“เปิดบ้าน: เกาะกลาง ชุมชนแยกขยะสร้างประโยชน์”

วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2566
image

จากความร่วมมือของสำนักงานเขตคลองเตย กับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย จำกัด TIPMSE สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการ “ต้นแบบชุมชนจัดการขยะครบวงจร” โดยได้เลือก ชุมชนเกาะกลาง เขตคลองเตย ในการเป็นแหล่งเรียนรู้ในด้านการจัดการขยะของชุมชนเมือง ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy:CE) สอดคล้องกับนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่มุ่งเน้นในการจัดการขยะด้วยแนวคิด "ไม่เทรวม" ซึ่งมีเป้าหมายให้ประชาชนคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง

ในวันนี้ (10 มี.ค. 66) สำนักงานเขตคลองเตย กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย จำกัด และหน่วยงานพันธมิตร จึงจัดกิจกรรม “เปิดบ้าน: เกาะกลาง ชุมชนแยกขยะสร้างประโยชน์” โดยได้รับเกียรติจาก รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจักกพันธุ์ ผิวงาม เป็นประธานเปิดกิจกรรม โดยมีนายพรพรหม ณ. ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตคลองเตยนำทีมโดย นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตยแ คณะผู้บริหารสำนักงานเขตคลองเตย และเจ้าหน้าที่ ผู้บริหารกลุ่มเขตกรุงเทพใต้ นายสุพจน์ เกตุโตประการ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย จำกัด นางสาวพรรรัตน์ เพชรภักดี รองผู้อำนวยการใหญ่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรักษาการผู้อำนวยการ TIPMSE ชาวชุมชนเกาะกลาง และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม ณ สวน 80 พรรษา มหาราชินี ใต้ทางด่วนพิเศษฉลองรัช ซอยสุขุมวิท 48/1 เขตคลองเตย จากนั้นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะ ได้ร่วมกิจกรรมปลูกต้นพิกุล และเยี่ยมชมการดำเนินงานการจัดการขยะของชุมชนเกาะกลาง

สำหรับ “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะครบวงจร เกาะกลาง : ชุมชนแยกขยะได้ประโยชน์” ตั้งอยู่ในชุมชนเกาะกลาง ริมคลองพระโขนง มีอายุกว่า 100 ปี สำหรับชุมชนเกาะกลาง เป็นชุมชนขนาดเล็กในสังคมเมืองที่มีความเข้มแข็ง ตั้งอยู่บนที่ดินสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีพื้นที่ทั้งหมด 3 ไร่ 1 งาน 57 ตารางวา มี 56 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 230 คน เดิมภาพของชุมชนถูกมองว่าเป็นชุมชนหลังคาติดกันที่เสื่อมโทรม และเป็นผู้ทิ้งขยะลงสู่แม่น้ำลำคลอง แต่ด้วยความตั้งใจจริงของสมาชิกในชุมชนตลอดระยะเวลาโครงการ ภาพลักษณ์ดังกล่าวได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เกาะกลางปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยจนมีทัศนียภาพที่สวยงาม มีจุดแยกขยะอย่างเป็นระบบ สามารถนำผลิตภัณฑ์จากขยะ อาทิ ก๊าซชีวภาพไปประกอบอาหารในชุมชนได้ถึง 720 ชั่วโมง ประหยัดค่าพลังงานได้ราว 9,600 บาทต่อปี รวมถึงยังมีการนำขยะด้อยค่าอีกหลายประเภทไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนทั้งในแง่การจัดการขยะ ความสะอาด การได้ประโยชน์ใช้สอยจากผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้เพิ่ม และประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังสร้างจิตสำนึกการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จนสามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่น ๆ เพื่อนำแนวคิดการใช้ประโยชน์จากขยะนี้ไปปรับใช้ให้สอดรับกับพื้นที่ของตนเอง เช่น ฐานเรียนรู้ ก๊าซชีวภาพ ปุ๋ยหมักเศษอาหาร และปุ๋ยหมักใบไม้ มีการกำจัดขยะอินทรีย์ประเภทเศษอาหาร โดยใช้กระบวนการย่อยสลายภายใต้สภาวะไร้ออกซิเจน ได้เป็นก๊าซชีวภาพ (Biogas) สำหรับใช้ในส่วนกลางของชุมชน การกำจัดขยะอินทรีย์ประเภทเศษอาหารในครัวเรือน โดยใช้กระบวนการย่อยสลายทางชีวเคมี เพื่อให้ได้สารอินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการบำรุงดิน และการกำจัดขยะอินทรีย์ประเภทใบไม้ หญ้า ต้นพืช กิ่งไม้ โดยการนำมาหมักเป็นปุ๋ย เพื่อใช้ใส่ในแปลงผักสวนครัวของชุมชน เป็นต้น