เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ณ สาธารณรัฐเกาหลี

วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2567
image

    วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) นางสาวรุจิรา อารินทร์ รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว หัวหน้าคณะเดินทาง เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ณ สาธารณรัฐเกาหลี นำคณะเดินทางฯ เข้าพบหารือกับ นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ณ สถานอัครราชทูตไทย แดซากวานโร ยงซานกู กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

    รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ได้กล่าวถึงภารกิจของคณะเดินทางฯ ซึ่งได้ทำการแสดงดนตรีร่วมสมัยที่เกาะนามิ ในวันที่ 29 - 30 มิถุนายน 2567 ซึ่งประสบความสำเร็จ ได้รับความสนใจจากประชาชนชาวเกาหลีและนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งนี้เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ได้หารือถึงการจัดงานสวัสดีโซล ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตได้ร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ททท. ฯลฯ จัดกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยทั้งในแบบอนุรักษ์และร่วมสมัย ในวันที่ 5 - 6 ตุลาคม 2567 บริเวณคลองชองกเยชอน และได้เรียนเชิญกรุงเทพมหานครร่วมส่งการแสดงและออกร้านผลิตภัณฑ์ของดีกรุงเทพฯ ในงานดังกล่าว

    นอกจากด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมแล้ว เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ได้หารือเรื่องความร่วมมือด้านต่าง ๆ เช่น การจัดการและการพัฒนาด้านการแพทย์ของเมือง ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดให้มี Motorlance หรือรถจักรยานยนต์กู้ชีพฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้รวดเร็ว ลดปัญหาจากการจราจรติดขัดและพื้นที่แออัดหรือพื้นที่ที่รถพยาบาลฉุกเฉินไม่สามารถเข้าไปได้ โดยเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปปฐมพยาบาล มีเครื่องมือ และติดตั้งกล้องซึ่งแพทย์สามารถให้คำแนะนำผ่านกล้องได้

    ด้านการพัฒนาเมือง เช่น การพัฒนาคลองชองกเยชอนในกรุงโซล ซึ่งได้รับการปรับปรุง มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการบำบัดน้ำ ซึ่งในกรุงเทพมหานครมีคลองที่ได้รับการพัฒนาเช่นเดียวกัน อาทิ คลองโอ่งอ่างและคลองช่องนนทรี แต่ปัญหาการพัฒนาคลองในกรุงเทพมหานครต้องร่วมมือกันในหลายภาคส่วนเพราะบางส่วนอยู่นอกเหนืออำนาจของกรุงเทพมหานคร เช่น บางพื้นที่กระทบโบราณสถานจึงต้องร่วมมือกับกรมศิลปากร เป็นต้น การพัฒนาเมืองโดยใช้ระบบอินเทอร์เน็ต smart city ของกรุงโซลซึ่งช่วยแจ้งเตือนประชาชนกรณีมีเหตุด่วนหรือเหตุร้ายซึ่งกรุงเทพมหานครได้ใช้ระบบ traffy fondue ในการบริหารจัดการปัญหาต่าง ๆ ของประชาชน ตลอดจนการหารือด้านความมีชีวิตชีวาของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีการสัญจรทางน้ำ มีชุมชน ศาสนสถาน โบราณสถาน ซึ่งบรรยากาศต่างจากแม่น้ำของสาธารณรัฐเกาหลี การสร้าง City Branding และการส่งเสริมอาชีพของไทยเช่นการนวดไทยในเกาหลีใต้

…ขอขอบคุณภาพ/ข่าว : ส่วนวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว