กทม. ต้อนรับ UNDP ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ พัฒนาโครงการจัดทำตรารับรองความเท่าเทียมทางเพศสำหรับหน่วยงานรัฐของ กทม.

วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2567
image

 

 

กทม. ต้อนรับ UNDP ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ พัฒนาโครงการจัดทำตรารับรองความเท่าเทียมทางเพศสำหรับหน่วยงานรัฐของ กทม.

(8 ก.ค. 67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ Mr. Chris Hemus หัวหน้าคณะผู้แทนจาก UNDP และ Audit and Evaluation Advisory Committee (AEAC) เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานตามโครงการจัดทำตรารับรองความเท่าเทียมทางเพศสำหรับหน่วยงานรัฐของกรุงเทพมหานคร ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า

 

 

โดยโครงการจัดทำตรารองรับความเท่าเทียมทางเพศสำหรับหน่วยงานรัฐ (Gender Equality Seal for Public Institutions) เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและยกย่องหน่วยงานภาครัฐที่มุ่งมั่นในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและพัฒนาศักยภาพผู้หญิง นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals -SDGs) ข้อที่ 5 ด้านความเท่าเทียมทางเพศ และข้อที่ 16 สันติภาพ ยุติธรรม และสถาบันที่เข็มแข็ง

 

 

สำหรับประโยชน์ที่กรุงเทพมหานครจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการจัดทำตรารับรองความเท่าเทียมทางเพศสำหรับหน่วยงานรัฐของกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับการทำงานด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศให้ได้มาตรฐานสากลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมุมมองด้านมิติทางเพศ ในการทำงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งการประเมินผลตามโครงการฯ จะช่วยสะท้อนจุดแข็ง จุดอ่อนของผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศที่ผ่านมาของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้สามารถกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศให้กับกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีการดำเนินโครงการ กิจกรรม หรือจัดบริการสาธารณะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศให้กับประชาชนซนเป็นจำนวนมาก แต่มีการดำเนินการอยู่ในหลายหน่วยงาน การเข้าร่วมโครงการฯ จึงเป็นโอกาสในการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศของกรุงเทพมหานครให้เป็นระบบและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันการเข้าร่วมโครงการฯ จะทำให้มิติการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศภายในองค์กร โดยเฉพาะกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นข้าราชการและลูกจ้างของกรุงเทพมหานครได้รับความสำคัญและมีกลไกในการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการผลักดันให้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศเป็นกระแสหลัก (Gender Mainstreaming) ในการกำหนดนโยบายของกรุงเทพมหานครด้วย

 

สำหรับการหารือในครั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีประเด็นข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานตามโครงการฯ อาทิ ด้านการกำหนดตัวชี้วัดและเกณฑ์ประเมินผลตามโครงการฯ ด้านการจัดส่งเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบการตรวจประเมินผลตัวชี้วัด และด้านการประสานกับผู้รับผิดชอบโครงการ เป็นต้น