เสวนา 'แผ่นดินไหวตุรกีกทม.พร้อมแค่ไหน'

วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
image

     วันนี้ (22 ก.พ. 66) กทม. จัดเสวนาวิชาการ “แผ่นดินไหวตุรกี กทม. พร้อมแค่ไหน” เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชน และความปลอดภัยของโครงสร้างอาคารหากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดย รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงาน และ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

    รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ใกล้แนวแผ่นเปลือกโลกมากที่สุดคือแนวรอยต่ออันดามัน และพบรอยเลื่อนเสี่ยงแผ่นดินไหว 16 รอย จุดที่ใกล้กรุงเทพมหานครมากที่สุดคือบริเวณ จ.กาญจนบุรี เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ดินอ่อน หากเกิดแผ่นดินไหวที่ จ.กาญจนบุรี จะสามารถรับรู้แรงกระทบได้ โดยปกติพลังของแผ่นดินไหวส่งผลได้ถึงระยะ 200-250 กิโลเมตร ในความแรงไม่เกิน 8 ริกเตอร์ อย่างไรก็ตาม ต้องสำรวจรอยเลื่อนเพิ่มเติมต่อไป 

    ศาสตราจารย์นคร ภู่วโรดม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า มีการสร้างมาตรฐานป้องกันแผ่นดินไหวของอาคาร พร้อมตรวจวัดค่าการรับความสั่นสะเทือนของอาคารต่างๆในกทม. เพื่อนำค่าที่ได้ไปปรับใช้ในการออกแบบตึกอาคาร สำหรับอาคารเดิมที่สร้างก่อนปี 2550 ถูกออกแบบให้ต้านทานแรงลมตามมาตรฐานวิศวกรรม แต่ยังไม่พบข้อมูลว่าอาคารใดสามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ ปัจจุบันกำลังจัดกลุ่มอาคารเสี่ยงหรืออาคารเก่าเพื่อควบคุมและปรับปรุงให้รับแรงแผ่นดินไหวได้มากขึ้น

    ดร.ธนิต ใจสอาด หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีเครื่องมือเกี่ยวกับการแจ้งเตือนหรือการวัดค่าต่างๆ ของแผ่นดินไหวที่ทันสมัยมากพอเท่าต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในปี2558 มีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ฉบับที่ 5 เน้นการควบคุมพื้นที่ตามค่าการศึกษาผลกระทบแผ่นดินไหวกำหนดให้การออกแบบสร้างอาคารในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวต้องควบคุมโดยวิศวกรตลอดเวลาการสร้าง เพื่อคำนวณความเสี่ยงและการออกแบบเพื่อรับแรงแผ่นดินไหว ส่วนอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 เปิดโอกาสให้ดัดแปลงต่อเติมเพื่อป้องกันแผ่นดินไหวได้ โดยใช้แรงจูงใจเรื่องสิทธิทางภาษีให้เจ้าของอาคารที่ดำเนินการปรับปรุงอาคารตนเอง แต่ปัญหาคือการปรับปรุงมีค่าใช้จ่ายสูง และยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้เรื่องการปรับปรุงอาคารรองรับแผ่นดินไหว

    นายภุชพงศ์ สัญญโชติ หัวหน้าสถานีดับเพลิงลาดยาว(ทีม USAR Thailand) กล่าวว่า จากการไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศตุรกี พบว่า แผ่นดินไหวระดับ 7.8 ริกเตอร์ ไม่ว่าอาคารเก่าหรือใหม่ก็พังทั้งหมด โชคดีที่กรุงเทพมหานครไม่มีแผ่นดินไหวรุนแรง สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเข้าถึงพื้นที่และการบังคับใช้กฎหมาย จากประสบการณ์ในกรุงเทพมหานครพบว่า เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้หรือสถานการณ์ใดก็ตาม มีหน่วยงานมากมายเข้าไปถึงพื้นที่ก่อนผู้ชำนาญการ ทำให้การทำงานสับสน ควรให้หน่วยที่มีหน้าที่ตรงตามวัตถุประสงค์เข้าไปในพื้นที่ก่อน เพื่อลดการสูญเสีย และสามารถช่วยชีวิตผู้ประสบภัยได้มากขึ้น เพราะแต่สถานการณ์มีความละเอียดอ่อน การเหยียบกระเบื้องแผ่นเดียวอาจทำให้ซากตึกที่ถล่มแล้ว ทรุดตัวซ้ำทับร่างผู้บาดเจ็บที่รอความช่วยเหลือใต้พื้นได้ หลายหน่วยงานที่เข้าไปในจุดเกิดเหตุ หากไม่มีความชำนาญอาจสร้างความสูญเสียเพิ่ม ซึ่งแต่ละหน่วยงานต่างความรู้ ต่างความชำนาญคนละด้าน ส่งผลต่อการช่วยชีวิตคน เช่น ในเหตุการณ์เดียวกัน วิศวกรมองอีกแบบ กู้ภัยมองอีกแบบ อาสาสมัครมองอีกแบบ การประสานงานจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

    นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.จะเริ่มติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือนของอาคารสูง รวมถึงกำหนดให้อาคารที่สร้างก่อนปี 2550 ประมาณ 10,000 อาคาร ต้องมีการตรวจสอบเบื้องต้นและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันแผ่นดินไหว ทั้งนี้ อาจเริ่มที่อาคารสำคัญก่อน เช่น โรงพยาบาลของกทม.สามารถปรับปรุงเพื่อรองรับแผ่นดินไหวเป็นตัวอย่างอันดับแรกได้ ก่อนขยายในวงกว้างมากขึ้นตามข้อมูลที่มี อย่างไรก็ตามกทม.ไม่นิ่งเฉยกับเรื่องนี้ กำลังรวบรวมข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมเสวนา เพื่อนำมาใช้ในหน่วยงานของกทม. รวมถึงวิเคราะห์ความเสี่ยงต่างๆ เพื่อเสนอต่อเจ้าของอาคารต่อไป โดยไม่มีการบังคับใช้ทางกฎหมาย ทั้งนี้ การปรับปรุงต่างๆ ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไปด้วย จึงต้องจัดหมวดหมู่ความสำคัญของอาคารต่างๆ ก่อนดำเนินการให้รอบคอบ