บัตรประชาชนหาย จะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
กรณีบัตรประชาชนหายจะต้องใช้เอกสารหลักฐานที่ทางราชการออกให้ซึ่งมีรูปถ่าย เช่น ใบขับขี่ วุฒิการศึกษา หรือหนังสือเดินทาง มาดำเนินการยืนยันตนเอง หากไม่มีให้พาเจ้าบ้านหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือมารับรองตนเอง(ผู้ที่จะรับรองจะต้องมีอายุ 20 ปีขี้นไป และมีบัตรประชาชน ซึ่งกรณีบัตรประชาชนหายจะต้องยืนคำร้องภายใน 60 วัน นับแต่วันที่หาย และมีโทษปรับไม่เกิน 100 บาท
บัตรประชาชนหมดอายุ จะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
กรณีบัตรประชาชนหมดอายุ สารมารถนำบัตรประชาชนใบที่หมดอายุมายื่นขอทำบัตรใหม่ได้ภายใน 60 วัน หากเกินกำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 100 บาท
ทำบัตรประชาชนครั้งแรก จะต้องเตรียมเอกสารอะไรไปบ้าง
กรณีการขอมีบัตรประชาชนครั้งแรก จะต้องมีอายุครบ 7 ปีบริบูรณ์ โดยบิดาและมารดาจะต้องใช้เอกสารหลักฐานของผู้ขอมีบัตรมาดำเนินการขอมีบัตรครั้งแรก เอกสารที่จะต้องใช้คือสูติบัตร หรือเอกสารที่ทางราชการออกให้ที่มีรูปถ่ายเช่น ใบสุทธิ หนังสือเดินทาง เป็นต้น หากไม่มีเอกสารข้างต้น ให้นำเจ้าบ้านหรือบุคลที่น่าเชื่อถือมารับรอง หากยื่นขอเกินกำหนด 60 วัน นับจากวันที่อายุครบ 7 ปีบริบูรณ์ มีโทษปรับไม่เกิน 100 บาท
กรณีทะเบียนบ้านสูญหาย ถ้าต้องการขอเล่มทะเบียนบ้านใหม่จะต้องทำอย่างไร
กรณีเล่มทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านสูญหายหรือถูกทำลาย สามารถยืนคำร้องได้ฝ่ายทะเบียนตามหลักฐานทางทะเบียนบ้าน เอกสารหลักฐานที่จะต้องใช้คือ
         1. บัตรประจำตัวประชาชนเจ้าบ้าน
         2. กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทน จะต้องมีบัตรประจำตัวของผู้มอบและผู้รับมอบหมาย หนังสือผู้มอบหมาย ค่าธรรมเนียมในการออกเล่มใหม่ฉบับละ 20 บาท
การขอย้ายเข้าเล่มทะเบียนบ้านครั้งแรก จะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
ในกรณีที่ต้องการย้ายเข้าในเล่มทะเบียนบ้านครั้งแรก ให้นำเอกสารหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของบ้าน เช่น ใบให้เลขบ้าน หนังสือสัญญาซื้อขาย ใช้เป็นหลักฐานในการขอแจ้งย้ายเข้า
การขอเลขหมายประจำบ้าน จะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
ในกรณีผู้ยื่นคำร้องต้องการขอเลขหมายประจำบ้านจะต้องใช้เอกสารดังนี้
         1. บัตรประจำตัวผู้แจ้ง (กรณีมอบหมายให้ใช้บัตรประจำตัวผู้รับมอบหมายและหนังสือมอบหมายด้วย)
         2. ใบอนุญาตปลูกสร้างอาคาร หรือเอกสารอื่นแล้วแต่กรณี
         3. ใบคำร้องตามแบบ ท.ร.900
การขอจำหน่ายบ้าน จะต้องทำอย่างไร
กรณีการขอจำหน่ายบ้านนั้นจะต้องใช้เอกสารดังนี้ 1. บัตรประจำตัวประชาชนผู้แจ้ง กรณีมอบหมายให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบหมายและหนังสือมอบหมายด้วย 2.ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน 3. ใบคำร้องตามแบบ ท.ร. 97 ค.
การแจ้งเกิด จะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
กรณีแจ้งเกิดจะต้องใช้เอกสารดังนี้
        1. บัตรประชาชนผู้แจ้ง
        2. กรณีมอบหมาย(เจ้าบ้านหรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล หรือบิดา หรือมารดา)
        3. หนังสือรับรองการเกิด (แบบพิมพ์ ท.ร. 1/1)
        4. การเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านในเขตท้องที่ให้แนบสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่จะขอเพิ่มชื่อเด็กเข้า
การแจ้งตาย จะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
กรณีการตายแบบทั่วไปจะใช้เอกสารดังนี้
        1. บัตรประจำตัวผู้แจ้ง / คนตายในบ้าน ( เจ้าบ้าน ) / คนตายนอกบ้าน (ผู้ที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบศพ)      
        2. กรณีมอบหมายให้ใช้บัตรผู้แจ้ง และหนังสือมอบหมาย
        3. หนังสือรับรองการตาย (ถ้ามี)
        4. กรณีตายโดยผิดธรรมชาติ เพิ่มหลักฐานใบรับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสถาบันนิติเวช
การแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทาง จะต้องทำอย่างไรบ้าง
กรณีการย้ายปลายทางผู้ย้ายจะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ต่างเขตเท่านั้น จึงจะมีสิทธิย้ายปลายทางได้ เอกสารที่ใช้ในการย้ายปลายทางมีดังนี้
         1. บัตรประจำตัวเจ้าบ้านที่จะย้ายเข้า พร้อมหนังสือยินยอมให้ย้ายเข้าและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่จะย้ายเข้า
         2. บัตรประชาชนผู้แจ้ง กรณีมอบหมายให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชนผู้แจ้ง ปละหนังสือมอบอำนาจ
         3. กรณีรายการบุคคลที่จะย้ายเข้าเป็นผู้เยาว์ให้บิดา หรือมารดา หรือผู้ปกครอง เป็นผู้ย้าย โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนผู้แจ้ง และหลักฐานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
         4. หากบ้านหลังดังกล่าวยังไม่มีเล่มทะเบียนบ้านให้นำหลักฐานแสดงการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ การครอบครองมาแสดง
จดทะเบียนสมรส จะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
คุณสมบัติของผู้จดทะเบียนสมรส ชาย – หญิง จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือไร้ความสามารถ ไม่เป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้จะต้องไม่เป็นคู่สมรสกับบุคคลอื่น หญิงหม้ายจะสมรสใหม่ได้ก็ต่อเมื่อการสมรสครั้งก่อนสิ้นสุดไปแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่ คลอดบุตรแล้วในระหว่านั้น , สมรสกับคู่สมรสเดิม , มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ , ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้

เอกสารหลักฐานที่ใช้ในการจะทะเบียนสมรสคือ 
1. บัตรประจำตัวผู้ร้อง
2. สำเนาทะเบียนบ้าน
3. กรณีผู้ร้องยังไม่บรรลุนิติภาวะ (20 ปีบริบูรณ์) บิดา มารดา ผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องให้ความยินยอมด้วยตนเอง หากไม่สามารถมาด้วยตนเองให้ใช้หนังสือให้ความยินยอม
4. กรณีผู้ร้องเคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนให้ใช้หลักฐานการหย่า เช่น ใบหย่า
5. กรณีผู้สมรสตาย ให้ใช้หลักฐานการตาย เช่น ใบมรณะบัตร
6 กรณีมีคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล ต้องใช้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลที่ให้จดทะเบียน
7. พยานอย่างน้อย 2 คน ที่อายุ 20 ปีบริบูรณ์
การจดทะเบียนหย่า ใช้เอกสารอะไรบ้าง
กรณีการหย่าจะต้องเตรียมเอกสารดังนี้
        1. บัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้านทั้งสองฝ่าย
        2. ใบสำคัญการสมรส
        3. ใบเปลี่ยนชื่อตัว – ชื่อสกุล (ถ้ามี)
        4. ฝ่ายหญิงต้องทำการแก้ไขคำนำหน้านามจาก นางสาว เป็น นาง ในทะเบียนบ้านเรียบร้อยแล้ว
        5. พยานบุคคล อายุ 20 ปีขึ้นไป พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน
        6. คำร้องตามแบบ คร.1
กรณีจดทะเบียนหย่า ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของฝ่ายชาย แต่ต่อมาภายหลังจะแก้ไขบุตรมาอยู่ในอำนาจฝ่ายหญิงจะทำได้หรือไม่
     เมื่อฝ่ายชายมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปโดยจะให้ฝ่ายหญิงมีอำนาจปกครองบุตรแทนคน กรณีนี้ต้องร้องขอต่อศาลตามนัย ป.พ.พ.มาตรา 1520 ประกอบ ระเบียบ มท.ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2541 ข้อ 38 การบันทึกเพิ่มเติมที่อาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งห้ามมิให้นายทะเบียนรับบันทึกไว้ เว้นแต่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
กรณีการเปลี่ยนชื่อตัว ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
ต้องมีหลักฐานดังนี้
1. บัตรประจาตัวของผู้ยื่นคำขอ
2. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
3. เอกสารอื่น (ถ้ามี) เช่น สูติบัตร ทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ทะเบียนการหย่า ซึ่งระบุอำนาจการปกครองของบุตร มีค่าธรรมเนียม ฉบับละ 50 บาท
กรณีใบสำคัญการสมรสหายไป 1 ใบ จะต้องแจ้งความหรือไม่ และจะต้องแจ้งความพร้อมกัน 2 คนหรือไม่
กรณีคู่สมรสฝ่ายใดทำใบสำคัญการสมรส (คร.3) ของตนเองหาย ก็ให้ดำเนินการแจ้งความเอกสารหาย
กรณีต้องการเปลี่ยนนามสกุลมาใช้นามสกุลของแม่ แต่แม่ยังใช้นามสกุลของพ่อและพ่อได้เสียชีวิตไปแล้วสามารถทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้ต้องเตรียมหลักฐานอะไรบ้าง
สามารถทำได้ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการทะเบียนชื่อบุคคล พ.ศ. 2551 ข้อ 22 และหนังสือสำนักทะเบียนกลาง ที่ มท 0309.3/11833 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 โดยเตรียมหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชน
กรณีมีผู้เสียชีวิตภายในบ้าน ใครมีหน้าที่ต้องแจ้งการตาย
     กรณีคนตายในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนตายภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย ในกรณีไม่มีเจ้าบ้าน ให้ผู้พบศพแจ้งภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาพบศพ
ในกรณีบัตรประจำตัวประชาชนชำรุด ต้องใช้เอกสารอะไรบ้างและมีค่าธรรมเนียมเท่าไร
บัตรประจำตัวประชาชนเดิม ค่าธรรมเนียมทำบัตร จำนวน 100 บาท สามารถยื่นคำร้องที่สำนักทะเบียนแห่งใดก็ได้
คัดรับรองรายการบัตรประจำตัวประชาชนแบบภาษาอังกฤษสามารถทำได้หรือไม่
    กรณีการคัดรับรองรายการบัตรประจำตัวประชาชนแบบภาษาอังกฤษสามารถยื่นคำร้องขอคัดที่สำนักทะเบียนแห่งใดก็ได้ โดยมีค่าธรรมเนียมคัดรายการ ฉบับละ 10 บาท
Page 1 of 1