พิธีทำบุญตักบาตรเทโว

วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2566
image

 วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2566 เวลา 07.00 น. 
นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรเทโว พระสงฆ์จำนวน 150 รูป โดยมีนายสมบูรณ์ หอมนาม ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว นายสิงห์ ลิ้มพิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักฯ นางสาวเยาวลักษณ์ พิมพะนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการและบุคลากรของกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรมตักบาตรเทโว ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ ราชวรมหาวิหาร

        ตักบาตรเทโว หมายถึงการทำบุญตักบาตร ปรารภเหตุที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก ในวันมหาปวารณา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และเสด็จถึงโลกมนุษย์ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ดังความเดิมว่า ในพรรษาที่ 7 นับแต่วันตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศน์โปรดพระพุทธมารดา ที่ได้กำเนิดเป็นเทพบุตรอยู่ในชั้นดุสิต (สวรรค์ชั้นที่ 4) โดยลงมาฟังธรรมที่ชั้นดาวดึงส์ (สวรรค์ชั้นที่ 2) จนบรรลุโสดาปัตติผล (สาเหตุที่พระศาสดาไม่เสด็จไปแสดงธรรมในชั้นดุสิต เพราะเทวดาที่อยู่ในชั้นดาวดึงส์ไม่สามารถขึ้นไปในชั้นดุสิตได้ ด้วยศักดานุภาพที่น้อยกว่า เพื่อให้โอกาสฟังธรรมแก่เทวดาเหล่านั้น) 

       ครั้นถึงวันมหาปวารณา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) จึงเสด็จลงจากเทวโลกที่เมืองสังกัสสนคร ในกาลที่เสด็จลงจากเทวโลก ได้ทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหารย์ หรือเปิดโลกทั้งสาม คือ สวรรค์ มนุษย์ นรก ให้เห็นกันและกันได้ ได้มีเนินเป็นอันเดียวกัน ตั้งแต่อเวจีนรกจนถึงพรหมโลก แลดูทิศใหญ่และทิศเฉียง จักรวาลหลายแสนก็มีเนินเป็นอันเดียวกัน เทวดาก็เห็นพวกมนุษย์ แม้พวกมนุษย์ก็เห็นเทวดา สัตว์นรกก็เห็นมนุษย์และเทวดา ต่างก็เห็นกันเฉพาะหน้าทีเดียว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเปล่งฉัพพรรณรังสี ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดังนั้น วันนี้(ขึ้น15ค่ำ เดือน11)จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า "วันพระเจ้าเปิดโลก"

       นอกจากนี้ การตักบาตรเทโวยังมีความแตกต่างจากการตักบาตรทั่วไป คือ มีพระสงฆ์จำนวนมากนำพระพุทธรูปเดินลงบันไดจากมณฑปพระพุทธบาท ลงมารับบิณฑบาตข้าวสารอาหารแห้งจากพุทธศาสนิกชนเสมือนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยอาหารที่นิยมตักในวันนั้นนอกจากข้าวและอาหารคาวหวานธรรมดาแล้วจะมี “ข้าวต้มลูกโยน” ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากการที่มีผู้คนจำนวนมากมารอใส่บาตรทำให้เข้าไม่ถึงพระ จึงนำข้าวมาปั้นโยนลงบาตร และทำให้การตักบาตรเทโวเสมือนเป็นการทำบุญใหญ่ของพุทธศาสนิกชนนับแต่นั้นมา