กรุงเทพมหานคร ยินดีจับมือจังหวัดน่าน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก

วันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2566
image

วันที่ 8 มิ.ย. 66  ณ ห้องอัมรินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร: นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายมานะ วิมุตติไชย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและฟื้นฟูเมือง สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง และผู้เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายกฤษเพชร เพชรบูณณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายนพรัตน์ ถาวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน (อบจ.น่าน) และคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือความร่วมมือภายใต้เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network - UCCNระหว่างกรุงเทพมหานคร เมืองแห่งการออกแบบ (City of Design) และจังหวัดน่าน เมืองหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Arts) พร้อมทั้งรับฟังนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ของกรุงเทพมหานคร โดยการนำองค์ความรู้ ประสบการณ์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการบริหารจัดการเมือง  ผสานกับความคิดสร้างสรรค์และความร่วมมือของทุกภาคส่วนของเมือง รวมถึงความร่วมมือระหว่างเมืองในการขับเคลื่อนกิจกรรมและโครงการร่วมกันในอนาคต

          ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวว่า ยินดีให้การสนับสนุนความร่วมมือในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างเมืองในมิติทางด้านศิลปวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือลานคนเมือง การใช้ดนตรีกระตุ้นกิจกรรมสร้างสรรค์ของย่าน การขอเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดงานระดับนานาชาติ เช่น กรุงเทพมหานคร-ชลบุรี-สงขลา ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดซีเกมส์ 2025 การจัดเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ (Biennale) การแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำข้อมูลดัชนีเมืองสร้างสรรค์ (Creative City Idex) การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเมืองและนานาชาติ ตลอดจนทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสองเมือง เป็นต้น ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า จังหวัดน่าน มีแนวคิดในการพัฒนาเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Arts) มีแม่น้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำน่าน ที่เอื้อให้เกิดวิถีชีวิตชุมชนเกษตรกรรมและอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่มีความโดดเด่นจนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน งานหัตถกรรมพื้นบ้าน ได้แก่ ผ้าทอ เรือพญานาค (เรือแข่งน่าน) จักสาน กระดาษ และฉลุ เครื่องปั้นดินเผา และงานโลหะ และงานพุทธศิลป์ เป็นต้น โดยจังหวัดน่านมีการจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรม การสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชน การเพิ่มมูลค่าจากสินทรัพย์ของท้องถิ่น BCG Model และการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์นั้น จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การ UNESCO