ลับสมองลดเสี่ยง”อัลไซเมอร์”

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559
image

ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐ

ลับสมองลดเสี่ยง”อัลไซเมอร์” thaihealth

กรมสุขภาพจิต แนะดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ต้องเข้าใจและรับมือกับอาการ-อารมณ์ผิดปกติของผู้ป่วย ชี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผย อัลไซเมอร์ ขเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง พบได้ ร้อยละ 65 ของโรคสมองเสื่อมทั้งหมด เป็นความผิดปกติของสมองที่เกิดขึ้นช้าๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ส่งผลให้ความสามารถของสมองลดลง โดยเฉพาะการจำ ความเฉลียวฉลาด-ใช้เหตุผล-ใช้ภาษา-คิดคำนวณ อาจมีอาการทางจิตด้วย เช่น ซึมเศร้า หงุดหงิด อารมณ์ขึ้นๆลงๆ ซึ่งจะกระทบงาน ครอบครัว-การใช้ชีวิต

สาเหตุเชื่อว่าเกี่ยวข้องทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ปัจจัยเสี่ยง คือ อายุที่มากขึ้น ส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นเมื่อ65 ปีขึ้นไป โดยพบในผู้มีอายุมากกว่า 85 ปีถึงครึ่งต่อครึ่ง พบผู้หญิงเป็นมากกว่าชาย หรือคนในครอบครัวเป็น มีประวัติอุบัติเหตุทางสมอง เจ็บป่วยทางใจ เช่น ซึมเศร้า จิตเภท ดาวน์ซินโดรม หรือป่วยทางกาย เช่น ไขมันสูง ความดันสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ โดยเฉลี่ยจะเสียชีวิตใน 8-15 ปี ที่พบบ่อยคือ ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ-กระแสเลือด อุบัติเหตุ-หลงทาง

สัญญาณเตือน คือ หลงลืมบ่อยๆ มักถามซ้ำๆ นึกคำ-ประโยคที่จะพูดไม่ออก สับสนเวลา สถานที่ จำคนรู้จักไม่ได้ หงุดหงิดฉุนเฉียว หวาดระแวง หรือซึมเศร้า-เฉยเมย อาการจะมากขึ้นจนไม่อาจทำกิจวัตรประจำวันปกติได้ หากผู้สูงอายุ มีอาการเช่นนี้ ควรรีบพบแพทย์ระบบประสาทหรือจิตแพทย์โรคอัลไซเมอร์ด่วน การรักษามีทั้งแบบประคับประคอง คือ รักษาโรคทางกาย-ทางจิต ป้องกันโรคแทรก สำหรับการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง ยังไม่มียาเฉพาะ มีเพียงยาเพิ่มระดับสารสื่อประสาทในสมองที่เพิ่มความจำให้ดีขึ้นและลดปัญหาพฤติกรรมที่เกิดจากตัวโรค แต่อาจมีผลข้างเคียง ซึ่งอาจรักษาร่วมกันทั้ง 2 แบบ

นพ.ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 11 เสริมว่าการดูแลผู้ป่วย สำคัญที่สุดคือ ผู้ดูแลต้องเข้าใจและรับมือกับอาการ-อารมณ์ผิดปกติของผู้ป่วยได้ ร่วมมือกับแพทย์เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ ผู้ดูแลควรใส่ใจดูแลตนเองด้วย เพราะดูแลผู้ป่วยนานๆ อาจเครียดได้ จึงควรหาเวลาผ่อนคลาย  

โรคนี้แม้รักษาไม่หาย แต่ลดปัจจัยเสี่ยงได้โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารมีประโยชน์ งดเหล้า-บุหรี่ ฝึกสมาธิ ผ่อนคลาย บริหารสมองประจำ มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นสมองทำงานต่อเนื่องเต็มศักยภาพ อาจให้ผู้สูงอายุทำงานที่มีรายได้ตามศักยภาพ หรือทำงานที่ไม่มีรายได้แต่คงการทำหน้าที่ของสมองด้านต่างๆ ไว้ เช่น เป็นอาสาสมัคร ทำงานอดิเรก เช่น เย็บปักถักร้อย ทำสวน งานศิลปะ วาดภาพ ระบายสี