งาน Press Conference "พร้อมแต่งงาน สู่วันสมรสอย่างเท่าเทียม"
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมแถลงข่าวและเสวนาในงาน Press Conference "พร้อมแต่งงาน สู่วันสมรสอย่างเท่าเทียม" โดยงานงานดังกล่าวจัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่ร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งถือเป็นสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมในประเทศไทย ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 20 กันยายน 2567 เวลา 11.00 น.
ภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "สมรสเท่าเทียม : การคุ้มครองกฎหมายไทย" โดย ศ.เกียรติคุณ วิทิิต มันตาภรณ์ โดยท่านได้กล่าวถึงประเด็นกฎหมายสมรสเท่าเทียม เช่น มีการแก้ไขประมวลแพ่งประมาณ 60 มาตรา โดยมีการปรับคำว่า สามี ภรรยา เป็นคำว่าคู่สมรสหรือคู่หมั้น ฯลฯ โดยกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการบังคับใช้หลังลงพระปรมาภิไธย และขอให้เพศสภาพไม่ขึ้นกับชีวภาพโดยมีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นเครื่องยืนยันแทน ทั้งนี้ท่านได้นำเสนอประเด็นอื่น ๆ ดังนี้
1. ต้องการการยืนยันรับรองอัตลักษณ์เพศสภาพโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด
2. กลุ่ม intersex ต้องได้รับการปกป้อง
3. ตัดการใช้คำนำหน้านามที่แบ่งเพศ
4. การปรับคำศัพท์ในกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบ่งบอกเพศ
5. มีการเจรจาสร้างความเข้าใจกับกลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มศาสนา กลุ่มธุรกิจ ฯลฯ
6. ร่วมกายและร่วมใจตั้งแต่ระดับครอบครัวถึงชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจและการไม่เลือกปฏิบัติ
นอกจากนี้ยังมีการเสวนาในหัวข้อ "เตรียมประเทศไทยสู่กฎหมายสมรสเท่าเทียม" โดยมีผู้เสวนาดังนี้
1. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
2. คุณนัยนา สุภาพึ่ง กรรมาธิการฯ พรบ.สมรสเท่าเทียม
3. คุณสรัญญา เจริญศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)
4. คุณธนายุทธ ฐากูรอรรถยา (คุณต๋อง) นักแสดงและนายแบบ
ดำเนินรายการเสวนาโดย คุณอรรณว์ (วาดดาว) ชุมาพร
คุณนัยนา สุภาพึ่ง กรรมาธิการฯ พรบ.สมรสเท่าเทียม ได้บรรยายโดยสรุปได้ดังนี้
เมื่อมีการจดทะเบียนสมรสหลังจากการมี พรบ.สมรสเท่าเทียมซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาครบ 120 วันแล้ว ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสถานะซึ่งต้องสร้างความตระหนักด้านความรับผิดชอบ เพราะเกิดสิทธิหน้าที่ต่อคู่สมรสทางกฎหมาย เช่น สินสมรส สถานะครอบครัว มรดก การให้คู่สมรสได้สัญชาติไทย การรับบุตรบุญธรรม ฯลฯ กรณีการรับบุตรบุญธรรมนั้น ต้องคำนึงเรื่องอายุที่ห่างจากบุตร 15 ปี และผู้มีความหลากหลายทางเพศพบปัญหาเรื่องการรับบุตรบุญธรรมร่วมกันซึ่งกฎหมายระบุสิทธิความเป็นผู้ปกครองเฉพาะผู้รับบุตรบุญธรรมเพียงผู้เดียว จึงส่งผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ นอกจากนี้ยังต้องผลักดันด้านการใช้คำเป็นกลางทางเพศในกฎหมายซึ่งอยู่ในกระบวนการการพิจารณาต่อไป
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสวนาเรื่องการเตรียมความพร้อมของกรุงเทพมหานครจากการมี พรบ. สมรสเท่าเทียม สรุปได้ดังนี้
กรุงเทพมหานครได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ และเคยมีกิจกรรมจดแจ้งคู่ชีวิต โดยในปี 2566 จากเพียง 3 สำนักงานเขต สู่ 50 สำนักงานเขต ในปี 2567 ซึ่งได้ทำการจดแจ้งคู่ชีวิตถึง 164 คู่ และสำนักงานเขตได้ออกใบจดแจ้งชีวิตคู่ให้ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้สร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่และบุคลากรของกรุงเทพมหานคร และในอนาคตจะมีการจัดอบรมในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ความพร้อมไม่ควรมีเฉพาะในหน่วยงานราชการแต่ต้องครอบคลุมถึงความเข้าใจในสังคมด้วย
นอกจากนี้ยังมีประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ปัญหาเรื่องความเข้าใจด้านทรงผมและการแต่งกายตามเพศสภาพในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยืนยันว่าสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานครมีความพร้อมในการรับจดทะเบียนสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ด้านปัญหากลุ่มคนไร้บ้าน กรุงเทพมหานครได้เตรียมจัดทำ Emergency Center ซึ่งจะช่วยเรื่องการจัดหางาน สาธารณสุข ฯลฯ มีการทำบ้านอิ่มใจร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่วนด้านการรองรับกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศจะร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ต่อไป
ด้านสถานศึกษา ในประเทศไทยยังขาดพื้นที่ปลอดภัยและขาดการดึงศักยภาพของเด็กและเยาวชน จึงต้องสร้างโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย และทำให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครดีขึ้น
คุณสรัญญา เจริญศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เสวนาเรื่องบทบาทของเอกชน สรุปได้ดังนี้
การจัดงาน Pride Month ที่ผ่านมา มีผู้ร่วมงานจำนวนมาก และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 4,500 ล้านบาท ทั้งนี้ภาคเอกชนมีความพร้อมเรื่องควาทเท่าเทียมทางเพศ และควรคำนึงถึงการสนับสนุนที่ครอบคลุมด้านจิตใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ในต่างประเทศเช่น ไต้หวัน มีกระตุ้นทางเศรษฐกิจโดยทำถนนสีรุ้งที่คนนิยมไปถ่ายภาพ ส่วนในประเทศไทย เช่น ศูนย์การค้า MBK ได้เปิดรับคนทุกชาติและคนทุกเพศ สนับสนุนพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าเป็นพื้นที่สร้างสรรค์
คุณธนายุทธ ฐากูรอรรถยา (คุณต๋อง) นักแสดงและนายแบบ กล่าวถึงบทบาทด้านบันเทิง สรุปได้ดังนี้
อุตสาหกรรมบันเทิงคือเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศสู่สังคม นอกจากนี้ประเทศไทยมีเยาวชนที่เป็นนักเขียนจำนวนมาก ซึ่งควรมีการพัฒนาสู่การสร้างบทในซีรีย์เพื่อสร้างภาพความเข้าใจและความเท่าเทียมทางเพศสู่สังคม
ในงานนี้ นายนฤพล ชูนุช นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ กลุ่มงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ส่วนวัฒนธรรม ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมงานด้วย