หวาน ซ่อน ร้าย

วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
image

หวาน ซ่อน ร้าย

เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ Team content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ ชีวิตใหม่ไร้พุง ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.

“อะไรที่มากไปก็ไม่ดี อะไรที่น้อยไปก็ไม่ดี” บริบทนี้เรากำลังจะพูดกันถึงเรื่อง “ความหวาน” ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในรสชาติอาหารการกินของคนไทยมาอย่างยาวนาน

ก็เพราะว่า “ความหวาน” ที่มากไปนี่ล่ะ ที่ทำให้คนกินเข้าไปเกิดอาการเจ็บป่วยและนำมาสู่การเป็นโรคต่างๆ ตามมา ลองนึกดูว่า...ความหวานอยู่ในอาหารแบบไหนในชีวิตประจำวันของเราบ้าง เช่น กาแฟ น้ำอัดลม นมเปรี้ยว ชาเขียว นมเย็น โกโก้ ขนมปัง เค้ก ฮันนี่โทสต์ และอาหารแทบทุกชนิด ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกบอกว่า ความหวานที่พอดีกับชีวิตประจำวันของเราคือ ไม่เกิน 4-6 ช้อนชา!! แต่ในอาหารแต่ละชนิดที่ว่ามานั้นส่วนใหญ่เกิน 6 ช้อนชาทั้งสิ้น!!



 

มาดูกันว่าเครื่องดื่มในร้านสะดวกซื้อ มีน้ำตาลซ่อนอยู่เท่าไหร่

น้ำส้ม25% น้ำตาล 11.2 ช้อนชา / 44.8 กรัม

น้ำอัดลม น้ำตาล 8.7 ช้อนชา / 34.8 กรัม

ชาเขียวรสน้ำผึ้ง (กล่อง) น้ำตาล 7.5 ช้อนชา / 30.0 กรัม

เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำตาล 7.5 ช้อนชา / 30.0 กรัม

นมเปรี้ยวขวดเล็ก น้ำตาล 4.4 ช้อนชา / 17.6 กรัม

กาแฟกระป๋อง น้ำตาล 4.3 ข้อนชา /17.2 กรัม

แค่น้ำขวดเล็กๆ เพียง 1 ขวดก็ทำให้เรากินน้ำตาลมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันแล้ว ที่แย่กว่านั้นคือ เมื่อน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงาน แต่ถ้ามากเกินไปจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสม ในร่างกาย สรุปง่าย ๆ ว่า ถ้าเรากินน้ำตาลมากเกินไปความอ้วนก็จะถามหาแน่นอน แต่ไม่ใช่แค่ความอ้วนอย่างเดียวเท่านั้น เพราะยิ่งไขมันมาก ยิ่งกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น

หัวใจ ไขมันอุดตันในหลอดเลือด ทำให้หัวใจต้องสูบฉีดแรงขึ้น

ตับ ไขมันช่องท้อง ขัดขวางการเผาผลาญน้ำตาลในเซลล์ตับ จึงต้องทำงานหนักมากขึ้นในการผลิตอินซูลิน

สมอง ไขมันสะสมตามผนังเส้นเลือด เกิดโรคเส้นเลือดในสมองตีบและอาจเสียชีวิตกะทันหันได้

ปอด ไขมันช่องท้องเพิ่มขึ้น ทำให้ปอดขยายตัวไม่เต็มที่ส่งผลให้ระบบหายใจผิดปกติ

ถุงน้ำดี ไขมันช่องท้องทำให้น้ำดีมีภาพข้น และเกิดนิ่วในถุงน้ำดี

หัวเข่า ไขมันช่องท้อง และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักมากขึ้น เกิดข้อเข่าเสื่อม

 

จากข้อมูลของ Global Agricultural Information Network ปี 2557 พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลถึง 28.4 ช้อนชาต่อวัน!! ซึ่งสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำไว้แค่วันละ 6 ช้อนชาถึง 4.7 เท่า ข้อมูลดังกล่าวนี้ทำให้เราทำนายการเจ็บป่วยของคนไทยจากความหวานที่กินเข้าไปได้อย่างไม่ลังเล แต่ทำไมเราต้องปล่อยให้เจ็บป่วยก่อนถึงจะตระหนักและรักษา?

ถามว่า  “การป้องกันก่อนรักษา” น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าไหม? ดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ ลดการกินหวาน มัน เค็ม ลง หันมาใส่ใจสุขภาพควบคู่ไปกับการออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมทางกาย เช่น การเดิน การทำงานบ้าน ฯลฯ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที จากที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. คอยย้ำอยู่เสมอๆ นั้น ก็เพื่อให้คนไทยไม่ต้องเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ ทั้ง เบาหวาน ความดัน หัวใจ มะเร็ง ฯลฯ ที่คร่าเอาชีวิตคนไทยไปนักต่อนักแล้ว

 

สำหรับอาหารป้องกันการอ้วนลงพุง และทำให้ห่างไกลโรค เช่น

กล้วย ช่วยลดความเครียด ควบคุมอารมณ์ ช่วยป้องกันท้องผูกอีกด้วย

ผลไม้ตระกูลส้ม มีวิตามินซีสูง ป้องกันไข้หวัด และมีใยอาหารสูง

มะเขือเทศ มีสารไลโคปีนป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก ลดความเสี่ยงในการเป็นหลอดเลือดสมอง

ข้าวซ้อมมือ หรือ ข้าวกล้อง มีใยอาหารช่วยในการขับถ่าย

ฟักทอง หรือพืชตระกูลหัวชนิดต่างๆ ช่วยป้องกันความเสื่อมของเซลล์

ธัญพืช เช่น ถั่วต่างๆ ช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมัน ลดความดันโลหิต บำรุงสมอง

ไข่ โปรตีนจากไข่จะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ในไข่ยังมีแคลอรี่ต่ำ ย่อยง่าย มีธาตุเหล็กสูงป้องกันโลหิตจาง

ปลา มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยบำรุงสมอง ป้องกันโรคหัวใจ ลดไขมันในเลือด

แค่เพียงเราเลือกที่จะกินอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกาย ใส่ใจการเลือกกินอาหารสักนิด โรคต่างๆ จะรีบวิ่งหนีหายไปจากชีวิตเรา ไม่ต้องรอให้เราเจ็บป่วยก่อนถึงจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลงมือทำตั้งแต่วันนี้ สะสมสิ่งมีประโยชน์และมีคุณค่ากับร่างกายเรา เมื่อเรารักร่างกายเรามากพอ ร่างกายก็จะตอบแทนความรักดีๆ ที่เรามีให้อย่างดีเช่นกัน