ยาต้าน PrEP กับ PEP คืออะไร

วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562
image
หนังสั้น ชุด film finfurrr เพื่อการป้องกันเอดส์



ยาต้าน PrEP กับ PEP คืออะไร


 

ยาต้าน PrEP กับ PEP คืออะไร
แล้ว PrEP กับ PEP คืออะไร และสองสิ่งนี้อยู่ตรงไหนของจักรวาลเรื่อง HIV/AIDS กันล่ะ? ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทั้ง PrEP และ PEP นั้นเป็นยาต้านไวรัสในกลุ่ม Antiretroviral Drugs (ARV) เช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันได้การรับรองให้นำมารักษาเชื้อเอชไอวีได้ และเจ้ายาชื่อห้วนๆ สองตัวนี้ต่างมีหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อที่แตกต่างกัน รวมถึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับคนที่มีผลเลือดลบหรือผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ

 

PrEP ป้องกันก่อนเสี่ยง

หากรู้ว่าตัวเองเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีรสนิยมไม่พึงปรารถนาการใช้ถุงยางอนามัย หรือประกอบอาชีพที่ไม่ได้อยู่ในสถานะที่สามารถป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ทุกครั้ง สิ่งนี้คือคำตอบที่น่าสนใจ เพราะ PrEP (เพร็พ) หรือในชื่อเต็มๆ ว่า Pre-Exposure Prophylaxis คือตัวยาที่ช่วยสร้างเกราะป้องกันให้คุณก่อนที่จะไปเสี่ยงกับเชื้อเอชไอวี โดยคุณสามารถรับยา PrEP นี้เป็นประจำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง โดยจะต้องมีผลเลือดลบ และต้องเข้ามารับการตรวจเลือดเพื่อติดตามประสิทธิภาพของยาดังกล่าวทุกๆ 3 เดือนอีกด้วย

 

“ยา PrEP มันเหมือนการที่คุณไม่รู้ว่าตัวเองจะเสี่ยงเมื่อไร แต่คุณสามารถป้องกันไว้ก่อน เฉพาะแค่เชื้อเอชไอวีเท่านั้นนะคะ ยานี้ไม่ได้ป้องกันให้คุณรอดพ้นจากโรคทางเพศอื่นๆ เช่น หนองใน หนองในเทียม หรือซิฟิลิส บางคนอาจจะรู้สึกว่าถุงยางไม่ใช่คำตอบ และอาจจะไม่ป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การรับ PrEP มาเสริมก็อาจทำให้คลายกังวลได้

 

“ปัจจุบันในประเทศไทยมีคนที่รับยาชนิดนี้ประมาณ 6,000 กว่าคน ซึ่งเป็นคนต่างชาติประมาณ 2,000 คน เพราะในบ้านเราคนเข้าถึงยาตัวนี้ได้ง่ายดายมาก เพราะในเมืองนอกราคาค่อนข้างสูง เดือนหนึ่งก็ต้องเสียหลายหมื่น แต่คนไทยเองสามารถรับยานี้ได้ด้วยค่าใช้จ่ายเพียงเดือนละ 900 บาทเท่านั้นเอง” แพทย์หญิงนิตยากล่าว

 

ซึ่งก่อให้เกิดคำถามขึ้นตามมาว่า ดังนั้นการมี PrEP ให้ทานป้องกันก่อนเสี่ยง การมีเซ็กซ์ที่ปลอดภัยจะกลายเป็นเรื่องที่ถูกเพิกเฉยหรือเปล่า? และถุงยางอนามัยจะตกกระป๋องไปเลยหรือ?

 

คำตอบคือสิ่งนี้เป็นเพียงอีกหนึ่ง ‘ทางเลือก’ ให้กับประชาชนทั่วไป เพราะในกลุ่มของคนที่สามารถใช้ถุงยางอนามัยก็มี เพียงแต่ยา PrEP นี้จะดึงดูดกลุ่มคนที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยหรือกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมาเข้ารับบริการมากกว่า แต่แน่นอนว่าเกิดผลพวงตามมาอื่นๆ อยู่บ้าง เช่นจำนวนของผู้ป่วยในโรคทางเพศอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น หรือในกรณีของชาย-หญิงที่อาจจะเกิดโอกาสการตั้งครรภ์อันไม่พึงประสงค์

 

PEP เสี่ยงแบบฉุกเฉิน

ในกรณีที่เกิดไปมีเพศสัมพันธ์แบบ ‘เสร็จใน’ อย่างไม่ตั้งใจ ทั้งจากอาการเมา หรือถุงยางหลุด ถุงยางแตก มีเลือด มีแผล ขณะมีเพศสัมพันธ์ และไม่รู้ว่าคนที่คุณไปมีอะไรด้วยนั้นเต็มไปด้วยความเสี่ยงอะไรบ้าง ลองยกนาฬิกาขึ้นมาดูแล้วนับถอยหลัง หลังจากเสร็จกิจไปอีก 72 ชั่วโมงสิ ตอนนี้คุณเหลือเวลาเท่าไร และอย่าเพิ่งตกใจไป

 

สถานการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกกรณีไม่ว่าตัวคุณเองจะยินยอม หรือโดนบังคับขืนใจ หากตัวคุณหรือคนรอบตัวคุณพบเจอเหตุการณ์เช่นนี้ ยา PEP (เพ็พ) ตัวนี้คือทางออกของคุณซึ่งมันมีชื่อเต็มๆ ว่า Post-Exposure Prophylaxis เป็นยาต้านไวรัสที่จ่ายให้สำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีที่เพิ่งมีการเสี่ยงหรือสัมผัสเชื้อเอชไอวีมา อย่างไม่ตั้งใจก็ดีหรือไม่รู้ก็ดี ล้วนมักเป็นกรณีฉุกเฉิน

 

เพราะฉะนั้นชื่อเล่นที่จำได้ง่ายมากของยา PEP คือ ‘ยาต้านฉุกเฉิน’ และคุณจะต้องได้รับทันทีภายใน 72 ชั่วโมง และต้องรับยาเป็นเวลาติดต่อกันราว 28 วัน เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันที่เต็มที่ จากการให้สัมภาษณ์ของแพทย์หญิงนิตยา เธอบอกกับเราว่าเจ้ายานี้มีคนรู้จักน้อยมาก และคุณหมอยังการันตีเลยว่าคนกรุงเทพฯ เพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่รู้ว่ายาต้านฉุกเฉินนี้คืออะไร! เพราะฉะนั้นหากเกิดผิดพลาดอะไรขึ้นมา รีบไปตรวจเลือดและรับยาทันทีนะ เราเป็นห่วง

 

ออกมาตรวจเลือดกันเถอะ เจ็บนิดเดียว

ไม่มีหนทางไหนที่จะยุติการแพร่ระบาดของ HIV/AIDS ได้ดีที่สุดเท่ากับการที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยออกมาตรวจเลือดกันอย่างเป็นกิจ และไม่ใช่แค่เพียงกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่นกลุ่มขายบริการทางเพศ หรือกลุ่มคนที่ไม่ชื่นชอบการใช้ถุงยางอนามัย แต่เราหมายถึงทุกคนในสังคมนี้ และการตรวจหาเชื้อเอชไอวีคือหัวใจสำคัญในการจะหยุดปัญหาโรคเอดส์ได้จริงๆ ดังนั้นการตรวจผลเลือดทุกปีถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างหนึ่งของคนทุกคนไม่ว่าจะเพศใด

 

และโปรดรู้เถิดว่าพวกเราโชคดีมากเหลือเกินที่เกิดมาในประเทศนี้ (อย่างน้อยที่สุดก็เรื่องการเข้าถึงยารักษาโรค ไม่นับเรื่องอื่นๆ นะ…) เพราะประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกนี้ที่เมื่อตรวจเจอเชื้อเอชไอวีปุ๊บ สามารถรับยาต้านได้เลย และเข้าสู่กระบวนการการรักษาได้อย่างทันท่วงที

 

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในเรื่องราวของ HIV/AIDS ไม่ใช่ตัวเชื้อหรืออาการของโรคอีกต่อไปแล้ว แต่มันคือ ‘ความไม่รู้’ และ ‘ความกลัว’ ที่ฝังอยู่ในความรู้สึกของพวกเราทุกคนมากกว่า

 

โลกหมุนไปไกลมากแล้ว การที่คุณติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นเอดส์เสมอไปหรือต้องตายเช่นภาพจำที่เคยมี

 

เพียงแค่ลุกขึ้นมาตรวจเลือด และเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี จะหายใจใช้ชีวิตอยู่ไปอีกกี่ร้อยปีคุณก็ทำได้!
 

ศูนย์บริการสาธารณสุข 9 ประชาธิปไตย
เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08-00 - 12.00 น.