทางด้านกายภาพ สภาพแวดล้อม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาชีพ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานที่มีความสำคัญ ต้องอาศัยผู้มีความรู้เฉพาะทาง ในปัจจุบันสำนักงานเขตโดย ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม จึงยังไม่สามารถขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมได้เท่าที่ควร หากมีการแบ่งหน่วยงานและกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบเฉพาะด้านวัฒนธรรม มีบุคลากรผู้มีความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการดำเนินงานวัฒนธรรม จะทำให้การขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมในระดับชุมชน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
๒) กรุงเทพมหานครกำหนดให้งานวัฒนธรรมไว้ในหน่วยงานในโครงสร้างองค์กร ให้งานวัฒนธรรมอยู่ในความดูแลของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว โดยมีกองวัฒนธรรม มีหน้าที่และความรับผิดชอบตรง และยังกำหนดให้สำนักงานเขตดูแลงานวัฒนธรรมในระดับชุมชนด้วย โครงสร้างดังกล่าวเป็นการวางเส้นสายการเชื่อมโยงการทำงานได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดการจัดวางตำแหน่งหน่วยงาน และการสนับสนุนอัตรากำลังในการดำเนินงาน ทำให้เข้าใจได้ถึงข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน โดยที่ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว มีกรอบอัตรากำลังทั้งสิ้น ๑,๑๓๐ อัตรา ประกอบด้วยตำแหน่งข้าราชการ ๖๒๒ อัตรา ลูกจ้างประจำ ๓๔๐ อัตรา และลูกจ้างชั่วคราว ๑๖๘ อัตรา เมื่อพิจารณาข้อมูลการจัดสรรอัตราในแต่ละหน่วยงานของสำนักฯ พบว่า กองวัฒนธรรมได้รับการจัดสรรอัตรากำลังข้าราชการเพียง ๑๙ อัตรา ซึ่งมีจำนวนเท่ากับกองนโยบายและแผนงาน และนับว่าเป็น ๒ หน่วยงาน ที่มีอัตรากำลังน้อยที่สุดของสำนักฯ
ด้วยภารกิจของกองวัฒนธรรมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรม ค่านิยม เอกลักษณ์-ความเป็นไทย และภูมิปัญญาท้องถิ่น การแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม การจัดให้มีแหล่ง เรียนรู้ทางวัฒนธรรมแก่ประชาชนในรูปแบบต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์เด็ก หอศิลป์ การส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาเครือข่ายการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมทุกระดับ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าจำนวนบุคลากรที่มีจำนวนจำกัด และเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลต่อประสิทธิภาพ และผลสัมฤทธิ์ของงานวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร จึงสมควรมีการทบทวนการสนับสนุนอัตรากำลังให้มีจำนวนเพียงพอต่อภาระงาน