อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปประดิษฐานยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2567
image

วันศุกร์ที่ 14 เม.ย.67 เวลา 15.00 น. นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประกอบพิธีอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ลงจากมณฑปบริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ขึ้นรถบุปผชาติเพื่ออัญเชิญกลับไปประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยมี นายสิงห์ ลิ้มพิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว นางสาวเยาวลักษณ์ พิมพะนิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขต เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนร่วมในพิธี 
ตามตำนานเล่าสืบต่อกันถึงความศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์พระพุทธสิหิงค์ว่า “พระพุทธสิหิงค์เมื่อประทับอยู่ ณ ที่ใด ย่อมทรงทำให้ตามพระพุทธศาสนารุ่งเรืองดั่งดวงประทีปชัชวาล เหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่” กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐาน ณ มณฑปชั่วคราว ลานคนเมือง ตั้งแต่วันที่ 12 – 14 เมษายน 2567 เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาและสรงน้ำพระเพื่อความเป็นสิริมงคล ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และได้อัญเชิญกลับมายังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 
ต่อมาในเวลา 16.00น. นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีพราหมณ์และพิธีเวียนเทียนสมโภช ณ บริเวณลานหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พร้อมด้วยนางสาวศศิธร ประสิทธิ์พรอุดม สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพระนคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้องร่วมประกอบพิธี โดยมี พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ เป็นผู้ประกอบพิธีพราหมณ์และพิธีเวียนเทียนสมโภช จากนั้นจึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


ทั้งนี้ภายหลังการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ลงจากมณฑปบริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เพื่ออัญเชิญกลับไปประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ณ ลานคนเมือง ก็ยังคงมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย ในรูปแบบการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์และตำนานนางสงกรานต์ การสรงน้ำพระพุทธรูปประจำวันเกิด และรูปหล่อพระเกจิมงคลเพื่อความเป็นสิริมงคล ลานก่อเจดีย์ทราย การสาธิตทางวัฒนธรรม อาทิ เรียนรู้วิธีการนุ่งจีบชายพกแบบโบราณ ตามรอยแม่หญิงการะเกด การทำเครื่องประดับผม"ดอกจำปาทอง" การทำมาลัยและเครื่องแขวน พวงมโหตร การทำผ้าบาติก ประคบทองบนถุงผ้ากำมะหยี่ การทำของเล่นโบราณเดินกะลาและว่าวไทย เรียนรู้การทำเครื่องลงยาราชาวดี การออกร้านค้าของดี 50 เขต รวมถึงการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม อาทิ การแสดงบรรเลงพิณกลองบาว การแสดงหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ การแสดงแหย่ไข่มดแดง เพลงพวงมาลัย และเพลงรำวงสร้างสีสันและยกบรรยากาศงานวัดมาไว้ที่ลานคนเมือง การแสดงดนตรีไทย (ขิม) การแสดงจำอวดและวงดนตรีลูกทุ่ง ปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรีจากศิลปินลูกทุ่งชื่อดัง"ไรอัล กาจบัณฑิต" หรือ"ไรอัล..ไมค์หมดหนี้" ซึ่งประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถร่วมสนุกกับกิจกรรมดังกล่าวในวันที่ 14 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการจัดงาน ได้จนถึงเวลา 22.00 น.