[Work&Life] ‘องค์กรควรทำอย่างไร? ในวันที่สุขภาพกายใจของพนักงานสำคัญไม่แพ้กับการบริหารธุรกิจ’
[Work&Life] ‘องค์กรควรทำอย่างไร? ในวันที่สุขภาพกายใจของพนักงานสำคัญไม่แพ้กับการบริหารธุรกิจ’ สร้าง Well-Being ผ่าน 5 เสาหลัก ที่ดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานและองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน
.
.
องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล ส่งผลให้เราสูญเสียวันทำงานทั่วโลกถึง 12,000 ล้านวัน และสร้างความเสียหายกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยความเครียดที่เกี่ยวข้องกับการทำงานมีส่วนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกนั้น มีอัตราสูงถึง 120,000 รายต่อปี
.
ปัจจุบัน บริษัททั่วโลกกว่า 74% เริ่มมีโครงการด้านสุขภาพจิตและมีนโยบายการทำงานเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงาน ซึ่ง 80% ของพนักงานเชื่อว่าตนจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความพึงพอใจในงานของตัวเองมากขึ้นเมื่อองค์กรให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงาน
.
FutureTales ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา โดย MQDC ได้นำเสนอรายงานเกี่ยวกับอนาคตของแรงงานภายในปี 2035 เอาไว้ ดังนี้
.
1. การขาดแคลนแรงงาน
ภายในปี 2030 จะมีการขาดแคลนแรงงานถึง 18 ล้านตำแหน่ง ซึ่งส่งผลให้มีการสูญเสียรายได้ทั่วโลกถึง 8.45 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี
.
2. การหาค่าและความสอดคล้องในองค์กร
55% ของคนเจน Z และ 48% ของคนเจน Y มีแนวโน้มที่จะลาออกหากพวกเขาพบว่าคุณค่าของตัวเองไม่สอดคล้องกับองค์กรที่ทำงานอยู่
.
3. การชดเชยที่ปรับตามบุคคล
85% ของผู้นำด้านทรัพยากรบุคคลให้ความสำคัญกับการชดเชยและสวัสดิการที่ปรับตามบุคคล แต่มีเพียง 42% ขององค์กรที่นำไปปฏิบัติจริง
.
4. การเปลี่ยนแปลงอาชีพ
ภายในปี 2030 ในตลาดแรงงานอาจมีการเปลี่ยนแปลงอาชีพเพิ่มเติมถึง 12 ล้านตำแหน่ง
.
5. ความต้องการแรงงานด้านสีเขียว (Green Talent) ความต้องการแรงงานด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 38.5% ระหว่างปี 2015 ถึง 2021 แต่มีเพียง 13% ของแรงงานที่มีทักษะที่จำเป็น
.
.
[ 10 มิติความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน (Employee-centric) ]
.
โดยในแต่ละมิติจะครอบคลุมความต้องการที่แตกต่างกันในการดูแลทั้งร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อมของพนักงาน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
.
1. Physical Well-being (ความเป็นอยู่ที่ดีทางกายภาพ)
ความต้องการทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่เหมาะสม และการรักษาสุขภาพการนอน
.
2. Emotional Well-being (ความเป็นอยู่ที่ดีทางอารมณ์)
ความสามารถในการแสดงอารมณ์ จัดการกับอารมณ์ทั้งบวกและลบ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง
.
3. Spiritual Well-being (ความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตวิญญาณ)
การมีจุดมุ่งหมายในชีวิต คุณค่า และความหมายในชีวิต
.
4. Social Well-being (ความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม)
การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดี การมีส่วนร่วมในชุมชน
.
5. Intellectual Well-being (ความเป็นอยู่ที่ดีทางปัญญา)
ความสามารถในการพัฒนาทักษะและความรู้ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
.
6. Creative Well-being (ความเป็นอยู่ที่ดีทางความคิดสร้างสรรค์)
การให้ความสำคัญและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม
.
7. Occupational Well-being (ความเป็นอยู่ที่ดีในด้านอาชีพ)
ความพึงพอใจส่วนบุคคลในอาชีพและงาน
.
8. Financial Well-being (ความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงิน)
ความพึงพอใจในสถานะการเงินปัจจุบัน และการจัดการความมั่นคงทางการเงินในอนาคต
.
9. Environmental Well-being (ความเป็นอยู่ที่ดีทางสิ่งแวดล้อม)
การมีสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
.
10. Digital Well-being (ความเป็นอยู่ที่ดีทางดิจิทัล)
การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีโดยรวม
.
.
[ กรณีศึกษาในเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีจาก Google องค์กรชั้นนำระดับโลก ]
.
Google ได้มอบสวัสดิการเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงานในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น 80/20 Rule หรือการให้พนักงานใช้เวลา 80% ในการทำงานหลัก และ 20% ในโครงการสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มนวัตกรรมและความมีส่วนร่วม การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมองค์กรให้มีพื้นที่ผ่อนคลาย การมอบสวัสดิการครอบครัวอย่าง Baby Bonus ให้กับพนักงาน การส่งเสริมการทำงานแบบยืดหยุ่น และการทำงานจากระยะไกล เพื่อรักษาสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน เป็นต้น
.
ซึ่งผลตอบรับหลังจากการปรับนโยบายให้สนับสนุนความเป็นอยู่ของพนักงานนั้น ทำให้ Google ได้รับการจัดอันดับสูงในด้านความพึงพอใจของพนักงานจากการสำรวจต่างๆ เช่น Glassdoor และ Fortune ซึ่งมักติดอันดับบริษัทที่ดีที่สุดในการทำงาน
.
ทั้งยังทำให้อัตราการลาออกของพนักงานต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งสะท้อนถึงการมีส่วนร่วมและการรักษาพนักงานได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบเชิงบวกต่อประสิทธิภาพการทำงาน นวัตกรรมต่างๆ และช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงานอีกด้วย
.
.
[ ‘องค์กร’ จุดเริ่มต้นของความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับพนักงาน ]
.
‘พนักงาน’ คือสิ่งสำคัญที่สุดในองค์กร โดยมีความสามารถในการช่วยขับเคลื่อนทั้งรายได้และนวัตกรรม ดังนั้น ‘องค์กร’ จึงมีหน้าที่ในการสนับสนุนทุกๆ ความสามารถ ความสร้างสรรค์ และความต้องการต่างๆ ของพนักงาน เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้เกิดขึ้นได้จริง
.
จากกรณีศึกษาของ Google แสดงให้เห็นถึงความสำคัญขององค์กรที่มีผลต่อ ‘ความเป็นอยู่ที่ดี’ ของพนักงานอย่างมาก โดยนอกจากจะทำให้พนักงานมีความสุข มีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ อันส่งผลต่อเนื่องไปยังการทำงานได้ดีและมีประสิทธิภาพ ยังสามารถช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับองค์กร และช่วยดึงดูดบุคลากรมากความสามารถให้เกิดความสนใจที่จะเข้ามาร่วมงานกับองค์กร เพื่อสร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน
.
ดังนั้น Well-being ที่ดีจึงไม่ใช่เรื่องของ Employee-centric อย่างเดียวอีกต่อไป แต่ต้องทำให้เป็นเรื่องของ Organization-centric ด้วย ผ่านการแปลง Employee-centric 10 มิติให้กลายเป็น 5 เสาหลักในการจัดการความเป็นอยู่ที่ดีได้ ดังนี้
.
.
1. Workplace & Environment (สถานที่ทำงานและสิ่งแวดล้อม)
เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ผลิตผลและปลอดภัย ปรับตามความต้องการของการดำเนินงาน รวมถึงการออกแบบพื้นที่ทำงาน การจัดการความเสี่ยงในการดำเนินงาน และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการภายในและประสบการณ์ของลูกค้า
.
การวางนโยบายในเรื่อง Workplace & Environment จะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินงาน การสร้างความปลอดภัย และประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงานและลูกค้า ส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นในองค์กร
.
.
2. Employee Engagement & Fulfillment (การมีส่วนร่วมและความพึงพอใจของพนักงาน)
เน้นบทบาทขององค์กรในการสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานมีส่วนร่วมผ่านการพัฒนาสายอาชีพ ความอิสระในการทำงาน และการสนับสนุนด้านอารมณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการรักษาพนักงาน
.
การวางนโยบายในเรื่อง Employee Engagement & Fulfillment นั้น ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วม และความพึงพอใจในงานที่มากขึ้น ส่งผลให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข ลดการลาออก และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
.
.
3. Cultural & Social Cohesion (ความสามัคคีทางวัฒนธรรมและสังคม)
เน้นความสามารถขององค์กรในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างนวัตกรรมและรักษาความสามารถในการแข่งขัน มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
.
การวางนโยบายในเรื่อง Cultural & Social Cohesion ส่งผลให้พนักงานมีความพึงพอใจในที่ทำงาน และรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ลดความขัดแย้งและเพิ่มการทำงานร่วมกัน
.
.
4. Digital & Innovation (ดิจิทัลและนวัตกรรม)
เน้นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งและเชื่อมโยงทางสังคม การทำงานร่วมกันของทีม และความรับผิดชอบทางสังคม
.
การวางนโยบายในเรื่อง Digital & Innovation ส่งผลให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างสรรค์วิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ และเพิ่มความสามารถในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
.
.
5. Financial (การเงิน)
สะท้อนถึงสุขภาพทางการเงินขององค์กรและการจัดการเชิงกลยุทธ์ เน้นการวางแผนทางการเงิน ความยืดหยุ่นในการดำเนินงานทางการเงิน และความยั่งยืนในระยะยาว
.
การวางนโยบายในเรื่อง Financial ทำให้พนักงานมีสมาธิในการทำงานมากขึ้น ลดความกังวลเรื่องการเงินส่วนตัว และทำให้สามารถวางแผนอนาคตได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตขององค์กรในระยะยาว
.
.
[ กรณีศึกษาการใช้ 5 เสาหลักในการดูแลความเป็นอยู่ที่ดีในทุกมิติ ]
.
จาก 5 เสาหลัก สามารถนำมาจัดหมวดหมู่ได้ 3 มิติ อันประกอบไปด้วย มิติของสถานที่ มิติของผู้คน และมิติของเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI)
.
มิติของผู้คน (People): Employee Engagement & Fulfillment, Cultural & Social Cohesion
.
Banpu เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องของการให้สวัสดิการแก่พนักงานที่ครอบคลุมทั้งผลประโยชน์ทางการเงินและไม่ใช่การเงิน ซึ่งรวมถึงโปรแกรมต่างๆ ที่มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพของพนักงาน เช่น การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต กีฬา และกิจกรรมส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงาน
.
นอกจากนี้ Banpu ยังมีการให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นในการทำงาน เช่น การทำงานแบบ Hybrid ที่พนักงานสามารถทำงานทั้งในสถานที่และจากระยะไกลได้ตามความเหมาะสม ซึ่งช่วยเพิ่มความพึงพอใจและประสิทธิภาพของพนักงานได้
.
.
มิติของสถานที่ (Place): Workplace & Environment
.
ผลวิจัยจากการศึกษาเรื่อง Indoor Environmental Quality (IEQ) ชี้ให้เห็นว่า ความพึงพอใจต่อปัจจัยต่างๆ ในสภาพแวดล้อมการทำงาน เช่น คุณภาพอากาศภายในอาคารและการเข้าถึงแสงธรรมชาติ ส่งผลให้คะแนน Flourishing Index (FI) ของพนักงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.3-0.4 คะแนน
.
การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานยังส่งผลให้พนักงานที่ทำงานในพื้นที่ที่มีแสงธรรมชาติสามารถลดภาวะซึมเศร้าและความเครียด ผลจากการปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน เช่น การลดความหนาแน่นของผู้ใช้งานในพื้นที่แคบและการเพิ่มการระบายอากาศ ยังแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและความพึงพอใจของพนักงาน
.
ทั้งนี้ มาตรฐานที่ใช้วัดพื้นที่ทำงานที่ดีได้แก่ ‘WELL Building Standard’ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่มุ่งเน้นการออกแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน โดยครอบคลุมทั้งการระบายอากาศ การควบคุมความชื้น การลดเสียงรบกวน และการควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งทั้งหมดนี้มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน
.
.
มิติของเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI): Digital & Innovation
.
การใช้ AI ในการดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานมีได้หลายแนวทาง เช่น การดูแลสุขภาพจิตของพนักงาน ผ่าน Emotion Recognition AI ที่จะช่วยในการประเมินและปรับอารมณ์ของพนักงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและความพึงพอใจของพนักงานในที่ทำงาน การใช้ VR ติดตามสายตาในการออกแบบพื้นที่เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับกิจกรรมต่างๆ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือจะเป็นแมวกวน (Meaw Guan) AI ที่สร้างจากเทคโนโลยี Google Vertex เพื่อช่วยเพิ่มความสนุกและความมีส่วนร่วมในการทำงาน
.
.
[ โดยสรุป ]
.
ในยุคที่สุขภาพจิตและกายของพนักงานมีความสำคัญไม่แพ้การทำธุรกิจ องค์กรจึงมีส่วนสำคัญในการดูแลและสนับสนุนในการจัดการความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานในทุกๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติของผู้คน มิติของสถานที่ หรือมิติของเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์
.
การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย การเพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงาน การเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม การนำนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาใช้ และการดูแลสุขภาพกายและจิตใจของพนักงาน การดูแลเหล่านี้ไม่เพียงแต่เพิ่มความสุขและสร้างสุขภาวะที่ดีเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานอีกด้วยนั่นเอง
.
.
เนื้อหาทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งจากงานสัมมนา "Designing 21st Century Well-Being Organization" จัดโดย SperLab เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ณ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ อาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค
.
วิทยากรประกอบด้วย
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ Chief Foresight and Digital Asset Officer, FutureTales LAB
ดร.สิงห์ อินทรชูโต Chief Sustainnovation Officer, RISC