กองการสังคีต สำนักวัฒนธรรมกีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เดิมสังกัดอยู่กับงานดนตรีและบันเทิง กองนันทนาการสำนักสวัสดิการสังคมกรุงเทพมหานคร เป็นวงดนตรีไทยที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2506 โดยการริเริ่มของ นายชำนาญ ยุวบูรณ์นายกเทศมนตรีเทศบาลกรุงเทพมหานครในยุคนั้น ด้วยต้องการส่งเสริมและสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมในด้านดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทย ให้เป็นสมบัติของชาติและเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย
     ทั้งนี้ได้ปรึกษากับนายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ซึ่งเป็นข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถในการดนตรีไทย โดยเฉพาะซอสามสายและเครื่องสายไทย จึงได้มอบหมายให้ครูสง่า ศศิวณิช ข้าราชการแผนกนิเทศ กองการศึกษา กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการก่อตั้งวงดนตรีไทย ของเทศบาลนครกรุงเทพขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อครูสง่า ศศิวณิช ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรีไทยแล้ว ท่านได้เชิญครูพริ้ง ดนตรีรส ผู้เป็นกัลญาณมิตรมารับหน้าที่หัวหน้าวงดนตรีไทยได้ทำหน้าที่เลือกสรรนักดนตรีไทยฝีมือดีมีความสามารถ
สูงจากสถานที่ต่าง ๆ มารับราชการอยู่ในวงดนตรีไทย แห่งนี้รวมทั้งสิ้น 21 คน ดังนี้


 
ครูพริ้ง ดนตรีรส
      1.นายพริ้ง ดนตรีรส
      2.นายบุญยงค์ เกตุคง(ศิลปินแห่งชาติ)
      3.นายสำรวย งามชุ่ม
      4.นายไสว ตาตะวาฑิต
      5.นายบุญช่วย ชิตท้วม
      6.นายสนม (พินิจ) ฉายสุวรรณ(ศิลปินแห่งชาติ)
      7.นายหยด ผลเกิด
      8.นายสุจินต์ เฟื่องฟุ้ง
      9.นายบุญยัง เกตุคง (ศิลปินแห่งชาติ)
    10.นายช่อ อากาศโปร่ง
    11.นายสมพงษ์ โรหิตาจล
    12.นายนพ ชัมพูท

   

13.นายมณเฑียร สมานมิตร
14.นายสมนึก บุญจำเริญ
15.นายเกียรติศักดิ์ ดนตรีรส
16.นายฉุย นาคพลั้ง
17.นายสมปอง แจ้งจรัส
18.นางสาวบุหงา แจ้งจรัส
19.นางกัญญา โรหิตาจล
20.นางอนงค์ ศรีไทยพันธุ์
21.นางบุญชู ทองเชื้อ


 
                                                                    
 
 
     เมื่อได้ก่อตั้งวงดนตรีไทยและมีนักดนตรีไทยมารับราชการเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยนั่นก็คือเครื่องดนตรีไทยในยุคแรกนั้นวงดนตรีไทยของเทศบาลนครกรุงเทพได้เสนอของบประมาณจัดซื้อเครื่องดนตรีไทยจากทายาทของพระศุลีสวามิภักดิ์(เศวตร์พรา-หมณะนันทน์) บุตรของพระยาศิริสัตยสถิต (จันทร์) ซึ่งเป็นนักสะสมของเก่าและวัตถุโบราณที่ร่ำรวย และมีชื่อเสียงมากในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 โดยการนำของครูพริ้ง ดนตรีรส และครูสง่า ศศิวณิช ซึ่งได้รับวงปี่พาทย์เครื่อง 5 ประดับมุก และงาช้าง 1 ชุดรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) นับว่าเป็นจำนวนที่สูงมากในขณะนั้น
     เครื่องดนตรีไทยทั้ง 2 ชุดดังกล่าวได้สนองงานราชการของวงดนตรีไทย กรุงเทพมหานครมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีความงดงามในด้านศิลปกรรมของช่างในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นอย่างมาก ปัจจุบันเครื่องดนตรีไทยทั้ง 2 ชุด ได้เก็บรักษาไว้อย่างดี ณ ห้องดนตรีไทยกลุ่มงานดุริยางค์ไทย กองการสังคีต สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
 
     เมื่อวงดนตรีไทยเทศบาลนครกรุงเทพได้ก่อตั้งขึ้นมาแล้ว ก็มีบทบาทในการบรรเลงและขับร้องสนองงานราชการในด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยส่วนใหญ่จะเป็นการบรรเลงและขับร้องด้วยวงปี่พาทย์ไม้แข็งเพราะบรรดาศิลปินทั้งปวงนั้นล้วนแต่ เป็นผู้มีชื่อเสียงในด้านการบรรเลงปี่พาทย์ไม้แข็งแทบทั้งวงครูพริ้ง ดนตรีรส นอกจากจะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวงดนตรีไทยแล้วก็เป็นครูที่ถ่ายทอดวิชาการความรู้ต่าง ๆ ให้กับข้าราชการศิลปินในวงนี้ด้วย ทำให้เพิ่มความแข็งแกร่งในด้านวิชาการทำให้วงดนตรีไทยวงนี้มีชื่อเสียง
เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปภายในเวลาไม่กี่ปี จนกระทั่ง พ.ศ.2510 ครูพริ้ง ดนตรีรส หมดวาระการดำรง ตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีไทยแล้วครูบุญยงค์ เกตุคง ศิลปินแห่งชาติ จึงได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีไทยแทน
     ในยุคสมัยที่ครูบุญยงค์ เกตุคง ศิลปินแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีไทยเทศบาลนครกรุงเทพนั้น เป็นยุคที่ต่อยอดความเจริญรุ่งเรืองของวงดนตรีไทยวงนี้ขึ้นมาเป็นลำดับ แต่เดิมครูบุญยงค์ เกตุคงเคยรับราชการอยู่ที่วงดนตรีไทยกรมประชาสัมพันธ์และสถานีไทยโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรมมาก่อน ท่านได้นำเอาแนวคิดการสร้างวงดนตรีไทย และการประพันธ์เพลงไทย พร้อมทั้งประสบการณ์ความรู้ที่ท่านได้สั่งสมมาทั้งในประเทศแต่ต่างประเทศมาใช้สำหรับการบริหารงานในดนตรีไทยวงนี้ด้วยการบรรเลงและขับร้องเพลงไทยของวงดนตรีไทยเทศบาล กรุงเทพมหานครนั้นเป็นไปตามขนบธรรมเนียมเดิมที่โบราณจารย์ได้ถ่ายทอดไว้ให้เป็น
แบบแผนประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานแต่ในสมัยของคุณครูบุญยงค์นั้นได้มีการริเริ่มประพันธ์เพลงใหม่ ๆขี้นมาหลายบทเพลงด้วยกันเป็นจำนวนที่เกินกว่า 30 เพลงโดยยังมิได้รวมถึงเพลงเกร็ดต่าง ๆ อีกมากมายเพลงทั้งหมดนั้นได้ประพันธ์ขึ้นเพื่อใช้บรรเลงและขับร้องให้เป็นเอกลักษณ์ของวงดนตรีไทยวงนี้ อาทิเพลง เพชรน้อยเถา พิรุณสร่างฟ้า เถา กัลยา-เยี่ยมห้อง เถา ศรีธรรมราช เถา เริงพล เถา และชเวดากอง เถาเป็นต้น บทเพลงต่าง ๆที่ท่านได้ประพันธ์ไว้นั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในวงการดนตรีไทย และเป็นคีตสมบัติสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
     ในขณะวงดนตรีไทยกรุงเทพมหานครได้ดำเนินงานสนองราชการมาได้ระยะหนึ่ง  บุคคลากรที่เคยรับราชการอยู่ก็ถึงแก่กรรม   และเกษียณอายุราชการออกไปหลายคนด้วยกันอาทิ  นายนพ ชมพุท และ นายสมนึก บุญจำเริญ เป็นต้น   ในสมัยที่ครูบุญยงค์  เกตุคง   ยังทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวงดนตรีไทยอยู่นั้น ได้มีการรับสมัครบุคคลากรเข้ามารับราชการเพิ่มเติม เพื่อทดแทนในตำแหน่งที่ว่างลงนักร้อง และนักดนตรีไทยที่ได้เข้ามารับราชการใหม่ในรุ่นนี้มีด้วยกันถึง 16 คน ดังนี้
  1. นายบุญเลิศ แฉ่งศิริ
  2. นายชนะ ชำนิราชกิจ
  3. นายชาตรี อบนวล
  4. นายจรินทร์ แจ่มอรุณ
  5. นายนิคม น้อยเลิศ
  6. นายไชยยะ ทางมีศรี
  7. นายวันชัย อัมระปาล
  8. นายกฐิน วงศ์เชื้อ
  9. นายวีนัส แก้วกระหนก
  10. นายสมัคร แก้วละเอียด
  11. นายวิมล เผยเผ่าเย็น
  12. นายสุทัศน์ แก้วกระหนก
  13. นายสุวรรณ โตล่ำ
  14. นายสมพงษ์ พงษ์พรหม
  15. นายมนตรี บัวรอด
  16. นางฐปนีย์(วาสนา) อินทร์ประดับ