ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome)

วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
image
ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นกับคนที่ทำงานในออฟฟิศ เนื่องจากลักษณะงานที่ต้องนั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนอาจส่งผลให้เกิดโรคและอาการผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบการย่อยอาหารและการดูดซึม ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบฮอร์โมน นัยน์ตาและการมองเห็น โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานกายภาพบำบัดจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับระบบกระดูกและกล้ามเนื้อเป็นส่วนใหญ่

อาการทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่เกิดจากการทำงานที่พบได้บ่อยและสามารถดูแลโดยนักภาพภาพบำบัด

  • กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (myofascial pain syndrome)
  • เอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome)
  • ความผิดปกติของความตึงตัวของเส้นประสาท (nerve tension)
  • กล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างด้านนอกอักเสบ (tennis elbow)
  • ปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณฐานนิ้วโป้งอักเสบ (De Quervain’s tendonitis)
  • นิ้วล็อก (trigger finger)
  • เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (tendinitis)
  • ปวดหลังจากท่าทางผิดปกติ (postural back pain)
  • หลังยึดติดในท่าแอ่น (back dysfunction)

สาเหตุของการเกิดออฟฟิศซินโดรม

 

  • การนั่งหน้าคอมพิวเตอร์หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานานมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน
  • ท่าทางในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งหลังค่อม ท่าก้มหรือเงยคอมากเกินไป
  • สภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์ในการทำงานไม่เหมาะสม
  • สภาพร่างกายที่อาจส่งผลต่ออาการเจ็บป่วย เช่น ภาวะเครียดจากงาน การอดอาหาร การพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายต้องแบกรับความตึงเครียดปราศจากการผ่อนคลาย

การสังเกตอาการออฟฟิศซินโดรมและแนวทางแก้ไข
 

ระดับของอาการ

   การสังเกตอาการ

          แนวทางแก้ไข

ระดับที่ 1

อาการเกิดขึ้น เมื่อทำงานไประยะหนึ่ง พักแล้วดีขึ้นทันที

  • พักสลับทำงานเป็นระยะๆ

  • ยืดกล้ามเนื้อเพื่อผ่อนคลาย

  • นวดผ่อนคลาย

  • ออกกำลังกาย

ระดับที่ 2

อาการเกิดขึ้น พักนอนหลับแล้ว แต่ยังคงมีอาการอยู่

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน

  • รับการรักษาที่ถูกต้อง

ระดับที่ 3

อาการปวดมากแม้ทำงานเพียงเบาๆ พักแล้วอาการก็ยังไม่ทุเลาลง

  • พักงาน/ปรับเปลี่ยนงาน

  • รับการรักษาที่ถูกต้อง

 

แนวทางการรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม

  • การรักษาด้วยยา
  • การรักษาด้วยวิธีทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและการทำกายภาพบำบัดเพื่อยืดกล้ามเนื้อและปรับอิริยาบถให้ถูกต้อง
  • การปรับสถานีงาน พื้นที่การทำงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน และลักษณะงานให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
  • การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพร่างกายโดยรวม
  • การรักษาด้วยศาสตร์ทางเลือกอื่น เช่น การฝังเข็ม การนวดแผนไทย