การให้บริการของงานทะเบียนทั่วไป
 
   เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัวอันก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะสามีภรรยา หรือบิดามารดากับบุตร เช่น การจดทะเบียนสมรส หย่า รับรองบุตร รับบุตรบุญธรรม เลิกรับบุตรบุญธรรมและการบันทึกฐานะแห่งครอบครัว ทะเบียนครอบครัว
 

การจดทะเบียนสมรส

      ยื่นคำร้องได้ที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตแห่งใดก็ได้

คุณสมบัติของผู้จดทะเบียนสมรส
      1. ชาย - หญิงมีอายุไม่น้อยกว่า 17 ปีบริบูรณ์
      2. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือไร้ความสามารถ
      3. ไม่เป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา
      4. ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
      5. ไม่เป็นคู่สมรสกับบุคคลอื่น
      6. หญิงหม้ายจะสมรสใหม่ได้ก็ต่อเมื่อการสมรสครั้งก่อนสิ้นสุดไปแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่
          -  คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
          -  สมรสกับคู่สมรสเดิม
          -  มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
          -  ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้

หลักฐาน
      1. บัตรประจำตัวผู้ร้อง
      2. สำเนาทะเบียนบ้าน
      3. กรณีผู้ร้องยังไม่บรรลุนิติภาวะ (20 ปีบริบูรณ์) บิดา มารดา ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องให้ความยินยอมด้วยตนเอง หากไม่สามารถมาด้วยตนเองได้ให้ใช้หนังสือให้ความยินยอม
      4. กรณีผู้ร้องเคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน ให้ใช้หลักฐานการหย่า
      5. กรณีคู่สมรสตาย ให้ใช้หลักฐานการตายพร้อมทะเบียนสมรส
      6. กรณีมีคำพิพากษา หรือคำสั่งศาลต้องใช้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลที่ให้จดทะเบียนพร้อมใบแสดงคดีถึงที่สุด
      7. พยานอย่างน้อย 2 คน

 

การจดทะเบียนหย่า

     ยื่นคำร้องได้ที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตแห่งใดก็ได้

หลักฐาน
      1. บัตรประจำตัวของผู้ร้อง
      2. สำเนาทะเบียนบ้าน
      3. หลักฐานการสมรส
      4. หนังสือสัญญาหย่าหรือข้อตกลงการหย่าที่มีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย 2 คน
      5. กรณีจดทะเบียนการหย่าตามคำพิพากษาศาล ต้องใช้คำพิพากษาถึงที่สุดและคำรับรองว่าถูกต้อง
      6. หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว - ชื่อสกุล คำนำหน้านาม (ถ้ามี)
      7. พยานอย่างน้อย 2 คน

 

การจดทะเบียนรับรองบุตร

      ยื่นคำร้องได้ที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตแห่งใดก็ได้

หลักฐาน
      1. บัตรประจำตัวของผู้ร้อง
      2. สำเนาทะเบียนบ้าน สูติบัตร หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว - ชื่อสกุล (ถ้ามี)
      3. เด็กและมารดาเด็กมาให้ความยินยอมด้วยตนเองต่อหน้านายทะเบียน
      4. กรณีเด็กและหรือมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมด้วยตนเอง นายทะเบียนจะมีหนังสือสอบถามไปยังเด็กและมารดาว่ายินยอมหรือไม่
      5. กรณีมีคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล ต้องใช้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลที่ให้จดทะเบียน พร้อมคำพิพากษาถึงที่สุด (กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีบริบูรณ์ หรือมารดามาให้ความยินยอมไม่ได้)
      6. พยานอย่างน้อย 2 คน

 

การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม

     ยื่นคำร้องได้ที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตแห่งใดก็ได้

คุณสมบัติของผู้จดทะเบียน
      1. ผู้จะขอรับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุมากกว่าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม อย่างน้อย 15 ปี
      2. ผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ผู้นั้นต้องให้ความยินยอมด้วย
      3. ผู้จะขอรับบุตรบุญธรรมและผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมที่มีคู่สมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสด้วย
      4. กรณีผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ต้องได้รับอนุมัติให้จดทะเบียนจากคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน

หลักฐาน
      1. บัตรประจำตัวของผู้ร้อง
      2. สำเนาทะเบียนบ้าน
      3. กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ ต้องใช้หนังสืออนุมัติให้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมจากคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (กรุงเทพมหานครหรือชาวต่างประเทศที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยยื่นเรื่องขอหนังสืออนุมัติ ฯ ได้ที่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ต่างจังหวัด ยื่นเรื่องได้ที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด)
      4. กรณีบุตรบุญธรรมหรือผู้รับบุตรบุญธรรมมีคู่สมรส คู่สมรสต้องให้ความยินยอม หากไม่สามารถมาให้ความยินยอมด้วยตนเองให้ใช้หนังสือให้ความยินยอม
      5. กรณีการอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ต้องใช้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลและใบแสดงคดีถึงที่สุด
      6. พยานอย่างน้อย 2 คน

 

การจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรม

     ยื่นคำร้องได้ที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตแห่งใดก็ได้

หลักฐาน
      1. บัตรประจำตัวของผู้ร้อง
      2. สำเนาทะเบียนบ้าน
      3. สำเนาทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
      4. กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ ต้องมีหนังสือรับรองว่าได้เข้าสู่กระบวนการเยียวยาจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และต้องได้รับความยินยอมจากผู้ที่ให้ความยินยอมในขณะจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
      5. กรณีมีคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล ต้องใช้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาล
      6. พยานอย่างน้อย 2 คน

 

การบันทึกฐานะแห่งครอบครัว

      ยื่นคำร้องได้ที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตแห่งใดก็ได้

หลักฐาน
      1. บัตรประจำตัวของผู้ร้อง
      2. สำเนาทะเบียนบ้าน
      3. หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนครอบครัว เช่น สมรส หย่า รับบุตรบุญธรรม ฯลฯ หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการนั้นที่ทำขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานทูตสถานกงสุลของไทย หรือสถานทูตสถานกงสุลของประเทศนั้น ๆ แล้ว

 

การตรวจคัดและรับรองสำเนาทะเบียนครอบครัวและการรับรองรายการจากฐานข้อมูลทะเบียนครอบครัว

กรณีขอคัดและรับรองจากเอกสารต้นฉบับ ยื่นคำร้องได้ที่สำนักทะเบียนที่จัดทำเอกสาร
กรณีขอคัดและรับรองรายการจากฐานข้อมูลยื่นคำร้องได้ที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตแห่งใดก็ได้

หลักฐาน
      1. บัตรประจำตัวของเจ้าของรายการหรือผู้มีส่วนได้เสีย
      2. หลักฐานการแสดงความเป็นผู้มีส่วนได้เสีย
      3. กรณีมอบอำนาจ
          -  บัตรประจำตัวของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ
          -  หนังสือมอบอำนาจ (ติดอากรแสตมป์)
      4. ค่าธรรมเนียม ฉบับละ 10 บาท

การออกหนังสือรับรองการใช้คำนำหน้านามหญิง

ยื่นคำร้องได้ที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตแห่งใดก็ได้

หลักฐาน
        1. บัตรประจำตัวของผู้ร้อง
        2. หลักฐานการสมรสหรือการสิ้นสุดการสมรส หรือการบันทึกฐานะแห่งครอบครัว
        3. ใบเปลี่ยนชื่อตัว - ชื่อสกุล (ถ้ามี)

 

ทะเบียนชื่อบุคคล
 
การเปลี่ยนชื่อตัว การตั้งและเปลี่ยนชื่อรอง

     ยื่นคำร้องได้ที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตที่ผู้ยื่นคำขอมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

หลักเกณฑ์
      1. ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม
      2. ต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
      3. ต้องไม่มีเจตนาทุจริต
      4. ผู้ที่ได้รับหรือเคยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์แต่ได้ออกจากบรรดาศักดิ์นั้นโดยมิได้ถูกถอดถอนสามารถใช้ราชทินนามตามบรรดาศักดิ์นั้นเป็นชื่อตัวหรือชื่อรองก็ได้
      5. ชื่อรองที่จะขอตั้งต้องไม่พ้องกับชื่อสกุลของบุคคลอื่น ยกเว้นการใช้ชื่อสกุลของคู่สมรสเป็นชื่อรอง แต่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสที่ใช้ชื่อสกุลนั้นอยู่
      6. กรณีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิใช้ชื่อสกุลเดิมของมารดาหรือบิดาเป็นชื่อรองได้

หลักฐาน
      1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอ
      2. สำเนาทะเบียนบ้าน
      3. เอกสารอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น สูติบัตร, ทะเบียนรับบุตรบุญธรรม, ทะเบียนหย่าซึ่งระบุอำนาจการปกครองบุตร ฯ

 

การจดทะเบียนตั้งชื่อสกุล หรือขอตั้งชื่อสกุลใหม่

     ยื่นคำร้องได้ที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตที่ผู้ยื่นคำขอมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

หลักเกณฑ์
     1. ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี
     2. ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่ราชทินนามของตน หรือบุพการี หรือผู้สืบสันดาน
     3. ต้องไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์หรือชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้ หรือชื่อสกุลในฐานข้อมูลทะเบียนชื่อบุคคลและฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร
     4. ต้องไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
     5. มีพยัญชนะไม่เกินสิบพยัญชนะ เว้นแต่กรณีใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล
     6. ผู้ที่ไม่ได้รับพระราชทานชื่อสกุล ห้ามใช้คำว่า “ณ” นำหน้าชื่อสกุล
     7. ห้ามเอานามพระมหานคร และศัพท์ที่ใช้เป็นพระปรมาภิไธยมาใช้เป็นนามสกุล
     8. ห้ามเพิ่มเครื่องหมายนามสกุล เว้นแต่เป็นราชตระกูล

หลักฐาน
     1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอ
     2. สำเนาทะเบียนบ้าน
     3. ใบเปลี่ยนชื่อตัว (ถ้ามี)

 

การเปลี่ยนชื่อสกุลโดยการร่วมใช้ชื่อสกุล

      ยื่นคำร้องได้ที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตที่ผู้ยื่นคำขอมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

หลักฐาน
      1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอ
      2. สำเนาทะเบียนบ้าน
      3. กรณีเป็นเจ้าของชื่อสกุล ใช้หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนชื่อสกุลตามแบบ ช. 2 หรือกรณีเป็นผู้มีสิทธิอนุญาตให้ร่วมใช้ชื่อสกุล ใช้หนังสือรับรองการเป็นผู้มีสิทธิอนุญาตให้ผู้อื่นร่วมใช้ชื่อสกุลตามแบบ ช. 7
      4. สำหรับผู้ขอร่วมใช้ชื่อสกุล ใช้หนังสืออนุญาตให้ร่วมใช้ชื่อสกุลตามแบบ ช. 6 มาแสดงประกอบการยื่นคำขอ 

 

การเปลี่ยนชื่อสกุลโดยการสมรส การสิ้นสุดสมรส และเหตุอื่น ๆ

     ยื่นคำร้องได้ที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตที่ผู้ยื่นคำขอมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

หลักฐาน
      1. บัตรประจำตัวประชาชนผู้ยื่นคำขอ
      2. สำเนาทะเบียนบ้าน
      3. บันทึกข้อตกลงการใช้ชื่อสกุล กรณีคู่สมรสประสงค์จะใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือหลักฐานสิ้นสุดการสมรส หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น สูติบัตร, สำเนาทะเบียนรับบุตรบุญธรรม, สำเนาทะเบียน  รับรองบุตร ฯลฯ

 

การขอใบแทนหนังสือสำคัญ กรณีชำรุดหรือสูญหาย

      หนังสือสำคัญที่จะขอให้ออกใบแทน ได้แก่หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว หรือการตั้ง หรือเปลี่ยนชื่อรอง (ช. 3) หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนชื่อสกุล (ช. 2) หนังสือสำคัญแสดงการร่วมใช้ชื่อสกุล (ช. 4) หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล
(ช. 5) ยื่นคำร้องได้ที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตที่ผู้ยื่นคำขอมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

หลักฐาน
      1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำขอ
      2. สำเนาทะเบียนบ้าน
      3. หลักฐานการแจ้งความเอกสารสูญหาย กรณีหนังสือสำคัญสูญหาย
      4. หนังสือสำคัญที่ชำรุด กรณีหนังสือสำคัญชำรุด

 

การคัดและรับรองสำเนารายการในฐานข้อมูลทะเบียนชื่อบุคคล

      ยื่นคำร้องได้ที่ฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตที่ผู้ยื่นคำขอมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

หลักฐาน
      1. บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของรายการหรือผู้มีส่วนได้เสีย
      2. หลักฐานการเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับรายการที่จะขอคัดและรับรอง
      3. กรณีมอบอำนาจ
          - บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ
          - หนังสือมอบอำนาจ (ติดอากรแสตมป์)