เนื่องจากสำนักงานเขตธนบุรีไม่มีบริเวณที่จอดรถ ผู้มาติดต่อราชการสามารถจอดรถได้บริเวณลานวัดเวฬุราชิณ บริษัททุนเติม จำกัด หรือสถานที่จอดรถเอกชนใกล้เคียง (โดยอาจมีค่าใช้จ่าย)

 

วิธีปฏิบัติและข้อแนะนำการทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง

วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
image
                    ผู้ที่ประสงค์จะทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ต้องไปติดต่อยื่นคำร้องที่สำนักงานเขต โดยขอทำที่สำนักงานเขตแห่งใดก็ได้ และหากประสงค์จะขอทำพินัยกรรมนอกสำนักงานเขต ต้องอยู่ภายในท้องที่รับผิดชอบของสำนักงานเขตนั้นๆ เท่านั้น
                    ค่าธรรมเนียมการทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง
                                        - กรณีขอทำที่สำนักงานเขต ครั้งละ 50 บาท
                                        - กรณีขอทำนอกสำนักงานเขต ครั้งละ 100 บาท
                                        - สำเนาคู่ฉบับๆ ละ 10 บาท
                                        - ค่าพยานไม่เกินวันละ 50 บาท
                    หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงต่อสำนักงานเขต ได้แก่
                                        1. เอกสารสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น โฉนดที่ดิน, ใบหุ้น ฯลฯ
                                        2. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ทำพินัยกรรม
                                        3. สำเนาทะเบียนบ้าน
                                        4. พยานอย่างน้อย 2 คน
 
                    ผู้ทำพินัยกรรมต้องแจ้งข้อความที่ประสงค์จะให้ปรากฏในพินัยกรรมแก่ผู้อำนวยการเขตและต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน พร้อมกัน เมื่อผู้อำนวยการเขตจดข้อความตามที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบและอ่านให้ผู้ทำพินัยกรรมฟังแล้ว ผู้ทำพินัยกรรมและพยานต้องลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อผู้อำนวยการเขตลงลายมือชื่อ วันเดือนปีที่จัดทำ ข้อความที่ลงไว้ด้วยตนเองเป็นสำคัญว่า "พินัยกรรมได้ทำขึ้นถูกต้องตามขั้นตอนที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 อนุมาตรา (1) ถึง (3) พร้อมประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญแล้ว ถือเป็นสิ้นสุดการจัดทำพินัยกรรม
 
                    ผู้ทำพินัยกรรมสามารถจะมอบพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองที่ทำขึ้นให้ผู้อำนวยการเขตเก็บรักษา โดยผู้ทำพินัยกรรมจะได้รับ "ใบรับพินัยกรรม (พ.ก.7)" ไว้เป็นหลักฐาน หรือหากผู้รับพินัยกรรมจะขอรับพินัยกรรมไปเก็บรักษาเอง ต้องลงลายมือชื่อขอรับพินัยกรรมนั้นในสมุดทะเบียนคุมพินัยกรรมของสำนักงานเขต
 
                    พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองนี้ ผู้อำนวยการเขตไม่มีอำนาจจะเปิดเผยแก่บุคคลอื่นใดในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ และผู้ทำพินัยกรรมสามารถเรียกดูหรือขอนำไปเก็บรักษาไว้เองเมื่อใดก็ได้ (มาตรา 1662 วรรคหนึ่ง) โดยก่อนที่ผู้อำนวยการเขตจะส่งมอบพินัยกรรมให้แก่ผู้ทำพินัยกรรม จะดำเนินการคัดสำเนาพินัยกรรมและลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราประจำตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ ซึ่งสำเนาพินัยกรรมนั้นจะเปิดเผยให้แก่บุคคลอื่นใดไม่ได้ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ (มาตรา 1662 วรรคสอง)
 
การขูด ลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ ในพินัยกรรม จะทำให้พินัยกรรมนั้นไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมเป็นผู้ดำเนินการ โดยมีพยาน และผู้อำนวยการเขตลงลายมื่อชื่อกำกับไว้เป็นหลักฐาน

ตัวอย่างแบบคำร้องขอทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง
ตัวอย่างพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง