การตรวจเลือดหรือการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน

วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560
image
  การตรวจเลือดหรือการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานนั้น เพื่อป้องกันการติดโรคที่สามารถติดต่อกันได้จากคู่สมรส และป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ลูก ซึ่งพ่อแม่บางคนอาจเป็นพาหะนำโรคโดยที่ไม่รู้ตัว นอกจากนั้นการตรวจเลือดก่อนแต่งงานยังช่วยป้องกันโรคและความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นคู่สมรสจึงควร ตรวจเลือดก่อนแต่งงานเพื่อเป็นการเริ่มต้นวางรากฐานของครอบครัวที่มีความสุข  สุขภาพดี
การตรวจเลือดก่อนแต่งงาน ควรมีการตรวจดังรายการต่อไปนี้
  1. ตรวจกรุ๊ปเลือด : นอกจาการตรวจกรุ๊ปเลือด เอ , บี , เอบี หรือโอ แล้วจำเป็นต้องตรวจ Rh (Rhesus) Factor ด้วย  คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 99 มี Rh +  แต่ถ้าคุณแม่มี Rh- อาจก่อให้เกิดปัญหากับลูกขณะตั้งครรภ์ได้
  2. ตรวจหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด : ตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮีโมโกลบิน , ความเข้มข้นของเม็ดเลือด , เกร็ดเลือด , เม็ดเลือดขาว และรูปร่างของเม็ดเลือดแดง
  3. ตรวจหาการติดเชื้อเอดส์ (Anit HIV) : เป็นการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอดส์ โดยตรวจหาแอนตี้บอดี้เชื้อไวรัส HIV ในเลือด โรคเอดส์เป็นโรคที่ทุกคนหวาดกลัว เพราะยังไม่มียารักษาให้หายและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เชื้อไวรัสนี้ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ และสามารถผ่านไปยังลูกในครรภ์ได้
  4. ตรวจหาการติดเชื้อซิฟิลิส (VDRL) : เป็นการตรวจคัดกรองหาเชื้อซิฟิลิส ถ้าตรวจพบก่อนสามารถรักษาให้หายได้  โรคนี้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์และถ้าแม่ติดเชื้อ ก็จะติดต่อถึงลูกในครรภ์ได้
  5. ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี : เป็นการตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่ โรคตับอักเสบจากไวรัสชนิดนี้พบได้บ่อยในประเทศไทย  โรคนี้สามารถติดต่อโดยผ่านทางเพศสัมพันธ์ และผ่านจากแม่ไปยังทารกในครรภ์ขณะคลอดได้  ส่วนใหญ่ร่างกายจะกำจัดเชื้อไวรัสนี้ได้หมดในเวลาไม่กี่เดือนหลักจากการติดเชื้อ และจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้ แต่มีบางคนที่ตรวจพบเชื้อนี้ตลอดเพราะเป็นของพาหะของโรค ซึ่งกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับ  สูงกว่าคนปกติ 200 เท่า
  6. ตรวจหาภูมิคุ้นกันไวรัสตับอักเสบบี : ภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบีสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ได้  ถ้าตรวจเลือดแล้วไม่มีภูมิคุ้มกัน  ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อนี้ หรือกรณีที่คู่สมรส ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติดเชื้อ อีกฝ่ายก็ควรจะฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไว้
  7. ตรวจหาภูมิคุ้มกันของหัดเยอรมัน :  (เฉพาะผู้หญิง) ถ้าตรวจแล้วพบว่าไม่มีภูมิคุ้นกัน ควรฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อ  และต้องคุมกำเนิดอย่างน้อย 3  เดือนหลังฉีด  ถ้าติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์อาจแท้ง หรือทำให้ลูกในครรภ์คลอดออกมาเป็นเด็กพิการแต่กำเนิด เช่นลิ้นหัวใจรั่ว ตาบอด หูหนวก
  8. ตรวจหาความผิดปกติของฮีโมโกลบิน : เป็นการตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย  และการเป็นพาหะของโรค  ถ้าตรวจพบว่าทั้งคู่เป็นพาหะ มีโอกาสเสี่ยงสูงที่ลูกจะเป็นโรคและแสดงอาการได้ชัดเจน เช่น ซีด ตับม้ามโต โครงสร้างกระดูกผิดปกติ ซึ่งแพทย์จะให้คำปรึกษาและร่วมมือกันวางแผนในการตั้งครรภ์เพื่อความสมบูรณ์ของลูกในอนาคต
  9. ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด :  สำหรับคุณผู้หญิงที่มีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว หรืออายุเกินกว่า 30 ปี ควรตรวจระดับน้ำตาล หลังงดอาหารและน้ำ 6 ชั่วโมง เพราะถ้าแม่เป็นโรคเบาหวาน ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้คลอดลูกที่เป็นโรคเบาหวานแต่กำเนิดได้