(24 ก.ค. 65) ผู้ว่าฯ สัญจร เขตปทุมวัน แก้ไขปัญหาการจราจรรอบห้างสรรพสินค้า

วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
image

     (24 ก.ค. 65) เวลา 09.30 น. นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตปทุมวัน ตามนโยบาย "ผู้ว่าฯ กทม. สัญจร" เป็นประธานเปิดประชุมรับฟังปัญหา​ต่างๆ ในพื้นที่เขตปทุมวัน โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการโยธา โดยนายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา มอบหมายให้นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี และนายประสิทธิ์ อินทโฉม รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักการโยธา ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 9 สำนักงานเขตปทุมวัน 

     ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชนบ้านครัวใต้ เขตปทุมวัน ว่า วันนี้เป็นการลงพื้นที่ ผู้ว่าฯ สัญจร ครั้งที่ 5 ที่เขตปทุมวัน เป็นเขตไม่ใหญ่ พื้นที่ 8.3 ตารางกิโลเมตร แต่เป็นเขตที่เศรษฐกิจสำคัญ และมีความหลากหลาย มีทั้งชุมชน ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม ทำให้มีปัญหาหลายรูปแบบ แต่ปัญหาหลัก ๆ เป็นเรื่องการจราจรส่วนหนึ่ง เพราะเป็นจุดศูนย์กลางกรุงเทพฯ มีการจราจรที่หนาแน่น จุดที่จราจรติดขัดคือบริเวณบ่อนไก่ก่อนขึ้นทางด่วน แยกราชประสงค์ และแยกปทุมวันเนื่องจากมีห้างสรรพสินค้าและมีรถจอด เข้า-ออกจำนวนมาก และบริเวณถนนวิทยุมีรถจอดเพื่อส่งของร้านขายของริมทาง จุดเหล่านี้ได้ประสานงานกับสถานีตำรวจท้องที่พยายามผลักดันรถเข้าไปให้มากที่สุด รวมทั้งรถตุ๊กตุ๊ก รถสามล้อที่จะให้เข้าไปในห้างให้มากขึ้น เพื่อจะได้ไม่ต้องจอดรอรับคนอยู่ด้านนอก โดยจะมีการบริหารจัดการร่วมกับทางสถานีตำรวจท้องที่มากขึ้น ปัญหาอีกอย่างคือที่จอดรถสวนลุมพินี ซึ่งอยู่ฝั่งราชดำริตอนเช้ารถจะแน่นมาก ทำให้การจราจรติดขัดมาถึงซอยสารสิน เรื่องทางเท้าซึ่งมีจุดที่ต้องปรับปรุงหลายแห่ง เช่น ถนนวิทยุ ถนนหลังสวน ถนนราชดำริ ที่ยังมีสภาพทางเท้าไม่ดี ซึ่งเป็นจุดที่มีนักท่องเที่ยวเดินกันเยอะ

     ด้านชุมชนในเขตมีชุมชนอยู่กลางเมืองหลายแห่ง อาทิ ชุมชนบ้านครัวใต้ ชุมชนแฟลตรถไฟ ชุมชนวัดดวงแข และชุมชนบ่อนไก่ที่เพิ่งไฟไหม้ไป มีศูนย์บริการสาธารณสุขมี 2 แห่ง คือ ศูนย์ฯ 5 กับศูนย์ฯ 16 ในการดูแลพื้นที่ ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ทรงตัวค่อนข้างดีขึ้น กทม.เปิดบริการตรวจและฉีดวัคซีนโควิดเพิ่มในวันเสาร์ ณ ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่งมีคนรับบริการมากขึ้นด้วย ตัวอย่างที่ดีของเขตนี้ คือโรงเรียนวัดดวงแข เปิดให้เด็กนักเรียนมาทำกิจกรรมเรียนรู้วันเสาร์ (Saturday school ) มีรุ่นพี่จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาสอนให้ เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตร เพื่อใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ มีกิจกรรมตอนเย็นเพื่อรอพ่อแม่มารับเด็กจะได้ไม่เสียเวลา มีการฝึกอาชีพเสริมให้เด็กสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ เป็นตัวอย่างเรื่องการศึกษาที่เป็นต้นแบบและสามารถขยายไปที่อื่นได้

     ส่วนการเก็บขยะไม่มีปัญหามากนัก เนื่องจากพื้นที่เล็กหลาย ๆ ที่อย่างห้างสรรพสินค้า ห้างร้าน บริหารจัดการขยะเองเหลือขยะมาทิ้งไม่มาก ที่น่าสนใจคือปทุมวันเป็นเขตนำร่อง 1 ใน 3 เขต ที่เราจะทำการแยกขยะ หรือแยกขยะเปียกขยะรีไซเคิล ขณะนี้กำลังวางแผนในการเป็นต้นแบบอยู่ 

     สำหรับจุดเสี่ยงน้ำท่วม เขตมีจุดเสี่ยงที่วัดดวงแข ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้มากขึ้น บริเวณซอยร่วมฤดี มีน้ำรอระบายเล็กน้อย แต่สามารถระบายน้ำลงคลองไผ่สิงโตได้ 

     ส่วนจุดหาบเร่แผงลอยมี 4 จุดที่ต้องพิจารณาทบทวนจัดระเบียบให้อยู่ร่วมกันได้ระหว่างผู้ค้าและประชาชนที่ใช้ทางเท้าสัญจร ประกอบด้วย 1.บริเวณ ถ.สารสิน 2.บริเวณห้างโรเล็ก ถ.วิทยุ 3.บริเวณถ.หลังสวน และ4.บริเวณวัดดวงแข ซึ่งต้องมีมาตรการความสะอาดเรียบร้อย มีการเว้นระยะที่เหมาะสม

     สำหรับการร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue อัตราการตอบรับของเขต 96% ถือว่าค่อนข้างดี ทางตำรวจให้ความร่วมมือดีอย่างมาก  รูปแบบปัญหาในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนก็พยายามแก้ไขปัญหาเต็มที่ บางครั้งเกิดปัญหาในการรับเรื่อง อาทิ ปัญหาทางเท้า แต่ผู้ร้องเรียนแจ้งว่าเป็น ปัญหาอื่นๆ ไม่ได้แจ้งว่าปัญหาอะไร ทำให้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ ขณะนี้ฝ่ายพัฒนาใช้ AI ในการวิเคราะห์ปัญหาและทำการแบ่งประเภท เพื่อให้ผู้รับผิดชอบสามารถหยิบเรื่องไปแก้ไขได้ง่ายขึ้น

 

อัลบั้มภาพ