(27 มิ.ย. 65) กทม. ถอดบทเรียน “ไฟไหม้ย่านสำเพ็งวานนี้” ประสานการไฟฟ้านครหลวงเร่งตรวจสอบหม้อแปลงไฟฟ้าทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ (สคอ.)

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2565
image

     “สำนักการโยธา กทม. วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน  และ สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ เข้าตรวจสอบอาคารพาณิชย์ย่านสำเพ็งที่ถูกไฟไหม้ พบอาคารไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ต้องรื้อถอนทิ้ง100% จำนวน 2 คูหา พร้อมระบุว่าพื้นที่จุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่อันตรายห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่เด็ดขาด ด้านการไฟฟ้านครหลวง ลงตรวจสอบหม้อแปลงไฟฟ้าที่คาดว่าเป็นต้นเพลิง แต่ยังไม่สรุปสาเหตุแน่ชัด”

      (27 มิ.ย.65) เวลา 08.50 น. นายไทวุฒิ  ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา พร้อมด้วยนายคมสัน  วิสาวะโท ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมอาคาร นายพัฒนเทพ เครือชะเอม ผู้อำนวยการส่วนควบคุมอาคาร 1 ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการโยธา เดินทางมาเพื่อเตรียมเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารพาณิชย์ย่านสำเพ็งเมื่อวานนี้ ร่วมกับตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์

     ผู้อำนวยการสำนักการโยธา เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่ามีอาคารพาณิชย์ได้รับความเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 5 คูหา ซึ่งคูหาที่ 1 และ 5 ได้รับผลกระทบน้อยมาก ส่วนคูหาที่ 2 – 3 โครงสร้างอาคารได้รับความเสียหายทั้งหมดต้องรื้อถอนโครงสร้างอาคารทิ้ง และคูหาที่ 4 ซึ่งเป็นจุดที่ตรงกับหม้อแปลงไฟฟ้า โครงสร้างอาคารได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตาม ทาง วสท. ได้ให้คำแนะนำว่าจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาวิเคราะห์อีกครั้งว่าจะสามารถปรับปรุงซ่อมแซมอาคารอย่างไร เบื้องต้น ยังไม่สามารถระบุได้ว่าโครงสร้างอาคารมีการดัดแปลงหรือไม่ ต้องไปตรวจสอบเอกสารการขออนุญาต พร้อมย้ำว่าโครงสร้างอาคารคูหาที่ 2 และ 3 ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว 100% เจ้าของอาคารต้องรื้อถอนทิ้ง โดยให้ประสานกับสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ต่อไป

     ด้านผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์  กล่าวว่า หลังจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่มาประเมินกับสำนักงานเขตสัมพันธุ์วงศ์ว่า จะต้องใช้ระยะเวลารื้อถอนนานเท่าใด พร้อมระบุว่าพื้นที่จุดเกิดเหตุ เป็นพื้นที่อันตราย ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด ส่วนประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงขอให้อยู่ห่างจากอาคารเท่าที่ทำได้.

     ขณะที่ นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ระบุว่า ยังไม่ยืนยันสาเหตุว่าเป็นเพราะหม้อแปลงมีปัญหาหรือไม่ และยืนยันว่าหม้อแปลงไม่ได้ระเบิด แต่หากดูจากสภาพแวดล้อมยอมรับว่าต้นเพลิงก็มาจากหม้อแปลง  ทั้งนี้ โดยปกติแล้วหม้อแปลงแต่ละลูกจะมีอายุการใช้งาน 25 ปี ส่วนหม้อแปลงที่เกิดเหตุตรวจสอบแล้วใช้งานมาแล้ว 20 ปี และเพิ่งตรวจสภาพการใช้งานไปเมื่อกลางปีที่แล้ว พร้อมยืนยันว่า การติดตั้งหม้อแปลงแต่ละจุดเป็นไปตามมาตรฐาน คือห่างจากอาคาร 60 เซนติเมตร เบื้องต้นขอยอมรับในความผิดพลาดไว้ก่อน ส่วนประชาชนจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ก็ให้เป็นไปตามกฎหมาย พร้อมเยียวยาผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต พร้อมระบุว่า ช่วงก่อนที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ลงมาเตรียมการเปิดใช้งาน เปิดสวิตซ์ เพื่อให้กระแสไฟเข้าสู่ระบบ แต่ในช่วงระหว่างเดินทางกลับไปเพื่อรายงาน ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุไฟดับ และเกิดเพลิงไหม้ดังกล่าว.

     “นอกจากนี้ สำนักการโยธา ได้ออกหนังสือด่วนที่สุดเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ประสานการไฟฟ้านครหลวง ให้เร่งตรวจสอบความปลอดภัยของหม้อแปลงไฟฟ้าที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครทั้งหมด โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในที่มีบ้านเรือนและประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ดังเช่นเมื่อวานนี้อีกซึ่งถือเป็นบทเรียนสำคัญ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าว”

 

อัลบั้มภาพ