รายงานผลการศึกษาดูงานโครงการทุ่งทานตะวันเฉลิมพระเกียรติ สำนักงานเขตลาดพร้าว เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2558

วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558
image
      รายงานผลการศึกษาดูงานโครงการทุ่งทานตะวันเฉลิมพระเกียรติ วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558ณ สำนักงานเขตลาดพร้าว
      ผู้ร่วมศึกษาดูงานจำนวน 9 คนประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกองยุทธศาสตร์สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมจำนวน 6 คนและผู้แทนของกองสารสนเทศภูมิศาสตร์ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาฐานข้อมูลและระบบติดตามประเมินผลการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานครจำนวน  2 คน รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล (นายซีรอซันคาร ปาทาน) เป็นหัวหน้าคณะ
การศึกษาดูงานในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนประกอบด้วย
  1. โครงการสวนลอยลาดพร้าว เป็นโครงการให้บริการที่ดีที่สุด (Best Service)ของสำนักงานเขตลาดพร้าวดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557ดำเนินการปลูกผักสวนครัวบนดาดฟ้าอาคารสำนักงานเขต ใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์ นำน้ำหมักที่ได้จากเศษผักผลไม้จากตลาดมาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ ใช้เป็นปุ๋ยแทนปุ๋ยเคมี ในแปลงผักสวนครัวมีการดำเนินการในหลายกิจกรรม
    1. ปลูกผักสวนครัวเช่น คะน้า ผักบุ้ง บวบ หอมแดง เป็นต้น
    2. เพาะเห็ด
    3. ทำน้ำหมักชีวภาพ
    4. ทำปุ๋ยหมักจากเศษกิ่งไม้ ใบไม้
    5. เพาะเลี้ยงใส้เดือนเพื่อกำจัดขยะอินทรีย์ โดยนำมูลและปัสสาวะของใส้เดือนทำเป็น
  2. โครงการทุ่งทานตะวันเฉลิมพระเกียรติ
เรื่องเดิม
      สำนักงานเขตลาดพร้าวเริ่มดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2547 โดยเริ่มต้นจากการตรวจสอบหาเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นของบริษัทสยามประชาคาร จำกัด และขออนุญาตใช้พื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้สำนักงานเขตฯ ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรขออนุญาตใช้พื้นที่กับบริษัทเอกชนเจ้าของพื้นที่ขอใช้ที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่ปลูกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ จะคืนพื้นที่ทันทีที่ทางบริษัทต้องการ

วัตถุประสงค์
      เพื่อปรับปรุงพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในพื้นที่เขตซึ่งอาจเป็นแหล่งก่อให้เกิดอันตรายจากปัญหา
อาชญกรรม และเพลิงไหม้หญ้าแห้งการดำเนินดังกล่าวผ่านการจัดทำ “โครงการทุ่งทานตะวันเฉลิมพระเกียรติ” นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่

เป้าหมายดำเนินการ
      ปรับปรุงพื้นที่รกร้างว่างเปล่าของบริษัทสยามประชาคาร จำกัด บริเวณหลังโรงเรียนสตรีวิทยา 2 ริมถนนประเสริฐมนูกิจ (เกษตร-นวมินทร์) พื้นที่ 25 ไร่ ปรับรูปแบบเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของชุมชนผ่านการสร้างเป็น “ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์

การดำเนินการ
      สำนักงานเขตลาดพร้าวแบ่งพื้นที่ 25 ไร่ออกเป็น
  1. พื้นที่ปลูกทานตะวันจำนวน 10 ไร่ ใช้พันธุ์ลูกผสมแปซิฟิก(อะควอร่า 6)
  2. พื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัวและทำปุ๋ยหมักจากกิ่งไม้ ใบไม้จำนวน 4 ไร่
  3. พื้นที่ทำนาจำนวน 1 ไร่
  4. พื้นที่แหล่งน้ำจำนวน 10 ไร่
แนวคิดที่ได้จากการศึกษาดูงาน
  1. แก้ปัญหาขยะอินทรีย์ที่เกิดขึ้นจากกิ่งไม้ใบไม้ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของกรุงเทพมหานครเป็น Zero waste เนื่องจากขยะทั้งหมดถูกนำไปหมักกลายเป็นปุ๋ยซึ่งนำไปใช้ทั้งหมดในแปลงทำการเกษตร
  2. บรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานของสำนักงานเขตฯ จากผลผลิตการเกษตรที่เกิดขึ้นจากพื้นที่เกษตรกรรมแจกจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารทำให้มีเงินเหลือมากยิ่งขึ้น
  3. เพิ่มความปลอดภัย จากพื้นที่เดิมซึ่งเป็นพื้นที่รกร้างซึ่งเสี่ยงต่อการจะเกิดอาชญกรรม และเกิดเพลิงไหม้ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ติดกับโรงเรียนสตรีวิทยา 2 ลดความสูญเสียและลดคดีอาชญากรรม และลดคดีการเกิดเพลิงไหม้
  4. สร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรใจกลางเมือง ศูนย์เรียนรู้ที่เกิดขึ้นเป็นแหล่งที่ให้ประชาชน นักเรียนและนักศึกษาที่สนใจการทำการเกษตรมีโอกาสได้เรียนรู้ประสบการณ์การปลูกผัก ทำนา และไร่ทานตะวัน ทั้งในด้านการปลูก บำรุง ดูแล และรักษาโดยไม่ต้องเดินทางไปศึกษาไกลๆ สามารถนำผู้สนใจหรือนักเรียนเข้ามาศึกษาและเรียนรู้ได้บ่อยๆและสำนักงานเขตเข้าไปใความรู้กับนักเรียนในโรงเรียนทั้งสังกัดกรุงเทพมหานครและนอกสังกัดกรุงเทพมหานคร
  5. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และประชาชน โดยบริษัทเอกชนฯ ให้การสนับสนุนที่ดินนำไปพัฒนาไม่ให้เป็นพื้นที่ว่างเปล่า ให้การสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรจากบริษัทคูโบต้ามหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนองค์ความรู้ในการทำการเกษตร เตรียมพื้นที่ และการเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นต้น ประชาชนมีส่วนร่วมในการปลูก ดูแล และเก็บเกี่ยวพืชผลการเกษตรที่เกิดขึ้น
ข้อเสนอแนะ
  1. นอกเหนือจากเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้โดยมีเขตเป็นผู้ให้ความรู้ควรขยายโอกาสไปสู่ให้ประชาชนที่สนใจมีโอกาสร่วมลงมือปฎิบัติทำไปพร้อมๆ กับเจ้าหน้าที่ในฤดูที่เหมาะสมตามความสมัครใจ
  2. ระยะต่อไปควรขยายการดำเนินการไปสู่การคัดพันธุ์ข้าว(เมล็ดทานตะวันดำเนินการแล้ว)ไว้ปลูกเองโดยขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรซึ่งให้การสนับสนุนอยู่แล้วเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวและยังเป็นการสร้างองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าวไว้ถ่ายทอดเจ้าหน้าที่และประชาชนต่อไปอีกด้วย
  3. ควรมีการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าไปสู่การจัดทำเป็นระบบสารสนเทศเพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ที่มีประสิทธิภาพ