คณะอนุกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม ชุดที่ 8 ประชุมเพื่อติดตามปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์

คณะอนุกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม ชุดที่ 8 ประชุมเพื่อติดตามปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์

ในวันที่ 3 เมษายน 2568 เวลา 13.00 น. คณะอนุกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม ชุดที่ 8 โดยมีนายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ รองประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่ประธาน พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ ณ ห้องประชุม 11 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง เพื่อรับทราบข้อมูลการดำเนินงานของสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ โดยสำนักงานเขตฯ ชี้แจงข้อมูลสรุปประเด็นได้ดังนี้
1. สถานการประกอบการในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 จำแนกได้ ดังนี้
1.1 สถานที่จำหน่ายอาหาร โดยมีจำนวนสถานประกอบการที่ได้รับอนุญาตทั้งหมด 247 แห่ง และยังไม่ได้รับอนุญาต 42 แห่ง ซึ่งออกคำแนะนำให้ขอรับใบอนุญาต หรือ อยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาต
1.2 สถานที่สะสมอาหาร โดยมีจำนวนสถานประกอบการที่ได้รับอนุญาตทั้งหมด 259 แห่ง
1.3 กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยมีจำนวนสถานประกอบการที่ได้รับอนุญาตทั้งหมด 281 แห่ง และยังไม่ได้รับอนุญาต 22 แห่ง ซึ่งถูกส่งดำเนินคดี หรือ อยู่ระหว่างยื่นขออนุญาต
1.4 ตลาด โดยมีจำนวนสถานประกอบการที่ได้รับอนุญาตทั้งหมด 1 แห่ง
1.5 สุสานและฌาปนสถาน โดยมีจำนวนสถานประกอบการที่ได้รับอนุญาตทั้งหมด 4 แห่ง
1.6 การจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ โดยมีจำนวนสถานประกอบการที่ได้รับอนุญาตทั้งหมด 86 แห่ง และยังไม่ได้รับอนุญาต 355 แห่ง ซึ่งให้ยื่นขอรับอนุญาต หรือ อยู่ระหว่างพิจารณาอนุญาต
2. การขอใบอนุญาตประกอบกิจการ
2.1 ประชาชนยื่นคำขอใบอนุญาตกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพสำหรับร้านอาหารพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตร และผ่านการตรวจสอบเอกสารครบถ้วน และถูกต้องด้วยสุขลักษณะ จะออกใบอนุญาตภายใน 30 วัน
2.2 ประชาชนยื่นคำขอใบอนุญาตกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพสำหรับร้านอาหารพื้นที่เกิน 200 ตารางเมตร และผ่านการตรวจสอบเอกสารครบถ้วน แต่ไม่ถูกต้องด้วยสุขลักษณะ จะออกคำสั่งไม่อนุญาต
2.3 ประชาชนยื่นคำขอหนังสือรับรองการแจ้งฯ ร้านอาหารพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร และผ่านการตรวจสอบเอกสารครบถ้วน จะออกใบรับแจ้ง และออกหนังสือรับรองการแจ้ง ภายใน 7 วัน
2.4 ประชาชนยื่นคำขอหนังสือรับรองการแจ้งฯ ร้านอาหารพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร แต่ไม่ผ่านการตรวจสอบโดยมีเอกสารไม่ครบถ้วน จะต้องคืนคำขอ/คำแจ้งความไม่ถูกต้อง ภายใน 7 วัน

3. การดำเนินการทางกฎหมายตามอำนาจหน้าที่
กรณีประกอบการโดยไม่ได้แจ้งหรือประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต มีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
1) ออกแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงาน (แบบ นส.1) ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535
2) กรณีไม่ได้มายื่นคำขอฯ ออกหนังสือแจ้งให้ยื่นเอกสารคำขอฯ ภายใน 7 วัน
3) หากผู้ประกอบการไม่ดำเนินการ จะส่งเปรียบเทียบปรับตามขั้นตอนกฎหมาย
4. ความปลอดภัยและมาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร
4.1 ตรวจด้านสุขลักษณะ ตามเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับรายใหม่
4.2 จัดแผนตรวจแนะนำด้านสุขลักษณะ สุ่มตรวจอาหารด้านจุลินทรีย์และด้านเคมี ในสถานประกอบการจำหน่ายอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ท และตลาด (รายเดิม)
4.3 ตรวจเฝ้าระวังคุณภาพอาหารในเทศกาลสำคัญ
4.4 ร่วมกับสำนักอนามัยสุ่มตรวจด้านสุขลักษณะ จุลินทรีย์ และเคมีในสถานประกอบการที่มีการจำหน่ายอาหาร
5. การติดตั้งถังดักไขมันในสถานที่จำหน่ายอาหาร
ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหาร และสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2565 ข้อ 13(3) ต้องมีการแยกไขมัน หรือการบำบัดด้วยวิธีการอื่นที่มีประสิทธิภาพไม่ต่ำกว่าการบำบัดด้วยถังดักไขมัน หรือบ่อดักไขมัน ซึ่งสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ได้ควบคุม กำกับสถานประกอบการที่มีการจำหน่ายอาหารในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ ทั้งหมด 260 แห่ง อย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนการดำเนินงาน ดังนี้
5.1 เดือนมีนาคม 2568 มีกลุ่มเป้าหมาย 100 แห่ง และมีผลดำเนินการคือผ่านการตรวจสอบแล้วทั้งหมด 100 แห่ง
5.2 เดือนเมษายน - พฤษภาคม 2568 มีกลุ่มเป้าหมาย 160 แห่ง อยู่ระหว่างการดำเนินการ

6. การจัดเก็บค่าธรรมเนียม
6.1 ค่าธรรมเนียมเนียมเก็บขนมูลฝอย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
- ค่าเป้าหมาย 2,800,000 บาท
- ดำเนินการจัดเก็บตั้งแต่ ตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568 เป็นเงิน 1,249,110 บาท คิดเป็นร้อยละ 44.61
- ค่าเป้าหมาย คงเหลือ 1,550,890 บาท คิดเป็นร้อยละ 55.39
6.2 ค่าธรรมเนียมขนถ่ายสิ่งปฏิกูล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
- ค่าเป้าหมาย 350,000 บาท
- ดำเนินการจัดเก็บตั้งแต่ ตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568 เป็นเงิน 241,250 บาท คิดเป็นร้อยละ 68.92
- ค่าเป้าหมาย คงเหลือ 108,750 บาท คิดเป็นร้อยละ 31.08
6.3 ค่าธรรมเนียมขนถ่ายสิ่งปฏิกูลประเภทไขมัน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
- ค่าเป้าหมาย 140,000 บาท
- ดำเนินการจัดเก็บตั้งแต่ ตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568 เป็นเงิน 84,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 60.00
- ค่าเป้าหมาย คงเหลือ 56,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 40.00
7. แนวทางการดำเนินงานตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยสาธารณสุข พ.ศ. 2562
ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ถึงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฯ ทั้งรูปแบบการเดินแจ้งประชาชน-ผู้ประกอบการถึงหน้าอาคาร และเผยแพร่ในรูปแบบสื่อสังคมออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม
ในการนี้ คณะอนุกรรมการฯ เสนอแนะให้สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ ดำเนินการดังนี้
1. สำรวจพื้นที่ของสถานประกอบการที่เป็นอาคารตลอดแนวริมน้ำ รวมทั้งลงพื้นที่ตรวจสอบโรงแรมหรือโฮสเทลว่ามีการติดตั้งบ่อดักไขมันหรือไม่ มีการปล่อยน้ำเสีย และมีพื้นที่อาคารยื่นออกไปที่ริมน้ำหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามที่กำหนดให้สำนักงานเขตฯ ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
2. ตรวจสอบสถานประกอบการที่เปิดใหม่ โดยให้สถานประกอบการขอใบอนุญาติประกอบกิจการให้ถูกต้อง และสำนักงานเขตฯ ต้องดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้ประกอบการที่ไม่ขอใบอนุญาติประกอบกิจการ
3. ควรผลิตเครื่องแต่งกาย หมวก และผ้ากันเปื้อน แจกจ่ายให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารเพื่อให้ถูกสุขลักษณะ หรือหากไม่มีการผลิตและแจกจ่ายให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร สำนักงานเขตฯ อาจผลิตและจัดจำหน่ายในราคาย่อมเยาเพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อได้ โดยให้ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลเป็นผู้ดำเนินการ
4. ตรวจสอบประสิทธิภาพของบ่อดักไขมันอย่างสม่ำเสมอ โดยต้องมีประสิทธิภาพตามที่กำหนด
5. ตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบการที่ขอใบอนุญาตประกอบกิจการอย่างละเอียดรอบคอบ หากพบว่าไม่มีสัญชาติไทยหรือเป็นตัวแทนของต่างชาติ ให้สำนักงานเขตฯ ส่งข้อมูลผู้กระทำความผิดให้กับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการต่อไป
6. เน้นย้ำเรื่องความสำคัญของบ่อดักไขมันในโรงเรียน เพื่อสุขอนามัยที่ดีในโรงเรียน พร้อมทั้งชี้แจงให้นักเรียนและผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญของบ่อดักไขมัน