21
ต.ค. 2564

วันออกพรรษา

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564
image

วันออกพรรษา

ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑

 

         วันขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๑๑ เป็นวันออกพรรษา มีความสำคัญทางพุทธศาสนาด้วยเป็นวันครบกำหนดการจำพรรษาตลอดฤดูฝนครบ ๓ เดือนของพระภิกษุสงฆ์ นับตั้งแต่อธิษฐานจำพรรษาเมื่อวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ 

        ในวันออกพรรษา พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว ต้องประกอบพิธีปวารณาหรือมหาปวารณาในอุโบสถแทนการทำอุโบสถกรรมหรือสวดพระปาติโมกข์ ซึ่งตามปกติจะต้องสวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกวันอุโบสถหรือวันขึ้น ๑๕ ค่ำของทุกเดือน วันออกพรรษาจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันปวารณา หรือวันมหาปวารณา 

        ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ คำว่า ปวารณา มี ๒ ความหมาย นัยแรกหมายถึง การยอมให้ภิกษุสามเณร ขอหรือเรียกร้องเอาได้ ส่วนอีกนัยหนึ่ง เป็นพิธีกรรมทางศาสนายอมให้สงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนกันได้  ทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษา พิธีปวารณาของสงฆ์ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ตักเตือนกันในเรื่องความประพฤติเสื่อมเสียโดยปราศจากอคติใด ๆ ไม่ว่าจะโดยการได้เห็น ได้ยินมาด้วยตนเอง และคิดระแวงสงสัย ก่อนที่พระภิกษุสงฆ์จะเดินทางไปจาริกแสวงบุญและประกอบกิจสงฆ์ยังที่ต่าง ๆ เพราะเมื่อพระภิกษุสงฆ์อยู่ร่วมกันนาน ๆ ย่อมเห็นความผิด ข้อบกพร่องของกันและกัน ทั้งนี้พระสงฆ์ทั้งหลายต้องกล่าวปวารณาด้วยความปรารถนาดี มีเมตตาทั้งกาย วาจา และใจ พร้อมกันนั้นก็ต้องมีใจกว้าง มองเห็นคำปวารณาหรือข้อตักเตือนนั้นเป็นขุมทรัพย์เพื่อความบริสุทธิ์ในศีล และความสามัคคีกันระหว่างหมู่พระภิกษุสงฆ์

         มูลเหตุแห่งพิธีปวารณานี้ ตามพุทธประวัติเล่าว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล พระสงฆ์สาวกก็แยกย้ายเข้าจำพรรษาที่วัดต่าง ๆ ในแคว้นโกศล และเพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาทในหมู่สงฆ์จึงตกลงกันว่าจะไม่พูดกัน และต่างประกอบสมณกิจของตนไปตามหน้าที่จนครบพรรษา เมื่อออกจากพรรษาแล้ว จึงได้เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมืองสาวัตถีและกราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบทุกประการ พระพุทธเจ้าจึงทรงตำหนิความประพฤติดังกล่าวนั้นว่าเปรียบเหมือนเหล่าปศุสัตว์ คืออยู่ร่วมกันแต่ไม่สนใจไต่ถามทุกข์สุขของกันและกัน แล้วตรัสว่าห้ามปฏิบัติเช่นนี้อีก ไม่เช่นนั้นต้องถูกปรับโทษเป็นอาบัติ จากนั้นทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ที่จำพรรษาครบ ๓ เดือนปวารณาแก่กัน คือว่ากล่าวโทษข้อผิดพลาดของกันและกันได้โดยปราศจากทิฐิ

        พิธีปวารณาประกอบขึ้นภายในอุโบสถตามประเพณีกำหนดให้พระสงฆ์กล่าวคำปวารณารูปละ ๓ ครั้ง ถ้ามีเหตุขัดข้องก็อาจจะกล่าวเพียง ๒ หรือ ๑ ครั้งได้ เริ่มขึ้นโดยพระสงฆ์รูปที่มีพรรษามากที่สุดในที่ประชุมกล่าวคำปวารณามีใจความว่า

          "ข้าพเจ้าขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นเองก็ดี ด้วยได้ฟังมาก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวข้าพเจ้าเมื่อข้าพเจ้าเห็นโทษนั้น จักทำการแก้ตัวเสีย"

          จากนั้นพระสงฆ์รูปอื่น ๆ ก็กล่าวคำปวารณาจากรูปที่ครองพรรษามากก่อน แล้วค่อยไล่ลำดับลดหลั่นกันไป ส่วนรูปที่มีพรรษาเท่ากันจะกล่าวพร้อมกัน 

          นอกจากพิธีปวารณาอันเป็นประเพณีของสงฆ์แล้ว พุทธศาสนิกชนทั้งหลายก็ประกอบงานบุญงานกุศลในช่วงเทศกาลออกพรรษาด้วยเช่นกัน ซึ่งนอกเหนือจากการทำบุญตักบาตร ถือศีลและฟังเทศน์ตามที่ปฏิบัติ

ในวันพระ หรือวันสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นปกติแล้ว ยังมีการบำเพ็ญกุศลที่กำหนดจัดขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะเทศกาลออกพรรษา นั่นคือการตักบาตรเทโว

          การตักบาตรเทโว นิยมทำกันในวันถัดจากวันออกพรรษา ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน๑๑ มาจากคำว่า เทโวโรหนะ แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก เพราะตามพุทธประวัติเชื่อกันว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจาก

เทวโลก (สวรรค์) หลังจากเสด็จขึ้นไปแสดงธรรมโปรดพระมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การตักบาตรดาวดึงส์ และเรียกวันที่ทำพิธีตักบาตรนี้ว่า วันเทโว หรือวันพระเจ้าเปิดโลก เพราะเชื่อว่าในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากเทวโลกนี้ โลกทั้ง๓ คือ เทวโลก มนุษยโลก และนรกภูมิ ได้เปิดออกให้สามารถมองเห็นกันได้

        ที่มาของประเพณีตักบาตรเทโว มีเรื่องเล่าตามพุทธประวัติว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ได้รำลึกถึงพระพุทธมารดาซึ่งเสวยสุขอยู่ในแดนสวรรค์ชั้นดุสิต พอจวนถึงวันเข้าพรรษาวันที่ ๗ พระองค์จึงทรงทำปาฏิหาริย์เสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ฝ่ายพระพุทธมารดาเมื่อทราบก็เสด็จ

มาเป็นประธานในท่ามกลางเทวดา ณ ดาวดึงส์สวรรค์ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมตลอด ๓เดือน เมื่อถึงวันออกพรรษา จึงเสด็จลงจากเทวโลก กลับมายังโลกมนุษย์ ณ เมืองสังกัสสะ ทั้งเทวดาและพุทธศาสนิกชนจึงพากันไปคอยรับเสด็จกันเนืองแน่น

          ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าการทำบุญตักบาตรเทโว กำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก รูปแบบพิธีจึงเป็นการจำลองเหตุการณ์ตามตำนาน กล่าวคือ เป็นการอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบกซึ่งตั้งอยู่บนล้อเลื่อน หน้าองค์พระพุทธรูปมีบาตรเดินตามบุษบกไป พุทธศาสนิกชนที่รออยู่ริมทางที่บุษบกเคลื่อนผ่านก็นำอาหารคาวหวานและอาหารแห้งมาใส่บาตร มีข้าวต้มลูกโยนเป็นขนมประจำพิธี ซึ่งมีมูลเหตุสืบเนื่องจากตำนานเกี่ยวกับการเสด็จลงจากเทวโลกของพระพุทธเจ้าดังที่ได้กล่าวถึงในตอนต้นว่า ในครั้งนั้นมีทั้งเทวดาและพุทธศาสนิกชนมาเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก ผู้ที่เข้าไปไม่ถึงพระพุทธเจ้าจึงต้องตักบาตรด้วยวิธีการโยน แต่ด้วยพุทธปาฏิหาริย์อาหารที่โยนนั้นก็ตกลงในบาตรของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น จึงเป็นธรรมเนียมการทำข้าวต้มลูกโยนตักบาตรถวายพระสงฆ์ดังเช่นในปัจจุบัน

             นอกจากการตักบาตรเทโวในภาคกลางแล้ว พื้นที่อื่น ๆ ของไทยก็มีการทำบุญเนื่องใน เทศกาลออกพรรษาเช่นกัน เพราะเป็นช่วงที่ผู้คนว่างจากการทำนา และโอกาสที่พระภิกษุ สงฆ์จะอยู่จำวัดโดยพร้อมเพรียงกันหลังจากนี้ก็มีได้ยาก แต่ละท้องถิ่นจึงกำหนดงานบุญขึ้นเป็นพิเศษ อาทิ ประเพณีชักพระทางภาคใต้ ประเพณีแห่ปราสาทผึ้งทางภาคอีสาน และประเพณีจองพาราของชาวไทยใหญ่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น