(28 ก.ย. 65) สำนักการโยธา เร่งแก้ไขกายภาพโค้งรัชดา สั่งปูพอรัสแอสฟัลต์ (Porous Asphalt) ป้องกันปัญหาอุบัติเหตุซ้ำซ้อน (สกบ.)

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2565
image

     (28 ก.ย. 65) เวลา 13.10 น. นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ลงพื้นที่ตรวจสอบความเรียบร้อยงานปรับปรุงผิวจราจรด้วยพอรัสแอสฟัลต์ (Porous Asphalt) บริเวณโค้งรัชดาภิเษก (ฝั่งขาเข้า) ตรงข้างศาลอาญา แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. โดยมี นายธวัชชัย สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างและบูรณะ พร้อมด้วย นายมิพล ปุณวัชระพิศาล ผู้อำนวยการส่วนก่อสร้างและบูรณะ 1 นายสุประชา บวรโมทย์ ผู้อำนวยการส่วนก่อสร้างและบูรณะ 2 นายณัฐพล นาคพันธ์ หัวหน้าศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนน 3 ส่วนฯ 2 ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการโยธา ร่วมลงพื้นที่และรายงานความคืบหน้า

     จากเหตุการณ์อุบัติเหตุบริเวณโค้งรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 65 ผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้ลงสำรวจพื้นที่เกิดเหตุและมอบหมายให้สำนักการโยธา เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาลักษณะทางกายภาพบริเวณโค้งรัชดาภิเษกโดยด่วน เพื่อป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำรอยอย่างที่ผ่านมา สำนักการโยธา ได้ตรวจสอบสถิติการเกิดอุบัติเหตุบริเวณดังกล่าว พบว่าช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุมักจะเกิดในช่วงเวลากลางคืนซึ่งผู้ใช้เส้นทางสามารถใช้ความเร็วได้สูงกว่าความเร็วที่กฎหมายกำหนด รวมถึงอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือ มักจะเกิดเหตุในช่วงเวลาที่มีฝนตกหนักทำให้รถยนต์เกิดการเหินน้ำ(Hydroplaning) ซึ่งหมายถึงอาการที่ล้อรถยนต์ไม่สามารถสัมผัสกับพื้นถนนได้อย่างเต็มที่ส่งผลให้ผู้ขับขี่สูญเสียการควบคุมรถและทำให้รถเสียการทรงตัวจนเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง

     สำนักการโยธา กทม. ได้บูรณาการความร่วมมือร่วมกับ สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันตรวจสอบความเสียดทานของผิวจราจรบริเวณพื้นที่โค้งรัชดาฯ พบว่าค่าความเสียดทานที่ตรวจสอบมีค่าต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากผิวจราจรเสื่อมสภาพจากการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน สำนักการโยธา จึงได้กำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยการปรับปรุงผิวจราจรบริเวณดังกล่าว ระยะทางประมาณ 1 กม. โดยใช้วัสดุชนิดพอรัสแอสฟัลต์(Porous Asphalt) 

      ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถช่วยเพิ่มความเสียดทานของผิวจราจร และจากผลการทดสอบวัสดุดังกล่าวมีความเสียดทานสูงกว่าผิวของแอสฟัลต์ทั่วไป อีกทั้งยังสามารถระบายน้ำในผิวจราจรได้อย่างรวดเร็ว (ความเร็วในการระบายน้ำบนผิว 4 ซม./วินาที) ทั้งนี้ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมขังบนผิวจราจร และสามารถลดการเกิดอาการเหินน้ำของรถยนต์ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันดำเนินการปูผิวจราจรไปแล้วกว่า 300 เมตร และเตรียมประสานให้สำนักการจราจรและขนส่งเข้าดำเนินการตีเส้นจราจรในส่วนที่ปูผิวแล้วเสร็จ

     อย่างไรก็ตาม ผอ.สำนักการโยธา ได้กำชับเจ้าหน้าที่ควบคุมงานให้กำกับดูแลการทำงานของผู้รับจ้างโดยเฉพาะระดับของผิวจราจรจะต้องเรียบเสมอกัน ความหนาของผิวจราจรจะต้องไม่ปิดกั้นทางระบายน้ำลงสู่ตะแกรงบริเวณขอบคันหินของทางเท้า เพื่อให้น้ำสามารถระบายออกจากผิวถนนได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงให้เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงกลางเดือน ต.ค. นี้

 

อัลบั้มภาพ