ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ???

วันพุธที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560
image

ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ???

มาตรา 291 "ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท"

องค์ประกอบความผิด
(1) ผู้ใด
(2) กระทำโดยประการใด
(3) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
(4) โดยประมาท (องค์ประกอบภายใน (ไม่ต้องมีเจตนา))

--> การกระทำโดยประมาท คือ การกระทำที่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังทั้งๆที่สามารถใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 59 วรรคสี่ "กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่"
สำหรับการกระทำนั้น ได้แก่ การเคลื่อนไหวและรวมถึงการงดเว้น ตามมาตรา 59 วรรคท้าย 
//////คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2544 แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจุดที่จำเลยจอดรถและเกิดเหตุชนกันอยู่ในไหล่ทางด้านซ้ายของถนนในลักษณะที่ไม่กีดขวางการจราจรแล้วก็ตาม แต่การที่จำเลยจอดรถในเวลามืดค่ำโดยไม่ได้เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้ขับขี่มองเห็นรถที่จอดอยู่ จนเป็นเหตุให้ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์พุ่งเข้าชนท้ายรถคันที่จำเลยจอดทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นผลจากความประมาทของจำเลยไม่ว่าจะฟังว่าผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยก็ตามก็ต้องถือว่าเหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเกิดเพราะความประมาทของจำเลยด้วยจึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น/////

---> ที่สำคัญ: ผลต้องมีความสัมพันธ์กับการกระทำโดยประมาท (ผลโดยตรง)
//////คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12114/2556 การที่จำเลยนำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปซ่อมรอยรั่วซึมของถังน้ำมัน โดยจำเลยไม่ได้แจ้งให้นายจ้างทราบก่อน กลับแจ้งผู้ตายโดยตรงให้ซ่อมถังน้ำมันของรถยนต์บรรทุกน้ำมัน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการทำงานที่มีขึ้นเพื่อความปลอดภัย และจำเลยไม่ได้บอกผู้ตายว่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกน้ำมันเบนซินมาด้วย ทำให้ผู้ตายไม่ทราบข้อเท็จจริงจึงไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในการทำงาน เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกน้ำมันเกิดระเบิดขึ้นและผู้ตายถึงแก่ความตาย นับเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียวที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาได้เกิดจากความประมาทของผู้ตายด้วยไม่ จำเลยจึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย/////

--> ถ้าผลที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยประมาท หรือไม่ใช่ผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาท ผู้กระทำก็ไม่ต้องรับผิด
////คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3194/2556โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำประมาทของจำเลยว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์ด้วยความเร็วและเปลี่ยนช่องเดินรถโดยกะทันหัน เข้าไปเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับในช่องเดินรถของผู้ตาย เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย แต่ทางพิจารณาโจทก์ทั้งสองนำสืบว่า ก่อนเกิดเหตุมีรถจักรยานยนต์ที่ขับคู่กันมาเบียดรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับล้มลงในช่องเดินรถช่องที่ 1 ขณะผู้ตายกำลังจะลุกขึ้น จำเลยซึ่งขับรถตามหลังมาในช่องเดินรถที่ 2 ได้เปลี่ยนช่องเดินรถเข้ามาในช่องเดินรถที่ 1 โดยขณะขับรถจำเลยกำลังใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่พูดคุย เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยขับชนผู้ตาย ดังนี้ เหตุที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์เสียหลักล้มลงไม่ได้เกิดจากการที่จำเลยขับรถเปลี่ยนช่องเดินรถมาเฉี่ยวชนตามที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้อง และขณะที่จำเลยขับรถพุ่งเข้าชนนั้น ผู้ตายและรถของผู้ตายล้มลงบนถนนแล้ว มิใช่ผู้ตายกำลังขับรถจักรยานยนต์อยู่บนถนนตามที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้อง รวมทั้งข้อที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่าจำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่พูดคุยในขณะขับรถยนต์นั้น โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้กล่าวในฟ้อง ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองนำสืบเกี่ยวกับการกระทำประมาทของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงอันเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยตามที่โจทก์ทั้งสองบรรยายมาในฟ้อง ต้องห้ามมิให้ศาลพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง/////

--> ความผิดฐานประมาทเป็นเรื่องที่ไม่มีเจตนา จึงไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน แต่อย่างไรก็ตาม การประมาทร่วมกันย่อมมีได้
/////คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1326/2510 เหตุที่รถเกิดชนกันขึ้น เป็นเพราะความประมาทด้วยกันทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ รถก็จะไม่ชนกัน ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ถ้ารอให้รถของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับมาตามทางตรงผ่านไปก่อน รถก็จะไม่ชนกันขึ้นเหมือนกัน การที่เกิดชนกันขึ้นจึงเป็นผลโดยตรงมาจากความประมาทของจำเลยทั้งสองที่ไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของกฎหมาย จึงเป็นความผิดด้วยกันทั้งคู่/////  

#ประมาท #ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย #มาตรา291 #คดีอาญา



Update 18/10/2560