โรคขาดสารไอโอดีน ไอโอดีนคืออะไร

วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2562
image
ไอโอดีนคืออะไร
ไอโอดีน เป็นธาตุเคมีที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติแต่มีการกระจายตัวที่ไม่สม่ำเสมอ และมีมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ในภาคเหนือ ภาคอีสาน พบปริมาณไอโอดีนในธรรมชาติน้อยกว่า  ภาคกลาง ส่วนใหญ่พบมากในดินและน้ำแถบที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ ชายทะเล และทะเล อาหารที่มีปริมาณไอโอดีนสูง ได้แก่ พืชผักและสัตว์จากทะเลทุกชนิด เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา สาหร่ายทะเล เป็นต้น




ความสำคัญของไอโอดีน
ไอโอดีนได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นแร่ธาตุสำคัญในการสร้างไธรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งจำเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาทางสติปัญญา ร่างกาย และควบคุมระบบการเผาผลาญอาหารของร่างกาย แม้ก่อนที่เด็กทารกจะเกิด สมองของเด็กก็จำเป็นที่จะต้องได้รับไอโอดีนเพื่อพัฒนาเครือข่ายของระบบเซลประสาทให้สามารถเชื่อมโยงได้อย่างหนาแน่น หากปราศจากสารไอโอดีนอย่างเพียงพอ การเชื่อมโยงของระบบประสาทนี้จะไม่หนาแน่น ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความสามารถทางสติปัญญาของเด็กไปตลอดชีวิตได้ ระดับสติปัญญา(ไอคิว) โดยเฉลี่ยในกลุ่มประชากรที่ได้รับสารไอโอดีนอย่างไม่เพียงพออาจต่ำกว่าประชากรที่ได้รับสารไอโอดีนอย่างเพียงพอได้ถึง 10-15 จุด


ผลกระทบของการขาดไอโอดีน
โรคขาดสารไอโอดีนเคยถูกมองว่าเป็นปัญหาทางด้านร่างกายเท่านั้น เพราะผลกระทบเพียงแต่ทำให้ต่อมไธรอยด์โต (โรคคอพอก)  แต่ปัจจุบันโรคขาดสารไอโอดีนได้รับการยอมรับว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาทมากที่สุดจากภาวะการขาดสารไอโอดีนทั้งหมด นับตั้งแต่พัฒนาการทางสมองและร่างกายต่ำ โรคเอ๋อและโรคคอพอก การขาดสารไอโอดีนเพียงเล็กน้อยในกลุ่มประชากรทั่วไปอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสามารถในการเรียนรู้และระดับสติปัญญาของมนุษย์ (ไอคิว) ที่อาจถดถอยอย่างรุนแรงได้ การขาดสารไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์จะทำให้ตัวอ่อนมีพัฒนาการช้า    ทั้งยังอาจทำให้เกิดการแท้งทารกตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์และปัญหาอื่นๆ นอกจากนั้นผลกระทบของโรคขาดสารไอโอดีนยังทำให้เกิดโรคเอ๋อ ผลการเรียนไม่ดี สติปัญญาต่ำ สำหรับในผู้ใหญ่จะทำให้ทำงานได้น้อยกว่าที่ควร


สถานการณ์โรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย
จากการศึกษาของโรงพยาบาลรามาธิบดีในปี พ.ศ. 2547 พบว่า ค่าเฉลี่ยระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กที่เก็บตัวอย่างมานั้นลดลงจาก 91 ในปี พ.ศ. 2540 เหลือเพียง 88 ในปี พ.ศ.2545 อันเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 90-110 และยังต่ำกว่าระดับ 104 ซึ่งเป็นระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นอย่างมาก และทวีความรุนแรงขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ยิ่งไปกว่านั้น โครงการคัดกรองระดับสารกระตุ้นไทรอยด์ฮอร์โมน (TSH) เพื่อตรวจภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนในเด็กแรกเกิดในประเทศไทยที่ครอบคลุม ร้อยละ 94 ของเด็กทารกที่เกิดมีชีวิตอยู่รอดทั้งหมดต่อปี โดยใช้ระบบทดสอบทางห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย มีระบบการจัดเก็บข้อมูลและระบบการวิเคราะห์ข้อมูลที่ดีเยี่ยม พบว่าประมาณร้อยละ 20 ของทารกทั้งหมดที่เกิดในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2550-2551 มีภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีเด็กทารกกว่า 100,000 คนต่อปีที่ประสบภาวะขาดสารไอโอดีน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการที่สมองถูกทำลายและการสูญเสียเชาวน์ปัญญา นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับข้อมูลระดับความเข้มข้นของไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ในปี พ.ศ. 2549 -2552 พบว่า ค่ามัธยฐานระดับไอโอดีนในปัสสาวะหญิงตั้งครรภ์ 82.5 108.2 125.5 และ 117.8 ug/L ตามลำดับ ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าปกติ (ค่าปกติ 150  ug/L)
                  
 
 

นอกจากนี้ การใช้เกลือเสริมไอโอดีนระดับครัวเรือน แยกตามประเทศในทวีปเอเชียและแปซิฟิกในปี พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2549 พบว่าประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 10 มีการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในระดับครัวเรือน ร้อยละ 57.6 รายละเอียดดังตาราง
 
ลำดับที่ ประเทศ % ปี พ.ศ.
1 เวียดนาม 93.2 2548/2549
2 จีน 90.1 2548/2549
3 ฟิลิปปินส์ 88.7 2548/2549
4 ลาว 85.0 2548/2549
5 พม่า 84.0 2548/2549
6 มองโกเลีย 74.4 2546/2547
7 อินโดนีเซีย 72.8 2548/2549
8 เขมร 72.5 2548/2549
9 ติมอร์ตะวันออก 72.6 2544/2545
10 ไทย 57.6 2548/2549
11 ปาปัวนิวกินี 56.9 2548/2549
12 มาเลเซีย (ซามา) 37.8 2546/2547
13 เกาหลีเหนือ 24.7 2546/2547
          และผลรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กในประเทศไทย (Multiple-Indicator Cluster Survey,MICS) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2550 พบว่าในปี พ.ศ. 2549 มีครอบครัวไทยเพียงร้อยละ 58 เท่านั้น ที่ได้รับประทานเกลือที่มีสารไอโอดีนบ้าง อัตราการบริโภคนี้จะต่ำเป็นพิเศษในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีอัตราเพียงร้อยละ 35 เท่านั้น

แนวทางการแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย
โรคขาดสารไอโอดีนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยมากกว่า 50 ปี ในระยะแรกมองกันว่าเป็นเพียงปัญหาโรคคอพอก ในช่วงทศวรรษที่ 60 ได้เริ่มโครงการเกลือเสริมไอโอดีนระดับชาติเพื่อแก้ปัญหาโรคคอพอก  ซึ่งสามารถลดอัตราโรคคอพอกในเด็กลงไปได้จนถึงระดับที่ควบคุมอยู่ในปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2549 มีการจัดประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ โดยได้ย้ำถึงความสำคัญของการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนที่มีต่อการพัฒนาเชาวน์ปัญญาของประชากรไทย และได้อนุมัติแผนแม่บทแห่งชาติ เพื่อการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน (พ.ศ. 2549 – 2554) โดยหนึ่งในมาตรการที่จะแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนนั้น คือ การส่งเสริมการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนอย่างถ้วนหน้า (Universal Salt Iodization) ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าประชากรร้อยละ 90 ทั่วประเทศ จะต้องมีเกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้ารับประทานและในปัจจุบันได้มีกฎหมายบังคับให้เกลือบริโภค น้ำปลา น้ำเกลือปรุงอาหาร และผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง เช่น ซอส ซีอิ้ว ต้องมีปริมาณไอโอดีนตามกำหนด โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2553 เป็นต้นไปและเนื่องจากเกลือบริโภคมีราคาถูก มีการใช้ในทุกครัวเรือน โดยประมาณการว่าคนทั่วไปจะบริโภคเกลือ วันละ 5-10 กรัม การเติมไอโอดีนลงในเกลือใช้เทคนิคไม่ยุ่งยาก ประกอบกับความเค็มของเกลือ จะทำให้ผู้บริโภคไม่เสี่ยงต่อการได้รับไอโอดีนมากเกินไป โดยธรรมชาติเกลือสมุทรมีไอโอดีนอยู่แล้ว แต่มีในปริมาณต่ำ (2-3  ไมโครกรัม/เกลือบริโภค 1 กรัม) ซึ่งไม่พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย หากเทียบกับเกลือเสริมไอโอดีน 1 ช้อนชน (5 กรัม) จะได้รับไอโอดีน 150 ไมโครกรัม ซึ่งเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
หลักการเลือกซื้อเกลือ/น้ำปลาไอโอดีนเสริมไอโอดีน
ให้อ่านฉลากหน้าซองเกลือหรือข้างขวดน้ำปลาจะระบุว่า เป็นเกลือหรือน้ำปลาเสริมไอโอดีน และในขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวงให้เกลือบริโภคและน้ำปลาทุกยี่ห้อที่วางขายต้องเติมสารไอโอดีน ถ้าไม่เติมผู้ผลิตจะถูกปรับและจำคุก มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2553 เป็นต้นไป


ปริมาณไอโอดีนที่ร่างกายต้องการ
โดยปกติร่างกายคนเราต้องการสารไอโอดีนรวมกันแล้วไม่เกิน 1 ช้อนชา หรือเฉลี่ยแล้ว  ในวันหนึ่งๆ ร่างกายต้องการสารไอโอดีนเพียงแค่ 150 ไมโครกรัม/คน/วัน เท่านั้น แต่ก็ขาดไม่ได้แม้แต่วันเดียว เพราะร่างกายไม่สามารถสะสมไว้ได้ จึงจำเป็นต้องกินอาหารที่มีสารไอโอดีนทุกวัน สารไอโอดีนบางส่วนจะถูกนำไปใช้ในการสร้างฮอร์โมนสำหรับการเติบโตของร่างกายและสมอง ส่วนที่เหลือจะถูกขับออกจากร่างกาย  โดยความต้องการไอโอดีนแต่ละวัยจะแตกต่างกัน ดังนี้

 
กลุ่มบุคคล ปริมาณไอโอดีนที่ควรได้รับใน 1 วัน (ไมโครกรัม)
  • เด็กแรกเกิด – 5 ปี
  • เด็กอายุ 6 - 12 ปี
  • เด็กอายุ 13 ปี – ผู้ใหญ่
  • หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
90
120
150
250
*** หมายเหตุ ไม่ควรได้รับสารไอโอดีนเกินวันละ 500 ไมโครกรัม
เปรียบเทียบการบริโภคอาหารให้ได้ไอโอดีน 150 ไมโครกรัม
อาหาร ปริมาณอาหาร
ปลาสีกุน 3 ½ ตัว
ปลาทูนึ่งขนาดกลาง 5 ตัว
ปลากระบอก 10 ตัว
กุ้งทะเลตัวเล็ก 30 ตัว
สาหร่าย (สำหรับทำแกงจืด) ¼ แผ่น
เกลือเสริมไอโอดีน 1 ช้อนชา
น้ำปลาเสริมไอโอดีน 3 ช้อนโต๊ะ
ไข่เสริมไอโอดีน 3 ฟอง
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเสริมไอโอดีน (เติมไอโอดีนในเครื่องปรุงรส) 50 กรัม
นมสดพาสเจอร์ไรซ์ 6 กล่อง (250 มิลลิลิตร)
นมสด ยู เอช ที 8 ½  กล่อง (250 มิลลิลิตร)
 
 



ภาวะไอโอดีนเกิน
หากได้รับไอโอดีนมากเกินความต้องการของร่างกายจะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ แต่สำหรับผู้สูงอายุ คนที่เป็นโรคคอพอก โรคไทรอยด์เป็นพิษ หรือผู้ที่ได้รับไอโอดีนมากเกินไปเป็นประจำจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคไทรอยด์เป็นพิษ หรือโรคหัวใจ หรือโรคมะเร็ง หรืออาจเสียชีวิตได้

เปรียบเทียบปริมาณอาหารที่มีไอโอดีนมากกว่า 500 ไมโครกรัม
อาหาร ปริมาณ
 - เกลือทะเล 160 กรัม
 - เกลือเสริมไอโอดีน 3 ½ ช้อนชา
 - น้ำปลาเสริมไอโอดีน 30 ช้อนชา (10 ช้อนโต๊ะ)
 - ปลาสีกุน 11 ½ ตัว
 - ปลาทูนึ่ง 16 ½ ตัว
 - ปลากระบอก 33 ตัว
 - กุ้งทะเลตัวเล็ก 100 ตัว
 - สาหร่าย (สำหรับทำแกงจืด) 1 แผ่นใหญ่
 - ไข่เสริมไอโอดีน 10 ฟอง
 - นมสดพาสเจอร์ไรซ์ 20 กล่อง (250 มิลลิลิตร)
 - นมสด ยู เอช ที 28 ½  กล่อง (250 มิลลิลิตร)
 


เอกสารอ้างอิง
  • แนวทางการดำเนินงาน การควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข  สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  • เอกสารรายงานสรุปเรื่องโรคขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย จากรายงานการเสวนาปุจฉา : วิสัชนา  “เด็กไทยไร้ปัญญา...เพราะปัญหาไอโอดีน? ในวันที่ 14 กันยายน 2553
  • คำถาม-คำตอบ แนวทางการอนุญาตและกำกับดูแล กองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พฤศจิกายน พ.ศ.2553
ข้อมูล : กองสร้างเสริมสุขภาพ