การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566

วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2566
image

   คณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานครได้มีการจัดประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โดยมีรศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร

     รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวในที่ประชุมว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กรุงเทพมหานครเองก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในบางพื้นที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ รวมถึงการที่มีผู้สูงอายุที่อยู่ในการดูแลค่อนข้างมาก หากให้พูดตรง ๆ ทรัพยากรของกรุงเทพมหานครนั้นไม่เพียงพอ ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องเข้ามาร่วมทำงานให้ครบวงจร และถึงเวลาที่ต้องมาดูว่างานทั้งหมดคืออะไรและอย่าทำงานซ้ำซ้อนกัน แต่ต้องไม่มีช่องว่างระหว่างกัน แล้วทำให้งานนั้นมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพมากขึ้น ในที่สุดก็จะย้อนกลับไปตามที่ท่านผู้ว่าฯ กล่าวว่าทำอย่างไรเราจะทำงานน้อยลง แต่ได้ผลงานมากขึ้น ความหมายคือเราใช้เวลาและการออกแบบการทำงานให้มากขึ้น จึงเป็นเหตุให้เรื่องผู้สูงอายุถูกขับเคลื่อน ทั้งด้วยสถานการณ์ ทั้งด้วยสถานะที่ผ่านมาของกรุงเทพมหานครและจุดมุ่งเน้นครั้งนี้เราอยากให้จุดมุ่งเน้นไปถึงนโยบายท่านผู้ว่าฯ ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่พยายามทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าเขายังมีฟังก์ชันอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องของเศรษฐกิจสังคมในการทำให้เราแข็งแรงขึ้น และต้องขยายไปถึงการทำให้ปฏิสัมพันธ์ของผู้สูงอายุกับคนกลุ่มอื่นในสังคมลื่นไหลไปด้วยกัน

   สำหรับการประชุมวันนี้ ที่ประชุมได้นำเสนอแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) โดยมีวิสัยทัศน์คือ “ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ เป็นพลังของสังคม” ประกอบด้วย 3 แผนปฏิบัติการย่อย คือ การเตรียมความพร้อมของวัยก่อนสูงอายุ การยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และการบริหารและส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งมีเป้าหมายรวม 25 เป้าหมาย โดยในบางเป้าหมาย อาทิ ชุมชนมีระบบป้องกันสาธารณภัยสำหรับผู้สูงอายุ

     รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้แนะนำว่าการทำงานยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ในการทำให้เกิดผลนั้นต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันหลายฝ่าย ในการนำเสนอแผนการทำงานอีกส่วนคือการปฏิบัติตามนโยบายผู้ว่าฯ กทม. ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านผู้สูงอายุ จำนวน 5 นโยบาย คือ 1. อาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) 2. ชมรมผู้สูงอายุ สร้างสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพใจ 3. คลังปัญญาผู้สูงอายุ 4. หมอถึงบ้าน ผ่าน Telemedicine 5. ส่งเสริมกลไกภาคประชาชนสุขภาพดี ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ โดยใน 5 นโยบายนี้ รองผู้ว่าฯ ทวิดา เน้นย้ำเรื่อง Telemedicine เป็นพิเศษ โดยจำเป็นต้องมีการสื่อสารและจัดทำเส้นทางการให้บริการกับผู้ป่วย พร้อมกับการพัฒนาอุปกรณ์ เทคโนโลยี เพื่อสร้างความมั่นใจในระบบ และเกิดการใช้บริการ telemedicine อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากเชื่อมโยงกับนโยบายโรงพยาบาล 10,000 เตียงของผู้ว่าฯ ชัชชาติ เช่นกัน

      ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังได้หารือในวาระเรื่องการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อกำกับ ติดตามและประเมินผลตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง และแผนด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร โดยที่ประชุมมีมติให้คณะอนุกรรมการฯ แบ่งเป็น 3 คณะ ตามแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) โดยจะได้มีการหารือถึงผลการทำงานจากการประชุมในครั้งต่อไป

      การประชุมในวันนี้ มีนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจิรัฏฐ์ ม้าไว ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารและผู้แทนจากสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุม

คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
  • 100.00%
  • 0.00%
ความคิดเห็น
0 รายการ