ข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2561
image
ข้อปฏิบัติ แนวทางการทำงานว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
เรื่อง การจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากอุบัติเหตุสิ่งส่งตรวจตก หก หล่นภายในห้องปฏิบัติการชันสูตรโรค งานห้องปฏิบัติการชันสูตรโรค 
---------------------------------------------------------------------------
1. สวมเสื้อกาวน์ และถุงมือทุกครั้งขณะปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสกับสิ่งส่งตรวจ
2. ขณะสวมถุงมือปฏิบัติงาน
– ห้ามสัมผัสวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ นอกเหนือจากอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานภายในห้องปฏิบัติการ
– ห้ามจับต้องอวัยวะต่างๆ เช่น ปาก ตา จมูก หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
3. เมื่อถุงมือเปื้อนตัวอย่างส่งตรวจหรือถุงมือขาด ต้องถอดถุงมือออก ล้างมือให้สะอาดแล้วเปลี่ยนถุงมือใหม่
4. สวมผ้าปิดจมูกทุกครั้งเมื่อต้องทำงานที่มีละอองฟุ้งกระจายในอากาศ (aerosol)
5. ผู้ที่ใส่ contact lens ต้องใส่แว่นตาป้องกันในขณะปฏิบัติงาน เพราะหากเกิดอุบัติเหตุตัวอย่างส่งตรวจกระเด็นเข้าตา อาจแสบตาไม่สามารถถอด contact lens ทำให้เชื้อโรค เข้าสู่ตาได้ง่ายขึ้น
6. ถ้าสิ่งส่งตรวจหกเปรอะเปื้อนผิวด้านนอกของภาชนะบรรจุ ให้ทำความสะอาดภาชนะด้านนอกด้วย 70 % alcohol ก่อนจึงนำมาตรวจตามปกติ
7. การปั่นตกตะกอนสิ่งส่งตรวจ ต้องปิดฝาหลอดทุกครั้ง หรือพันพาราฟิล์มให้สนิทก่อนทำการปั่น
8. ทำความสะอาดภายใน-ภายนอกเครื่องปั่นเหวี่ยงทุกครั้งที่ใช้งานเสร็จ
9. ขณะทำการตรวจวิเคราะห์ ต้องใช้ความระมัดระวังในการแบ่งถ่ายน้ำเหลืองมาใส่ cup และใส่ปริมาณน้ำเหลืองแต่พอเหมาะ เพื่อป้องกันการกระเด็นที่จะส่งผลให้มีการปนเปื้อนระหว่างสิ่งส่งตรวจได้
10. สิ่งส่งตรวจทุกชนิดเมื่อใช้งานเสร็จ ต้องปิดฝาให้สนิท หรือมีอุปกรณ์ครอบที่มิดชิด
11. ถ้าสิ่งส่งตรวจตกแตกหรือหกหล่นลงพื้นห้องหรือพื้นโต๊ะ ให้สวมถุงมือยางอย่างหนา ใช้กระดาษเช็ดสิ่งเปรอะเปื้อนออกให้มากที่สุด หรือถ้ามีเศษแก้วใช้ forcep หรือกระดาษแข็งตักสิ่งเปรอะเปื้อนหรือเศษแก้วออกก่อนและทิ้งของมีคมลงในภาชนะที่เป็น plastic แข็ง เติม 1% Sodium Hypochlorite ลงไปในภาชนะ ใช้กระดาษทิชชูปิดทับบริเวณที่สิ่งส่งตรวจหก และบริเวณโดยรอบ จากนั้นราดบริเวณที่เปรอะเปื้อนด้วย 1 % Sodium Hypochlorite โดยราดจากด้านนอกมาสู่ด้านใน ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที แล้วเช็ดถูตามปกติ 
12. เมื่อมีการเคลื่อนย้ายสิ่งส่งตรวจออกนอกห้องปฏิบัติการ ต้องใช้ภาชนะ หรืออุปกรณ์ที่แข็งแรงเพื่อรองรับภาชนะบรรจุสิ่งส่งตรวจ ก่อนทำการเคลื่อนย้าย
13. เมื่อทำการจัดการขยะมูลฝอยภายในห้องปฏิบัติการ ให้ปฏิบัติตาม แบบตรวจประเมินคุณภาพการจัดการขยะมูลฝอยของสำนักงานชันสูตรสาธารณสุข 
14. ถอดเสื้อกาวน์ ถุงมือ และล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนออกจากห้องปฏิบัติการ หรือเมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติงาน
15. เมื่อเสร็จการปฏิบัติงานแล้ว ให้ทำความสะอาดโต๊ะปฏิบัติงานด้วย 70 % alcohol 
16. กรณีประสบอันตราย หรือ ประสบอุบัติเหตุ ไม่ว่ากรณีใด ต้องแจ้งให้หัวหน้าทราบทันที
17. เมื่อพบเห็นความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นอันตราย หรือ อาจเป็นอันตราย ให้ดำเนินการแก้ไข หากสามารถดำเนินการได้เอง แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้รีบรีบแจ้งผู้เกี่ยวข้อง หัวหน้าและผู้บริหารทราบทันที