7 กิจกรรมหนุนศักยภาพ“เด็กพิเศษ”
บทความโดย…สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
ถึงเวลาที่ต้องเลิกมองว่า “เด็กพิเศษ” เป็นภาระทางสังคม เพราะหากสามารถคัดกรอง วินิจฉัย และส่งเสริมพัฒนาการได้รวดเร็วตั้งแต่ช่วงขวบปีแรกๆ ก็จะช่วยให้เด็กพิเศษเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติเช่นกัน
โดยเด็กพิเศษคือ เด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ ดูแลเป็นพิเศษกว่าคนทั่วไป แบ่งเป็น เด็กที่มีปัญหาทางร่างกาย เด็กสมาธิสั้น เด็กดาวน์ซินโดรม เด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ เด็กออทิสติก เด็กพิการทางสมอง เด็กพิการซ้ำซ้อน และเด็กปัญญาเลิศ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็ต้องการดูแลที่แตกต่างกันไปจากการศึกษาและเยี่ยมชม “สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์” จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นสถาบันเฉพาะทางการพัฒนาและส่งเสริมสุขภาพจิตเด็ก พบว่า มีการให้บริการและกิจกรรมในการช่วยบำบัดฟื้นฟู “เด็กพิเศษ” ที่หลากหลาย และช่วยให้เด็กพิเศษสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ดีขึ้น โดยบริการหรือกิจกรรมหลักๆ ที่น่าสนใจ 7 กิจกรรม คือ
1.ศิลปะบำบัด โดยศิลปะจะเข้ามาช่วยในด้านการพัฒนาอารมณ์ สติปัญญา สมาธิ ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และการประสานงานการเคลื่อนไหวของร่างกาย ตลอดจนเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการสื่อสาร และเสริมสร้างทักษะทางสังคม โดยมีการใช้ทั้งการวาด ระบายสี มาช่วยส่งเสริมพัฒนาการ ซึ่งจากผลงานของน้องๆ เด็กพิเศษที่นำมาจัดแสดง จะพบว่า ผลงานช่วงแรกๆ ของการบำบัด จะลงสีต่างๆ จะยังไม่ตรงกรอบ ไม่เป็นระเบียบเท่าไรนัก แต่ผลงานช่วงหลังๆ จะเป็นระเบียบและสวยงามมากขึ้น สะท้อนถึงมีความมีสมาธิในการวาดรูประบายสี โดยน้องธนัท หนึ่งในเด็กพิเศษที่เข้าร่วมศิลปะบำบัด ระบุว่า การวาดรูปลงสีช่วยให้มีสมาธิดีขึ้น และผลงานที่สำเร็จแล้วก็มีการเปิดขายอยู่ภายในสถาบันฯ ด้วย
2.ดนตรีบำบัด โดยดนตรีจะเข้ามาช่วยกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ให้กับเด็ก เช่น ช่วยเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายในการฟื้นฟูสมรรถภาพ ลดพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง อยู่ไม่นิ่ง สำหรับสถาบันพัฒาการเด็กราชนครินทร์ มีการใช้เทคโนโลยี “Optic music” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สร้างแรงจูงใจในการเคลื่อนไหวร่างกาย ด้วยการบูรณาการระบบประสาทการได้ยิน การมองเห็น และการสัมผัส ในกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ผู้ที่มีปัญหาการรับรู้ประสาทรับความรู้สึก เด็กออทิสติก รวมถึงเด็กสมองพิการ เป็นต้น
น.ส.จันทริกา ปินตาโมงค์ นักวิชาการศึกษา สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กลุ่มการแพทย์ทางเลือก งานละคร ดนตรีและศิลปะบำบัด กล่าวว่า หลักการทำงานของ Optimusic จะประกอบด้วย อุปกรณ์สร้างลำแสงสีต่างๆ อุปกรณ์ที่เป็นแผ่นสะท้อนแสง และโปรแกรมซอฟต์แวร์ โดยลำแสงจากอุปกรณ์แต่ละสีจะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวที่ตัดผ่านลำแสงหรือปิดการสะท้อนของลำแสง ส่งไปยังคอมพิวเตอร์ เพื่อเชื่อมโยงกับเสียงดนตรี หรือเสียงต่างๆ การใช้แสงและเสียงดนตรีย่อมช่วยให้เด็กสนใจและสนุก อีกทั้งยังได้เคลื่อนไหว ได้เรียนรู้การแยกสี การเรียงลำดับเสียงและเหตุการณ์ ทำให้สมองได้รับการพัฒนา เมื่อเด็กเคลื่อนไหวผ่นเซ็นเซอร์ก็จะเกิดแสงหรือเสียงดนตรีขึ้น เรียกว่าเป็นการนำดนตรีเป็นสื่อเชื่อมและปรับพฤติกรรม
โดยเด็กจะเรียนรู้พร้อมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างสนุกสนาน สามารถจัดได้ทั้งแบบเดี่ยว และกลุ่มเพื่อฝึกการใช้กฎกติกามารยาทในการอยู่ร่วมกัน ฝึกสมาธิ ความสนใจ การรอคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เสริมสร้างทักษะทางด้านสังคม โดยการออกแบบกิจกรรมผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น การเล่นแบบสร้างสรรค์ การเล่นตามความคิดและจินตนาการ ถ่ายทอดผ่านการเล่น แสดงจากความรู้สึกออกมาทันที สร้างเรื่องราวผ่านเสียง เคลื่อนไหวร่างกายให้สอดคล้องกับดนตรี
“ปัจจุบันมีผู้เข้ารับบริการจำนวน 338 ราย พบว่า ร้อยละ 96 มีความฉลาดทางอารมณ์เพิ่มมากขึ้น พฤติกรรมก้าวร้าวลดลง การทำงานประสานกันระหว่างมือ ตา และกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น รู้จักรอคอยและมีสมาธิในการเรียนรู้ได้นานยิ่งขึ้น มีทักษะในการสื่อสารและการโต้ตอบกับบุคคลอื่น เกิดความสนุกสนาน และรู้สึกผ่อนคลาย” น.ส.จันทริกา กล่าว
3.ละครบำบัด จะช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย การเคลื่อนไหว การใช้กล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่ พัฒนาทักษะทางภาษาให้สามารถเข้าใจและสื่อสารกับบุคคลอื่นได้ รวมถึงช่วยในการพัฒนาทักษะการช่วยเหลือตัวเอง และ การส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมและการแสดงออก ได้สำรวจตัวเอง เรียนรู้การแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลาย
น.ส.ชนารดี สุวรรณมาโจ นักละครบำบัด กลุ่มงานละคร สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กล่าวว่า ทีมงานละครจะเน้นกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน กิจกรรมที่ออกแบบให้กับผู้รับการฝึกจะอยู่บนพื้นฐานของ ความสนุก เพื่อตอบโจทย์ความเป็นละคร บทละครที่ถูกนำมาใช้จะอยู่บนพื้นฐานของชีวิตจริงที่ผู้รับการฝึกมีโอกาสจะได้เจอ ซึ่งทิศทางในการฝึกละครบำบัด สำหรับเด็กพิเศษ (อายุ 3 ปีขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่) แบ่งเป็น 5 ทิศทาง แต่ละทิศทางจะมีรายละเอียดของกิจกรรมเชิงลึกที่ปรับใช้สำหรับผู้รับการบำบัดแต่ละคน ทิศทางที่ 1 การละลายพฤติกรรมของผู้รับการบำบัด ทิศทางที่ 2 การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทิศทางที่3 การใช้จินตนาการและสมาธิ ทิศทาง ที่ 4 การเคลื่อนไหวสร้างสรรค์ และ ทิศทางที่ 5 การแสดงด้นสด เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมและการแก้ปัญหา
“ปัจจุบันจำนวนผู้เข้ารับการฝึกทักษะทางสังคมในรูปแบบละคร มีจำนวนเฉลี่ยวันละ 4-12 รายต่อวัน ทุกรายต้องเข้าโปรแกรมการฝึกต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3-5 วัน อย่างน้อย 1 เดือน จึงเริ่มที่จะมองเห็นพัฒนาการการปรับตัวในการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม จากการประเมินพัฒนาการทางอารมณ์ ผู้เข้ารับการฝึกทุกๆ 1 เดือน พบว่า ร้อยละ 95 มีความฉลาดทางอารมณ์มากขึ้น มีความสุขในการเรียน และ ร้อยละ 100 มีความก้าวร้าวลดลงจนแทบจะไม่ปรากฏให้เห็น มีความสามารถด้านการเคลื่อนไหว มีความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนมีสมรรถภาพทางร่างกายและวินัยทางสังคมที่ดีขึ้นถึงร้อยละ 70” น.ส.ชนารดี กล่าว
4.ธาราบำบัดและกิจกรรมบำบัด โดยทั้งสองกิจกรรมจะช่วยในเรื่องของการฟื้นฟูสมรรถภาพและการเคลื่อนไหว ทั้งกลุ่มเด็กสมาธิสั้น เด็กออทิสติก และเด็กที่มีความบกพร่องทางการรับรู้ โดยสระธาราบำบัดจะอาศัยแรงพยุงของน้ำเป็นตัวช่วยในการเคลื่อนไหวร่างกายของเด็ก โดยจะมีนักกายภาพบำบัดคอยประกบและช่วยนำการเคลื่อนไหวแก่เด็กภายในสระ โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที ส่วนห้องกิจกรรมบำบัดจะเป็นเหมือนห้องเด็กเล่น ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เข้ามาเล่นอย่างอิสระ
5.คลินิกพิเศษเพื่อวินิจฉัยภาวะออทิสติก ซึ่งคลินิกนี้จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ADOS โดยจะมีทั้งการสัมภาษณ์ผู้ปกครอง และการให้เด็กได้ทำกิจกรรมต่างๆ โดยมีการบันทึกวิดีโอเพื่อบันทึกพฤติกรรมและนำมาแปลผลวินิจฉัยภาวะออทิสติก ซึ่งมีความแม่นยำสูง ช่วยให้ค้นหาภาวะออทิสติกและเข้าสู่การบำบัดได้รวดเร็วขึ้น
6.คลินิกส่งเสริมการสื่อสาร โดยมีอยู่ 2 คลินิกคือ คลินิกการสื่อสารทางเลือก (AAC) ที่นำเอาวิธีการอื่นมาใช้สนับสนุนทักษะการพูดของคนที่มีความบกพร่องให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อาจเป็นระบบที่ไม่ต้องมีองค์ประกอบอื่น เช่น ภาษามือ และสีหน้า ท่าทาง รวมถึงการใช้วิธีการสื่อสารที่มีตัวช่วยเป็นองค์ประกอบ เริ่มตั้งแต่การใช้รูปภาพ จนถึงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงรวมถึงการใช้คอมพิวเตอร์ที่ปัจจุบันมีตัวเลือกหลากหลาย และคลินิกส่งเสริมพัฒนาการด้านการสื่อสารในเด็กออทิสติก โดยใช้ระบบแลกเปลี่ยนภาพ (PECS) นำมาใช้ทดแทนให้กับเด็กที่พูดไม่ได้หรือได้น้อยให้มีช่องทางสื่อสารอื่นแทนคำพูด เพื่อสื่อสารบอกความต้องการกับผู้อื่นได้ ช่วยลดความเครียดจากการที่คนอื่นไม่เข้าใจตนเอง
และ 7.ศูนย์ฝึกอบรมสร้างอาชีพแก่เด็กและบุคคลที่มีปัญหาทางด้านพัฒนาการ (RICD Training Center) โดยมีการนำเด็กพิเศษอายุ 18 ปีขึ้นไปที่รับการรักษาจากสถาบันฯ มาทำงานผ่านการจ้างงานจากบริษัทเอกชน ทำหน้าที่ให้บริการในส่วนของห้องพักสำหรับผู้ป่วยและครอบครัวภายในสถาบันฯ ซึ่งเปิดลักษณะคล้ายกับโรงแรมมีจำนวน 16 ห้อง เช่น ทำความสะอาดห้องพัก ปูเตียง เสิร์ฟน้ำและอาหาร เป็นต้น โดยจะได้รับค่าจ้าง สามารถเลี้ยงดูตนเอง ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคม
การช่วยเหลือเด็กพิเศษ นอกจากการตรวจวินิจฉัยและเข้าสู่การบำบัดอย่างรวดเร็วแล้ว ความสงสารยังไม่ใช่คำตอบ แต่คนในสังคมควรให้โอกาสและเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติ มีศักดิ์ศรี และดูแลตนเองได้