ภัยใกล้ตัวโรคนอนไม่หลับ

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
image
     
       อาการนอนไม่หลับหรือหลับลำบาก หรือหลับไม่สนิท (เรียกว่าโรคนอนไม่หลับ) ถ้าคุณประสบปัญหาจากโรคนอนไม่หลับ คุณจะรู้ว่าการนอนไม่หลับจะมีผลกระทบกับคุณในช่วงกลางวัน และกลางคืน ทำให้คุณรู้สึกอ่อนเพลียในระหว่างวัน และเป็นสาเหตุให้มีปัญหาในการทำงาน
การรักษาโรคนอนไม่หลับต้องอาศัยทั้งคุณและแพทย์ร่วมมือกันเพื่อหาสาเหตุและผลกระทบของปัญหานี้  ผู้ป่วยหลายรายที่เป็นโรคนอนไม่หลับเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ปัจจัยเหล่านี้อาจรวมถึงการที่คุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับการนอนหลับ สุขอนามัยของการนอนหลับ ผู้ป่วยบางรายอาจมีโรคทางกาย หรือโรคทางจิตใจที่เป็นสาเหตุของโรคไม่นอนหลับ
 
โรคนอนไม่หลับมีกี่ชนิด
โรคนอนไม่หลับเกิดขึ้นได้ในประชากรทุกช่วงอายุ คนส่วนมากจะมีอาการนอนไม่หลับ 1 หรือ 2 คืน แต่บางครั้งอาจเกิดขึ้นนานเป็นสัปดาห์ เดือน หรือ ปี โรคนอนไม่หลับมักเป็นในผู้หญิงและผู้สูงอายุ

Adjustment Insomnia (โรคนอนไม่หลับจากปัญหาการปรับตัว)
      เป็นปัญหาหลับได้ยาก หรือ หลับไม่สนิท เป็นเวลาไม่กี่คืน และน้อยกว่า 3 เดือน โรคนอนไม่หลับชนิดนี้มักเกิดจากความตื่นเต้นหรือความเครียด  ยกตัวอย่างในเด็กอาจนอพลิกตัวในคืนก่อนที่โรงเรียนจะเปิดเทอม โรคนอนไม่หลับอาจเกิดในคืนก่อนการสอบสำคัญหรือก่อนการแข่งขันกีฬา ผู้ใหญ่มักหลับได้ไม่ดีก่อนการพบปะทางธุรกิจที่สำคัญหรือการทะเลาะกันของสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท คนส่วนมากมักมีปัญหานอนไม่หลับเมื่อต้องห่างจากบ้าน การเดินทางไปในที่เวลาต่างจากเดิม การออกกำลังกายก่อนเวลาเข้านอน (ภายใน 4 ชั่วโมง) หรือเวลาเจ็บป่วยก็เป็นสาเหตุของโรคนอนไม่หลับชนิดนี้ เมื่อสถานการณ์ความตึงเครียดผ่อนคลาย หรือปรับการนอนหลับได้ การนอนหลับก็จะกลับมาเป็นปกติ
  
Chronic insomnia (โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง)
      นอนไม่หลับนานมากกว่า 1 เดือน คนที่นอนไม่หลับส่วนมากมักจะกังวลกับการนอนหลับของตน แต่นั่นเป็นสิ่งผิดที่จะโทษปัญหาการนอนหลับทั้งหมดว่าเกี่ยวกับความกังวล การศึกษาของ American Academy of Sleep Medicine กล่าวไว้ว่าผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ หรือ การทำงานของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติในระหว่างนอนหลับ ผู้เชี่ยวชาญโรคจากการนอนหลับจะสามารถช่วยหาสาเหตุและแนะนำการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้
 
 
อะไรคือสาเหตุของโรคนอนไม่หลับ
      โรคนอนไม่หลับอาจเป็นอาการของปัญหาอื่น เช่น การมีไข้ หรือ ปวดท้อง หรืออาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน
- ปัจจัยทางด้านจิตใจ   แนวโน้มที่จะนอนไม่หลับ  บางคนซึ่งมักเป็นส่วนใหญ่ที่จะนอนไม่หลับในเวลาที่มีความเครียด บางคนมีการตอบสนองต่อความเครียดเช่นมีอาการปวดศีรษะหรือปวดท้อง  ความเครียดเรื้อรังปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ เด็กที่มีความเจ็บป่วยรุนแรง หรืองานที่ได้ผลกำไรน้อย ล้วนก่อให้เกิดปัญหาการนอนหลับ การเรียนรู้ที่จะจัดการกับความเครียดจะช่วยรักษาโรคนอนไม่หลับได้
          โรคนอนไม่หลับปฐมภูมิ (Primary insomnia หรือ Psychophysiological insomnia) ถ้าคุณนอนหลับได้ไม่ดีในช่วงที่คุณมีความเครียด คุณอาจเป็นกังวลว่าจะไม่สามารถทำงานในช่วงกลางวันได้ คุณจึงคิดว่าต้องพยายามอย่างมากให้ตัวเองนอนหลับในเวลากลางคืน ซึ่งมันจะยิ่งทำให้นอนหลับได้ยากขึ้น หลังจากนั้นไม่กี่คืน เมื่อใกล้เวลาเข้านอนคุณจะยิ่งกังวลเกี่ยวกับการนอนมากขึ้น การรักษาจะต้องมีทั้งไม่เรียนรู้ที่จะครุ่นคิดถึงการนอนหลับที่ไม่ดี และเรียนรู้ลักษณะนิสัยการนอนหลับใหม่
  
- ชีวิตประจำวัน  สารกระตุ้นคาเฟอีนทำให้รู้สึกตื่น ถ้าคุณดื่มกาแฟช่วงเย็นการนอนหลับของคุณอาจแย่ลง มันอาจทำให้คุณนอนไม่หลับ สารนิโคตินจะทำให้คุณตื่นเช่นเดียวกัน คนที่สูบบุหรี่อาจจะนอนหลับได้ยากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ ยาหลายชนิดที่มีสารกระตุ้น รวมถึงยาลดน้ำหนัก ยาแก้แพ้ และยาแก้หอบหืด ยาลดน้ำมูกบางชนิดก็มีสารกระตุ้นผสมอยู่ด้วย แอลกอฮอลคุณอาจคิดว่าการจิบไวน์สักแก้วก่อนนอนจะช่วยให้คุณนอนหลับ แม้แอลกอฮอลอาจทำให้คุณหลับได้เร็ว แต่จะทำให้คุณตื่นขึ้นมาเป็นพักๆตลอดทั้งคืน
ชั่วโมงทำงานถ้าคุณทำงานเป็นกะคุณมักจะมีปัญหาการนอนหลับ รวมถึงคนที่เปลี่ยนเวลาทำงาน เช่น คนที่ทำงานตอนกลางคืนหรือใกล้เช้า พยายามรักษาตารางเวลาให้เหมือนเดิมในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ จะช่วยให้ระบบร่างกายของคุณนอนเป็นเวลาแน่นอนและยังคงตื่นได้ การตื่นในเวลาเดิมทุกๆเช้าเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้รูปแบบการนอนสม่ำเสมอ การทำให้เป็นกิจวัตรเป็นสิ่งสำคัญ 
การออกกำลังกายคุณอาจคิดว่าการพักผ่อนและการมีกิจวัตรประจำวันที่ราบเรียบจะช่วยป้องกันโรคนอนไม่หลับ ในความเป็นจริงคนที่ออกกำลังเพียงเล็กน้อยหรือไม่ออกกำลังกายเลยนั้นมักจะหลับยาก การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น เวลาที่ดีที่สุดในการออกกำลังกายคือช่วงบ่ายประมาณ 4 ชั่วโมงก่อนการเข้านอน ไม่ควรออกกำลังกายใกล้เวลาเข้านอน ควรเว้นอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอนเพื่อให้จังหวะการเต้นของหัวใจช้าลงและอุณหภูมิร่างกายลดลง ยานอนหลับควรใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์ ยานอนหลับบางชนิดจะหมดฤทธิ์ยาหลังจากไม่กี่สัปดาห์ถ้ารับประทานยาทุกคืน ถ้าคุณหยุดยาทันที การนอนหลับของคุณจะแย่ลงชั่วคราว ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยการค่อยๆลดขนาดยาลงอย่างช้าๆ  การศึกษาพบว่าหลังจากค่อยๆหยุดใช้ยานอนหลับ การนอนหลับอาจจะไม่แย่ลงไปกว่าคนที่ใช้ยานอนหลับ
 
-ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม(Environment Factors)   เสียงรบกวน  ทำห้องนอนให้เงียบที่สุดเท่าที่จะทำได้ เสียงจากการจราจร เครื่องบิน โทรทัศน์ และเสียงอื่นๆ สามารถรบกวนการนอนหลับของคุณ แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้คุณตื่นก็ตาม บางทีการเปิดอุปกรณ์ เช่นพัดลม ให้มีเสียงดังต่อเนื่อง เพื่อกลบเสียงที่อาจดังขึ้นมารบกวนระหว่างคืนอาจทำให้การหลับดีขึ้ น (White noise)  แสงสว่างใช้ผ้าม่านบังแสงหรือสีเข้มเพื่อทำให้ห้องนอนของคุณไม่สว่างเกินไป แสงสว่างจะผ่านเปลือกตาของคุณแม้ว่าเปลือกตาของคุณจะปิดอยู่ก็ตาม แสงสว่างจะรบกวนการนอนหลับของคุณ
  
- ความเจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจ(Physical/Psychiatric Illness)   มีโรคทางกายหลายชนิดที่รบกวนการนอนหลับและทำให้มีอาการนอนไม่หลับได้ ปัญหาทางด้านจิตใจ โรคจากการนอนหลับชนิดอื่นๆ และความเจ็บป่วย อาจทำให้การนอนหลับเปลี่ยนไป ซึ่งง่ายที่จะวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับผิดพลาดได้ การรักษาความเจ็บป่วยนั้นอาจจะรักษาอาการนอนไม่หลับด้วย
  
- ปัญหาทางด้านจิตใจ (Psychiatric problems)โรคนอนไม่หลับชนิดหนึ่ง การตื่นนอนเร็วกว่าปกติ (Early morning awakening)  เป็นอาการหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ถ้าคุณมีโรคทางด้านจิตใจคุณอาจจะนอนหลับได้ไม่ดี การรักษาโรคประจำตัวนั้นจะสามารถช่วยทำให้การนอนหลับของคุณดีขึ้น ยาบางชนิดใช้เพื่อรักษาการเจ็บป่วยทางจิตใจอาจเป็นสาเหตุให้นอนไม่หลับ
โรคการหายใจที่ผิดปกติขณะหลับ (Sleep Related Breathing Disorders) เช่น ผู้ป่วยภาวะหยุดหายในจขณะหลับจากการอุดกั้นจะตื่นขึ้นมาหลายครั้งหรืออาจเป็นหลายร้อยครั้งในหนึ่งคืน เวลาที่หยุดหายใจจะเป็นช่วงสั้นประมาณ 10 วินาที ผู้ป่วยส่วนมากจะจำไม่ได้และหายใจเป็นปกติเมื่อตื่นนอน การตรวจการนอนหลับเพื่อวินิจฉัยภาวะหยุดหายในจขณะหลับจากการอุดกั้นโรคจากการนอนหลับที่สัมพันธ์กับการหายใจที่ผิดปกติมักพบในเพศชาย ผู้ที่มีน้ำหนักมาก และผู้สูงอายุ ผู้ป่วยภาวะหยุดหายในจขณะหลับจากการอุดกั้นมักจะได้ผลจากการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (PAP) การรักษานี้จะช่วยให้ทางเดินหายใจเปิดด้วยแรงดันต่อเนื่องของอากาศไหลผ่านหน้ากากที่สวมเข้ากับจมูกของผู้ป่วยในขณะหลับ
- ความผิดปกติของขากระตุกเป็นช่วงๆขณะหลับ (Periodic Limb Movements) ขากระตุกเป็นช่วงๆคือการที่กล้ามเนื้อมีการหดตัวเป็นระยะๆ การหดตัวของกล้ามเนื้อจะทำให้ขากระตุกเป็นเวลา 1-2 วินาทีการหดตัวนี้จะเกิดขึ้นเป็นช่วงๆทุก 30 วินาทีหรือเป็นชั่วโมงหรืออาจนานกว่านั้น บางคนอาจมีขากระตุกเกิดขึ้นหลายๆช่วงทุกคืน การเคลื่อนไหวของขานี้ทำให้รบกวนการนอนหลับได้หลายร้อยครั้งในแต่ละคืน เป็นผลให้นอนกระสับกระส่าย ความผิดปกติของขากระตุกเป็นช่วงๆจะเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น การรักษามีทั้งการรักษาด้วยยา การรับประทานธาตุเหล็กเสริม ถ้าคุณมีระดับธาตุเหล็กในเลือดต่ำเป็นต้น โดยพบว่าการรักษาอาจช่วยได้อาการดีขึ้น
- โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux) ในขณะนอนหลับสิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหารอาจไหลย้อนขึ้นมาสู่ลำคอได้ ซึ่งทำให้ตื่นขึ้นมาหลายครั้งระหว่างกลางคืนได้ อาการที่พบบ่อยคือแสบร้อนบริเวณหน้าอก เพราะความเจ็บและความจุกแน่นเกิดขึ้นบริเวณกลางหน้าอก เมื่อกรดไหลย้อนเกิดขึ้นระหว่างวัน การกลืนและอยู่ในท่าตัวตรงมักจะแก้ปัญหานี้ได้ ในช่วงกลางคืนการกลืนจะลดลงและอยู่ในท่านอนจึงทำให้เกิดกรดไหลย้อนง่ายขึ้น ทำให้ตื่นขึ้นมาไอหรือสำลักได้บ่อยครั้ง ถ้าคุณมีปัญหานี้ พยายามนอนหนุนหมอนสูง ทำให้ศีรษะของคุณสูงขึ้นจากเตียงประมาณ 6-8 นิ้ว การรักษาด้วยยาก็สามารถรักษากรดไหลย้อนได้
 
เมื่อไรที่ควรจะขอความช่วยเหลือ ?
       ถ้าการนอนหลับของคุณถูกรบกวนมานานกว่า 1 เดือน และมีผลกระทบต่ออารมณ์และการทำงานของคุณในเวลากลางวัน คุณควรพบแพทย์หรือหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจากการนอนหลับ ประวัติความเจ็บป่วย การตรวจร่างกาย และการตรวจเลือดบางอย่าง อาจช่วยในการหาสาเหตุของโรคนอนไม่หลับได้ คู่นอนของคุณหรือสมาชิกในครอบครัวอาจช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนอนหลับของคุณได้ เช่น การนอนกรน หรือ นอนกระสับกระส่าย นอกจากนี้แพทย์ยังต้องการทราบว่าการนอนไม่หลับทำให้คุณง่วงหรือซึมเศร้า หรือมีผลต่อชีวิตคุณในแง่อื่นๆอย่างไร
       บางครั้งการนอนไม่หลับสามารถช่วยได้จากการให้ความรู้และข้อมูล บางคนโดยธรรมชาติการนอนหลับน้อยกว่าคนอื่นๆ และต้องเลิกคิดว่าทุกคนต้องการนอนหลับ 8 ชั่วโมงเท่านั้น การรับคำปรึกษาสามารถช่วยได้เมื่อเป็นโรคนอนไม่หลับที่เกิดจากสุขลักษณะการนอนที่ผิด ในบางรายอาจแนะนำการรักษาด้วยยาหรือการประเมินอาการที่ศูนย์รักษาโรคจากการนอนหลับ
       ถ้าคุณต้องเข้ารับการตรวจที่ศูนย์รักษาโรคจากการนอนหลับ คุณจะได้ทำบันทึกเกี่ยวกับการนอนหลับ (Sleep diary) ซึ่งแสดงถึงลักษณะการหลับและการตื่นเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์
  
ยานอนหลับช่วยได้หรือไม่ ?
       ยานอนหลับสามารถช่วยให้คุณนอนหลับและรู้สึกกระปรี้กระเปร่าในวันถัดไป แต่อย่างไรก็ตามบางครั้งยานอนหลับอาจปิดบังอาการบางอย่างที่เกิดจากโรคอื่นๆได้ เช่น ยานอนหลับอาจช่วยให้อาการบางอย่างของภาวะหยุดหายในจขณะหลับจากการอุดกั้นดีขึ้นได้ชั่วคราว เช่นทำให้การตื่นระหว่างคืนน้อยลง โดยทั่วไปโรคนอนไม่หลับต้องได้รับการวินิจฉัยทีเหมาะสมและการวิเคราะห์แนวทางการรักษาต่างๆจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนได้รับการรักษาด้วยการรับประทานยา  ยานอนหลับมีหลากหลายชนิด รวมถึงยาบางชนิดที่คุณสามารถซื้อหามาได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ยาแต่ละชนิดก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่น ยาบางชนิดออกฤทธิ์ระยะสั้น และออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดเมื่อคุณเริ่มนอนหลับ บางชนิดออกฤทธิ์ระยะยาว และออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดเพื่อให้คุณนอนหลับได้ตลอดทั้งคืน การปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาว่ายานอนหลับชนิดใดเหมาะสมกับคุณที่สุด
ยานอนหลับสามารถใช้รักษาในภาวะต่างๆดังต่อไปนี้ 
Jet lag (การเดินทางข้ามเขตเวลาโลก) โดยพบว่าจะกระตุ้นให้เกิดอาการนอนไม่หลับและง่วงเพลียระหว่างวัน อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ในการปรับตัวกับการเดินทางข้ามเขตเวลา การใช้ยานอนหลับเพื่อช่วยให้คุณหลับขณะอยู่บนเครื่องบินในระหว่างที่เดินทางช่วงกลางคืนจะช่วยให้การนอนหลับดีขึ้นและลดอาการง่วงเพลียระหว่างวันได้
Shift work(การทำงานเป็นผลัด) คนที่ทำงานเป็นผลัดบางครั้งอาจต้องใช้ยานอนหลับเพื่อช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้นและยังคงหลับได้อีก1-3 คืนในระหว่างทำงานเปลี่ยนกะ อาจลดอาการง่วงนอนในระหว่างวัน และในการปรับตัวเมื่อเป็นตารางการทำงานใหม่
Acute stress (ความเครียด) ยานอนหลับจะช่วยป้องกันปัญหาการนอนหลับระยะยาวได้ โดยช่วยในคนที่มีอาการนอนไม่หลับบ่อยๆที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาที่เกิดความเครียดได้
Predictable stress (ความเครียดที่สามารถคาดเดาได้) บางคนอาจนอนพลิกตัวไปมาในคืนก่อนการประชุมการขายประจำเดือน หรือก่อนการกล่าวสุนทรพจน์ อาจทำให้สงบได้ถ้าใช้ยานอนหลับในช่วงเวลานี้
Chronic insomnia (นอนไม่หลับเรื้อรัง) การมียานอนหลับไว้ในมือ จะช่วยผู้ที่นอนไม่หลับให้ผ่านช่วงเวลาที่มีอาการและลดความวิตกกังวลซึ่งเกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาที่นอนไม่หลับได้ ข้อสำคัญควรรู้ว่ายานอนหลับส่วนมากจะออกฤทธิ์ดีที่สุดเมื่อใช้ยาน้อยกว่า 3 สัปดาห์
  
การรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavioral treatment)
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 4 ข้อที่ดีสำหรับโรคนอนไม่หลับ 
Sleep restriction (จำกัดการนอน): คนนอนไม่หลับมักจะอยู่บนเตียงเป็นเวลานานเพื่อหวังว่าจะนอนหลับได้นาน นำมาซึ่งการใช้เวลาอย่างมากในการอยู่บนเตียงเพื่อให้นอนหลับได้เป็นระยะเวลานาน พบว่าการนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานานจะทำลายการนอนหลับ และเพิ่มความวิตกกังวล การจำกัดการนอนจะลดเวลาที่ใช้บนเตียงและช่วยให้การหลับมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
Stimulus control (ควบคุมสิ่งเร้า): การควบคุมสิ่งเร้าเพื่อทำให้ห้องนอนมีแรงจูงใจให้นอนหลับ บางครั้งห้องนอนกลายเป็นสถานที่ทำอย่างอื่น เช่น ทำงานและคิดกังวลเรื่องอื่น กิจกรรมและความคิดเหล่านี้มักจะทำให้นอนไม่หลับได้ เมื่อถึงเวลานอนแล้วการทำกิจกรรมเหล่านี้ในห้องนอนของคุณจะทำให้คุณตื่น วิธีการควบคุมสิ่งกระตุ้นลดกิจกรรมในห้องนอนที่ทำให้ตื่น รวมถึงการนอนบนเตียงในขณะที่ยังไม่ง่วง การทำตามนี้จะช่วยทำให้โอกาสที่หลับได้เร็วขึ้น
Relaxation therapy (การบำบัดด้วยการผ่อนคลาย): เป็นกิจกรรมที่พยายามทำให้รู้สึกผ่อนคลายลง รวมถึงการพยายามมุ่งเน้นไปที่ความคิดที่ทำให้สบายใจในสถานการณ์ที่สงบ การบำบัดด้วยการผ่อนคลายจะทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
Cognitive therapy (การบำบัดโดยการประมวลความคิด):  มีหลายคนที่มีความเชื่อและเจตคติที่ผิดเกี่ยวกับการนอนหลับ บางคนคิดว่าเป็นสิ่งที่ผิดหากนอนหลับน้อยกว่า 8 ชั่วโมง Cognitive therapy ใช้กระบวนการของการใช้เหตุผลเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดนี้ ซึ่งจะช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้น และลดความกังวลในช่วงกลางวันและการตื่นในช่วงกลางคืน
 

"ฝังเข็ม" อีกทางเลือกของคนนอนไม่หลับ

ในปัจจุบันโรคนอนไม่หลับ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยทำงานและผู้สูงอายุ ซึ่งอาการของโรคนอนไม่หลับ คือไม่สามารถนอนหลับได้เป็นปกติ ระยะเวลาในการนอนหลับน้อยกว่าปกติ (โดยทั่วไปน้อยกว่า 4-6 ชั่วโมง)
  • มีอาการหลับยาก (ใช้เวลาเข้านอนนานเกินกว่า 30 นาที)
  • หลับแล้วตื่นง่าย หรือหลับๆ ตื่นๆ ฝันมาก
  • ตื่นขึ้นมาแล้วหลับยาก (ตื่นกลางดึกมากกว่า 2 ครั้ง หรือ ตื่นก่อนฟ้าสางแล้วนอนต่อไม่ได้)
คุณภาพการนอนลดลง จนถึงขั้นนอนไม่หลับเลยตลอดคืน ทำให้ช่วงกลางวันรู้สึกมึนงง ไม่สดชื่น ง่วงนอน อ่อนเพลีย เป็นต้น มักจะกระทบกระเทือนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การเรียนและสุขภาพ

สาเหตุของอาการนอนไม่หลับ

พจ.ลิขิตา ทองแย้ม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.สมิติเวช สุขุมวิท และ รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ ระบุว่า สาเหตุของอาการนอนไม่หลับอาจเกิดจาก ความผิดปกติทางร่างกายหรือจิตใจ หรืออาจเกิดจากสถาณการณ์ตึงเครียดที่พบเจอเป็นเวลานาน ซึ่งทางการแพทย์แผนปัจจุบันเรียกว่า โรคเกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาท ทำให้มีผลต่อการนอน การแพทย์แผนปัจจุบัน จำแนกการนอนไม่หลับ เป็นสองกลุ่มคือ
  • การนอนไม่หลับที่ไม่เรื้อรัง (acute) มักมีสาเหตุจากปัญหาด้านอารมณ์ ความเครียด หรือ อาการเจ็บป่วยทางร่ายกาย
     
  • การนอนไม่หลับที่เรื้อรัง (chronic) มักมีสาเหตุมาจากสาเหตุเดียวหรือหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น โรคทางจิตเวช โรคทางอายุรกรรม สารหรือยา หรือ ความผิดปกติของการนอนหลับโดยตรง (primary sleep disorder)

การวินิจฉัยอาการนอนไม่หลับ ฉบับแพทย์แผนจีน

ในทางแพทย์แผนจีน อาการนอนไม่หลับนอกจากการมีปัจจัยภายนอกมากระทบอารมณ์แล้ว อาจเกิดจากแหล่งสร้างสารบำรุงร่างกายไม่เพียงพอ การหมุนเวียนของเลือดในร่างกายไม่ดี และอาจเกิดจากการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายที่ทำงานไม่สอดคล้องกัน อวัยวะที่เกี่ยวข้องเช่น หัวใจ ไต ตับ ม้าม และถุงน้ำดี ซึ่งจะวินิจฉัยเบื้องต้นได้จากการซักถามประวัติการนอนหลับ เช่น เข้านอนลำบากหรือตื่นง่าย หรือ ตื่นแล้วนอนต่อลำบาก และในรายที่อาการหนักจนไม่สามารถหลับทั้งคืน หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ใจสั่น ขี้ลืม อ่อนเพลีย ไม่มีแรง จิตใจกระสับกระส่าย ฝันมาก รวมไปถึงมีภาวะวิตกกังวล และ อาการซึมเศร้า อาจวินิจฉัยร่วมกับผลตรวจในห้องปฏิบัติการต่างๆ

นอนไม่หลับ รักษาได้ด้วยการฝังเข็มและสมุนไพร

ในการรักษาอาการนอนไม่หลับโดยใช้ศาสตร์แพทย์จีนนั้น จะทำการตรวจวินิจฉัยอาการและทำการรักษาโดยการฝังเข็มปรับสมดุลภายในร่างกาย หรือแนะนำการใช้สมุนไพรที่หาได้ทั่วไป มาทานเสริมหรือใช้ปรุงอาหาร รวมถึงทำเป็นชาสมุนไพรดื่มง่ายได้ทุกวัน เช่น พุทราจีน เห็ดหลินจือ น้ำผึ้ง ลำไยแห้ง ชาคาโมมายล์ ซึ่งบางตัวมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงอวัยวะที่เกี่ยวข้องหรือมีสรรพคุณช่วยให้เส้นประสาทและกล้ามเนื้อผ่อนคลายจึงช่วยในการนอนหลับได้ง่ายขึ้น

รักษาโรคนอนไม่หลับด้วยการฝังเข็ม

ส่วนการรักษาด้วยการฝังเข็มจะเลือกจุดที่สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วยที่นอนไม่หลับ หลังจากฝังเข็มคาเข็มไว้ 20-40 นาที หลังจากนั้นจึงถอนเข็ม ให้ผู้ป่วยทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง 1 คอร์ส จะทำการฝังเข็มทั้งหมด 10 ครั้ง ระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะของโรคนอนไม่หลับ เช่น การนอนไม่หลับแบบเฉียบพลันอาจใช้การรักษาเพียง 1 คอร์สหรือประมาณ 1 เดือน แต่ถ้าเป็นเพียงภาวะนอนไม่หลับชั่วคราวอาจใช้ระยะเวลาในการรักษาน้อยกว่า 10 ครั้ง และ นอนไม่หลับแบบเรื้อรังอาจใช้เวลารักษามากกว่า 1 คอร์สขึ้นไป
*หากผู้ป่วยรักษาด้วยการใช้ยานอนหลับเป็นประจำไม่ควรหยุดยาโดยกะทันหัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อค่อยๆ ลดปริมาณยาลงตามคำแนะนำของแพทย์ร่วมกับการรักษาแบบแพทย์แผนจีน
ข้อแนะนำและการป้องกันอาการนอนไม่หลับ
  • หลีกเลี่ยงการเปิดโทรทัศน์ หรือเล่นอุปกรณ์สื่อสารก่อนนอน
     
  • หลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน
     
  • หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนัก หรืออาหารที่ย่อยยากก่อนนอน
     
  • หากนอนไม่หลับ หากิจกรรมเบาๆ ทำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือนั่งสมาธิ
     
  • หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ ชาที่มีคาเฟอีน หรือน้ำอัดลม
     
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอน

ขอขอบคุณ
บทความโดยคณะแพทย์ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 
(ดัดแปลงจากบทความของสมาคมแพทย์โรคจากการหลับแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา)
ข้อมูล :พจ.ลิขิตา ทองแย้ม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.สมิติเวช สุขุมวิท และ รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์
ภาพ :iStock
https://www.sanook.com/health/26441/
https://www.sleepcenterchula.org/index.php/en/component/k2/item/20-insomnia