การเรียนรู้และปรับตัวการทำงานในยุคดิจิทัล

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563
image
เรียนรู้และปรับตัวการทำงานในยุคดิจิทัล
     เพราะโลกและชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คนทำงานจึงต้องเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน เมื่อทุกอย่างรอบตัวเราจึงถูกพัฒนาให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์หรือแม้กระทั่งหลอดไฟ คนทำงานจึงต้องเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน 
ธเนศ อังคศิริสรรพ ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคอินโดจีน เลอโนโว  เผยถึง 4 เทรนด์เทคโนโลยีสำหรับปี 2019 ที่กำเนิดมาเพื่อคนในยุคปัจจุบันมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เทรนด์ที่ 1: Smart spaces เมื่อทุกอย่างรอบตัวเราฉลาดขึ้น และอะไรคือสิ่งที่ขาดหายไป?
สมาร์ท สเปซ (smart spaces) ทั้งในชีวิตจริงและในแบบดิจิทัล คือสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คน อุปกรณ์ และระบบ ทำงานเชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสมาร์ท ซิตี้ (smart city), ดิจิทัล เวิร์คสเปซ (digital workspace) หรือสมาร์ท โฮม (smart home) ก็ต่างมีแนวโน้มที่จะหันมาให้ความสำคัญกับการทำงานในระบบนิเวศแบบเชื่อมต่อนี้  แล้วอะไรคือช่องโหว่ จากการศึกษาล่าสุดโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านความพึงพอใจของลูกค้าพบว่าเทคโนโลยีที่ใช้งานง่าย ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย และตอบโจทย์คือสิ่งที่ผู้ใช้งานมองหา หากเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นไม่ตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้ แนวโน้มที่คนจะเลิกใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว  สำหรับผู้บริโภค เทคโนโลยีสำหรับสมาร์ทโฮมจำเป็นต้องช่วยลดความยุ่งยากและลดเวลาในการติดตั้ง ในอนาคต อุปกรณ์สมาร์ท โฮมจะถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยจะเน้นที่การติดตั้งง่าย มีโซลูชั่นที่เชื่อมต่อกันแบบครบวงจร และสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีแก่ผู้บริโภค อาทิ คอมพิวเตอร์ในบ้านจะมีฟังก์ชั่นอัจฉริยะ อย่าง การจดจำเสียง (voice recognition) ระบบยืนยันตัวตนด้วยอัตลักษณ์ส่วนบุคคล(biometric authentication), การเชื่อมต่อแบบ always-on หน้าจอแสดงผลแบบอัจฉริยะ(smart display) จะเป็นแบบสัมผัส และมีตัวช่วยในการสั่งงานด้านเสียงเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและเชื่อมต่อได้สะดวกยิ่งขึ้น
สำหรับองค์กร การสร้างประสบการณ์ที่ดีในการทำงานให้แก่พนักงานคือสิ่งสำคัญ โดยนอกเหนือจากเทคโนโลยี, สถานที่ และวัฒนธรรมขององค์กร สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการทำงานร่วมกันของทั้งสามปัจจัยอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อดึงดูดพนักงานใหม่และรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้กับองค์กร ตลอดจนเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มผลกำไร องค์กรจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความต้องการที่แตกต่างกันของพนักงานในยุคมิลเลเนียล (Millennials) และยุคอื่นๆ รวมถึงสิ่งที่พวกเขาคาดหวังจากที่ทำงานและในด้านความเป็นส่วนตัว ปัจจุบันองค์กรมีการปรับสำนักงานให้พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกด้านเทคนิคที่สามารถปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นได้ แต่อย่างไรก็ตามพนักงานยังคงต้องการความรู้สึกสะดวกสบายและความเป็นส่วนตัว องค์กรสมัยใหม่ที่มองการณ์ไกลเริ่มให้ความสนใจกับแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลง, การเพิ่มความคล่องตัวในการเชื่อมต่อ การจัดสรรพื้นที่ที่ส่งเสริมการทำงานและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นโถงทางเดิน ห้องอาหาร หรือห้องประชุมย่อยที่ต้องเอื้อต่อการทำงานร่วมกันมากขึ้น อาทิ การติดตั้งระบบโซลูชั่นสำหรับห้องประชุมอัจฉริยะ จอแสดงผลแบบอินเตอร์แอคทีฟ และอื่นๆ เมื่อคนในยุคเจเนอเรชั่น ซี ซึ่งมีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีในการทำงาน สิ่งที่พวกเขามองหาคือสิทธิในการเลือกใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ตนเองคุ้นเคย องค์กรที่จะประสบความสำเร็จในการก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงที่ทำงานสู่ยุคใหม่จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างเป้าหมายด้วยนโยบายเชิงวัฒนธรรมและสร้างความประทับใจในการช่วยเปลี่ยนสังคมการทำงานสู่รูปแบบใหม่นี้ได้

เทรนด์ที่ 2: เทคโนโลยีสร้างประโยชน์: IoT, AI และ AR/VR ช่วยให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น
อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) ปัญญาประดิษฐิ์ (AI) และเทคโนโลยีเสมือนจริง (AR/VR) เป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากหลากหลายอุตสาหกรรมเนื่องจากเทคโนโลยีช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อที่ไร้พรหมแดน ที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของออโตเมชั่นแบบเต็มรูปแบบ ช่วยให้การใช้งานผ่านมุมมองโลกเสมือนได้เหมือนจริงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และในปี 2019 ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีดังกล่าวจะถูกพัฒนายิ่งขึ้นกว่าเดิมเพื่อการใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นในอุตสาหกรรมการผลิตไปจนถึงสำหรับสถาบันการศึกษา ร้านค้าปลีก และอีกมากมาย หากอ้างอิงจากผลวิจัยของ Accenture พบว่า มากกว่า 72% ของผู้บริหารธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ เชื่อว่าโลกเสมือนจริงนั้นจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานทุกอุตสาหกรรมในอีก 5 ปีข้างหน้า
เทคโนโลยีเสมือนจริง(AR/VR) สามารถนำมาใช้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมทางด้านสุขภาพในอนาคตได้เช่นกัน อาทิ การใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง (AR/VR) เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเห็นบรรยากาศภายในของโรงพยาบาลได้ก่อนเข้าไปรับการรักษาเพื่อลดความเครียดและวิตกกังวลเกี่ยวกับรายละเอียดขั้นตอนต่างๆ ในขณะเดียวกันเทคโนโลยี VR ยังช่วยรักษาสภาพจิตใจของเด็กๆที่รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลด้วยความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นเกมหรือการทำกายภาพเพื่อให้พวกเขารู้สึกสนุกสนานและมีกำลังใจในการรักษามากขึ้น 
เทรนด์ที่ 3: AR ไม่เพียงสนุกแต่ต้องเกิดประโยชน์
ตลาดเทคโนโลยีเสมือนจริงในโลกยุคปัจจุบันเติบโตอย่างรวดเร็วในแวดวงต่างๆ อาทิ วงการเกม การสื่อสารมวลชน ภาพยนตร์ การศึกษา การกีฬาและดนตรี ซึ่งจากความต้องการในการใช้งาน AR ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในแวดวงของสื่อบันเทิงและองค์กรธุรกิจต่างๆ AR ได้ถูกนำมาใช้ในการอบรมและสร้างการเรียนรู้ผ่านการจำลองภาพดิจิทัลซ้อนทับบนสภาพแวดล้อมจริง เพื่อให้สามารถมองเห็นถึงรายละเอียดหรือตำแหน่งได้อย่างชัดเจน และด้วยการมาถึงของเทคโนโลยี 5G ความสามารถที่หลากหลายและทรงคุณค่าของนวัตกรรม AR จะปรากฏขึ้น อาทิ การสร้างภาพจินตนาการในชีวิตจริง ระบบความช่วยเหลือระยะไกล และอื่นๆ
อีกตัวอย่างคือ การใช้แว่นเออาร์ (AR glasses) มาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเทคโนโลยีขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมต่อกับข้อมูลด้านการผลิตและงานภาคสนามอย่างเรียลไทม์ โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยลดข้อผิดพลาด ให้ความถูกต้องแม่นยำ เสริมสร้างความปลอดภัยและเพิ่มประสิทธิภาพของเนื้องานอีกด้วย เช่น การใช้งาน AR ในระบบความช่วยเหลือระยะไกล ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คนงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งซึ่งอาจได้รับความช่วยเหลือจากพนักงานในออฟฟิศที่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นผ่านทางแว่นตาได้ ทั้งนี้ด้วยระบบการจดจำวัตถุในแว่นตา AR ที่สวมใส่โดยช่างซ่อมเครื่องบินยังสามารถเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ระยะไกลเพื่อระบุชิ้นส่วนที่กำลังทำงานและดึงข้อมูลแผนงานและวัตถุที่สำคัญอื่นๆ ออกมาได้โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ด้วยเครื่องมือการทำงานรูปแบบใหม่ของแว่น AR จะช่วยให้พนักงานที่พึ่งเริ่มทำงานใหม่สามารถเรียนรู้การทำงานได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว และเป็นไปตามทีละขั้นตอนอีกด้วย
นอกจากนี้ การเชื่อมต่อระหว่างซอฟแวร์และฮาร์ดแวร์จะถูกพัฒนาให้เชื่อมต่อเข้ากันได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหาความยุ่งยากในการใช้งานระหว่างชุดหูฟัง AR และแว่นตา AR โดยทางทีมผู้สร้างโปรแกรมและผู้ผลิตฮาร์ดแวร์อาจต้องมีการจับมือร่วมกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด และภายในปีนี้คาดว่าเทคโนโลยี AR จะได้รับความสนใจจากพื้นที่สื่อเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น เราอาจได้เห็นการประยุกต์ใช้ระหว่างเทคโนโลยี AR และ VR ร่วมกันผ่านการบูรณาการด้านไอทีเพื่อประโยชน์ที่มากยิ่งขึ้น

เทรนด์ที่ 4: ทิศทางของความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์แห่งอนาคต
มนุษย์มักถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนสำคัญในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล หลายองค์กรต้องรับมือด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อาทิ นโยบายการให้พนักงานนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้ทำงาน (BYOD) การเข้าถึงระบบจากการทำงานระยะไกล และการจ้างงานแบบชั่วคราว หากพนักงานละเลยหรือไม่ทำความเข้าใจกับกฎระเบียบด้านการรักษาความปลอดภัย องค์กรก็มีสิทธิ์เผชิญกับภัยคุกคามด้านความปลอดภัย ความสูญเสียทางการเงิน ไปจนถึงความเสียหายของชื่อเสียงได้ ถึงแม้ว่าทุกองค์กรจะมีผู้เชียวชาญด้านไอทีที่คุ้นเคยกับการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล แต่บางครั้งพนักงานทั่วไปก็อาจยึดเอาความสะดวกในการทำงานมาก่อนการปฏิบัติตามระเบียบ ก่อเป็นเหตุให้เกิดช่องโหว่ด้านความปลอดภัย
แม้ AI จะได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันข้อมูลที่ดีที่สุด แต่ก็เหมือนเป็นดาบสองคมที่อาชญากรไซเบอร์ทั้งหลายต่างหมายตาไว้ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงคาดการณ์ว่าในปี 2019 เราจะได้เห็นการศึกษาและนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อหาข้อบกพร่องในด้านความปลอดภัยของระบบ หรือเป็นโซลูชั่นเพื่อความปลอดภัยแบบครบวงจร (End-to-end security solutions) ซึ่งจะช่วยให้หาช่องโหว่ด้านความปลอดภัยง่ายขึ้น โดย 4 หัวข้อด้านความปลอดภัยที่องค์กรและพนักงานในองค์กรต้องช่วยกันดูแลป้องกัน คือข้อมูล ตัวตน ระบบออนไลน์ และอุปกรณ์
การพัฒนาแผนป้องกันภัยไซเบอร์แบบองค์รวมเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับต่อต้านภัยคุกคามของทั้ง 4 หัวข้อดังกล่าว แนวโน้มของการยืนยันตัวตนผ่านสองขั้นตอนในอุปกรณ์ส่วนบุคคล ที่กำลังเปลี่ยนเป็นการยืนยันตัวตนผ่านหลายขั้นตอนนั้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เมื่อองค์กรในอุตสาหกรรมด้านความปลอดภัยอย่าง FIDO Alliance ผนึกกำลังกับ Windows Hello ในการสร้างระบบตรวจสอบความปลอดภัยที่เข้มงวดยิ่งขึ้น นอกจากนี้อุปกรณ์อัจฉริยะ (smart device) ในบ้านและสำนักงานที่เชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด ยังนำไปสู่การเกิดช่องโหว่ด้านความปลอดภัย ดังนั้น การเรียนรู้จากผู้ใช้ผ่านทางพฤติกรรมการเรียนรู้ด้วยตัวเองและรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ๆจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของมนุษย์ควบคู่กัน องค์กรต่างๆควรเข้าใจถึงแรงงานที่ประกอบไปด้วยผู้คนที่หลากหลายเพศและอายุเพื่อให้สามารถจัดการและปกป้องอุปกรณ์ได้ดีขึ้น เช่นเดียวกับการพัฒนาระเบียบการและแนวทางการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด
 
เรียนรู้ ปรับตัว ก้าวทัน 6 เทรนด์ การทำงานในยุคดิจิทัล
          ยุคไทยแลนด์ 4.0 มาถึงแล้ว นาทีนี้เราคงไม่อาจปฏิเสธบทบาทของเทคโนโลยีที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตในทุกด้าน โดยเฉพาะการทำงานในยุคปัจจุบัน ที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในรูปแบบที่กลายเป็นดิจิทัลมากขึ้น ข้อมูลต่างๆ ต้องเชื่อมโยงถึงกันได้ทุกที่ ทุกเวลา ส่งผลให้การทำงานของเราไม่จำกัดอยู่แต่ภายในออฟฟิศดังที่เคยเป็นมา โดยมีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยในการทำงานเกือบทุกขั้นตอน และช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยมี 6 แนวโน้มสำคัญของการทำงานในอนาคตที่จะพลิกโฉมหน้า และปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของเรา ให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ดังนี้
          1. ทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา บนสมาร์ตโฟน และอุปกรณ์พกพา
              เครื่องคอมพิวเตอร์ PC กำลังจะกลายเป็นอุปกรณ์ล้าสมัยภายในออฟฟิศ เพราะตั้งแต่ ค.ศ. 2015 เป็นต้นมา คนทำงานจำนวนมากใช้สมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ตในการทำงานมากขึ้น ส่งผลให้สมาร์ตโฟนมีอัตราการเติบโตในการใช้งานมากกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ PC คนทำงานเริ่มหันมาใช้อุปกรณ์ที่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้ เพื่อความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น และรูปแบบการทำงานดังที่ว่ามานี้กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของการทำงานในอนาคต ด้วยคุณสมบัติของสมาร์ตโฟนในปัจจุบันที่มีความครบครันพอ ๆ กับเครื่องคอมพิวเตอร์ PC แถมในอนาคตอันใกล้ บริษัทและองค์กรต่างๆ จึงมีแนวโน้มจะหันมาใช้อุปกรณ์ที่ให้พนักงานพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวกในการทำงาน เพื่อลดต้นทุนด้านไอทีขององค์กรอีกด้วย


          2. โลกาภิวัตน์ช่วยเชื่อมต่อโลกของธุรกิจแบบไม่มีขีดจำกัด
              
โลกาภิวัตน์ช่วยย่อโลกให้เล็กลง พร้อมเชื่อมโยงถึงกันได้ง่ายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แม้จะอยู่ห่างไกลกันคนละมุมโลกก็ตาม ในยุคที่ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้รวดเร็ว โลกของธุรกิจก็สามารถขยายกิจกรรม และการดำเนินงานต่างๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัดเช่นกัน การทำธุรกิจจึงก้าวสู่ยุคอีคอมเมิร์ซอย่างเต็มตัว และแพร่หลายไปทั่วโลก ซึ่งการที่องค์กรจะก้าวสู่การเป็นอีคอมเมิร์ซได้ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยี และเครื่องมือในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สามารถขจัดปัญหาด้านระยะทาง และเชื่อมต่อทุกฟังก์ชั่นทางธุรกิจเข้าด้วยกันได้ พร้อมทั้งช่วยให้ทีมงานที่อยู่กระจัดกระจายกันหลายประเทศทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวก

    3. “คลาวด์” คือหัวใจของการทำงานร่วมกัน
              ระบบการประมวลผล และการจัดเก็บข้อมูลบนฐานข้อมูลออนไลน์ ในรูปแบบ “คลาวด์” จะเข้ามามีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางของการทำงานร่วมกัน ช่วยให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลในการทำงาน ทั้งในส่วนขององค์กรที่สามารถเฝ้าดูการทำงานจากระยะไกล และในส่วนของทีมงานที่สามารถโต้ตอบกันได้ด้วยการทำงานร่วมกันผ่านทางวิดีโอ ช่วยลดปัญหาด้านต้นทุนและระยะเวลาในการเดินทางไปประชุมร่วมกันได้อย่างมาก นอกจากนี้คลาวด์ยังเข้ามาเพิ่มศักยภาพในการประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลได้แบบ Real-time ช่วยให้องค์กรสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจได้รวดเร็ว ค้นหาข้อมูลต่างๆ ได้ทันใจ และมีความหลากหลายของข้อมูลมากขึ้น


          4. การทำงานร่วมกับอุปกรณ์อัจฉริยะ
              
ยุค 4.0 เป็นยุคที่กำลังจะเปลี่ยนให้อุปกรณ์ธรรมดาๆ รอบตัวของเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ด้วยเทคโนโลยี Internet of Thing (IOT) ที่จะช่วยยกระดับอุปกรณ์ต่างๆ ให้มีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น กลายเป็นสิ่งที่สามารถเก็บข้อมูล โต้ตอบ หรือช่วยให้เราดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้โดยอัตโนมัติ ตามคำสั่งที่มีการตั้งโปรแกรมเอาไว้ ทำให้ลักษณะการทำงานในอนาคตจะลดการพึ่งพาแรงงานจากมนุษย์ลงได้อย่างมาก และคนทำงานจะต้องปรับบทบาทมาเป็นผู้ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้ทดแทนการใช้แรงงานเพียงอย่างเดียว

          5. ประโยชน์มหาศาลจากแหล่งข้อมูล Big Data
              ข้อมูลทุกสิ่งทุกอย่างขององค์กร เป็นข้อมูลขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า Big Data ซึ่งทั้งหมดเป็นข้อมูลดิบที่สามารถนำมาวิเคราะห์และบริหารจัดการให้เป็นระบบได้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยให้องค์กร และคนทำงานสามารถดึงข้อมูลมาใช้ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ ทั้งข้อมูลภายในองค์กร ข้อมูลจากโซเชียลเน็ตเวิร์ค วิดีโอ และภาพบนฐานข้อมูลออนไลน์ ซึ่งแหล่งข้อมูลทั้งหลายเหล่านั้น สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับลูกค้า บอกความต้องการของลูกค้าได้ เพื่อใช้แหล่งข้อมูล Big data นี้ให้ประโยชน์ทั้งในด้านการวางแผนธุรกิจ การวิเคราะห์ลูกค้า และการคาดการณ์แนวโน้มต่างๆ และส่งต่อแต่สิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงๆ เท่านั้น



          6. มีซอฟต์แวร์เพื่อการทำงานที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว
              
การดำเนินงานขององค์กรยุคใหม่ต้องมีความยืดหยุ่น และคล่องตัวมากขึ้นกว่าเดิม โดยเน้นให้คนทำงานทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกันได้ การพัฒนาซอฟต์แวร์และโปรแกรมต่างๆ เพื่อการทำงานในองค์กรจึงต้องเปิดกว้างสำหรับบุคลากรทุกระดับมากขึ้น เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและความยืดหยุ่นในระบบและกระบวนการทำงาน ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมภายในองค์กรอย่างแท้จริง เพิ่มศักยภาพของคน และเพิ่มประสิทธิผลของความสำเร็จ

          แนวโน้มการทำงานในยุคดิจิทัลเป็นสิ่งที่คนทำงานทุกคนไม่อาจมองข้าม ต้องมีการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ปรับตัว และเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะเทคโนโลยีสามารถช่วยให้การทำงานยุคใหม่ มีความสะดวก รวดเร็ว เชื่อมโยงถึงกันได้มากขึ้น และเพิ่มโอกาสในความสำเร็จมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับคนทำงานอย่างเราๆ นี้เองว่าจะสามารถดึงศักยภาพของตัวเรา ผสมผสานกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เกิดผลดีต่อการทำงานและองค์กรได้มากน้อยเพียงใด เรียนรู้สิ่งใหม่ไม่หยุดนิ่ง แล้วประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การทำงานในอนาคตย่อม work และ win ได้อย่างแน่นอน
 
 
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก 
https://www.prosoftibiz.com/Article/Detail/69367
https://www.m2fnews.com/lifestyle/work-and-life/22278